ThaiPublica > ประเด็นร้อน > เลือกตั้งอย่างรับผิดชอบ 2566 > เหตุผลที่เราควรเลือกลุง!?

เหตุผลที่เราควรเลือกลุง!?

13 พฤษภาคม 2023


1721955

นี่อาจเป็นครั้งแรกก็ได้ที่คอลัมน์เกี่ยวกับรสนิยมทางศิลปะกำลังจะนำเสนอสิ่งที่ไร้รสนิยมทางศิลปะ เอาเป็นว่าอย่างน้อยขอให้บทความนี้เป็นการบันทึกช่วงเวลาอันเสื่อมทรามที่สุดในหน้าประวัติศาสตร์ไทย (แม้ผมจะพูดว่าที่สุด นั่นก็หมายถึงในเวลานี้ เพราะเชื่อว่าความเสื่อมทรามกว่านี้น่าจะเกิดขึ้นอีกซ้ำแล้วซ้ำอีกในอนาคต) ไม่ว่าวันพรุ่งนี้ผลการเลือกตั้งจะออกมาท่าไหน มีบัตรเขย่งอีกหรือไม่ จะมีการยุบพรรคอีกหรือเปล่า มีงูเห่าแปรพรรคบ้างไหม หรือลุงจะอยู่ต่อก็ตาม วนลูปถอยหลังยักแย่ยักยันอยู่อย่างนั้น จนเหมือนทั้งชีวิตจะมองไม่เห็นอนาคตของชาติ เห็นแต่การถูกแช่แข็ง ท่ามกลางความเจริญของนานาอารยะประเทศ

เกริ่นก่อนว่าผู้เขียนมาจากยุคเจ็น-เอ็กซ์ ช่วงวัยเด็กของเราทีวีจะเริ่มตอนสี่โมงเย็น ก่อนรายการสำหรับคุณหนู จะเป็นเพลงปลุกใจประเภท “เราสู้” “หนักแผ่นดิน” เปิดวนไปซ้ำ ๆ มีอยู่ช่วงหนึ่งกายกรรมชื่อดังมาแสดงในเมืองไทย เรารู้จักกันในนาม “กายกรรมเปียงยาง” เรารู้แค่ว่ามันมาจากเกาหลี แต่เราไม่เคยรู้เลยว่ามันเป็นการแสดงของพวกเผด็จการทหารเกาหลีเหนือ พอโตมาหน่อยผู้เขียนเผอิญเคยไปเกาหลีใต้ ตอนที่บ้านเมืองเขายังไม่เจริญอย่างทุกวันนี้ อะไร ๆ ก็แสนเชย อากาศก็แสนจะแย่ อาหารบ้านเราอร่อยกว่าเยอะ ฯลฯ ส่วนบ้านเราดูจะมีหวัง โดยเฉพาะแวดวงการหนังจากที่โลกจับตามองหนังฮ่องกง ญี่ปุ่น ไต้หวัน หนังจีน แล้วจู่ ๆ โลกก็หันมามองเมืองไทย ไม่ว่าจะนางนาก (2542) ของนนทรีย์ นิมิบุตร, ฟ้าทะลายโจร (2543) ของ วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง ไปจนถึง สุดเสน่หา (2545) ของอภิชาตพงศ์ วีระเศรษฐกุล ฯลฯ

แต่รู้ตัวอีกที โลกก็เมินไทยหันไปหาเกาหลีใต้เสียแล้ว ท่ามกลางกระแสเคป๊อปที่เดี๋ยวนี้บ้านเราเขาเรียกซอล์ฟพาวเวอร์ และอยากจะเลียนแบบเขย่งก้าวกระโดดแบบเขาบ้าง แต่กระดากเกินกว่าจะหันมาสำรวจตัวเอง ขณะที่เกาหลีวิพากษ์ทุกอย่างตั้งแต่รัฐทหารไปจนรากเหง้าผู้ปกครองก่อนจะค่อย ๆ เติบโตเรียนรู้สิ่งที่เรียกว่าสิทธิมนุษยชน

