จีนเริ่มทดลองใช้เงินดิจิทัลหยวนที่พัฒนาขึ้นเองและนับเป็นประเทศแรกที่ใช้เงินสกุลดิจิทัลในระบบการเงินจริง
ในรายงานข่าว The future of China’s economic engagement ของสำนักข่าวไชน่าเดลี่ ซึ่งเปิดเผยว่า โครงการนำร่องเงินดิจิทัลหยวนได้เริ่มทดลองครั้งแรกใน 4 เมือง คือ เสิ่นเจิ้น ซูโจว เฉิงตู รวมทั้งสงอันเขตเมืองใหม่ และพื้นที่จะรองรับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวที่ปักกิ่งปี 2022 โดยได้นำเงินสกุลดิจิทัลหยวนนี้มาใช้ในระบบการเงินทางการของเมือง
ในรายงานการวิเคราะห์อนาคตการมีส่วนร่วมของเศรษฐกิจจีนของสำนักข่าวไชน่าเดลี่ ยังระบุว่า การพัฒนาเงินดิจิทัลหยวนยังเป็น 1 ใน 3 ของผลกระทบของการค้าและการลงทุน นอกเหนือจากการใช้เงินดอลลาร์เป็นอาวุธ และการถอนตัวของสหรัฐฯออกจากการค้าและมีส่วนร่วมกับจีน
สกุลเงินดิจิทัลหยวนเป็นการดำเนินการของจีนที่มีเป้าหมายเพื่อตอบโต้การใช้เงินดอลลาร์เป็นอาวุธ และเพื่อให้นักลงทุนและธุรกิจมีทางเลือก รวมทั้งเป็นการพัฒนาก้าวต่อไปของระบบการชำระเงินในการค้าที่ใช้เงินหยวนเป็นทางเลือกในการชำระเงินแทนเงินดอลลาร์ โดยการดำเนินการที่สำคัญคือ การพัฒนาและปรับใช้สกุลเงินดิจิทัลภายในจีนอย่างรวดเร็ว และจากนั้นตามด้วยการยอมรับในระดับภูมิภาค
เงินดิจิทัลหยวนนำไปใช้อย่างเป็นทางการในระบบการเงินของทั้ง 4 เมือง โดยส่วนหนึ่งของเงินเดือนและค่าจ้างของหน่วยงานรัฐและภาครัฐในทั้งสี่เมืองจะจ่ายเป็นสกุลเงินดิจิทัลที่เริ่มต้นในเดือนเมษายน
สกุลเงินดิจิทัลที่ธนาคารกลางจีนขึ้นเองและเป็นเงินหยวนของประเทศ เป็นทางเลือกแทนระบบการชำระเงินด้วยดอลลาร์แบบเดิม และลดผลกระทบจากการคว่ำบาตรหรือการคุกคามจากการกีดกันทั้งในระดับประเทศและระดับบริษัท นอกจากนี้ยังอาจเอื้อต่อการรวมเข้ากับตลาดสกุลเงินทั่วโลกซึ่งลดความเสี่ยงจากการชะงักงันทางการเมืองลง
เสถียรภาพของเงินหยวนในช่วงวิกฤติการระบาดของโควิด-19 ตอกย้ำความนิยมเงินหยวนจากนักลงทุน การชำระเงินทั้งสองระบบ ทั้งสกุลดอลลาร์และดิจิทัลหยวน อาจจะใช้คู่กันได้ และหากจำเป็นก็แยกกันใช้ได้
เงินดิจิทัลหยวนที่ใช้ในซูโจวจะเน้นไปในด้านการขนส่ง ขณะที่สงอันจะใช้กับสินค้าประเภทอาหารและค้าปลีก
ภาพหน้าจอโทรศัพท์พร้อมหน้าตาแอปพลิเคชันสำหรับร้านค้าและรองรับเงินดิจิทัลหยวนได้มีการเผยแพร่ตั้งแต่กลางเดือนเมษายน
แพลตฟอร์มดิจิทัลมีการใช้มากมายในจีน ทั้ง อาลีเพย์ ในเครืออาลีบาบาภายใต้แอนท์ไฟแนนเชียล วีแชทเพย์ของเทนเซ็นต์ แต่ก็ไม่ได้แทนที่สกุลเงินปัจจุบัน
ซู หยวน อาจารย์จากสถาบันวิจัยแห่งชาติ มหาวิทยาลัยปักกิ่ง ให้ความเห็นผ่านซีซีทีวีของจีนว่า การใช้เงินสดซึ่งเป็นระบบออฟไลน์ ขณะเดียวกันข้อมูลธุรกรรมจากแพลตฟอร์มในปัจจุบันกระจัดกระจาย ทำให้ธนาคารกลางไม่สามารถติดตามข้อมูลแบบเรียลไทม์ได้
