ThaiPublica > สู่อาเซียน > 8 ปี ‘NCA’ กับ ‘สัมพันธภาพ’ ของรัฐบาลเมียนมา

8 ปี ‘NCA’ กับ ‘สัมพันธภาพ’ ของรัฐบาลเมียนมา

27 ตุลาคม 2023


ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน

พิธีเฉลิมฉลองครบรอบ 8 ปี การลงนามข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศ หรือ NCA ซึ่งจัดขึ้นที่ Myanmar International Convention Center-2 ในกรุงเนปิดอ เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2566 ที่มาภาพ : Popular News Journal

วันอาทิตย์ที่ 15 ตุลาคม 2566 ที่ Myanmar International Convention Center-2 ในกรุงเนปิดอ รัฐบาลทหารของสภาบริหารแห่งรัฐ(SAC) เมียนมา ได้จัดพิธีเฉลิมฉลองครบรอบ 8 ปี การลงนามในข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศ หรือที่เรียกกันสั้นๆว่า NCA (Nationwide Ceasefire Agreement) ซึ่งรัฐบาลเมียนมาได้ทำไว้กับกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ 10 กลุ่ม

เป็นการกลับมาจัดเฉลิมฉลองอย่างเต็มรูปแบบอีกครั้งหลังหยุดไป 3 ปี นับแต่เกิดการระบาดของโควิด-19 ในปี 2563 และเกิดสถานการณ์ไม่สงบภายในประเทศ หลังการรัฐประหารเมื่อปี 2564

NCA เป็นเหมือน roadmap สำหรับนำสันติภาพมาสู่เมียนมา ในมุมมองของคู่สัญญา หากทุกฝ่าย ทั้งรัฐบาลเมียนมา กองทัพพม่า และกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ ปฏิบัติตามเนื้อหาใน NCA ที่ได้ลงนามกันไปแล้ว จะช่วยยุติปัญหาความขัดแย้งภายใน ที่ทำให้เมียนมาต้องตกอยู่ภายใต้ภาวะสงครามกลางเมืองมานานถึงกว่า 70 ปี นับแต่ได้รับเอกราชจากอังกฤษเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2491

จากกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ที่กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศกว่า 20 กลุ่ม ปัจจุบัน มีกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ 10 กลุ่ม ที่ได้ลงนามใน NCA กับรัฐบาลเมียนมาไปแล้ว ประกอบด้วย

    1.สภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน(RCSS/SSA) หรือกองทัพรัฐฉานใต้
    2.สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง(KNU) ซึ่งมีกองกำลังติดอาวุธในสังกัด 2 กองทัพ ได้แก่ กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง(KNLA) และองค์กรป้องกันแห่งชาติกะเหรี่ยง(KNDO)
    3.องค์กรปลดปล่อยชาติปะโอ(PNLO)
    4.กองกำลังกะเหรี่ยงพุทธเพื่อประชาธิปไตย(DKBA)
    5.แนวร่วมแห่งชาติชิน(CNF)
    6.แนวร่วมประชาธิปไตยของมวลนักศึกษาพม่า(ABSDF)
    7.พรรคปลดปล่อยอาระกัน(ALP)
    8.สภาแห่งชาติกะเหรี่ยงสันติภาพ(KNU/KNLA-PC)
    9.พรรครัฐมอญใหม่(NMSP)
    10.สหภาพประชาธิปไตยลาหู่(LDU)

8 กลุ่มแรก ลงนามใน NCA กับรัฐบาลของประธานาธิบดีเตงเส่ง เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2558 ส่วน 2 กลุ่มหลัง คือ พรรครัฐมอญใหม่และสหภาพประชาธิปไตยลาหู่ ลงนาม NCA กับรัฐบาลพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย(NLD) ของอองซาน ซูจี เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2561

พิธีลงนามใน NCA กับกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ 8 กลุ่มแรก เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2558 ที่มาภาพ : เว็บไซต์ RFA ภาคภาษาพม่า
……

