ThaiPublica > สู่อาเซียน > หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ จีน-กัมพูชา ผ่านโครงการ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง”

หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ จีน-กัมพูชา ผ่านโครงการ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง”

5 มีนาคม 2023


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ : Xin Hua

เว็บไซต์ asia.nikkei.com รายงานว่า หลังจากใช้เวลาก่อสร้างนาน 3 ปี ทางด่วนสายพนมเปญ-เมืองท่าสีหนุวิลล์ ระยะทาง 190 กม. ก็เปิดให้บริการเมื่อเดือนตุลาคม 2022 ทางด่วนนี้ใช้เงินลงทุน 2 พันล้านดอลลาร์ ช่วยร่นระยะเวลาเดินทางของรถยนต์จาก 5 ชม. เหลือ 2 ชม. เป็นโครงการที่สะท้อนความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่ลุ่มลึกระหว่างจีนกับกัมพูชา

ในปี 2018 จีนกับกัมพูชาลงนามสัญญาก่อสร้างทางด่วนสายนี้ โดยบริษัท China Road and Bridge Corporation (CRBC) ของรัฐบาลจีน เป็นผู้รับผิดชอบในการก่อสร้าง โครงการมีลักษณเป็นรูปแบบ build-operate-transfer ทาง CRBC จะเก็บค่าทางด่วนนาน 50 ปี ก่อนที่จะโอนให้เป็นของกัมพูชา ปัจจุบัน ค่าทางด่วนสำหรับรถยนต์ทั่วไปอยู่ที่ 12 ดอลลาร์ และรถบรรทุก 60 ดอลลาร์
บริษัทก่อสร้างยักษ์ใหญ่ CRBC

Asia.nekkei.com รายงานว่า CRBC มีสำนักงานใหญ่ที่กรุงปักกิ่ง และมีสำนักงานสาขาใน 60 ประเทศทั่วโลก แม้ไม่มีตัวเลขแสดงรายได้ของ CRBC แต่บริษัทแม่คือ China Communication Construction Group (CCCG) มีรายได้ 119.9 พันล้านดอลลาร์ในปี 2021 ถือเป็นบริษัทก่อสร้างที่มีรายได้ในต่างประเทศใหญ่อันดับ 3 ของโลก และมีบทบาทสำคัญในโครงการ “แถบและเส้นทาง” (Belt and Road Initiative-BRI)

ในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในต่างประเทศ มักมีการกล่าวหาว่าจีนทำให้ประเทศกำลังพัฒนาต้องแบบรับภาระหนี้สิน โดยไม่ได้มีการพิจารณาว่า ประเทศกำลังพัฒนาจะสามารถชำระหนี้เงินกู้ได้หรือไม่ แต่การลงทุนในรูปแบบ build-operate-transfer จะช่วยลดข้อกล่าวดังกล่าว แต่ทางจีนก็สามารถควบคุมเส้นทางคมนามที่สำคัญของกัมพูชา นอกจากในปี 2021 จีนมีสัดส่วน 60% ของการลงทุนจากต่างประเทศโดยตรงของกัมพูชา

  • โครงการ Karakoram Highway ของปากีสถาน สะท้อนบทบาทใหม่ด้าน “เงินทุนการพัฒนา” ของจีน
  • กรณีท่าเรือ Hambantota ของศรีลังกา คือนิทานโกหก (Myth) เรื่อง “การทูตกับดักหนี้สิน” ของจีน
  • Rivers of Iron แม่น้ำแห่งเส้นทางรถไฟ เครือข่ายเชื่อมโยง จากจีนใต้สู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
  • ที่มาภาพ : https://www.roadtraffic-technology.com/projects/phnom-penh-sihanoukville-expressway/

    กัมพูชากับ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง”

    หนังสือ Cambodia-China Comprehensive Partnership (2023) กล่าวว่า สำหรับจีน โครงการหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง หรือ BRI คือโครงการแห่งศตวรรษ ที่บูรณาการจีนกับประเทศเพื่อนบ้าน แอฟริกา และยุโรป ผ่านการเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐาน แต่สำหรับกัมพูชา โครงการ BRI คือโอกาสครั้งสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในระยะกลางและยาว

