ThaiPublica > เกาะกระแส > กองทุนประกันฯ แจงเคลียร์หนี้ “เจอ-จ่าย-จบ” 6.5 หมื่นล้าน เหลือทรัพย์สินรอขายแค่ 100 ล้านบาท

กองทุนประกันฯ แจงเคลียร์หนี้ “เจอ-จ่าย-จบ” 6.5 หมื่นล้าน เหลือทรัพย์สินรอขายแค่ 100 ล้านบาท

8 สิงหาคม 2022


นายชนะพล มหาวงษ์ ผู้จัดการกองทุนประกันวินาศภัย

กองทุนประกันฯแจงแผนเคลียร์หนี้ “เจอ-จ่าย-จบ” เตรียมชงบอร์ด คปภ.-รมว.คลังไฟเขียว เก็บ “ค่าต๋ง” นำส่งกองทุนฯเต็มเพดาน 0.5% สิ้นเดือนนี้ โดยให้เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ม.ค.ปีหน้า พร้อมเจรจาสำนักงบ ฯขอเงินสนับสนุน 16 ส.ค.นี้ ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มรายได้-ขีดความสามารถในการชำระหนี้ ประกอบการพิจารณาขอกู้เงินจากสถาบันการเงิน-ผู้จัดการกองทุนฯทำใจหนี้ 6.5 หมื่นล้านบาท เหลือทรัพย์สินรอการชำระบัญชีเอาไว้แค่ 100 ล้านบาท

2 ปี หลังจากที่เกิดวิกฤติไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาดตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 มีบริษัทประกันวินาศภัย 16 แห่งเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 แบบ “เจอ-จ่าย-จบ” เพื่อเป็นหลักประกันในการบริหารความเสี่ยงให้กับประชาชน และยังช่วยลดภาระงบประมาณของรัฐบาลในการรักษาพยาบาลผู้เติดเชื้อ ในช่วงปี 2563 มีผู้ที่ทำประกันภัย เจอ-จ่าย-จบ ติดเชื้อโควิดฯ ยังไม่มากนัก จนกระทั่งมาถึงช่วงปี 2564 เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดฯ ขึ้นอีกหลายระลอก ปรากฏว่ายอดผู้ป่วยติดเชื้อและเสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้บริษัทประกันภัยที่ขายกรมธรรม์แบบ เจอ-จ่าย-จบ ต้องจ่ายเงินค่าสินไหมทดแทน หรือที่เรียกว่า “ยอดเคลม” ให้กับผู้ทำประกันโควิดฯ เพิ่มสูงขึ้นหลายเท่าตัว จนทำให้บริษัทประกันวินาศภัยหลายแห่งประสบปัญหาทางด้านการเงิน มีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน ขาดสภาพคล่อง ไม่มีเงินไปจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันเป็นจำนวนมาก ทำให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) ต้องออกคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยไป 4 บริษัท อันได้แก่ บริษัท เอเชียประกันภัย 1950 จำกัด (มหาชน), บริษัท เดอะวันประกันภัย จำกัด (มหาชน), บริษัท ไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) และบริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) โดย คปภ. มอบหมายให้กองทุนประกันวินาศภัย เป็นผู้ชำระบัญชี รวมทั้งพิจารณาจ่ายค่าสินไหมทดแทน และคืนค่าเบี้ยประกันภัยทุกประเภทให้กับลูกค้าที่ทำประกันภัยไว้กับ 4 บริษัท

