ThaiPublica > คอลัมน์ > Godzilla Minus One ซากปรักแห่งความสิ้นหวังมีนามว่า “ความกลัว”

Godzilla Minus One ซากปรักแห่งความสิ้นหวังมีนามว่า “ความกลัว”

10 กันยายน 2023


1721955

“ญี่ปุ่นหลังสงครามโลกสูญสิ้นทุกสิ่งทุกอย่างไปหมดแล้ว ภาพยนตร์เรื่องนี้บรรยายถึงการดำรงอยู่ของสิ่งซึ่งก่อให้เกิดความสิ้นหวังอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ชื่อเรื่อง Godzilla Minus One ถูกสร้างขึ้นโดยคำนึงถึงประเด็นนี้ เพื่อที่จะพรรณนาถึงความสิ้นหวังเหล่านั้น ผมและทีมงานได้ทำงานร่วมกันเพื่อสร้างฉากที่ทำให้ ก็อดซิลล่า ดูเหมือนหากว่า “ความกลัว” กำลังเดินเข้ามาหาเรา และเราอยู่ในที่ซึ่งความสิ้นหวังกองทับถมอยู่บนความสิ้นหวัง ผมคิดว่านี่คือจุดพีคที่สุดในบรรดาภาพยนตร์ทุกเรื่องที่ผมเคยสร้างมา และเป็นเรื่องที่สมควรที่จะ “สัมผัส” ได้มากกว่าแค่ “ดู” ในโรงภาพยนตร์ ผมหวังว่าคุณจะสัมผัสได้ถึงก็อดซิลล่าที่น่ากลัวที่สุดในสภาพแวดล้อมที่สิ้นหวังที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้” -ทาคาชิ ยามาซากิ ผู้กำกับและเขียนบท Godzilla Minus One

ตัวอย่างแรกฉบับเต็มอย่างเป็นทางการของ Godzilla Minus One เพิ่งถูกโพสต์บนช่องยูทูบของค่ายโตโฮ เมื่อวันที่ 4 กันยายนที่ผ่านมานี้เอง และมันสร้างความฮือฮาเป็นอย่างมาก เพราะสิ่งที่เราพอจะรู้เลา ๆ มาเมื่อคราวทีเซอร์แรก https://youtu.be/YlceGpbGgvE?si=fCiNVlg1JNC-pXok ที่เกริ่นถึงเรื่องญี่ปุ่นหลังสงครามโลก ที่ถูกถล่มหนัก จากศูนย์กลายเป็นติดลบนั้น ก็อดซิลล่าภาคล่าสุดนี้กำลังจะนำเราไปสู่อะไร

Godzilla Minus One จะฉายเป็นหนังปิดเทศกาลหนังโตเกียวในปีนี้ในวันที่ 1 พฤศจิกายน จากนั้นจะเข้าโรงฉายจริงในวันที่ 3 พฤศจิกายน ในวาระครบรอบ 70 ปี ก็อดซิลล่าที่เปิดตัวครั้งแรกในวันเดียวกันนี้ในปี 1954 ก่อนที่จะข้ามไปฉายในอเมริกาวันที่ 1 ธันวาคม

อันการฉายในสองประเทศนี้มีนัยยะสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่ถูกเกริ่นเอาไว้อย่างน่าตื่นตะลึงตั้งแต่คลิปทีเซอร์มาจนถึงเทรลเลอร์ล่าสุด
Godzilla ถูกสร้างเป็นหนังญี่ปุ่น 33 เรื่อง (Godzilla Minus One คือเรื่องที่ 33) และหนังอเมริกันอีก 5 เรื่อง (รวมเรื่องที่จะฉายปีหน้าด้วย) เป็นทั้งหมด 38 เรื่อง รวมถึงฉบับฉายทีวีทั้งไลฟ์แอ็คชั่น และแอนิเมชั่นรวมกันอีก 9 ชุด นี่จึงเป็นแฟรนไชส์ไคจูจากญี่ปุ่นที่ครองใจคนดูมาอย่างยาวนาน และถูกตีความไปต่าง ๆ นานาหลากหลายเวอร์ชั่น เป็นทั้งมิตรและศัตรู ทั้งผู้พิทักษ์และผู้ทำลายล้างมวลมนุษยชาติ

