ThaiPublica > สู่อาเซียน > เดินหน้าโครงข่ายขนส่งมวลชนในนครหลวงเวียงจันทน์

เดินหน้าโครงข่ายขนส่งมวลชนในนครหลวงเวียงจันทน์

13 ตุลาคม 2023


ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน

แผนที่บริเวณที่มีการเปลี่ยนทิศการจราจรบนนถนน 18 สาย ในย่านศูนย์กลางธุรกิจเก่าแก่ของนครหลวงเวียงจันทน์

วันที่ 27 กันยายน 2566 อาดสะพังทอง สีพันดอน เจ้าครองนครหลวงเวียงจันทน์ ได้ออกหนังสือแจ้งการเลขที่ 06/จนว. เรื่องการเปลี่ยนทิศทางการจราจรบนถนน 18 สาย ในย่านศูนย์กลางธุรกิจเก่าแก่ของตัวเมืองนครหลวงเวียงจันทน์

ตัวอย่างถนนหลักบางเส้นที่ถูกเปลี่ยนทิศทางการจราจรตามหนังสือแจ้งการฉบับนี้(โปรดดูแผนที่ประกอบ)

  • ถนนเลียบแม่น้ำโขง จากทิศตะวันตกไปทางทิศตะวันออก จากสามแยกปากป่าสัก จนไปบรรจบกับถนนท่าเดื่อ ให้รถวิ่งสวนทางกันได้
  • ถนนฟ้างุ่ม ให้รถวิ่งทางเดียว จากทิศตะวันตกไปทางทิศตะวันออก จากสามแยกปากป่าสัก จนไปบรรจบกับถนนทาดขาว
  • ถนนสีถาน ให้รถวิ่งทางเดียวจากทิศเหนือลงมาทิศใต้ จากถนนเสดถาทิลาด จนมาถึงสามแยกสันป่าสัก
  • ถนนเจ้าอานุ ให้รถวิ่งทางเดียวจากทิศเหนือลงมาทิศใต้ จากถนนขุนบุลม จนมาบรรจบกับถนนฟ้างุ่ม
  • ถนนสักกะริน เปลี่ยนให้รถวิ่งทางเดียวไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ จากถนนฟ้างุ่ม จนไปบรรจบกับถนนคูเวียง
    ฯลฯ
  • ในหนังสือแจ้งการ ได้ได้อ้างอิงเนื้อหาจากบันทึกการประชุมคณะชี้นำ “โครงการขนส่งแบบยั่งยืนในตัวเมืองนครหลวงเวียงจันทน์”(Vientiane Sustainable Urban Transport Project) หรือโครงการ VSUTP เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2566 ซึ่งมีเจ้าครองนครหลวงเวียงจันทน์ และรัฐมนตรีกระทรวงโยธาธิการและขนส่งเป็นประธานร่วม และอ้างอิงหนังสือเสนอของแผนกโยธาธิการและขนส่ง นครหลวงเวียงจันทน์ เลขที่ 7668/ยทข.นว. ลงวันที่ 4 สิงหาคม 2566

    โดยระบุวัตถุประสงค์ของการเปลี่ยนทิศทางการจราจรครั้งนี้ว่า เพื่อลดการแออัดของการจราจร แก้ปัญหารถติด ลดการเกิดอุบัติเหตุ และควบคุมให้การจราจรบนถนนในตัวเมืองนครหลวงเวียงจันทน์มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย…

    ถัดมา วันที่ 28 กันยายน 2566 กระทรวงโยธาธิการและขนส่ง ได้เซ็นสัญญากับบริษัทรัฐวิสาหกิจสร้างทางหมายเลข 8 จำกัด และบริษัทไตเจื่องเซิน จำกัด ให้เป็นผู้ก่อสร้างเส้นทางอ้อมรอบสถานีรถเมล์ด่วน(Bus Rapid Transport) หรือ BRT โดยใช้งบประมาณทั้งสิ้น 3.49 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

