ThaiPublica > คอลัมน์ > The Glory เปิดนัยยะที่ซ่อนอยู่บนโปสเตอร์หลักทั้ง 2

The Glory เปิดนัยยะที่ซ่อนอยู่บนโปสเตอร์หลักทั้ง 2

11 มีนาคม 2023


1721955

ในที่สุดวันที่รอคอยก็มาถึง หลายคน(ผู้เขียนเองก็ด้วย)ที่ดูรวดเดียวจบ 8 ตอนเมื่อวานนี้ (10 มีนาคม) ก็คงจะรู้แล้วว่า ครึ่งหลังของ The Glory จบลงได้สาแก่ใจอย่างไรบ้าง ผลงานกำกับล่าสุดของ อัน กิล-โฮ จากซีรีส์ซอมบี้ Happiness ที่ได้นักเขียนบทมือทอง คิม อึน-ซุก จากซีรีส์สุดฮิตในบ้านเรา Descendants of the Sun ที่เธอได้ไอเดียมาจากลูกสาวตัวเอง เมื่อลูกน้อยของเธอถามเธอว่า “แม่คิดว่าถ้าหนูตีใครจนตาย หรือโดนทุบตีจนตาย อย่างไหนจะเจ็บปวดกว่ากัน”

The Glory ถูกแบ่งออกเป็นสองพาร์ทที่เพียงเปิดตัวไปเมื่อ 30 ธันวาคม 2022 ก็มีสถิติยอดวิวที่ 25.41 ล้านชั่วโมงภายใน 3 วัน ได้รับความนิยมล้นหลามเป็นอันดับ 3 ในหมวด Netflix Global Top 10 TV (ที่ไม่ใช่ภาษาอังกฤษ) จนถึงตอนนี้มียอดวิวสูงที่ 82.48 ล้านชั่วโมง ติดท็อป 10 ใน 62 ประเทศ รวมถึงประเทศไทยที่ทะยานขึ้นอันดับหนึ่งตั้งแต่สัปดาห์แรก ในซีรีส์นี้ ซง-ฮเย-คโย มารับบทนางแค้น หลังจากเคยถูกบูลลี่ในสมัยมัธยม ที่ชาวเน็ตติเซนเกาหลีต่างออกมาลือกันว่าน่าจะเขียนมาจากคดีจริง

ภาพจากซีรีส์ เทียบกับภาพคดีจริง (ขวาสุด)

โดยเฉพาะฉากที่นางเอก มุน ดง-อึน (ซง ฮเย-คโย / วัยเด็กรับบทโดย จุง จี-โซ) ถูกที่ม้วนโรลผมไฟฟ้านาบตามเนื้อตัวร่างกาย น่าจะมาจากคดีจริง ณ โรงเรียนมัธยมต้นช็องจู (Cheongju Middle School) เมื่อปี 2006 เมื่อนักเรียนชั้นม.3ทั้งห้องรุมกลั่นแกล้งเด็กหญิงคนหนึ่งนานกว่า 20 วัน ด้วยการชก เอากิ๊บหนีบผมข่วนหน้าอก เอาไม้เบสบอลฟาด และเอาที่โรลผมไฟฟ้าร้อน ๆ นาบจนเป็นแผลพุพอง ก่อนจะเอาเล็บข่วนแผลลวกร้อนนั้นให้แสบหนักขึ้นทุกวัน จนสุดท้ายเหยื่อต้องเข้ารักษาตัวนานกว่า 6 สัปดาห์ มีแผลเป็นรุนแรงและกระดูกก้นกบยื่นออกมา ตัวการไม่ได้ถูกลงโทษหนักอะไร และไม่เคยถูกเปิดเผยชื่อ ชาวเน็ตในเหตุการณ์ยังระบุด้วยว่า “เรื่องจริงมันไม่ได้เกิดในโรงยิมหรอก แต่เกิดขึ้นกลางห้องเรียนเลย”

