ThaiPublica > เกาะกระแส > คู่มือการลงทุน สำหรับบริษัทต่างชาติ ในโครงการ “เส้นทางสายไหมใหม่”

คู่มือการลงทุน สำหรับบริษัทต่างชาติ ในโครงการ “เส้นทางสายไหมใหม่”

25 เมษายน 2018


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

รพไฟบรรทุกสินค้าเที่ยวแรก จากเมืองท่า Yiwu ไปลอนดอน มกราคม 2017 ที่มาภาพ : https://uk.news.yahoo.com/first-chinese-freight-train-arrives-205543814.html

เมือง Barking ตั้งอยู่ชานเมืองกรุงลอนดอน แต่มีลักษณะพิเศษอย่างหนึ่ง คือ เป็นเมืองที่มีขบวนรถไฟไปจีน เมื่อเดือนมกราคม 2017 มีรถไฟบรรทุกสินค้าขบวนแรกจากจีนเดินทางมาถึง รถไฟขบวนนี้มีชื่อว่า “ลมตะวันออก” บรรทุกสินค้า เช่น เสื้อผ้าและกระเป๋า เดินทางมาจากเมืองอี้อู (Yiwu) มณฑลเจ้อเจียง (Zhejiang) ระยะทาง 12,000 กิโลเมตร และกลายเป็นรถไฟขบวนประวัติศาสตร์ เพราะวิ่งทับบางส่วนของเส้นทางสายไหมโบราณ ซึ่งเมื่อ 2,000 ปีก่อนเป็นเส้นทางการค้าที่เชื่อมทางเหนือของจีนกับทะเลเมดิเตอร์เรเนียน

ขบวนรถไฟ “ลมตะวันออก” นี้ วิ่งผ่านคาซักสถาน รัสเซีย เบลารุส โปแลนด์ เยอรมนี เบลเยียม ฝรั่งเศส ก่อนจะไปถึงอังกฤษ เมื่อดำเนินงานเต็มรูปแบบแล้ว รถไฟขบวนนี้จะไม่ได้บรรทุกสินค้าระหว่างอังกฤษกับจีนเท่านั้น แต่จะขนส่งสินค้าขึ้นลงตามเส้นทางที่แล่นผ่านด้วย ทำให้บางส่วนของรัสเซียและเอเชียกลางมีช่องทางการขนส่งสู่เศรษฐกิจโลก

เส้นทางรถไฟสาย “ลมตะวันออก” เป็นหนึ่งในอีกหลายสิบโครงการที่เกี่ยวกับเส้นทางรถไฟ เส้นทางหลวง ท่าเรือ และโรงงานผลิตไฟฟ้า ที่อยู่ในโครงการความฝันของจีน ที่ปัจจุบันเรียกว่า “โครงการริเริ่มแถบและเส้นทาง” (Belt and Road Initiative: BRI) ก่อนหน้านี้ จีนเรียกว่าโครงการ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (One Belt, One Road) การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของ BRI จะเกี่ยวข้องกับ 65 ประเทศ ที่มีประชากรรวมกัน 4.4 พันล้านคน และมีผลผลิตรวมกัน 1 ใน 3 ของโลก

จีนไม่ได้เรียกโครงการ BRI ว่าเป็น “แผนการ” หรือ “กลยุทธ์” เพราะไม่ต้องการให้คนทั่วโลกเข้าใจว่าโครงการ BRI เป็นแผนการหรือกลยุทธ์ที่จะสร้างอาณาจักรทางเศรษฐกิจของจีน จีนจึงไม่ได้อ้างว่าเป็นเจ้าของโครงการ BRI แต่โครงการนี้มาจากความไว้วางใจกันและกัน มีลักษณะการมีส่วนร่วม การเรียนรู้ร่วมกัน และเป็นความร่วมมือที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์

อภิมหาโครงการและเวลาดำเนินงาน

นอกจากโครงการ BRI จะมีขนาดใหญ่โตแล้ว ระยะเวลาการดำเนินงานของโครงการ ก็เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ขั้นตอนที่ 1 ของโครงการเป็นเรื่องการลงทุนและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในด้านต่างๆ เช่น การคมนาคมขนส่ง การสื่อสาร และการผลิตไฟฟ้า ขั้นตอนที่ 2 เป็นเรื่องของอีคอมเมิร์ซ ธุรกิจด้านการดูแลสุขภาพ การศึกษา และธุรกิจด้านบริการการเงิน โครงการ BRI ทั้งหมดคาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ในปี 2050 หรือใน 32 ปีข้างหน้า

เฉพาะโครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟ ก็ถือกันว่าเป็นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ที่มีมูลค่ามหาศาล หนังสือพิมพ์ Financial Times เปิดเผยว่า โครงการรถไฟความเร็วสูง 18 โครงการของจีน มีมูลค่าถึง 143 พันล้านดอลลาร์ ที่เป็นเงินมากกว่างบประมาณของแผนการมาร์แชลล์ที่สหรัฐฯ ใช้ฟื้นฟูยุโรปหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่คิดในมูลค่าปัจจุบันจะเป็นเงิน 130 พันล้านดอลลาร์

เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับโครงการ BRI แผนการมาร์แชลล์ของสหรัฐฯ ไม่ได้มีเป้าหมายที่ใหญ่โตเลย เพราะมีเป้าหมายแค่การฟื้นฟูเศรษฐกิจเดิมของยุโรปที่เสียหายจากสงคราม แต่โครงการ BRI มุ่งจะพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ให้ขึ้นทั่วโลก และส่งเสริมการค้าในหมู่ประเทศที่เกี่ยวข้อง ไม่ใช่แค่กับจีน

นอกจากนี้ BRI ยังเป็นโครงการที่ไม่ได้มีแค่การลงทุนพื้นฐานเท่านั้น แต่รวมถึงการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้กับระบบห่วงโซ่อุปทานในหมู่ประเทศที่เข้าร่วมโครงการ ดังนั้น BRI จะเป็นตัวจุดชนวนการเติบโตทางเศรษฐกิจ การแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี และรวมทั้งอิทธิพลของจีน

BRI ถือเป็นการริเริ่มโครงการที่ครอบคลุมหลายด้านของศตวรรษที่ 21 ขอบเขตของโครงการที่ใหญ่โตทำให้เกิดโอกาสทางยุทธศาสตร์แก่นักลงทุนและบริษัทต่างชาติ ทางการจีนก็เชิญชวนบริษัทจากต่างประเทศให้มาทำธุรกิจกับโครงการ BRI โดยการลงทุนทางด้านการเงินและเทคโนโลยีของโครงการการลงทุนนี้จะทำให้บริษัทต่างชาติเข้าถึงตลาดที่จะเติบโตในอนาคต การเป็นหุ้นส่วนกับบริษัทจีนและบริษัทท้องถิ่น ที่ตั้งอยู่ตามเส้นทาง BRI จะนำไปสู่โอกาสต่างๆ มากขึ้น

ที่มาภาพ : LehmanBrown.com

ลู่ทางลงทุนสำหรับบริษัทต่างชาติ

ในบทความเรื่อง A Strategist’s Guide to Belt and Road Initiative ผู้เขียนคือ David Wijeratne, Mark Rathbone และ Gabriel Wong กล่าวว่า เฟสแรกของโครงการ BRI คือการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ที่ต่อไปจะกลายเป็นระบบนิเวศทางธุรกิจ อันจะนำไปสู่ลู่ทางธุรกิจอื่นๆ ตามมา เช่น ธุรกิจเกี่ยวกับผู้บริโภค การศึกษา การรักษาพยาบาล การค้าปลีก และธุรกิจการเงิน ในเฟสแรกของ BRI บริษัทต่างชาติมีโอกาสที่จะลงทุนทางธุรกิจในหลายด้าน

ประการแรกในฐานะนักลงทุน โดยการลงทุนในโครงการพื้นฐานกับบริษัทของจีน หรือลงทุนในพันธบัตรโครงสร้างพื้นฐานของจีน เช่น Silk Road Fund เมื่อเดือนสิงหาคม 2015 ธนาคาร China Construction Bank ได้ออกพันธบัตรโครงสร้างพื้นฐาน BRI ในตลาดหุ้นสิงคโปร์ มูลค่า 1 พันล้านหยวน (152 ล้านดอลลาร์) เดือนพฤษภาคม 2017 Bank of China สาขาสิงคโปร์ ออกพันธบัตร BRI มูลค่า 600 ล้านดอลลาร์