8 ปีที่แล้ว ในพิธีลงนาม NCA ระหว่างรัฐบาลเมียนมากับกองกำลังติดอาวุธ 8 กลุ่มแรก ที่ถูกจัดขึ้นในกรุงเนปิดอ ถือเป็นงานใหญ่ที่ประชาคมโลกให้การยอมรับ ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐอเมริกาขณะนั้น ออกมากล่าวชื่นชม เลขาธิการองค์การสหประชาติ สหภาพยุโรป ส่งสารมาแสดงความยินดี ทูตานุทูตจากทุกประเทศที่มีสถานทูตอยู่ในเมียนมา องค์กรระหว่างประเทศอีกหลายแห่ง ต่างส่งตัวแทนมาเข้าร่วมในพิธี

แต่การรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ทำให้เมียนมาต้องกลับมาถูกโดดเดี่ยวอีกครั้ง หลายประเทศประกาศคว่ำบาตร ประชาคมระหว่างประเทศออกมาตรการกดดัน สัมพันธภาพของรัฐบาลเมียนมากับกองทัพพม่าที่มีต่อกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ 10 กลุ่มที่ได้ลงนาม NCA กันไปแล้ว มีการเปลี่ยนแปลง กองกำลังติดอาวุธบางกลุ่มแสดงท่าทีต่อต้านออกมาอย่างชัดเจน

การรัฐประหารทำให้สถานการณ์ในเมียนมาหวนคืนสู่ภาวะสงครามกลางเมืองอีกครั้ง…แต่คราวนี้ คู่ร่วมรบหลักกลับไม่ใช่กองทัพพม่ากับกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ แต่เป็นคนพม่าที่จับอาวุธเข้าสู้รบกันเองกับกองทัพพม่าในนามของกองกำลังพิทักษ์ประชาชน(PDF) โดยมีกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์บางกลุ่มให้การสนับสนุน

พิธีเฉลิมฉลองการลงนาม NCA ครบรอบ 8 ปี ที่เพิ่งจัดเสร็จสิ้นไปเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2566 ในจำนวนกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ที่ได้ลงนาม NCA ไปแล้ว 10 กลุ่ม มี 7 กลุ่มที่ส่งตัวแทนอย่างเป็นทางการมาร่วมงานนี้ อีก 3 กลุ่มที่เหลือ ได้แก่ สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง(KNU) แนวร่วมแห่งชาติชิน(CNF) และแนวร่วมประชาธิปไตยของมวลนักศึกษาพม่า(ABSDF)ได้ปฏิเสธ ไม่ส่งตัวแทนมาร่วมพิธี โดยทั้ง 3 กลุ่มให้เหตุผลเหมือนกันว่าจะไม่ร่วมงานหรือเจรจาใดๆกับรัฐบาลของสภาบริหารแห่งรัฐเมียนมา หรือกองทัพพม่าอีก จนกว่าจะยุติการใช้ความรุนแรงต่อประชาชนในประเทศ…

หลังเกิดการรัฐประหาร สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงเป็นกลุ่มที่แสดงท่าทีต่อต้านออกมาชัดเจนที่สุด ทั้งกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง(KNLA) และองค์กรป้องกันแห่งชาติกะเหรี่ยง(KNDO) ที่เป็นกองกำลังในสังกัด KNU ได้จับอาวุธเข้าสู้รบอย่างดุเดือดกับกองทัพพม่าในพื้นที่รัฐกะเหรี่ยง ภาคตะนาวศรี ตลอดแนวชายแดนด้านตะวันตกของประเทศไทย ซึ่งเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญทางเศรษฐกิจ ทั้งของเมียนมาและของไทย นอกจากนี้ยังมีการต่อสู้เกิดอีกในหลายเมืองในรัฐมอญและภาคพะโค จนถึงทุกวันนี้ สงครามระหว่างกองทัพกะเหรี่ยงกับกองทัพพม่า ก็ยังคงดำเนินอยู่