    เส้นทางอ้อมรอบสถานี BRT ที่กำลังจะสร้าง ประกอบด้วย ถนนร่วมที่เป็นเลนเฉพาะของรถเมล์ด่วน BRT บนเส้นทางหลัก 4 สาย ได้แก่ ถนนเจ้าอานุ ทั้งทิศเหนือและทิศใต้ ถนนแห่งบุน และถนนหัดสะดีบริเวณใกล้กับศูนย์การค้าตลาดเช้ามอลล์

    เลนเฉพาะของรถเมล์ด่วน BRT ที่จะสร้างใหม่เป็นคอนกรีตเสริมเหล็กปูหน้าด้วยแอสฟัลท์ กว้าง 5.7-8.8 เมตร ระยะทางยาว 1.065 กิโลเมตร รายละเอียดเนื้องาน จะมีการสร้างฟุตบาท นำสายไฟฟ้าและสารสื่อสารลงใต้ดิน ตกแต่งแนวริมทางด้วยต้นไม้ วางเก้าอี้ให้คนนั่ง สร้างหลักกั้น ตีเส้นการจราจร รวมถึงติดป้ายสัญญานจราจร กำหนดเวลาก่อสร้างไว้ 12 เดือน คาดว่าจะสามารถส่งมอบงานได้ในเดือนตุลาคม 2567…


    ภาพจำลองเส้นทางรถเมล์ด่วน BRT ตามโครงการขนส่งแบบยั่งยืนในตัวเมืองนครหลวงเวียงจันทน์ ที่มาภาพ : ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเซีย

    รุ่งขึ้น วันที่ 29 กันยายน 2566 กระทรวงโยธาธิการและขนส่ง ได้เซ็นสัญญาให้บริษัทซิงเต่า ไลเซนส์ ทรานส์เทค จำกัด เป็นผู้ติดตั้งระบบการขนส่งอัจฉริยะ(Intelligent Transport System) หรือระบบ ITS ให้กับโครงการรถเมล์ด่วน BRT โครงการนี้มูลค่า 5.5 ล้านดอลลาร์ โดยจะติดตั้งระบบและอุปกรณ์ใน 4 ส่วน ได้แก่ ศูนย์ควบคุมการจราจรของรถเมล์ด่วน BRT อู่รถเมล์ด่วน BRT สถานีรถเมล์ด่วน BRT และภายในตัวรถเมล์ด่วน BRT

    อุปกรณ์ที่จะติดตั้ง ประกอบด้วย กล้องวงจรปิด(CCTV) ระบบติดตามตำแหน่งยานพาหนะ (Automatic Vehicle Location : AVL) จอแสดงข้อมูลและเวลาที่รถวิ่งให้บริการ ระบบตรวจนับผู้โดยสาร ฯลฯ คาดว่าจะสามารถติดตั้งระบบและอุปกรณ์ได้ทั้งหมด ภายในเดือนพฤศจิกายน 2567

    ตามข่าวที่เผยแพร่ของสื่อในลาว ระบุว่า ระบบการขนส่งอัจฉริยะ(ITS) จะยกระดับการให้บริการขนส่งสาธารณะในตัวเมืองนครหลวงเวียงจันทน์ให้ทันสมัย มีศูนย์ควบคุมการจราจรที่เป็นระบบ ตามสถานีรับ-ส่งผู้โดยสาร จะมีจอแสดงข้อมูลของสายรถเมล์ BRT ที่กำลังวิ่งให้บริการ แสดงเวลาจอดรับ-ส่งผู้โดยสารตามสถานีที่แน่นอน…