ล่าสุด นายชนะพล มหาวงษ์ ผู้จัดการกองทุนประกันวินาศภัย ให้สัมภาษณ์ว่า หลังจากกองทุนประกันวินาศภัย ได้ออกประกาศให้เจ้าหนี้และผู้ที่ทำประกันภัยกับ 4 บริษัท มายื่นคำร้องขอรับชำระหนี้กับกองทุนประกันวินาศภัยในฐานะผู้ชำระบัญชี จนถึงวันที่ 15 กรกฎาคม 2565 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่ปิดรับคำร้องขอรับชำระหนี้ พบว่ามีเจ้าหนี้มายื่นคำร้องกว่า 700,000 ราย คิดเป็นมูลหนี้เกือบ 65,000 ล้านบาท ขณะที่กองทุนประกันวินาศภัยมีเงินสะสมประมาณ 6,000 ล้านบาท แต่เป็นเงินที่ปลอดจากภาระผูกพันต่างๆ และสามารถนำมาจ่ายให้กับเจ้าหนี้ทั้ง 4 บริษัทได้จนถึงสิ้นปี 2565 แค่ 3,000 ล้านบาท ซึ่งตามแผนการชำระหนี้ของกองทุนประกันวินาศภัย จะเริ่มจ่ายเงินให้กับเจ้าหนี้ของบริษัทเอเชียประกันภัยฯ กับบริษัทเดอะวันประกันภัยฯ ในเดือนสิงหาคม 2565 ประมาณ 1,500 ราย ส่วนเดือนกันยายน 2565 เป็นต้นไป ก็จะเริ่มทยอยจ่ายเงินให้กับเจ้าหนี้ของบริษัทไทยประกันภัยฯ และบริษัทอาคเนย์ประกันภัยฯ อีก 4,000-5,000 ราย รวมเป็นเงินกว่า 3,000 ล้านบาท หลังจากนำเงินสะสมของกองทุนประกันวินาศภัยมาจ่ายให้กับเจ้าหนี้ไปจนหมดแล้ว ระหว่างนี้ทางกองทุนประกันวินาศภัย ก็ต้องเร่งหาแหล่งเงินอื่น ไม่ว่าจะเป็นเงินกู้หรือ เงินงบประมาณ เตรียมไว้จ่ายให้กับเจ้าหนี้ตั้งแต่ต้นปี 2566 เป็นต้นไป

นายชนะพลกล่าวต่อว่า ในช่วง 4-5 เดือนสุดท้ายของปีนี้ กองทุนประกันวินาศภัยมีภาระสำคัญอยู่ 2 ประการ คือ 1. ตรวจสอบเอกสารหลักฐานของเจ้าหนี้กว่า 700,000 ราย มายื่นคำร้องไว้กับกองทุนประกันวินาศภัยให้ถูกต้องครบถ้วน กับ 2. หาแหล่งเงินเตรียมไว้จ่ายค่าเคลมให้กับผู้เอาประกัน หรือ เจ้าหนี้ในปี 2566 และทันทีที่เราหาเงินมาได้ ก็จะนำมาทยอยจ่ายให้กับเจ้าหนี้ที่ผ่านตรวจเอกสารหลักฐานเสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่ถ้ายังตรวจเอกสารไม่เสร็จ ก็จะจ่ายเงินไม่ได้ ในระหว่างนี้จึงต้องทำงานควบคู่กัน

“ส่วนการหาแหล่งเงินอื่นๆ มาจ่ายให้กับเจ้าหนี้ ตอนนี้กำลังหารือกับสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ว่าจะมีเม็ดเงินจากแหล่งไหนมาช่วยเราได้ ซึ่งทาง สบน. แนะนำให้กองทุนประกันวินาศภัยพยายามช่วยตัวเองก่อน โดยการหารายได้เพิ่ม เพราะหนี้เราเยอะมาก ซึ่งในช่วงสิ้นเดือนสิงหาคมนี้ ผมก็จะทำเรื่องเสนอที่ประชุมบอร์ดบริหารของกองทุนฯ รวมทั้งบอร์ด คปภ. พิจารณาอนุมัติปรับเพิ่มเงินนำส่งกองทุน จากปัจจุบันจัดเก็บอยู่ในอัตรา 0.25% ปรับเพิ่มเป็น 0.5% ของเบี้ยประกันที่บริษัทประกันภัยได้รับ จากนั้นก็จะเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพิจารณาเห็นชอบ โดยจะให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 เป็นต้นไป ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวนี้จะทำให้กองทุนประกันวินาศภัยมีรายได้เพิ่มขึ้น จากปีละ 600 ล้านบาท เพิ่มเป็นปีละ 1,200 ล้านบาท เป็นอย่างน้อย ซึ่งในอนาคตอาจจะเพิ่มขึ้นเป็นปีละ 1,400-2,000 ล้านบาทได้ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการขยายตัวของธุรกิจประกันภัย นอกจากนี้ในวันที่ 16 สิงหาคม 2565 ผมก็จะไปหารือกับสำนักงบประมาณ เนื่องจากกฎหมายประกันวินาศภัยเขียนเอาไว้ว่า ให้รัฐบาลสนับสนุนทางการเงินแก่กองทุน เพื่อให้กองทุนเป็นหลักประกันแก่เจ้าหนี้สัญญาประกันภัย แต่กระบวนการหาแหล่งเงินจากไหน ยังไม่ชัดเจน” นายชนะพลกล่าว

