ThaiPublica > คอลัมน์ > Bitnaneun สตูดิโอออกแบบโดยผู้ไม่เคยเรียนศิลปะ

Bitnaneun สตูดิโอออกแบบโดยผู้ไม่เคยเรียนศิลปะ

30 เมษายน 2023


1721955

หนทางของความสำเร็จไม่ได้มีทางเดียวเสมอไป โดยเฉพาะในประเทศที่แข่งขันกันสูงอย่างเกาหลี ที่ผ่านมา ‘Art นอกสายตา’ พยายามจะนำเสนอหลากหลายมุมมองทางด้านศิลปะ แต่สิ่งที่เรากำลังจะเล่าต่อไปนี้อาจนับได้ว่านอกรีตแหกขนบเลยก็ว่าได้ ไม่ใช่เส้นทางที่ง่าย และต้องแกร่งจริง เก่งจริง โชว์กึ๋นอันโดดเด่นออกมาได้จริง ๆ เท่านั้นถึงจะยืนหยัดขึ้นมาอยู่แถวหน้าท่ามกลางตลาดเกาหลีอันโหดเหี้ยม
Bitnaneun (빛나는 บิทนานึน) แปลว่า ฉายแสง เป็นสตูดิโอออกแบบโดยดีไซเนอร์นามว่า พัค ซี-ย็อง ผู้คร่ำหวอดในแวดวงออกแบบโปสเตอร์หนัง เทศกาลหนัง ละครเวที งานอีเวนท์มาตั้งแต่ปี 2004 หรือเกือบจะสองทศวรรษนับตั้งแต่กระแสโคเรียนเวฟเพิ่งตั้งไข่ ที่มีหลายกิจการอันเกี่ยวเนื่องกับแวดวงหนัง บ้างก็เจ๊งไปตามกาลเวลา แต่ Bitnaneun ยังคงยืนหยัดมาได้จนทุกวันนี้ทั้งที่ตัวนักออกแบบไม่เคยร่ำเรียนมาทางศิลปะเลย

พัคเล่าให้ฟังว่า
“บิทนานึน เป็นคำในโปสเตอร์หนังเรื่องแรกที่ผมออกแบบ Fade into You (2004) ” หนังอินดี้แฟนตาซีทุนต่ำที่มีวิธีเล่าแบบมินิมอล ตัวโปสเตอร์สะดุดตาด้วยการวางฟ้อนต์ชื่อเรื่องเหมือนสีที่ตวัดไหลไปอย่างอิสระ และเลยออกไปจากเขตกรอบภาพ อีกทั้งยังใช้คู่สีที่อบอุ่นคลาสสิก พัคเล่าว่า “น่าจะตอนที่ผมอายุ 6 หรือ 7 ขวบที่ผมเริ่มอ่านหนังสือออก ผมเกิดในย่านสลัมไม่มีโอกาสร่ำเรียนหนังสืออย่างถูกต้อง แม่สอนผมอ่านจากป้ายร้านค้าในตลาด เชื่อมโยงกับป้ายอาหารหรือสินค้าต่าง ๆ ที่วางแผงขายทีละชิ้น ดังนั้นสำหรับผม ตัวอักษรไม่ใช่แค่ภาษา แต่คือรูปแบบที่แตกต่างหลากหลาย มีความสวยงามเฉพาะตัว ลายมือที่บรรจงเขียน หรือเขียนขึ้นหวัด ๆ เร็ว ๆ ดังนั้นการออกแบบโปสเตอร์หนังสำหรับผม เหมือนการกลั่นกรองหนังเรื่องนั้นออกผลงานที่มองแล้วต้องให้สุนทรียะแก่ผู้ชมด้วย มีความเป็นกวี มีนัยยะให้ขบคิด แทนค่าของหนังเรื่องนั้นออกมาด้วยภาพเดียว และสิ่งที่คุณต้องเลือกให้มันอย่างแม่นยำคือ สี”

