ThaiPublica > เกาะกระแส > “บิ๊กตู่” ยินดี ‘เศรษฐา’ นั่งนายกฯ ขอให้ประสบความสำเร็จ – มติ ครม.ตั้ง คกก.เชื่อม “ไฮ-สปีดเทรน” ไทย – ลาว – จีน

“บิ๊กตู่” ยินดี ‘เศรษฐา’ นั่งนายกฯ ขอให้ประสบความสำเร็จ – มติ ครม.ตั้ง คกก.เชื่อม “ไฮ-สปีดเทรน” ไทย – ลาว – จีน

23 สิงหาคม 2023


พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/
  • “บิ๊กตู่” ยินดี ‘เศรษฐา’ นั่งนายกฯ ขอให้ประสบความสำเร็จ
  • ยันไม่เกี่ยวข้องโหวตเลือกนายกฯ ชี้เป็นเรื่องสภาฯ
  • มอบ 107 ล้าน เยียวยาเพลิงไหม้โกดังดอกไม้ไฟ
  • มติ ครม.ตั้ง คกก.เชื่อม “ไฮ – สปีด เทรน” ไทย – ลาว – จีน
  • ปลื้มใช้ ‘บัตรคนจน’ ซื้อ “สินค้า – แก๊สหุงต้ม” กว่า 99%
  • พาณิชย์ฯ คาดส่งออกฟื้นในช่วงครึ่งปีหลัง
  • คาด 3 ปี สมาชิก กอช.เพิ่มเป็น 2.76 ล้านคน ใช้งบฯสมทบ 1,600 ล้าน
  • เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2566 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุม ครม. เสร็จสิ้น พลเอก ประยุทธ์ ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนบริเวณทางเชื่อมตึกไทยคู่ฟ้า

    ยินดี ‘เศรษฐา’ นั่งนายกฯ ขอให้ประสบความสำเร็จ

    พลเอกประยุทธ์ กล่าวว่า วันนี้เป็นการประชุม ครม. ตามปกติในฐานะรัฐบาลรักษาการ โดยมีหลายเรื่องเข้ามาพิจารณา ซึ่งไม่ได้เป็นผลผูกพันอะไร เป็นเรื่องการประชุมเวทีต่างประเทศทั้งหมด เป็นตามหลักการที่รัฐบาลวางไว้ ย้ำว่ามีหลายเรื่องที่ไม่มีผลผูกพันอะไรทั้งสิ้น เพราะเรื่องแนวปฏิบัติที่เราจำเป็นต้องร่วมมือกับภูมิภาคต่างๆ คงต้องสานต่อในรัฐบาลต่อไป

    หลังกล่าวจบ พลเอกประยุทธ์ ถอนหายใจ และกล่าวต่อว่า เรื่องที่สื่อมวลชนจะถาม ผมในฐานะนายกรัฐมนตรีรักษาการ และครม.รักษาการ ขอแสดงความยินดีกับนายเศรษฐา ทวีสิน ที่ได้ผ่านการพิจารณาในกระบวนการรัฐสภาเป็นที่เรียบร้อย ขั้นตอนต่อไปคือรอโปรดเกล้าฯ จัดตั้งคณะรัฐมนตรีให้ครบถ้วนสมบูรณ์ จากนั้นเสนอทูลเกล้าฯ ขึ้นไป และกำหนดวันถวายสัตย์

    “รัฐบาลผมก็จะหมดหน้าที่ตอนนั้น ต้องมีพิธีถวายสัตย์ และมี ครม. ผมก็หมดหน้าที่ของผม ขอแสดงความยินดีกับคุณเศรษฐาอีกครั้งหนึ่ง ขอให้ประสบความสำเร็จในการบริหารราชการแผ่นดินในโอกาสต่อไป พลเอกประยุทธ์ กล่าว

    พลเอกประยุทธ์ กล่าวต่อว่า การจัดตั้ง ครม. ใหม่ คาดว่าใช้เวลาอีกไม่กี่วัน เพราะมีการตรวจคุณสมบัติ จากนั้นกำหนดวันถวายสัตย์ แล้วกระบวนการทั้งหมดจะเสร็จสิ้นสมบูรณ์

    “ขอให้ใจเย็นๆ กันนิดนึง ผมไม่ได้มีปัญหาใดๆ ทั้งสิ้น และอย่าเอาปัญหาไปใส่ให้กับใครทั้งสิ้น เราก็ยอมรับในกติกาทั้งหมด กระบวนการประชาธิปไตย เป็นเรื่องของสภา การเมืองก็ว่ากันไป” พลเอกประยุทธ์ กล่าว

    ไม่ฝากงานรัฐบาลชุดใหม่

    ผู้สื่อข่าวถามถึงประเพณีการเชิญนายกฯ คนใหม่มาพบปะพูดคุยก่อนรับตำแหน่ง โดย พลเอกประยุทธ์ ตอบว่า “ก็ดูสถานการณ์ก่อนนะ วันนี้แสดงความยินดีแล้วไง ในนามของ ครม. ด้วย”

    เมื่อถามถึงการแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงที่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ พลเอกประยุทธ์ ตอบว่า “อันไหนที่ทำได้ก็ทำ มันอยู่ที่กฎหมาย และ พ.ร.บ.ต่างๆ หลายอย่างจำเป็นต้องทำ เพราะระยะเวลามันจำกัด มันจะมีปัญหาต่อไปในอนาคต อันไหนที่ทำได้ก็ทำ อันไหนทำไม่ได้ ก็ให้รัฐบาลใหม่ทำ ทราบดีอยู่แล้ว”

    ถามต่อว่าจะฝากอะไรถึงรัฐบาลใหม่ พลเอกประยุทธ์ ตอบว่า “คงไม่ต้องฝากหรอกมั้ง งานทั้งหมดอยู่ไหน ครม. และหน่วยราชการทั้งหมดรู้ดีอยู่แล้วนะจ๊ะ แผนงานที่ทำในปัจจุบัน ทำใหม่ ทำต่อ ก็สุดแล้วแต่รัฐบาลใหม่จะพิจารณา

    ยันไม่เกี่ยวข้องโหวตเลือกนายกฯ ชี้เป็นเรื่องสภาฯ

    ผู้สื่อข่าวถามเรื่องนายอนุทินที่จะร่วมกับกับรัฐบาลใหม่ แต่ยังไม่ทันถามจบ พลเอกประยุทธ์ แทรกทันทีว่า “ไม่ๆ ถามแบบนี้ผมไม่ตอบ ไม่มีอะไรจะตอบ ผมไม่เกี่ยวข้อง” จากนั้นจึงเดินออกจากโพเนียม

    ผู้สื่อข่าวรีบถามต่อว่ามองปรากฏการณ์โหวตเลือกนายกฯในสภาเมื่อวันที่่ 22 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมาอย่างไร พลเอกประยุทธ์ ตอบสั้นๆ ว่า “เป็นเรื่องของสภา ผมไม่เกี่ยวข้อง”

    มอบ 107 ล้าน เยียวยาเพลิงไหม้โกดังดอกไม้ไฟ

    ดร.รัชดา รายงานว่า ก่อนเริ่มการประชุม ครม. วันนี้ พลเอกประยุทธ์ได้เป็นประธานมอบเงินช่วยเหลือจากกองทุนช่วยเหลือผู้ประสบภัย สำนักนายก ฯ กรณีเหตุเพลิงไหม้โกดังดอกไม้เพลิง และเกิดอัคคีภัย ตำบลมูโนะ อำเภอสุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาส โดยมอบให้แก่นายสนั่น พงษ์อักษร ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส เพื่อดำไปมอบต่อให้ผู้ประสบภัยและครอบครัว จำนวน 107 ล้านบาท โดยเป็นการจ่ายเงินเยียวยาเพิ่มเติมนอกเหนือระเบียบกระทรวงการคลัง

    ดร.รัชดา ให้ข้อมูลว่า กรอบวงเงิน 107 ล้านบาท แบ่งเป็น 2 ส่วน คือส่วนซ่อมและสร้างบ้าน จำนวน 100 ล้านบาท และช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตอีก 7 ล้านบาท

