ThaiPublica > ประเด็นร้อน > COVID-19 พลิกโลก > สถานการณ์โควิด-19 ในเมียนมา…ยังน่าห่วง

สถานการณ์โควิด-19 ในเมียนมา…ยังน่าห่วง

9 พฤษภาคม 2021


ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน

ที่มาภาพ: สถานทูตจีน ประจำกรุงย่างกุ้ง

ตั้งแต่ 26 เมษายนถึงต้นเดือนพฤษภาคม 2564 เครื่องบิน Air China 3 ลำ ทยอยบินมาลงยังสนามบินนานาชาติวัดไต นครหลวงเวียงจันทน์, สนามบินนานาชาติ กรุงพนมเปญ และสนามบินนานาชาติ กรุงย่างกุ้ง

เครื่องบินแต่ละลำบรรทุกกล่องพัสดุขนาดใหญ่ ลำละไม่น้อยกว่า 10 กล่อง ที่ถูกปกคลุมไว้อย่างแน่นหนา ควบคุมอุณหภูมิ ไม่ยอมให้อากาศจากภายนอกแทรกซึมเข้าไปได้ ด้านข้างของทุกกล่องเขียนอักษรภาษาอังกฤษสีแดง CHINA AID

ในกล่องเหล่านี้คือวัคซีน Sinopharm ซึ่งผลิตโดย China National Pharmaceutical Group ที่รัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนจัดส่งมาช่วยลาว กัมพูชา และเมียนมา ซึ่งกำลังเผชิญกับการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ที่ทั้งรุนแรงและรวดเร็ว

วัคซีน Sinopharm 300,000 โดส เดินทางถึงสนามบินนานาชาติวัดไต สปป.ลาว ในตอนเย็นวันที่ 26 เมษายน อีก 400,000 โดส เดินทางถึงสนามบินนานาชาติพนมเปญ กัมพูชา ตอนค่ำวันที่ 29 เมษายน และอีก 500,000 โดส มาถึงสนามบินนานาชาติย่างกุ้งของเมียนมา ในวันที่ 2 พฤษภาคม

มีเมียนมาเพียงประเทศเดียวที่เพิ่งได้รับวัคซีน Sinopharm ลอตแรก อันเป็นความช่วยเหลือจากจีน ส่วนวัคซีนที่ลาวและกัมพูชาได้รับรอบนี้ เป็นความช่วยเหลือลอตที่ 3 แล้ว ที่จีนส่งให้กับประเทศทั้งสอง…

วัคซีน Sinopharm 500,000 โดส ซึ่งจีนส่งมาช่วยเมียนมา เดินทางถึงสนามบินนานาชาติย่างกุ้ง เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2564 ที่มาภาพ: สถานทูตจีน ประจำกรุงย่างกุ้ง

หลังโควิด-19 เริ่มระบาดในเมียนมาระลอกแรกเมื่อเดือนมีนาคม 2563 จีนเคยให้ความช่วยเหลือโดยส่งอุปกรณ์การแพทย์ หน้ากากอนามัย รวมถึงผู้เชี่ยวชาญมาให้คำปรึกษาแก่กระทรวงสาธารณสุขและกีฬา เมียนมา แต่ยังไม่เคยบริจาควัคซีนให้มาก่อน

ก่อนการรัฐประหาร รัฐบาลเมียนมาที่มีพรรค NLD เป็นแกนนำ ได้สั่งซื้อวัคซีน COVISHIED จากประเทศอินเดียจำนวน 30 ล้านโดส อองซาน ซูจี แกนนำพรรค NLD ออกมาแถลงเรื่องนี้ด้วยตนเองทางสถานีโทรทัศน์ MRTV ตอนเช้าวันที่ 1 มกราคม 2564 เป็นเหมือนสารอวยพรวันปีใหม่สากลที่เธออยากบอกแก่ประชาชนเมียนมา

COVISHIED คือวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ที่อินเดียพัฒนาร่วมกับแอสตร้าเซนเนก้าและมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด มอบหมายให้สถาบันเซรุ่มแห่งอินเดีย (Serum Institute of India) เป็นผู้ผลิต

