ThaiPublica > เกาะกระแส > “ปลัดคลัง”สั่งศึกษาโยกเงิน คปภ.เคลียร์หนี้“เจอ-จ่าย-จบ”

“ปลัดคลัง”สั่งศึกษาโยกเงิน คปภ.เคลียร์หนี้“เจอ-จ่าย-จบ”

7 พฤศจิกายน 2022


“ปลัดคลัง”สั่งบอร์ด คปภ.-กองทุนประกันวินาศ ศึกษาประเด็นข้อกฎหมาย กรณีโยกเงินนำส่ง – กู้เงิน คปภ.ดอกเบี้ย 0% เคลียร์หนี้ “เจอ-จ่าย-จบ”

ย้อนหลังกลับไปเมื่อ 2 ปีที่แล้ว เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 ขึ้นหลายระลอก โดยเฉพาะในช่วงปี 2564 มีผู้ติดเชื้อโควิดฯเป็นจำนวนมาก และเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้บริษัทประกันวินาศภัยที่ขายกรมธรรม์ประกันภัยโควิดฯ แบบ “เจอ-จ่าย-จบ” ต้องจ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ที่ทำประกันภัย เจอ-จ่าย-จบ เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวจนประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง มีหนี้สินล้นพ้นตัว ไม่รู้จะหาเงินจากแหล่งไหนมาจ่ายค่าเคลมให้กับผู้เอาประกันที่ติดเชื้อโควิดฯ และเสียชีวิต สุดท้ายทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) จึงทำเรื่องเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังลงนามในคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยไป 4 บริษัท อันได้แก่ บริษัท เอเชียประกันภัย 1950 จำกัด (มหาชน) , บริษัท เดอะวันประกันภัย จำกัด (มหาชน) , บริษัท ไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) และบริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) โดยแต่งตั้งกองทุนประกันวินาศภัย เป็นผู้ชำระบัญชีบริษัทประกันวินาศภัยทั้ง 4 แห่ง รวมทั้งหาเงินมาจ่ายเจ้าหนี้ หรือ ผู้เอาประกันภัยในกรณีที่บริษัทประกันภัยถูกสั่งเพิกถอนใบอนุญาต

หลังจากที่กองทุนประกันวินาศภัยเปิดให้เจ้าหนี้ของบริษัทประกันวินาศภัยทั้ง 4 แห่ง ที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาต มายื่นคำร้องขอรับการชำระหนี้จากกองทุนประกันวินาศภัย ปิดรับคำขอเมื่อวันที่ 15 กรกาคม 2565 ปรากฏว่ามีเจ้าหนี้มายื่นคำร้องประมาณ 700,000 ราย คิดเป็นมูลหนี้ประมาณ 65,000 ล้านบาท ขณะที่กองทุนประกันวินาศภัยมีเงินสะสมเหลืออยู่ประมาณ 3,000 ล้านบาท และมีรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายแล้วประมาณ 600 ล้านบาทต่อปี ยังไม่รู้จะไปหาเงินจากไหนมาจ่ายให้ผู้เอาประกันและเจ้าหนี้ของบริษัทประกันวินาศภัยทั้ง 4 แห่ง

สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า จึงนำประเด็นนี้ไปสอบถามนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการ คปภ. และประธานคณะกรรมการบริหารกองทุนประกันวินาศภัยถึงความคืบหน้าในการจัดหาแหล่งเงินมาช่วยเสริมสภาพคล่องให้กับกองทุนประกันวินาศภัย

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า สำหรับแนวทางการจัดหาแหล่งเงินมาเสริมสภาพคล่องให้กับกองทุนประกันวินาศภัยมีอยู่หลายวิธี และก็เคยมีการนำประเด็นนี้เข้าไปหารือกันในที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนประกันวินาศภัยมาแล้ว 1 ครั้ง ยกตัวอย่าง แนวทางแรก ปัจจุบันบริษัทประกันวินาศภัยต้องนำส่งเงินสมทบให้กับ 2 หน่วยงาน คือ คปภ.กับกองทุนประกันวินาศภัย แต่ตอนนี้ คปภ.อาจจะยังไม่มีความจำเป็นต้องใช้เงิน และก็มีเงินสำรองอยู่มากพอสมควร ซึ่งตรงนี้อาจจะให้ คปภ.หยุดรับเงินนำส่งจากบริษัทประกันวินาศภัยสักระยะหนึ่งได้หรือไม่ โดยให้บริษัทประกันวินาศภัยนำเงินส่วนที่จะต้องนำส่ง คปภ. มานำส่งกองทุนประกันวินาศภัยแทน

