ThaiPublica > เกาะกระแส > กสม.ชง ‘รัฐบาลเศรษฐา’ เร่งเคลียร์หนี้ “เจอ-จ่าย-จบ” 56,000 ล้านบาท

กสม.ชง ‘รัฐบาลเศรษฐา’ เร่งเคลียร์หนี้ “เจอ-จ่าย-จบ” 56,000 ล้านบาท

24 กันยายน 2023


กสม.เตรียมจัดทำข้อเสนอแนะ ชง ‘รัฐบาลเศรษฐา’ เร่งเคลียร์หนี้กรมธรรม์ “เจอ-จ่าย-จบ” 683,068 ราย วงเงินรวมกว่า 56,000 ล้านบาท คาด 40 ปี จ่ายหนี้หมด เบื้องต้นกองทุนประกันวินาศภัย เสนอปรับขึ้น “ค่าต๋ง” โดยให้บริษัทประกันภัยนำส่งเงินกองทุนเพิ่ม จาก 0.25% เป็น 0.5% ของเบี้ยประกันภัยที่ได้รับ เริ่มบังคับใช้เดือน ต.ค.นี้

เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2466 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ส่วนราชการในสังกัดรัฐสภา ซึ่งทำหน้าที่รับเรื่องร้องเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน เพื่อเสนอคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ดำเนินการสืบสวน หรือ ตรวจสอบเรื่องร้องเรียนดังกล่าว โดยนางสาวสุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมด้วย นายบุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์ ที่ปรึกษาประจำ กสม. นายจุมพล ขุนอ่อน ผู้อำนวยการสำนักคุ้มครองสิทธิมนุษยชน 1 และเจ้าหน้าที่กลุ่มงานคุ้มครองสิทธิมนุษยชน 3 สำนักงาน กสม. ได้จัดประชุมทางไกลในรูปแบบสื่อออนไลน์ (Zoom Meeting) กรณีการแก้ปัญหาเชิงระบบของการประกันภัยโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 (เจอ – จ่าย – จบ) และการจ่ายเงินตามกรมธรรม์ประกันภัยล่าช้า ทำให้ปัจจุบันยังมีผู้บริโภคไม่ได้รับค่าชดเชยตามกรมธรรม์ประกันภัยเป็นจำนวนมาก โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อันได้แก่ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) , สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) , สำนักงบประมาณ , กระทรวงการคลัง , สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) , กองทุนประกันวินาศภัย (กปว.) , สมาคมประกันวินาศภัยไทย , ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง (101 PUB) , สภาองค์กรผู้บริโภค และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมแสดงความคิดเห็นต่อกรณีดังกล่าว ณ ห้องประชุม 606 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)

โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ให้ข้อมูลต่อที่ประชุมว่า ยอดขายกรมธรรม์ประกันภัย Covid-19 ของทุกบริษัท ตั้งแต่ปี 2563 ถึงปี 2565 มีจำนวนประมาณ 50 ล้านฉบับ โดยมีบริษัทที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้จำนวน 4 แห่ง (บริษัท เอเชียประกันภัย 1950 จำกัด (มหาชน) , บริษัท เดอะวันประกันภัย จำกัด (มหาชน) , บริษัท ไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) และบริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) ) ขณะนี้อยู่ระหว่างการชำระบัญชีโดย กองทุนประกันวินาศภัย (กปว.) นอกเหนือจากนั้นยังมีอีก 1 บริษัท ปัจจุบันอยู่ระหว่างการยื่นขอฟื้นฟูกิจการ ซึ่งต้องรอให้ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งก่อน โดยมีเจ้าหนี้ของทั้ง 4 บริษัท มายื่นคำทวงหนี้ต่อกองทุนประกันวินาศภัย (กปว.) ทั้งหมด จำนวน 683,068 ราย รวมเป็นเงินที่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยมากกว่า 56,000 ล้านบาท

ปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้มีมาตรการแก้ไขปัญหาในระยะยาว คืออยู่ระหว่างเสนอแก้ไขพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. 2535 และพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 และมีมาตรการระยะสั้น เพื่อส่งเสริมให้บริษัทมีความมั่นคงทางการเงิน และเสริมสร้างศักยภาพให้บริษัทมีความพร้อมในการแข่งขันมากขึ้น รวมทั้งกำหนดให้บริษัทต้องจัดทำรายงานการประเมินความเสี่ยง และความมั่นคงทางการเงินของบริษัท ทั้งนี้ อยู่ในระหว่างการจัดทำมาตรฐานในการบริหารความเสี่ยงผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่มีความเสี่ยงสูงหรือภัยอุบัติใหม่

ที่มาภาพ : www.nhrc.or.th

สำหรับ กองทุนประกันวินาศภัย (กปว.) ประสบปัญหาเรื่องการชำระหนี้ที่ล่าช้า เนื่องจากมีเจ้าหนี้ผู้เอาประกันภัยเป็นจำนวนมาก และการพิสูจน์หลักฐานต้องเป็นไปด้วยความรอบคอบ เนื่องจากประสบปัญหาในเรื่องการทำเอกสารเท็จร่วมด้วย โดยปัจจุบันกองทุนประกันวินาศภัย (กปว.) สามารถพิจารณาชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ได้ประมาณเดือนละ 6,000 ราย ตามลำดับ ซึ่งอาจต้องใช้เวลาประมาณ 40 ปี จึงจะชำระหนี้เสร็จสิ้น อีกทั้งเงินกองทุนอาจมีจำนวนไม่เพียงพอที่จะรองรับการชำระหนี้ ซึ่งกองทุนประกันวินาศภัย (กปว.). พยายามเร่งหาแนวทางแก้ไขปัญหา ซึ่งเบื้องต้นได้ขอปรับเพิ่มวงเงิน ตามมาตรา 80/3 ให้บริษัทนำส่งเบี้ยประกันภัยจาก 0.25 เพิ่มเป็น 0.5 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในเดือนตุลาคม 2566

โดยที่ประชุมมีข้อเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหา ดังนี้

    1) รัฐบาลควรมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาด้านการเงินของ กองทุนประกันวินาศภัย (กปว.) ไปก่อน เพื่อบรรเทาผลกระทบของผู้เอาประกันภัย
    2) กองทุนประกันวินาศภัย (กปว.) ควรประสานสถาบันการเงิน เพื่อหาทางกู้เงินนำมาชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ผู้เอาประกันภัย และ
    3) สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ควรมีมาตรการกำกับดูแลการขายประกันภัยประเภทระยะสั้น และมีความเสี่ยงสูงของบริษัทประกันภัยอย่างเข้มข้นและทันต่อเหตุการณ์ และควรทำสัญญาประกันภัยให้มีลักษณะที่เข้าใจง่ายกว่าในปัจจุบัน

ทั้งนี้ กสม. จะรวบรวมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากการประชุม เพื่อนำมาวิเคราะห์และจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเสนอต่อคณะรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป…

  • “ปลัดคลัง”สั่งศึกษาโยกเงิน คปภ.เคลียร์หนี้“เจอ-จ่าย-จบ”
  • กองทุนประกันฯ แจงเคลียร์หนี้ “เจอ-จ่าย-จบ” 6.5 หมื่นล้าน เหลือทรัพย์สินรอขายแค่ 100 ล้านบาท
  • คปภ. ออกคำสั่งยกเลิก การใช้สิทธิของ “บริษัทประกัน” บอกเลิกกรมธรรม์โควิด
  • ปมพิพาท กรมธรรม์ เจอ-จ่าย-จบ ทางออกที่ “ไม่มีใครถูกลอยแพ”
  • คลังสั่งเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย “เอเชียประกันภัย” ตั้งแต่ 15 ต.ค.64
  • ลูกค้า “เอเชียประกันภัย” ร้องคลัง-ทวงค่าสินไหม 4 ล้านบาท
  • คลังสั่งถอนใบอนุญาต“อาคเนย์ประกันภัย-ไทยประกันภัย” ปิดกิจการทันทีวันนี้