ThaiPublica > คอลัมน์ > สิ่งที่เห็นอาจไม่ใช่สิ่งที่เป็นในโลกของ ยูนิ โยชิดะ

สิ่งที่เห็นอาจไม่ใช่สิ่งที่เป็นในโลกของ ยูนิ โยชิดะ

26 พฤศจิกายน 2022


1721955

Elpis: Hope or Disaster ซีรีส์ที่เล่าเรื่องของ เอนะ อะซะคะวะ (มาซามิ นางะซะวะ เธอเป็นที่จดจำจากหนังรักเรียกน้ำตา Crying Out Love in the Center of the World ล่าสุดแสดงนำในหนัง Shin Ultraman) เธอเป็นผู้ประกาศช่องทีวีที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง จนได้เลื่อนขั้นมาทำรายการข่าวช่วงไพร์มไทม์ที่น้อยนักจะมีผู้หญิงรอดมาถึงจุดนี้ได้ แต่แล้วความรุ่งโรจน์ของเธอก็จบเห่ลงด้วยฝีมือพวกปาปารัชชี่ ทำให้เธอตกกระป๋องไปรับงานพิธีกรรายการภาคค่ำที่ไม่ค่อยมีคนดู ต้องมาทำงานกับโปรดิวเซอร์หน้าใหม่ คาคูโระ คิชิโมะโตะ (กอร์ดอน มาเอดะ ดาวรุ่งมาแรงจากซีรีส์สุดฮา Kinnikuman: The Lost Legend และหนังสยองในโรงเรียน Karada Sagashi) แม้จะหน้าใหม่แต่ก็มีวุฒิภาวะดีเยี่ยม จบจากมหาวิทยาลัยชื่อดัง แถมยังรูปหล่อพ่อรวย ถึงกระนั้นเขาก็ยังถูกประเมินในแง่ฝีมือว่าอยู่ในขั้นต่ำ แต่แล้ววันหนึ่งทั้งคู่ก็ซุ่มจับมือกันสืบคดีฆาตกรต่อเนื่องที่มีเหยื่อเป็นเด็กสาววัยรุ่นมากมาย โดยได้ความช่วยเหลือจากนักข่าวมือฉมัง เซอิจิ ไซโตะ (เรียวเฮ ซูซูกิ ผู้โด่งดังจากหนังหน้ากากกางเกงใน HK: Forbidden Super Hero และหนังบู๊จากมังงะชื่อดัง Tokyo Tribe)

กำกับโดย ฮิโรชิ วัน ที่คอซีรีส์บ้านเราน่าจะชื่นชอบงานเขาใน Tada’s Do-It-All House (2013) ก่อนที่เขาจะโดดไปทำหนังจากมังงะดังสุด ๆ อย่าง Bakuman (2015) โดยได้มือเขียนบทหญิง อายะ วาตานะเบะ ที่โด่งดังจากหนังรักละมุน Josee, the Tiger and the Fish (2003) กับหนังชายหนุ่มทุ่มใจให้ตาแก่วัยใกล้ฝั่ง La Maison de Himiko (2005)

Pandora’s box (1893) โดย Charles Edward Perugini และ Pandora (1896) โดย John William Waterhouse

FYI

ชื่อเรื่อง เอลปิส เป็นคำที่ถูกเอ่ยถึงในมหากาพย์ Works and Days ของเฮสิโอด ในปกรณัมกรีก ที่เล่าเหตุการณ์หลังจากเทพโพรเมธีอุส ขโมยไฟ(ความรู้/ตื่นรู้/ตาสว่าง)มาให้มนุษย์ มนุษย์จึงเริ่มตั้งคำถามกับพระเจ้า แล้วหลังจากซุสลงโทษโพรเมธีอุสแล้ว ซุสก็แก้แค้นมนุษย์ด้วยการส่งหญิงสาวคนแรกของโลก(เดิมทีมนุษย์มีแต่เพศชาย)ที่ถูกสร้างขึ้นมาด้วยความอยากรู้อยากเห็น นามว่าแพนโดร่า มาพร้อมหีบหนึ่งใบที่ถูกสั่งว่าห้ามเปิด มอบให้เป็นแก่เอพิเมธิอุส (น้องชายของโพรเมธิอุส) มนุษย์จึงสืบลูกสืบหลานผ่านทางนางแพนโดร่า แต่แล้วด้วยความอยากรู้อยากเห็นทำให้แพนโดร่าอดใจไม่ไหวที่จะเปิดหีบนั้นทำให้เกิดหายนะ ความชั่วร้าย ภัยพิบัติ ความป่วยไข้ และความตายฟุ้งกระจายไปทั้งโลกมนุษย์ นางแพนโดร่าจึงรีบปิดหีบลงอย่างรวดเร็ว ทำให้มีสิ่งหนึ่งยังคงค้างอยู่ในหีบนั้น มันถูกเรียกว่า “เอลปิส” หรือ ความสิ้นหวัง ตั้งแต่นั้นมนุษย์จึงมีความหวังไว้ปลุกปลอบหัวใจยามเผชิญหายนะนานา (เพราะความสิ้นหวังถูกกักไว้ในหีบ)