“สำหรับเงินดิจิทัลหยวน แม้ในแง่ผู้ใช้ไม่มีอะไรเปลี่ยนไปมาก หรือในการกำกับดูแลจากธนาคารกลาง แต่รูปแบบของการเงิน การชำระเงิน ธุรกิจ และการกำกับดูแลของสังคม ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่มาก”
ในวันที่ 17 เมษายน สถาบันวิจัยสกุลเงินดิจิทัลแห่งธนาคารกลางของจีน ซึ่งรับผิดชอบการพัฒนาระบบ เปิดเผยว่า การวิจัยและการพัฒนาเงินดิจิทัลหยวนมีความคืบหน้าเป็นลำดับ และโครงสร้างของระบบรวมทั้งการแก้ไขข้อบกพร่องส่วนใหญ่เสร็จสิ้นแล้ว
เงินดิจิทัลหยวนซึ่งจะผูกค่ากับเงินหยวนนี้ ได้มีการพัฒนามา 2-3 ปีแล้ว ในเดือนสิงหาคมปีก่อนธนาคารกลางจีนเปิดเผยว่าใกล้จะเสร็จสมบูรณ์ แต่ในเดือนต่อมา นายอี้ กัง ผู้ว่าการธนาคารกลาง กล่าวว่า ยังไม่มีกำหนดที่จะนำออกใช้
เงินดิจิทัลหยวน หรือรู้จักกันในชื่อ e-RMB จะมีธนาคารกลางเป็นผู้ออกรายเดียว โดยช่วงแรกจะนำเสนอให้กับธนาคารพาณิชย์และผู้ให้บริการอื่นๆ โดยเจ้าหน้าที่รายหนึ่งเปิดเผยกับไชน่าเดลี่ว่า ประชาชนสามารถแปลงเงินในบัญชีที่ฝากไว้กับธนาคารเป็นเงินดิจิทัลได้ และสามารถฝากเงินผ่านกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ และด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย เงินดิจิทัลหยวนสามารถแลกเปลี่ยนได้โดยไม่ต้องผ่านระบอินเทอร์เน็ต และสามาาถใช้กับระบบการชำระเงินแบบไร้การติดต่อ (contactless payments) ได้
โครงการนำร่องเงินดิจิทัลหยวนนี้ มีบริษัทจำนวนหนึ่งเข้าร่วม ซึ่งหนึ่งในนั้นคือร้านแม็คโดนัลด์ และร้านแซนด์วิชชื่อดังอย่างซับเวย์
ธนาคารกลางจีนได้พัฒนาสกุลเงินดิจิทัลต่อเนื่องมาในช่วง 2-3 ปี แม้ไม่มีรายละเอียดมากนัก แต่เงินดิจิทัลนี้แตกต่างจากสกุลเงินดิจิทัลหรือคริปโตเคอเรนซีที่พัฒนากันทั่วไปอย่างบิตคอยน์ ที่ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลผู้ถือและไม่มีใครคนใดคนหนึ่งควบคุม แต่มีการควบคุมแบบการกระจายศูนย์ รวมทั้งไม่ได้ออกโดยส่วนกลางที่มีอำนาจ
เงินดิจิทัลหยวนนี้จะออกโดยธนาคารกลาง และมีเป้าหมายเพื่อให้การชำระเงินดิจิทัลสะดวกและเร็วขึ้น
อนาคตการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจของจีน
รายงานการวิเคราะห์อนาคตการมีส่วนร่วมของเศรษฐกิจจีนของสำนักข่าวไชน่าเดลี่ เริ่มต้นพูดถึงภาพรวมเศรษฐกิจเพื่อปูทางไปสู่การประเมินผลกระทบของการค้าและการลงทุน โดยชี้ให้เห็นถึงราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงไปติดลบเมื่อเร็วๆนี้ การว่างงานในสหรัฐฯที่สูงกว่าช่วงวิกฤติการเงินปี 2008 ถึง 9 เท่า การจัดการกับการระบาดของไวรัสโควิด COVID-19 และระบบทางการแพทย์ที่เอื้อกลุ่มคนมั่งคั่ง ขณะที่มีคนราว 2,000 คนเสียชีวิตทุกวัน แต่ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นติดต่อกันห้าสัปดาห์ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความไม่เชื่อมโยงของความเป็นจริงทางเศรษฐกิจกับตลาดเงิน จนราคาน้ำมันดิบลดลงฮวบฮาบถึงทำให้ชาวอเมริกันตื่นขึ้นและหันไปมองถึงคความเป็นจริงทางเศรษฐกิจ
