ThaiPublica > เกาะกระแส > การเจรจาต่อรอง “ชาติเล็ก” กับมหาอำนาจ “ดาวรุ่ง” ความสำเร็จของมาเลเซียในโครงการ BRI

การเจรจาต่อรอง “ชาติเล็ก” กับมหาอำนาจ “ดาวรุ่ง” ความสำเร็จของมาเลเซียในโครงการ BRI

23 ตุลาคม 2023


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ : CNA

ในการเข้าร่วมประชุม Belt and Road Forum (BRF) ครั้งที่ 3 เมื่อ 18-19 ตุลาคม 2566 ที่ปักกิ่ง Anthony Loke Siew Fook รัฐมนตรีกระทรวงคนาคมของมาเลเซีย ให้สัมภาษณ์กับ globaltimes.cn ว่าแผนการในอนาคตของ “การริเริ่มแถบและเส้นทาง” (BRI) มีลักษณะใหญ่โตมาก แสดงถึงความเป็นผู้นำจีนในเวทีโลก ซึ่งจะช่วยประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศ ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และกระตุ้นเศรษฐกิจตัวเอง

ในการกล่าวเปิดประชุม BRF ครั้งที่ 3 ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เปิดเผยว่า จีนจะดำเนินการก้าวสำคัญ 8 ก้าว ในการสนับสนุนความร่วมมือที่มีคุณภาพของโครงการ BRI อาทิ การสร้างเครือข่ายการเชื่อมต่อหลายมิติของ BRI เร่งรัดการพัฒนาเส้นทางรถด่วนของรถไฟสาย จีน-ยุโรป เข้าร่วมระเบียงการขนส่งนานาชาติ แถบทะเลแคสเปียน และสร้างระเบียงโลจิสติกส์ ตลอดแนวทวีปยูเรเซีย เพื่อเชื่อมการขนส่งทางรางและถนน

โครงการ BRI ในมาเลเซีย

โครงการ BRI ที่ถือเป็น “เรือธง” ในมาเลเซียคือ East Coast Rail Link (ECRL) ที่เป็นเส้นทางรถไฟรางมาตรฐานกว้าง 1.43 เมตร ตามมาตรฐานยุโรป เชื่อมเมืองท่า Port Klang ทางช่องแคบมะระกากับ Kota Bharu ทางตะวันออกเฉียงเหนือของมาเลเซีย ระยะทาง 665 กม. ความเร็ว 160 กม. ต่อชั่วโมง ECRL ลงมือก่อสร้างเมื่อปี 2017 คาดว่าโครงการจะเสร็จในปี 2027 ปัจจุบัน การก่อสร้างคืบหน้าไปแล้ว 50%

Anthony Loke กล่าวว่า เนื่องจากโครงการนี้ตั้งบนพื้นฐานความร่วมมือแบบใหม่ ทำให้ในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา มีปัญหาท้าทายหลายอย่าง ซึ่งตอนนี้สามารถแก้ไขได้หมดแล้ว โดยเฉพาะโครงการ ECRL มีการเจรจาหลายครั้งกับฝ่ายจีน แสดงให้เห็นว่าสองฝ่ายเปิดกว้างที่จะเจรจากัน เพื่อหาทางออกร่วมกัน ในการเอาชนะอุปสรรค

อำนาจต่อรองของประเทศเล็ก

นักรัฐศาสตร์ด้านการเมืองระหว่างประเทศมองว่า การเมืองระหว่างประเทศเป็นเรื่องของโครงสร้างอำนาจ ระหว่างชาติต่างๆ ที่ไม่สมดุลกัน (asymmetrical) ประเทศเล็กต้องนำเอาสิ่งนี้มาพิจารณา ในการตัดสินใจ และวางนโยบายต่างประเทศโดยทั่วไป ประเทศเล็กต้องเผชิญกับสิ่งที่เรียกว่า “สภาพความเป็นจริงที่เปลี่ยนไม่ได้” ส่วนประเทศมหาอำนาจนั้น สามารถเปลี่ยนความเป็นจริงได้เสมอ เหมือนกับที่เจ้าหน้าที่สหรัฐฯคนหนึ่ง ในสมัยประธานาธิบดี จอร์จ บุชเคยพูดว่า “เมื่อเราลงมือดำเนินการ เราสร้างความเป็นจริงของเราขึ้นมา”

แต่นับจากสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา สภาพแวดล้อมระหว่างประเทศ เอื้อประโยชน์ต่อประเทศเล็กมากขึ้น ประเทศเล็กไม่เผชิญภัยคุกคามต่อการดำรงอยู่ เพราะสามารถเข้าร่วมกลุ่มทางทหาร มาป้องกันตัวเอง องค์กรระหว่างประเทศต่างๆ สร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อประเทศเล็ก ๆ ที่สามารถเข้าถึงการพัฒนาและเงินทุน ระบบหลายขั้วของการเมืองโลก ทำให้ประเทศเล็กสามารถ “มีทางเลือกทางยุทธศาสตร์” ของตัวเอง