วันที่ 22 มกราคม อินเดียได้ส่งวัคซีน COVISHIED ลอตแรกมาให้เมียนมาก่อน 1.5 ล้านโดส เป็นลอตให้ฟรีตามโปรแกรมความช่วยเหลือที่อินเดียมอบแก่ประเทศเพื่อนบ้าน กระทรวงสาธารณสุขและกีฬานำวัคซีนลอตนี้ไปฉีดแก่คนที่ถูกจัดลำดับความสำคัญเบื้องต้นก่อน 7.5 แสนคน ตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม

หลังการรัฐประหารในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 อินเดียค่อยเริ่มส่งวัคซีนลอตที่เป็นการสั่งซื้อแก่เมียนมา

รายงานล่าสุดเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2564 กระทรวงสาธารณสุขและกีฬา ระบุว่าอินเดียได้ส่งวัคซีนให้เมียนมาแล้ว 2 ล้านโดส จากยอดสั่งซื้อ 30 ล้านโดส คงเหลือวัคซีนที่อินเดียต้องทยอยส่งมอบให้อีก 28 ล้านโดส

เมื่อรวมกับลอตแรกที่เป็นการให้ฟรี 1.5 ล้านโดส ปัจจุบันเมียนมาได้รับวัคซีน COVISHIED จากอินเดียแล้วทั้งสิ้น 3.5 ล้านโดส

แพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เมียนมา ได้รับการฉีดวัคซีน COVISHIED ของอินเดีย ตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม 2564 ไม่กี่วันก่อนการรัฐประหาร ที่มาภาพ: กระทรวงสาธารณสุขและกีฬา เมียนมา

ตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม ถึง 21 เมษายน 2564 กระทรวงสาธารณสุขและกีฬาได้ฉีดวัคซีน COVISHIED ให้ประชาชนเมียนมาทั่วประเทศแล้ว 1.88 ล้านคน ในนี้เป็นผู้ที่ได้รับการฉีดเข็มแรก 1.54 ล้านคน และมีผู้ที่ได้ฉีดเข็มที่ 2 แล้ว 3.4 แสนคน

คงเหลือวัคซีน COVISHIED ในสต็อกของกระทรวงสาธารณสุขและกีฬาอีก 1.62 ล้านโดส ที่จะทยอยฉีดเป็นเข็ม 2 ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป แก่ผู้ที่ถูกฉีดเข็มแรกไปแล้ว (ดูรายงานภาพรวมเรื่องวัคซีนโควิด-19 ของกระทรวงสาธารณสุขและกีฬา ฉบับวันที่ 21 เมษายน 2564)

รายงานภาพรวมเรื่องวัคซีนโควิด-19 ของกระทรวงสาธารณสุขและกีฬา ฉบับล่าสุด วันที่ 21 เมษายน 2564

ยอดวัคซีนที่ถูกฉีดไปแล้วนี้ ไม่รวมถึงวัคซีน Sinopharm 500,000 โดสลอตแรก ที่จีนเพิ่งส่งมาช่วยเมียนมาเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม

นอกจากงบประมาณที่ได้รับจัดสรรจากรัฐสภาแล้ว รัฐบาลเมียนมาได้ใช้วิธีตั้งกองทุน ระดมเงินจากประชาชนทั่วประเทศมาซื้อวัคซีนป้องกันโควิด-19

วันที่ 6 มกราคม 2564 กระทรวงวางแผน การคลัง และอุตสาหกรรม เป็นเจ้าภาพเปิดบัญชีกับธนาคาร Myanma Economic Bank สาขากรุงเนปิดอ 2 บัญชี ได้แก่ บัญชีเลขที่ EDC 600012 สำหรับรับบริจาคเงินที่เป็นสกุลต่างประเทศ ตั้งเป้ารับบริจาคไว้ 250 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 338 พันล้านจัต และบัญชีเลขที่ OA 013733 เพื่อรับบริจาคเงินสกุลจัต ตั้งเป้ารับบริจาคไว้ 1 พันล้านจัต

27 เมษายนที่ผ่านมา อู วิน เฉ่ง รัฐมนตรีกระทรวงวางแผน การคลัง และอุตสาหกรรม ในฐานะประธานอนุกรรมการระดมทุนเพื่อจัดซื้อวัคซีนโควิด-19 สรุปยอดเงินบริจาคจากประชาชน ระหว่างวันที่ 6 มกราคมถึง 23 เมษายน 2564 ใน 2 บัญชี มีผู้บริจาครวม 10,093 คน ได้รับเงินทั้งสิ้น 29,784.25 ล้านจัต กับอีก 3,140,149.53 ดอลลาร์ เมื่อนำไปรวมกับเงินกองทุนของภาครัฐ ขณะนี้เมียนมามีเงินทุนสำหรับซื้อวัคซีนป้องกันโควิด-19 แล้ว 30,784.25 ล้านจัต และ 253.14 ล้านดอลลาร์