“วิธีนี้จะช่วยทำให้กองทุนประกันวินาศภัยมีรายได้ หรือ สภาพคล่องเพิ่มมากขึ้น โดยที่ไม่เป็นภาระกับบริษัทประกันวินาศภัย ต้องจ่ายเงินสมทบเพิ่มขึ้น (ข้อเสนอของกองทุนประกันวินาศภัยที่ให้ปรับเพิ่มอัตราเงินนำส่งกองทุนฯจาก 0.25% เป็น 0.5% ของเบี้ยประกันที่ได้รับ) เดิมบริษัทประกันวินาศภัยเคยจ่ายเงินสมทบให้ 2 หน่วยงาน ก็ยังจ่ายให้หน่วยงานทั้ง 2 แห่งเหมือนเดิม โดยนำเงินส่วนที่ต้องนำส่ง คปภ.มาส่งกองทุนประกันวินาศภัยแทน” นายกฤษฎา กล่าว

ส่วนแนวทางที่ 2 คือ การนำเงินสะสมของ คปภ.ที่มีอยู่หลายพันล้านบาท มาปล่อยกู้ให้กับกองทุนประกันวินาศภัย โดยที่ไม่คิดดอกเบี้ยได้หรือไม่ ซึ่งทั้งแนวทางที่ 1 และ แนวทางที่ 2 ก็ได้มีการหารือกันในที่ประชุมบอร์ดของ คปภ.และบอร์ดของกองทุนประกันวินาศภัยไปแล้วครึ่งหนึ่ง ซึ่งตนได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ทำการศึกษาในประเด็นข้อกฎหมายสามารถดำเนินการได้หรือไม่

และแนวทางสุดท้าย หลังจากเพิ่มขีดความสามารถในการชำระหนี้ให้กับกองทุนประกันวินาศภัยแล้ว ก็จะให้กองทุนประกันวินาศภัยกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน ซึ่งในขณะนี้ทางสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะกำลังศึกษาอยู่ แต่อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ทางกองทุนประกันวินาศภัยยังมีสภาพคล่องเพียงพอที่จะนำไปจ่ายให้แก่ผู้เอาประกันเดือนละ 4,000 – 5,000 ราย ไปได้ระยะหนึ่งยังไม่มีปัญหาใดๆ

นายชนะพล มหาวงษ์ ผู้จัดการกองทุนประกันวินาศภัย

อนึ่ง ก่อนหน้านี้นายชนะพล มหาวงษ์ ผู้จัดการกองทุนประกันวินาศภัย ให้สัมภาษณ์กับไทยพับลิก้าว่า หลังปิดรับการคำร้องขอรับชำระหนี้ พบว่ามีเจ้าหนี้ยื่นคำร้องกับกองทุนประกันวินาศภัยกว่า 700,000 ราย คิดเป็นมูลหนี้เกือบ 65,000 ล้านบาท ซึ่งยอดดังกล่าวนี้ยังไม่ได้ผ่านการคัดกรอง หรือ ตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารหลักฐาน และจากการสุ่มตรวจสอบในเบื้องต้น พบว่า มีเจ้าหนี้บางรายมีการยื่นคำร้องซ้ำซ้อนกัน เช่น เจ้าหนี้บางรายกลัวไม่ได้เงินคืน ยื่นเอกสารมา 2-3 ครั้ง เมื่อเจ้าหน้าที่ลงไปตรวจสอบปรากฏว่าเป็นเรื่องเดียวกัน หรือ เจ้าหนี้บางราย มายื่นคำร้องขอรับชำระหนี้เป็นวงเงินเอาไว้ก่อน ยกตัวอย่าง กรณีทำประกันภัยรถยนต์เอาไว้ 20,000 บาท มาแล้วระยะหนึ่ง จึงคงเหลือเบี้ยประกันภัยที่กองทุนประกันวินาศภัยต้องจ่ายเบี้ยคืนแค่ 1,000 บาท แต่มายื่นขอรับชำระค่าเบี้ยประกันกับกองทุนฯ คืนเต็มจำนวน 20,000 บาท หรือ กรณีทำประกันภัยโควิดฯ เอาไว้ 100,000 บาท กับทำประกันสุขภาพอีก 100,000 บาท แต่มายื่นคำร้องขอรับชำระหนี้คืน 200,000 บาท ซึ่งจริงๆ แล้วมีสิทธิแค่ 100,000 บาทเท่านั้น เป็นต้น ทำให้กองทุนประกันวินาศภัยต้องระดมเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบข้อมูลของเจ้าหนี้ให้ถูกต้อง ก่อนจ่ายเงิน หากตัดความซ้ำซ้อนดังกล่าวออกไปได้ กองทุนประกันวินาศภัยอาจมีหนี้สินเหลือแค่ 50,000 ล้านบาท ก็มีความเป็นไปได้

