ThaiPublica > เกาะกระแส > ซูเปอร์เอลนีโญ เราจะรอดอย่างไร (2) : “แล้ง”ยาวเกิน 2 ปี เตือนรอบนี้ ‘รุนแรง’ ที่สุด

ซูเปอร์เอลนีโญ เราจะรอดอย่างไร (2) : “แล้ง”ยาวเกิน 2 ปี เตือนรอบนี้ ‘รุนแรง’ ที่สุด

1 สิงหาคม 2023


นักวิชาการเตือนเร่งแผนรับมือ ‘ซูเปอร์เอลนีโญ’  เร่งบริหารจัดการน้ำสำรอง ชี้ตุลาคมปีนี้เอลนีโญรุนแรง อุณหภูมิร้อนเพิ่มขึ้นทะลุ 2 องศา ขณะที่ฝนทิ้งช่วงยาว เสนอเร่งแผนบริหารจัดการน้ำเตรียมรับมืออาจเผชิญภัยแล้งมากกว่า 2 ปี

ผศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ปรากฏการณ์ซูเปอร์เอลนีโญที่ประเทศไทยกำลังเผชิญ ฝนแล้งในฤดูฝน เป็นเรื่องราวให้ต้องพูดถึง  ผศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประเมินสถานการณ์ภัยแล้งจากปรากฎการณ์ เอลนีโญว่าขณะนี้ประเทศไทยเริ่ม เข้าสู่เอลนีโญ เฟสกลางหรือ Neutral phase  หลังจากปรากฏการณ์ ลานีญาสิ้นสุดลงในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา และขยับเข้าเอลนีโญระยะกลางยังไม่ถึงจุดสูงสุด

“การเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ปรากฎการณ์เอลนีโญ จะดูจากอุณหภูมิของผิวน้ำทะเลที่สูงกว่าค่าเฉลี่ย ปกติจะมีเกณฑ์วัด ถ้าเกินกว่า 0.5 องศาเซลเซียสก็จะเริ่มเข้าสู่ปรากฏการณ์เอลนีโญแบบกำลังอ่อนและกำลังจะปรับเปลี่ยนตามอุณหภูมิของน้ำทะเลที่ปรับตัวสูงขึ้นซึ่งขณะนี้อุณหภูมิผิวน้ำทะเลเริ่มสู่งขึ้นแล้ว”

อย่างไรก็ตามในระดับความรุนแรง หากดูจากแบบจำลองที่มีการพยากรณ์ทั่วโลกทั้งในฝั่งออสเตรเลียยุโรป หรือสหรัฐอเมริกาหรือเอเชีย ต่างให้ผลไปในทิศทางเดียวกันคือน้ำทะเลกำลังอุ่นขึ้นแบบเร่งตัว โดยคาดว่าในเดือนสิงหาคมปีนี้ระดับอุณหภูมิผิวน้ำทะเลจะสูงถึงประมาณ 1.7 องศา และจะขยับเพิ่มมากขึ้นในเดือนตุลาคมอยู่ที่ 2 องศา

การปรับตัวขอองุณหภูมิผิวน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้นบอกได้ว่าระดับความรุนแรงของปรากฎการณ์เอลนีโญจะรุนแรงมากน้อยแค่ไหน โดยหากอุณหภูมิเพิ่มขึ้นตั้งแต่ 1.5 องศาขึ้นไปเรียกว่า เกิดขึ้นในระดับรุนแรงแต่หากเพิ่มขึ้น 2 องศาขึ้นไปเรียกว่าระดับรุนแรงสูงสุด

 ตุลาคมเข้าสู่ซูเปอร์ “เอลนีโญ” รุนแรงที่สุด

หากย้อนกลับไป 73 ปีที่ผ่านมา การเกิดเอลนีโญระดับรุนแรงตั้งแต่ 2 องศาเป็นต้นไปมาแล้ว 5 ครั้ง โดยครั้งที่1 ปี 2515-2516  ครั้งที่2 ปี 2525-2526  ครั้งที่3 ปี 2534-2535 ครั้งที่ 4 ปี 2540-2541  ครั้งที่ 5 ปี 2558-2559  และครั้งที่ 6 ปี 2566-2567 ซึ่งจะเริ่มเกิดขึ้นในระดับรุนแรงสูงสุดตั้งแต่เดือน ต.ค.นี้