ทว่าหนังเรื่องต่อมาที่เขาออกแบบให้ The City of Violence (2005) อันเป็นใบปิดที่ทำให้คนรู้จักผลงานของเขามากขึ้น เพราะนอกจากจะโดดเด่นด้วยการใช้สีน้อยแล้ว หนังยังถูกเลือกฉายในสายนอกการประกวดในเทศกาลหนังเวนิซด้วย จะพบว่าแบบที่ใช้ในเกาหลี (รูปซ้ายสุด) พัคเลือกจะค่าสีที่คอนทราสต์กันอย่างชัดเจน ขณะที่เวอร์ชั่นภาษาอังกฤษ เลือกวิธีลดทอนรายละเอียดภาพลงจนดูแบนเหมือนภาพการ์ตูน ภาพพิมพ์ไม้ หรือภาพที่วาดไม่เสร็จ “คุณต้องตระหนักเสมอว่านี่ไม่ใช่หนังของคุณ แต่คุณต้องเค้นออกมาให้ได้ว่าหนังเรื่องนั้นให้ค่าสีหรือเรื่องราวอย่างไร สำหรับเรื่องนี้เป็นหนังบู๊เลือดสาดที่มีความเป็นการ์ตูนสูงมาก นี่คือคำตอบว่าทำไมผมถึงเลือกวิธีนี้ในการสื่อสารเนื้อหาของหนัง”

จากใบปิดหนังเรื่องนั้นทำให้เขาได้รับเลือกเป็นผู้กำกับศิลป์ทั้งหมดของเทศกาลหนังพูชอน แฟนทาสติก ในปี2004 อันเป็นเทศกาลหนังเฉพาะกลุ่มที่ฉายเฉพาะหนังโหดเดือดตั้งแต่ทริลเลอร์ไปจนถึงเฮอเร่อร์เลือดสาดไส้ทะลัก ณ เมืองพูชอน (P ในอักษรตัวแรกหมายถึงพูชอน ในช่วงเวลาที่เกาหลีกำลังปรับตัวสู่สากล อักษรตัวนี้จึงถูกเปลี่ยนเป็น B ในอีกไม่กี่ปีต่อมา ตามอย่างเทศกาลหนังเมืองปูซาน ที่เปลี่ยนเป็นบูซานในภายหลัง)

ใบปิดที่พัคออกแบบคราวนี้กลายเป็นประเด็นอย่างยิ่ง พวกที่ชอบก็ชอบมาก พวกที่ยี้ก็ยี้หนักมากเช่นกันโดยเฉพาะใบสีเหลืองเป็นไส้กรอกคู่หน้าตาประหลาด ๆ พัคว่า “ผมได้แนวคิดมาจากหนังสือเรื่องสั้นสยองขวัญสมัยเด็ก ๆ มาผสมกับ Freak show พวกโชว์ปาหี่ตัวประหลาดของแปลก หยิบมาผสมกับของกินในโรงหนังพวกฮอทด็อก ช็อคโกแลต ไอติม โดยผมพัฒนารูปแบบตัวการ์ตูนแต่ละแบบมาจากโลโกเทศกาลหนัง(รูปซ้ายสุด) เลยให้พวกมันมีสองหัวแบบเดียวกัน”

พัคหยิบเอาโลโกงานมาผสมกับบรรยากาศและธีมของเทศกาลมาสร้างเป็นภาพ ก็ไม่แปลกที่มันจะมีหน้าตาทั้งน่ารักน่าชังไปพร้อม ๆ กัน ในเมื่อนี่คือเทศกาลที่เน้นหนังระทึกขวัญ ก็ยังไม่วายถูกตำหนิว่ามันดูเป็นตัวการ์ตูนเกินไป แต่ก็ชวนขนลุกไม่น้อย แต่กาลกลับกลายเป็นว่ายิ่งมีดราม่าเสียงแตกทั้งชมทั้งด่า ผลงานของเขาไปเข้าตาผู้กำกับดัง ๆ หลังจากนั้น นับตั้งแต่

นา ฮง-จิน ผู้กำกับที่ตอนนี้บ้านเราน่าจะจำเขาได้จากการเป็นโปรดิวเซอร์ให้หนังไทย ร่างทรง (2021) สมัย นา ฮง-จิน กำกับหนังเรื่องแรก The Chaser (2008) ที่หยิบเอาคดีดังมาทำเป็นหนัง นา ฮง-จินก็ได้รับเทียบเชิญจากเทศกาลหนังเมืองคานส์ในทันที โปสเตอร์ที่นอกจากจะคอนทราสต์จัดตัดกันอย่างรุนแรงระหว่างขาวและดำ ดีกับชั่ว ยังขับเน้นผิวเนื้อ แววตา ริ้วรอย รอยแผล เลือด รอยยิ้ม และเส้นผมที่แสดงความเป็นมนุษย์ของตัวฆาตกรออกมาอย่างชัดเจน