รัฐบาลเมียนมาได้จ่ายเงินให้รัฐบาลอินเดียไปแล้ว 75 ล้านดอลลาร์ สำหรับซื้อวัคซีน COVISHIED 30 ล้านโดส เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2564 ดังนั้นจึงเหลือเงินสำหรับใช้ซื้อวัคซีนอยู่อีก 178.14 ล้านดอลลาร์ ในบัญชีที่เป็นสกุลเงินต่างประเทศ

ก่อนการรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 เมียนมากำลังเผชิญกับการระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 2 ที่เริ่มมาตั้งแต่กลางเดือนสิงหาคม 2563 แต่จำนวนผู้ติดเชื้อขยายตัวอย่างรวดเร็วและรุนแรงอย่างชัดเจน หลังผ่านการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 8 พฤศจิกายน

วันที่ 18 สิงหาคม 2563 ทั่วเมียนมา มีผู้ป่วยสะสม 376 คน หายป่วยแล้ว 331 คน เหลือรักษาตัวอยู่เพียง 39 คน และมีผู้เสียชีวิตรวม 6 ราย

27 กันยายน 2563 ก่อนเริ่มต้นการหาเสียงเลือกตั้ง ผู้ป่วยสะสมในเมียนมาเพิ่มมาเป็น 10,734 คน หายป่วยแล้ว 2,862 คน กำลังรักษาตัวอยู่ 7,646 คน และเสียชีวิตรวม 226 ราย

7 พฤศจิกายน 2563 ก่อนการเลือกตั้งทั่วไป 1 วัน ผู้ป่วยสะสมเพิ่มเป็น 60,348 คน หายป่วยแล้ว 44,666 คน กำลังรักษาตัวอยู่ 14,286 คน เสียชีวิตรวม 1,396 ราย

31 มกราคม 2564 ก่อนการรัฐประหาร เมียนมามีผู้ป่วยสะสม 140,145 คน หายป่วยแล้ว 125,072 คน กำลังรักษาตัวอยู่ 11,942 คน เสียชีวิตรวม 3,131 ราย

จำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วหลังการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2563 ทำให้กระทรวงสาธารณสุขและกีฬา เมียนมา ต้องระดมกำลังแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ตรวจคัดกรองหาผู้ติดเชื้ออย่างเข้มข้น

ตั้งแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน 2563 ถึง 31 มกราคม 2564 การตรวจคัดกรองเชื้อจากประชาชนทั่วประเทศ ทำได้เฉลี่ยวันละ 20,000 คน ประชากรเมียนมาที่ได้รับการตรวจหาเชื้อแล้วในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2563 มี 780,572 คน เพิ่มเป็น 2,390,347 คน ในวันที่ 31 มกราคม 2564 มีผู้ป่วยใหม่ที่ถูกตรวจพบแต่ละวันเพิ่มเฉลี่ยวันละ 800-1,000 คน

เช้ามืดวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2564 โรงพยาบาลเมืองท่าขี้เหล็ก รัฐฉานตะวันออก ติดประกาศไว้ที่หน้าประตูทางเข้า เขียนว่าหยุดรับคนไข้ใหม่ ให้ผู้ป่วยไปใช้บริการของโรงพยาบาลทหารแทน ที่มาภาพ: Tachileik News Agency

แต่หลังเกิดรัฐประหารในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ แม้ยังคงมีการตรวจคัดกรองหาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศอยู่ทุกวัน แต่ประสิทธิภาพการตรวลดลงไปมาก โดยเฉพาะหลังวันที่ 8 กุมภาพันธ์เป็นต้นมา

สาเหตุสำคัญเพราะ แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ส่วนหนึ่งได้เข้าร่วมหยุดงานประท้วงการรัฐประหาร ตามกระบวนการอารยะขัดขืน (CDM) โรงพยาบาลในหลายเมืองหยุดรับคนไข้ใหม่ ทำให้เหลือแพทย์ พยาบาล ที่ยังทำงานอยู่น้อยลง ส่วนใหญ่เป็นแพทย์และพยาบาลของโรงพยาบาลทหาร

วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 จำนวนประชากรที่ได้รับการตรวจคัดกรองเชื้อโควิด-19 แล้ว มี 2,399,366 คน เพิ่มเป็น 2,587,501 คน ในวันที่ 7 พฤษภาคมที่เพิ่งผ่านมา หรือเพิ่มขึ้นเพียง 188,135 คน ในเวลา 3 เดือนเศษ ความสามาถในการตรวจหาเชื้อลดเหลือเฉลี่ยวันละ 1,500 คน และพบผู้ป่วยใหม่เฉลี่ยวันละ 15-20 คน เท่านั้น

ยอดผู้ป่วยสะสมของเมียนมาในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 มี 140,354 คน หายป่วยแล้ว 125,324 คน กำลังรักษาตัวอยู่ 11,892 คน เสียชีวิตรวม 3,138 ราย

วันที่ 7 พฤษภาคม 2564 ผู้ป่วยสะสมในเมียนมาเพิ่มเป็น 142,934 คน หายป่วยแล้ว 132,004 คน กำลังรักษาตัวอยู่ 7,720 คน เสียชีวิตรวม 3,210 ราย

3 เดือนเศษนับแต่เกิดการรัฐประหาร จนถึงล่าสุดเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคมนี้ ผู้ป่วยโควิด-19 สะสมในเมียนมาเพิ่มขึ้นเพียง 2,580 คน คนที่หายป่วยเพิ่มขึ้น 6,680 คน ผู้ที่กำลังรักษาตัวอยู่ลดลง 4,172 คน และมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 72 ราย

ขณะที่มีการรวมตัวของคนหมู่มาก ออกมาเดินขบวนประท้วงบนท้องถนน ตามเมืองใหญ่น้อยหลายแห่ง รวมถึงการสู้รบระหว่างทหารพม่ากับกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ในรัฐต่างๆ และการอพยพหนีภัยจากสงครามในหลายหมู่บ้าน เกิดขึ้นให้เห็นอยู่ทุกวัน!!!

ตัวเลขที่นำมาเสนอเหล่านี้ เป็นสถิติอย่างเป็นทางการที่กระทรวงสาธารณสุขและกีฬา เมียนมารวบรวมไว้ และเผยแพร่สู่สาธารณะทุกวัน เพื่อให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือแม้แต่ประชาชนทั่วไปได้ตระหนักว่า โควิด-19 ยังไม่ได้ไปไหน ยังคงระบาดต่อเนื่องอยู่ในเมียนมา

แต่ที่น่าห่วง คือ ตามพื้นที่เขตปกครองตนเองชายแดนเมียนมา-จีน ในรัฐฉานและรัฐคะฉิ่น ส่วนใหญ่แล้วพื้นที่เหล่านี้ เมื่อมีการตรวจพบผู้ป่วยโควิด-19 ฝ่ายสาธารณสุขของจีนในพื้นที่ซึ่งอยู่ติดกันจะข้ามมาช่วยเหลือ ดูแลรักษาร่วมกับฝ่ายสาธารณสุขในท้องถิ่น กระทรวงสาธารณสุขและกีฬา เมียนมา มีบทบาทร่วมในการรักษาน้อยมาก

สำคัญที่สุด คือ สถิติ ข้อมูลการระบาดของโควิด-19 ตามพื้นที่เหล่านี้ ไม่ได้ถูกนำไปรวมไว้ในฐานข้อมูลกลางของกระทรวงสาธารณสุขและกีฬา ทำให้คนที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ไม่มีโอกาสรับรู้สถานการณ์ที่เป็นจริงของแต่ละพื้นที่เลยว่าเป็นเช่นไร…

เส้นทางการระบาดของโควิด-19 ระลอกแรกในเขตว้า

ช่วงคริสต์มาสต์ปีที่แล้ว พื้นที่เขตพิเศษหมายเลข 2 สหรัฐว้า ได้พบการระบาดของโควิด-19 ต้นตอการระบาดเกิดจากหญิงชาวจีนคนหนึ่ง ที่เดินทางมาจากเขตพิเศษหมายเลข 4 เมืองลา ไปพักในเขตว้าที่เมืองป้อก ก่อนข้ามกลับเข้าจีนผ่านชายแดนเมืองป๋างซาง (ปางคำ) เมืองหลวงของสหรัฐว้า