เช่นเดียวกับในรัฐชิน ทางภาคตะวันตกของเมียนมาซึ่งมีชายแดนติดกับประเทศอินเดียและบังคลาเทศ ที่แม้เป็นรัฐขนาดเล็ก แต่ก็เป็นพื้นที่แรก ๆ ที่กลุ่มชนชาติพันธุ์ต่างๆในพื้นที่พร้อมใจกันจับมีดจับพร้า หยิบจอบเสียมมาเป็นอาวุธเข้าต่อสู้กับทหารพม่า มีการจัดตั้งกองกำลังพิทักษ์ประชาชน(PDF)ขึ้น และส่งกำลังพลไปฝึกการสู้รบและการใช้อาวุธอย่างเป็นระบบกับกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์บางกลุ่ม เพื่อมาต่อสู้กับกองทัพพม่าทั้งในและนอกรูปแบบ

ส่วนแนวร่วมประชาธิปไตยของมวลนักศึกษาพม่า(ABSDF) ก็เปลี่ยนท่าที โดยเฉพาะหลังสภาบริหารแห่งรัฐ(SAC) ได้ประหารชีวิตนักเคลื่อนไหวฝ่ายต่อต้าน 4 คน ด้วยการแขวนคอ ในเดือนกรกฎาคม 2565

ABSDF เป็นกลุ่มอดีตนักศึกษาที่เคลื่อนไหวประท้วงขับไล่รัฐบาลเผด็จการทหารของนายพลเนวินจนทำให้เกิดการล้อมปราบอย่างรุนแรงที่เริ่มขึ้นในวันที่ 8 สิงหาคม 2531(วันที่ 8 เดือน 8 ปี 1988) หรือที่เรียกกันว่า “เหตุการณ์ 8888” นักศึกษาที่เคลื่อนไหวครั้งนั้น บางส่วนได้ลี้ภัยออกนอกประเทศ แต่อีกบางส่วนตัดสินใจเข้าป่าจับอาวุธเข้าสู้รบกับกองทัพพม่าจนสามารถจัดตั้งเป็นกองกำลังติดอาวุธขึ้นมาได้ในเดือนพฤศจิกายน 2531

หลังเมียนมาเริ่มฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตยขึ้นในต้นทศวรรษ 2550 อดีตนักศึกษาจากเหตุการณ์ 8888 หลายคน ได้เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองกับพรรค NLD หลายคนชนะเลือกตั้งได้เป็นสมาชิกรัฐสภาจากการเลือกตั้งทั่วไปที่จัดขึ้นทั้งในปลายปี 2553 , 2558 และ 2563

แต่เมื่อเกิดการรัฐประหารขึ้นอีกครั้งในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 สมาชิกพรรค NLD ที่เป็นอดีตนักศึกษาจากเหตุการณ์ 8888 ส่วนหนึ่งถูกจับกุม ส่วนผู้ที่ยังรอดก็ได้เข้าร่วมเคลื่อนไหวกับรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ(NUG) หรือรัฐบาลเงาที่อดีตสมาชิกพรรค NLD สถาปนาขึ้น เพื่อทำหน้าที่ฝ่ายตรงข้าม ต่อสู้กับรัฐบาลทหารของสภาบริหารแห่งรัฐ(SAC)

เดือนกรกฎาคม 2565 สภาบริหารแห่งรัฐได้ประหารชีวิตนักเคลื่อนไหวฝ่ายต่อต้าน 4 คน ด้วยการแขวนคอ สภาบริหารแห่งรัฐได้ประหารชีวิตนักเคลื่อนไหวฝ่ายต่อต้าน 4 คน ด้วยการแขวนคอ ก่อให้เกิดกระแสต่อต้าน ประท้วง ประณาม SAC รัฐบาลเมียนมา และกองทัพพม่า อย่างกว้างขวางจากหลายภาคส่วน ทั้งในและต่างประเทศ โดย 1 ใน 4 ของผู้ถูกประหาร คือ จ่อมินยู หรือที่รู้จักกันในชื่อ “โกจิมมี่” อดีตนักศึกษาที่มีบทบาทสำคัญจากเหตุการณ์ 8888