    “ประชาชน” สื่อของรัฐที่กำกับดูแลโดยพรรคประชาชนปฏิวัติลาว รายงานว่า นอกจากสัญญาสร้างเส้นทางอ้อมรอบสถานีรถเมล์ด่วน BRT บนเส้นทางหลัก 4 สาย และสัญญาติดตั้งระบบการขนส่งอัจฉริยะ ที่ได้มีการลงนามกันไปแล้ว กระทรวงโยธาธิการและขนส่งยังมีสัญญาก่อสร้างตามโครงการรถเมล์ด่วน BRT เหลืออยู่อีก 4 สัญญา ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการคัดเลือกผู้ลงทุน ได้แก่

  • สัญญาก่อสร้างเลนเฉพาะและสถานีขึ้น-ลง รถเมล์ด่วน BRT ตั้งแต่สวนสาธารณะเจ้าฟ้างุ่ม ผ่านตลาดเช้า ไปถึงสวนสาธารณะประตูไซ
  • สัญญาก่อสร้างเลนเฉพาะและสถานีขึ้น-ลง รถเมล์ด่วน BRT ตั้งแต่สวนสาธารณะประตูไซ ไปถึงมหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว ดงโดก
  • สัญญาสร้างศูนย์ควบคุมการจราจร ศูนย์บำรุงรักษา และอู่จอดรถเมล์ด่วน BRT
  • สัญญาก่อสร้างและติดตั้งไฟสัญญานจราจร
  • ……


    ภาพจำลองเส้นทางรถเมล์ด่วน BRT ตามโครงการขนส่งแบบยั่งยืนในตัวเมืองนครหลวงเวียงจันทน์ ที่มาภาพ : ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเซีย

    รถเมล์ด่วน BRT เป็นส่วนประกอบสำคัญซึ่งถูกบรรจุไว้ในแผนแม่บทของ “โครงการขนส่งแบบยั่งยืนในตัวเมืองนครหลวงเวียงจันทน์”(VSUTP) ซึ่งมีกระทรวงโยธาธิการและขนส่งเป็นเจ้าภาพ VSUTP ไม่ใช่โครงการใหม่ แนวคิดของโครงการนี้ ถูกริเริ่มไว้ตั้งแต่สมัยของนายกรัฐมนตรี ทองสิง ทำมะวง ในปี 2558

    VSUTP เป็นการปรับปรุงบริการและควบคุมการขนส่งในตัวเมืองนครหลวงเวียงจันทน์ โดยการสร้างหน่วยงานควบคุมการขนส่ง , ให้บริการขนส่งมวลชนด้วยรถเมล์ไฟฟ้าที่มีคุณภาพสูงและรถเมล์ด่วน BRT , ปรับปรุงและบริหารจัดการจราจร , นำระบบควบคุมที่จอดรถและระบบขึ้นทะเบียนยานพาหนะ , ปรับปรุงเส้นทางคนเดิน และนำการขนส่งแบบไม่ใช้เครื่องจักรมาใช้เพื่อลดปัญหามลพิษ รวมถึงสนับสนุนความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน

    โครงการ VSUTP ใช้งบประมาณรวม 99.7 ล้านดอลลาร์ แบ่งเป็นเงินลงทุนของรัฐบาลลาว 14.55 ล้านดอลลาร์ การลงทุนจากภาคเอกชน 6.41 ล้านดอลลาร์ ที่เหลือ อีก 78.74 ล้านดอลลาร์ เป็นเงินกู้ยืมและเงินช่วยเหลือจากองค์กรระหว่างประเทศ 5 แห่ง ได้แก่

  • เงินกู้จากธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเซีย(ADB) 35 ล้านดอลลาร์
  • เงินกู้จาก European Investment Bank 20 ล้านดอลลาร์
  • เงินกู้จาก OPEC Fund for International Development 15 ล้านดอลลาร์
  • เงินกู้จาก Asia Investment Facility 6.9 ล้านดอลลาร์
  • กองทุนสิ่งแวดล้อมโลก(Global Environment Facility) ให้เงินช่วยเหลืออีก 1.84 ล้านดอลลาร์
  • สภาแห่งชาติลาวให้การรับรองโครงการ VSUTP ในปี 2559 และเริ่มเดินหน้าโครงการอย่างจริงจังในปี 2561 อย่างไรก็ตาม หลังเกิดการระบาดหนักของโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา โครงการ VSUTP ได้หยุดชงักไปนานพอสมควร กระทั่งเพิ่งเริ่มกลับมาเดินหน้าอีกครั้ง ในปี 2565