    ช่วงปี 1998-2018 เศรษฐกิจกัมพูชาเติบโตเฉลี่ยปีละ 8% ความยากจนลดลงจาก 53.2% ในปี 2004 เหลือ 10% ในปี 2018 แต่จากรายงานการศึกษา การเติบโตของกัมพูชามีข้อจำกัด เพราะอาศัยการส่งออกสินค้าเกษตร การท่องเที่ยว และสิ่งทอ ความสามารถในการแข่งขันของกัมพูชา ลดน้อยง เพราะขาดโครงสร้างพื้นฐาน และแรงงานมีฝีมือ

    นอกจากนี้ รัฐบาลยังขาดเงินที่จะลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน มีการคาดการณ์ว่ากัมพูชาต้องการเงินลงทุนปีละ 700 ล้านดอลลาร์ ที่จะลงทุนด้านถนน สะพาน งานผลิตโรงไฟฟ้า และระบบชลประทาน รัฐบาลกัมพูชาจึงต้องใช้โอกาสจากโครงการ BRI

    จุดนี้อธิบายว่าทำไมบางประเทศในภูมิภาคนี้ อาจระมัดระวังต่อการเข้าร่วมโครงการ BRI แต่กัมพูชากลับสนับสนุนอย่างเต็มที่ เพราะ BRI ทำให้กัมพูชาแข่งขันได้มากขึ้น และเศรษฐกิจมีประสิทธิภาพมากขึ้น

    ที่มาภาพ : amazon.com

    โครงการสำคัญของ BRI

    ความร่วมมือจีน-กัมพูชา ในกรอบของ BRI มี 7 โครงการใหญ่ แต่นับจากเกิดโครงการ BRI ขึ้นมาในปี 2013 ความร่วมมือของสองประเทศขยายตัวในด้านโครงสร้างพื้นฐานเป็นส่วนใหญ่ จีนเสนอให้กัมพูชาพัฒนาระบบทางด่วนทั้งหมด ระยะทางรวม 2,230 กม. ภายในปี 2040 สายแรกคือเส้นทางพนมเปญ-สีหนุวิลล์ นอกจากนี้ จีนยังมีส่วนในการพัฒนาสนามบินเสียมเรียพแห่งใหม่

    ฝ่ายกัมพูชาเสนอโครงการลงทุนปรับปรุงเส้นทางรถไฟ พนมเปญ-สีหนุวิลล์ พนมเปญ-ปอยเปต-ประเทศไทย และพนมเปญ-เวียดนาม การสร้างท่าเรือในเขตเศรษฐกิจพิเศษ การท่องเที่ยว และท่าเรือสินค้าพื้นที่ชายฝั่งทะเล เป็นต้น

    ที่มาภาพ : ssez.com

    เขตเศรษฐกิจพิเศษ

    เขตเศรษฐกิจพิเศษสีหนุวิลล์ (Sihanoukville Special Economic Zone – SSEZ) ถือเป็นโครงการธงนำของความร่วมมือภายใต้กรอบ BRI การก่อสร้าง SSEZ ดำเนินการโดยบริษัทจีนกับกัมพูชา เป้าหมายต้องการให้เป็นแบบอย่างของพื้นที่เพื่อการลงทุน พื้นที่ SSEZ มีขนาด 11.1 ตารางกม.

    การดำเนินการก่อสร้างในขั้นตอนแรก เสร็จไปแล้ว โดยครอบคลุมเป็นพื้นที่ 5.2 ตารางกม. อุตสาหกรรมที่จะมาลงทุนในระยะแรกคือ สิ่งทอและเสื้อผ้า เครื่องหนัง เครื่องจักรกล และผลิตภัณฑ์ไม้ ในระยะที่สองของโครงการ จะเป็นพื้นที่สำหรับการลงทุนด้านเครื่องจักร วัสดุก่อสร้าง ผลิตภัณฑ์แต่งบ้าน และผลิตภัณฑ์เคมี