ถามว่ากองทุนประกันวินาศภัยมีฐานะเป็นนิติบุคคล เป็นหน่วยงานในกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง ไม่ใช่ส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ จะขอใช้เงินกู้หรือเงินงบประมาณจากรัฐบาลได้หรือไม่ นายชนะพลตอบว่า ประเด็นนี้ผมก็กำลังดูอยู่ ยังไม่รู้ว่าจะไปขอใช้วงเงินเงินกู้หรือเงินงบประมาณจากรัฐบาลได้หรือไม่ เนื่องจากกฎหมายของกองทุนประกันวินาศภัยไม่ได้เขียนเอาไว้เลย

“หลังจากที่ผมเข้ามารับตำแหน่งผู้จัดการกองทุนประกันวินาศภัย ก็เห็นปัญหาดังกล่าวนี้ ถ้ามีโอกาส ผมก็อยากจะเสนอกระทรวงการคลังขอแก้ไขกฎหมายประกันวินาศภัยเป็นแพกเกจ เช่น กรณีกองทุนมีเงินไม่เพียงพอที่จะชำระหนี้ให้กับลูกค้า หรือเจ้าหนี้ของบริษัทประกันภัยที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจ กองทุนฯ จะหาเงินจากแหล่งไหนมาชำระหนี้ได้บ้าง กำหนดลงไปในกฎหมายให้ชัดเจน”

นายชนะพลกล่าวต่อว่า กองทุนประกันวินาศภัยมีหลักการคล้ายกับสถาบันคุ้มครองเงินฝาก มีคุ้มครองผู้ที่ทำประกันภัย หรือเจ้าหนี้ให้ได้รับการชำระหนี้คืน กรณีที่บริษัทประกันภัยถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจโดยไม่ต้องรอกระบวนการชำระบัญชีเสร็จสิ้น ถามว่ากองทุนประกันวินาศภัยเป็นกองทุนเล็กๆ มีรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายแล้วประมาณ 600 ล้านบาทต่อปี หากรัฐบาลไม่ช่วยสนับสนุนเราจะไปหาเงินจากไหนมาชำระหนี้กว่า 60,000 ล้านบาท

ถามว่าการปรับเพิ่มอัตราเงินนำส่งกองทุนประกันวินาศภัยเต็มเพดาน 0.5% อาจมีบริษัทประกันวินาศภัยทั้งที่ขายกรมธรรม์ เจอ-จ่าย-จบ แต่รับผิดชอบจ่ายค่าสินไหมไปจนครบ หรือบริษัทที่ไม่ได้ขายกรรมธรรม์ประเภทนี้ อาจไม่ค่อยพอใจที่จะต้องมาร่วมรับผิดชอบต่อวิกฤติครั้งนี้ด้วย นายชนะพลตอบว่า ตามมาตรา 80/3 แห่ง พ.ร.บ.ประกันวินาศภัย 2535 กำหนดให้บริษัทประกันภัยต้องนำส่งเงินเข้ากองทุน ตามอัตราที่คณะกรรมการประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังไม่เกิน 0.5% ของเบี้ยประกันภัยที่บริษัทได้รับ ทั้งนี้ บทบาทหรือ ภารกิจของกองทุนประกันวินาศภัยจะมีอยู่ 2 ส่วน คือ พัฒนาธุรกิจประกันภัยให้มีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ ซึ่งในอดีตที่ผ่านมายังไม่เคยเกิดเหตุการณ์แบบนี้ จึงเก็บเงินนำส่งกองทุนแค่ครึ่งเดียว คือ 0.25% แต่หลังจากเกิดปัญหาวิกฤติโควิดฯ จึงมีความจำเป็นต้องเพิ่มอัตราเงินนำส่งกองทุนตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อหาเงินมาจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับประชาชนและเจ้าหนี้กว่า 60,000 ล้านบาท ผมคิดว่าภาคเอกชนหรือบริษัทประกันภัย เมื่อเห็นมูลหนี้ที่เกิดขึ้นแล้ว ควรจะเห็นใจประชาชนจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับเงินค่าสินไหมมากกว่า