หญิงผู้นี้ถูกตรวจพบว่าติดเชื้อโควิด-19 ที่ด่านคัดกรองในฝั่งจีน (ดูแผนที่เส้นทางการระบาดของโควิด-19 ระลอกแรกในเขตว้า ประกอบ)

มีการประกาศล็อกดาวน์เมืองลา เมืองป้อก และป๋างซาง ตั้งแต่วันที่ 25 ธันวาคม 2563 ห้ามประชาชนออกนอกบ้านยกเว้นจำเป็น ธุรกิจ ร้านค้า โรงเรียน ทุกแห่งถูกสั่งปิด

เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจากเมืองฮาย สิบสองปันนา ข้ามมาตั้งจุดปฏิบัติการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ให้กับประชาชนในเมืองลา ที่มาภาพ: เพจ Mongla News
อุปกรณ์ตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี RT/PCR ซึ่งกองกาชาดเมิงเหลียน นำมามอบให้ฝ่ายสาธารณสุข สหรัฐว้า เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2563 ที่มาภาพ: เพจ Wa Nation society lifestyle

เมืองลาอยู่ติดกับเขตปกครองตนเองชนชาติไตสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจากเมืองฮาย ในสิบสองปันนา ข้ามฝั่งมาตั้งห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจคัดกรองหาเชื้อโควิด-19 อย่างเข้มข้นอยู่ในเมืองลา อย่างไรก็ตาม ในเมืองลาไม่พบว่ามีผู้ป่วยโควิด-19

สหรัฐว้าอยู่ติดกับเขตปกครองตนเองชนชาติไต ลาหู่ และว้า เมิ่งเหลียน จังหวัดผูเอ่อร์ ในวันที่ 6 ธันวาคม 2563 ก่อนโควิด-19 ระบาดในเขตว้า กองกาชาดเมิ่งเหลียนได้นำอุปกรณ์ตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี RT/PCR มูลค่า 3,140,000 หยวน หรือประมาณ 477,421 ดอลลาร์สหรัฐ 1 เครื่อง มามอบให้ฝ่ายสาธารณสุขของว้าเพื่อช่วยเหลือในภารกิจป้องกันโควิด-19

โรงพยาบาลสนาม ที่ฝ่ายสาธารณสุขจากเมิ่งเหลียนและว้า ร่วมกันตั้งขึ้นเพื่อรับมือกับการระบาดของโควิด-19 ในเดือนมกราคม 2564 ที่มาภาพ: เพจ Wa Nation society lifestyle

เมื่อเกิดการระบาดในช่วงคริสต์มาส มีการระดมทีมแพทย์ พยาบาล พร้อมอุปกรณ์จำนวนมากจากเมิ่งเหลียน ข้ามมาตั้งโรงพยาบาลสนาม เพื่อให้การรักษาผู้ป่วยโควิด-19 โดยเฉพาะในเขตว้า

ว้าเผชิญกับการระบาดของโควิด-19 ระลอกแรกตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม 2563 จนถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2564 สถานการณ์จึงค่อยคลี่คลาย มียอดผู้ป่วยสะสมประมาณ 160 คน

เป่า โหย่ว เสียง ผู้บัญชาการกองทัพสหรัฐว้าเอง ยังต้องเดินทางข้ามเข้าไปในจีน เพื่อให้แพทย์จีนเฝ้าดูแลสุขภาพ ตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม 2563 เพิ่งกลับเข้าไปยังเมืองป๋างซาง เมื่อปลายเดือนมีนาคม 2564

วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2564 เพจ Wa Nation society lifestyle โพสต์คลิปการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้กับทหารว้า โดยไม่ได้บอกรายละเอียดใดๆ จากนั้นอีก 2 วัน ได้โพสต์คลิปการสัญจรบนถนนในเขตว้าที่กลับมาเป็นปกติ รวมถึงคลิปการประชุมหน่วยทหารว้า และเขียนบรรยายสั้นๆ ว่า เป็นการยกย่องชัยชนะในการต่อสู้กับโควิด-19

เพจ Wa Nation society lifestyle โพสต์ภาพนี้เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 เขียนคำบรรยายสั้นๆ ใต้โพสต์เป็นภาษาพม่าว่าขอบคุณวัคซีน ส่วนคำบรรยายภาษาจีนในภาพเขียนว่า คณะแพทย์จีนได้เดินทางมาถึงว้าแล้ว และขอบคุณประเทศจีน ที่สนับสนุนกลุ่มว้า

วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 เพจเดียวกันโพสต์ภาพกราฟิก เป็นรูปมือ 2 ข้าง กำลังกุมมือกัน สีพื้นของมือแต่ละข้างเป็นธงชาติว้าและจีน เขียนคำบรรยายสั้นๆ ใต้โพสต์เป็นภาษาพม่าว่า “ขอบคุณวัคซีน” และเขียนคำบรรยายภาษาจีนในภาพว่า “คณะแพทย์จีนได้เดินทางมาถึงว้าแล้ว” และ “ขอบคุณประเทศจีน ที่สนับสนุนกลุ่มว้า”…

วันที่ 22 เมษายน 2564 หลังโควิด-19 ระบาดระลอกแรกในเขตว้าคลี่คลายได้ไม่ถึง 2 เดือน มีการตรวจพบผู้ป่วยโควิด-19 อีกครั้ง ในเมืองป้อก จากนั้นวันที่ 24 เมษายน ฝ่ายสาธารณสุขสหรัฐว้า มีคำสั่งปิดถนนเชื่อมเมืองป๋างซางกับเมืองป้อกไปถึงวันที่ 30 เมษายน 2564

จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีรายละเอียดการระบาดระลอกใหม่ในเขตว้าถูกเผยแพร่ออกมา แต่เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2564 เฟซบุ๊กส่วนตัวของ อู ญี ราน โฆษกกองทัพสหรัฐว้า ซึ่งประจำอยู่ในเมืองล่าเสี้ยว รัฐฉานเหนือ มีโพสต์สั้นๆ เขียนว่า “เพื่อป้องกันโควิด-19 ระบาด สหรัฐว้าได้ปิดเส้นทางเข้า-ออกพื้นที่ทุกจุดไว้ก่อนเป็นการชั่วคราว”…

ทหารว้า พร้อมอาวุธประจำกาย (RPG) ณ ด่านเฝ้าระวัง ในช่วงที่ว้าล็อกดาวน์ ห้ามประชาชนออกจากบ้าน อู ญี ราน โฆษกกองทัพสหรัฐว้าเผยแพร่ภาพนี้ในเดือนมกราคม 2564 จากนั้นได้กลายเป็นภาพที่ถูกส่งต่อย่างแพร่หลายตามสื่อออนไลน์ ทั้งในเมียนมาและในประเทศไทย

พื้นที่ชายแดนที่อยู่ถัดขึ้นไปจากเขตพิเศษหมายเลข 2 สหรัฐว้า เป็นเขตปกครองตนเองชาติพันธุ์โกก้าง อยู่ตรงข้ามกับเขตปกครองตนเองชนชาติไตและว้า กึ่งม้า จังหวัดหลินชาง ในเขตจีน

เขตปกครองตนเองโกก้าง มีเมืองหลัก 2 แห่ง คือ เล่าก์ก่ายที่เป็นเมืองหลวง และเมืองชิงส่วยเหอ ซึ่งเป็นหน้าด่านเศรษฐกิจสำคัญอีกแห่งหนึ่งในชายแดนรัฐฉาน-จีน ชิงส่วนเหอเป็นช่องทางเข้า-ออกสินค้าที่ซื้อขายกันระหว่างจีนและเมียนมา ที่มีมูลค่าการค้าสูงรองลงมาจากช่องทางหมู่เจ้-รุ่ยลี่ เพียงเล็กน้อย

ด่านสะพานข้ามแม่น้ำผาเหอ ซึ่งทางการกึ่งม้าสั่งปิดชั่วคราวถึงวันที่ 15 พฤษภาคม หลังพบผู้ป่วยโควิด-19 ในชิงส่วยเหอ ที่มาภาพ: เพจ Lashio Media

เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2564 ทางการกึ่งม้าได้สั่งปิดด่านสะพานข้ามแม่น้ำผาเหอ ที่ใช้เป็นช่องทางเข้า-ออกของรถบรรทุกสินค้า และเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างชิงส่วยเหอกับกึ่งม้า เนื่องจากมีการตรวจพบผู้ป่วยโควิด-19 ในชิงส่วยเหอถึง 7 คน โดยคำสั่งปิดชายแดนที่ถูกประกาศออกมา มีผลบังคับไปจนถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2564