ประการที่ 2 ในฐานะซัพพลายเออร์ บริษัทต่างชาติสามารถจัดหาอุปกรณ์ก่อสร้างทันสมัย เครื่องจักร วัสดุก่อสร้าง และการให้คำปรึกษา เพื่อแก้ปัญหาการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ หากบริษัทต่างชาติมีความชำนาญเฉพาะทางในเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ก็สามารถสนับสนุนงานวิศวกรรม การจัดซื้อ และการก่อสร้าง (Engineering, Procurement and Construction: EPC) ของจีนในต่างประเทศ เช่น บริษัท ABB ของสวิส ทำงานร่วมกับบริษัทรถไฟของจีนชื่อ CRRC Tangshan ในโครงการสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินของตุรกี

ประการที่ 3 เป็นหุ้นส่วนกับจีนใน EPC บริษัทต่างชาติที่มีประสบการณ์ในโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ สามารถเป็นหุ้นส่วนกับบริษัทจีน หรือบริษัทท้องถิ่นในประเทศ BRI เช่น การออกแบบและพัฒนาโครงการ การเป็นหุ้นส่วนจะช่วยให้เข้าถึงตลาดใหม่ที่อยู่ตามเส้นทาง BRI นอกจากนี้ ยังเปิดโอกาสที่จะเข้าถึงธุรกิจในจีนเองอีกด้วย บริษัทปูนซีเมนต์ CEMEX ของเม็กซิโก ก็ร่วมทุนกับบริษัทจีนชื่อ China National Building Materials Group Corporation ในการก่อสร้างตามเส้นทาง BRI

ประการที่ 4 ในฐานะผู้เชี่ยวชาญการบริหารโครงการ โครงการขนาดใหญ่ BRI ที่กระจายอยู่ในหลายประเทศ ต้องการการบริหารจัดการกับกลุ่มต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้เสียกับโครงการ บริษัทรัฐวิสาหกิจจีนต้องการคำปรึกษาว่าจะดำเนินการอย่างไรในเรื่องกฎหมายท้องถิ่น สภาพของธุรกิจท้องถิ่น และการทำงานร่วมกับหุ้นส่วนและแรงงานท้องถิ่น เป็นต้น บริษัท Amec Foster Wheeler (AFW) ของอังกฤษ ลงนามในสัญญากับบริษัทของจีน Shenhua Ningxia Coal Industry Group เพื่อบริหารโรงงานสกัดสารเคมีจากถ่านหิน

ประการที่ 5 ในฐานะผู้บริหารโครงสร้างพื้นฐานที่สร้างใหม่ จีนสนใจบริษัทที่มีประสบการณ์ด้านการบริหารของโครงการในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ที่จะทำให้โครงการมีประสิทธิภาพ ผลกำไร และยั่งยืน แม้บริษัทของจีนจะมีประสบการณ์ในเรื่องนี้ภายในจีนเอง แต่จีนก็มีประสบการณ์จำกัดในต่างประเทศ โดยเฉพาะโครงการที่เกี่ยวข้องกับหลายประเทศ เช่น Dubai Ports World บริหารท่าขนส่งสินค้า ทั้งทางทะเลและทางบก หลายแห่งในเอเชีย ตะวันออกกลาง และยุโรป และกำลังขยายธุรกิจไปเอเชียกลาง เพื่อหาลู่ทางจากแหล่งที่มีการเติบโต

และประการที่ 6 ในฐานะผู้ขายหลักทรัพย์ บริษัทต่างชาติสามารถกระจายสินทรัพย์ให้กับบริษัทท้องถิ่นที่มีธุรกิจตามเส้นทาง BRI สายการบิน Air France กระจายหุ้น 10% ให้กับสายการบิน China Eastern Airlines สายการบินของรัฐที่ใหญ่สุดของจีนสายหนึ่ง การดำเนินการของ Air France สะท้อนการคาดหมายว่าจะมีการขนส่งเพิ่มขึ้นระหว่างเอเชียกับยุโรป ทำให้ Air France มีฐานะนำด้านการขนส่งทางอากาศในตลาดเซี่ยงไฮ้ ที่เป็นศูนย์กลางการบินของ China Eastern Airlines