ซีรีส์ภาคแยก 8 คนไม่ดูทีวี

FYI

Elpis: Hope or Disaster มี 10 ตอน ที่ออกอากาศตั้งแต่ปลายตุลา และจะจบลงช่วงสิ้นปีนี้พอดี แต่ระหว่างตอนที่ 4 ซีรีส์เรื่องนี้จะมีภาคสปินออฟ หรือภาคแยกที่เล่าอีกเหตุการณ์หนึ่งในชื่อ Hajinin wa terebi o minai (แปดคนไม่ดูทีวี) ออนแอร์หกโมงเย็นของวันที่ 18 ตุลาคม เป็นวิโอดี ออนดีมานด์ (VOD) ทางแพล็ตฟอร์ม TVer ที่จะมีแค่ 3 ตอนจบ โดยเริ่มอีพี 0,1,2 ตามลำดับ ว่าด้วยคนแปดคนอาศัยในบ้านหลังเดียวกัน กำลังดูรายการ Friday ★ Bon Bon ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นสุสานของผู้ผลิตรายการ ที่มีพิธีกรคือ เอนะ อะซะคะวะ กับผู้ผลิต คาคูโระ คิชิโมะโตะ ตัวเอกจาก Elpis นั่นเอง ส่วนนักแสดงทั้งแปด คือทีมตลกนามว่า Dow 90000 ที่เปิดตัวในช่วงโควิดที่ผ่านมาทางช่องยูทูบ ก่อนจะมีผลงานทั้งละครเวที, ซีรีส์ทีวี, รายการทีวีมากมาย

รายละเอียดบนโปสเตอร์ที่ออกแบบโดย ยูนิ โยชิดะ

อย่างไรก็ตามสิ่งที่สร้างความฮือฮาอีกประการให้กับซีรีส์ Elpis คือภาพใบปิดที่ถ้าดูผ่าน ๆ อาจไม่ทันสังเกตุ แต่ถ้าดูใกล้ ๆ จะพบว่าภาพที่ทีแรกนึกว่าเป็นการใช้โฟโต้ชอปแต่งภาพให้ดูเหมือนภาพเออเร่อร์แบบดิจิตอล หรือแถบเส้นบนทีวี แต่จริง ๆ แล้วมันคือการจัดวางสมุด แฟ้ม ดินสอ โพสต์อิท ฯลฯ กองโต หรือก็คือการใช้วัสดุ 3 มิติมาจัดเรียงให้ได้มาซึ่งภาพ 2 มิติ อันเป็นลายเซ็นของตัวแม่ศิลปินภาพถ่ายแนวเซอร์เรียล ยูนิ โยชิดะ

โยชิดะกล่าวว่า “หลังจากอ่านบทแล้ว ฉันต้องการแสดงความขัดแย้งทางอารมณ์ภาพที่เกิดขึ้นระหว่างกระบวนการไล่ล่าความจริงของเหตุการณ์อย่างละเอียด มันเป็นโลกทัศน์สีเทาที่สับสนวุ่นวายซึ่งเผชิญหน้ากับความจริงที่ถูกฝังกลบเอาไว้ และถูกกองไว้เป็นพะเนินของข้อมูลต่าง ๆ ที่ถูกแทนที่ด้วยเอกสารกองโต จับคู่สีที่ให้ความเจ็บปวด การบิดเบือน และการพังทลายที่เกิดขึ้นรอบตัว ดูเหมือนจุดบกพร่องและจุดรบกวนในภาพที่แบบอะนาล็อก”