    เขตอุตสาหกรรม SSEZ คาดว่าจะมีบริษัทเข้ามาลงทุน 300 บริษัท และมีการจ้างงาน 100,000 คนงาน ปัจจุบัน มีการจ้างงานแรงงานฝีมือต่ำประมาณ 20,000 คน ทาง SSEZ ยังมีศูนย์พัฒนาทักษะแรงงานในเขตอุตสาหกรรม ประโยชน์ของ SSEZ คือการสร้างโอกาสการจ้างงาน และการสร้างรายได้แก่แรงงาน

    ทางด่วนพนมเปญ-สีหนุวิลล์

    ทางด่วนพนมเปญ-สีหนุวิลล์ เป็นอีกหนึ่งโครงการที่เป็นแบบอย่างความร่วมมือจีน-กัมพูชา ในปี 2018 มีการลงนามการก่อสร้างทางด่วนระหว่างกระทรวงโยธาธิการและคมนาคมของกัมพูชา กับบริษัท China Communication Construction Company ของจีน มูลค่า 1.9 พันล้านดอลลาร์ เส้นทางยาว 190 กม. และกว้าง 24.5 เมตร เดิมกำหนดเสร็จต้นปี 2023 แต่มีการเปิดใช้เป็นทางการเมื่อพฤศจิกายน 2022 ทางด่วนจะช่วยให้การขนส่งสินค้า จากพนมเปญไปเมืองท่าสีหนุวิลล์ ได้เร็วขึ้น

    ที่มาภาพ : https://www.khmertimeskh.com/501158467/phnom-penh-sihanoukville-expressway-opens-to-public-on-one-month-trial/

    การลงทุนด้านพลังงาน

    นอกจากนี้ ภายใต้กรอบโครงการหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง จีนยังมีบทบาทสำคัญต่อการลงทุนด้านพลังงานของกัมพูชา โดยเฉพาะการผลิตกระแสไฟฟ้า และการกระจายสายส่งไฟฟ้า โดยเป็นการลงทุนในโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำ 7 โครงการ มูลค่า 7.5 พันล้านดอลลาร์ กำลังผลิต 1,338MW และโรงงานไฟฟ้าถ่านหินมูลค่า 4 พันล้านดอลลาร์ กำลังการผลิต 515MW

    การลงทุนด้านพลังงานของจีน จะมีสัดส่วน 73% ของการผลิตกระแสไฟฟ้าทั้งหมดในกัมพูชา ปัจจุบัน หมู่บ้าน 11,759 แห่งของกัมพูชาสามารถมีไฟฟ้าใช้ หรือราว 83% ของหมู่บ้านทั้งหมด จำนวนครัวเรือนที่มีไฟฟ้าใช้มี 2.3 ครัวเรือน หรือ 70% ของครัวเรือนทั้งหมด
    หนังสือ Cambodia-China Comprehensive Strategic Partnership กล่าวว่า บทบาทสำคัญของจีนในการลงทุนด้านพลังงานในกัมพูชา มีส่วนสำคัญต่อการผลิตฟ้าให้กับเขตอุตสาหกรรมและชนบท มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจสังคม การสร้างงาน การเพิ่มรายได้ของรัฐจากการเก็บภาษีจากโรงงาน ดึงการลงทุนมากขึ้น และปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน

    โครงการด้านการเกษตร

    ในภาคการเกษตรและเกษตรอุตสาหกรรม จีนได้ลงทุนทั้งหมด 30 โครงการ มีเป้าหมายสำคัญคือ การเพิ่มการผลิตและส่งออกข้าวของกัมพูชา ในบันทึก MOU มีการระบุการส่งออกปลา 100,000 ตันไปยังจีน ในปี 2017 จีนนำเข้าข้าวจากกัมพูชา 200,000 ตัน เพิ่มเป็น 300,000 ตันในปี 2018

    โครงการหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง จึงช่วยยกระดับความร่วมมือทางเศรษฐกิจ จีน-กัมพูชา ให้สูงขึ้น จากเดิมเป็นความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ ระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน มาสู่การเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์แบบครอบคลุมรอบด้าน

    เอกสารประกอบ

    Cambodia’s China dependence deepens as first expressway opens, December 13, 2022, asia.nikkei.com
    Cambodia-China Comprehensive Strategic Partnership Towards a Community with a Shared Future, Sok Touch and Others Editors, Springer, 2023.