ThaiPublica > คอลัมน์ > Dr. Romantic 3 จากคดีจริงคนตาย 20,000 ราย

Dr. Romantic 3 จากคดีจริงคนตาย 20,000 ราย

23 พฤษภาคม 2023


1721955

มาถึงซีซั่น 3 แล้วสำหรับซีรีส์ Dr. Romantic ที่คราวนี้บ้านเราถูกย้ายจากช่อง Netflix มาอยู่ช่อง Disney + Hotstar ตัวเรื่องเล่าถึงศัลยแพทย์ฝีมือดีที่เคยทำงานในโรงพยาบาลชื่อดังกลางกรุงโซล แต่มีเหตุกระทบกระเทือนใจทำให้เขาหายไปจากวงการ ก่อนที่ผู้คนจะพบเขาหันไปทำงานอยู่ในโรงพยาบาลเล็ก ๆ ชื่อว่า ทลดัม แถบเมืองคังวอน อันห่างไกลความเจริญพร้อมกับเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น หมอคิม ซา-บู (ฮัน ซอก-กยู) หมอผู้มีอุดมการณ์ในเชิงโรแมนติกด้วยการต่อสู้กับอำนาจและเงินตรา เพื่อช่วยเหลือชีวิตผู้ป่วย

หมอคิม ซา-บู

เหตุการณ์มากมายเกิดขึ้นในโรงพยาบาลทลดัม ไม่ใช่แค่ผู้ป่วยเท่านั้นที่มีความหวังในการมีชีวิตอยู่ต่อไป แต่รวมถึงหมอ และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลแห่งนี้อีกหลายคนด้วย ต่างก็ได้รับการเยียวยาจากคิม ซา-บู ผู้เป็นเหมือนแรงบันดาลใจของหมอผู้ยึดมั่นในอุดมการณ์ จนซีซั่น 3 ตัวละครที่เคยหายไปตามทางในซีซั่นก่อน ๆ ส่วนใหญ่กลับมารวมตัวกันในซีซั่นนี้อย่างคับคั่ง ไม่ว่าจะเป็นคู่รักหมอซอ อู-จิน (อัน ฮโย-ซอบ) กับหมอชา อึน-แจ (อี ซัง-คยุง) และคู่ของผู้ช่วยพยาบาลหนุ่มที่อยู่ในทุกซีซั่นอย่าง พัค อึน-ทัก (คิม มิน-แจ) กับหมอสาวจากซีซั่น 2 ยุน อา-รึม (โซ จู-ยอน) ล่าสุดยังมีข่าวลือด้วยว่าคู่จากภาคแรก หมอคัง ดอง-จู (ยู ยอน-ซ็อก) กับหมอยุน ซอ-จุน (ซอ ฮยุน-จิน) อาจจะโผล่มาเซอร์ไพร์สในช่วงครึ่งหลังที่ยังเหลืออีก 8 ตอน หรือไม่ก็มาแบบแว่บ ๆ เป็นแขกรับเชิญ ตรงนี้แฟนซีรีส์อาจต้องลุ้นกันดู

หมอซอ อู-จิน กับหมอชา อึน-แจ (รูปซ้าย) พยาบาลพัค อึน-ทัก กับหมอยุน อา-รึม (รูปขวา)

ผู้กำกับภาคนี้ยังคงเป็น ยู อิน-ซิก ที่คราวนี้ฉายเดี่ยวโดยไม่มีผู้กำกับร่วมอย่างสองซีซั่นที่ผ่านมา และยู อิน-ซิก ผู้นี้เอง เมื่อปีที่แล้วเขาสร้างกระแสฮือฮาอย่างมากจากซีรีส์ Extraordinary Attorney Woo ที่ตัวผู้กำกับเพิ่งคว้ารางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมจากเวทีอันทรงเกียรติ แบคซัง อาร์ต ครั้งที่ 59 ไปหมาด ๆ รวมถึงนางเอกพัค อึน-บิน ในบททนายออทิสติกก็คว้ารางวัลแดซังกรังปรีซ์สูงสุดมาได้จากงานเดียวกันด้วย

ผู้กำกับ ยู อิน-ซิก และนางเอกพัค อึน-บิน จาก Extraordinary Attorney Woo บนเวทีแบคซัง อาร์ต