ขณะนี้เรายังไม่รู้เรื่องย่อ แต่ล็อกไลน์ภาพรวมทั้งหมดของภาคนี้อธิบายว่า “หลังสงครามสถานะทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นลดลงจนเหลือศูนย์ ก็อดซิลล่าปรากฏตัวและทำให้ประเทศตกอยู่ในสภาวะติดลบ” Godzilla Minus One ภาคนี้จะกำกับและเขียนบทโดย ทาคาชิ ยามาซากิ ที่เคยสร้างความตราตรึงให้กับผู้ชมมาแล้วใน Always: Sunset on Third Street ทั้ง 3 ภาค Stand by Me Doraemon 2 ภาค และ Parasyte อีก 2 ภาค จากผลงานที่ผ่านมาของเขาแล้วก็รับประกันได้เลยว่าก็อดซิลล่าภาคนี้จะมีความลึกซึ้งและต้องหลั่งน้ำตาให้อย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตามสิ่งที่แฟนเดนตายจะสังเกตได้จากตัวอย่าง คือ Godzilla Minus One จะเป็นหนังย้อนยุคไปสู่ต้นกำเนิดของมัน โดยภาพสำคัญที่เห็นได้ชัดคือภาพของซากตึกเก่าที่ถูกทำลาย และอีกเหตุการณ์คือเรือใหญ่อัปปางกลางทะเล สองสิ่งนี้เกี่ยวข้องอย่างไรกับก็อดซิลล่า คงต้องย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้นของมัน

กำเนิดก็อดซิลล่า

อันที่จริงบริบททางภาพยนตร์ในฉบับญี่ปุ่น มีต้นกำเนิดหลากหลายมาก ขึ้นอยู่กับการตีความที่ต่างกันออกไป แต่โดยทั่วไปแล้วจะอธิบายว่าก็อดซิลล่าเป็นสัตว์ทะเลยุคก่อนประวัติศาสตร์ขนาดมหึมาที่มีความอันตราย มันจำศีลอยู่ใต้ทะเลลึกมาช้านานจนกระทั่งมันถูกปลุกให้ตื่น และได้รับพลังอันมหาศาลจากรังสีนิวเคลียร์จาก 2 เหตุการณ์คือ เมื่อสหรัฐระเบิดนิวเคลียร์ถล่มใส่ฮิโรชิม่าและนางาซากิ เมื่อปี 1945 อันนับเป็นการสิ้นสุดสงครามโลก กับอีกเหตุการณ์ที่หลายคนอาจลืมไปแล้ว นั่นคือ Lucky Dragon V ในปี 1954 ปีเดียวกับที่หนังก็อดซิลลาภาคแรกปรากฏโฉมขึ้นในโลกภาพยนตร์

มังกรนำโชคหมายเลข 5

หรือ ไดโงะ ฟุกุริว มารู เมื่อเรือประมงล่าปลาทูน่าของญี่ปุ่นพร้อมลูกเรือ 23 นาย ถูกปนเปื้อนจากผลกระทบจากการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์อย่างแสนสาหัส ที่เรียกว่าการทดสอบ Castle Bravo อันเป็นการทดสอบระเบิดไฮโดรเจนชุดแรกในบรรดาชุดอาวุธทำลายล้างขั้นรุนแรง ณ แนวปะการังบิกินี บนหมู่เกาะมาร์แชล ส่งผลทำให้ลูกเรือมีอาการ ได้รับพิษจากรังสีอย่างเฉียบพลัน Acute radiation syndrome (ARS) เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 1954

