ThaiPublica > เกาะกระแส > ความสามารถในการแข่งขัน ระหว่างโครงการ B3W ของสหรัฐฯ กับ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ของจีน

ความสามารถในการแข่งขัน ระหว่างโครงการ B3W ของสหรัฐฯ กับ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ของจีน

25 มิถุนายน 2021


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

การประชุมผู้นำประเทศประชาธิปไตยที่มั่งคั่งกลุ่ม G7 ที่มาภาพ : https://twitter.com/G7/header_photo

ในช่วงวันที่ 11-13 มิถุนายนที่ผ่านมา การประชุมผู้นำประเทศประชาธิปไตยที่มั่งคั่งกลุ่ม G7 ได้เสนอโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานให้แก่ประเทศกำลังพัฒนา เรียกว่า การริเริ่ม Build Back Better World (B3W) โดยจะช่วยสนับสนุนเงินลงทุนให้แก่ประเทศกำลังพัฒนา ในการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ที่จากปัจจุบันจนถึงปี 2035 จะมีความต้องการเงินลงทุนสูงถึง 40 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

นับเป็นครั้งแรก ที่กลุ่ม G7 ได้หารือกันในการดำเนินโครงการ เพื่อเป็นทางเลือกที่จะแตกต่างจากโครงการ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ของจีน (Belt and Road Initiative) ที่ทำให้จีนเข้าไปลงทุนในเอเชีย แอฟริกา ลาตินอเมริกา และยุโรป โครงการหนึ่งแถบฯของจีนมีขนาดและขอบเขตใหญ่กว่าโครงการมาร์แชลล์ของสหรัฐฯ ในการฟื้นฟู

เศรษฐกิจยุโรป หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จุดเริ่มต้นของ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง”

รายงานของ Council on Foreign Relations ชื่อ China’s Belt and Road ที่เพิ่งเผยแพร่ กล่าวถึงโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative – BRI) ของจีนว่า จะเป็นการท้าทายครั้งสำคัญต่อผลประโยชน์ทางการเมืองและเศรษฐกิจของสหรัฐฯ นับจากที่เริ่มโครงการ BRI ในปี 2013 เป็นต้นมา ธนาคารและบริษัทของจีนได้ให้เงินกู้และเข้าไปก่อสร้างในประเทศต่างๆ ทางด้านโรงงานผลิตไฟฟ้า รางรถไฟ ถนน ท่าเรือ ไปจนถึงโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม สายเคเบิ้ลไฟเบอร์ออฟติก และเมืองอัจฉริยะ

ที่มาภาพ : รายงาน China’s Belt and Road

จุดเริ่มต้นโครงการ BRI มาจากความพยายามของผู้นำจีน ที่จะลดช่องว่างการพัฒนาระหว่างเมืองชายฝั่งทะเลที่รุ่งเรือง กับพื้นที่ทางตะวันตก ที่อยู่ห่างไกลจากชายฝั่งทะเล และขาดการพัฒนาเศรษฐกิจ รวมถึงการสร้างการเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาคตะวันตกของจีน กับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้ และเอเชียกลาง แต่โครงการ BRI ได้ขยายตัวออกไปมากกว่าโครงการระเบียงเศรษฐกิจเดิม โดยครอบคลุม 139 ประเทศ เช่นในลาตินอเมริกาเรียกว่า “ส่วนขยายของเส้นทางสายไหมทางทะเลศตวรรษที่ 21” และโครงการเส้นทางสายไหมดิจิทัล เป็นต้น

รายงาน China’s Belt and Road กล่าวว่า ประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศยอมรับแนวคิดและเงินลงทุนจาก BRI สะท้อนให้เห็นว่า จีนเห็นถึงช่องว่างระหว่างความต้องการโครงสร้างพื้นฐาน กับข้อจำกัดของสถาบันการเงิน ที่จะสนองความต้องการนี้ เนื่องจากปัญหาที่ขาดการเชื่อมโยงกัน การค้าและการลงทุนในหมู่ประเทศตามระเบียงเศรษฐกิจของ BRI จึงต่ำกว่าศักยภาพจึง 30% และ 70% ธนาคารโลกเองระบุว่า จนถึงปี 2030 การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของเอเชีย จะต้องใช้เงินทุนถึง 26 ล้านล้านดอลลาร์

โครงสร้าง BRI ยังขาดองค์กรหลัก

จีนเองยังไม่ได้ทำให้โครงการ BRI มีฐานะเป็นหน่วยงานหนึ่งของรัฐ ที่ทำหน้าที่ประสานงานโครงการ แต่หน่วยงานสำคัญๆของจีนหลายแห่งต่าง ก็มีบทบาทในโครงการนี้ เช่น ธนาคารเชิงนโยบาย (policy bank) รัฐวิสาหกิจ คณกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงต่างประเทศ เป็นต้น