    “นายกฯ แสดงความเสียใจและแสดงความห่วงใยกับพี่น้องชาวมูโนะ และให้ความมั่นใจว่าการดูแลทุกอย่างเป็นไปอย่างเต็มที่” ดร.รัชดา กล่าว

    ดร.รัชดา กล่าวถึงความคืบหน้าในการซ่อมแซมบ้านเรือนหลายร้อยหลังคาเรือนตามรายงนาผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาสว่า ได้รับการบูรณาการการทำงานจากทุกภาคส่วน ส่วนหลังที่เสียหายทั้งหมด อยู่ในช่วงการจัดรูปที่ดิน เพราะบ้านถูกทำลายไปหมด จะมีการจัดที่ดิน 25 ไร่ให้แบ่งสรรปันส่วนให้เกิดการอยู่ร่วมกันที่ดีขึ้นกว่าเดิม และผ่านการรับฟังความคิดเห็น นำไปสู่การก่อสร้าง คาดว่าเริ่มในเดือนกันยายน 2566

    “นายกฯ กล่าวขอบคุณข้าราชการ ประชาชน ภาคประชาสังคมและเอกชนทุกภาคส่วนที่ให้การสนับสนุน ให้กำลังใจเข้าไปดูแลพี่น้องชาวมูโนะในครั้งนี้ และการดูแลเรื่องอื่นๆ ไม่ว่า สุขภาพจิตและการหางานทำ นายกฯ ฝากบอกว่าไม่ต้องกังวล ขณะนี้ทุกส่วนราชการดูแลอย่างเต็มที่” ดร.รัชดา กล่าว

    มติ ครม. มีดังนี้

    นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล, ดร.รัชดา ธนาดิเรก และนางสาวทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมกันแถลงผลการประชุม ครม. ณ ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล (ซ้ายไปขวา)
    ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

    ตั้ง คกก.เชื่อม “ไฮ – สปีด เทรน” ไทย – ลาว – จีน

    ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบความก้าวหน้าโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพมหานคร – หนองคาย และผลการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย – จีน ครั้งที่ 30 ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ สำหรับความก้าวหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ-หนองคาย แบ่งเป็น 2 ระยะ ดังนี้

    โครงการรถไฟความเร็วสูงฯ ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา มีทั้งหมด 6 สถานี ได้แก่ สถานีกลางบางซื่อ สถานีดอนเมือง สถานีอยุธยา สถานีสระบุรี สถานีปากช่อง และสถานีนครราชสีมา แบ่งสัญญางานโยธาเป็น 14 สัญญา ระยะทางประมาณ 253 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางจากกรุงเทพฯ ถึงนครราชสีมา 1 ชั่วโมง 30 นาที และจะใช้งบประมาณลงทุน 179,412.21 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ในปี 2569 โดยมีรายละเอียด อาทิ

      1. สัญญาการก่อสร้างงานโยธา จำนวน 14 สัญญา โดยก่อสร้างแล้วเสร็จ 1 สัญญา ได้แก่ สัญญา 1-1 กลางดง-ปางอโศก อยู่ระหว่างก่อสร้าง 10 สัญญา เช่น สัญญา 2-1 สีคิ้ว-กุดจิก (ร้อยละ 98.37) สัญญา 3-4 ลาตะคอง-สีคิ้ว และกุดจิก-โคกกรวด (ร้อยละ 58.89) และอยู่ระหว่างดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง 3 สัญญา เช่นสัญญา 3-1 แก่งคอย-กลางดง และปางอโศก-บันไดม้า
      2. งานจ้างออกแบบรายละเอียด การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ลงนามสัญญากับรัฐวิสาหกิจจีน China Railway Design Corporation (CRDC) และ China Railway International Corporation (CRIC) ซึ่งฝ่ายจีนได้ออกแบบเสร็จแล้ว
      3. งานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล การจัดหาขบวนรถไฟและการจัดฝึกอบรมบุคลากร รฟท. ได้ลงนามสัญญากับ CRDC และ CRIC เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2563 วงเงิน 50,644.5 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินงาน 64 เดือน ขณะนี้ ผู้รับจ้างได้ออกแบบตามสัญญาเบื้องต้นเสร็จแล้ว และฝ่ายไทยอยู่ระหว่างตรวจสอบก่อนแจ้งผู้รับจ้างต่อไป
      4. การจัดตั้งองค์กรพิเศษเพื่อกำกับการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูง กระทรวงคมนาคมได้เตรียมการจัดตั้งองค์กรพิเศษที่จะมาเดินรถในอนาคต ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษารูปแบบองค์กร
      5. การจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง กระทรวงคมนาคมได้จัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง เพื่อรองรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีในโครงการรถไฟความเร็วสูง โดยเป็นองค์การมหาชนอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวง ปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดหาบุคลากรเพื่อปฏิบัติงาน

    ดร.รัชดา กล่าวต่อว่า ส่วนโครงการรถไฟความเร็วสูงฯ ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย รวมระยะทางประมาณ 356.01 กิโลเมตร ขนาดทาง 1.435 เมตร มีทั้งหมด 5 สถานี ได้แก่ สถานีบัวใหญ่ สถานีบ้านไผ่ สถานีขอนแก่น สถานีอุดรธานี และสถานีหนองคาย มีศูนย์ซ่อมบำรุงเบาและที่จอดรถไฟที่นาทา และศูนย์ซ่อมบำรุงหนักในพื้นที่เชียงรากน้อย มีศูนย์ซ่อมบำรุงทาง 4 แห่ง รวมถึงย่านกองเก็บตู้สินค้าและย่านเปลี่ยนถ่ายสินค้า 1 แห่ง ที่นาทา ปัจจุบัน รฟท. อยู่ระหว่างปรับปรุงรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และจะสามารถเสนอ ครม. เพื่ออนุมัติโครงการได้ภายในปี 2566 ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ในปี 2571

    สำหรับการเชื่อมโยงโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงหนองคาย – เวียงจันทน์ นายกรัฐมนตรีได้แต่งตั้งคณะกรรมการบูรณาการการเชื่อมโยงทางรถไฟระหว่างไทย สปป.ลาว และจีน โดยมีการจัดทำแผนการดำเนินการ อาทิ

      1. การบริหารจัดการสะพานข้ามแม่น้ำโขงเดิมระหว่างรอการก่อสร้างสะพานแห่งใหม่ โดยเพิ่มขบวนรถไฟขาไป 7 ขบวน และขากลับ 7 ขบวน รวม 14 ขบวน รองรับขบวนละ 25 แคร่ และมีการทดสอบการรับน้ำหนักรถไฟ เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของสะพานต่อไป
      2. การก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ อยู่ห่างจากสะพานแห่งเดิมประมาณ 30 เมตร ซึ่งไทยและ สปป. ลาว จะร่วมลงทุนในอาณาเขตของแต่ละฝ่าย ขณะนี้ อยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสม ซึ่งประกอบด้วย 3 แนวทาง ได้แก่ 1) ก่อสร้างสะพานแห่งใหม่รองรับรถไฟและรถยนต์บนสะพานเดียวกัน 2) ก่อสร้างสะพานแห่งใหม่รองรับรถไฟและรถยนต์โดยมีโครงสร้างแยกจากกัน และ 3) ก่อสร้างสะพานแห่งใหม่รองรับรถไฟเพียงอย่างเดียว โดยปรับปรุงสะพานเดิมให้รองรับน้ำหนักบรรทุกให้มากขึ้น ทั้งนี้ คาดว่าจะเสนอผลการศึกษาเบื้องต้นให้ สปป. ลาว ทราบได้ภายในเดือนสิงหาคม 2566
      3. การพัฒนาย่านขนถ่ายสินค้า แบ่งเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะเร่งด่วน พัฒนาย่านสถานีหนองคายเป็นพื้นที่เปลี่ยนถ่ายสินค้า ทั้งนี้ อยู่ระหว่างออกประกาศให้ใช้พื้นที่บริเวณสถานีหนองคายเป็นพื้นที่ตรวจปล่อย และระยะยาว พัฒนาพื้นที่นาทาเพื่อเป็นศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าและย่านกองเก็บตู้สินค้า ขณะนี้ อยู่ระหว่างเสนอผลการศึกษาการให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในกิจการของรัฐให้คณะกรรมการ รฟท. พิจารณา