    รถเมล์ที่วิ่งให้บริการในนครหลวงเวียงจันทน์ ที่มาภาพ : เพจ Vientiane City Bus 2 Bus Serevice
    ……

    “นครหลวงเวียงจันทน์” ซึ่งเป็นเมืองหลวงของ สปป.ลาว มีพื้นที่รวม 3,920 ตารางกิโลเมตร สถิติเมื่อปี 2563 ประชากรในนครหลวงเวียงจันทน์มี 948,446 คน ในนี้เป็นประชากรที่อาศัยอยู่เฉพาะในพื้นที่เมือง(urbanized areas) ไม่ต่ำกว่า 500,000 คน

    นอกจากพื้นที่ซึ่งเป็นที่พักอาศัยแล้ว นครหลวงเวียงจันทน์ยังเป็นศูนย์รวมที่ตั้งของทั้งหน่วยงานรัฐ วัด โบราณสถาน สำนักงานใหญ่ของธุรกิจเอกชน ทั้งธุรกิจในท้องถิ่นและธุรกิจข้ามชาติจากต่างประเทศ มีศูนย์การค้า ย่านพาณิชยกรรม แหล่งบันเทิง สันทนาการ และแหล่งท่องเที่ยว ทำให้สภาพของตัวเมืองทุกวันนี้ เต็มไปด้วยความแออัด คับคั่ง

    ย่านศูนย์กลางธุรกิจซึ่งเป็นพื้นที่เก่าแก่ตลอดแนวฝั่งทิศเหนือของแม่น้ำโขง ถนนหนทางคับแคบไม่สามารถขยายได้ หนำซ้ำ ปริมาณรถยนต์ส่วนตัวที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วง 10 กว่าปีมานี้ ทำให้หลายพื้นที่ของนครหลวงเวียงจันทน์เกิดปัญหาการจราจร ทั้งรถติด ขาดแคลนที่จอดรถ และถนนชำรุด ทรุดโทรม เสียหาย

    ระบบขนส่งสาธารณะในนครหลวงเวียงจันทน์ที่คนนิยมในอดีต มักใช้รถจักรยานยนต์รับจ้างที่เรียกกันว่ารถ”รถจัมโบ้” ต่อมามีรถตุ๊กตุ๊ก 3 ล้อเข้ามาให้บริการ แต่เมื่อปี 2554 รัฐบาลญี่ปุ่นและองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น(JICA) ได้มาช่วยพัฒนาการขนส่งสาธารณะด้วยรถเมล์ให้กับนครหลวงเวียงจันทน์ มีการจัดตั้งรัฐวิสาหกิจรถเมล์นครหลวงเวียงจันทน์ขึ้น และขยายเส้นทางเดินรถได้ครอบคลุมถนนหลายสายในทุกวันนี้ โดยเฉพาะเส้นทางหลักจากย่านใจกลางเมืองไปยังชานเมือง ที่สามารถเชื่อมต่อกับโครงข่ายขนส่งประเภทอื่น ทั้งสนามบิน สถานีรถไฟ สถานีรถโดยสารสายใต้ และสะพานมิตรภาพแห่งที่ 1

    ส่วนโครงข่ายถนน มีการสร้างโครงการทางด่วนเวียงจันทน์ หมายเลข 1 ยาว 15.30 กิโลเมตร เป็นทางด่วนแห่งแรกที่สร้างขึ้นเพื่อลดปัญหาการจราจรภายในนครหลวงเวียงจันทน์ มูลค่าก่อสร้างรวม 200 ล้านดอลลาร์ มีจุดเริ่มต้นจากเขตเศรษฐกิจเฉพาะบึงทาดหลวง เมืองไซเสดถา วิ่งตรงขึ้นไปทางทิศเหนือถึงถนนสาย 13 ใต้ ในเขตบ้านดงหมากคาย เมืองไซทานี