รวมถึงอีกคดีในปี 2020 เมื่อชายวัย 20 ปีคนหนึ่งถูกเพื่อนลวงว่าจะฉลองวันเกิดให้ ก่อนจะจับเขามัดแล้วเอาผ้าโปะหน้า ราดน้ำมัน ท้ายสุดก็จุดประทัดจนเป็นแผลระดับ3 คือกว่า 40% ของร่างกายไหม้เกรียม และเหยื่อก็ได้เงินชดเชยมาเพียงครึ่งเดียวของจำนวนการรักษา
เท่านั้น

จี-ซู อดีตนักแสดงดาวรุ่ง

เกาหลียุคใหม่ที่ตื่นตัวด้านสิทธิมนุษยชนรับไม่ได้กับการกลั่นแกล้งรุนแรงแบบนี้ ที่ผ่านมามีคนดังหลายต่อหลายคนถูกลากไส้ว่าสมัยก่อนพวกเขาทำตัวต่ำทรามยังไงบ้าง เคสที่สาหัสสุดน่าจะเป็น จีซู เมื่อครั้งขึ้นแท่นเป็นพระเอกในซีรีส์ River Where The Moon Rises (2021) ในวันที่ 2 มีนาคม 2021 มีชาวเน็ตนิรนามขุดว่า จีซู เคยเป็นหัวโจก ขว้างปาอาหารใส่ผู้คน บังคับข่มขู่เพื่อนนักเรียน ยุยงให้เพื่อนแบนเพื่อนร่วมห้อง เอาบีบีกันยิงใส่เพื่อน บ้างแฉว่าเคยเอาฉี่ไปราดใส่เพื่อนก็มี สุดท้ายเขาถูกถอดกลางอากาศในอีพีที่ 6 แล้วเอาพระเอกคนอื่นมาเสียบแทน อนาคตวงการบันเทิงไม่มีทางได้เกิดอีกเลย ก่อนจะเข้ากรมไปเป็นทหารเกณฑ์ในเดือนตุลาคมปีนั้น

และล่าสุดหมาด ๆ ทันทีที่ The Glory ครึ่งหลังเปิดสตรีมมิ่ง ก็มีโพสต์ปริศนาแฉว่าตัวผู้กำกับ อัน กิล-โฮ ในอดีตเมื่อ 27 ปีก่อน ครั้งเคยเรียนที่ฟิลิปินส์ก็เคยบูลลี่คนอื่น แต่เขาก็ให้การปฏิเสธทันทีว่าไม่เคย และไม่เคยมีความคิดแบบนี้ในหัวมาก่อนเลย อย่างไรก็ตามชาวเน็ตพบว่าเนื้อหาที่ถูกโพสต์ขึ้นมาไม่ได้เข้าข่ายบูลลี่ แต่เป็นการผิดใจกันทั้งสองฝ่ายมากกว่า

โอม ภวัต จิตต์สว่างดี

ที่น่าสนใจคือบทความเกาหลีหลายชิ้น ตีพิมพ์เกี่ยวกับ The Glory effect เมื่อเคสของ โอม ภวัต พระเอกจากซีรีส์วาย “แค่เพื่อนครับเพื่อน” เมื่อวันที่ 3 มกราคมช่วงปีใหม่ที่ผ่านมานี้เอง ก็มีทวิตหนึ่งเอ่ยขึ้นว่า โอม-ภวัต ‘ชอบแกล้งเพื่อนตั้งแต่สมัยประถม มัธยมปลายก็ยังคิดไม่ได้ แถมยังชอบเลือกเหยื่อที่มีอาการออทิสติกอีก เพราะเขาสู้มันไม่ได้’

จนผ่านไปปาเข้าวันที่ 8 โอมจึงยอมโพสต์ทวิตตอบว่า ‘ผมต้องขอโทษด้วยครับที่ออกมาอธิบายช้า…ผมยอมรับครับว่าตอนเด็ก ๆ ผมซน และแสบมากพอสมควร ซึ่งหลาย ๆ ครั้งก็เป็นการเล่นคึกคะนองแบบเด็กผู้ชายโดยไม่ได้มีเจตนาจะก่อให้เกิดความรู้สึกไม่ดี เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเหตุการณ์ตอนมัธยมต้น…ผมรู้สึกเสียใจ ถ้าสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตช่วงที่ผมเป็นเด็ก ยังทำให้เพื่อนคนนั้นต้องมีแผลในใจมาจนถึงวันนี้ ผมขอโทษจริง ๆ จากใจนะครับ สิ่งที่เกิดขึ้นผมรู้สึกผิดตลอดชีวิต และไม่เคยให้อภัยตัวเองเลย ผมขอโทษทุก ๆ คนที่ได้รับผลกระทบจากความคึกคะนองในวัยเด็กของผมด้วยนะครับ’