    ดร.รัชดา กล่าวด้วยว่า ผลการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย – จีน ครั้งที่ 30 มีสาระสำคัญ อาทิ (1) ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบที่จะดำเนินความร่วมมือโครงการรถไฟความเร็วสูงฯ ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ภายใต้กฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องของไทย โดยจีนจะให้ความร่วมมือในด้านการเงิน (2) ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบจัดการประชุมคณะกรรมการร่วมครั้งที่ 31 ซึ่งจะจัดขึ้นภายหลังการประชุมไตรภาคีระหว่างไทย สปป. ลาว และจีน เกี่ยวกับการเชื่อมโยงเส้นทางรถไฟระหว่างหนองคาย-เวียงจันทน์

    ปลื้มใช้ ‘บัตรคนจน’ ซื้อ “สินค้า – แก๊สหุงต้ม” กว่า 99%

    ดร.รัชดา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบรายงานการประเมินผลการดำเนินงาน และความคุ้มค่าในการจัดประชารัฐสวัสดิการ ประจำปี 2565 และรายงานการสำรวจความพึงพอใจในการจัดประชารัฐสวัสดิการจากผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และผู้ได้รับบริการทางสังคม ประจำปี 2565 สรุปผลได้ ดังนี้

    ผลการดำเนินงาน

    (1) ค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค

    • วงเงิน 200 บาท/คน/เดือน อัตราใช้สิทธิร้อยละ 98.21 และอัตรามูลค่าการใช้ร้อยละ 99.92
    • วงเงิน 300 บาท/คน/เดือน อัตราใช้สิทธิร้อยละ 98.68 และอัตรามูลค่าการใช้สิทธิร้อยละ 99.91

    (2) ส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้ม

    • วงเงิน 45 บาท/คน/3 เดือน อัตราการใช้สิทธิร้อยละ 24.48 และอัตรามูลค่าการใช้สิทธิร้อยละ 99.75

    (3) ค่ารถโดยสารสาธารณะ

    • รถไฟ วงเงิน 500 บาท/คน/เดือน อัตราใช้สิทธิร้อยละ 0.37 และอัตรามูลค่าการใช้สิทธิร้อยละ 52.26
    • บขส. วงเงิน 500 บาท/คน/เดือน อัตราการใช้สิทธิร้อยละ 0.10 และอัตรามูลค่าการใช้สิทธิร้อยละ 85.83
    • ขนส่งในเขต กทม. และปริมณฑล วงเงิน 500 บาท/คน/เดือน อัตราการใช้สิทธิร้อยละ 10.05 และอัตรามูลค่าการใช้สิทธิร้อยละ 33.02

    (4) ค่าสาธารณูปโภค

    • ค่าไฟฟ้า วงเงิน315บาท/ครัวเรือน/เดือน อัตราการใช้สิทธิร้อยละ 7.98
    • ค่าน้ำประปาวงเงิน 100 บาท/ครัวเรือน/เดือน อัตราการใช้สิทธิร้อยละ 2.24

    ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐใช้สิทธิค่าซื้อสินค้าอุปโภคสูงสุด ซึ่งส่วนใหญ่ใช้วงเงินเกือบเต็มจำนวนในคราวเดียว รองลงมาคือ ส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้ม ขณะที่สวัสดิการค่าโดยสารรถสาธารณะ มีจำนวนผู้ใช้น้อย เนื่องจากข้อจำกัดประเภทรถโดยสารที่ใช้กับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐมีจำนวนน้อย รวมทั้งยังมีการกำหนดวงเงินแยกรายประเภทรถโดยสาร

    รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรียัง กล่าวถึง รายงานความคุ้มค่าของการจัดประชารัฐสวัสดิการว่า แบ่งเป็นผลประโยชน์ทางตรงที่ช่วยลดภาระค่าครองชีพ และภาระค่าใช้จ่ายที่จำเป็นให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจำนวน 13.26 ล้านคน โดยผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่อยู่ในเขต กทม. ได้รับผลประโยชน์อยู่ที่ 2,330-2,430 บาท/คน/เดือน ขณะที่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในพื้นที่จังหวัดอื่น ๆ ได้รับผลประโยชน์อยู่ที่ 1,830-1,930 บาท/คน/เดือน รวมมูลค่าในการจัดประชารัฐสวัสดิการ จำนวน 46,930.81 ล้านบาท ส่วนผลประโยชน์ทางอ้อม มีการใช้จ่ายเงินกองทุนประชารัฐฯ ที่เป็นวงเงินเพื่อซื้อสินค้าบริโภค อุปโภคที่จำเป็น 43,303.15 ล้านบาท ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการบริโภคของภาคเอกชน 75,347.48 ล้านบาท และความคุ้มค่าของการจัดประชารัฐสวัสดิการ โดยผลประโยชน์ที่ได้รับมากกว่าต้นทุนอยู่ 26,303.24 ล้านบาท ทั้งจากการช่วยลดภาระค่าครองชีพและบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายที่จำเป็นให้แก่ผู้มีรายได้น้อย รวมถึงก่อให้เกิดผลประโยชน์แก่ระบบเศรษฐกิจของประเทศ อีกทั้งยังเป็นการกระจายรายได้เข้าสู่ชุมชนและเข้าสู่ เศรษฐกิจฐานรากโดยตรง

    ดร.รัชดา ยังกล่าวถึง ผลการสำรวจความพึงพอใจในการจัดประชารัฐสวัสดิการจากผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และผู้ได้รับบริการทางสังคม ประจำปี 2565 จากกลุ่มตัวอย่างผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐทั่วประเทศ จำนวน 11,105 ราย ระหว่างวันที่ 1 กันยายน – 30 ตุลาคม 2565 พบว่า กลุ่มผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่เป็นผู้ว่างงาน ผู้ไม่มีรายได้ และผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป เป็นกลุ่มที่มีความพึงพอใจในสวัสดิการมากที่สุด และเห็นว่าสามารถแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายได้ ส่วนรูปแบบสวัสดิการที่มีความพึงพอใจมากที่สุดคือ ค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคและกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ แต่อยากให้เพิ่มวงเงินสวัสดิการ โดยเฉพาะวงเงินการซื้อสินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภค ค่าน้ำประปา และค่าไฟฟ้า รวมถึงต้องการได้รับสวัสดิการเป็นเงินสดเพื่อนำมาใช้จ่ายได้ ทั้งนี้ ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐมีความพึงพอใจในสวัสดิการทุกรายการในระดับมาก และมีความพึงพอใจกับโครงการลงทะเบียนฯ และต้องการให้มีการดำเนินการต่อเนื่องต่อไป

    ไฟเขียวลงนามความร่วมมือทางทะเล “ไทย-เวียดนาม”

    ดร.รัชดา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติการลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลกับหน่วยยามฝั่งเวียดนาม ในความร่วมมือด้านการบังคับใช้กฎหมายทางทะเล ตามที่ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) เสนอ โดยฝ่ายเวียดนามประสงค์ให้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจในช่วงเดือนกันยายน 2566 ทั้งนี้ ศรชล.ได้เริ่มจัดร่างบันทึกความเข้าใจมาตั้งแต่ปี 2565 เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการบังคับใช้กฎหมายทางทะเล ส่งเสริมความร่วมมือ และยกระดับความปลอดภัยและความมั่นคงทางทะเลในภูมิภาค รวม 4 ด้าน ได้แก่

      (1) การลักลอบขนสินค้าและการหลบหนีเข้าเมือง
      (2) การดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย
      (3) การอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมทางทะเล และ
      (4) ยกระดับความปลอดภัยในการค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเล

    ร่างบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือและยกระดับความปลอดภัยและความมั่นคงทางทะเลในภูมิภาคบนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมกัน ความเสมอภาค และการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ตอบแทนกัน โดยไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นข้อตกลงที่มีผลผูกพันทางกฎหมาย ซึ่งทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะดำเนินการร่วมกันภายใต้ขอบเขตความร่วมมือ ดังนี้

      (1) แบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับการลักลอบขนส่งสินค้าผิดกฎหมายและการเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย
      (2) ป้องกันและปราบปรามกิจกรรมการประมงผิดกฎหมาย การขาดการรายงาน และไร้การควบคุม การค้ายาเสพติด การปล้นสะดม และการปล้นเรือด้วยอาวุธ
      (3) ปฏิบัติการค้นหาและกู้ภัยทางทะเล
      (4) อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเล
      (5) ปฏิบัติการลาดตระเวนร่วม
      (6) เยี่ยมชมท่าเรือ
      (7) ประเมินผลการประชุมประจำปี
      (8 )กิจกรรมหรือการดำเนินการอื่น ๆ ตามที่ตกลงร่วมกัน

    ทั้งนี้ ร่างบันทึกความเข้าใจจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ลงนาม และสามารถยกเลิกได้ โดยผู้เข้าร่วมฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรล่วงหน้าอย่างน้อย 6 เดือน

    เห็นชอบเอกสารการประชุมสุดยอดอาเซียน 21 ฉบับ

    ดร.รัชดา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบร่างเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 43 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง จำนวน 21 ฉบับ โดยอินโดนีเซีย ในฐานะประธานอาเซียน ปี 2566 มีกำหนดจัดการประชุมฯ ระหว่างวันที่ 2-7 กันยายน 2566 นี้ โดยในการประชุมดังกล่าวจะมีการเสนอร่างเอกสารผลลัพธ์ฯ ดังนี้

    1) เอกสารที่ผู้นำอาเซียนจะร่วมกันรับรอง จำนวน 17 ฉบับ ประกอบด้วย

    • ฉบับที่ 1 ร่างปฏิญญาจาการ์ตา “อาเซียนเป็นศูนย์กลาง: สรรค์สร้างความเจริญ” เป็นเอกสารผลลัพธ์หลักของการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 43 โดยเป็นการแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองร่วมกันของประเทศสมาชิกอาเซียนที่ให้ความสาคัญต่อความเป็นศูนย์กลางของอาเซียน โดยยึดมั่นในหลักการที่จะร่วมกันดำเนินการ ได้แก่ การรักษาความสำคัญของบทบาทอาเซียนในภูมิภาค การส่งเสริมให้อาเซียนเป็นศูนย์กลางของการเจริญเติบโต และการดำเนินการตามมุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก
    • ฉบับที่ 2-6 กลุ่มเอกสารของผู้นำอาเซียน และประเทศสมาชิกในการแสดงเจตนารมณ์เพื่อร่วมกันดำเนินการเกี่ยวกับประเด็นต่าง ๆ อาทิ ด้านสิทธิมนุษยชน การเป็นศูนย์กลางการเจริญเติบโตของอาเซียน การดูแลและการจัดการศึกษาเด็กปฐมวัย การพัฒนาที่ครอบคลุมถึงความพิการ และความเสมอภาคระหว่างเพศและการพัฒนาครอบครัว
    • ฉบับที่ 7-10 กลุ่มร่างเอกสารเกี่ยวกับความมั่นคงทางอาหาร และโภชนาการในการตอบสนองต่อภาวะวิกฤตของประเทศสมาชิกอาเซียนกับประเทศภาคี คู่เจรจา ประกอบด้วย ร่างปฏิญญาผู้นำอาเซียนว่าด้วยการเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการในการตอบสนองต่อภาวะวิกฤต ร่างแถลงการณ์ร่วมผู้นำอาเซียน – ออสเตรเลียว่าด้วยการเสริมสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคงทางอาหารในภาวะวิกฤติ ร่างแถลงการณ์ร่วมผู้นำอาเซียน – แคนาดาว่าด้วยการเสริมสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคงทางอาหารในภาวะวิกฤติ และร่างแถลงการณ์ร่วมผู้นำอาเซียน – อินเดียว่าด้วยการเสริมสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคงทางอาหารในภาวะวิกฤติ
    • ฉบับที่ 11-16 กลุ่มร่างเอกสารระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนกับประเทศภาคีคู่เจรจาในการแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันเพื่อดำเนินการเกี่ยวกับประเด็นต่าง ๆ ได้แก่ ร่างแถลงการณ์ร่วมผู้นำว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์อาเซียน – แคนาดา ร่างแถลงการณ์ร่วมอาเซียน – อินเดียว่าด้วยความร่วมมือทางทะเล ร่างแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ร่วมกันระหว่างข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทางกับมุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก (อาเซียน – จีน) ร่างแถลงการณ์ผู้นำอาเซียน – สหรัฐฯ ว่าด้วยความร่วมมือต่อมุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก ร่างแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยการสถาปนาความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์แบบรอบด้านอาเซียน – ญี่ปุ่น และ ร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน – สาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ 24 ว่าด้วยความร่วมมือภายใต้มุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก (AOIP)
    • ฉบับที่ 17 ร่างแถลงการณ์ผู้นำการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกว่าด้วยการรักษาและส่งเสริมให้ภูมิภาคเป็นศูนย์กลางของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เพื่อส่งเสริมสันติภาพ เสถียรภาพ ความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ และผลประโยชน์ร่วมกันของอาเซียนและเอเชียตะวันออก

    2) ร่างเอกสารที่จะลงนาม จำนวน 4 ฉบับ ประกอบด้วย

    • ฉบับที่ 18-19 ร่างหนังสือให้ความยินยอมต่อการภาคยานุวัติสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (TAC) เป็นเอกสารที่ รัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศสมาชิกอาเซียนแต่ละประเทศจะลงนามเพื่อให้ความยินยอมต่อการภาคยานุวัติสนธิสัญญา TAC ของเซอร์เบีย และคูเวต
    • ฉบับที่ 20-21 ร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับสมาคมแห่งภูมิภาคมหาสมุทรอินเดีย และร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับองค์กรการประชุมหมู่เกาะแปซิฟิก

    ดร.รัชดา กล่าวต่อว่า ร่างเอกสารผลลัพธ์ฯ ทั้ง 21 ฉบับ ไม่เป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศ และไม่เป็นหนังสือสัญญาตาม ม.178 ของรัฐธรรมนูญ ประกอบกับเป็นไปตามเงื่อนไขของ ม.169 ของรัฐธรรมนูญ คือ ไม่เป็นกระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติงาน หรือโครงการหรือมีผลเป็นการสร้างความผูกพันต่อ ครม. ชุดต่อไป และร่างเอกสารทั้ง 21 ฉบับ เป็นร่างเอกสารเพื่อแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองร่วมกับประเทศสมาชิกอาเซียนและคู่เจรจาในการส่งเสริมความร่วมมือ และต่อยอดการดำเนินงานในด้านต่าง ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไทยดำเนินการอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว โดยไม่ก่อให้เกิดพันธกรณีทางกฎหมายเพิ่มเติมต่อไทยแต่อย่างใด

    ไฟเขียวเอกสารประชุม รมว.พลังงานอาเซียน เชื่อมไฟฟ้า-ท่อก๊าซ

    ดร.รัชดา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบร่างเอกสารสำหรับการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงานครั้งที่ 41 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจัดระหว่างวันที่ 22-25 สิงหาคม 2566 ณ เมืองบาหลี อินโดนีเซีย