    บริษัทเอเซียลงทุน พัฒนา และก่อสร้าง ได้ร่วมทุนกับบริษัท China North Industries Corporation ตั้งบริษัททางด่วนเวียงจันทน์หมายเลข 1 ขึ้น เพื่อเข้ารับสัมปทานก่อสร้างทางด่วนสายนี้ มีอายุสัมปทาน 50 ปี และต่อได้อีก 20 ปี โดยองค์การปกครองนครหลวงเวียงจันทน์ได้เซ็นสัญญามอบสัมปทานก่อสร้างทางด่วนเวียงจันทน์หมายเลข 1 เมื่อเดือนเมษายน 2562 และมีพิธีวางศิลาฤกษ์เริ่มต้นการก่อสร้าง ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2563

    ปัจจุบันทางด่วนสายนี้ยังสร้างไม่เสร็จ แม้ว่าในพิธีวางศิลาฤกษ์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 บริษัททางด่วนเวียงจันทน์หมายเลข 1 ผู้ได้รับสัมปทาน คาดไว้ว่า ทางด่วนเส้นนี้จะสร้างเสร็จภายในเวลา 24 เดือน แต่ต่อมา ในเดือนมิถุนายน 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่โควิด-19 เริ่มระบาด ได้มีการขยายระยะเวลาก่อสร้างออกไปเป็น 36 เดือน

    แนวทางด่วนเวียงจันทน์ หมายเลข 1
    ……

    ด้วยความที่ลาวตั้งอยู่บนเส้นทางยุทธศาสตร์ “1 แถบ 1 เส้นทาง” (Belt and Road Initiative : BRI) ที่ประเทศจีนให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง และนครหลวงเวียงจันทน์ก็เป็นชุมทางโครงข่ายคมนาคมทางราง เป็นจุดเชื่อมต่อเส้นทางทางรถไฟลาว-ไทย เข้ากับทางรถไฟลาว-จีน และทางรถไฟลาว-เวียดนาม แนวโน้มประชากรที่จะเข้ามาอาศัยอยู่ในนครหลวงเวียงจันทน์ย่อมเพิ่มสูงขึ้น และโอกาสของเมืองที่จะขยายตัวต่อไปอีก ก็มีมากขึ้น การเตรียมวางระบบขนส่งสาธารณะภายในตัวเมืองเพื่อรองรับการขยายตัวเหล่านี้ จึงเป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้

    หากทุกสัญญาที่ได้เซ็นกันไปแล้วเดินหน้าได้ตามกำหนดเวลา อีก 1 ปีข้างหน้า ย่านศูนย์กลางธุรกิจเก่าแก่ของนครหลวงเวียงจันทน์ คงต้องดูแปลกตาไปจากปัจจุบันไม่น้อยทีเดียว

    ตัวแปรน่าจะอยู่ที่ไลฟ์สไตล์คนลาวเอง โดยเฉพาะรสนิยมของผู้ที่มีฐานะทางสังคมในลาว ซึ่งชอบเดินทางไปไหนต่อไหนด้วยรถยนต์ส่วนตัว และหลายคนก็มีนิสัยสะสมรถยนต์ส่วนตัวไว้เป็นจำนวนหลายคัน

    โครงข่ายขนส่งมวลชนที่กำลังถูกพัฒนาขึ้นมา จะช่วยบรรเทาปัญหาความแออัดคับคั่งบนถนนในนครหลวงเวียงจันทน์ได้หรือไม่ ย่อมขึ้นอยู่กับตัวแปรนี้ด้วยอย่างแน่นอน…

  • Loca สตาร์ทอัปลาวในทำเนียบระดับโลก “Forbes Asia 100 To Watch”