เรื่องราวในซีซั่น 3 ห่างจากซีซั่นที่แล้ว 3 ปี มาคราวนี้ความฝันของหมอคิม ซา-บู คือนอกจากจะเปิดรับผู้ป่วยในละแวกใกล้เคียงแล้ว เขาตั้งใจจะเปิดอาคารสำหรับผู้ป่วยฉุกเฉินที่มีเครื่องมือทันสมัยมากขึ้น สามารถรองรับผู้ป่วยและบาดเจ็บในรัศมีที่กว้างขึ้น ส่งผลให้มีคนไข้มากขึ้น ต้องรับศึกหนักทั้งจากภายในและภายนอก ไม่ว่าจะทีมงานที่มีทั้งพวกอยู่มานานกับพวกมือใหม่ที่ยังไม่ค่อยมีความมุ่งมั่น หรือฝีมือและประสบการณ์ยังอ่อนด้อย ไปจนถึงการที่คิม ซา-บู ตัดสินใจเปิดทางให้ศัตรูเก่าแต่เป็นหมอผู้มีฝีมืออีกคนอย่าง อาจารย์หมอชา จิน-มัน (อี คย็อง-ยัง) มารับหน้าที่อำนวยการอาคารใหม่ ไหนจะปัญหาเรื่องเงินทุนที่ต้องของบเพิ่มจากเทศบาลจังหวัดแต่ติดขัดเพราะปัญหาขัดแย้งส่วนตัวกับคณะกรรมการรายหนึ่ง

แต่สิ่งที่บทความนี้หยิบมาเป็นประเด็นมาจากอีพี 6 ของเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อ Dr. Romantic หยิบเอาคดีจริงมาผูกกับเรื่องที่แต่งขึ้น อันที่จริงซีรีส์นี้เคยใช้เคสจริงอยู่บ่อย ๆ โดยเฉพาะในซีซั่นที่แล้ว ไม่ว่าจะคดีหมอที่เข้าไปช่วยคนเมาแต่กลับอยู่ในโคม่าเพราะผลกระทบที่ก้านสมอง, นักโทษหนุ่มผู้ป่วยเป็นไตวายระยะสุดท้าย, กระสุนฝังในตับ, การเจาะเยื่อหุ้มหัวใจ ฯลฯ ล้วนได้มาจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงทั้งสิ้น

แต่ซีซั่นสามนี้เล่นใหญ่กว่าที่ผ่านมามาก เมื่ออีพี 6 เล่าถึงหญิงคนหนึ่งที่มีภาวะความดันในปอดอันเป็นสาเหตุจากคดีร้ายแรงเมื่อ 12 ปีก่อน หมอคิม ซา-บู เล่าว่า “คนไข้เริ่มป่วยตั้งแต่ 12 ปีที่แล้ว ตอนนั้นแกเพิ่งอายุแค่แปดขวบเอง เด็กที่ไม่เคยได้หายใจหายคอเต็มปอด ต้องอดทนฮึดสู้มาตลอด 12 ปี นึกภาพออกไหมว่าแกผ่านความทรมานแบบไหนมา”

ขณะที่ฝ่ายแม่ของผู้ป่วยเมื่อได้พบอาจารย์หมอชา จิน-มัน เธอก็จำได้ทันทีพร้อมกับตะโกนใส่หน้าเขาว่า “เพราะคุณคนเดียวเลย ลูกสาวฉันถึงไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมทันเวลา ค่าชดเชยอะไรก็ไม่ได้ คุณเป็นคนทำให้ลูกสาวฉันเป็นแบบนี้ ”

สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อ 12 ปีก่อน ทั้งหมดถูกเล่าในซีรีส์ผ่านหมอชา จิน-มันที่ไปปรับทุกข์กับลูกสาวของเขาเองเพียงว่า “เมื่อ 12 ปีก่อนมีคดีเรียกร้องค่าเสียหายเรื่องเครื่องทำความชื้นมีปัญหา ศาลขอให้พ่อออกความเห็นเป็นลายลักษณ์อักษร ตอนนั้นพ่อระบุชัดไม่ได้ว่าเธอเป็นแค่โรคหอบหืด หรือเพราะสาเหตุมาจากเครื่องทำความชื้นกันแน่ พ่อก็แค่เขียนความเห็นตัวเองไปแบบนั้น ตามมโนธรรมและมุมมองทางการแพทย์”

คดีดัง 12 ปีก่อน

เกิดอะไรขึ้นเมื่อ 12 ปีก่อน? …คดีนี้เป็นคดีใหญ่ที่ยังคงอยู่ในความทรงจำของคนเกาหลี เพราะมีผู้เสียหายมากมาย และคาดว่าน่าจะมีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ไม่น้อยกว่าสองหมื่นราย!

