ThaiPublica > เกาะกระแส > ซูเปอร์เอลนีโญ เราจะรอดอย่างไร (3) : กทม. ชี้เกษตร-อุตสาหกรรม ปรับตัวรับวิกฤติ ‘เมื่อฝนแล้งในหน้าฝน’

ซูเปอร์เอลนีโญ เราจะรอดอย่างไร (3) : กทม. ชี้เกษตร-อุตสาหกรรม ปรับตัวรับวิกฤติ ‘เมื่อฝนแล้งในหน้าฝน’

5 สิงหาคม 2023


กรุงเทพมหานครเตือนประชาชนประหยัดน้ำ เก็บน้ำฝนไว้ใช้ในช่วงหน้าแล้ง ชี้ปรากฎการณ์เอลนีโญ ทำให้ปริมาณฝนน้อยกว่าปกติ 30% แล้งยาวและรุนแรง ส่งผลน้ำต้นทุนเขื่อนหลักไม่เพียงพออุปโภค-บริโภค เตรียมวางแผนใช้น้ำจากโรงบำบัดน้ำเสียกว่าวันละล้านลูกบาศก์เมตรกลับมาใช้ใหม่

นายอรรถเศรษฐ์ เพชรมีศรี ผู้เชี่ยวชาญการจัดการน้ำ ที่ปรึกษานายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่ากรุงเทพมหานคร

องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (ดับเบิลยูเอ็มโอ) ของยูเอ็น และ Copernicus Climate Change Service (C3S) แห่งสหภาพยุโรป ออกแถลงการณ์ร่วมกัน การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ เป็นสิ่งที่น่าหวาดกลัว และมันเพิ่งเริ่มขึ้น ตอนนี้ยุคของภาวะโลกร้อนได้สิ้นสุดลงแล้ว และยุคของโลกเดือดกำลังจะมาถึง โดยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคือสิ่งที่น่ากลัวมาก และเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น ทั่วโลกจะได้รับผลกระทบในขั้นที่รุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่เกิดขึ้น

สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปสัมพันธ์โดยตรงกับปรากฏการณ์เอลนีโญที่ประเทศไทยกำลังเผชิญ และสถานการณ์ในครั้งนี้อาจจะรุนแรงกว่าทุกครั้งที่เคยเกิดขึ้น ซึ่ง “อรรถเศรษฐ์ เพชรมีศรี” ผู้เชี่ยวชาญการบริหารจัดการน้ำ ที่ปรึกษานายชัชชาติ สิทธิพันธ์ ผู้ว่ากรุงเทพมหานคร บอกว่า ประเทศไทยเข้าสู่ปรากฏการณ์เอลนีโญเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยขณะนี้อยู่ในช่วงต้นของเอลนีโญ การบริหารจัดการน้ำต้นทุนในช่วงนี้จึงเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง กรุงเทพมหานครจึงได้ติดตามการบริหารจัดการน้ำของกรมชลประทานมาโดยตลอด และพบว่าในช่วงปี 2564-2565 มีฝนตกปริมาณมาก ทำให้มีปริมาณน้ำต้นทุนใน 4 เขื่อนในพื้นที่ภาคกลาง ประกอบด้วย เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิตติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จำนวนมากเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมากรมชลประทานได้บริหารจัดการน้ำเพื่อรับน้ำฝน โดยปล่อยน้ำจาก 4 เขื่อนใหญ่ในพื้นที่ภาคกลาง เพื่อใช้น้ำในพื้นที่เกษตรไปจำนวนมากเช่นกัน

“ปีที่แล้วมีฝนเข้ามาเติมน้ำต้นทุนใน 4 เขื่อนหลักค่อนข้างมาก ทำให้สามารถใช้น้ำเพื่อการเกษตรที่ต้องใช้น้ำมาก เช่น การทำนา 1 ไร่ใช้น้ำประมาณ 1,200-1,500 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งในเรื่องนี้กรมชลประทานรู้ดีว่าน้ำที่ใช้กับชาวนาจนหมดฤดูกาลเก็บต้องใช้จำนวนเท่าไหร่ในภาพรวมทั้งหมด”