รายงานระบุว่า สัญญานเตือนนี้จะมีผลกระทบต่อทุกตลาด กระแสการลงทุน และห่วงโซ่อุปทานในลักษณะที่ใกล้เคียงกับวิกฤติการเงิน การหดตัวของเศรษฐกิจไม่ได้เกิดจากเงินกู้เหมือนกับช่วงวิกฤติการเงิน แต่การล็อกดาวน์มีผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้ชะงักและส่งผลให้ต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลกระทบต่อธุรกิจที่พึ่งพาสินเชื่อ เนื่องจากการขาดกระแสเงินสด หมายถึงการที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ หลายบริษัทไม่สามารถฟื้นตัวได้หลังจากปิดกิจการชั่วคราว
ภายใต้ระบบเศรษฐกิจสหรัฐฯ คนยากจนและคนชั้นกลางได้กลับไปสู่ความรุ่งเรืองและมีหนี้สินมากขึ้น ดังนั้นโอกาสที่ตลาดจะหดตัวรุนแรงจึงมีสูง ผลกระทบของสหรัฐที่มีต่อเส้นทางการฟื้นตัวของจีนจะเกิดขึ้นเร็วและมีมาก เพราะแรงกดดันตลาดหุ้นให้ร่วงลงเป็นแนวคิดที่ทั้งสหรัฐฯและพันธมิตรต้องการตัดขาดจากจีน ที่อันตรายกว่านั้นคือแนวคิดที่มีการส่งเสียงว่าจะลงโทษจีน ซึ่งนำโดยรัฐมิสซูรี่ ที่ยั่วยุโดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ดังจะเห็นการพาดหัวข่าวว่า รัฐมิสซูรี่ฟ้องจีน
แต่นี่เป็นเพียงการตีฆ้องร้องป่าว เนื่องจากไม่สามารถฟ้องรัฐหรือประเทศใดประเทศหนึ่งได้ เพราะหากทำได้จริงสหรัฐฯก็คงถูกฟ้องจากหลายประเทศไปแล้วในช่วงวิกฤติการเงิน เป็นผลจากการกำกับดูแลตลาดเงินที่หย่อนยานและวิศวกรรมทางการเงินที่สร้างผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มีความเสี่ยง
อย่างไรก็ตามนี่เป็นการแสดงให้เห็นว่า มีแรงผลักดันจากสหรัฐฯที่จะโดดเดี่ยว ตัดขาดและลงโทษจีน และดูเหมือนกับว่ามีผลที่ร้ายแรงไม่เฉพาะกับจีน แต่มีผลกับเศรษฐกิจสหรัฐฯด้วย อีกทั้งมีผลต่อการพื้นฐานกระแสการค้าและการทุน ทำให้บางอุตสาหกรรมอ่อนแอและประสิทธิภาพด้อยลง นอกเหนือไปจากมาตรการกีดกันทางการค้าและมาตรการภาษีศุลกากร และยังมีผลที่ตามมาสำหรับประเทศที่ยังต้องการทำธุรกิจกับจีน
ทั้งหมดนี้มีผลต่อการค้าและการลงทุน 3 ด้าน
สำหรับผลกระทบการค้าการลงทุนด้านแรก ได้แก่ การใช้เงินดอลลาร์เป็นอาวุธเพื่อที่จะสามารถใช้แขนขาที่แข็งแกร่งของนโยบายต่างประเทศของอเมริกา ซึ่งก็ได้ผลผ่านการกำหนดมาตรการลงโทษลงโทษฝ่ายเดียวด้วยการคุกคามที่จะกีดกัน บริษัท จากระบบการชำระเงินดอลลาร์ SWIFT ซึ่งเป็นเครือข่ายด้านการเงินระหว่างธนาคารผ่านระบบคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมโยงทั่วโลก ประธานาธิบดีทรัมป์ได้แสดงให้เห็นว่าพร้อมที่จะใช้การเจ้าถึงระบบชำระบัญชีด้วยเงินดอลลาร์เป็นอาวุธสำหรับนโยบายต่างประเทศ
วิธีการนี้เริ่มด้วยบริษัทยุโรปที่ทำการค้ากับอิหร่านและปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของสหประชาชาติถูกขู่ว่าจะตัดออกจากระบบชำระบัญชีด้วยเงินดอลลาร์ในปี 2019 ที่สหรัฐฯเป็นฝ่ายที่ใช้มาตรการคว่ำบาตร การตัดออกจากระบบชำระบัญชีด้วยเงินดอลลาร์บังคับใช้กับการค้าทุกประเภท ไม่เฉพาะการค้ากับอิหร่านเท่านั้น