คดีฟ้องร้องบริษัท Oxy Reckitt Benckiser ในโซล เมื่อปี 2011 อันเนื่องมาจากเป็นหนึ่งในบริษัทผู้ผลิตน้ำยาฆ่าเชื้อที่ใช้ร่วมกับเครื่องเพิ่มความชื้น ที่หลังจากได้รับการตรวจสอบแล้วพบว่า มีผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ

Oxy Reckitt Benckiser เป็นบริษัทลูกของบริษัทผลิตและจำหน่ายเครื่องใช้ในครัวเรือนกับยารักษาโรค ภายใต้ Reckitt Benckiser ของอังกฤษ อันเป็นบริษัทที่ควบรวมจากบริษัท Reckitt & Coleman กับ Benckiser เมื่อปี 1999 จริง ๆ แล้วบริษัทนี้ผลิตสินค้ายี่ห้อฮิต ๆ ที่รู้จักไปทั่วโลกอีกหลายตัว อาทิ ยาลดกรด Gaviscon, เม็ดอมแก้เจ็บคอ Strepsils, ถุงยางอนามัย Durex ฯลฯ

ตามรายงานจากสถาบันเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมสิ่งแวดล้อมเกาหลี เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2021 ระบุถึงภัยพิบัติทางเคมีภัณฑ์ สารฆ่าเชื้อที่ถูกใช้ร่วมกับเครื่องเพิ่มความชื้น เป็นสาเหตุให้เกิดพังผืดในปอด ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 1,740 ราย และผู้บาดเจ็บ 5,902 ราย ขณะที่ผลจากการวิจัยโดยคณะกรรมการสอบสวนพิเศษเกี่ยวกับภัยพิบัติทางสังคม ประเมินว่าเหตุการณ์นี้น่าจะมีผู้เสียชีวิตรวม 20,366 ราย เหยื่อด้านสุขภาพอีก 950,000 ราย และสัมผัสสารพิษนี้อีก 8,940,000 ราย หากนับตั้งแต่ปีที่เริ่มจำหน่ายสารเคมีชนิดนี้ออกสู่ท้องตลาดเมื่อปี 1994 ไปจนถึงปีที่ถูกฟ้องร้อง รวมไปถึงน่าจะมีกรณีที่ไม่ได้รับรายงานอีกมาก โดยเหยื่อทั้งหมด มี 57% เป็นทารกอายุต่ำกว่า 5 ปี และอีก 16% เป็นสตรีมีครรภ์

ภาพโฆษณาผลิตภัณฑ์ของ Yugong ‘Humidifier Mate’

จุดเริ่มต้น

นับตั้งแต่ปี 1994 ในเกาหลีค้นพบผู้ป่วยเป็นโรคปอดอุดตันเรื้อรังโดยไม่ทราบสาเหตุ และมีอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 70-80% ซึ่งในเบื้องแรกเชื่อว่าเป็นความผิดปกติทางร่างกายเฉพาะบุคคล จนกระทั่งนับตั้งแต่ปี 1996 ก็พบผู้ป่วยที่มีอาการแบบเดียวกันเกิดขึ้นในช่วงฤดูใบไม้ผลิของทุกปีนับแต่นั้น แต่กว่าที่อาการป่วยนี้จะถูกระบุว่าเป็นโรค ก็เมื่อเวลาล่วงเลยไปจนถึงปี 2006 โดยศาสตราจารย์ ฮอง ซู-จอง จากศูนย์การแพทย์โซล อาซาน หลังจากที่มีเหยื่อเพิ่มขึ้นอีกหลายรายและเสียชีวิตอย่างต่อเนื่อง แต่ความผิดปกติเหล่านี้ถูกตั้งข้อสังเกตว่าไม่น่าจะเกิดขึ้นตามธรรมชาติ และระบาดหนักตั้งแต่เดือนเมษายน 2011 แต่ไม่อาจระบุสาเหตุได้ว่าเกิดขึ้นเพราะอะไร จนกระทั่งถูกเปิดเผยในเดือนสิงหาคมปีเดียวกันนั้น โดยศาสตราจารย์มู ซง-อี และทีมงาน ว่าต้นตอมาจากยาฆ่าเชื้อในเครื่องเพิ่มความชื้น