ตามด้วย Mother (2009) หนังคานส์ในสาย Un Certain Regard ของผู้กำกับที่ทุกวันนี้ไม่มีใครไม่รู้จักเขา บอง จุน-โฮ แห่ง Parasite (2019) นั่นเอง ที่แม้จะยังคงใช้ภาพโคลสอัพใบหน้า แต่คราวนี้เป็นภาพสะท้อนแดดที่มองไม่ออกว่าเป็นแดดอ่อนยามเช้าหรือแสงสุดท้ายก่อนค่ำคืนจะมาเยือน อันสะท้อนสภาวะจิตใจของผู้เป็นแม่ที่รู้แก่ใจว่าลูกตนเองน่าจะมีส่วนพัวพันกับเรื่องร้ายแรง รวมถึง อิม ซาง-ซู ผู้กำกับรุ่นเก๋าเมื่อครั้ง The Housemaid (2010) ของเขาเข้าสายประกวดในคานส์ก็ยังเลือกใช้บริการให้พัค ซี-ย็อง มาออกแบบให้ ตัวละครในบทสาวใช้ที่หยิบเอาตาข่ายคลุมผมของเจ้านายมาสวมใส่ มันทั้งเปราะบาง หรูหรา ตัดกับสีผิว และทำให้โฟกัสของตัวละครพร่าเลือนในบางจุด ออกมาในจังหวะที่ทั้งดูเซ็กซี่และหวานอมขมกลืนอยู่ในที เหมือนติดในร่างแห เหมือนขาดอากาศหายใจ กำลังเศร้าหรือสุขสม

ทั้งหมดนี้เราขอย้ำว่าเป็นฝีมือของดีไซเนอร์ที่ไม่เคยเรียนศิลปะมาก่อนเลย “ผมเรียนมัธยมปลายในบ้านเกิดที่เมืองกูมิ จริง ๆ ผมเคยเกือบจะได้เรียนศิลปะในโซลด้วยนะ มีโรงเรียนที่เข้าเรียนได้โดยไม่ต้องสอบ แต่ตอนนั้นผมต้องทำงานหาเลี้ยงตัวเองไปด้วย สุดท้ายเลยโดดเรียนบ่อย แล้วก็ไม่ได้กลับไปเรียนอีกเลย แล้วบอกตามตรง…ผมไม่เข้าใจอะไรเลยเกี่ยวกับเนื้อหาที่บรรยายในชั้นเรียน กระทั่งช่วงที่ผมต้องไปเกณฑ์ทหารก็เป็นช่วงที่วัฒนธรรมการดูหนังเฟื่องฟูอย่างรวดเร็ว มีนิตยสารหนังดี ๆ อย่าง Kino มีเทศกาลหนังเกิดขึ้นหลายแห่ง มีเวทีสำหรับหนังสั้นหนังสมัครเล่น มีฟิล์มคลับ มีร้านเช่าวิดีโอ รวมถึงวงดนตรีดี ๆ ในคลับแถวฮงแด ในที่สุดผมเลือกก็เรียนด้านสังคมวิทยาเพราะคิดว่ามันน่าจะช่วยให้ผมเข้าใจวัฒนธรรมอันหลากหลายที่ถาโถมเข้ามาอย่างรวดเร็วในเวลานั้นได้ แต่ผมไม่ได้อะไรเลยนอกจากเพื่อนสนิทหลายคนที่มีรสนิยมคล้าย ๆ กันและเรารู้จักกันในตอนนั้น”

แต่ถึงแม้เขาจะไม่เคยเรียนศิลปะมาก่อนเลย อย่างน้อยการจะออกแบบใบปิด เขาต้องใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์เป็น คำถามคือเขารู้จักเครื่องมือออกแบบเหล่านี้จากที่ไหน พัคเฉลยว่า “ในกองทัพ ตอนนั้นทุกคนจะถูกสอนให้รู้จักโปรแกรมฮันกึล 97 (คล้ายเวิร์ดจุฬาในบ้านเรา) แล้วผมก็ดันทำได้ดี หลังปลดประจำการด้วยความที่ผมเรียนทางด้านวัฒนธรรม เลยบังคับให้ผมต้องไปร่วมดูหนังต่างชาติในเทศกาล ไปจนถึงบางทีในคณะก็มีการจัดโปรแกรมฉายหนังย่อม ๆ และหน้าที่ของผมคือการทำใบปิด ผมเริ่มทำมันจากโปรแกรมฮันกึล97 ก่อนจะขยับไปใช้โฟโต้ช็อป 4.0 ที่ผมหัดด้วยตัวเอง ผมไม่มีปัญญาซื้อตำราสอนมาอ่านหรอกนะ ต้องไปยืมหนังสือจากพวกรุ่นพี่ จนในที่สุดผมก็ใช้โปรแกรมอิลลัสเทรเตอร์ได้อย่างคล่อง ผมได้รับคำชมเสมอว่าทำออกมาได้ดี แต่ก็ไม่รู้หรอกว่ามันเรียกว่าออกแบบหรือเปล่า”