ขณะเดียวกันท่ามกลางวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 ก่อนที่บ้านเราจะมีรัฐประหารสองครั้งซ้อนคือในปี 2549 และ 2557 ถ้านับตั้งแต่ตอนนั้น(2549) นี่ก็ 17 ปีพอดี กว่าที่เราจะมีเลือกตั้งอีกครั้ง ที่มันให้ความหวังเราอีกครั้งว่า พรรคที่เราเลือกจะไม่ถูกตัดตอน ไม่ว่าจะจากการรัฐประหาร หรือโดนยุบพรรค และแอบคาดหวังลึก ๆ ว่าที่ผู้ใหญ่หลอกเราว่าเขาเป็นคนดี มีจริยธรรม มีคุณธรรม เขาจะมีจริง ๆ ไม่ใช่แค่คำหลอกหลอนไปวัน ๆ ว่า “ขอเวลาอีกไม่นาน” แต่มันก็ผ่านไปแล้วเกือบสองทศวรรษ หรือต้องรอให้จบชีวิตเราเสียก่อน อาจจะผ่านไปอีกสักศตวรรษ(ร้อยปี) หรือสหัสวรรษ(พันปี)กระมัง ประเทศเราจึงจะทัดเทียมโลกอื่นได้อย่างแท้จริง โดยไม่ต้องคอยหลอกตัวเองไปวัน ๆ อยู่อย่างนี้

หนักแผ่นดิน

เช้าวันศุกร์ที่ 5 พฤษภาคม 2566 เพจกองทัพบก Royal Thai Army ปล่อยคลิปเพลง “หนักแผ่นดิน”

“ด้วยความเคารพ ด้วยความเคารพ เพลงนี้มันเป็นเพลงอาถรรพ์ เพลงนี้มันแรง เพลงนี้มันมีที่มาที่ไป เพลงนี้ไม่บังควรที่จะนำเสนอกันในช่วงโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้ง เพลงนี้ถูกใช้เป็นเพลงการเมือง เพลงนี้ถูกใช้เป็นอาวุธในการปั่นหัวคนบางกลุ่มให้ลุกขึ้นมาฆ่าคนไทยด้วยกันเอง สมัย 6 ตุลา 2519 ครั้งนั้นก็เจ็บปวดกันพอแล้ว นับถึงวันนี้บาดแผลของสังคมมันก็ยังไม่หาย จี้ลงไปเท่าไหร่มันก็เจ็บจี๊ด เจ็บลึก ๆ ขยับมากุมภาพันธ์ 2562 โค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งเมื่อต้นปี 2562 กองทัพบกมีคำสั่งให้สถานีวิทยุกองทัพบกทั่วประเทศ เปิดเพลงนี้ (หนักแผ่นดิน) สามเวลาหลังอาหาร ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าต้องการอะไร…ต้องการอะไร ไม่ทราบสิครับ เอาเพลงสมัยฆ่าคน 6 ตุลา ปี 2519 มาเปิดในช่วงก่อนเลือกตั้งปี 2562 ขยับมา 5 พฤษภา 2566 อีกไม่กี่วันก็จะเลือกตั้ง เอาเพลงนี้มาเปิดอีก ก็ไม่ทราบสิครับ…อย่าทำเลย อย่าทำเลย อย่าทำเลย อย่าเลย แค่นี้ประเทศมันก็ช้ำพออยู่แล้วล่ะ อย่าทำเลย หนักแผ่นดินมาเปิดกันในช่วงใกล้เลือกตั้ง อย่าทำเลย ถ้ากลัวว่าประเทศนี้ยังแหลกยังยับกันไม่พอก็เอาเลย” ดนัย เอกมหาสวัสดิ์ (หมาแก่) จากรายการเจาะลึกทั่วไทย

สำหรับผู้ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ท่านสามารถคลิกอ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://doct6.com/