สารเคมีที่ใช้ในการฆ่าเชื้อนี้ไม่ได้มีแค่ผลิตภัณฑ์จาก Oxy Reckitt Benckiser เท่านั้น แต่ในท้องตลาดยังมีอีกหลายยี่ห้อที่ใช้สารเคมีตัวเดียวกัน อาทิ Yukong, Aekyung, SK Chemicals, SK Innovation, LG Household & Health Care, GS Retail, Lotte Shopping, E-Mart, Homeplus, Daiso และ Henkel ซึ่งมีวางขายตามท้องตลาดทั่วเกาหลีมาตั้งแต่ปี 1994

สารฆ่าเชื้อในเครื่องทำความชื้น คือสารฆ่าเชื้อที่ทำขึ้นเพื่อเติมลงในน้ำ และฉีดพ่นไปในอากาศ ภายหลังถูกใช้ผ่านเครื่องเพิ่มความชื้น เกาหลีใต้เป็นประเทศแรกและประเทศเดียวในโลกที่มีผลิตภัณฑ์ในรูปแบบของสารฆ่าเชื้อในเครื่องเพิ่มความชื้น โดยได้รับอนุญาตเครื่องหมาย KC (Korea Certification เหมือน อย.บ้านเรา) ที่เป็นการรับรองจากรัฐบาล ทำให้มีการวางจำหน่ายอย่างกว้างขวาง ในช่วงเวลาของการเปิดตัว Yugong คือยี่ห้อแรกและมีการโฆษณาตามที่ต่าง ๆ รวมถึงทางทีวี ทั้งหมดนี้จึงเป็นไปตามธรรมชาติของผู้บริโภคที่จะตกเป็นเหยื่อได้ง่าย โดยไม่ฉุกใจคิดมาก่อนว่าสิ่งนี้จะเป็นอันตรายร้ายแรงถึงชีวิต

ภาพเยื่อหุ้มเซลล์ภายในปอดที่ถูกสาร PHMG-P ทำลาย

ในปี 1994 Yugong (ปัจจุบันคือ SK Innovation) ฝ่ายเทคโนโลยีชีวภาพได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์ชื่อ ‘Humidifier Mate’ เป็นครั้งแรก โดยมีบริษัท Dongsan C&G รับผิดชอบในด้านการผลิต อันเป็นน้ำยาแบบฉีดพ่นไปในอากาศ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาก็มีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่เป็นมาตรฐานเดียวกันจากยี่ห้ออื่นตามมาอีกอย่างต่อเนื่อง อาทิ Oxy, LG Household & Health Care, Aekyung Industrial ฯลฯ กระทั่งในปี 1996 Oxy เปิดตัว ‘เครื่องเพิ่มความชื้นในอากาศ’ และในปีต่อมา LG Household & Health Care ได้เปิดตัว ‘119 Humidifier Bacterial Removal’ และ Aekyung Industry ได้เปิดตัว ‘Blue Sky Clear Humidifier’ ปัญหาคือบริษัทเหล่านี้ไม่ได้ผ่านการทดสอบยืนยันความปลอดภัยเลย และมีการระบุว่า ‘ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายมนุษย์’ (Humidifier Mate) ‘ปลอดภัยต่อร่างกายมนุษย์และใช้งานได้อย่างมั่นใจ’ (Oxy Humidifier) , พร้อมสำทับว่าประกอบด้วยส่วนผสมที่ปลอดภัยจึงใช้งานได้อย่างมั่นใจ ‘ (LG Household & Health Care 119 Humidifier Bacterial Removal) ฯลฯ

นอกจากนี้ วิธีการใส่ผลิตภัณฑ์ที่มีสารเคมีลงไปในถังเพิ่มความชื้นโดยตรง กลายเป็นเรื่องปกติที่ผู้คนทำกันทั่วไป เพราะเห็นจากในโฆษณานับตั้งแต่ปี 2000 เนื่องจากเครื่องเพิ่มความชื้นถูกใช้อย่างแพร่หลายในบ้าน สำนักงาน และสถานที่สาธารณะ มีการจำหน่ายหลายรุ่นที่มีคุณสมบัติพิเศษเพิ่มเติม โดยเฉพาะรุ่นหลัง ๆ ที่เป็นเหมือนท่ออ็อกซิเจนต่อตรงเข้าจมูกและปากได้โดยตรงเลย รวมไปถึงการส่งเสริมการขายที่มีโปรโมชั่นลดราคา จึงมีผู้ซื้อหามาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ภาพเยื่อหุ้มเซลล์ภายในปอดที่ถูกสาร PHMG-P ทำลาย