ที่มาภาพ : scmp.com

ความเสี่ยงหลายด้าน

แต่บทความ A Strategist’s Guide to Belt and Road Initiative ก็กล่าวว่า การดำเนินโครงการในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ล้วนเผชิญกับปัญหาท้าทายและความเสี่ยงต่างๆ ซึ่งอาจทำให้บริษัทที่ลงทุนจำนวนมากได้รับผลตอบแทนไม่คุ้มค่า

ประการแรก คือ เป็นความเสี่ยงจากการดำเนินงานที่ไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมาย

ประการที่สอง คือ โครงการที่เกี่ยวข้องกับหลายประเทศ จำเป็นต้องมีความไว้วางใจและความมุ่งมั่นในระดับสูงของประเทศที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาในการสร้างสิ่งนี้ขึ้นมา

ประการที่ 3 เป็นความเสี่ยงเกี่ยวกับระยะเวลาโครงการที่ยาวนาน ก่อนที่จะเกิดดอกผลจากการลงทุน โครงการลักษณะนี้จึงมีความเสี่ยงหรือจุดอ่อนจากเหตุการณ์ด้านภูมิรัฐศาสตร์ เช่น การเปลี่ยนรัฐบาล การเปลี่ยนนโยบาย และความรู้สึกของคนท้องถิ่นที่ต่อต้านจีน ในปี 2015 ศรีลังกามีประธานาธิบดีคนใหม่ ทำให้การพัฒนาท่าเรือของเมืองโคลอมโบล่าช้าออกไปปีหนึ่ง นอกจากนี้ โครงการ BRI เกี่ยวข้องกับหลายประเทศ อาจเกิดการชะงักงันเพราะความขัดแย้งเรื่องดินแดน หรือการแข่งขันช่วงชิงอำนาจอิทธิพล

ประการที่ 4 เป็นความเสี่ยงเรื่องเงินกู้ โครงการ BRI เป็นโครงการพัฒนาที่อาศัยเงินกู้ ทำให้นักลงทุนมักมีข้อสงสัยเรื่องความสามารถในการชำระเงินกู้ของประเทศลูกหนี้ เดือนพฤศจิกายน 2017 ปากีสถานถอนตัวจากโครงการสร้างเขื่อน Diamer-Bhasha มูลค่า 14 พันล้านดอลลาร์ เพราะไม่ยอมรับเงื่อนไขเงินกู้ ทั้งๆ ที่เป็นโครงการสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับปากีสถาน

แต่บทความ A Strategist’s Guide ก็เห็นว่า เมื่อประเมินโดยรวมๆ ระหว่างผลตอบแทนและความเสี่ยง โครงการ BRI ให้ภาพในเชิงบวกต่อความสำเร็จที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ช่วงปี 2012-2016 มูลค่าโดยเฉลี่ยของโครงการต่างๆ ของ BRI เพิ่มขึ้น 27% โดยเฉพาะโครงการด้านการขนส่ง การก่อสร้าง และพลังงาน

นอกจากนี้ โครงการ BRI ได้รับการสนับสนุนทางการเงินเป็นหลักจากจีน บริษัทที่เป็นรัฐวิสาหกิจของจีนก็เป็นตัวขับเคลื่อนหลักของโครงการ บริษัทเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนทางการเมืองจากรัฐบาลจีน ทำให้เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยลดความเสี่ยงทางการเมืองและทางการเงิน

แต่โครงการที่มีเป้าหมายใหญ่โตอย่าง BRI ก็จะไม่พัฒนาไปในแบบที่สามารถคาดหมายได้ เหมือนกับความสำเร็จของการเติบโตทางเศรษฐกิจจีนในระยะ 30 ปีที่ผ่านมา ที่สร้างความประหลาดใจแก่นักวิเคราะห์มาตลอด ความสำเร็จของโครงการ BRI ก็จะสร้างความประหลาดใจแบบเดียวกันนี้

เอกสารประกอบ
A Strategist’s Guide to Belt and Road Initiative, David Wijeratne, Mark Rathbone and Gabriel Wong. strategy + business, issue 90, Spring 2018.
China’s Asian Dream: Empire Building Along the New Silk Road, Tom Miller, Zed Books, 2017.