จุดบกพร่องหรือภาพรบกวนบนทีวีแบบอะนาล็อก (ซ้าย) และแบบดิจิตอล (ขวา)

FYI
ภาพเออเร่อร์ หรือข้อบกพร่องของภาพอิเล็คทรอนิคส์ แบบแอนาล็อก หรือดิจิตอล แตกเป็นแถบลวดลายพิกเซล สิ่งนี้ถูกเรียกว่า Glitch อันในเวลาต่อมาศิลปินนำสิ่งนี้มาใช้ในศิลปะทั้งแบบภาพเคลื่อนไหวและภาพนิ่ง และถูกเรียกโดยรวมว่า กลิช อาร์ต

ตัวอย่าง Glitch ในยุคก่อนปี 2000

กลิชไม่ใช่สิ่งใหม่ อย่างน้อยภาพจำที่คอหนังน่าจะคุ้นเคย คือการปรากฏตัวของเจ้าหญิงเลอาด้วยวิธีโฮโลแกรมใน Star Wars: New Hope (1977) ก็เป็นเทคนิคหนึ่งที่ใช้ประโยชน์จากกลิช หรือผลงานของพ่อมดวิดิโออาร์ต นัมจุนไปก์ (เบคนัมจุน ศิลปินชาวเกาหลี 1932-2006) อย่าง Magnet TV (1965) ที่เขาใช้แม่เหล็กขนาดใหญ่ติดไว้บนทีวีเพื่อให้เกิดความบิดเบือนทางภาพอิเล็คทรอนิคส์ แต่ Glitch เพิ่งกลายมาเป็นกระแสงานศิลปะเมื่อหลังยุค Y2K ช่วงเปลี่ยนผ่านจากแอนาล็อก มาสู่ยุคดิจิตอล ช่วงที่มนุษย์ทั้งโลกต่างกังวลว่าเม็มโมรี่ข้อมูลของคอมพิวเตอร์อาจสร้างความปั่นป่วนเมื่อโลกมาถึงปีมิลเลนเนียม

อันต่อมาได้เกิดการเคลื่อนไหวผ่านในงานสัมนา Glitch Art ครั้งแรกในออสโล นอร์เวย์ ด้วยการรวบรวบศิลปินนานาชาติ นักวิชาการ และผู้ปฏิบัติงานด้าน Glitch มาแลกเปลี่ยนแนวคิดต่อสาธารณชน ในปี2002, งานประชุม GLI.TC/Hในชิคาโก ที่มีทั้งเวิร์คช็อป บรรยาย และการแสดงผลงานทั้งในแบบวิดีโออินสตอลเลชั่น และการฉายภาพยนตร์ ตลอด 7 วัน ใน 3 ประเทศ ที่ชิคาโก อัมสเตอร์ดัม และเบอร์มิงแฮม มีงานประชุมหลายต่อหลายครั้งในหลากหลายประเทศ จนกระทั่งมีการจัดนิทรรศการครั้งแรกในอิหร่านเมื่อปี2021 และในปีนี้เองจะมีการแสดงผลงานนานาชาติผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ http://glitch.art.br/ ที่จะเริ่มในวันที่ 1 ธันวาคมที่จะถึงนี้ด้วย
ตัวอย่างผลงานที่ใช้ประโยชน์จาก Glitch

ฉากหน่วง-ยืด-ข้ามเวลาที่เรียกว่า Tesseract ในหนังฮอลลีวูด Interstellar (2014)
หนังไทย ดาวคะนอง (By the Time it Gets Dark, 2016) มีการใช้ Glitch ทั้งบนใบปิด และในช่วงท้ายของหนัง เพื่อพูดถึงการย้ำวนเหลื่อมซ้อนกันของชีวิตและกาลเวลา
ที่งานปารีสแฟชั่นวีคที่ผ่านมา Loewe SS23 แบรนด์ชั้นนำจากสเปน ทำให้ทั่วโลกตื่นตะลึง ด้วยการออกแบบโดย JW Anderson เป็นชุดที่ขยายพิกเซลของภาพดิจิตอล ให้กลายเป็นเสื้อผ้าที่สวมใส่ได้จริง