สารฆ่าเชื้อโรคฆ่าคนได้อย่างไร

แต่อาการเป็นพิษหนักของสารเคมีชนิดนี้ เกิดขึ้นสูงนับตั้งแต่บริษัท Oxy Reckitt Benckiser และ SK Chemicals ออกแบบให้นำไปใช้กับเครื่องเพิ่มความชื้น โดยเกิดขึ้นทาง ปาก ผิวหนัง และระบบหายใจ ตามเส้นทางการสัมผัส โดยสารที่ใช้สำหรับการฆ่าเชื้อนี้คือ โพลีเฮกซา เมทิลีน กัวนิดีนฟอสเฟต (PHMG-P) สารพิษชนิดนี้สามารถทำให้เกิดโรคหอบหืด และพังผืดในปอดเมื่อสูดดม อันเป็นสาเหตุให้เกิดโรคปอดอุดตันเรื้อรัง โดยสารฆ่าเชื้อชนิดนี้นอกจากจะสามารถทำลายแบคทีเรียได้แล้ว มันยังสามารถทำลายโครงสร้างเยื่อหุ้มเซลล์ในร่างกายมนุษย์ได้ด้วย ภายหลังมีการค้นพบเพิ่มเติมด้วยว่า เมื่อ PHMG-P สัมผัสกับปอด จะทำให้เซลล์ปอดตาย เศษของเนื้อตายเหล่านี้จะหลั่งสารไซโตไคน์เพื่อรักษาอาการอักเสบของร่างกาย แต่ในขณะเดียวกัน PHMG-P ก็จะยับยั้งการหลั่งไซโตไคน์ด้วย ทำให้ภูมิคุ้มกันปอดเสียสมดุล นำไปสู่พังผืดในปอดหนาตัวขึ้น แต่กว่าเรื่องราวเหล่านี้จะถูกเปิดเผยออกมา สารเคมีประกอบเครื่องทำความชื้นเหล่านี้ก็ถูกขายไปมากกว่า 600,000 ชิ้นต่อปี!! อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าทำให้มีผู้เสียชีวิตจากกรณีนี้น่าจะไม่ไม่ต่ำกว่า 20,000 คน!!!

นายอาทอร์ ซาฟดาร์ (รูปซ้าย) นายชิน ฮยุน-อู (รูปขวา)

มีการประท้วงและฟ้องร้องอย่างกว้างขวาง แฉว่าหน่วยงานรัฐน่าจะมีส่วนช่วยสนับสนุนให้สารพิษนี้ออกจำหน่ายได้อย่างถูกกฎหมาย แต่ก็เกิดดราม่าโยนกันไปมา มีหมออีกส่วนหนึ่งออกมาให้การว่าอาการเหล่านี้ไม่น่าจะเกิดจากสารพิษ แต่เป็นสาเหตุของโรคหืดหอบ จนในที่สุดกว่าที่บริษัทของอังกฤษจะยอมรับความผิดและออกมาขอโทษก็ผ่านไปจนถึงเดือนพฤษภาคม ปี 2016 เมื่อนายอาทอร์ ซาฟดาร์ ผู้บริหารฝ่ายกิจการในเกาหลีใต้ ของบริษัทเรกคิทท์ เบนคีเซอร์ ออกแถลงการขอโทษและจะชดใช้ความเสียหายแก่ญาติผู้เสียชีวิตทั้งหมด รวมถึงขอโทษที่ปล่อยให้เนิ่นช้าไปนานกว่า 5 ปี ส่งผลให้ญาติผู้เสียชีวิตรุมสาป และตรงเข้าทำร้ายนายซาฟดาร์อย่างรุนแรง แต่เขาก็ทำได้เพียงโค้งขออภัยต่อผู้เสียหาย และในปี 2017 นายชิน ฮยุน-อู อดีตซีอีโอของ Oxy Reckitt Benckiser ในเกาหลีใต้ก็ถูกพิพากษาจำคุก 6 ปี พร้อมทั้งต้องชดเชยแก่เหยื่อผู้เสียชีวิตอย่างเหมาะสม