แต่อาจเพราะเขาจะไม่ได้ร่ำเรียนมาทางศิลปะ ผลงานของพัคจึงไร้ขีดจำกัด ไร้กรอบกฎ และสร้างความเป็นไปได้ใหม่ ๆ เสมอ

พัคเล่าว่า “ผมไม่ได้คำนึงถึงความกลมกลืน หรือไม่เข้ากันเป็นลำดับแรก ๆ แต่ผมจะนึกถึงความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ก่อน เช่นถ้าคุณดูโฆษณารถยนต์ฟอร์ดกับโคคา-โคล่า ในช่วงยุค 60-70s คุณอาจจะนึกถึงแต่สีพาสเทล สีลาเลนเดอร์แนววินเทจ แต่ถ้าคุณคำนึงถึงช่วงเวลาอย่างในปี1969 สมัยที่สหรัฐเหยียบดวงจันทร์เป็นครั้งแรก ผมอาจจะหยิบสีเมตทาลิค สีเงินเงา ๆ ของยานอวกาศผสมเข้ามาด้วยก็เป็นได้”

อย่าง The Face Reader (2013) เป็นผลงานที่ตอนไปเปิดตลาดขายในคานส์ มันถูกแชร์ส่งต่อกันอย่างกว้างขวาง หนังว่าด้วยศาสตร์ดูดวงที่บ้านเรารู้จักกันว่า โหงวเฮ้ง คือการทำนายจากใบหน้า ใบปิดนี้ไม่ได้วาดด้วยคอมพิวเตอร์ แต่กลับกัน มันคือเทคนิคการวาดขยายรูปแบบโบราณ กล่าวคือโดยปกติความสามารถของกล้องจะอัดรูปออกมาได้เพียงใบเล็ก ๆ หากต้องการขยายให้ใหญ่ สมัยนั้นเขาจะใช้วิธีวาดขึ้นมาอย่างละเอียดอีกทีบนกระดาษที่ใหญ่กว่าเดิมหลายสิบเท่า ด้วยการลอกภาพต้นจากการมองผ่านแว่นขยาย (เป็นเทคนิคแบบจีน คล้ายเทคนิค Pantograph ของฝรั่งสมัยก่อนที่มีการกำหนดสเกลของภาพแล้วใช้เครื่องมือขยายให้ได้สัดส่วนตามต้องการอีกที) ด้วยเทคนิคนี้นอกจากจะได้ภาพที่สมจริงมาก ๆ คมมาก ๆ แล้ว ยังให้ความรู้สึกย้อนยุคด้วย

แต่รางวัลแรกที่ พัค ซี-ย็อง ได้รับมาจากโปสเตอร์ใบนี้ Set Me Free (2014) เป็นรางวัลโปสเตอร์ภาพยนตร์แห่งปี ตัดสินโดยนักการตลาดแถวหน้า 51 คน หนังแจ้งเกิดของ ชเว อู-ชิก ที่ตอนนี้ทุกคนรู้จักเขาจากบทลูกชายคนเล็กแห่งบ้านปรสิต จาก Parasite (2019) “งานของผมเป็นการทำงานระหว่างผู้สร้างหนัง ผู้จัดจำหน่าย ผู้ลงทุน ผู้กำกับ นักแสดง และฝ่ายการตลาด บางทีอาจต้องซับซ้อนผสมกันระหว่างความคลาสสิกกับความทันสมัย แล้วคลี่คลายออกมาให้เข้าใจได้ง่าย เป็นที่พอใจของทุกฝ่าย ทุกคนสามารถเข้าใจได้ถึงสาระสำคัญของหนัง”