โดยอาการของ ARS หากมองผิวเผินอาจไม่ได้สาหัสมาก เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหารในช่วงชั่วโมงแรก ๆ หรืออีกหลายสัปดาห์หลังจากนั้น แล้วอาการจะดูทุเลาขึ้น ก่อนที่จะเริ่มรุนแรงขึ้นจนส่งผลให้เสียชีวิตได้เลย โดยรวมจะแบ่งเป็น 3 ประเภท คือกลุ่มอาการทางไขกระดูก, ระบบทางเดินอาหาร และทางหลอดเลือด ส่วนของเซลล์ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดมักจะทำให้เกิดการแบ่งตัวอย่างรวดเร็ว หากได้รับรังสีในปริมาณมากอาจเกิดผลเสียหายต่อดีเอ็นเอซึ่งแก้ไขไม่ได้ ในเหตุการณ์ดังกล่าวแม้ว่าภายหลังลูกเรือส่วนใหญ่จะหายดี แต่มีอยู่หนึ่งรายเสียชีวิต คือ คุโบยามะ ไอคิจิ หัวหน้านักวิทยุประจำเรือ เสียชีวิตลงในวันที่ 23 กันยายน 1954 นับเป็นเหยื่อรายแรกที่ได้รับผลกระทบจากระเบิดไฮโดรเจนขั้นร้ายแรง

(จากซ้าย) Rhedosaurus / Tyrannosaurus / Iguanodon / Stegosaurus

รูปลักษณ์ของก็อดซิลล่า

แรงบันดาลใจสำคัญของก็อดซิลล่า อันที่จริงแล้วมาจากหนังอเมริกันเรื่อง The Beast from 20,000 Fathoms (1953) ในหนังจะมีไดโนเสาร์ยักษ์อันเป็นสายพันธุ์ที่สมมติขึ้นมาที่มีหน้าตาเหมือนตัวตะกวดเรียกว่า Rhedosaurus ผู้กำกับศิลป์ในยุคเริ่มแรก อากิระ วาตานาเบะ ได้ผสมผสานรีห์โดซอรัส ให้ยืนสองขาแบบ ไทแรนโดโนซอรัส,แต่มีขาหน้าใหญ่กว่า และขาหลังทรงพลังเหมือน อิกัวโนดอน, มีคลีบหลังแบบ สเตโกซอรัส และมีเกล็ดตามตัวเหมือนแอลลิเกเตอร์(จระเข้ดึกดำบรรพ์) และอันที่จริงผิวของก็อดซิลล่า ได้รับแรงบันดาลใจมาจากสะเก็ดแผลพุพองของเหยื่อที่ถูกระเบิดนิวเคลียร์

แม้จะมีการอธิบายอย่างชัดเจนทางด้านรูปลักษณ์ แต่สิ่งหนึ่งที่ยังคงไม่แน่ชัดคือเรื่องที่มาของชื่อสัตว์ประหลาดตัวนี้ แหล่งข้อมูลที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางคือ โปรดิวเซอร์โทโมยูกิ ทานากะ เป็นผู้ตั้งชื่อสัตว์ประหลาดดึกดำบรรพ์ตัวนี้ ตามฉายาของคนงานโตโฮคนหนึ่ง ที่ถูกยกย่องว่าเป็นผู้แข็งแกร่งที่สุดในบริษัท และเรียกเขาแบบติดตลกว่า “โกจิระ” อันเป็นวิธีการผสมคำแบบญี่ปุ่น คือคำว่า “โกริระ” (กอริลล่า) มาผสมกับ “คูจิระ” (ปลาวาฬ) โดยได้รับการยืนยันจากโตโฮเอง โดยมีการยืนยันว่าพนักงานที่แข็งแกร่งที่สุดในบริษัทคนดังกล่าวมีชื่อจริงว่า ชิโระ อามิคุระ