ถามว่า กองทุนประกันวินาศภัยมีหนี้สินกว่า 60,000 ล้านบาท เคยทำการประเมินหรือไม่ว่ากองทุนประกันวินาศภัยจะมีรายได้จากการชำระบัญชีเท่าไหร่ นายชนะพล ตอบว่า “ตัวทรัพย์สินหลักๆ ที่เรายึดมาส่วนใหญ่จะอยู่ที่บริษัทเดอะวันประกันภัยฯ เป็นอาคารสำนักงานใหญ่สูง 7 ชั้น ตั้งอยู่บริเวณถนนรัชดาภิเษก คิดเป็นมูลค่าน่าจะประมาณ 100 ล้านบาท ซึ่งตอนนี้ผมใช้เป็นศูนย์บัญชาการของกองทุนประกันวินาศภัย ส่วนของบริษัทเอเชียประกันภัยฯ ไม่มีทรัพย์สินประเภทอาคาร แต่ใช้วิธีการเช่าตึกแถวเป็นที่ทำการแทน ผมต้องไปยกเลิกสัญญาเช่า เพื่อลดภาระกองทุนฯ ในการจ่ายค่าเช่าอาคาร สำหรับบริษัทไทยประกันภัยก็ใช่วิธีเช่าเหมือนกัน ส่วนของบริษัทอาคเนย์ประกันภัยฯ นั้น ก็มีตึกแถวที่ใช้เป็นสำนักงานอยู่ 2 แห่ง ที่เหลือใช้วิธีเช่าเกือบทั้งหมด”

“ขณะนี้ผมกำลังพิจารณาว่าจะนำเงินกองทุนประกันวินาศภัยไปจ่ายเป็นค่าชำระบัญชีได้หรือเปล่า ผิดวัตถุประสงค์การใช้จ่ายเงินของกองทุนหริอไม่ เพราะบางบริษัทซึ่งผมไม่อยากเปิดเผยชื่อ เหลือเงินไม่ถึง 1 ล้านบาท บางสาขาเหลือคอมพิวเตอร์ทิ้งไว้ 4-5 เครื่อง ซึ่งผมตีเป็นซาก สรุปว่าทั้ง 4 บริษัทที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตมีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน คงต้องส่งให้ศาลล้มละลายพิจารณาทั้งหมด เพราะฉะนั้น ไม่ต้องมาถามผมว่าจะมีรายได้จากการขายทรัพย์สินเท่าไหร่” นายชนะพลกล่าว

ถามต่อว่า กองทุนประกันวินาศภัยกำหนดหลักเกณฑ์ในการจ่ายเงินให้เจ้าหนี้หรือผู้เอาประกันอย่างไร นายชนะพลกล่าวว่า ผมจ่ายเงินตามลำดับก่อนหลังที่มายื่นคำร้องขอรับชำระหนี้ไว้กับกองทุนฯ หรือจ่ายตามคิว ไม่ว่าจะเป็นประกันภัยโควิดฯ หรือ ประกันวินาศภัยทั่วไป ไม่มีการเลือกปฏิบัติหรือเลือกสุ่ม ผมมองว่าประชาชนผู้เอาประกันและเจ้าหนี้ทุกรายมีความจำเป็นต้องใช้เงินอย่างเร่งด่วนเหมือนกัน ดังนั้น การพิจารณาอนุมัติจ่ายเงินต้องเสมอภาคและโปร่งใส ไม่เลือกปฏิบัติ

นายชนะพลกล่าวต่อว่า ปัญหาของกองทุนประกันวินาศภัยตอนนี้ คือ เรามีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบอยู่แค่ 10 กว่าคน ต้องตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารหลักฐานที่เจ้าหนี้กว่า 700,000 ราย มายื่นไว้กับกองทุน ซึ่งการตรวจสอบช้ามาก แต่ละเดือนตรวจสอบเสร็จประมาณ 400-500 ราย ตอนนี้ผมก็ทำเรื่องขออนุมัติบอร์ดกองทุนฯ เพิ่มเจ้าหน้าที่ฝ่ายตรวจสอบอีก 100 คน เพื่อตรวจสอบเอกสารของเจ้าหนี้บริษัทประกันภัยทั้ง 4 แห่ง คาดว่าจะสามารถตรวจรับรองความถูกต้องของเอกสารหลักฐานได้เพิ่มเป็น 4,000-5,000 รายต่อเดือน ถามว่าทำไมต้องตรวจสอบเอกสารของเจ้าหนี้ให้ถูกต้อง ก่อนอนุมัติจ่ายเงินค่าสินไหม จากการตรวจสอบเอกสารของเจ้าหนี้ที่มายื่นคำร้องขอรับชำระหนี้กับกองทุนประกันวินาศภัย ในเบื้องต้นพบว่า เจ้าหนี้บางรายมีการยื่นคำร้องซ้ำซ้อนกัน เช่น เจ้าหนี้บางรายกลัวไม่ได้เงินคืน ยื่นเอกสารมา 2-3 ครั้ง เมื่อเจ้าหน้าที่ลงไปตรวจสอบปรากฏว่าเป็นเรื่องเดียวกัน หรือเจ้าหนี้บางราย ยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้เป็นวงเงินเอาไว้ก่อน ยกตัวอย่าง กรณีทำประกันภัยรถยนต์เอาไว้ 20,000 บาทมาแล้วระยะหนึ่ง จึงคงเหลือเบี้ยประกันภัยที่ต้องจ่ายคืนแค่ 1,000 บาท แต่มายื่นขอรับชำระค่าเบี้ยประกันกับกองทุนฯ คืน 20,000 บาท หรือกรณีทำประกันภัยโควิดฯ เอาไว้ 100,000 บาท กับทำประกันสุขภาพอีก 100,000 บาท แต่มายื่นคำร้องขอรับชำระหนี้คืน 200,000 บาท ซึ่งจริงๆ แล้วมีสิทธิแค่ 100,000 บาทเท่านั้น