Air Murder

คดีนี้เพิ่งถูกสร้างออกมาเป็นภาพยนตร์เมื่อปีที่แล้วนี้เอง Air Murder (2022) ดัดแปลงจากนิยายที่อิงจากคดีสารฆ่าเชื้อในเครื่องทำความชื้น ตัวหนังเล่าถึงหัวหน้าหมอของศูนย์ผู้บาดเจ็บในโรงบาล ที่จู่ ๆ ลูกชายของเขาก็ป่วยด้วยโรคปอดชื้น พร้อม ๆ กับภรรยาของเขาเสียชีวิตด้วยโรคปอด ทำให้หมอหนุ่มพยายามจะเชื่อมโยงอาการป่วยเหล่านี้ ก่อนจะพบว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีคนไข้หลายคนเข้ารับการรักษาด้วยอาการที่คล้ายกัน ขณะเดียวกันน้องสาวของหมอเป็นอัยการ เธอพยายามจะช่วยพี่สืบสวน แต่กลับถูกระงับการทำงาน ทำให้ค้นพบว่าเจ้าหน้าที่รัฐอาจมีส่วนร่วมกับเหตุการณ์ทั้งหมดนี้

นักเขียนนิยาย โซ แจ-วอน

จากนิยายดังของนักเขียนตัวตึง

Air Murder ดัดแปลงจากนิยายดัง Toxic ของ โซ แจ-วอน นักเขียนที่กำลังดังสุด ๆ อยู่ตอนนี้ เนื่องจากทุกเล่มถูกดัดแปลงเป็นหนังบ้าง ซีรีส์บ้าง เว็บซีรีส์ก็มี นอกจากนี้ยังผสมผสานเข้ากับเหตุการณ์จริงได้อย่างน่าตื่นเต้น อาทิ หนัง Beastie Boys (2008) เล่าเรื่องของหนุ่มมั่งคั่งที่ตกอับไปเป็นหนุ่มบาร์โฮสต์ กระทั่งไปพบรักกับลูกค้าสาว แยกไม่ออกระหว่างงานกับความรู้สึก, Hope (2013) เล่าคดีสะเทือนขวัญของเด็กหญิงตัวน้อยที่ระหว่างไปโรงเรียน เธอถูกลักตัวไปข่มขืน ความหวังของครอบครัวพังทะลายและทุกคนในบ้านพยายามกอบกู้มันกลับคืนมา, Tunnel (2016) น่าจะเป็นหนังที่คนไทยรู้จักมากที่สุด เรื่องของคุณพ่อที่กำลังจะตรงไปงานวันเกิดของลูก เขาต้องขับผ่านอุโมงค์ตัดผ่านภูเขาใหญ่ แต่แล้วภูเขาลูกนั้นก็ถล่มลงมา เขาต้องพยายามหาทางออก แต่ก็ต้องพบว่าตนเองตกเป็นเหยื่อของผู้สื่อข่าวที่ต้องการเสนอข่าวก่อนใคร เจ้าหน้าที่รัฐที่ทำงานกันอย่างเช้าชามเย็นชาม ไปจนถึงประธานาธิบดีที่ไม่คิดจะช่วยอะไรเขาเลยแต่มาถ่ายรูปเอาหน้าในตอนจบ

อาการโรคมินามาตะ

ภัยพิบัติจากสารเคมี

กรณีพบผู้ป่วยเป็นวงกว้างจากภัยพิบัติสารเคมีที่มีผู้เสียชีวิตนับพันนับหมื่นคน จริง ๆ แล้วเป็นกรณีที่เกิดขึ้นได้ยากมาก ๆ ในอดีตที่เป็นที่รู้จักก็ เช่น ภัยพิบัติเมืองโภปาล เกิดจากอุบัติเหตุโรงงานผลิตยาฆ่าแมลงรั่วในเมืองโภปาล ประเทศอินเดีย เมื่อกลางดึกวันที่ 2 ธันวาคม 1984 ทำให้กาซเมทิลไอโซไซยาไนต์ (ใช่แล้วมันมีส่วนผสมของไซยาไนต์ ที่บ้านเรารู้จักในคดีสาวแอมฆ่าเพื่อนด้วยพิษไซยาไนต์อันลือลั่นในตอนนี้นั่นเอง) และสารพิษอื่น ๆ รั่วและลอยฟุ้งกระจายไปรอบรัศมีโรงงานไปสู่ชาวบ้านกว่าห้าแสนคน มีผู้เสียชีวิตทันที 2,259 ราย และเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนยอดสรุปที่ 3,787 ราย ขณะที่หน่วยงานอื่นประเมิณว่าตัวเลขจริงน่าจะอยู่ที่ราว หมื่นห้าพันราย โดยมีมากกว่าแปดพันคนเสียชีวิตในอีกหนึ่งสัปดาห์หลังจากเหตุเกิด

