ThaiPublica > เกาะกระแส > รัฐบาล “ประยุทธ์” กู้อีก 700,000 ล้านบาท เยียวยาโควิดฯระลอก 3

รัฐบาล “ประยุทธ์” กู้อีก 700,000 ล้านบาท เยียวยาโควิดฯระลอก 3

18 พฤษภาคม 2021


รัฐบาล “ประยุทธ์” กู้อีก 700,000 ล้านบาท เยียวยาโควิดฯระลอก 3-เสริมสภาพคล่องคลัง เก็บภาษีหลุดเป้าฯ สบน.คาดหนี้สาธารณะ ณ สิ้น ก.ย. 64 มียอดคงค้าง 9.4 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 58.56% ของ GDP เกือบทะลุกรอบวินัยการคลัง

เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2564 มีรายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลว่าในวันนี้ที่ประชุม ครม.ได้มีมติเห็นชอบร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดระลอกใหม่ของโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 พ.ศ… โดยมีกรอบวงเงินกู้ไม่เกิน 700,000 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ และสังคมจากการระบาดระลอกใหม่ของ Covid -19 และบริหารสภาพคล่องทางการคลัง ตามที่กระทรวงการคลังนำเสนอ

โดยร่าง พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ อีก 700,000 ล้านบาท มีสาระสำคัญดังนี้

1) ให้กระทรวงการคลัง โดยอนุมัติคณะรัฐมนตรีมีอำนาจกู้เงินบาท หรือ เงินตราต่างประเทศ หรือ ออกตราสารหนี้ ในนามรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย มีมูลค่ารวมกันไม่เกิน 700,000 ล้านบาท โดยต้องลงนามในสัญญากู้เงิน หรือ ออกตราสารหนี้ภายในวันที่ 30 กันยายน 2565

2) วัตถุประสงค์ในการใช้จ่ายเงินกู้ ให้นำไปใช้จ่ายภายใต้แผนงาน หรือ โครงการตามที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ ตามบัญชีท้ายพระราชกำหนด ซึ่งมีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้ เว้นแต่เพื่อการบริหารสภาพคล่องทางการคลัง

  • เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19
  • เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา หรือชดเชยให้แก่ประชาชนและผู้ประกอบการ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19
  • เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19
  • 3) ในกรณีจำเป็น คณะรัฐมนตรีจะมีมติให้ปรับวงเงินกู้ที่กำหนดไว้ ตามบัญชีท้ายพระราชกำหนดนี้ หรือ เพื่อบริหารสภาพคล่องทางการคลัง ตามข้อเสนอของกระทรวงการคลังก็ได้ แต่เมื่อรวมวงเงินกู้ทั้งหมดต้องไม่เกิน 700,000 ล้านบาท และในกรณีที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้นำวงเงินกู้ภายใต้พระราชกำหนดนี้มาใช้เพื่อบริหารสภาพคล่องทางการคลัง ให้กระทรวงการคลังดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐและกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง

    4) ให้มีคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ โดยมีเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประธานกรรมการ กรรมการประกอบด้วย ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี, ปลัดกระทรวงการคลัง, ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ, ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ, ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งจำนวนไม่เกิน 5 คน โดยมีรองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เลขานุการ ทั้งนี้ ให้ผู้แทนสำนักงบประมาณ และผู้แทนสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ เป็นผู้ช่วยเลขานุการร่วม สำหรับการดำเนินการตามแผนงาน หรือ โครงการตามพระราชกำหนดนี้ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะรัฐมนตรีกำหนดโดยข้อเสนอแนะของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้

    สำหรับการออก พ.ร.ก.กู้เงิน 700,000 ล้านบาทในครั้งนี้ กระทรวงการคลังได้ประเมินสถานะหนี้สาธารณะของประเทศ ซึ่งปัจจุบันมียอดคงค้าง (ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2564 )มีจำนวน 8,472,187 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 54.28 ของ GDP หากกระทรวงการคลังดำเนินการกู้เงินอีก 700,000 ล้านบาท รวมกับประมาณการการกู้เงินอื่นตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะแล้ว จะส่งผลให้หนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 มียอดคงค้างอยู่ที่ 9,381,428 ล้านบาท หรือ คิดเป็นร้อยละ 58.56 ของ GDP ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบการบริหารหนี้สาธารณะ ตามประกาศคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐที่กำหนดสัดส่วนหนี้สาธารณะคงค้างต่อ GDP ไม่เกินร้อยละ 60

    ทั้งนี้ ในการออก พ.ร.ก.กู้เงินอีก 700,000 ล้านบาทนั้น จะทำให้รัฐบาลมีภาระหนี้เพิ่มขึ้น จึงมอบหมายให้สำนักงบประมาณพิจารณาตั้งงบประมาณรายจ่ายในปีงบประมาณ 2565 เพื่อชำระค่าดอกเบี้ย และค่าใช้จ่ายในการกู้เงิน การออกและการจัดการตราสารหนี้ภายใต้ พ.ร.ก.ฉบับนี้ด้วย

