ThaiPublica > เกาะกระแส > ซูเปอร์เอลนีโญ เราจะรอดอย่างไร (1) : “ชวลิต จันทรรัตน์” เตือนฝนน้อยน้ำน้อยจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

ซูเปอร์เอลนีโญ เราจะรอดอย่างไร (1) : “ชวลิต จันทรรัตน์” เตือนฝนน้อยน้ำน้อยจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

14 กรกฎาคม 2023


ชวลิต จันทรรัตน์  เตือนซูเปอร์เอลนีโญ ครั้งนี้รุนแรงต่อเนื่อง 2 ปี คาดอุณหภูมิเพิ่ม 1.5 องศา ส่งผลกระทบภาคเกษตร -อุตสาหกรรมเสียหายกว่า 6 หมื่นล้านบาท แนะเก็บน้ำทุกเม็ดในช่วงหน้าฝนนี้ พร้อมรณรงค์เปลี่ยนวิธีทำนาเปียกสลับแห้ง ภาคอุตสาหกรรม-ภาครัวเรือน ใช้มาตรการ 3 R เพื่อรับมือขาดแคลน

นายชวลิต จันทรรัตน์ ที่ปรึกษาบริษัททีม กรุ๊ป และผู้เชี่ยวชาญในการจัดการน้ำ

ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนมากกว่า 3 เดือน นับจาก เดือนพฤษภาคมจนถึงขณะนี้เดือนกรกฎาคม ซึ่งแน่นอนว่าปริมาณฝนน้อยกว่าปกติในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา และนั่นหมายถึงประเทศไทยเข้าสู่ปรากฎการณ์เอลนีโญเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

คำยืนยันดังกล่าวนายชวลิต จันทรรัตน์ ที่ปรึกษาบริษัททีม กรุ๊ป และผู้เชี่ยวชาญในการจัดการน้ำบอกว่า ได้เข้าสู่ปรากฎการณ์เอลนีโญแล้ว จากข้อมูลการรายงานสถานการณ์เอลนีโญ ที่ตีพิมพ์ทุกเดือน โดยข้อมูลล่าสุดยืนยันชัดเจนว่า ปัจจุบันเราเข้ามาอยู่ในภาวะที่เรียกว่าเอลนีโญ ฝนน้อยอย่างเต็มที่แล้ว

“จริงๆ มันเริ่มจากเดือนเมษายน 2566 จะเห็นว่าภูมิอากาศ และสภาพอากาศก็แปลกๆ ที่เห็นได้ชัด ส่วนแรกคือ อากาศแปรปรวน ตั้งแต่เดือนปลายเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน ฝนตก ฝนฟ้าคะนอง ลูกเห็บตกจะบ่อยกว่าปีอื่นๆ แสดงกว่าลมกรรโชกแรงมาก อันนั้นก็เป็นประเด็นที่หนึ่ง”

ส่วนประเด็นที่สอง คือ ช่วงสงกรานต์ไม่มีฝนไม่ตก ทำให้ความร้อนในเดือนเมษายน เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งความจริงแล้วความร้อนสะสมมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ อุณหภูมิต่างๆ มันสูง จนหลายคนคาดว่าเป็นคลื่นความร้อน

แต่เมื่อดูจากภาวะที่เกิดขึ้นไม่ใช่คลื่นความร้อนเป็นภาวะปกติที่ความร้อนสะสมแล้วไม่ได้คลายออกไป  และฝนไม่ตกทำให้ความร้อนไม่ได้คลี่คลาย ซึ่งต่างจากภาวะปกติที่ในเดือนเมษายนในช่วงสงกรานต์ฝนตก  หรือกระทั่งก่อนสงกรานต์ก็จะมีฝนตกเป็นหย่อมๆ

เมื่อฝนไม่ตกในช่วงสงกรานต์ทำให้ความร้อนสะสมตลอดเดือนเมษายนมาจนกระทั่งถึงวันที่ 15 พฤษภาคมจะเห็นว่าทุกพื้นที่ของประเทศอุณหภูมิมา 40 องศามาตลอดและตลอดเดือนเมษายนจนกระทั่งถึงกลางเดือนพฤษภาคม