หน่วยงานแต่ละแห่งก็มีลำดับความสำคัญที่แตกต่างกัน ส่วนใหญ่ของโครงการ BRI จะริเริ่มจากระดับล่างขึ้นมา และได้รับการอนุมัติอยู่ในโครงการ BRI ประเทศที่เป็นเจ้าของโครงการ จะเสนอรายชื่อโครงการต่างๆ โดยมาจากการหารือกับหน่วยงานรัฐวิสาหกิจจีน จากนั้น ก็เสนอขออนุมัติเงินลงทุนจากคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจฯ และกระทรวงพาณิชย์ของจีน

รัฐบาลกลางของจีนเองก็ไม่สามารถจะติดตามการดำเนินโครงการ BRI ที่มีหลายร้อยโครงการกระจายอยู่ทั่วโลก จุดนี้ทำให้โครงการ BRI เป็นการโฆษณาตราสินค้าหรือภาพลักษณ์ (brand) ของจีน มากกว่าจะเป็นการดำเนินโครงการ ที่มีการจัดตั้งองค์กรที่แน่นอน (institution)

ที่ผ่านมา เงินลงทุนส่วนใหญ่ของ BRI ใช้ไปกับโครงสร้างพื้นฐานดั่งเดิม เช่น การผลิตพลังงาน ถนน เส้นทางรถไฟ และท่าเรือ ปากีสถาน มาเลเซีย บังคลาเทศ เมียนมา และศรีลังกา คือประเทศที่ได้รับเงินทุนก้อนใหญ่จากโครงการ BRI

รายงาน China’s Belt and Road กล่าวว่า ประเทศร่วมในโครงการ BRI ต่างชื่นชมจีนในหลายเรื่อง เช่น ความรวดเร็วในการดำเนินงาน ตั้งแต่การวางแผนจนถึงการก่อสร้าง ความเต็มใจของจีนที่จะสร้างในสิ่งที่เป็นความต้องการของประเทศเจ้าภาพโครงการ และความสะดวกที่จะติดต่อกับหน่วยงานเดียวของจีน ที่ทำหน้าที่ทั้งผู้รับเหมา นักการเงิน และเจ้าหน้าที่รัฐบาล ดังนั้น ประเทศตะวันตกจะเข้าใจผิด หากคิดว่าจีนเป็นฝ่ายยัดเยียดโมเดลการพัฒนาให้กับประเทศในโครงการ BRI

โครงการ BRI ช่วยสร้างโครงสร้างพื้นฐานแก่ประเทศกำลังพัฒนา ที่ต้องการจะลงทุนในเรื่องนี้อยู่แล้ว ช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนไฟฟ้า บรรเทาปัญหาข้อจำกัดจากปัญหาคอขวดด้านการขนส่ง ช่วยทำให้สินค้าของท้องถิ่นขนส่งไปตลาดได้เร็วขึ้น สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นการปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น

ขนาดที่ใหญ่โตและขอบเขตที่กว้างขวาง ทำให้โครงการ BRI มีศักยภาพที่จะเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของโลก (GDP) ถึง 7.1 ล้านล้านดอลลาร์ ในปี 2040 BRI ยังช่วยลดต้นทุนการค้าโลกลง 2.2% นอกเหนือจากการช่วยลดปัญหาคอขวดด้านการขนส่ง และทำให้ประเทศกำลังพัฒนาสามารถแข่งขันได้มากขึ้น

ที่มาภาพ : รายงาน China’s Belt and Road

ความกังวลของสหรัฐฯต่อ BRI

รายงาน China’s Belt and Road ชี้ว่า โครงการ BRI มีความหมายและผลกระทบสำคัญต่อสหรัฐฯ โครงการ BRI เพิ่มความสะดวกแก่บริษัทจีน ในการเข้าสู่ตลาดต่างประเทศ และการทำธุรกิจกับบริษัทจีน มีต้นทุนต่ำกว่ากับบริษัทตะวันตก เพราะการสนับสนุนด้านเงินทุนจากธนาคารที่รัฐบาลจีนเป็นเจ้าของ ธุรกิจของจีนสามารถมาแทนที่การส่งออกของสหรัฐฯ และท้าทายบริษัทสหรัฐฯในประเทศที่มีโครงการ BRI หากหลายประเทศ BRI ไม่สามารถชำระหนี้เงินกู้ ก็อาจเกิดวิกฤติหนี้สิน และสั่นคลอนเสถียรภาพการเงินโลก

การผลักดันการส่งออกเทคโนโลยีของจีน ไปยังประเทศ BRI ก็สร้างปัญหาท้าทายแก่สหรัฐฯ ประเทศกำลังพัฒนาต้องการโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ศูนย์ข้อมูล และการประมวลผล cloud service การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ต้องการสิ่งเหล่านี้มากขึ้น เพราะการทำงานที่ไกลจากสำนักงาน โครงการ BRI ทำให้จีนสามารถเสนอบริการดิจิทัลแก่ประเทสยากจนได้ในราคาถูกกว่า ความสามารถของจีน จะทำให้ประเทศต่างๆ ถูกดึงไปอยู่ในระบบนิเวศทางเทคโนโลยีของจีน