ชาวทวิตภพหลายคนก็ยกตัวอย่างเกาหลีว่าถ้าเป็นที่นั่นป่านนี้นายโอมหมดอนาคตไปแล้ว แต่โอมก็ไม่สำนึก ยังโพสต์ภาพชีวิตดี๊ดีลงไอจีอยู่ตลอดเวลา และแกรมมี่ก็ไม่ออกมาแสดงความคิดเห็นแต่อย่างใด และคำว่า “แสบซน” ไม่ใช่เหตุผลที่จะไปบูลลี่ใครก็ได้ โดยเฉพาะคนที่เป็นออทิสติก

ทวิตคนเดิมเสริมด้วยว่า ‘…แกขอโทษคนนั้นต่อหน้าแฟนคลับแล้ว อย่าลืมกลับไปขอโทษคนที่แกเคยแกล้งเขาสารพัดด้วยนะ ซีนสาดน้ำใส่เพื่อนกลางโรงอาหารตอนม.ต้น ยังจำติดตาได้จนถึงทุกวันนี้ แต่แฟนคลับแกคงบอกว่าน้องเป็นเด็กดี’ โดยภายหลังเจ้าของทวิตนี้ก็ออกมาเฉลยด้วยว่าตนเองคือหนึ่งในเหยื่อที่ถูก โอม-ภวัต กลั่นแกล้ง แล้วจนบัดนี้ก็ยังไม่เคยได้รับคำขอโทษแต่อย่างใด

เรื่องนี้ช่างสอดพ้องกับคำสัมภาษณ์ของ คิม อึน-ซุก มือเขียนบท The Glory ที่ระหว่างรีเสิร์ชข้อมูลเธอพบว่า “เหยื่อหลายคนต้องการคำขอโทษที่จริงใจ”

ไม่มีเมตตา ไม่มีความสง่างาม

วกเข้าประเด็นของบทความนี้ที่เน้นไปที่คีย์อาร์ตของใบปิดหลักทั้งสอง ซึ่งซ่อนนัยยะอะไรไว้เยอะมาก เริ่มจากใบปิดหลักในครึ่งแรก ภาพพื้นหลังปรากฏในเครดิตเปิดตัวซีรีส์ด้วย และมันไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาด้วยกราฟฟิกคอมพิวเตอร์ แต่เป็นงานปักผ้าจริง ๆ ของศิลปินหญิงนามว่า โก จู-ย็อน

มาเริ่มกันที่ความหมายก่อน ซีรีส์นี้เป็นการเล่นคำและความหมายของ Glory โดยเอ่ยถึงดอกผักบุ้ง Morning Glory สีฟ้า อันมีภาษาดอกไม้แปลว่า “ข่าวดี” ก่อนที่เรื่องจะเอ่ยถึงดอกลำโพง 2 สายพันธุ์ พันธุ์สีเหลือง หรือ แตรนางฟ้า (Angel trumpet morning glory) ที่จะคว่ำลงสู่พื้นดิน ขณะที่พันธุ์สีขาว หรือ แตรปีศาจ (Devil’s Morning Glory) จะหงายเชิดขึ้น และแน่นอนว่าทั้งหมดที่เราเห็นบนโปสเตอร์ครึ่งเรื่องแรกนั้น คือ แตรปีศาจ