เมื่อตรวจสอบปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลักในพื้นที่ลุ่มภาคกลาง พบว่า ขณะนี้เขื่อนภูมิพลยังมีปริมาณน้ำใช้ได้ประมาณ 23% เปรียบเทียบกับปีที่แล้ว 28% เขื่อนสิริกิตติ์มีปริมาณน้ำ 12% เทียบกับปีที่แล้วมีปริมาณน้ำประมาณ 14% เขื่อนแควน้อยบำรุงแดนขณะนี้เหลือปริมาณฯ 13% ปีที่แล้ว 28% โดยเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มีปริมาณน้ำน้อยที่สุดคือ 11% เทียบกับปีที่แล้ว 21%

“อรรถเศรษฐ์” บอกว่าปริมาณน้ำในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ที่เหลืออยู่ หากไม่มีฝนมาเติมน้ำต้นทุนอาจจะส่งผลกระทบต่อการทำเกษตรในพื้นที่ลุ่มภาคกลางตั้งแต่สระบุรีลงมาถึงปลายน้ำอย่าง กทม. เนื่องจากปัจจุบันในเดือนกรกฎาคม เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มีปริมาณน้ำที่สามารถใช้งานได้เพียง 107 ล้านลูกบาศก์เมตร

ขณะที่เมื่อเทียบสัดส่วนการใช้น้ำในภาคเกษตรเฉพาะในพื้นที่ กทม. ซึ่งแบ่งพื้นที่เกษตรได้ดังนี้ พื้นที่คลองสามวาประมาณ 2 หมื่นไร่และหนองจอกมีประมาณ 6 หมื่นไร่ มีนบุรี 4,000 ไร่ ลาดกระบัง 8,000 ไร่ รวมแล้วพื้นที่ทำนาด้านตะวันออกของกรุงเทพฯ ประมาณ 1.1 แสนไร่ โดยพื้นที่เกษตรกรรมของกรุงเทพฯ มีความต้องการใช้น้ำประมาณ 120 ล้านลูกบาศเมตร ขณะที่น้ำต้นทุนของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มีเพียง 107 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น

“ปริมาณน้ำจากเขื่อนป่าสักฯ กว่าจะมาถึงกรุงเทพฯ ต้องผ่านปทุมธานี ซึ่งมีพื้นที่ทำนาจำนวนมาก และต้องการใช้นำเช่นกัน เพราะฉะนั้น เราจะเห็นว่าปริมาณน้ำต้นทุนที่จะมาทำการเกษตรอาจไม่เพียงพอ”

นายอรรถเศรษฐ์ เพชรมีศรี ผู้เชี่ยวชาญการจัดการน้ำ ที่ปรึกษานายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่ากรุงเทพมหานคร

ปริมาณฝนพื้นที่ภาคกลางต่ำสุดรอบ 30%

ความน่าเป็นห่วงของปริมาณน้ำต้นทุนใน 4 เขื่อน คือปริมาณฝนที่จะเข้ามาเติมน้ำต้นทุนในเขื่อนให้เพียงพอ

“อรรถเศรษฐ์” บอกว่า หากเทียบสถิติโดยรวมปริมาณฝนในพื้นที่ภาคกลางพบว่า ปริมาณฝนในปีนี้ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานเกือบ 50% และหากเทียบปริมาณน้ำในรอบ 30 ปีพบว่าต่ำกว่าปกติ 38% เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าปริมาณฝนน้อยลง ส่งผลให้ความหวังที่จะมีน้ำฝนมาเติมน้ำต้นทุนจึงยังไม่มีวี่แวว

“วี่แววที่จะมีพายุหรือดีเปรสชั่น แทบมองไม่เห็นว่าจะมีพายุที่จะเข้ามาตรงๆ กับประเทศไทยเพื่อเพิ่มปริมาณฝนแทบจะไม่มี เพราะโดยปกติช่วงนี้ประเทศไทยต้องมีพายุเข้าประมาณ 1-2 ลูกแล้ว เพื่อให้มีปริมาณน้ำมาเติมในอ่างเก็บน้ำ”

“อรรถเศรษฐ์” บอกว่า หากในช่วงเวลาปกติปริมาณฝนจะเริ่มมีมากในช่วงตั้งแต่เดือนกรกฎาคม สิงหาคม กันยายน แต่ปีนี้เราแล้งในหน้าฝน ซึ่งผิดปกติ กลายเป็นว่าเราไม่ได้แล้งในหน้าแล้ง แต่เราแล้งในหน้าฝน ส่งผลให้การบริหารจัดการน้ำต้องเหนื่อยมากขึ้นเพราะว่าไม่มีน้ำต้นทุน