“เนื้อหาเพลงหนักแผ่นดินมีเนื้อหาโจมตีผู้เห็นต่างทางการเมืองว่าเป็นผู้บ่อนทำลายสังคม ดูถูกเพื่อนร่วมชาติว่ารับใช้อิทธิพลจากต่างประเทศ ทั้งที่ความเป็นจริงการที่มีความคิดเห็นแตกต่างกันถือเป็นเรื่องปกติในสังคมประชาธิปไตยไม่ใช่เรื่องผิดแปลกอะไร เนื้อหาของเพลงก่อให้เกิดแห่งความเกลียดชัง มีเป้าประสงค์เพื่อชี้ชวนให้มองว่าผู้เห็นต่างเป็นพวกหนักแผ่นดิน บั่นทอนความเป็นมนุษย์ของเพื่อนร่วมชาติ ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดความรุนแรงได้ และที่ผ่านมาเพลงดังกล่าวก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือสร้างบรรยากาศให้เกิดความเกลียดชังและความรุนแรงในหลายเหตุการณ์ ผมขอให้ผบ.ทบ.ยกเลิกการเปิดเพลงดังกล่าว” พริษฐ์ ชิวารักษ์ กล่าวเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2562 ย้อนกลับไปในปีเลือกตั้งคราวก่อน หลังจากฝ่ายทหารกรอกหูประชาชนด้วยเพลงหนักแผ่นดิน พริษฐ์ (เพนกวิ้น) และเพื่อนได้ออกไปเรียกร้องให้กองทัพยกเลิกการเปิดเพลงดังกล่าว ระหว่างนั้นเพนกวิ้นและเพื่อน ๆ ได้ชูป้ายข้อความว่า “หนักแผ่นดินไม่อินดี้ ฟังเพลงประเทศกูมี ดีกว่ามั้งลุง”

เพลง “ประเทศกูมี” โดย RAP AGAINST DICTATORSHIP ซึ่ง MV เองได้จำลองภาพเหตุการณ์เดือนตุลาไว้ด้วย

ในปีเดียวกันนั้น ถัดมาอีกเพียง 3 เดือน เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2562 เพลง “ประเทศกูมี” ก็คว้ารางวัลสิทธิมนุษยชนระดับโลก Václav Havel Prize for Creative Dissent โดยขึ้นคำเปิดตัวอธิบายและให้เกียรติต่อเพลงนี้ว่า “ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีรัฐบาลที่ถูกควบคุมโดยทหาร เป็นประเทศที่คุมขังพวกเขาผู้ที่แสดงความเห็นต่าง แต่ Rap Against Dictatorship ได้ปล่อยเพลงนี้ออกมาอย่างกล้าหาญ ที่กลายเป็นไวรัลในทันที ฝ่ายตำรวจประกาศต่อสาธารณะว่าจะจับกุมพวกเขา ด้วยเหตุผลว่าผิดกฎหมาย และตั้งข้อหาพวกเขาด้วยการจะจับเข้าคุก 5 ปี วิดีโอนี้ตอนนี้มียอดวิว 64 ล้านวิว กลายเป็นว่าเพลงนี้โด่งดังขึ้นอย่างมาก จนฝ่ายทหารถูกบังคับให้เปิดเผยเพลงนี้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย เป็นการพิสูจน์พลังของการยืนหยัดขึ้นต่อสู้กับทรราชย์ (กล่าวคือเดิมทีรัฐไทยพยายามบล็อคเพลงนี้ออกจากยูทูบด้วยข้ออ้างทางกฎหมายไทย แต่ภายหลังด้วยกระแสไวรัลทำให้ไม่สามารถบล็อคเพลงนี้บนโลกออนไลน์ได้อีกต่อไป)” คลิปขณะรับรางวัลที่นอร์เวย์

รางวัล Václav Havel สำหรับความขัดแย้งเชิงสร้างสรรค์ เป็นรางวัลที่จัดตั้งขึ้นในปี 2555 โดยมูลนิธิสิทธิมนุษยชน Human Rights Foundation (HRF) เป็นผู้จัดงานออสโล ฟรีดอม ฟอรัม ในนอร์เวย์, ปัจจุบัน Thor Halvorssen นักเคลื่อนไหว, ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ และประธาน HRF กล่าวว่า “รางวัลนี้มอบให้กับบุคคลที่มีส่วนร่วมในความขัดแย้งอย่างสร้างสรรค์ แสดงความกล้าหาญและความคิดสร้างสรรค์เพื่อท้าทายความอยุติธรรมและใช้ชีวิตในโลกความเป็นจริง” รางวัลนี้ตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแด่นักการละครและนักการเมือง อดีตประธานาธิบดีผู้ต่อสู้เพื่อคนเห็นต่างในประเทศเชก วาคลาฟ ฮาเวล (Václav Havel) ที่เสียชีวิตลงในเดือนธันวาคม 2554 โดยรางวัลนี้ได้รับความช่วยเหลือจาก ดักมาร์ ฮาฟโลวา ภริยาม่ายของเขา, เซอร์เกย์ บริน ผู้ร่วมก่อตั้งกูเกิล และปีเตอร์ ธีล ผู้ร่วมก่อตั้งเพย์พาล ได้ร่วมกันมอบเงินสนับสนุน