นอกจากนี้ยังใช้มาตรการคว่ำบาตรเดียวกันนี้กับเวเนซูเอลา เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของนโยบายต่างประเทศของสหรัฐ และเร็วๆนี้รัฐบาลในออสเตรเลียตะวันตกถูกบีบให้ยกเลิกข้อตกลงการให้บริการกับเครือข่ายรถไฟเส้นใหม่ที่ทำไว้กับหัวเว่ย เนื่องจากไม่สามารถโอนเงินได้สำเร็จ
ขณะที่ไม่น่าเป็นไปได้ที่จะเห็นการคว่ำบาตรแบบเดียวกับที่ทำกับอิหร่านทั้งประเทศมาใช้กับจีน แต่เป็นไปได้ว่ารายบริษัทจะเป็นเป้าหมาย ซึ่งบริษัทในยุโรปและหัวเว่ยได้รับแรงกดดันแล้ว
สำหรับผลกระทบด้านสอง ได้แก่การตอบโต้การใช้เงินดอลลาร์เป็นอาวุธ ด้วยการพัฒนาเงินดิจิทัลหยวนของจีน
ผลกระทบด้านที่สาม การถอนตัวของสหรัฐฯออกจากการค้าและมีส่วนร่วมกับจีนหากมี จะเป็นการเสริมความแข็งแกร่งของโครงการริเริ่มแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative: BRI) ให้เป็นผู้นำในด้านการค้าเสรีและการค้าที่ไม่มีการพฤติกรรมการระรานจากประเทศใหญ่ที่ไม่ให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ของประเทศอื่นๆ โครงการ BRI เดินหน้าด้วยดีและยังมีแรงส่งที่จะก่อตัวเป็นทางเลือกแทนโครงสร้างการค้าและอัตราแลกเปลี่ยนที่ตลาดตะวันตกที่กีดกันทางการค้า
ประเทศที่ขับเคลื่อนจากการยกระดับประชาชนออกจากความยากจนและนำไปสู่ผู้บริโภคกลุ่มใหม่จะเป็นตลาดที่เติบโต หลายประเทศได้เข้าร่วมโครงการ BRI และอาจจะเปิดกว้างที่จะลดการพึ่งพาเงินดอลลาร์
จีนดูเหมือนว่าจะให้ความช่วยเหลือเพื่อต่อสู้กับการระบาดของไวรัสโควิด-19 ให้กับประเทศที่เข้าร่วม BRI แม้ได้ให้ความช่วยเหลืออุปกรณ์ทางการแพทย์แก่สหรัะฐและประเทศอื่นๆด้วย ซึ่งเป็นการใช้ซอฟต์พาวเวอร์ และสอดคล้องกับกลยุทธ์ที่เน้นการปกป้องแทนที่จะขยายขอบเขตผ่านความสัมพันธ์ทางการค้า
โครงการ BRI แม้สื่อตะวันตกไม่มีการรายงานถึงอีก แต่ยังเป็นรากฐานทางเลือกของเโครงสร้างเศรษฐกิจหลังการระบาดของไวรัสโควิด-19 บทบาทขององค์กรก็เหมือนกับองค์กร Silk Road Chambers of International Commerce และอื่นๆ ซึ่งมีความสำคัญมากขึ้นในการรักษาและเพิ่มการมีส่วนร่วมของธุรกิจภายใต้สภาวะแวดล้อมที่ไม่มีการใช้อำนาจโดดเดี่ยวหรือกีดดัน
การสูญเสียตลาดหรือส่วนแบ่งในตลาดสหรัฐฯที่ลดลง เป็นผลจากการนโยบายของสหรัฐฯที่มุ่งโดดเดี่ยวและตัดการเชื่อมโยง ซึ่งถือเป็นการลงโทษรูปแบบหนึ่ง ก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของจีนชะงัก แม้ว่าจะเจ็บปวดอยู่บ้าง
การทดแทนจากตลาดภายใต้กรอบ BRI และการเติบโตของตลาดเหล่านี้ ผนวกกับการปราศจากการคุกคามของการใช้ดอลลาร์เป็นอาวุธในกิจกรรมการค้าและระบบชำระบัญชี ได้สร้างโครงสร้างการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจโลกของจีนที่ไม่เหมือนเดิม
หยวนมีบทบาทมากขึ้นในระบบชำระเงินโลก