แนวร่วมประชาธิปไตยของมวลนักศึกษาพม่า ได้จับมือกับสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง แนวร่วมแห่งชาติชิน และพรรคก้าวหน้าแห่งชาติกะเหรี่ยงแดง(KNPP) ร่วมออกแถลงการณ์กับรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ(NUG) ประณามการประหารชีวิตครั้งนี้ว่าเป็นการก่อการร้าย และประกาศว่าจะต่อสู้กับกองทัพพม่าและรัฐบาลของสภาบริหารแห่งรัฐ…

ตัวแทนกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ที่มาร่วมในพิธี ที่มาภาพ : Popular News Journal

ในพิธีเฉลิมฉลองครบรอบ 8 ปี การลงนาม NCA ที่กรุงเนปิดอ เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2566 บุคคลที่เป็นตัวแทนกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ที่มาร่วมงาน ประกอบด้วย

  • พล.อ.เจ้ายอดศึก ประธานสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน(RCSS/SSA)
  • ซอ เทาะเล ประธานสภาแห่งชาติกะเหรี่ยงสันติภาพ(KNU/KNLA-PC)
  • ซอ บะเงม์ ผู้บังคับการ กองกำลังกะเหรี่ยงโก๊ะทูบลอ(DKBA/KKO)
  • ดอ ส่อเมียะราส่าลิน ประธานพรรคปลดปล่อยอาระกัน(ALP)
  • ขุนตูยิน ประธานองค์กรปลดปล่อยชาติปะโอ(PNLO)
  • ขุนอ๊กคา นายกองค์กรปลดปล่อยชาติปะโอ(PNLO)
  • พ.อ.โซโลมอน ประธานสหภาพประชาธิปไตยลาหู่(LDU)
  • นายปัญญา แล คณะกรรมการกลาง พรรครัฐมอญใหม่(NMSP)
  • ตัวแทนกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ที่มาร่วมในพิธี ที่มาภาพ : Popular News Journal

    ที่น่าสนใจ…มีผู้นำกองกำลังติดอาวุธ 2 คน ที่ต้นสังกัดได้ปฏิเสธแล้วว่าจะไม่ส่งตัวแทนมาร่วมในพิธีนี้ แต่ทั้งคู่เดินทางมาร่วมพิธีด้วยเป็นการส่วนตัว ได้แก่ ซอ มูตูเซโพ อดีตประธานสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง(KNU) และ อู เมียววิน รองประธานแนวร่วมประชาธิปไตยของมวลนักศึกษาพม่า(ABSDF) โดย อู เมียววิน ได้นำคณะเข้าพบกับ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ประธานสภาบริหารแห่งรัฐ(SAC) เมียนมาด้วย ในวันจันทร์ที่ 16 ตุลาคม

    วันเดียวกัน(16 ต.ค.) คณะกรรมการบริหาร ABSDF ได้เรียกประชุมด่วน และมีคำสั่งปลดคนของ ABSDF ทุกคนที่เดินทางไปร่วมพิธีเฉลิมฉลองครบรอบ 8 ปี การลงนาม NCA ที่กรุงเนปิดอ ออกจากตำแหน่ง เนื่องจากมีการกระทำที่ขัดกับนโยบายของ ABSDF ซึ่งประกาศไว้ก่อนหน้านั้นแล้วว่า จะไม่ส่งตัวแทนเข้าร่วมในพิธีนี้

    คำสั่งคณะกรรมการแนวร่วมประชาธิปไตยของมวลนักศึกษาพม่า(ABSDF) ปลดผู้ที่เดินทางไปร่วมงานเฉลิมฉลองครบรอบ 8 ปี การลงนามใน NCA ฐานมีการกระทำที่ขัดต่อนโยบายของ ABSDF