นับตั้งแต่ปี 2555 จนถึงปัจจุบัน มีศิลปินผู้ต่อสู้ท่ามกลางความเห็นต่างทางการเมืองมากมายที่ได้รับรางวัลนี้ อาทิ อ้ายเหว่ยเหว่ย ศิลปินชาวจีน, ออง ซาน ซูจี นักเคลื่อนไหวชาวพม่า, อาลี ฟาร์ซา นักวาดการ์ตูนชาวซีเรีย, พัค ซางฮัก นักประชาธิปไตยชาวเกาหลีเหนือ, พุซซี่ ไรอ็อต กลุ่มผู้ประท้วงหญิงพังค์ร็อคชาวรัสเซีย, เอ็ล เซ็กโต ศิลปินกราฟิตี้ชาวคิวบา, อาเตน่า ฟาร์คาดานิ นักวาดการ์ตูนชาวอิหร่าน, PaykanArtCar ศิลปินเกย์ผู้ลี้ภัยชาวอิหร่าน, มารินา โอฟสยานนิโควา นักข่าวชาวรัสเซียที่เกิดในยูเครน ฯลฯ

ขณะที่อีกไม่กี่เดือนถัดมาทั้งเพนกวิ้นและพรรคพวก รวมถึงศิลปินเจ้าของเพลงประเทศกูมี ต่างถูกลุงกว้านกวาดล้างจับไปปรับทัศนคติบ้าง จำคุกบ้าง สร้างความหวาดกลัวทั่วหัวระแหงไปพร้อม ๆ กับการต่อสู้ของกลุ่มยุวชนชูสามนิ้วในนามเยาวชนปลดแอก และคณะราษฎร

คุยกับลุง โดยพรรครวมไทยสร้างชาติ https://youtu.be/c7twmyoWmyc

คุยกับลุง

“วันเดียวกันครับ 5 พฤษภาคม 2566 พรรครวมไทยสร้างชาติได้ทำคลิปขึ้นมาคลิปหนึ่ง คลิปนี้มีชื่อว่าคุยกับลุง ครีเอทีฟพรรครวมไทยสร้างชาติทำคลิปนี้ขึ้นมาเพื่อจะปรับลุคของลุงตู่ …ผมเรียกพี่ตู่ก็แล้วกัน พี่ ผมมีความเชื่อมั่นว่าพี่ไม่ได้รู้เห็นเป็นใจ พี่ไม่ได้รู้เรื่องหรอก คลิปนี้ผลิตขึ้นโดยนักยุทธศาสตร์การเมืองประจำพรรค คิดได้แต่ไอเดีย โยนไอเดียไปให้ครีเอทีฟไปผลิตเป็นคลิปนี้ แต่ด้วยความคำรพนะ คลิปนี้ดนตรีนำตอนต้น มาเป็นเพลงมาร์ชราชวัลลภ นักยุทธศาสตร์การเมืองพรรครวมไทยสร้างชาติ รู้ที่มาที่ไปของเพลงมาร์ชราชวัลลภไหม อย่าทำ! ผมพูดได้แค่นี้แหละ เอาเพลงมาร์ชราชวัลลภมาใช้ประกอบในคลิปหาเสียงทางการเมือง…อย่าทำ มั่นใจว่าพี่ตู่ไม่รู้เรื่อง ก็ฝากถึงทีมงานด้วยว่า อย่าทำ” ดนัย เอกมหาสวัสดิ์ (หมาแก่) จากรายการ เจาะลึกทั่วไทย

เพลงพระราชนิพนธ์ มาร์ชราชวัลลภ หรือ Royal Guards March เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 7 ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นใน พ.ศ. 2491 (ค.ศ.1948) ขณะเดียวกันข้อมูลน่าสนใจคือในคลิปของรายการเจาะลึกทั่วไทย มีชาวเนตท่านหนึ่งได้คอมเม้นต์ว่า “นี่มันเพลงทหารของเยอรมันคับ แต่นาซีมั้ย ไม่รู้ แต่ตอนที่ทหารร้องอ่ะ มันเป็นนาซี เป็นคนทำร้องโฆษณาชวนเชื่อคับ เพลง alte kamarden คับ”