“ตอนที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจในตอนนั้นเกิดปรากฎเอลนีโญในปี 2558/2559 ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้น เรียกว่ามหาภัยแล้ง ตอนนั้นผลผลิตอ้อยหายไปเกือบครึ่ง สร้างความเสียหายต่อพืชผลเกษตร จำนวนมาก”

อย่างไรก็ตามในปีนี้ ปรากฎการณ์เอลนีโญจะรุนแรงโดยอุณหภูมิจะเริ่มเพิ่มขึ้นและถึง 2 องศา ในช่วงตั้งแต่กันยายน 2566 ถึงประมาณช่วงมีนาคม2567

“ในเดือนตุลาคม 2566 แม้ว่าอุณหภูมิอยู่ระดับ 2 องศา แต่อาจจะยังไม่ถึงจุดสูงสุด เพราะว่าอุณหภูมิน่าจะขยับเกิน 2 องศาขึ้นไป จากแบบจำลองมีโอกาสที่จะเกิดระดับรุนแรงมาก ซึ่งถ้าเกิดขึ้นจริงในรอบนี้  หรือในรอบ 74 ปี ถือว่าปรากฎการณ์เอลนีโญมีความรุนแรงแบบไม่ธรรมดา มันไม่ได้เป็นเอลนีโญแบบทั่วๆ ไป”

ผศ.ดร.วิษณุ  ย้ำอีกว่า เมื่อเกิดเอลนีโญที่รุนแรงจะมีผลกระทบที่เกิดความเสียหายจำนวนมาก โดยในปีนี้ก็คาดว่าจะมีผลกระทบจำนวนมากเช่นนั้น  โดยต้องไม่ลืมว่าก๊าซเรือนกระจกก็ถูกปล่อยมากขึ้นเรื่อยๆ และโลกมันก็ร้อนขึ้นเรื่อยๆ เพราะฉะนั้น การเกิดเอลนีโญระดับเดิมๆ เหมือนเดิม แต่ความเสียหายจะไม่เท่าเดิม

“ที่ผ่านมาเราพบว่าทุกครั้งที่เกิดเอลนีโญจะทำสถิติอุณหภูมิสูงสุดใหม่มาตลอด  และครั้งนี้คาดว่าอุณหภูมิของโลกจะทำ New High  ซึ่งการประชุม Paris Agreement บอกว่าเราจะต้องพยายามคุมไม่ให้เกิน 1.5 องศา แต่ปีหน้าอาจเป็นปีแรกที่อุณหภูมิโลกเพิ่มแตะ 1.5 องศา เป็นครั้งแรกของโลก เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสหากรรม”

สัญญาณเตือนปรากฎการณ์เอลนีโญในครั้งนี้ จึงไม่ใช่เป็นเรื่องปกติ แต่จะทำให้อุณหภูมิลากไปถึง 1.5  องศา แต่ในอีก 5 ปีข้างหน้าองค์การอุตุนิยมวิทยาโลกพยากรณ์ว่า  เราก็มีความเสี่ยงที่จะเจออุณหภูมิระดับเกิน 1.5 องศา มากขึ้น เพราะโลกร้อนมากขึ้นเรื่อยๆ

ผศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ซูเปอร์เอลนีโญ ‘ฝนน้อย’ ส่อยืดเยื้อเกิน 2 ปี

ความน่าสะพรึงกลัวของปรากฎการณ์เอลนีโญ คือ ความยืดเยื้อ โดยปกติเอลนีโญมาในระยะเวลาไม่นานโดยจะสิ้นสุดประมาณ 7 เดือน และมากที่สุดไม่เกิน 19 เดือน แต่ครั้งนี้อาจจะอยู่นอกเหนือประวัติศาสตร์โลก เนื่องไม่สามารถการันตีได้ว่าจะเกิดปรากฎการณ์เอลนีโญยืดเยื้อ 19 เดือนหรือมากกว่านั้นหรือไม่