อย่างไรก็ตามภายหลังในสารคดี BBC เรื่อง Godzilla (1988) คิมิ ทานากะ ภรรยาของฮอนดะ ทานากะ (โปรดิวเซอร์สึบุรายะ สตูดิโอผู้ผลิต) และ โคจิ คาจิตะ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสร้าง ได้ระบุในสารคดีเรื่องดังกล่าวว่า “จริง ๆ แล้วไม่มีใครรู้เลยว่าชื่อนี้มาได้อย่างไร แม้แต่พวกเราที่สนิทกับ โทโมยูกิเป็นที่สุด ก็ยังไม่รู้” ต่อมาเมื่อโตโฮนำไปจัดจำหน่ายในต่างประเทศจึงมีการเปลี่ยนชื่อเป็นฝรั่งว่า “Godzilla” ให้มันดูยิ่งใหญ่ราวกับเป็นเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่กว่าสัตว์ประหลาดทั้งปวง

หลังจากหนัง Godzilla Minus One จะลงโรงในญี่ปุ่นวันที่ 3 พฤศจิกานี้ ไม่นานจากนั้น วันที่ 17 เดือนเดียวกันแอปเปิลพลัสจะให้สตรีมมิ่ง ซีรีส์ Monarch: Legacy of Monsters ความยาว 10 ตอนจบที่จะเล่าถึงก็อดซิลล่าออกมาต่อสู้กับบรรดาสัตว์ประหลาดยักษ์ โดยจะเกี่ยวข้องกับองค์กรลึกลับที่เรียกว่า Monarch ที่จะเชื่อมโยงเหตุการณ์ 3 ช่วงอายุคนย้อนไปในยุค 50s ตามด้วยเดือนมีนาคมปีหน้า หนังฮอลลีวูดจะฉาย Godzilla X Kong: The New Empire

ล่าสุดโปรดิวเซอร์มินามิ อิชิกาวะให้สัมภาษณ์ว่า “ใช่แล้วที่ว่าในภาคนี้จะเป็นเหตุการณ์ในช่วงหลังสงครามโลก ผมพบว่ามันแปลกใหม่มากที่จะสร้างเหตุการณ์ในยุคดังกล่าวที่ญี่ปุ่นอยู่ในภาวะปราศจากกองกำลังป้องกันตนเอง ไม่มีอาวุธ ไม่มีกระสุน หรืออีกนัยหนึ่งคือการย้อนกลับไปสู่จุดเริ่มต้นคือ …จะเกิดอะไรขึ้นถ้าก็อดซิลล่าปรากฎตัวในเวลาที่ญี่ปุ่นไม่มีใครให้พึ่งพิง”

ขณะที่ผู้กำกับ ทาคาชิ ยามาซากิเสริมว่า “ผมเห็นภาพมาตลอดว่า ก็อดซิลล่า เป็นภัยคุกคามทางนิวเคลียร์ หรือเป็นเงาแห่งสงครามที่มาในรูปสัตว์ประหลาดยักษ์ ดังนั้นหากผมได้รับอนุญาตให้สร้างหนังก็อดซิลล่าในแบบของตัวเองสักเรื่อง ผมก็อยากจะย้อนกลับไปเล่าเหตุการณ์ในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง…เพราะผมอยากทำหนังที่ตอบโต้กับเหตุการณ์หลังสงครามโลกเมื่อญี่ปุ่นถูกทำลายล้างอย่างหนัก และเป็นช่วงที่ประเทศอ่อนแอที่สุด”

อย่างไรก็ตามหากย้อนไปถึงจุดกำเนิดก็อดซิลล่า ครั้งหนึ่งเมื่อโปรดิวเซอร์ฉบับโตโฮยุคแรก ๆ ถูกถามว่าตกลงแล้ว ก็อดซิลล่านี่มันเป็นพระเอกหรือผู้ร้าย มันดีหรือไม่ดีกันแน่ โชโงะ โทมิยามะ กล่าวว่า “คงต้องเปรียบมันเหมือนเทพเจ้าในแบบลัทธิชินโตที่เป็นทั้งผู้พิทักษ์และผู้ทำลายล้าง ไม่อาจตัดสินได้ด้วยมาตรฐานความดีความชั่วแบบมนุษย์ได้ ก็อดซิลล่าทำลายล้างทุกสิ่ง เพื่อให้สรรพสิ่งถือกำเนิดใหม่ เพื่อให้สิ่งใหม่สามารถเริ่มต้นขึ้นได้”