แต่แรกเริ่มคำว่า Glitch ใช้เฉพาะกับความผิดเพี้ยนของเสียงอิเล็คทรอนิคส์ มาสู่ยุคปัจจุบันที่มีแนวคิดมากมายจากการบิดเบือน หรือรบกวนดาต้าด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น ภาพวาดสมัยก่อน เกิดจากการลงสีบนผ้าใบ หรือกระดาษ แต่จริง ๆ แล้ว ภาพวาดต่าง ๆ ที่เราเห็นบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ มันเกิดจากการดิจิไทป์ หรือการทำให้เป็นดิจิตอลด้วยฐานข้อมูลตัวเลข หรือดาต้ามากมายที่ถูกเข้ารหัสออกมาเป็นภาพ ทีนี้ถ้าเราสามารถดึงเอาภาพเหล่านี้กลับมาเป็นรหัสตัวเลข แล้วลบบางดาต้า หรือบางฐานตัวเลขออก แล้วโยนกลับไปให้เป็นภาพ หรือการวาดภาพเลียนแบบภาพดิจิตอลที่เออเร่อร์ ให้เป็นประติมากรรม หรือภาพวาดสีน้ำมัน ภาพนั้นจะกลายเป็นเช่นไร และนี่คือตัวอย่าง

ตัวอย่างภาพชื่อดังที่ถูกดึงเอาฐานข้อมูลตัวเลขออกไป
ผลงานภาพวาดและประติมากรรมโดยศิลปินบริติช-โปลิช คอนราด วายเรเบค https://www.konradwyrebek.com/ยูนิ โยชิดะ
ผลงานของ ยูนิ โยชิดะ ที่ใช้เทคนิคแบบ Glitch Art

ในรูปนี้คุณจะได้เห็นผลงานของ ยูนิ โยชิดะ ที่ใช้ประโยชน์จาก Glitch นี่ไม่ใช่การรีทัชภาพเพื่อให้เห็นพิกเซลแบบ Glitch แต่คือการหั่นพืชผักผลไม้ หรือลิปสติก หรือวาดสีเฉดต่าง ๆ ลงไปบนตัวแบบจริง ๆ แต่นี่ไม่ใช่รูปแบบเดียวที่ ยูนิ โยชิดะ ใช้ เพราะภาพรวมผลงานเธอทั้งหมดไม่ใช่แค่ Glitch

ยูนิ โยชิดะ เกิดในปี 1980 หลังจากจบการศึกษาจาก Joshibi University of Art and Design เธอได้เข้าทำงานในบริษัทโฆษณา Onuki Design ก่อนที่จะย้ายไปเป็นหนึ่งในกลุ่มนักออกแบบของ Uchu Country ก่อนที่เธอจะลาออกมาฉายเดี่ยวในปี 2007 ซึ่งทั้งสองบริษัทโฆษณาที่โยชิดะเคยทำงานนั้น มีความโดดเด่นทั้งในแง่ผลักดันความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ของแวดวงโฆษณา และผสมผสานให้กลายเป็นผลงานศิลปะสร้างสรรค์

ผลงานส่วนหนึ่งของ ทาคุยะ โอนุกิ

Onuki Design คือบริษัทออกแบบภายใต้ ทาคุยะ โอนุกิ ที่ปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยทามะ ด้านกำกับศิลป์และกราฟิกดีไซน์ ผู้มีสไตล์เรียบง่ายแต่ทรงพลัง ผู้คร่ำหวอดในวงการนี้มานานกว่าสามทศวรรษ

แคมเปญ “HIROSHIMA APPEALS” โดย ทาคุยะ โอนุกิ / (ขวา) แคมเปญเดียวกันโดย ยูซากุ คาเมะคุระ

ล่าสุด ทาคุยะ โอนุกิ เพิ่งคว้ารางวัล ยูซากุ คาเมะคุระ อะวอร์ด ครั้งที่ 24 ในปี 2022 นี้ อันเป็นรางวัลที่ก่อตั้งขึ้นในปี 1999 เพื่อเป็นเกียรติแก่นักออกแบบกราฟิก ยูซากุ คาเมะคุระ (ผู้ออกแบบโปสเตอร์ EXPO’70 และโลโก Meiji) ที่เสียชีวิตกะทันหันในปี 1997 การจัดงานและคัดเลือกผลงานโดย สมาคมนักออกแบบกราฟิกญี่ปุ่น (JAGDA) โดยปีนี้เป็นโปสเตอร์แคมเปญรณรงค์งาน “HIROSHIMA APPEALS” เมื่อปี2021 (หัวข้อประจำปีโดยมูลนิธิฮิโรชิมาที่จะเชิญศิลปินมาออกแบบโปสเตอร์ ซึ่งครั้งหนึ่งในปี 1983 ยูซากุ คาเมะคุระ ก็เคยออกแบบให้หัวข้อนี้ด้วย) โดยผลงานของ โอนุกิ สามารถสแกนดูแบบ AR ได้ด้วย อันเป็นภาพเคลื่อนไหวที่จะเห็นฝุ่นคลุ้งสีดำคลุมไปปิดทั่วตัวนกพิราบ ตัวแทนแห่งสันติภาพที่ทำลายภาพฝันลงด้วยเศษซากจากระเบิดนิวเคลียร์ ดูได้ที่ลิงค์นี้ https://youtu.be/l7yHvRL99OE