    ซอ มูตูเซโพ เป็นอดีตประธานสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงที่มีบทบาทสำคัญในกระบวนการร่างข้อตกลง NCA มาตั้งแต่ต้น ตั้งแต่สมัยของประธานาธิบดีเตงเส่ง และในช่วงที่เขายังดำรงตำแหน่งประธาน KNU ก็พยายามดำเนินนโยบายโดยยึดเนื้อหาที่เขียนไว้ใน NCA เป็นหลัก ทำให้เขาถูกต่อต้านจากผู้นำ KNU ระดับรองลงมา และผู้นำกองกำลังในสังกัดบางคนที่นิยมนโยบายแข็งกร้าวกับกองทัพพม่า โดยเฉพาะหลังการรัฐประหาร ที่ทั้ง 2 ฝ่าย เริ่มกลับมาสู้รับกันใหม่

    วันที่ 2 พฤษภาคม 2566 KNU ได้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการกลางชุดใหม่ จำนวน 45 คน และที่ประชุมเสียงข้างมากได้มีมติเลือกให้ ปะโด “ซอ กวยทูวิน” อดีตรองประธาน KNU ขึ้นดำรงตำแหน่งประธาน KNU คนใหม่ แทน ซอ มูตูเซโพ ซึ่งมีอายุกว่า 90 ปี และมีปัญหาสุขภาพ

    พิธีเฉลิมฉลองครบ 8 ปี การลงนามใน NCA ครั้งนี้ ซอ มูตูเซโพ ได้เป็น 1 ใน 2 ตัวแทนจากกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ที่ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์แสดงความยินดี โดยตัวแทนอีก 1 คน คือ พล.อ.เจ้ายอดศึก ประธานสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน

    ฝั่งสภาบริหารแห่งรัฐ ผู้ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์หลักได้แก่ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ประธาน SAC นอกจากนี้ ยังมี อู อ่องมิน อดีตรัฐมนตรีในรัฐบาลประธานาธิบดีเตงเส่ง และเป็นรองประธานคณะทำงานจัดทำสันติภาพสหภาพ(Union Peacemaking Working Committee : UPWC) ซึ่งเป็นอีกคนหนึ่งที่สำนักข่าว Popular News Journalมีบทบาทสำคัญในกระบวนการร่างเนื้อหาของ NCA…

    สำหรับตัวแทนจากต่างประเทศที่เดินทางมาร่วมพิธีเฉลิมฉลองครบรอบ 8 ปี การลงนามใน NCA เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2566 ตามข้อมูลที่สำนักข่าว Popular News Journal นำเสนอ ระบุว่า มีเอกอัครราชทูตจาก 10 ประเทศ นักการทูตของประเทศที่มีสถานทูตอยู่ในเมียนมา 32 คน นักการทูตที่ไม่มีสถานทูตอยู่ในเมียนมา 7 คน และเจ้าหน้าที่สถานทูตอีก 4 คน

    สำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ(United Nations Office for the Coordination of Humanitarian Affairs : UNOCHA) ส่งตัวแทนมาร่วมในพิธีด้วย 1 คน

    ประเทศเพื่อนบ้านที่

    เติ้ง ซีจุน(แถวยืน ที่ 3 จากขวา) ทูตพิเศษฝ่ายกิจการเอเซีย กระทรวงการต่างประเทศจีน ถ่ายภาพร่วมกับกรรมการสภาบริหารแห่งรัฐ และตัวแทนกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ ที่มาภาพ : Popular News Journal
    มีพรมแดนติดกับเมียนมา ได้แก่ จีน อินเดีย และไทย ได้ส่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงและมีบทบาทสำคัญเข้าร่วมครบทั้ง 3 ประเทศ

    ตัวแทนจากจีน ได้แก่ เติ้ง ซีจุน(Deng Xijun) ทูตพิเศษฝ่ายกิจการเอเซีย กระทรวงการต่างประเทศจีน ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งนี้เมื่อปลายปี 2565 แทนซุน กั๋วเสียง ทูตพิเศษคนเก่า ซึ่งดำรงตำแหน่งนี้ต่อเนื่องมานานหลายปี โดยเติ้ง ซีจุน ได้นำคณะรวม 4 คน เดินทางมาร่วมในพิธีนี้