โรคมินามาตะ มีอาการคล้ายเด็กขาดสารอาหาร วิกลจริตอ่อน ๆ กรีดร้อง รูม่านตาขยายกว้าง ลิ้นแห้ง แขนขาหงิกงอเคลื่อนไหวลำบาก กระตุกตัวแข็ง ไปจนถึงบิดงอผิดรูปผิดร่างอย่างรุนแรงก็มี และโรคนี้มีผลกระทบโดยตรงต่อระบบประสาทส่วนกลาง พบในปี 1956 ณ เมืองมินามาตะ จังหวัดคุมาโมโตะ (ที่ทุกวันนี้ทั่วโลกรู้จักแต่เจ้ามาสค็อตสุดน่ารัก คุมะมง มันคือตัวประชาสัมพันธ์จากจังหวัดนี้นั่นเอง) ก่อนที่จะพบว่าบริษัทสารเคมีได้ทิ้งสารปรอท(ที่ใช้กับปรอทวัดไข้ และหลอดไฟฟ้านั่นแหละ) และสารเคมีอื่น ๆ ลงทะเล ทำให้มีผู้ป่วยและเสียชีวิตเพราะโรคนี้ที่นับจำนวนได้มากถึง 2,265 ราย และผู้ได้รับผลกระทบอีกกว่าหมื่นราย และมีผลกระทบทางทะเลยาวนานกว่า 36 ปีหลังจากนั้น

คดีฟ้องร้องโรงงานผลิตสารเคมีชื่อดัง DuPont โดย โรเบิร์ต บิล็อตต์ ผู้ฟ้องร้องที่เป็นทนายความด้านสิ่งแวดล้อมจาก ซินซิน นาติ ในรัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา ในนามของโจทก์กว่าเจ็ดหมื่นคนที่ได้รับการดื่มน้ำประปาปนเปื้อนจากการทิ้งกากขยะสารเคมีอันตรายของกรดเพอร์ฟลูออโรออกทาโนอิก (PFOA) และกรดเปอร์ฟลูออโรออกเทนซัลโฟนิก (PFOS) ในชุมชนชนบทในเขตเวสต์เวอร์จิเนีย ที่กินเวลาฟ้องร้องยาวนานถึง 20 ปี นับตั้งแต่ปี 1999 โดยพบว่ามีความเป็นไปได้ที่สารเคมีเหล่านี้ก่อให้เกิดมะเร็งไต มะเร็งอัณฑะ โรคต่อมไทรอยด์ คอเลสเตอรอลสูง ภาวะครรภ์เป็นพิษ และโรคลำไส้ใหญ่บวมเป็นแผล

โคนอส

วกกลับมาที่ซีรีส์ Dr. Romantic 3 ในอีพี6 เมื่อผู้ป่วยอาการพังผืดในปอดจำเป็นต้องเปลี่ยนไต หมอคิม ซา-บู ก็รีบบอกกับพยาบาลว่า “ติดต่อโคนอสที บอกว่าคนไข้รอปลูกถ่ายปอดมาสองปีแล้ว ตอนนี้ฉุกเฉินมาก ถ้าไม่ได้ปลูกถ่ายปอดคงอยู่ได้ไม่เกินหนึ่งอาทิตย์” โคนอส คือ ศูนย์เครือข่ายเกาหลีเพื่อการแบ่งปันอวัยวะ The Center for Korean Network for Organ Sharing (KONOS) เป็นหน่วยงานที่มีสโลแกนว่า “เมล็ดพันธุ์แห่งความหวัง” ภายใต้การกำกับดูแลของ สำนักงานควบคุมและป้องกันโรคแห่งเกาหลี Korea Disease Control and Prevention Agency (KCDC)

โคนอส ก่อตั้งขึ้นในปี 2000 โดยเป็นศูนย์ที่เข้ามาจัดการเครือข่ายหน่วยงานที่รับบริจาคอวัยวะ เพื่อแบ่งปันอวัยวะให้กับผู้จำเป็นในการปลูกถ่ายอวัยวะ รวมไปถึงควบคุมความปลอดภัยของเลือดและการบริจาคเลือดด้วย ทำหน้าที่ส่งเสริม สนับสนุน และให้ความช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีและยุติธรรมต่อการแบ่งปันอวัยวะ รวมถึงแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ใหม่ ๆ ด้านการปลูกถ่ายอวัยวะ และการถ่ายโลหิตในระดับชาติ รวมไปถึงส่งเสริมโครงการศึกษาด้านการปลูกถ่ายอวัยวะ ไปจนถึงตรวจสอบและติดตามอาการข้างเคียงหลังการถ่ายเลือดหรือปลูกถ่ายอวัยวะ