ชเว อู-ชิก แสดงเป็นเด็กในบ้านอุปถัมภ์ที่อยู่มานานจนอายุเกินเกณฑ์ แต่เขาไม่อยากกลับไปอยู่กับอีกแล้ว จึงโกหกเจ้าของบ้านอุปถัมป์ว่าเขาอยากจะอยู่ต่อเพราศรัทธาในพระเจ้า จนกระทั่งพ่อของเขาแวะมาเยี่ยม แต่ไม่ใช่มาตามเขากลับบ้าน แต่มาทิ้งน้องคนเล็กให้เป็นภาระของบ้านนี้อีกคนหนึ่ง ใบปิดสื่อความหมายทางศาสนา เหมือนถูกตรึงกางเขนคว่ำลง ความสะอาดขาวของเด็กวัยรุ่นในโมเม้นต์ตกสวรรค์และหวาดกลัวกับการเผชิญหน้าความเป็นจริง

หนังสั้นเรื่องล่าสุดของ นา ฮง-จิน ดูได้ที่https://youtu.be/uZSQIGLEbfU

ปัจจุบัน Bitnaneun ยังคงทำโปสเตอร์ให้กับหนังอินดี้ของผู้กำกับหน้าใหม่น่าจับตามอง และผู้กำกับเจ๋ง ๆ ที่เคยร่วมงานกันก็ยังคงแวะเวียนกลับมาให้เขาออกแบบ โดยเฉพาะ นา ฮง-จิน กับผลงาน The Wailing (2016) หนังคานส์อันลือลั่น รวมถึงร่างทรง และหนังสั้นล่าสุด Faith เขาก็ให้ Bitnaneun ออกแบบโปสเตอร์ให้

ขณะที่ล่าสุดเมื่อไม่นานนี้ พัค ซี-ย็อง ก็โผล่ไปเป็นผู้กำกับศิลป์ให้กับนิตยสารเกย์ฉบับแรกของเกาหลี DUIRO ในฉบับปฐมฤกษ์ ภายใต้หัวข้อ The Military ที่พูดถึงสังคมเกย์ภายในกองทัพ อันเป็นเรื่องล่อแหลมต้องห้ามอย่างยิ่ง ลำพังการเปิดตัวเป็นเกย์ในเกาหลีก็ไมใช่เรื่องง่ายอยู่แล้ว พัคเล่าว่า “แม้โลกของศิลปะจะเปิดกว้างแต่ยังอิสระไม่พอที่เราจะพูดเรื่องแบบนี้ได้อย่างเสรี ทันทีที่คุณเปิดตัวคุณก็จะถูกคัดกรองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ มันเป็นไปโดยสัญชาติญาณอย่างไม่มีเหตุผล แต่สำหรับผม ผมจะไม่ซ่อนความจริงข้อนี้”

แม้จะเป็นเวลากว่าสิบปีที่เขาจะขึ้นมายืนอยู่จุดนี้ และกล้าที่จะทำในสิ่งที่สังคมเกาหลีไม่ยอมรับ แต่ตลอดมานับแต่แรกเริ่มอาชีพ สตูดิโอของเขาก็ออกแบบโปสเตอร์สวย ๆ ให้หนังเกย์ หรืออีเวนต์งานปาร์ตี้เกย์หลายต่อหลายชิ้น อาทิ

Stateless Things (2011) https://youtu.be/Khyzl2C1L1U
Highheel (2014) https://youtu.be/OJA6GRDNuIs
I AM – Korean Gay Circuit Party (2015)
No Regret (โปสเตอร์ปี2015 รีดีไซน์จากหนังปี2006)
I AM 2017 : Korean Gay Circuit Party (2017)
Jane (2017) https://youtu.be/G82Lwjvzaww

ผลงานอื่น ๆ ของ Bitnaneun

“คุณอาจคิดว่าผมมาถึงจุดนี้อย่างง่าย ๆ ไม่ต้องร่ำเรียนศิลปะอะไรก็ทำได้ แต่ผมอยากบอกว่า เพราะผมไม่ได้เรียนมา ผมเลยต้องพยายามอย่างหนัก หนักกว่าคนอื่นที่เรียนมา ไม่รู้จะฟังดูดีเกินจริงไปไหมถ้าผมจะบอกว่า เพราะผมเปลี่ยนแปลงชะตาตัวเองไม่ได้ หรือไม่ก็คงเพราะผมอยากทำสิ่งนี้จริง ๆ หรือถ้าจะให้พูดแบบไม่โกหกตัวเองเลย เพราะตอนนั้นผมไม่มีปัญญาจะทำมาหากินด้วยอาชีพอื่น แล้วการออกแบบโปสเตอร์เป็นสิ่งเดียวที่ผมทำได้ดี มันไม่ใช่งานอดิเรก แต่มันเป็นอาชีพของผม เป็นสิ่งเดียวที่ผมทำได้ดี เท่านั้นเลย” พัคสรุป