ผลงานบางส่วนของ นางิ โนดะ

Uchu Country เป็นกลุ่มนักออกแบบกราฟิกภายใต้ นางิ โนดะ (1973-2008) อาร์ตไดฯ และมือกราฟิกหญิงที่มีลูกเล่นไม่เหมือนใคร เธอสนุกกับการทำซ้ำ สร้างภาพเหนือจริงแต่แทนที่จะใช้สเปเชียลเอ็ฟเฟ็คต์ช่วย เธอกลับเลือกจะจัดฉากโดยใช้คนมาแสดงเป็นเงา ถักทอความเซอร์เรียลขึ้นมาจากของเรียล ๆ เป็นผู้เปลี่ยนวงการโฆษณาให้มีชีวิตชีวา เธอเสียชีวิตลงด้วยวัยเพียง 34 ปี โดยเว็บไซต์ของ Uchu Country (ปัจจุบันปิดตัวลงแล้ว) ได้ลงสาเหตุการเสียชีวิตไว้ว่า “เป็นอุบัติเหตุจากการกินยาแก้ปวดชนิดรุนแรง เพื่อจะระงับอาการปวดจากอุบัติเหตุเมื่อหลายปีก่อน” สามารถดูผลงานภาพเคลื่อนไหวของ นางิ โนดะ ได้ที่เพลย์ลิสต์นี้https://www.youtube.com/watch?v=9Nj7hHdg-kc&list=PLD92FB3AB425E4C35

หนึ่งในเซ็ตภาพถ่ายคนดังในนิตยสาร Soen ที่ ยูนิ โยชิดะ ทำให้กลายเป็นงานศิลปะ อย่างรูปนี้คือการถ่ายภาพลงไปบนสันหนังสือที่จัดเรียงไว้เต็มตู้ ก่อนจะนำมาจัดวางใหม่ เป็นงานมืองานหัวล้วน ๆ โดยไม่พึ่ง CG เลย

“ผลงานของยูนิ โยชิดะมักนำเสนอนางแบบในฉากที่เหนือจริงและเหมือนฝัน ทำให้คุณอยากจะมองแล้วมองอีก อยากจะมองเข้าไปใกล้ ๆ ให้ลึกลงไปอีก” -เว็บเทรนด์แลนด์

“หากจะมีผู้กำกับศิลป์และศิลปินสักคนที่ทำให้คุณอ้าปากค้าง นั่นคือ ยูนิ โยชิดะ อย่างไม่ต้องสงสัย นับแต่เราได้รู้จักเธอ เราก็ดำดิ่งสู่โลกเหนือจริงที่แต่งแต้มสีสันและจิกกัดอย่างดุเด็ด ผ่านภาพที่เป็นไปไม่ได้ โลดโผน พาเรากระโจนสู่โลกแห่งเทพนิยาย ขณะเดียวกันมันยังรบกวนจิตใจซึ่งทำให้งานของเธอมีมนต์เสน่ห์ลึกลับ” -เว็บโซแคทชี

“ภาพลักษณ์ของ ยูนิ โยชิดะ สวยงามแต่เข้าถึงได้ไม่ยาก น่ารักแต่แฝงไปด้วยพิษภัย” -เว็บยูนิโคล่

ภาพเซ็ตดิสนีย์ และซานริโอ ที่ โยชิดะ ทำขึ้นเพื่อเป็นแบบเสื้อให้ ยูนิโคล่ พอจะมองออกไหมว่าจริง ๆ แล้วมันถูกประดิดประดอยขึ้นมาจากอะไรบ้าง ทั้งหมดนี้เป็นงานมือล้วน ๆ