    ตัวแทนจากอินเดีย ได้แก่ Ajit Kumar Doval หรือ Ajit Doval ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติอินเดีย ผู้ให้คำปรึกษาโดยตรงกับนายกรัฐมนตรี นเรนทระ โมที Ajit Doval เคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติอินเดียมาก่อนจนเกษียณอายุ

    ทีมงานของ Ajit Doval ที่เดินทางมาร่วมในพิธีเฉลิมฉลองครบรอบ 8 ปี การลงนามใน NCA ที่กรุงเนปิดอ ได้แก่ Vikram Misri รองที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติอินเดีย ก่อนได้รับตำแหน่งนี้ Vikram Misri เคยเป็นเอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศจีนอยู่ 3 ปีเต็ม ตั้งแต่เดือนมกราคม 2562 ถึงเดือนธันวาคม 2564 นอกจากนี้ เขายังเคยเป็นเลขานุการของนายกรัฐมนตรี นเรนทระ โมที และยังเคยเป็นเอกอัครราชทูตอินเดีย ประจำเมียนมาอีกด้วย

    ตัวแทนจากประเทศไทย ได้แก่ สีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ และเป็นอดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับ ดร.อภิชาติ ชินวรรโณ อดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ปัจจุบันเป็นผู้ช่วยเลขาธิการ สภากาชาดไทย พร้อมด้วยทีมงานอีก 2 คน

    ตัวแทนจากประเทศเพื่อนบ้านทั้ง 3 ประเทศ ประกอบด้วย เติ้ง ซีจุน Vikram Misri และสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ได้ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์แสดงความยินดีในพิธีเฉลิมฉลองครั้งนี้ด้วย(รายละเอียดคำกล่าวของตัวแทนทั้ง 3 คน ดูได้จากภาพประกอบ)

    Vikram Misri(คนกลาง) รองที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติอินเดีย และสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว(ที่ 2 จากขวา) กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ ของไทย ตัวแทนจาก 2 ประเทศเพื่อนบ้านของเมียนมา ที่ไปร่วมในพิธี ที่มาภาพ : Popular News Journal

    ……

    การทำรัฐประหารของ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ทำให้หลายประเทศที่อยู่ห่างไกล โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป รวมถึงบางประเทศที่อยู่ใกล้เข้ามาในเอเซีย และในอาเซียน เปลี่ยนนโยบายที่มีต่อเมียนมา พยายามโดดเดี่ยว ใช้มาตรการกดดัน คว่ำบาตรแทบทุกด้าน เพื่อบีบให้เมียนมาฟื้นประชาธิปไตยกลับมาโดยเร็ว

    แต่ประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกันเป็นระยะทางยาวนับพันกิโลเมตร อย่างจีน อินเดีย และไทย ไม่สามารถดำเนินนโยบายแบบเดียวกับประเทศเหล่านั้นได้ การให้ความร่วมมือ ช่วยกันประคับประคองสถานการณ์ ทำทุกวิถีทางเท่าที่ทำได้ เพื่อให้สันติภาพเกิดขึ้นในเมียนมาโดยเร็ว จึงเป็นหนทางที่เหมาะสมกว่า…

    สุนทรพจน์ของ เติ้ง ซีจุน ตัวแทนจากจีน ในโอกาสครบรอบ 8 ปี การลงนามใน NCA ที่เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ The Global New Light of Myanmar ฉบับวันจันทร์ที่ 16 ตุลาคม 2566
    สุนทรพจน์ของ Vikram Misri ตัวแทนจากอินเดีย ในโอกาสครบรอบ 8 ปี การลงนามใน NCA ที่เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ The Global New Light of Myanmar ฉบับวันจันทร์ที่ 16 ตุลาคม 2566
    สุนทรพจน์ของ สีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ตัวแทนจากไทย ในโอกาสครบรอบ 8 ปี การลงนามใน NCA ที่เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ The Global New Light of Myanmar ฉบับวันจันทร์ที่ 16 ตุลาคม 2566