สัดส่วนเงินหยวนในการชำระเงินระหว่างประเทศและการชำระบัญชีภายใต้บัญชีทุนทำสถิติสูงสุดในเดือนมีนาคม เพราะการลงทุนข้ามพรมแดนมาแทนที่การค้า ซึ่งเกิดจากแรงผลักดันให้เงินหยวนเป็นเงินสกุลหลักของจีน จากความเห็นของผู้เชี่ยวชาญ
สำนักงานบริหารเงินตราต่างประเทศแห่งชาติจีน (The State Administration of Foreign Exchange) กล่าวว่า การใช้เงินหยวนในการชำระเงินระหว่างประเทศมีสัดส่วน 38% ของสกุลเงินทั้งหมด ณ สิ้นเดือนมีนาคม ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งมีการบันทึกข้อมูล
อีกทั้งเป็นการสะท้อนว่าสถานะเงินหยวนในระบบการชำระเงินและชำระบัญชีระหว่างประเทศดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ นับตั้งแต่ปี 2015 ที่เงินหยวนของจีนได้ถูกนำเข้าในตระกร้าเงิน (Special Drawing Rights: SDRs) ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) ประกอบกับการเปิดกว้างทางการเงินมากขึ้นทำให้การใช้เงินหยวนระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น
ข้อมูลจาก SWIFT เครือข่ายด้านการเงินระหว่างธนาคารผ่านระบบคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมโยงทั่วโลก พบว่า เงินหยวนยังคงเป็นสกุลเงินที่ได้รับความนิยมอันดับ 5 ในการชำระเงินระหว่างประเทศในแง่มูลค่า ณ สิ้นเดือนมีนาคม มีส่วนแบ่ง 1.85% เพิ่มขึ้นจาก 1.65% ในเดือนมกราคม และเพิ่มขึ้น 21.48% จากเดือนก่อนหน้า
นายกวน เถา หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ บริษัทบีโอซี อินเตอร์เนชั่นแนล (ไชน่า) จำกัด เปิดเผยว่า แม้การระบาดของโควิด-19 ทำให้การลงทุนทางการเงินของโลกลดลง ตลาดเงินตราต่างประเทศและตลาดทุนของจีนยังคงรับมือได้ ในไตรมาสแรกการเกินดุลการค้าและบริการลดลง เงินไหลออกสุทธิลดลงมาก และกลับเป็นไหลเข้าสุทธิ เทียบกับไหลออกสุทธิ 20.1 พันล้านดอลลาร์ในช่วงเดียวกันของปีก่อน
ค่าเงินหยวนที่มีเสถียรภาพในไตรมาสแรกของปีนี้ การลงทุนจากต่างประเทศในตราสารหนี้ของจีนเพิ่มขึ้น 48% คิดเป็นมูลค่า 16.7 พันล้านดอลลาร์ แต่เงินไหลออกสุทธิจากตลาดหลักทรัพย์ 179.9 พันล้านหยวนหรือ 25.43 พันล้านดอลลาร์ เทียบกับไหลเข้าสุทธิ 193.5 พันล้านหยวน ในงวดเดียวกันของปีก่อน
ทู้ หย่งฮง รองผู้อำนวยการสถาบันการเงินระหว่างประเทศแห่งมหาวิทยาลัยเหรินเหมินแห่งประเทศจีน ที่ปักกิ่ง ให้ความเห็นว่า ขณะที่ตลาดการเงินต่างประเทศตึงตัวขึ้นจากการระบาดของโควิด-19 จีนสามารถช่วยด้านสภาพคล่องเงินหยวนแก่ตลาดโลกได้ ผ่านการขยายลงทุนไปยังต่างประเทศของจีน เพิ่มการให้กู้ยืมข้ามแดน เพิ่มการนำเข้าและเพิ่มการฝากเงินหยวนออฟชอร์
“การระบาดของโควิด-19 อาจจะทำให้เงินหยวนมีบทบาทมากขึ้นในการลงทุนข้ามแดน และส่งผลต่อการเป็นเงินสกุลหลักของโลกมากขึ้นด้วย สภาพคล่องเงินหยวนจะช่วยปิดช่องว่างในขณะที่เงินดอลลาร์ขาดแคลน”
“การเปิดกว้างภาคการเงินมากขึ้น โดยเฉพาะตลาดตราสารหนี้เงินหยวน จะช่วยส่งเสริมการเป็นเงินสกุลหลักของโลกให้กับเงินหยวนของจีน”