เช่นกัน…ไม่มีการเผยแพร่รายละเอียดการระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่โกก้าง แต่เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคมที่ผ่านมา เพจ Lashio Media โพสต์ภาพข่าว ฝ่ายปกครองเขตปกครองตนเองโกก้าง ได้ออกคำสั่งล็อกดาวน์ทุกพื้นที่ในเขตโกก้าง พร้อมระดมกำลังเจ้าหน้าที่แพทย์ พยาบาล บุคลากรสาธารณสุขออกตั้งจุดตรวจคัดกรองเชื้อชาวโกก้างทุกคน และฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อในพื้นที่เสี่ยงทุกจุด

เจ้าหน้าที่สาธารณสุขโกก้าง ระดมตรวจคัดกรองประชาชนในเขตปกครองตนเอง เพื่อหาผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2564 หลังฝ่ายปกครองออกคำสั่งล็อกดาวน์พื้นที่ไปถึงวันที่ 16 พฤษภาคม 2564 ที่มาภาพ: เพจ Lashio Media

คำสั่งล็อกดาวน์มีผลตั้งแต่เช้าวันที่ 4 พฤษภาคม ถึงวันที่ 16 พฤษภาคม 2564…

ระหว่างวันที่ 26-27 เมษายน 2564 อาสาสมัครกาชาดจากเมืองหล่งชวน ตรงข้ามรัฐคะฉิ่น ได้นำวัคซีนป้องกันโควิด-19 ข้ามแดนไปฉีดให้กับผู้ที่อาศัยอยู่ในค่ายผู้พลัดถิ่นภายใน (IDP) หลายแห่ง ตามแนวชายแดนคะฉิ่น-ยูนนาน เช่น ค่าย N Hkawng Pa ค่าย Lana Zup Ja ค่าย Bum Tsit ซึ่งค่ายเหล่านี้อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของกองทัพเอกราชคะฉิ่น (KIA)

อาสาสมัครกาชาดจากเมืองวัน นำวัคซีนป้องกันโควิด-19 ข้ามชายแดนไปฉีดให้คนในค่ายผู้พลัดถิ่น ในรัฐคะฉิ่น ที่มาภาพ: เพจ Kachin Waves

หล่งชวนเป็นอำเภอหนึ่งของเขตปกครองตนเองชนชาติไตและจิ่งพัว เต๋อหง มณฑลยูนนาน มีชื่อในภาษาไตว่า “เมืองวัน” ตั้งอยู่ทางเหนือของรุ่ยลี่ เมืองหน้าด่านเศรษฐกิจสำคัญของเต๋อหง ที่อยู่ตรงข้ามเมืองหมู่เจ้ ภาคเหนือของรัฐฉาน (ดูแผนที่ตั้งเมืองวัน หมู่เจ้ และชิงส่วยเหอประกอบ)

แผนที่ตั้งเมืองวัน หมู่เจ้ และชิงส่วยเหอ

ไม่มีรายละเอียดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่ชายแดนรัฐคะฉิ่น แต่การที่ฝ่ายกาชาดเมืองวันต้องถึงกับข้ามแดนไปฉีดวัคซีนให้กับชาวคะฉิ่นครั้งนี้ เชื่อว่าต้องเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในเขตรอยต่อระหว่างรุ่ยลี่-หมู่เจ้ ที่เริ่มพบตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา จนถึงวันนี้ สถานการณ์ก็ยังไม่คลี่คลาย…

เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2564 ฝ่ายปกครองเมืองรุ่ยลี่ ได้สั่งปิดทุกช่องทางที่สามารถเดินทางเข้า-ออก ระหว่างรุ่ยลี่กับหมู่เจ้ ห้ามทั้งรถ ทั้งคนผ่านเข้า-ออก โดยเด็ดขาด พร้อมกับเสริมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ-ทหาร สะพายอาวุธครบมือ ตั้งด่านตรวจตราทุกจุดอย่างเข้มงวด

เจ้าหน้าที่จากฝั่งรุ่ยลี่พร้อมอาวุธครบมือ ออกมาตั้งด่านตรวจตราเข้มงวดทุกจุดที่เป็นช่องทางเชื่อมต่อกับเมืองหมู่เจ้ ฝั่งรัฐฉาน หลังทางการสั่งปิดชายแดน เนื่องจากตรวจพบผู้ป่วยโควิด-19 เมื่อวันที่ 30 มีนาคม ที่มาภาพ: สำนักข่าว Shan News