ทั้งนี้ หลักการการบริการจัดการน้ำจะแบ่งสัดส่วนการใช้น้ำออกเป็นการใช้น้ำเพื่อ อุปโภค บริโภค ใช้ได้ไม่เกิน 5% ภาคอุตสาหกรรม 15% เกษตรกรกรรมใช้ประมาณ 40% ที่เหลือเป็นการรักษาระบบนิเวศน์ โดยเฉพาะการใช้น้ำหนุนน้ำเค็ม โดยพบว่า น้ำต้นทุนที่มีปริมาณน้อย หากเทียบปริมาณน้ำในช่วงครึ่งเดือนหลังของกรกฎาคมถึงเดือนสิงหาคมกับปีที่ผ่านมา ปริมาณน้ำที่ไหลผ่านสถานีบางไทรอยู่ที่ 1,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แต่ปัจจุบันอยู่ 300 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อการใช้น้ำเพื่อไล่น้ำเค็มในช่วงน้ำทะเลหนุน

“เราให้ความสนใจเรื่องปัญหาน้ำทะเลหนุนค่อนข้างมาก แม้บางคนบอกว่าน้ำแล้งน่าจะดีสำหรับการบริหารจัดการ กทม. แต่จริงๆ แล้วน้ำแล้งบริหารยากกว่าน้ำท่วม เพราะไม่มีน้ำต้นทุนมาเติมเราก็ไม่รู้จะหาน้ำจากไหน น้ำท่วมหรือน้ำรอระบายแค่สูบออกรอเวลาการระบายออกไป แต่น้ำแล้งจะเอาตรงไหนมาเติม ไม่มีน้ำให้เติม เพราะฉะนั้นตรงนี้บริหารยากกว่าเยอะ”

เตือนน้ำต้นทุนไม่เพียงพอ สู้น้ำทะเลหนุน

สถานการณ์น้ำทะเลหนุนอาจจะสร้างปัญหาให้กับคนกรุงเทพฯ หากปริมาณน้ำต้นทุนมีไม่มากพอที่จะผลักดันออกไป โดยพบว่าในช่วงหลังเดือนสิงหาคน กันยายน เข้าตุลาคม จะเริ่มเข้าสู่ฤดูแล้ง เพราะปริมาณฝนจะเริ่มน้อยลง

ขณะที่เมื่อเข้าสู่เดือนพฤศจิกายน ธันวาคม มกราคม กุมภาพันธ์ เป็นช่วงของน้ำทะเลหนุนสูงที่สุด เมื่อปริมาณน้ำ 4 เขื่อนหลักโดยเฉพาะเขื่อนป่าสักฯ ไม่มีน้ำต้นทุนมากพอในการหนุนน้ำทะเล อาจส่งผลให้น้ำทะเลหนุนสูงลึกเข้ามาในพื้นที่การเกษตรทำไม่ได้เพราะว่ามีค่าความเค็มสูงมาตรฐานในการผลิตน้ำประปาต้องไม่เกิน 0.5 กรัมต่อลิตร

“ถ้าค่าความเค็มสูงมากเราจะไม่จ่ายน้ำเพื่อทำน้ำประปา ซึ่งขณะนี้เพิ่มเริ่มต้นเอลนีโญ แต่หากต่อเนื่องในปีต่อไปมันจะแย่ยิ่งกว่านี้ เพราะปริมาณน้ำต้นทุนปี 2566 มีปริมาณน้ำน้อย และจะน้อยลงไปอีก ในปี 2567 จะเจอปัญหา เพราะฉะนั้น จะต้องเตรียมแผนรับมือ โดยหลายหน่วยงานเริ่มมีการวางแผนเพื่อรองรับในเรื่องนี้แล้ว”

นายอรรถเศรษฐ์ เพชรมีศรี ผู้เชี่ยวชาญการจัดการน้ำ ที่ปรึกษานายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่ากรุงเทพมหานคร