ผศ.ดร.วิษณุ บอกว่า  ความยาวนานของเอลนีโญที่มากับความแห้งแล้ง ในอดีตที่จำกันได้คือ 2 ปี ซึ่งประเทศไทยเจอแค่แล้งเดียวก็ได้รับผลกระทบมากแล้ว แต่หากเจอสองแล้งก็จะต้องเผชิญกับผลกระทบที่เกิดมากขึ้น แต่การเกิดเอลนีโญปีนี้อาจจะเกิดขึ้นต่อเนื่องมากกว่านั้น

“ปริมาณน้ำบ้านเราปกติจะประทังได้แค่แล้งเดียว พอเริ่มแล้งที่สอง ฝนไม่มาอีก เริ่มหืดขึ้นคอ เพราะตรงส่วนนี้ ผมมองว่าก็ยังไม่มีใครรู้ว่าอนาคตจะเป็นยังไง แต่สิ่งที่ดีที่จะต้องพึงกระทำคือปลอดภัยไว้ก่อน จึงต้องวางแผน บริหารจัดการน้ำ ผมมองว่าสำคัญมาก โดยเราต้องวางแผนไม่เฉพาะในเขตชลประทาน แต่ต้องรวมไปถึงนอกเขตชลประทาน ถ้าเกิดพูดถึงพื้นที่ ภาคเกษตรในเขตชลประทานมี 30 ล้านไร่ แต่ทั้งประเทศมี 150 ล้านไร่ นั่นคือ 1 ใน 5 มีพื้นที่อยู่ในเขตชลประทาน แต่อีกที่เหลือ 4 ใน 5 ของพื้นที่จะทำอย่างไรต้องวางแผนกันตั้งแต่ฤดูฝนปีนี้”

ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรนอกเขตชลประทานจะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำเพิ่มมากขึ้นไป ในอดีตที่ผ่านมา รัฐบาลได้ทุ่มงบประมาณปีละ 70,000 ล้านบาท ถึง 80,000 ล้านบาทไปกับการพัฒนาเขตชลประทานตลอด

แต่ใช้เงินงบประมาณจำนวนน้อยมากในการพัฒนาแหล่งกักเก็บแหล่งน้ำนอกเขตชลประทาน ทำให้ทุกครั้งที่เกิดปรากการณ์เอลนีโญ ทำให้คนกลุ่มนี้ซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ที่อยู่นอกเขตชลประทานได้รับความเดือดร้อนมากที่สุด

ขณะที่ภาพรวมปริมาณฝนในปีนี้  ผศ.ดร.วิษณุ คาดว่าสถานการณ์ฝนอาจจะน้อยกว่าค่าเฉลี่ยปกติประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ แต่หากย้อนหลังดูสถิติในช่วงเกิดเหตุการณ์เอลนีโญ ปริมาณฝนจะน้อยลง 15 เปอร์เซ็นต์ ถึง 30 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะในเดือนมิถุนายน และเดือนกรกฏาคม จนเกิดปัญหาฝนทิ้งช่วงซึ่งกระทบต่อภาคเกษตรกรรมหากไม่มีการวางแผนรองรับที่ดีเพียงพอ

“ผมทำสถิติมา พบว่า ในเดือนมิถุนายน หรือเดือนกรกฎาคม ทุกครั้งที่เอลนีโญเข้ามา เราจะมีฝนที่น้อยกว่าค่าเฉลี่ยปกติ  แต่มันจะเหวี่ยงขึ้นลงในแต่ละเดือน แต่ภาพรวมปริมาณฝนน้อยลง ซึ่งแค่ฝนทิ้งช่วงก็เป็นปัญหามากแล้ว”

ผศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

เอลนีโญกระทบภาคเกษตรเสียหายปีละ 1.8 หมื่นล้าน

ส่วนการประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้นจากเอลนีโญ จากการศึกษาและมีผลงานตีพิมพ์ในวารสาร Science เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้นดังนี้  ประเทศไทยเผชิญปัญหาเอลนีโญในปี 2525/2526 และปี 2540/2541 คำนวณความเสียหายที่เกิดขึ้นประมาณ 5 -7.5 เปอร์เซ็นต์ นั่นหมายถึงรายได้เฉลี่ยต่อหัวประชากรของไทยที่ลดลงเมื่อเทียบกับในช่วงที่ไม่มีปรากฎการณ์เอลนีโญ

นอกจากนี้เมื่อประเมินรวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งอากาศร้อน ฝนแล้ง น้ำท่วม พบว่าความเสียหายของภาคเกษตร วิเคราะห์รวมไปถึงอนาคตในปี 2050 เฉลี่ยต่อปี อยู่ที่ประมาณ 18,000 ล้านบาท  แต่หากได้รับผลกระทบในระดับที่รุนแรงจะเสียหายเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ประมาณ 83,000 ล้านบาท

“การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศตั้งแต่ปี 2011-2050 ประเมินความเสียหายสะสม ถ้าเรายังไม่มีมาตรการอะไรเลย ผมเชื่อว่าภายใต้มาตรการปัจจุบันความเสียหายสะสมไปถึงปี 2050 จะสูงถึงอย่างน้อย 600,000 ล้านบาท และเสียหายมากที่สุดถึง 2.85 ล้านล้านบาท นั่นคืองบประมาณแผ่นดินบ้านเราเพราะฉะนั้นถึงเวลาที่เราต้องวางแผนรับมืออย่างจริงจัง”

ปรับแผนบริหารจัดการน้ำรับมือซูเปอร์เอลนีโญ

ความเสียหายที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากปรากฎการณ์เอลนีโญ จึงจำเป็นต้องมีการวางแผนรับมือและปรับตัวเพื่อรับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดเพิ่มมากขึ้นในอนาคต

ผศ.ดร.วิษณุ เห็นว่า สิ่งแรกที่จะต้องปรับแผนรองรับคือวิธีการทำเกษตรกรรม โดยเฉพาะการทำนาต้องปรับบริหารจัดการมากขึ้น โดยต้องลดการปลูกข้าวนาปรัง ซึ่งปัจจุบันปลูกประมาณ 9 ล้านไร่  รัฐต้องเข้าไปควบคุมการปลูกข้าวนาปรังให้ลดลง  และต้องส่งเสริมการปลูกพืชใช้น้ำน้อย  โดยรัฐต้องเข้าไปส่งเสริมการปลูกพืชที่หลากหลายเหมาะกับสภาพพื้นที่ รวมไปถึงการประเมินความต้องการของตลาดและราคา

“เรามีกรมพัฒนาที่ดินอยู่แล้วที่มี AgriMap ที่เขาจะรู้อยู่แล้วว่าพื้นที่นี้เหมาะที่จะปลูกอะไร เพราะฉะนั้นสิ่งที่ ภาครัฐจะต้องทำคือเอามา แมทซ์รวมกันว่าพื้นที่ตรงไหนที่เคยปลูกนาปรังอยู่ว่าถ้าจะลด แล้วเขาควรปลูกพืชอะไร และที่สำคัญคือเวลาส่งเสริมไม่ใช่ One Fit All พืชเดียวปลูกหมดเลย ต้องบอกไปเลยว่าพื้นที่นั้นเหมาะปลูกอะไร ปลูกได้ไม่เกินเท่าไหร่ ที่จะไม่เกินความต้องการของตลาด เพราะไม่อย่างนั้นก็จะกระทบกับความต้องการของตลาดเกิดปัญหาในเรื่องราคาได้อีก”

ส่วนวาระเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการเพื่อรับมือ เอลนีโญ คือ เรื่องของการจัดการน้ำทำอย่างไรให้เก็บน้ำต้นทุนในฤดูฝนปีนี้ให้ได้มากที่สุดเพื่อไปสู้กับแล้งหน้าหรือแล้งอีกสองปีข้างหน้า หรือยาวไปถึงปีที่สาม