แตรปีศาจมีภาษาดอกไม้แปลว่า “การหลอกลวง” “ความไม่ยั่งยืน” และเป็นดอกไม้มีพิษ ใช้เป็นสิ่งเสพติดที่อาจถึงแก่ชีวิตได้ โดยทางการแพทย์ยังเป็นส่วนผสมสำหรับยาสลบบางชนิดในการผ่าตัด ซึ่งนอกจากจะหมายถึงการแก้แค้นแล้ว ยังไม่รู้ว่าจะเกี่ยวกับ บทของ อี โด-ฮยุน ด้วยหรือเปล่า ที่เขาแสดงเป็นผู้ช่วยของนางเอก และมีอาชีพเป็นศัลยแพทย์พลาสติก

แล้วอันที่จริงดอกไม้เหล่านี้ไม่ได้มีลำต้นใหญ่โตแบบบนใบปิด มันเป็นไม้เลื้อยเหมือนผักบุ้งนี่แหละ แต่ใบปิดนี้กลับแสดงให้เห็นลำต้นที่แผ่กิ่งก้านออกไปเป็นไม้ใหญ่ เพื่อแสดงภาพความโกรธแค้นที่ลุกลามขยายตัว และหนักแน่น ขณะที่หากเพ่งดี ๆ ก็จะพบข้าวของหลายอย่างอันเกี่ยวเนื่องกับเนื้อเรื่อง อาทิ รองเท้าส้นสูงสีเขียว 3 คู่ (ในเรื่องเล่าว่ามี 3 ตัวละครที่ครอบครองส้นสูงเขียวสุดหรูนี้ ซึ่งหนึ่งในนั้นกระทำเรื่องโหดเหี้ยมบางอย่าง), รองเท้าผ้าใบ, นาฬิกา, ดินสอ, มีดผ่าตัด, หมากล้อม, ถุงช็อปปิ้ง และไม้หนีบโรลม้วนผมไฟฟ้า ที่ถ้าใครดูจบแล้วย่อมรู้คำตอบว่าสิ่งเหล่านี้หมายถึงอะไร

และอีกคุณสมบัติหนึ่งของแตรปีศาจคือมันจะส่งกลิ่นหอมยามค่ำคืน ถ้าสังเกตดี ๆ จะพบว่าภาพปักนี้มีทั้งดวงจันทร์ และดวงอาทิตย์อยู่ในภาพเดียวกัน ขณะที่ดวงอาทิตย์อับแสง แสงจันทร์กลับส่องสาดลงมายังนางเอก และบทพูดหลายครั้ง ตัวนางร้าย พัก ย็อน-จิน (แสดงโดย อิม จี-ย็อน จาก Rose Mansion) มักพูดว่า “ชีวิตของฉันอยู่ในแสงสว่างเสมอมา”

กรณีดวงจันทร์และตะวันอยู่ในฉากเดียวกัน สิ่งนี้เรียกว่า “อิรโวรอบงโด” เป็นศิลปะยุคโชซ็อน ที่มักจะวาดลงบนฉากพับในท้องพระโรง ประกอบด้วย อาทิตย์ และจันทร์ ภูเขาห้ายอด(หมายถึง เขาคุนหลุน) ต้นสนคู่ และสายน้ำ อันเป็นคติขงจื้อ หมายถึง หยินและหยาง ความสมดุลที่ทำให้จักรวาลนี้เคลื่อนไป ทว่าเมื่ออาทิตย์หลบแสง และจันทร์ส่องสาด โดยไม่ได้อยู่บนระนาบเดียวกันอย่างเท่าเทียมบนโปสเตอร์เช่นนี้ จะหมายถึงความไม่สมดุลด้วยหรือเปล่า และบ่อยครั้งที่ตัวนางเอกมักจะลอบส่องศัตรูยามค่ำคืน

นอกจากนี้ชาวเน็ตเกาหลีบางคนให้ความเห็นด้วยว่างานปักผ้าเกาหลีที่เรียกว่า “ชาซู” นอกจากจะเป็นการปักลายบนฉลองพระองค์ของกษัตริย์และขุนนาง หรือปักเพื่อถวายวัด หรือสำหรับพิธีแต่งงานแล้ว ในด้านของชาวบ้าน มันคือวิธีซ่อมผ้าเก่าที่มีรอยขาด ฉีก เป็นรู เพื่อเป็นการนำผ้าเก่ากลับมาใช้ซ้ำ และด้วยความหมายนี้ ผ้าปักอาจหมายถึงชีวิตหรือจิตใจอันฉีกขาด ก่อนจะใช้ความมานะในการซ่อมปะรอยตำหนิเหล่านั้นให้กลับมาสวยงาม