ผลงานเด่นอันหลากหลายของยูนิ โยชิดะ อาทิ เป็นอาร์ตไดฯให้กับห้าง Laforet Harajuku และ Lumine, ทำสื่อสิ่งพิมพ์ให้กับละครเวทีหลายเรื่องที่กำกับโดย ฮิเดกิ โนดะ, ออกแบบอาร์ตเวิร์คทั้งหมดให้ศิลปินดังอย่าง เคียร่า คิมูระ, ชาร่า, เก็น โฮชิโนะ และ Vuandy ฯลฯ, เป็นผู้กำกับศิลป์ให้นิทรรศการของ นาโอมิ วาตานาเบะ ดาวตลกหุ่นบึ้มเจ้าหญิงแห่งวงการแฟชั่น, ออกแบบแคมเปญให้สินค้าแบรนด์ดัง อาทิ แบรนด์แฟชั่น Uniqlo, Punyus และ Lowrys Farm, ชุดชั้นใน Ful Fru, เครื่องสำอาง Shu Uemura, อีเว้นต์ Mercedes-benz แฟชั่นวีค, เครื่องดื่ม Kirin, เธอยังตีพิมพ์ซีรีส์ภาพคนดังในนิตยสาร “Soen” อีกด้วย และเธอคว้ารางวัล Tokyo ADC Prize ในปี 2016 กับรางวัล Mainichi ในปี 2019

โยชิดะ อยู่มือมาก ๆ ในการเล่นกับเส้นผม

ยูนิ โยชิดะ เริ่มต้นเล่าให้ฟังว่า “สมัยเรียนฉันไม่รู้เรื่องโฆษณามากนัก แต่ฉันได้รับแรงบันดาลใจอย่างมากจากชั้นเรียนในมหาวิทยาลัย จากการได้ดูผลงานของผู้กำกับศิลป์เจ๋ง ๆ หลายคน ในบรรดานั้นฉันชอบงานของ ทาคุยะ โอนุกิ มากที่สุด ดังนั้นเมื่อเรียนจบฉันต้องหางาน จึงโทรไปหาเขาและขอให้เขาดูผลงานของเขา หน้าห้องของเขาตอบว่า ช่วยส่งผลงานมาให้หน่อย แต่ตอนนั้นฉันคิดว่าถ้าส่งไปแล้วเขาไม่ดูล่ะ ฉันก็เลยตรงไปที่สำนักงานเขาด้วยตัวเองเลย แต่สุดท้ายฉันก็ไม่ได้เจอเขาอยู่ดี ฉันฝากไว้ให้เลขาของเขา แล้วโอนุกิซังก็เอามาดูทีหลัง เขาชอบมันมาก นั่นทำให้ฉันได้เข้าทำงานที่ Onuki Design”

“แต่ฉันก็ทำได้ไม่ถึง 3 ปี ตอนฉันเริ่มงาน พวกเขายุ่งกับแคมเปญฉลอง 25 ปีของห้าง Laforet Harajuku ตอนนั้นฉันเป็นผู้หญิงเพียงคนเดียวจากทั้งออฟฟิศ แถมยังเพิ่งจบใหม่ อายุฉันก็แสนจะห่างไกลจากพวกรุ่นพี่คนอื่น ๆ มาก ฉันเลยไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากเรียนรู้ด้วยตัวเอง คุณโอนุกิเป็นคนมีความมุ่งมั่นสูง ฉันได้เรียนรู้หลายอย่างจากที่นั่น และที่นี่ก็ทำให้ฉันติดนิสัยต้องตรวจสอบแล้วตรวจสอบอีกว่าสิ่งที่คิดมันดีพอไหม จนถึงแม้แต่ขั้นตอนการถ่ายทำ ฉันก็ต้องตรวจให้มั่นใจว่ามันถูกต้องอย่างที่ต้องการแล้วหรือเปล่า นิสัยแบบนี้หายากนะ (หัวเราะ)”