รัฐบาลชุดใหม่ต้องวางแผนรับมือ

โจทย์ใหญ่ คือ ภาคเกษตรจะมีผลผลิต ลดลง พืชผลจะมีราคาแพง และภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นรายได้หลักของประทศเมื่อน้ำต้นทุนมีคุณภาพไม่ดีพอจะกระทบต่อการผลิต ทำให้เกิดปัญหาผลกระทบต่อทุกภาคส่วน รวมไปถึงเรื่องน้ำเพื่อใช้ในการสร้างสมดุลระบบนิเวศต่างๆ ก็จะเป็นปัญหาด้วยเช่นกัน เมื่อไม่มีน้ำเข้าไปพยุงความเสียหายจะเกิดขึ้น ถนนข้างคลองจะทรุดเกิดความเสียหายมากขึ้น

ทั้งนี้ ปัญหาที่เกิดขึ้นต้องยอมรับว่าแนวทางแก้ไข อาจจะยังไม่ชัดเจนมากนัก หลายหน่วยงานมีโครงการขัดบ่อกักเก็บน้ำแต่ก็เป็นวิธีการเดิมที่อาจจะไม่สามารถเก็บน้ำได้ ขณะที่ภาคเกษตรในพื้นที่ชลประทานอาจไม่น่าเป็นห่วงเท่ากับภาคเกษตรนอกพื้นที่ชลประทานที่อาจจะมีปัญหา

“รุนแรงมากถึงรุนแรงมากที่สุดจริงๆ แม้ว่าเราจะเคยเจอเหตุการณ์วิกฤติขาดแคลนน้ำรุนแรงปี 2548 เกือบทำให้มาบตาพุดเกือบต้องชัตดาวน์ทั้งหมดเพราะว่าไม่มีน้ำ ในปี 2562 เราเจอปัญหาแล้งแต่ไม่รุนแรง เพราะมีน้ำต้นทุน แต่รอบนี้เอลนีโญจะส่งผลกระทบมากเพราะเราเจอปัญหาแล้ง ที่มาเกิดในหน้าฝน อันนี้สำคัญ แล้งที่เกิดในหน้าฝนเป็นเรื่องที่น่ากลัว แล้วเราจะอยู่อย่างไรเมื่อไม่มีน้ำต้นทุน”

“อรรถเศรษฐ์” บอกว่า ปัญหาเหล่านี้คือโจทย์ที่รัฐบาลต้องหาวิธีรับมือ โดยที่ผ่านมามีหลายโครงการที่รัฐพยายามผลักดัน เช่น โครงการผันน้ำจากประเทศเพื่อนบ้าน อย่างโครงการผันน้ำจากแม่น้ำสาละวิน โครงการโขง-ชี-มูล แต่ปัญหาที่ต้องตระหนักถึงคือ แม่น้ำเหล่านั้นเป็นแม่น้ำที่ใช้ร่วมกันหลายประเทศ

อย่างไรก็ตามรัฐบาลชุดใหม่ที่เข้ามาบริหาร อาจจะต้องเร่งรัดในการศึกษา และพิจารณาดำเนินการโครงการเหล่านี้เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำในระยะยาว

ภาคเกษตรต้องปรับเกษตรวิถีใหม่

ขณะที่ในส่วนของภาคเกษตรเองอาจจะต้องปรับ หันมาหาวิธีการทำเกษตรกรรมที่ใช้น้ำน้อย เช่น กรณีหนองจอกมีที่นา 6 หมื่นไร่ ขณะนี้เริ่มปรับจากการทำนามาทำไร่แคนตาลูปที่ใช้น้ำน้อยลง และชาวนาอาจจะต้องปรับวิธีการในการทำนา ที่เปลี่ยนจากการใช้น้ำมากมาเป็นทำนานใช้น้ำน้อย เช่น การทำนานแห้งสลับเปียก

“เราได้เตือนชาวบ้านก่อน เพื่อเตรียมตัวในพื้นที่ฝั่งตะวันออกเหนือ คลองรังสิต ลงมาคือคลองหกวาสายล่างเชื่อมต่อระหว่าง กทม. และปทุมธานี ซึ่งพื้นที่ตรงนี้ต้องรับน้ำจากปทุมธานี เราได้ประสานงานกับกรมชลประทาน และพื้นที่จังหวัดเพื่อนบ้านทำความเข้าใจบริหารจัดการร่วมมันในเรื่องการใช้น้ำ และต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทำงานร่วมกัน รอดด้วยกัน”

ในการเติมน้ำต้นทุน “อรรถเศรษฐ์” บอกว่า ในส่วนของการทำฝนหลวงเพื่อเติมน้ำต้นทุนในเขื่อน ทราบมาว่ากรมฝนหลวงได้เตรียมแผนการดำเนินการในเรื่องนี้ แต่อาจจะไม่สามารถทำให้น้ำต้นทุนเพิ่มได้มากนัก

ปริมาณน้ำที่ผ่านการบำบัดน้ำเสีย จากโรงบำบัดน้ำเสีย 8 แห่งของ กทม.