ปิดท้ายวกกลับมาที่ผ้าปัก แสดงถึงความประณีต การวางแผน และความอดทนมุมานะ เฝ้าถักทอรอเวลาที่ความคั่งแค้นเหล่านั้นจะถูกสะสาง ส่วน โก จู-ย็อน ผู้ออกแบบและปักภาพโปสเตอร์ เธอเป็นนักวาดภาพประกอบ แฟชั่นดีไซน์ และช่างปักผ้าที่มีผลงานประณีต และสวยงามสุดคูล ดูผลงานอื่น ๆ ของเธอได้ที่ https://www.instagram.com/jooyeonkoh/

สู่ประตูนรก

มาถึงใบปิดพาร์ทครึ่งหลัง สิ่งที่น่าสังเกตคือส่วนของป้ายใต้ชื่อเรื่อง เขียนว่า Lasciate ogni speranza, voi ch’intrate อันแปลว่า ‘จงละทิ้งความหวังทั้งปวง พวกเจ้าที่ล่วงมายังดินแดนนี้’ ประโยคนี้มาจาก Inferno (นรก) ของ ดันเต (1265-1321) อันเป็นส่วนที่ว่าด้วยประตูนรก ส่วนแรกของบทกวีมหากาพย์อิตาเลี่ยนอันลือลั่นจากศตวรรษที่ 14 Divine Comedy

Divina Commedia ดีวีนา กอมเมเดีย เป็นวรรณกรรมอุปมานิทัศน์ ที่ ดันเต อาลิกีเอรี เขียนขึ้นระหว่าง ค.ศ. 1308 จวบจนสิ้นชีวิตใน ค.ศ. 1321 เป็นกวีนิพนธ์ชิ้นสำคัญของโลก แบ่งออกเป็นสามตอนคือ นรก (Inferno) แดนชำระ (Purgatorio) และ สวรรค์ (Paradiso) บรรยายการเดินทางของ ดันเต ไปยังสามภูมิแห่งแดนคนตาย

แม้ว่าคอนเซ็ปต์เกี่ยวกับโลกหลังความตายและนรกในวัฒนธรรมตะวันตกนั้นมีมาก่อนหน้าการมาถึงของ Divine Comedy แต่ดันเตคือศิลปินที่ทำให้ภาพของไฟนรกลุกโชติช่วงมากยิ่งขึ้น ได้ยินเสียงกรีดร้องดังยิ่งขึ้น และภาพความทรมานของเหล่าผู้มีบาปติดตัวนั้นแจ่มชัดและติดลึกฝังแน่นในใจคนมากขึ้น จนส่งแรงบันดาลใจอันยิ่งใหญ่ให้ศิลปินมากมายสร้างผลงานขึ้นมาเพื่อแปลงนรกจากตัวอักษรมาเป็นภาพ

แต่ความน่าสนใจของใบปิดนี้ บรรยากาศของมันช่างไม่เหมือนนรก โดยเฉพาะหากสังเกตที่ลำต้นไม้ใหญ่กึ่งกลางภาพ เราจะเห็นงูตัวหนึ่งปรากฏขึ้น ยิ่งเมื่อไปเทียบกับฉากที่คนดูจะได้เห็นงูใหญ่เลื้อยโผล่มาในซีรีส์ มันคือตอนที่มีฉากหลังเป็นโบสถ์ที่วาดประดับด้วยภาพสวนเอเดน สวนสวรรค์ที่มนุษย์เปิดเปลือยกายโดยยังไม่รู้จักผิดบาป จนกระทั่งงูล่อลวงให้เอวากัดกินผลไม้แห่งความรู้แจ้ง แล้วยื่นให้อดัมกัดกิน พวกเขาถึงรู้จักอับอายและความบาป แล้วต้องไม่ลืมอีกด้วยว่า ห้องเช่า ที่นางเอกของเราเช่าไว้กบดานและส่องศัตรู มันอยู่ในตึกที่มีชื่อว่า “เอเดนวิลล่า”