    ส่วนเหตุผลความจำเป็นที่กระทรวงการคลัง ต้องออก พ.ร.ก.กู้เงินอีก 700,000 ล้านบาทนั้น เป็นผลสืบเนื่องมาจากสถานการณ์การระบาดของโควิดฯ ทำให้ที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2563 ได้มีมติอนุมัติร่าง พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากโควิดฯ และมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 19 เมษายน 2563 จนถึงวันที่ 11 พฤษภาคม 2564 คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติโครงการที่ขอใช้จ่ายเงินกู้ภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงิน ฯไปแล้ว 287 โครงการ คิดเป็นวงเงิน 833,475 ล้านบาท คงเหลือกรอบวงเงินกู้อีก 166,525 ล้านบาท และล่าสุดเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2564 เห็นชอบมาตรการบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนและผู้ประกอบการจากการระบาดของ COVID-19 ในระลอกเดือนเมษายน 2564 อีกประมาณ 150,000 ล้านบาท จึงทำให้มีวงเงินกู้คงเหลือ 16,525 ล้านบาท และคาดว่าจะมีการคืนกรอบวงเงินกู้เหลือจ่ายบางส่วน โดยคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้จะพิจารณาให้กับหน่วยงานอื่นต่อไป

    จากการดำเนินมาตรการทางการคลังภายใต้ พ.ร.ก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยปี 2563 หดตัวร้อยละ 6.1 ซึ่งต่ำกว่าที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่าจะหดตัวที่ประมาณร้อยละ 8 และจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในหลายประเทศรวมถึงประเทศไทย ทางสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2564 ขยายตัวร้อยละ 2.3 ต่ำกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 2.8 ซึ่งสอดคล้องกับประมาณการของสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวร้อยละ 1.5-2.5 ส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่องต่อการฟื้นตัวของการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล โดยในปีงบประมาณ 2563 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 2,383,425 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการเอกสารงบประมาณ 343,535 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 12.5 และต่ำกว่าปี 2562 จำนวน 178,691 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 6.9

    สถานการณ์การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในปีงบประมาณ 2564 ยังคงได้รับผลกระทบจากปัญหาการหดตัวของเศรษฐกิจในปี 2563 และภาวะเศรษฐกิจไทยในปี 2564 ที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ ซึ่งจะส่งผลต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในอนาคต ขณะที่รัฐบาลมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องใช้งบประมาณเพิ่มเติมเพื่อแก้ไขปัญหาและจำกัดการแพร่ระบาดให้อยู่ในวงจำกัด และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19

  • “ศิริกัญญา” ห่วงรัฐบาลถังแตก ครึ่งแรกของปี’64 ก่อนโควิดฯรอบ 3 คลังเก็บรายได้หลุดเป้า 1.2 แสนล้าน
  • “แต่เนื่องจากแหล่งเงินงบประมาณที่สามารถนำมาใช้ เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของ COVID-19 มีข้อจำกัด อาทิ การจัดทำงบประมาณรายจ่ายในปีงบประมาณ 2565 มีกระบวนการและใช้เวลาการดำเนินงาน ซึ่งอาจไม่ทันต่อสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ประกอบกับวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ตามพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ใกล้เต็มกรอบวงเงินแล้ว

    ดังนั้น เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 และเพื่อให้รัฐบาลสามารถบริหารสภาพคล่องทางการคลังในกรณีที่การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 รัฐบาลจำเป็นต้องมีมาตรการบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจ และสังคมที่ได้รับความเสียหาย และเตรียมการรองรับความเสียหายใหม่ที่ไม่อาจคาดการณ์ได้ โดยการเตรียมความพร้อมด้านการเงินล่วงหน้า เพื่อให้ทันต่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่อาจทวีความรุนแรงและส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจในระยะยาวและยากต่อการแก้ไข

    นอกจากนี้ภายหลังการระบาดของ COVID-19 ภาครัฐจำเป็นต้องมีการลงทุน เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม โดยคาดว่าเมื่อสถานการณ์การระบาดสิ้นสุดลง และสถานการณ์ต่างๆ กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ธุรกิจเอกชน ภาคการผลิต และภาคการบริการจะใช้เวลาอีกระยะหนึ่งในการกลับมาดำเนินการได้ตามปกติ ดังนั้น ในช่วงรอยต่อดังกล่าวที่การลงทุนและการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชนที่ยังไม่ฟื้นตัว เต็มศักยภาพ ภาครัฐจำเป็นต้องมีการลงทุนเพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจ

    ดังนั้น กระทรวงการคลังเห็นควรกำหนดกรอบวงเงิน เพื่อรองรับสถานการณ์ไว้ไม่เกิน 700,000 ล้านบาท เพื่อใช้สำหรับการจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ ยารักษาโรค และวัคซีนที่ยังมีความจำเป็นในช่วงที่ภาครัฐอยู่ระหว่างการกระจายวัคซีนให้กับประชากรตามแผน และการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนและผู้ประกอบการเพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจ รักษาการจ้างงาน และการบริโภคภายในประเทศได้อย่างต่อเนื่องในระยะ 1 ปีข้างหน้า นอกจากนี้ ยังสามารถใช้สำหรับการบริหารความเสี่ยงของผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 ที่ส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้และสภาพคล่องของรัฐบาล โดยกระทรวงการคลังคาดการณ์ว่ากรอบวงเงินที่เสนอจะช่วยทำให้เศรษฐกิจปี 2564 ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากที่ สศค. ประมาณไว้อีกประมาณร้อยละ 1.5