ที่มาภาพ : https://global.oup.com/academic/product/

หนังสือ A Small State’s Guide to Influence in World Politics (2022) หยิบยกเอาอำนาจการต่อรองของมาเลเซียกับจีน ในโครงการ BRI มาเป็นกรณีศึกษาถึงความสำเร็จของประเทศเล็ก ในการต่อรองกับมหาอำนาจ “ดาวรุ่ง” อย่างเช่นจีน

ปี 2018 การเลือกตั้งทั่วไป พรรคอัมโน (United Malay National Organization) ที่ครองอำนาจมายาวนานถึง 61 ปี พ่ายแพ้การเลือกตั้ง รัฐบาลใหม่ นำโดย ดร. มหาเธียร์ ได้ระงับการลงทุนของจีน หลายพันล้านดอลลาร์ในโครงการรถไฟ ท่อส่งน้ำมัน และอสังหาริมทรัพย์ โดยรัฐบาลมาเลเซียประณามว่า เกิดการคอร์รัปชั่น ต้นทุนสูงเกินไป รวมทั้งวิจารณ์จีนเรื่อง ต้องการได้มากเกินไปในปัญหาทะเลจีนใต้

ความสำคัญของมาเลเซียกับ BRI

มาเลเซียต้องการเปิดการเจรจาใหม่กับจีนในโครงการ BRI โดยเน้นความเป็นอิสระของมาเลเซีย ภายใต้กรอบใหญ่ของความสัมพันธ์สองประเทศ

มาเลเซียไม่ยอมรับเรื่องการแลกเปลี่ยนระหว่างความเป็นอิสระของชาติกับผลประโยชน์ทางวัตถุ แต่ต้องการเพิ่มประโยชน์ทางเศรษฐกิจ โดยที่ยังสามารถรักษาความเป็นอิสระของตัวเองไว้ได้

แม้เป็นงานที่ยากลำบาก แต่ในที่สุด มาเลเซียก็ประสบความสำเร็จ ในการรับมือกับการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของจีน ประเทศมหาอำนาจดาวรุ่ง

A Small State’s Guide to Influence in World Politics กล่าวว่า มาเลเซียไม่ถือเป็นประเทศเล็ก ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ในความสัมพันธ์กับจีน มาเลเซียจะอยู่ในสภาพที่เผชิญปัญหาความสัมพันธ์ทางอำนาจ ที่ไม่สมดุล หรือไม่ได้สัดส่วน (power asymmetry) ระหว่างสองฝ่าย

นับจากปี 2000 เป็นต้นมา จีนเป็นประเทศหุ้นส่วนสำคัญที่สุดของมาเลเซีย มาเลเซียเป็นประเทศรายได้ระดับกลาง ประชากร 30 ล้านคน และภูมิศาสตร์ถูกแบ่งแยกออกจากกัน ดินแดนครึ่งประเทศอยู่ทางคาบสมุทรมาเลย์ ที่มีพรมแดนติดทางภาคใต้ของไทย และอยู่ที่มุมด้านตะวันตกเฉียงใต้ของทะเลจีนใต้ ส่วนดินแดนที่เหลือเป็นพื้นที่เกาะ ที่มีดินแดนร่วมกับอินโดนีเซียและบรูไน นับจากฟื้นตัวจากวิกฤติเศรษฐกิจปี 1997 รายได้ต่อคนของมาเลเซียเพิ่มขึ้น 3 เท่าตัว

มาเลเซียมีปัญหาขาดแคลนเงินลงุทนและโครงสร้างพื้นฐาน เหมือนกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อื่นๆ จากสภาพขาดแคลนดังกล่าว ทำให้มาเลเซียเอาจริงเอาจังในเรื่องโครงการ BRI แต่อย่างมีเงื่อนไขของตัวเอง มาเลเซียยังสามารถรักษาจุดยืนความเป็นอิสระ โดยการกระจายการค้าการลงทุนกับประเทศอื่นๆ

หนังสือ A Small State’s Guide กล่าวว่ามาเลเซียต้องการให้การลงทุนของจีน นำไปสู่การกระจายความหลากหลายทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการพัฒนาอุตสาหกรรม ที่ไม่ใช่การแปรรูปสินค้าขั้นปฐมหรือโภคภัณฑ์ แต่การถูกมองว่ามาเลเซียทำในสิ่งที่ฝ่ายจีนต้องการ รวมทั้งข่าวเรื่องคอร์รัปชัน ทำให้เกิดปฏิกิริยาต่อต้านรุนแรง จากประเทศประชาธิปไตยอย่างมาเลเซีย

มาเลเซียต้องการมีอำนาจมากขึ้น ในเรื่องการลงทุนของ BRI ทำให้เกิดความขัดแย้งกับนโยบายของฝ่ายจีน ผู้นำจีนให้ความสำคัญกับมาเลเซีย เพราะเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างความสัมพันธ์กับสมาคมอาเซียน และเป็นจุดสำคัญของการดำเนินโครงการ BRI ที่อยู่ในส่วนทิศใต้ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