รายงาน China’s Belt and Road เสนอให้สหรัฐฯใช้ยุทธศาสตร์กดดันจีนให้เปลี่ยนวิธีดำเนินการของ BRI และให้สหรัฐฯเสนอโครงการทางเลือก ที่ส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานแบบยั่งยืน ยึดถือมาตรฐานที่สูงด้านสิ่งแวดล้อมและการต่อต้านคอร์รัปชั่น สร้างหลักประกันที่บริษัทอเมริกัน มีโอกาสเท่าเทียมในการทำธุรกิจ และช่วยเหลือประเทศต่างๆ ในการรักษาความเป็นอิสระทางการเมือง

ที่มาภาพ : https://www.usnews.com/news/elections/articles/2020-07-09/bidens-build-back-better-plan-makes-play-for-trump-economy-voters

โครงการ B3W ของสหรัฐฯ

คำว่า Build Back Better (BBB) เป็นแนวคิดที่มีต้นกำเนิด และประสบการณ์จากญี่ปุ่น เป็นยุทธศาสตร์ของประเทศหรือชุมชน เพื่อลดความเสี่ยงที่จะต่อประชาชน จากอุบัติภัยที่จะเกิดขึ้นในอนาคต วิธีการแบบ BBB คือการบูรณาการมาตรการลดความเสี่ยงต่างๆ ที่จะปรากฏอยู่ในแผนฟื้นฟูด้านต่างๆ เช่น โครงสร้างพื้นฐาน การประกอบอาชีพของประชาชน สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ รวมถึงการสร้างที่หลบภัย เป็นต้น

ในช่วงการประชุมผู้นำกลุ่ม G7 ทำเนียบขาวได้เผยแพร่เอกสาร Fact Sheet เรื่องผู้นำกลุ่ม G7 เปิดตัวโครงการหุ้นส่วน Build Back Better World (B3W) โดยที่ประชุมมีการหารือเรื่องการแข่งขันทางยุทธศาสตร์กับจีน และได้แสดงพันธกรณีที่เป็นรูปธรรม ในอันที่จะสนองต่อความจำเป็นในด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศรายได้ต่ำและปานกลาง

โครงการ B3W เป็นหุ้นส่วนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ของประเทศประชาธิปไตยชั้นนำ เพื่อแก้ปัญหาการขาดเงินลงทุนในด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศกำลังพัฒนา ที่จะเป็นเงิน 40 ล้านล้านดอลลาร์ โครงการ B3W จะครอบคลุมภูมิภาคทั่วโลก การลงทุนจะเน้นที่ 4 ด้าน คือ สภาพอากาศ ความมั่นคงทางสาธารณสุข ดิจิทัลเทคโนโลยี และความเสมอภาพทางเพศ

Fact Sheet ของทำเนียบขาวกล่าวว่า หลักการชี้นำของโครงการ B3W ที่สหรัฐฯเป็นแกนนำ ประกอบด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ที่มีความโปร่งใสและความยั่งยืน ในด้านการเงิน สิ่งแวดล้อม และทางสังคม การมีธรรมาภิบาลและมาตรฐานที่สูง ในด้านสิ่งแวดล้อม ความโปร่งใส การคุ้มครองแรงงาน และการต่อต้านคอร์รัปชั่น เป็นต้น

ประเทศสมาชิก G7 จะมีบทบาทต่างกันในแต่ละภูมิภาค เช่น ประเทศสมาชิกจากยุโรปจะเน้นที่ประเทศแถบบอลข่าน ญี่ปุ่นจะดูแลประเทศในเอเชียอาคเนย์ ที่ญี่ปุ่นมีบทบาทการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอยู่แล้ว ส่วนบทบาทสหรัฐฯคงจะมาเน้นที่ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ที่สหรัฐฯถูกวิจารณ์ว่า ขาดยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนต่อภูมิภาคนี้

ความสำเร็จของโครงการ B3W ของกลุ่ม G7 คงจะขึ้นอยู่กับความสามารถในการแข่งขัน (competitiveness) กับโครงการ BRI ของจีน โครงการของชาติตะวันตกมักมีปัญหาเรื่องการถูกตรวจสอบ การลงทุนล่วงหน้าในการเตรียมโครงการ มีวงเงินสูง และการก่อสร้างใช้เวลานาน ต่างจากโครงการ BRI ของจีน ที่การก่อสร้างรวดเร็ว และเงินลงทุนช่วงการเตรียมทำโครงการก็ต่ำ

เอกสารประกอบ

Fact Sheet: President Biden and G7 Leaders Launch Build Back Better World (B3W) Partnership, June 12, 2021, whitehouse.gov
China’s Belt and Road: Implications for the United States, the Council on Foreign Relations, 2021, cfr.org