Alte Kameraden – เหล่าสหายเก่า (1889 / พ.ศ.2432)
Alte Kameraden (Old Comrades เหล่าสหายเก่า) เพจศึกษานาซีได้อธิบายไว้ว่า ‘หากท่านผู้อ่านอายุราว ๆ สัก 35-40 ปี น่าจะคงเคยได้ยินเพลงมาร์ชหนึ่งทางช่องหลายสี เป็นเพลงก่อนเข้าช่วงข่าวในพระราชสำนัก ซึ่งเพลงนี้แต่งโดย Carl Teike (คาร์ล ไทเก้) เมื่อปี 1889 เพลงนั้นชื่อว่า Alte Kameraden หรือแปลว่า สหายเก่า ซึ่ง ไทเก้นั้น เป็นนักดนตรีในวงโยธวาทิตของกองทัพเยอรมัน เมื่อแต่งเพลงนี้เสร็จก็เอาให้หัวหน้าวงดู แต่หัวหน้าวงกลับบอกว่า ให้เอาไปเผาเสีย เพราะกองทัพเยอรมันนั้นมีเพลงมาร์ชมากพอแล้ว ต่อมาไทเก้ จึงลาออกจากกองทัพ และไปเป็นตำรวจ แต่ก็ไม่ได้เผาเพลงนี้ตามคำสั่งแต่อย่างใด และในที่สุด เพลงมาร์ชนี้ ก็ได้รับการยกย่องว่าเป็นเพลงมาร์ชที่ “ดีที่สุดในโลก”

ไทเก้ เกิดในปี ค.ศ. 1864 แต่งเพลงมาร์ชไว้ มากกว่า 100 เพลง แม้ว่าเขาจะทำงานเป็นตำรวจ เขาก็ยังแต่งเพลงมาร์ชต่อไปเรื่อย ๆ สุดท้ายด้วยสุขภาพที่ไม่ดี เขาจึงลาออกจากตำรวจในปี ค.ศ.1908 และทำงานในกรมไปรษณีย์ กระทั่งสิ้นชีวิตหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ในปี ค.ศ.1922

Wikipedia กล่าวว่า “เพลงมาร์ชของเยอรมัน กำหนดจังหวะที่เร็วกว่าชาติอื่น ๆ ในยุโรป ด้วยจังหวะเข้มงวด 110 ครั้งต่อนาที ขณะที่ชาติยุโรปอื่น ต่ำกว่า เช่น ของอังกฤษ จังหวะอยู่ระหว่าง 88-112 ครั้งต่อนาที รวมทั้งการใช้กลองใหญ่ การใช้เครื่องเป่าเสียงเสียงต่ำ รวมทั้งกลองใบเล็ก ทำให้เพลงมาร์ชของเยอรมัน มีพลัง เร้าใจ คึกคักปลุกใจ เต็มไปด้วยความสง่างาม และ มีชีวิตชีวา”

ต่อมาในช่วงยุคที่ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ และ นาซี ขึ้นมาเรืองอำนาจ ในปี ค.ศ.1933 – 1945 (พ.ศ.2476-2488) เพลง Alte Kameraden นี้ได้ถูกนำกลับมาใช้เป็นเพลง “มาร์ชประจำกองทัพนาซี” และมีการแต่งเนื้อร้องเข้าไปใหม่เพื่อเป็นการปลุกใจชาวเยอรมันให้ฮึกเหิม และ มีจิตใจรุกรบที่จะทำการรุกรานชาติอื่น เพื่อสร้าง “อาณาจักร ไรช์ที่ 3 ” แก่ชนชาติอารยัน และเพลงนี้ถูกบรรเลงทุกครั้งที่มีการเดินสวนสนามของกองทัพนาซี ในทุกประเทศที่นาซียึดครองได้ รวมทั้ง เป็นเพลงที่ใช้นำขบวนพาเหรดของนักกีฬา เพื่อเข้าสู่สนามใน Olympics 1936 (พ.ศ.2479) ที่กรุงเบอร์ลิน ด้วย