“ถ้าตามหลักถึงเดือนกันยายนปีนี้ ปริมาณฝนเท่ากับค่าเฉลี่ยปกติ แต่น้อยกว่าปีที่แล้ว ตรงนี้ยังไม่ค่อยหน้าห่วงมาก มันจะน่าห่วงตั้งแต่ตุลาคมเป็นต้นไปเพราะจะเข้าสู่เอลนีโญ่แบบเต็มรูปแบบแล้ว  และจะเริ่มเห็นอาการ ปกติหมดฤดูฝนประเทศไทยก็ยังมีฝนมาเป็นระยะไม่ถึงกับแล้งมาก แต่ถ้ารอบนี้มันมาแล้วมันทิ้งช่วงนานๆ เพราะฉะนั้นต้องบริหารน้ำสำรองเอาไว้เผื่อไว้”

ผศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ผศ.ดร.วิษณุ  กล่าวว่า การบริหารจัดการน้ำเพื่อให้สำรองน้ำเอาไว้ใช้ได้ สามารถทำได้หลายแนวทาง เช่น แนวทางที่สามารถทำได้เลยตอนนี้อย่างรวดเร็วคือ การขุดลอกแหล่งให้มันลึกขึ้นเพื่อเก็บน้ำเนื่องจากคลองบางพื้นที่ตื้นเขินมากขุดให้ลึกเพื่อให้สามารถเก็บสำรองน้ำให้ได้มากขึ้น

ส่วนสระ หรือแหล่งน้ำ สระสาธารณะที่เคยตื้นเขินก็ขุดให้ลึกขึ้นเพื่อช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการกักเก็บได้ไม่ต้องขุดสระใหม่ ซึ่งสามารถแก้ปัญหาน้ำแล้งและน้ำท่วมได้ เพราะถ้าขุดลอกคูคลองให้มันลึกขึ้น มันก็สามารถระบายน้ำได้เร็วขึ้น ขณะเดียวกันสามารถเก็บน้ำต้นทุนได้

ขณะที่การบริหารจัดการน้ำในเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ก็ต้องว่างแผนในการบริหารจัดการใช้จ่ายน้ำ จัดสรรน้ำให้รอบคอบและคำนึงถึงแล้งหน้าด้วย แล้วก็แล้งในปีถัดไป

“จริงๆ การพยากรณ์อากาศเราไม่สามารถล่วงรู้อนาคตได้ไกลมาก แต่ก็มีสถิติที่ย้อนหลังกลับมา มันโอกาสที่จะเกิดขึ้น แต่มันจะเกิดหรือเปล่า เราไม่ทราบ หน้าที่ของเราคือ ป้องกันไว้ก่อน เพราะถ้าเกิดความเสียหายมันเกิดขึ้นแล้ว ความเสียหายมันจะรุนแรงมากเพราะฉะนั้นหากมีการวางแผนบริหารจัดการเพื่อรองรับน้ำให้ได้ 2 ปีในช่วงนี้ถือว่าดีมาก

นอกจากการบริหารจัดการแหล่งน้ำอย่าวรอบคอบแล้ว ยังต้องเร่งส่งเสริมงานวิจัย แนวทางในเรื่องของการปรับตัว ให้เกษตรรู้เท่าทันภูมิอากาศ เนื่องจากที่ผ่านมาประเทศไทยไม่มีงานวิจัยทางด้านนี้ว่าเกษตรกรต้องจะปรับตัวอย่างไร

“เราบอกว่าปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้ง ทำแบบไหน แล้วแต่ละพื้นที่ต้องทำเหมือนกันหรือไม่ คำถามคือ เปียกสลับแห้งที่จังหวัดหนึ่งกับอีกจังหวัดหนึ่งอาจจะไม่เหมือนกัน ดินเหมือนกันไหม  น้ำเหมือนกันหรือไม่ เพราะฉะนั้น แนวทางเรื่องการปรับตัวทางด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อรับมือ ในแต่ละพื้นที่เจอปัญหามีบริบทไม่เหมือนกัน การปรับเปลี่ยนจะใช้ One Fit All ทุกพื้นที่ทำเหมือนกันหมด มันไม่ได้ มันต้องมีการปรับเปลี่ยนให้มันเฉพาะเจาะจงไปในเชิงพื้นที่ให้มากขึ้น”