    สำหรับร่างเอกสารสำหรับการประชุมฯ ดังกล่าว มีจำนวน 5 ฉบับ ได้แก่

      (1) ร่างถ้อยแถลงร่วมของการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 41: มีสาระสำคัญ คือ การเสริมสร้างความเชื่อมโยงโครงข่ายไฟฟ้าอาเซียน (ASEAN Power Grid: APG) การเชื่อมโยงโครงข่ายท่อก๊าซอาเซียน (Trans-ASEAN Gas Pipeline: TAGP) และโครงสร้างพื้นฐานด้านก๊าซธรรมชาติเหลว รวมถึงข้อริเริ่มด้านยุทธศาสตร์ความเป็นกลางทางคาร์บอน ของอาเซียน ที่จะสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ และการแข่งขันด้านการค้าและการลงทุนของภูมิภาค
      (2) ร่างแถลงการณ์ร่วมของการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 41 ว่าด้วยความมั่นคงทางพลังงานที่ยั่งยืนผ่านการเชื่อมโยงระหว่างกัน: มีสาระสำคัญ คือ การยกระดับการเชื่อมโยงและการบูรณาการตลาดด้านพลังงานในอาเซียน พร้อมเร่งการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานอย่างเป็นธรรมและครอบคลุมในภูมิภาค เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในความยืดหยุ่น และเสถียรภาพของโครงข่ายไฟฟ้าและห่วงโซ่อุปทานพลังงาน
      (3) ร่างถ้อยแถลงร่วมของการประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียนบวกสาม ครั้งที่ 20: มีสาระสำคัญ คือ การเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงาน โดยคำนึงถึงบริบทด้านทรัพยากรและเทคโนโลยีพลังงานของแต่ละประเทศและภูมิภาคเป็นสำคัญ พร้อมสนับสนุนให้มีการปรับใช้และใช้ประโยชน์จากทางเลือกนวัตกรรมและเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำใหม่ ๆ ที่หลากหลาย เพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียน และลดการปล่อยคาร์บอนในภาคอุตสาหกรรมและภาคการขนส่ง
      (4) ร่างถ้อยแถลงร่วมของการประชุมสุดยอดรัฐมนตรีพลังงานแห่งเอเชียตะวันออก ครั้งที่ 17: มีสาระสำคัญ คือ ขับเคลื่อนวาระความยั่งยืน เร่งการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน และสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน พร้อมสนับสนุนความร่วมมือในการสร้างโอกาสสำหรับอุตสาหกรรม การจ้างงาน และเทคโนโลยีสีเขียวที่เกิดขึ้นใหม่ รวมถึงการเพิ่มทักษะสำหรับชุมชนที่ได้รับผลกระทบ
      (5) ร่างถ้อยแถลงร่วมของโครงการบูรณาการด้านไฟฟ้าระหว่าง สปป.ลาว ไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ ฉบับที่ 4: มีสาระสำคัญ คือ ต่อยอดความสำเร็จในการเริ่มต้นโครงการบูรณาการด้านไฟฟ้าระหว่าง สปป. ลาว ไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ ซึ่งได้ริเริ่มการซื้อขายไฟฟ้าข้ามพรมแดนแบบพหุภาคีจาก สปป. ลาว ไปยังสิงคโปร์ ผ่านไทยและมาเลเซีย รวมถึงหารือถึงศักยภาพและแผนของโครงการฯ ในอนาคต และมุ่งมั่นพัฒนาการซื้อขายไฟฟ้าข้ามพรมแดนแบบพหุภาคีในอาเซียน

    รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวเพิ่มเติมว่า การประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงานครั้งที่ 41 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง อินโดนีเซียในฐานะประธานอาเซียนจัดประชุม เพื่อหารือกรอบความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน รวมทั้งการประชุมหารือกับประเทศคู่เจรจา และองค์กรระหว่างประเทศด้านพลังงาน ผลักดันความร่วมมือเพื่อให้บรรลุผลตามเป้าหมายของแผนปฏิบัติการความร่วมมือด้านพลังงานของอาเซียน ระยะที่ 2 พ.ศ. 2564 – 2568 (ค.ศ. 2021 – 2025) ซึ่งมีเป้าหมายเปลี่ยนผ่านพลังงานของอาเซียนไปสู่พลังงานที่ยั่งยืนในอนาคต นอกจากนี้ ร่างเอกสารดังกล่าวที่ ครม. เห็นชอบ ไม่เป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศ และไม่เป็นการกระทำอันมีผลเป็นการอนุมัติงานหรือโครงการ หรือมีผลเป็นการสร้างความผูกพันต่อ ครม. ชุดต่อไป

    เห็นชอบแถลงการณ์ร่วมอาเซียน รับมือ “Climate Change”

    ดร.รัชดา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบร่างเอกสาร และร่างแถลงการณ์ร่วมอาเซียนและประเทศคู่เจรจาในกรอบความร่วมมือต่าง ๆ แถลงการณ์ร่วมอาเซียนว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสำหรับการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 28 (ASEAN Joint Statement on Climate Change to UNFCCC COP 28) แสดงถึงความมุ่งมั่นของอาเซียนในการดำเนินการตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพพูมิอากาศ และความตกลงปารีสภายใต้หลักความรับผิดชอบร่วมกันในระดับที่แตกต่าง โดยคำนึงถึงขีดความสามารถของแต่ละประเทศและสถานการณ์ของประเทศที่แตกต่างกัน โดยมอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่วดล้อม หรือผู้แทนเห็นชอบ (Endorsement ) ในการประชุมรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมอาเซียนครั้งที่ 17 ในวันที่ 22-24 สิงหาคม 2566 ณ สปป.ลาว และให้นายกรัฐมนตรีหรือผู้แทนร่วมรับรอง (Adoption) ในการประชุมสุดยอดอาเซียน (ASEAN Summit ) ครั้งที่ 43 ในวันที่ 5-7 กันยายน 2566 ณ อินโดนีเซีย

    2. ร่างเอกสารแนวคิดสำหรับข้อริเริ่มด้านสิ่งแวดล้อมฉบับใหม่ของอาเซียนและญี่ปุ่น “แผนงานยุทธศาสตร์ด้านสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมอาเซียน” (ASEAN -Japan New Environment Initiative “Strategic Program for ASEAN Climate and Environment (SPACE) ) และร่างแผนงานอาเซียน-สหรัฐ ฯ ด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ASEAN -U.S. Environment and Climate Work Plan ) โดยร่างเอกสารแนวคิดสำหรับข้อริเริ่มด้านสิ่งแวดล้อมฉบับใหม่ของอาเซียน-ญี่ปุ่น มุ่งมั่นแก้ไขวิกฤติหลักของโลก 3 ประการ ได้แก่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มลพิษและการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ พร้อมเปิดตัวข้อริเริ่มในแผนงานยุทธศาสตร์ด้านสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมอาเซียน เพิ่มเติมจากข้อริเริ่มความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมอาเซียน-ญี่ปุ่น และแผนปฏิบัติการอาเซียน – ญี่ปุ่น ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศวันละ 2.0 ในส่วนแผนงานอาเซียน- สหรัฐฯ ด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือและเสริมสร้างขีดความสามารถของประเทศสมาชิกอาเซียนในการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

    ทั้งนี้ ร่างเอกสารทั้ง 2 ฉบับ จะมีการรับรองระหว่างวันที่ 23 – 24 สิงหาคม 2566 ในการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมครั้งที่ 17 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง ณ สปป. ลาว

    3. ร่างแผนปฏิบัติการอาเซียนด้านการจัดการชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกราน (ASEAN Action Plan for Invasive Alien Species Management) ซึ่งจะเป็นกรอบแนวทางการประสานความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ในการจัดการและลดผลกระทบจากชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานในภูมิภาคอาเซียน
    โดยจะมีการรับรองในการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 17 ในวันที่ 23 สิงหาคม 2566 ณ สปป.ลาว ก่อนเสนอต่อการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 43 ระหว่างวันที่ 4-7 กันยายน 2566 ณ อินโดนีเซีย เพื่อทราบต่อไป

    4. ร่างแผนปฏิบัติการเพื่อส่งเสริมธุรกิจเพื่อเศรษฐกิจฐานรากในอาเซียน (ปี 2566 -2570) Plan of Action for the Promotion of Inclusive Business in ASEAN (2023-2027) เป็นการกำหนด แนวทางและการจัดลำดับความสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ในระดับประเทศและในระดับภูมิภาค มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยให้ประชาชนเป็นจุดศูนย์กลางของประชาคมในการช่วยเหลือวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย

    ทั้งนี้ จะมีการรับรองแบบไม่ลงนามในการประชุม รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน [ASEAN Economic Ministers Meeting (AEM)] ระหว่างวันที่ 17 – 22 สิงหาคม 2566 ณ เมืองเซอมารัง อินโดนีเซีย และการประชุมธุรกิจเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ครั้งที่ 6 และการประชุมรัฐมนตรีระดับสูง ระหว่างวันที่ 23- 25 สิงหาคม 2566 ณ เมืองบาหลี อินโดนีเซีย

    5. ร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน ครั้งที่ 10 [Joint Statement of the 10th ASEAN Finance Ministers’ and Central Bank Governors’ Meeting (AFMGM)] และ (ร่างแถลงการณ์ร่วมการ AFMGM ครั้งที่ 10) และร่างแถลงการณ์ร่วม การประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขอาเซียน ครั้งที่ 1 [Joint Statement of the 1st ASEAN Finance and Health Ministers’ Meeting (AFHMM)] โดยร่างแถลงการณ์ร่วม AFMGM คร้ังที่ 10 เป็นการส่งเสริมความร่วมมือ และให้ความช่วยเหลือระหว่างกันในด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม เพื่อเพิ่ม ขีดความสามารถในการแข่งขันและรักษาความเป็นแกนกลางให้กับอาเซียน รวมท้ังมุ่งส่งเสริมเสถียรภาพทางการเงินในภูมิภาคอย่างยั่งยืน สำหรับร่างแถลงการณ์ร่วม AFHMM ครั้งที่ 1 เป็นความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน ด้านการคลังและสาธารณสุข เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถด้านสาธารณสุข ในภูมิภาคและเตรียมความพร้อมในการรับมือกับโรคระบาดหลังโรคโควิด – 19 ทั้งโรคติดเชื้ออุบัติซ้ำและโรคติดเชื้ออุบัติใหม่

    ทั้งนี้ จะมีการรับรองร่างแถลงการณ์ร่วมฯ ทั้ง 2 ฉบับ แบบไม่ลงนามในการประชุม AFMGM ครั้งที่ 10 และการประชุม AFHMM ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 24 – 25 สิงหาคม 2566 ณ เมืองจาการ์ตา อินโดนีเซีย

    6. เห็นชอบต่อร่างถ้อยแถลงร่วมสำหรับการประชุมคณะมนตรี ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ครั้งที่ 30 และอนุมัติให้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงด้านมนุษย์หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย ในการประชุมคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ครั้งที่ 30 [30th ASEAN Socio – Cultural Community (ASCC) Council Meeting] ในวันที่ 29 สิงหาคม 2566 ณ กรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย

    ดร.รัชดา กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเทศไทยในฐานะสมาชิกอาเซียน มุ่งมั่นส่งเสริมความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาและกรอบความร่วมมืออื่นๆ ในประเด็นสำคัญของโลกต่างๆ โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ การส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก รวมทั้งการเปิดตัวเป็นความร่วมมือระหว่างหน่วยงานด้านการคลังและสาธารณสุข เป็นครั้งแรก เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถด้านสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่ด้วย

    พาณิชย์ฯ คาดส่งออกฟื้นในช่วงครึ่งปีหลัง

    นางสาวทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบรายงานสถานการณ์การส่งออกไทยประจำเดือนมิถุนายน และครึ่งแรกของปี 2566 ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ

    นางสาวทิพานัน กล่าวว่า สถานการณ์การส่งออกไทยครึ่งแรกของปี 2566 หดตัวร้อยละ 5.4 และหดตัวร้อยละ 2.3 เมื่อหักสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย และเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้ายังคงซบเซาจากแรงกดดันด้านอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง การผลิตและการบริโภคจึงยังคงตึงตัว คำสั่งซื้อและการผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลง ส่งผลให้สถานการณ์การส่งออกของไทยในเดือนมิถุนายน 2566 มีมูลค่า 24,826.0 ล้านเหรียญสหรัฐ (848,927 ล้านบาท) หดตัวร้อยละ 6.4 และหดตัวร้อยละ 2.9 เมื่อหักสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย แต่อย่างไรก็ตามยังคงมีปัจจัยบวกจากค่าเงินบาทอ่อนค่าและกระแสความมั่นคงทางอาหารทำให้สินค้าบางรายการขยายตัว จึงช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออกได้ในระยะนี้

    ด้านการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม มีสินค้าสำคัญหลายประเภทที่ขยายตัว อาทิเช่น

      1. อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด ขยายตัวร้อยละ 68.7 โดยขยายตัวในตลาดสหรัฐอเมริกา อินเดีย เกาหลีใต้ กัมพูชา และมาเก๊า
      2. หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 46.8 โดยขยายตัวในตลาดสหรัฐอเมริกา เนเธอร์แลนด์ อิตาลี ฮ่องกง และไต้หวัน
      3. อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) ขยายตัวร้อยละ 31.2 โดยขยายตัวในตลาดฮ่องกง สวิตเซอร์แลนด์ ญี่ปุ่น จีน และอิตาลี
      4. เครื่องใช้สำหรับเดินทาง ขยายตัวร้อยละ 30.3 โดยขยายตัวในตลาดจีน สิงคโปร์ อินเดีย ญี่ปุ่น และฮ่องกง
      5. แผงวงจรไฟฟ้า ขยายตัว 5.3 โดยขยายตัวในตลาดไต้หวัน จีน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และฟิลิปปินส์
      6. รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 3.2 โดยขยายตัวในตลาดออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น มาเลเซีย และชาอุดีอาระเบีย

    ด้านการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่

      1. น้ำตาลทราย ขยายตัวร้อยละ 31.4 โดยขยายตัวในตลาดมาเลเซีย เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ ลาว และไต้หวัน
      2. ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง ขยายตัวร้อยละ 14.2 โดยขยายตัวในตลาดจีน มาเลเซีย สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
      3. ไอศกรีม ขยายตัวร้อยละ 11.3 โดยขยายตัวในตลาดมาเลเซีย สิงคโปร์ กัมพูชา สหรัฐอเมริกา และอินเดีย
      4. ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง ขยายตัวร้อยละ 10.7 โดยขยายตัวในตลาดจีน มาเลเซีย เกาหลีใต้ เนเธอร์แลนด์ และสหราช
      อาณาจักร
      5. เครื่องดื่ม ขยายตัวร้อยละ 8.3 โดยขยายตัวในตลาดเวียดนาม เมียนมา จีน ลาว และมาเลเซีย

    นางสาวทิพานัน กล่าวว่า สำหรับการดำเนินงานที่สำคัญในรอบเดือนที่ผ่านมา เพื่อมาตรการส่งเสริมการส่งออก อาทิ

      1. กิจกรรมแสดงสินค้าและเจรจาธุรกิจ เช่น จัดงานแสดงสินค้า Top Thai Brands 2023 ณ เมืองบังคาลอร์ รัฐกรณาฎกะ สาธารณรัฐอินเดีย, เข้าร่วมงาน Western China International Fair (WCIF) ณ มณฑลเสฉวน ประเทศจีน, นำผู้แทนการค้า (Trade Mission) ไปเจรจาการค้าในภูมิภาคลาตินอเมริกา (อาร์เจนตินา ชิลี บราชิล), เข้าร่วมงานแสดงสินค้า Naturally Good Expo 2023 ณ เมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย และเข้าร่วมงานเทศกาล Annecy International Animation Film Festival 2023 เป็นต้น
      2. ผลักดันการเปิดจุดผ่านแดนถาวรไทย – ประเทศเพื่อนบ้านให้กลับมาเปิดทำการปกติได้ครบทั้ง 42 จุด ประกอบด้วย ไทย-ลาว 20 จุด ไทย-กัมพูชา 7 จุด ไทย-เมียนมา 6 จุด และไทย-มาเลเขีย 9 จุด เพื่อให้อำนวยความสะดวกทางด้านการขนส่งสินค้าและสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยขยายตลาดไปยังประเทศเพื่อนบ้าน