ผลงานชิ้นแรกในฐานะอาร์ตไดของเธอ คือ แบรนด์เสื้อผ้า b+ab Spring 07

“จากนั้นฉันก็ย้ายไป Uchu Country ฉันรู้จักคุณโนดะตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัย สมัยนั้นคุณโนดะยังทำงานอยู่ที่ Sanad งานพาร์ทไทม์ของฉันคือเป็นผู้ช่วยคุณโนดะที่นั่น ทำให้เรารู้จักกัน ดังนั้นเธอจึงเป็นเหมือนเพื่อน ฉันยังเคยปรึกษาเธอเลยตอนจะเข้า Onuki Design ดังนั้นพอฉันทำงานได้เกือบสามปี เธอก็ชวนไปทำงานด้วย ฉันกังวลมาก แต่ตอนนั้นฉันคิดแค่ว่าอยากมีโอกาสทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตัวเอง และคุณโนดะก็รับปากฉันว่าฉันจะได้เป็นผู้กำกับศิลป์ตัวจริง ไม่ใช่แค่ผู้ช่วย หรือแค่คิดไอเดีย ดังนั้นฉันจึงไป”

“เราแลกเปลี่ยนความเห็นกันหลายอย่าง คุณโนดะจะเข้มงวดอย่างมากกับงานภาพ ฉันรู้เลยว่าคุณโนดะมีพลังที่จะทำในสิ่งที่เธอต้องการให้เป็นจริงได้ มีเสน่ห์ดึงดูดผู้คน และมีพลังเหลือล้นในการวางแผนงานต่าง ๆ ที่นั่นฉันได้เป็นอาร์ตไดฯ ตัวจริงครั้งแรกให้กับเสื้อผ้าแบรนด์จากฮ่องกง b+ab เป็นโฆษณาตัวแรกที่ฉันถ่ายทำ และฉันกังวลหนักมากกลัวมันจะออกมาไม่ดี แต่เมื่อคุณโนดะเห็นเข้าเธอถึงกับร้องไห้ด้วยความดีใจ มันเป็นผลงานที่น่าจดจำและเป็นใบเบิกทางให้ฉันในเวลาต่อมา แถมยังมีสื่อฝรั่งเศสขอเอาไปตีพิมพ์ในนิตยสารด้วย”

กลวิธีหลากหลายในการลวงตา โดย ยูนิ โยชิดะ

“ฉันเป็นประเภทที่ได้รับแรงบันดาลใจจากภาพมากกว่าคำพูด ดังนั้นฉันจึงพยายามสื่อสารข้อความเชิงพาณิชย์ให้ได้มากที่สุดผ่านภาพ(มากกว่าข้อความโฆษณา)” โยชิดะเริ่มเล่าถึงไอเดียต่าง ๆ ที่เธอใช้ในการออกแบบ เธอว่า “โดยธรรมชาติแล้ว โฆษณาจำเป็นต้องสื่อสารข้อมูลจำนวนมากในทันทีและทำเช่นนั้นเพื่อดึงดูดความสนใจจากผู้คน ก่อนผู้ชมจะไปรับรู้ข้อมูลเพิ่มเติม แล้วจากไป แต่ฉันอยากให้ผู้คนเห็นโฆษณาของฉัน แล้วกลับมาดูซ้ำอีกครั้งแล้วค้นพบสิ่งใหม่ ๆ เพราะฉันชอบให้ความบันเทิงและทำให้ผู้คนประหลาดใจ เหนือสิ่งอื่นใดฉันชอบที่จะทำให้ตัวเองประหลาดใจด้วยไอเดียใหม่ ๆ”

เทคนิคตัดกระดาษก็มา

โยชิดะเล่าชีวิตในวัยเด็กให้ฟังว่า “ฉันค่อนข้างสนใจงานออกแบบตั้งแต่อยู่ชั้นประถม อันที่จริงฉันเคยพูดไว้ในหนังสือรุ่นสมัยประถมว่าความฝันของฉันคือการเป็นนักออกแบบ แม้ตอนนั้นฉันยังไม่ค่อยเข้าใจว่าพวกดีไซเนอร์ เขาทำอะไรกันแน่ สมัยนั้นฉันเป็นสมาชิกชมรมหัตถกรรมของโรงเรียนและชอบใช้เลื่อยไฟฟ้ามาก (หัวเราะ) เวลาเล่นของฉันเริ่มจากการทำของเล่นปลอม ๆ ด้วยโฟม ทำอาหารจากกระดาษพับออริกามิ แล้วเมื่อสวมบทบาทเป็นหมอฟัน ฉันเริ่มทำฟันปลอมด้วยดินน้ำมันกับหิน ใช้มือสร้างสรรค์เป็นสิ่งต่าง ๆ และรู้อยู่เสมอว่าเมื่อโตขึ้นฉันจะทำงานเกี่ยวกับอะไรพวกนี้แหละ”