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาประเทศไทยยังขาดงานวิจัยที่เฉพาะเจาะจง จึงจะต้องเร่งในเฉพาะพื้นที่  ภูมิภาคไหน จังหวัดไหน ต้องใช้แนวทางอย่างไรในการปรับตัว  รวมไปถึงสัดส่วนและแนวทางการใช้เมล็ดพันธุ์ การใช้ปุ๋ยจาการวิเคราะห์ค่าดิน

“การศึกษาลงไประดับเมือง ระดับตำบล คือ ความแม่นยำมันจะสูง นอกจากเรื่องของความแม่นยำ การสื่อสาร ก็เฉพาะเจาะจงได้มากขึ้น ที่ผ่านมาเราสื่อสารแบบภาพรวม แต่สภาพภูมิอากาศในเชิงพื้นที่มันเหมือนกัน สุดท้ายเกิดอะไรขึ้น เกษตรกรก็จะไม่แม่น คนก็จะไม่เชื่อ นี่คือการสื่อสาร คนก็ไม่ฟัง เวลารัฐเตือนอะไร เกษตรกรก็ไม่เชื่อ เพราะอนาคต ระบบเตือนภัยต่างๆ มันคงต้องลงลึก เจาะลงไปในพื้นที่ให้มากขึ้นและต้องแม่นยำ เพื่อลดความเสียหายให้ได้”

ผศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

พัฒนาศักยภาพเกษตรกร เลิกประชานิยม

ผศ.ดร.วิษณุ  กล่าวว่า สิ่งที่ต้องพัฒนาวิจัยมากขึ้นคือการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตให้มีคุณภาพที่ดีขึ้น เช่น มันสำปะหลัง ประเทศไทยมีผลผลิตต่อไร่คงที่ตลอดมาเป็นเวลาสองทศวรรษแล้ว ไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้นเลย มีแต่ทรงกับทรุด

ส่วนผลผลิตข้าวก็เช่นกัน ประเทศไทยไม่สามารถเพิ่มผลผลิตมากขึ้นเลย จนทำให้เพื่อนบ้านอย่างเวียดนามแซง และสุดท้ายเราก็จะสูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขัน เพราะฉะนั้นต้องมีนโยบายที่ยกระดับประสิทธิภาพการผลิต เพิ่มภูมิคุ้มกันให้เกษตรกรเพื่อที่จะลดความเสียหายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

“ผมมองว่าเลิกได้แล้วประชานิยม อย่าทำนโยบายแบบฉาบฉวยทำกันแบบชั่วครั้งชั่วคราว ต้องหันมาแก้ปัญหาและยกระดับเกษตกรของเราอย่างจริงจัง ถ้าเราไม่เร่งทำตอนนี้ เรายังใช้ประชานิยมเหมือนเดิม ๆ แจกเงินเหมือนเดิม ๆ เราจะเสียหายหนักมาก ส่วนนโยบายประกันราคาพืช  อุดหนุนได้ แต่จะต้องมีแนวทางยกระดับประสิทธิภาพการผลิตด้วย”

การปรับตัวของเกษตรกรต้องมีแผนปฏิบัติอย่างจริงจังของทุกหน่วยงาน หลังปรากฎการณ์เอลนีโญ ยังมีปัญหาภาวะความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ หรือโลกร้อนที่ส่งผลให้ฤดูกาลเปลี่ยนแปลง ดังนั้นหากภาครัฐ ยังใช้นโยบายเยียวยาประชานิยมเหมือนเดิม อาจส่งผลให้ประเทศไทยไม่สามารถแข่งขันได้ในอนาคต