วางแผนนำน้ำผ่านการบำบัดน้ำใช้ใหม่

ส่วนกรุงเทพฯ ได้เตรียมการณรงค์การใช้น้ำอย่างประหยัดและเตรียมแผนการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ โดยพบว่า โรงบำบัดน้ำเสียขนาดใหญ่หลายแห่งมีน้ำจากการบำบัดวันละล้านลูกบาศก์เมตร แต่สามารถนำกลับมาใช้ได้ประมาณ 9% เท่านั้น

“น้ำที่เหลือจากการบำบัดน้ำเสียต้องทิ้งไปหลักล้านลูกบาศก์เมตร แต่เรานำไปใช้เพื่อรดน้ำต้นไม้ไม่มาก ทั้งที่ความจริงแล้วน้ำที่ผ่านการบำบัดน้ำเสียถือว่าเป็นน้ำสะอาดได้มาตรฐาน”

สำหรับโรงบำบัดน้ำเสียงของกรุงเทพฯ ทั้ง 8 แห่งประกอบด้วย 1. โรงบำบัดน้ำเสีย ช่องนนทรีมีน้ำผ่านการบำบัดจำนวน 2.5 แสนลูกบาศก์เมตร สามารถนำไปใช้ได้ 2.9 หมื่น ลูกบาศก์เมตร 2. โรงบำบัดน้ำเสียสี่พระยามีน้ำที่ผ่านการบำบัดน้ำเสีย 1.8 หมื่นลูกบาศก์เมตร สามารถนำไปใช้จริงแค่ 4,000 ลูกบาศก์เมตร 3. โรงบำบัดน้ำเสียดินแดง มีน้ำที่ผ่านการบำบัด 3.8 หมื่นลูกบาศ์เมตร นำไปใช้จริงแค่ 2.8 หมื่นลูกบาศก์เมตร

4. โรงบำบัดน้ำเสียรัตนโกสินทร์ มีน้ำผ่านการบำบัด 3.9 หมื่นลูกบาสก์เมตร นำไปใช้ 2,581 ลูกบาศก์เมตร 5. โรงบำบัดน้ำเสียหนองแขม 2.4 แสนลูกบาศก์เมตร นำไปใช้ 1.9 หมื่นลูกบาศก์เมตร 6. โรงบำบัดน้ำเสียทุ่งครุ 1.1 แสนลูกบาศก์เมตร นำไปใช้ 8,889 ลูกบาศก์เมตร 7. โรงบำบัดน้ำเสียจตุจักร 2.3 แสนลูกบาศก์เมตร นำไปใช้ได้ 1.8 หมื่นลูกบาศก์เมตร 8. โรงบำบัดน้ำเสียบางซื่อ 2.3 แสนลูกบาศก์เมตร นำไปใช้ได้ 1.9 หมื่นลูกบาศก์เมตร โดยสรุปแล้วกรุงเทพฯ มีน้ำที่ผ่านการบำบัดได้ประมาณ 1.5 ล้านลูกบาสก์เมตรต่อวัน แต่นำไปใช้เพียง 9% เท่านั้น

“อรรถเศรษฐ์” บอกว่า น้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วซึ่งถือว่าเป็นน้ำคุณภาพดี เพียงแต่อาจจะเข้าใจกันว่าน้ำเหล่านี้เคยเป็นน้ำเสียทำให้ไม่กล้านำไปใช้ แต่ความจริงแล้ว การนำน้ำที่ผ่านการบำบัดไปใช้ก็ไม่ได้นำไปเพื่อบริโภค แต่นำไปใช้เพื่ออุปโภค คือน้ำเพื่อชะล้างที่ใช้ในห้องน้ำ รดน้ำต้นไม้

“หลายบ้านใช้น้ำประปารดน้ำต้นไม้ แต่ถ้าเรามีท่อน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วมาใช้เพื่อรดน้ำต้นไม้ เพื่อชะล้าง ก็จะช่วยให้เกิดการประหยัดน้ำ ในการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่”