มาเลเซียเองยังมีบทบาทสำคัญ ในความพยายามของจีน ที่จะเพิ่มความมั่นคงด้านพลังงาน จากการอาศัยโครงสร้างพื้นฐานด้านรถไฟและท่อน้ำมัน เพื่อลดการพึ่งพาจีนจากการขนส่งพลังงานน้ำมัน ผ่านช่องแคบมะระกา โครงการ BRI ที่เชื่อมโยงกับมาเลเซีย จึงเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์จีน ที่ทำให้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นเสาหลักอันหนึ่งของโครงการ BRI

เนื่องจาก BRI เป็นความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจในแบบที่ลึกลงไป ต่างจากความสัมพันธ์แบบเดิมๆ มาเลเซียจึงเข้าร่วมกับโครงการ BRI ตั้งแต่แรกในปี 2013 และทำให้จีนกลายเป็นนักลงทุนรายใหญ่สุดของมาเลเซีย คือ 14% ของการลงทุนต่างประเทศทั้งหมดในปี 2016
เนื่องจากการลงทุนสำคัญหลายอย่าง มาจากการริเริ่มของฝ่ายจีน ทำให้ได้รับทั้งความสนใจและการวิพากวิจารณ์มากที่สุด รวมทั้งโครงการรถไฟ ECRL ระยะทางเกือบ 700 กม. ที่เป็นเงินกู้จากจีน 85% โครงการ ECRL เป็นความต้องการของอดีตนายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัค (2009-2018) ส่วนฝ่ายจีนมองว่า ECRL ช่วยวางรากฐาน “ระบบรางรถไฟของจีน” ในภูมิภาคนี้ จีนเองยังกระจายการลงทุนในด้านอื่นๆในมาเลเซีย

ที่มาภาพ
: https://en.wikipedia.org/wiki/MRL_East_Coast_Rail_Link#/media/File

ต่อรองเพื่อเลี่ยง “กับดักหนี้สิน”

แต่ทว่า หลายโครงการเข้าไปเกี่ยวข้องกับกรณีคอร์รัปชันที่อื้อฉาว เมื่อนาจิบ ราซัค ถูกกล่าวหาเรื่อง การฟอกเงินนับพันล้านดอลลาร์ ผ่าน 1MDB ที่เป็นกองทุนการพัฒนาของรัฐบาลมาเลเซีย ที่รวมถึงเงินทุนในโครงการที่จีนสนับสนุน ทำให้ฝ่ายค้านกล่าวหาว่า มาเลเซียเสี่ยงที่จะติด “กับดักหนี้สิน” การต่อต้านนี้ เป็นเหตุให้พรรครัฐบาลแพ้การเลือกตั้งปี 2018

การต่อต้านทางการเมืองจากคนในประเทศ ทำให้รัฐบาลใหม่มาเลเซียเปิดการเจรจากับจีน ในโครงการ BRI เพื่อลดภาระความเสี่ยงจากหนี้สิน มาเลเซียยังได้การผ่อนปรนทางการค้าจากจีน โดยเฉพาะเรื่องการส่งออกน้ำมันปาล์ม ที่ได้รับผลกระบจากมาตรการปกป้องสิ่งแวดล้อมของกลุ่ม EU เนื่องจากโครงการ BRI เกี่ยวข้องกับการลงทุนของจีน จากภาครัฐและเอกชน มาเลเซียยังสามารถดึงการลงทุนจากจีนได้อีก แม้บางโครงการเกี่ยวข้องกับจีน จะถูกระงับ หรือลดขนาดลง

สถาบันวิจัยสิงคโปร์ ISEA Yusof Ishak Institute เขียนไว้ว่า การกลับมาสนับสนุนของมาเลเซียต่อ BRI แสดงให้เห็นว่า ผ่านจากการเจรจา เป็นเรื่องเป็นไปได้ ที่จะแก้ไขและปรับปรุงข้อตกลงเดิม ที่ไม่เป็นที่พอใจ มาสู่ผลลัพธ์ที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์

การเจรจาต่อรองที่ได้ผลของมาเลเซียกับจีน เนื่องจากอาศัยกลยุทธ์หลายอย่างของอำนาจประเทศเล็ก มาเลเซียทำให้อาเซียนมีท่าทีที่ “เป็นมิตร” ต่อจีน ไม่ใช่ “การพึ่งพิงจีน” สามารถทำใช้อำนาจรวมหมู่ของอาเซียน เป็นโล่รองรับรับแรงกดดันของจีน ในแง่ของทวิภาคี มาเลเซียสามารถใช้ประโยชน์จากตำแหน่งที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ ในบริบทของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของ BRI มาเป็นประโยชน์ให้กับมาเลเซีย

เอกสารประกอบ

Future development of BRI ambitious, showcases China’s leadership on global stage: Malaysian official, 19 October 2023, globaltimes.cn
A Small States’s Guide to Influence in World Politics, Tom Long, Oxfard University Press, 2022.