“ทำให้โตมาฉันมักจะสร้างผลงานด้วยตนเองเพราะฉันชอบโต้ตอบกับวัสดุที่จับต้องได้จริง ๆ นอกจากนี้ฉันยังรู้สึกว่างานศิลปะที่สร้างขึ้นด้วยมือสามารถสะท้อนถึงความตื่นเต้นที่มีชีวิตจริงของกระบวนการสร้างสรรค์ ให้ความรู้สึกลึกซึ้งและอบอุ่นมากกว่า อย่างพวกผลไม้และดอกไม้มันจะยังคงเป็นแค่วัตถุ แต่เมื่อคุณสัมผัสได้ถึงพลังและความเย้ายวนใจของพวกมัน พวกมันมีรูปแบบ สีไม่แน่นอน และมันจะยังคงเป็นรูปแบบเดียวกัน หากปราศจากการสร้างสรรค์”

พืชผักผลไม้ดอกไม้เป็นงานถนัดของ โยชิดะ

“ฉันมักจะถูกดึงดูดด้วยภาพลวงตาและทำให้สิ่งต่าง ๆ ดูเหมือนเป็นอย่างอื่น เสน่ห์เฉพาะตัวของภาพลวงตาคือ คุณสามารถสร้างจินตนาการด้วยวัสดุจริง หรืออีกนัยหนึ่งคือค้นหาสิ่งที่น่าสนใจด้วยการเปลี่ยนมุมมองของเรา นอกจากนี้ฉันยังชอบมองผ่านกล้องจุลทรรศน์ ฉันรู้สึกทึ่งกับสิ่งต่าง ๆ รอบตัวที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า หนังสือสารานุกรมที่มีภาพประกอบก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งทำให้ฉันทึ่ง เพราะฉันชอบดูภาพของจริงแล้วปล่อยให้จินตนาการโลดแล่นไปกับมัน เมื่อฉันผลิตบางอย่าง ฉันไม่ได้พยายามทำบางสิ่งที่ซับซ้อนเป็นพิเศษเพื่อให้คนอื่นสังเกตเห็น ฉันต้องการให้ผู้คนคิดว่า ‘เดี๋ยวนะ มันมีบางอย่างไม่ชอบมาพากลในภาพนี้ที่แตกต่างออกไป’ และกลายเป็นแรงบันดาลใจ สำหรับการโฆษณาสิ่งสำคัญคือต้องดึงดูดความสนใจของผู้คน นั่นเป็นเหตุผลที่ฉันสร้างบางสิ่งด้วยตะขอเกี่ยวที่มองเห็นได้ในทันทีเพื่อเรียกความสนใจ ถึงกระนั้นฉันก็ต้องการให้มันเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้คนหันกลับมามองอย่างใกล้ชิดอีกครั้ง”

ทั้งเงามืด เงาสะท้อน เป็นอีกสิ่งที่ โยชิดะ หลงใหล

“ผู้คนมักจะคิดว่าผลงานของฉันมีอิสระในการจัดวางองค์ประกอบโดยไม่มีกรอบ แต่จริง ๆ แล้วฉันชอบทำงานแบบมีข้อจำกัดมากกว่า…ฉันชอบที่จะเห็นว่าตัวเองสามารถหลีกหนีไปได้ไกลแค่ไหนจากขีดจำกัดเหล่านั้น ภายในกรอบที่ถูกกำหนดไว้”- ยูนิ โยชิดะ

โยชิดะเป็นอาร์ตไดฯ ประจำตัวให้เจ้าหญิงวงการแฟชั่น นาโอมิ วาตานาเบะ
ออกแบบรูปเล่มให้มังงะ Happy Mania ของ โมโยโกะ อันโนะ
ผลงานของ โยชิดะ ที่ผู้เขียนชอบเป็นพิเศษ

ผลงาน MV
Chara – Koibumi https://youtu.be/PvZLxREFXf4
Gen Hoshino – Doraemon https://youtu.be/ypRTzt1KrF8
Gen Hoshino – Love https://youtu.be/jhOVibLEDhA
Gen Hoshino – Idea https://youtu.be/RlUb2F-zLxw
V6 – Remember your love https://youtu.be/m1UlWyOpRC0