หมู่เจ้-รุ่ยลี่ เป็นประตูการค้าระหว่างเมียนมา-จีนที่สำคัญและมีมูลค่าสูงที่สุด ในภาวะปกติ มูลค่าซื้อขายสินค้าผ่านช่องทางนี้ แต่ละปีสูงกว่า 5,000 ล้านดอลลาร์ สินค้าที่เมียนมานำเข้าจากจีนและสินค้าส่งออกจากเมียนมาเข้าไปจีน เกือบทั้งหมด ต้องผ่านช่องทางหมู่เจ้-รุ่ยลี่

  • “หมู่เจ้” ประตูการค้าจีน-เมียนมาที่ “ใหญ่” ที่สุด
  • ทางการรุ่ยลี่ให้เหตุผลในการปิดพรมแดนครั้งนี้ว่า เนื่องจากวันที่ 29 มีนาคม ได้ตรวจพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในตลาดซื้อขายหยกในเขตเจ้เก่า ฝั่งรุ่ยลี่ 8 คน ทำให้ต้องสั่งปิดตลาดหยก ล็อกดาวน์เมือง ห้ามคนผ่านเข้า-ออกพื้นที่ แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดว่าจะปิดชายแดนไปถึงเมื่อใด

    ต่อมาทางการรุ่ยลี่ได้ผ่อนปรนให้รถบรรทุกสินค้าจากเมียนมาที่จะส่งเข้าจีน สามารถข้ามแดนเข้าไปในรุ่ยลี่ได้ แต่รถทุกคันต้องผ่านกระบวนการตรวจคัดกรองโควิด-19 ที่เข้มงวดและใช้เวลานาน จนสินค้าที่เป็นผลผลิตทางการเกษตรจำนวนมากได้รับความเสียหาย

    รถของฝ่ายสาธารณสุขเมืองหมู่เจ้ นำผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เพิ่งตรวจพบเมื่อวันที่ 5 พฤษาคม ส่งไปรักษาตัวยังโรงพยาบาล ที่มาภาพ: เพจข่าวเมืองหมู่เจ้

    5 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา ฝ่ายสาธารณสุขหมู่เจ้ ตรวจพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รวม 4 ราย โดยพบในตำบลป่างซ้าย 1 ราย และในศูนย์ขนถ่ายสินค้าหลักไมล์ 105 อีก 3 ราย

    ศูนย์ขนถ่ายสินค้าหลักไมล์ 105 เป็นจุดที่รถสินค้าทุกคันต้องเข้ามาผ่านกระบวนการศุลกากร และตรวจคัดกรองโควิด-19 รถบรรทุกสินค้าจากทุกพื้นที่ของเมียนมาต่างมารวมตัวกันที่นี้ ก่อนข้ามชายแดนเข้าไปในจีน ตรงกันข้าม รถบรรทุกสินค้าจากจีนก็ต้องมารวมกันอยู่ที่นี่ ก่อนนำสินค้าข้ามไปกระจายในเมียนมา

    แต่ละวัน มีรถบรรทุกสินค้าทั้งใหญ่-เล็ก นับพันคัน วิ่งผ่านเข้า-ออก ศูนย์ขนถ่ายสินค้าหลักไมล์ 105 และคนขับรถสินค้านับร้อยคน มักลงมาจับกลุ่มพูดคุยกัน ระหว่างรอขั้นตอนตรวจจากหน่วยงานต่างๆ

    ประตูเข้า-ออก เชื่อมระหว่างหมู่เจ้-รุ่ยลี่ ถูกทางการสั่งปิดต่อไปอีก 3 เดือน เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ตามพรมแดน 2 ประเทศ ยังไม่คลี่คลาย ที่มาภาพ: สำนักข่าว Tai Freedom

    วันที่ 7 พฤษภาคม สำนักข่าว Tai Freedom รายงานว่า ทางการเมืองรุ่ยลี่ได้ประกาศปิดช่องทางเข้า-ออกตลอดแนวชายแดนรุ่ยลี่-หมู่เจ้ ต่อไปอีก 3 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 5 พฤษภาคม 2564 เป็นต้นไป โดยให้เหตุผลว่าเนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดในพื้นที่รุ่ยลี่-หมู่เจ้ ยังไม่คลี่คลาย!!!

    สถานการณ์ของโควิด-19 ในเมียนมา ขณะนี้ จึงไม่สามารถไว้วางใจได้จริงๆ…