ที่ผ่านมาผู้ออกแบบใช้ดอก Morning Glory สีขาวที่เชิดหน้าขึ้นฟ้าต่อต้านพระเจ้า บนใบปิดหลักแบบแรก แต่จะพบว่าครึ่งหลังแม้จะเห็นดอกหงายเป็นภาพฉากหน้าก็จริง แต่ถ้าพินิจดีดีจะเห็นดอกคว่ำสีเหลืองที่ก้มหน้าเคารพฟ้าสวรรค์ แอบซ่อนอยู่ โดยเฉพาะตรงจุดที่ ฮา โด-ยอง (จ็อง ซุง-อิล) สามีของนางร้ายยืนอยู่ และเขายื่นมือไปยัง พัค ย็อน-จิน (อิม จี-ย็อน) นังตัวต้นเรื่อง

คีย์อาร์ตนี้ถูกออกแบบโดย Undesigned Museum และพวกเขาอธิบายความหมายเอาไว้ในเว็บ namu (คล้ายวิกิพีเดีย) ว่า “เราเลือกตำแหน่งของตัวละครที่แทนค่าด้วยสีบนชุดเสื้อผ้าที่เขาสวม ตำแหน่งแรก สีเหลือง (พัค ย็อน-จิน) ตั้งแต่สมัยโบราณ โลกตะวันออกใช้สีเหลืองเป็นตัวแทนจักรพรรดิ ในฐานะของความสูงส่งมั่งคั่ง”

“ตำแหน่งที่สอง ตัวละคร จอน แจ-จุน เราเลือกให้เขาสวมชุดสีแดงเคอร์เมส (Kermes) ในเกาหลีมันคือสีแห่งความชอบธรรม ส่วนในโลกตะวันตกสีแดงเคอร์เมสที่ใช้กับขุนนางมาตั้งแต่ยุคโบราณ อียิปต์ เมโสโปเตเมีย อินเดีย โรมัน อิหร่าน สีแดงเคอร์เมสก็ถูกมองว่ามีค่าเพราะเป็นสีที่มีราคาแพง โดยเฉพาะหลังการล่มสลายของกรุงโรมตะวันออกในปี 1453 สีเคอร์เมสถูกใช้สำหรับราชวงศ์และพระคาร์ดินัล”
“ตำแหน่งที่สาม สีม่วง ตัวละครนังขี้ยา อี ซา-รา สีม่วงเป็นสีโปรดปราณของจิ๋นซีฮ่องเต้ ขณะที่ประเพณีเกาหลี ม่วงคือสีลำดับสามรองจากสีเหลือง และสีแดง ในทางตะวันตก ม่วงเป็นสีหายาก แสดงถึงอำนาจสูงสุดมาตั้งแต่อียิปต์โบราณไปจนถึงยุคโรมัน ส่วนในเกาหลี ม่วงคือสีแห่งชัยชนะ ใช้ได้ทั้งกษัตริย์ และขุนนางระดับสูง”

“ลำดับสี่ สีน้ำเงิน เป็นของ ชเว เฮ-จ็อง แอร์โฮสเตสผู้มักใหญ่ใฝ่สูง ในทางตะวันตก น้ำเงินเป็นสีไร้อารยธรรม ไม่ซับซ้อนจนถึงยุคกลางตอนต้น สีน้ำเงินกลายเป็นสีของราชวงศ์ เพราะเม็ดสีได้มาจากของแพง ๆ อย่าง พลอยไพฑูรย์ และอะซูไรต์ (Azurite) จึงเป็นอีกหนึ่งสีที่มีราคาแพง แม้จะเทียบค่ากับสีแดงและสีม่วงไม่ได้ก็ตาม”

“ลำดับห้า สีเขียว (บนใบปิดเห็นเป็นสีน้ำตาล) ของ ซอน มย็อง-โอ ตัวลูกกะจ๊อกไร้สมอง ในทางตะวันตกเป็นสีที่ดูแลยาก เพราะถ้าย้อมไม่ดี สีเขียวมักจะกลายเป็นสีน้ำตาลได้ง่าย ในยุคเรอเนซองส์ เขียวเป็นสัญลักษณ์ของพ่อค้าและชนชั้นกระฎมพี”