นายชนะพล กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมากองทุนประกันวินาศภัยจึงต้องระดมเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบเอกสารหลักฐานของเจ้าหนี้ทั้ง 700,000 ราย เพื่อยืนยันความถูกต้อง ก่อนจ่ายเงิน โดยเฉพาะตรวจสอบว่าผู้เอาประกันเป็นผู้ป่วยติดเชื้อ หรือ เสีนชีวิตในช่วงระยะเวลาที่กรมธรรม์มีผลคุ้มครองจริงหรือ ไม่ ซึ่งกองทุนประกันวินาศภัยได้ไปทำบันทึกข้อตกลงกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อขอใช้ฐานข้อมูลผลตรวจ RT-PCR จากห้องแล็ป หรือ โรงพยาบาลในเครือข่ายของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญในการยืนยันว่าผู้ที่มาขอเคลมประกันโควิดฯ ติดเชื้อจริงๆ ทำให้กองทุนประกันวินาศภัยตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

ส่วนเรื่องการจัดหาแหล่งเงินเพื่อนำมาเสริมสภาพคล่องให้กับกองุทนประกันวินาศภัยนั้น นายชนะพล กล่าวว่า มีหลายช่องทาง อย่างเช่น การของบประมาณจากสำนักงบประมาณ เนื่องจากกฎหมายประกันวินาศภัยเขียนเอาไว้ว่า “ให้รัฐบาลสนับสนุนทางการเงินแก่กองทุน เพื่อให้กองทุนเป็นหลักประกันแก่เจ้าหนี้สัญญาประกันภัย แต่กระบวนการหาแหล่งเงินจากไหน ยังไม่ชัดเจน” รวมทั้งการทำเรื่องเสนอ บอร์ด คปภ.เพื่อพิจารณาอนุมัติปรับเพิ่มอัตราเงินนำส่งกองทุนเต็มเพดาน จากปัจจุบันจัดเก็บอยู่ในอัตรา 0.25% ปรับเพิ่มเป็น 0.5% ของเบี้ยประกันที่บริษัทประกันภัยได้รับ และขอความร่วมมือสำนักบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ให้ช่วยจัดหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยพิเศษมาเสริมสภาพคล่องให้กับกองทุนประกันวินาศภัย เป็นต้น

  • กองทุนประกันฯ แจงเคลียร์หนี้ “เจอ-จ่าย-จบ” 6.5 หมื่นล้าน เหลือทรัพย์สินรอขายแค่ 100 ล้านบาท
  • คปภ. ออกคำสั่งยกเลิก การใช้สิทธิของ “บริษัทประกัน” บอกเลิกกรมธรรม์โควิด
  • ปมพิพาท กรมธรรม์ เจอ-จ่าย-จบ ทางออกที่ “ไม่มีใครถูกลอยแพ”
  • คลังสั่งเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย “เอเชียประกันภัย” ตั้งแต่ 15 ต.ค.64
  • ลูกค้า “เอเชียประกันภัย” ร้องคลัง-ทวงค่าสินไหม 4 ล้านบาท
  • คลังสั่งถอนใบอนุญาต“อาคเนย์ประกันภัย-ไทยประกันภัย” ปิดกิจการทันทีวันนี้