“กรณีแบบนี้ ผมเชื่อว่ามีเยอะมาก จึงมีความจำเป็นต้องระดมเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบข้อมูลของเจ้าหนี้ให้ถูกต้องก่อนจ่ายเงิน ซึ่งถ้าตัดความซ้ำซ้อนส่วนนี้ออกไป กองทุนประกันวินาศภัยอาจมีหนี้สินเหลือแค่ 50,000 ล้านบาท ก็มีความเป็นไปได้ ขณะเดียวกัน ผมก็ได้ไปลงนามในบันทึกข้อตกลงกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2565 เพื่อขอใช้ฐานข้อมูลผลตรวจ RT-PCR ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ผ่านทางออนไลน์ มาใช้ตรวจยันว่า ผู้ที่มาขอเคลมประกันโควิดฯ กับเรา เป็นผู้ป่วยติดเชื้อจริงๆ และยังอยู่ในช่วงระยะเวลาที่กรมธรรม์มีผลคุ้มครองหรือไม่ วงเงินคุ้มครองเท่าไหร่ นอกจากเพิ่มเจ้าหน้าที่แล้ว การเชื่อมโยงข้อมูลกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ก็จะทำให้กองทุนฯ ตรวจเอกสารได้อย่างรวดเร็ว เมื่อเราหาแหล่งเงินมาได้ ก็สามารถจ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนได้ทันที” นายชนะพลกล่าว

ผู้จัดการกองทุนประกันวินาศภัยกล่าวต่ออีกว่า ผมต้องขอเรียนผู้ที่ทำประกันภัย และเจ้าหนี้ของบริษัทประกันภัยทั้ง 4 แห่ง หลังจากตรวจเอกสารเสร็จเรียบร้อย ในขั้นตอนของการอนุมัติจ่ายเงิน ผมจะขอจ่ายเป็นรายปีไป เมื่อกองทุนประกันวินาศภัยหาแหล่งเงินมาได้ ก็จะเร่งอนุมัติจ่ายให้ตามลำดับของผู้ที่มายื่นคำร้อง อย่างในปีนี้ ผมเตรียมเงินไว้ 3,000 ล้านบาท เพียงพอที่จะนำไปจ่ายให้กับเจ้าหนี้ของบริษัทประกันภัย 4 แห่งได้จนถึงสิ้นปี 2565 ส่วนในระหว่างนี้ ผมก็ต้องประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นสำนักบริหารหนี้สาธารณะ สำนักงบประมาณ หรือสถาบันการเงิน เพื่อหาแหล่งเงินกู้หรือเงินงบประมาณเตรียมไว้จ่ายให้กับเจ้าหนี้ในปี 2566 ต่อไป ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างการหารือ ยังไม่ชัดเจนว่าจะหาเงินมาได้เท่าไหร่

  • คปภ. ออกคำสั่งยกเลิก การใช้สิทธิของ “บริษัทประกัน” บอกเลิกกรมธรรม์โควิด
  • ปมพิพาท กรมธรรม์ เจอ-จ่าย-จบ ทางออกที่ “ไม่มีใครถูกลอยแพ”
  • คลังสั่งเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย “เอเชียประกันภัย” ตั้งแต่ 15 ต.ค.64
  • ลูกค้า “เอเชียประกันภัย” ร้องคลัง-ทวงค่าสินไหม 4 ล้านบาท
  • คลังสั่งถอนใบอนุญาต“อาคเนย์ประกันภัย-ไทยประกันภัย” ปิดกิจการทันทีวันนี้