ช่อง 7 สี ได้ซื้อลิขสิทธิ์ เพลงนี้มาเพื่อใช้เป็น “ไตเติ้ล” รายการข่าว ช่วง 2 ทุ่ม และใช้เปิดมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2525 จนถึง ปี พ.ศ.2543 จึงยกเลิกไป สาเหตุคงเนื่องมาจาก ในช่วงยุคหลัง พ.ศ.2540 การสื่อสารทางอินเทอร์เนต มีความก้าวหน้าไปไกลมากแล้ว จึงมีผู้สนใจค้นคว้าประวัติเพลงนี้จาก Google จึงไปพบประวัติดังกล่าวของเพลงนี้ ที่ผู้แปลเล่าถึงไปแล้ว และเห็นว่า ไม่น่าจะมีความเหมาะสมกับสังคมไทย จึงทักท้วงไปยังช่อง 7 สี ซึ่งต่อมา ทางช่อง 7 สี จึง “ถอด” เพลงนี้ออกจากรายการดังกล่าวไปเป็นที่เรียบร้อย

7 พฤษภาคม 2566 คลิปพรรครวมไทยสร้างชาติ https://youtu.be/0q1lYROBaNA

คุณอยากให้ประเทศไทยไม่เหมือนเดิมจริงหรือ

เช้าวันเลือกตั้งล่วงหน้า 7 พฤษภาคม 2566 พรรครวมไทยสร้างชาติได้เผยคลิป “คุณอยากให้ประเทศไทยไม่เหมือนเดิมจริงหรือ” โดยนอกจากจะยั่วยุปลุกปั่นให้เกิดความขัดแย้งกันในครอบครัว ระหว่างคนรุ่นพ่อแม่กับรุ่นลูกแล้ว ตัวคลิปยังสร้างความหวาดกลัวด้วยการบิดเบือนข้อเท็จจริงว่าพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม จะทำให้ทหารหายไป หรือยกเลิกการมีกองทัพ ทั้งที่จริงแล้ว พวกเขาต้องการให้ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร และให้มีการรับสมัครทหารโดยสมัครใจ อย่างไรก็ตามคลิปนี้กลายเป็นไวรัลวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะต่อประเด็นทหาร เราขอรวบรวมภาพจากชาวเน็ตต่าง ๆ ที่มีต่อกรณีทหารไว้ดังนี้

ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นเอง เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2566 ไม่กี่วันก่อนการเลือกตั้ง หลังจากความวุ่นวายในวันเลือกตั้งล่วงหน้าที่กกต.ส่อเค้าว่า “ถ้าไม่โกงก็อาจผิดพลาดโดยสุจริต” กลายเป็นแฮชแท็ก #กกตควรติดคุก ในอีกฟากฝั่ง ด้านฝ่ายประชาธิปไตย Rap Against Dictatorship ก็ได้โพสต์เพลง “คนที่ตัดสินใจคือฉันเอง”

บทความนี้หากดูผิวเผินอาจไม่เกี่ยวกับศิลปะอย่างที่คอลัมน์ตั้งใจจะพูดเรื่องศิลปะ แต่สิ่งเหล่านี้ล้วนผ่านการคัดก่อนทางศิลปะ ไม่ว่าจะ MV เพลงประเทศกูมี หรือคลิป คุณอยากจะให้ประเทศไทยไม่เหมือนเดิมจริงหรือ เพียงแต่พวกเขาต่างแสดงรสนิยมทางศิลปะที่แตกต่างกัน ด้วยอุดมการณ์ทางการเมืองที่ไม่เหมือนกัน ใช้อย่างรู้ลึกรู้จริง หรือใช้อย่างผิดที่ผิดทาง บิดเบือนความจริง ซึ่งน่าจะพอบอกเราได้ว่า อยากให้ลุงอยู่ต่อหรือพอแค่นี้…

เสียงของคุณจะกำหนดอนาคตของตัวคุณเองและลูกหลานของคุณ ไม่ว่าผลของการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร ขอให้จิตสำนึกแห่งประชาธิปไตยงอกงามขึ้นมาบ้างในประเทศบิดเบี้ยวแห่งนี้