อย่างไรก็ตาม แผนในการนำน้ำที่ผ่านการบำบัดน้ำเสียอาจจะยังไม่ทันกับการแก้ไขปัญหาน้ำแล้วในช่วงปรากฏการณ์เอลนีโญในครั้งนี้ แต่จะต้องมีการเตรียมวางแผนเพื่อดำเนินการให้พร้อมหากเกิดปัญหาขาดแคลนน้ำในอนาคต

โครงการนำน้ำจากน้ำเสียที่ผ่านการบำบัดและสามารถเกิดขึ้นได้ “อรรถเศรษฐ์” บอกว่า อาจจะเป็นลักษณะความร่วมมือกับโครงการหมู่บ้านจัดสรรให้ดำเนินการทำท่อสองเส้นท่อ ท่อหนึ่งนำน้ำที่บำบัดแล้วมาใช้ในหมู่บ้านเพื่อรดน้ำต้นไม้หรือน้ำเพื่อการชะล้าง และอีกท่อใช้สำหรับน้ำประปาเพื่อบริโภค

“ถ้าเราเริ่มทำน่าจะเริ่มจากบ้านจัดสรรโครงการใหม่ก่อน ถ้ามีโปรโมตค่าน้ำจะถูกลงเพราะว่าเราไม่ได้ใช้น้ำประปาไปรดน้ำต้นไม้ ล้างรถ แต่เราเอาน้ำรีไซเคิลที่ถูกกว่าน้ำประปา อันนี้น่าจะมีประโยชน์มากในอนาคต และการทำตาม 3R เป็นเรื่องที่ตอบโจทย์ในการแก้วิกฤติการขาดน้ำ”

นายอรรถเศรษฐ์ เพชรมีศรี ผู้เชี่ยวชาญการจัดการน้ำ ที่ปรึกษานายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่ากรุงเทพมหานคร

รณรงค์ประหยัดน้ำ-เก็บน้ำฝนใช้หน้าแล้ง

นอกจากการวางแผนนำน้ำที่ผ่านการบำบัดน้ำเสียมาใช่ใหม่แล้ว “อรรถเศรษฐ์” เห็นว่าปัญหาการขาดแคลนน้ำเป็นเรื่องทุกคนต้องปรับพฤติกรรมในการใช้น้ำอย่างประหยัด และเก็บน้ำฝนเอาไว้ใช้

“สิ่งที่จะช่วยได้คือการณรงค์ คือการช่วยได้ทั้งสองทาง ถ้าเรากลับไปณรงค์รองน้ำฝนไว้ใช้ และบ้านใน กทม. 6-7 ล้านหลังคาเรือน จะได้ประโยชน์ เพราะว่าในอดีตเรามีถังเก็บน้ำฝนกัน ถ้าย้อนกลับไปเก็บน้ำฝนเอาไว้ ซึ่งการเก็บน้ำในช่วยได้ทั้งน้ำท่วมและน้ำแล้ว ซึ่งในเรื่องอาจต้องมีโครงการรณรงค์รองน้ำฝนไว้ใช้มีประโยชน์ เช่น นำน้ำฝนมาล้างรถ รดน้ำต้นไม้ได้”

“หลังจากนี้ วิกฤติน้ำจะเกิดขึ้น 2 ปี ปีหน้าน่าจะหนักที่สุด อย่างเดียวที่เราช่วยกันได้คือรณรงค์การใช้น้ำอย่างประหยัด และรองน้ำฝนเก็บน้ำไว้ให้ได้มากที่สุด เพราะเป็นประโยชน์ 2 ทาง แก้แล้งและท่วมด้วย”

“อรรถเศรษฐ์” บอกว่า การแก้ปัญหาขาดแคลน้ำในช่วงเอลนีโญ คือทุกคนต้องพฤติกรรมใช้น้ำอย่างประหยัด ต้องรณรงค์เรื่องการใช้น้ำ เพราะภาวะเอลนีโญครั้งนี้เราจะเผชิญกับปัญหาแล้งที่อาจจะรุนแรงมากกว่าทุกครั้ง

  • ซูเปอร์เอลนีโญ เราจะรอดอย่างไร (1) : “ชวลิต จันทรรัตน์” เตือนฝนน้อยน้ำน้อยจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ
  • ซูเปอร์เอลนีโญ เราจะรอดอย่างไร (2) : “แล้ง”ยาวเกิน 2 ปี เตือนรอบนี้ ‘รุนแรง’ ที่สุด