“ขณะที่ตัวละครฝั่งนางเอก มุน ดง-อึน เราเลือกสีขาวอันเป็นสัญลักษณ์ของพวกชาวนาต่ำต้อยในวงสังคม เป็นสีพื้นฐาน และหมายถึงจุดกำเนิด การเริ่มต้น ความสว่าง ความถ่อมสุภาพ ความสมบูรณ์ ความเป็นกลาง ปราศจากความโลภ”

5 สีประเพณีนิยม

จริง ๆ ถ้าจะทำความเข้าใจเรื่องลำดับสีของเกาหลี คงต้องรู้เรื่อง 5 สีประเพณีนิยม (โอบังแซก) ของชนชาติที่ถูกเรียกว่า “ชาวชุดขาว” อันแสดงถึงทิศทั้ง 5 ธาตุทั้ง 5 ได้แก่

    สีน้ำเงิน: ทิศตะวันออก ธาตุไม้ ฤดูใบไม้ผลิ ความหนุ่มสาว ความหวัง
    สีแดง: ทิศใต้ ธาตุไฟ ชัยชนะ ขับไล่ผี การแสวงหาความสุข
    สีเหลือง: ตรงกลาง ธาตุดิน ความศักดิ์สิทธิ์ มั่งคั่ง อำนาจ
    สีขาว: ทิศตะวันตก ธาตุเหล็ก ความบริสุทธิ์ ความสมบูรณ์ เป็นกลาง
    สีดำ: ทิศเหนือ ธาตุน้ำ ความเคร่งขรึม ศักดิ์ศรี การปกครอง

และการผสมไปมาระหว่าง 5 สีพื้นฐานเหล่านี้ก็จะเกิดสีอื่น ๆ ขึ้นมา

ยู อา-อิน อนาคตดับวูบ

ในซีรีส์ครึ่งหลังของ The Glory มีฉากวางยาสลบที่พูดถึงโปรโพฟอล ก็ให้เผอิญว่าสัปดาห์ที่ผ่านมามีข่าวอื้อฉาว เกี่ยวกับยาชนิดนี้ด้วย เมื่อ ยู อา-อิน พระเอกยอดฝีมือ เจ้าบทบาท และมีผลงานชุก จากซีรีส์ Hellbound, Secret Love Affairและหนังคานส์ Burning ล่าสุดถูกตรวจพบว่าเขาเล่นยามาเป็นเวลานาน โดยตอนแรกพบสารโปรโพฟอล ที่นอกจากจะใช้เป็นยาสลบแล้ว ยังเสพติดอีกด้วย มันคือยาอันตรายที่ทำให้ ไมเคิล แจ็คสัน เสียชีวิต หลังจากนั้นพบว่า ยู อา-อิน ใช้สารเสพติดอื่น ๆ ร่วมด้วย คือ โคเคน เคตามีน และกัญชา ส่งผลให้อนาคตเขาดับวูบไปในทันที สปอนเซอร์ถอนตัวทั้งหมด และถูกถอดจากโปรเจ็คต์ต่าง ๆ หมดเลย

ความโหดเหี้ยมน่าหงุดหงิดใจอย่างหนึ่งของ The Glory คิม อึน-ซุก มือเขียนบทให้สัมภาษณ์ว่า “จากการรีเสิร์ชฉันพบว่าบ่อยครั้ง เหยื่อไม่ได้ทำอะไรผิดเลย แล้วที่พวกเขาถูกทำร้ายก็เพียงเพราะผู้ลงมือ…ไม่ชอบขี้หน้า”

ในซีรีส์เรื่องนี้มีตัวละครหลายตัวที่ถูกทำร้าย หรือถูกฆ่า อย่างไร้เหตุผล หรือด้วยเหตุผลอันไร้สาระ

“แล้วคุณมุน(นางเอก)เธอทำผิดอะไร”
“ต้องทำผิดด้วยหรือ…นังนั่นเอาแต่พูดอยู่ได้ว่าถูกรังแก”