โรแมนติก

เชื่อว่าเป็นคำที่คนดูจะต้องสงสัยว่ามันเกี่ยวอะไรกับซีรีส์เรื่องนี้ เพราะในปัจจุบัน คำว่า โรแมนซ์ หรือโรแมนติก มักถูกใช้ในเนื้อหาเชิงรักใคร่ ทว่าพจนานุกรมฉบับคอลลินส์อธิบายความรักแบบโรแมนติกว่าเป็น “ความสัมพันธ์เข้มข้น และอุดมคติของความรัก โดยที่อีกฝ่ายหนึ่งเปี่ยมไปด้วยคุณธรรมอย่างมากเป็นพิเศษ ดังนั้นความสัมพันธ์จึงอยู่เหนือเงื่อนไขอื่น ๆ ทั้งหมด รวมทั้งเรื่องอำนาจหรือวัตถุ

ความรู้สึกโรแมนติกสามารถดำรงอยู่ได้โดยไม่ต้องคาดหวังถึงความสมบูรณ์ทางร่างกาย และการตอบสนองทางการแสดงออกจากอีกฝ่ายหนึ่ง ในบางกรณีอาจหมายรวมถึงมิตรภาพธรรมดา และในอดีต คำว่า โรแมนติก มีต้นกำเนิดจากอุดมคติของอัศวินในยุคกลาง

โรแมนซ์ มาจากภาษาฝรั่งเศส ที่มีรากศัพท์จากคำละติน “โรมานิคัส” แปลว่า แบบโรมัน หมายถึงนิทานพื้นถิ่นในยุคกลางของยุโรปที่โดยทั่วไปเกี่ยวข้องกับการผจญภัยของเหล่าอัศวินที่มีอุดมการณ์และเป้าหมายอันแรงกล้า ในเชิงอุดมคติ ฝันใฝ่ถึงชีวิต และโลกที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ และไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับความรักความใคร่เลย แต่ความหมายถูกเปลี่ยนไปในทางความรักอันเร่าร้อน เป็นความรักหัวปักหัวปำ และไม่มีเงื่อนไข ในช่วงศตวรรษที่ 19 ด้วยข้อจำกัดทางภาษาของสเปนและอิตาลี

คำอธิบายความหมาย โรแมนติก ของซีซั่นสามนี้ถูกเล่าในอีพี 3 เมื่อหมอคิม ซา-บู ตัดสินใจจะผ่าตัดต่อเส้นประสาทอันซับซ้อนและยุ่งยาก เพื่อช่วยให้นักกีฬาสกีทีมชาติที่บาดเจ็บขาหักอย่างสาหัส กลับมาเป็นนักกีฬาได้อีกครั้ง แม้ว่าโอกาสจะมีน้อยเหลือเกิน และหากผิดพลาดอาจทำให้นักกีฬารายนี้เสียชีวิตลงได้เลย

ขณะที่อาจารย์หมอชา จิน-มัน ผู้ยึดมั่นในหลักการประกาศกร้าวว่าการช่วยเหลือผู้ป่วยต้องคำนึงถึงชีวิตมาก่อนเป็นอันดับแรก กล่าวคือ ต้องรีบด่วนที่สุดในการรักษาชีวิตของคนไข้ ไม่ต้องไปสนใจหรอกว่าเขาจะกลับมาเล่นกีฬาได้อีกครั้งหรือไม่ ขอเพียงให้เขารอดชีวิตมาได้ก็พอ
สุดท้ายหมอคิมเลือกที่จะผ่าตัดแบบยากและซับซ้อน เพื่อช่วยต่อเส้นประสาทให้นักกีฬารายนี้กลับมาเล่นสกีได้อีกครั้ง ด้วยคำตอบของซีรีส์นี้ที่ว่า “สำหรับคนไข้รายนี้ ชีวิตนักกีฬาก็เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตของเขาไงล่ะครับ…นี่แหละเรียกว่าความโรแมนติก…มันคือวิธีที่พวกเรายึดถือในการช่วยเหลือชีวิตผู้คนมากมายมาจนถึงตอนนี้”