    “แนวโน้มการส่งออกในระยะถัดไป กระทรวงพาณิชย์ประเมินว่า การส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มพื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป แม้ว่าจะยังมีความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า อย่างไรก็ดี มีปัจจัยสนับสนุนการส่งออกจากการเร่งเบิดตลาดศักยภาพเพื่อกระจายความเสี่ยง และลดผลกระทบจากการชะลอตัวของตลาดส่งออกหลัก เช่น ตะวันออกกลาง ลาตินอเมริกา และแอฟริกา นอกจากนี้ เงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่าต่อเนื่องเป็นผลดีต่อผู้ประกอบการส่งออกสินค้าของไทย และความกังวลต่อการขาดแคลนอาหารทั่วโลก อาจเป็นปัจจัยผลักดันให้มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นจากปัจจัยด้านราคาเป็นสำคัญ” นางสาวทิพานัน กล่าว

    ออก กม.ลูก ป้องกัน ‘ปะการัง’ เสียหายจากกิจกรรมดำน้ำ

    นางสาวทิพานัน กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง มาตรการคุ้มครองทรัพยากรปะการังจากกิจกรรมท่องเที่ยวดำน้ำ พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ เพื่อกำหนดมาตรการทางกฎหมายในการป้องกันความเสียหายที่เกิดกับแนวปะการังอันเกิดจากการประกอบกิจกรรมท่องเที่ยวดำน้ำเป็นการเฉพาะ และเพื่อควบคุมกำกับดูแลอย่างทั่วถึง เนื่องจากปัจจุบันนักท่องเที่ยวมีมากขึ้นในขณะที่คนนำเที่ยวมีจำกัด และแนวปะการังของประเทศไทยร้อยละ 50 อยู่ในสภาพเสียหายและเสื่อมโทรมและมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้น

    นางสาว ทิพานัน กล่าวว่า สาระสำคัญของมาตรการคุ้มครองทรัพยากรปะการังจากกิจกรรมท่องเที่ยวดำน้ำ สรุปได้ดังนี้

    1. ข้อห้ามทั่วไป เช่น ห้ามสัมผัสปะการัง สัตว์น้ำ หรือสิ่งมีชีวิตใดๆ, ห้ามดำเนินกิจกรรม Sea Walker และห้ามดำน้ำโดยวิธีอื่นใดที่มีลักษณะเป็นการเดินหรือเคลื่อนที่บนพื้นทะเล, ห้ามกระทำด้วยประการใดๆ อันก่อให้เกิดตะกอนตกทับหรือปกคลุมปะการัง หรือทำให้ปะการังได้รับความเสียหาย, ห้ามให้อาหารปลาหรือสัตว์น้ำ, ห้ามทิ้งสมอเรือในแนวปะการัง และบนพื้นทะเลในระยะรัศมี 3 เมตร จากแนวปะการัง, ห้ามผูกเชือกกับปะการังเพื่อทำแนวทุ่น

    2. การจัดให้มีผู้ควบคุมในกิจกรรมท่องเที่ยวดำน้ำ และให้ผู้ควบคุมและผู้ช่วยควบคุมแจ้งกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ตลอดจน วิธีปฏิบัติที่ดีในการดำน้ำโดยไม่กระทบต่อปะการังต่อนักท่องเที่ยวก่อนที่จะเริ่มต้นกิจกรรมการท่องเที่ยวดำน้ำ ตลอดจนสอดส่อง และป้องกันมิให้มีการฝ่าฝืนข้อห้ามดังกล่าว โดยจำนวนผู้ควบคุม ได้แก่

      2.1 กรณีท่องเที่ยวดำน้ำตื้น ให้มีผู้ควบคุม 1 คน ต่อนักท่องเที่ยวไม่เกิน 20 คน และกรณีนักท่องเที่ยวเกิน 20 คน ให้มีผู้ช่วยผู้ควบคุมเพิ่มในอัตราส่วน 1 คนต่อนักท่องเที่ยวไม่เกิน 20 คน

      2.2 กรณีท่องเที่ยวดำน้ำลึก นักท่องเที่ยวต้องผ่านการเรียนดำน้ำลึก และให้มีผู้ควบคุม 1 คน ต่อนักดำน้ำลึกไม่เกิน 4 คน

      2.3 กรณีการเรียนและสอบดำน้ำลึก ให้มีผู้ควบคุม 1 คน ต่อผู้เรียนไม่เกิน 4 คน

    3. ห้ามมิให้นักท่องเที่ยวดำน้ำตื้นโดยไม่สวมเสื้อชูชีพในบริเวณแนวปะการัง เว้นแต่เป็นการดำน้ำตื้นโดยบุคคลที่ได้สอบผ่านหลักสูตรดำน้ำลึก หรือ หลักสูตรดำน้ำอิสระ รวมทั้งห้ามดำน้ำตื้นในแนวปะการังในช่วงเวลาน้ำลง

    4. ในการท่องเที่ยวดำน้ำลึกและการเรียนหรือสอบดำน้ำลึก ห้ามนำกล้องลงไปถ่ายภาพใต้น้ำ เว้นแต่เป็นการถ่ายภาพใต้น้ำโดยบุคคลที่ผ่านหลักสูตรดำน้ำลึกแล้ว

    “ระยะเวลาการบังคับใช้มีกำหนด 5 ปี และไม่ใช้บังคับกับกิจกรรมที่มิใช่กิจกรรมท่องเที่ยวดำน้ำ เช่น การดำน้ำเพื่อการศึกษาและวิจัยทางวิชาการ การดำน้ำเพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งภายใต้การกำกับของหน่วยงานพื้นที่ที่รับผิดชอบ เป็นต้น” นางสาวทิพานัน กล่าว

    รับรองวัดคาทอลิกเพิ่ม 49 แห่ง ใน 21 จังหวัด

    นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบการรับรองวัดคาทอลิก เป็นวัดคาทอลิกตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยแนวทางพิจารณาในการจัดตั้งวัดบาทหลวงโรมันคาทอลิก พ.ศ. 2564 จำนวน 49 แห่ง ซึ่งเมื่อรวมกับที่ ครม.ได้ให้การรับรองทั่วประเทศไปแล้วก่อนหน้านี้ ในการประชุม ครม. วันที่ 23 สิงหาคม 2565, 8 พฤศจิกายน 2565, 21 กุมภาพันธ์ 2566 และ 16 พฤษภาคม 2566 จำนวน 155 แห่ง จะให้มีวัดคาทอลิกที่ได้รับการรับรองตามระเบียบฯ รวมแล้วมีทั้งสิ้น 204 แห่ง

    สำหรับวัดคาทอลิกทั้ง 49 แห่งที่ได้รับการรับรองครั้งนี้ ได้ผ่านการพิจารณาคำขอจากคณะกรรมการกลั่นกรองคำขอจัดตั้งวัดคาทอลิก เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2566 โดยคณะกรรมการฯ เห็นว่าทั้งหมด มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ ได้แก่ 1)ได้รับความเห็นชอบให้ยื่นคำขอรับรองจากสภาประมุขบาทหลวงโรมันคาทอลิกแห่งประเทศไทย 2) มีข้อมูลที่ตั้งวัด 3) มีข้อมูลที่ดินที่ตั้งวัดและการอนุญาตให้ใช้ที่ดิน 4) มีรายชื่อบาทหลวงซึ่งจะไปประกอบศาสนกิจประจำวัด และ 5) มีข้อมูลอื่นที่จำเป็นเกี่ยวกับการรับรองวัดคาทอลิก เช่น มีใบอนุญาตหรือใบรับรองการก่อสร้างอาคารหรือเอกสารรับรองความมั่นคงแข็งแรงของอาคารวัด หรือ มีระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานที่เอื้อ มีอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการประกอบศาสนพิธี

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า สำหรับวัดคาทอลิกที่ได้รับการรับรองทั้ง 49 แห่ง อยู่ใน 21 จังหวัด ประกอบด้วย อุบลราชธานี 9 แห่ง, เชียงราย 7 แห่ง, ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ กาฬสินธุ์ สกลนคร จังหวัดละ 3 แห่ง กรุงเทพฯ จันทบุรี ภูเก็ต ยะลา นครพนม และมุกดาหาร จังหวัดละ 2 แห่ง, สมุทรปราการ เพชรบูรณ์ ลำปาง ชุมพร พังงา ตรัง สงขลา ปัตตานี และสุรินทร์ จังหวัดละ 1 แห่ง

    สำหรับประโยชน์ที่จะได้รับจากการรับรองวัดคาทอลิกนั้น นอกจากจะเป็นสถานประกอบศาสนพิธีต่างๆ แล้ว ยังจะสนับสนุนให้วัดเป็นสถานที่ปฏิบัติศาสนกิจเพื่อความสงบและพัฒนาจิตใจของชุมชนและท้องถิ่น เป็นแหล่งศึกษาด้านวัฒนธรรมประเพณีของคาทอลิกแก่นักเรียนและประชาชน เป็นแหล่งเรียนรู้พระธรรมคำสอนคริสต์ศาสนา ตลอดจนเป็นสถานที่พบปะส่งผลให้เกิดความสามัคคีในชุมชน

    คาด 3 ปี สมาชิก กอช.เพิ่มเป็น 2.76 ล้านคน ใช้งบฯสมทบ 1,600 ล้าน

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบรายงานประจำปี 2565 และแผนงานระยะต่อไปของกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) โดยส่วนของผลการดำเนินงานปี 2565 นั้น กอช. บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการส่งเสริมการออกในกลุ่มเป้าหมายเพื่อเพิ่มจำนวนสมาชิกอย่างทั่วถึง ทำให้ ณ สิ้นปี 2565 กอช. มีสมาชิกรวมแล้ว 2.516 ล้านคน เทียบกับปีก่อนหน้าที่มีอยู่ 2.495 ล้านคน และมีเงินกองทุนอยู่ 11,668.69 ล้านคน

    ส่วนแผนดำเนินงานในปี 2566 กอช. มีเป้าหมายดำเนินการตามแผนปฏิบัติการระยะ 5 ปี (2566-70) ภายใต้กรอบวงเงินขอรับจัดสรร 1,212.89 ล้านบาท เป้าหมายเพิ่มจำนวนสมาชิกเป็น 2.54 ล้านคน ขับเคลื่อนการทำงานภายใต้ยุทธศาสตร์ 5 ด้าน ได้แก่

      1) เน้นการสื่อสารคุณค่าของการออกมผ่าน กอช.
      2) พัฒนาการตลาดให้ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายและการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้แก่สมาชิก
      3) บริหารเงินทุนอย่างมีประสิทธิภาพและสร้างผลตอบแทนอย่างมั่นคง
      4) ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อยกระดับการให้บริการสมาชิกและเพิ่มผลิตภาพขององค์กร และ
      5) ยกระดับขีดความสามารถการบริหารจัดการในองค์กร

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า กอช.ได้คาดการณ์จำนวนสมาชิก และกรอบวงเงินการดำเนินงานระยะ 3 ปี ข้างหน้า ดังนี้ ปี 2567 คาดว่าจะมีจำนวนสมาชิก 2.64 ล้านคน กรอบวงเงินงบประมาณ 1,513.40 ล้านบาท ปี 2568 คาดว่าจะมีจำนวนสมาชิก 2.70 ล้านคน กรอบวงเงินงบประมาณ 1,553.56 ล้านบาท และ ปี 2569 คาดว่าจะมีจำนวนสมาชิก 2.76 ล้านคน กรอบวงเงินงบประมาณ 1,592.02 ล้านบาท

    ทั้งนี้ กอช. เป็นกองทุนบำนาญ สำหรับประชาชนที่เป็นแรงงานนอกระบบ ซึ่งรัฐบาลได้ตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนให้เกิดการออมในประชาชนทุกกลุ่ม ซึ่งผู้ที่สามารถสมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิก กอช. นั้นคือประชาชนไทยผู้มีอายุระหว่า 15 – 60 ปี ไม่มีสวัสดิการบำนาญ หรือ สวัสดิการใด ๆ จากรัฐ อาทิ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ พ่อค้าแม่ค้า ชาวไร่ชาวนา รวมถึงนักเรียน นิสิต นักศึกษา โดยในการเป็นสมาชิกนั้นสามารถส่งเงินสะสมเพื่อเป็นเงินออมไว้ใช้หลังอายุ 60 ปี ได้ โดยส่งเงินออมเป็นรายรายเดือน โดยเริ่มออมขั้นต่ำ 50 บาท/ครั้ง สูงสุด 30,000 บาท/ปี โดยรัฐจะสมทบเงินออมเพิ่มให้ขึ้นอยู่กับเงินออมของสมาชิกและช่วงอายุ โดยยอดเงินสมทบที่รัฐจ่ายให้นี้สูงสุด 1,800 บาท/ปี และยังมีเงินผลประโยชน์จากการลงทุนของเงินออมสะสมและเงินสมทบจากรัฐได้

    นอกจากนี้ สมาชิก กอช. ยังสามารถนำเงินออมในแต่ละปีไปลดหย่อนภาษีประจำปีได้ สูงสุดไม่เกิน 30,000 บาท/ปี รัฐบาลขอเชิญชวนประชาชนผู้สนใจสมัครเป็นสมาชิก กอช. เพื่อมีเงินออมไว้ใช้ระยะยาว โดยสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.nsf.or.th ,แอปพลิเคชัน กอช. หรือ ไลน์ กอช[email protected]

    ส่งชื่อ “อำนาจ พวงชมภู” ลงสมัครบอร์ด ปปท.

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติ/เห็นชอบในเรื่องแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการและผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐ มีรายละเอียดดังนี้

    1. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงแรงงาน)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เสนอแต่งตั้ง นางสาวนันทินี ทรัพย์ศิริ ประกันสังคมจังหวัด (ผู้อำนวยการระดับสูง) สำนักงานประกันสังคมจังหวัดกาญจนบุรี สำนักงานประกันสังคม ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านประสิทธิภาพ (นักวิชาการแรงงานทรงคุณวุฒิ) สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2565 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ และให้ดำเนินการต่อไปได้ เมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 169 (2) แล้ว ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง

    2. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (สำนักนายกรัฐมนตรี)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงาน ก.พ. เสนอแต่งตั้ง นางนิพัทธา บรรจงลิขิตสาร ผู้อำนวยการศูนย์ (ผู้อำนวยการระดับสูง) ศูนย์นักบริหารระดับสูง สำนักงาน ก.พ. ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาระบบราชการ (นักทรัพยากรบุคคลทรงคุณวุฒิ) สำนักงาน ก.พ. สำนักนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม 2566 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ และให้ดำเนินการต่อไปได้เมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 169 (2) แล้ว ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง

    3. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (สำนักนายกรัฐมนตรี)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้ง นางสาวภคนันท์ ศิลาอาสน์ ผู้อำนวยการกอง (ผู้อำนวยการระดับสูง) กองงานนายกรัฐมนตรี สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำด้านประสานกิจการภายในประเทศ (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี สำนักนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 7 กรกฎาคม 2566 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ และให้ดำเนินการต่อไปได้เมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 169 (2) แล้ว ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง

    4. การสรรหาบุคคลเพื่อเข้ารับการคัดเลือกเป็นกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ แทนตำแหน่งที่ว่างลง

    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (สำนักงาน ป.ป.ท.) เสนอชื่อนายอำนาจ พวงชมภู ให้เป็นบุคคลที่คณะรัฐมนตรีสรรหาและเสนอรายชื่อเพื่อเข้ารับการคัดเลือกโดยคณะกรรมการคัดเลือก เป็นกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ แทนตำแหน่งที่ว่างลง

    อ่าน มติ ครม. ประจำวันที่ 23 สิงหาคม 2566 เพิ่มเติม