“ย้อนกลับไปในเดือนพฤษภาคม ผมคิดว่าทุกคนหวังว่าเมื่อไหร่กรมอุตุนิยมวิทยาจะประกาศว่าเข้าฤดูฝนสักที พอกรมอุตุนิยมวิทยาประกาศวันที่ 20 (พ.ค.) ดีใจใหญ่เลย แต่ฝนก็ไม่ตก ตรงนี้ละครับที่เรียกว่าเอลนีโญเข้ามาเต็มที่แล้ว ตั้งแต่เมษายนเปลี่ยนจากภาวะที่เรียกว่า ลานีญา ที่มีปริมาณน้ำมากติดต่อกันมา 3 ปี  ได้เปลี่ยนมาเป็นภาวะที่เรียกว่าเอลนีโญก็คือฝนน้อย น้ำน้อยแล้ว”

อาจารย์ชวลิต จันทรรัตน์ ที่ปรึกษาบริษัททีม กรุ๊ป และผู้เชี่ยวชาญในการจัดการน้ำ

“เอลนีโญ” ฝนน้อยน้ำน้อยจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

ปริมาณฝนน้อยในช่วงต้นฤดูเกิดจากปรากฏเอลนีโญเข้าเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ จากเดิมที่หวังว่าต้นฤดูฝนจะมีฝนตกตามฤดูกาล แต่ปรากฏว่าปริมาณน้อย ทำให้กรมชลประทานที่เคยประกาศว่าให้ปลูกข้าวตามฤดูฝน โดยจะไม่ส่งน้ำให้ เกษตรกรอาจจะมีปัญหาได้

“ภาวะที่เรียกว่าเอลนีโญ เข้ามาประมาณเดือนมิถุนายน อย่างช้าก็เดือนกรกฎาคม แต่ปรากฏว่ามันมาเร็วก็คือ พอเข้าฤดูฝนก็เป็นเอลนีโญเลย ซึ่งจากการวิเคราะห์หลายๆ สถาบันฯ และผมใช้ NOAA (National Oceanic and Atmospheric Administration) พบว่าสิ่งที่น่าห่วงคือคาดว่าภาวะเอลนีโญที่ฝนน้อยน้ำน้อยจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ไปถึงช่วงสุดท้ายเดือนธันวาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า”

เพราะฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นสำหรับฤดูฝนของไทยในปีนี้คือปริมาณน้อยและฝนทิ้งช่วง และอาจจะมีปัญหาน้ำไม่พอใช้ แม้ว่ากระทรวงเกษตรฯ จะสนับสนุนให้มีการปลูกข้าววันแม่ เกี่ยววันพ่อ แต่ชาวนาจะไม่ค่อยปรับตัว พอเห็นฝนก็จะเริ่มปลูกข้าวเลย เมื่อเจอปัญหาฝนทิ้งช่วงก็จะต้องสูบน้ำจนทำให้มีปัญหาในเรื่องของการบริหารจัดการได้

แม้ที่ผ่านมากรมชลประทานประกาศชัดเจน จะไม่มีส่งน้ำ แต่จะเริ่มส่งตามความจำเป็น และตั้งแต่เดือนสิงหาคมเป็นต้นไปจนกระทั่งถึงเดือนตุลาคมและพฤศจิกายนนี้ก็จะทิ้งไม่ส่งน้ำ และให้ชาวนาไปเกี่ยวข้าววันพ่อเดือนธันวาคม ซึ่งชาวนาจะได้รับผลกระทบจากปริมาณน้ำที่น้อยลง

เอลนีโญ กระทบปริมาณฝนทั้งประเทศน้อยลง

นายชวลิตบอกว่าเมื่อภาวะเอลนีโญเกิดแล้ว ทำให้ตั้งแต่เดือนมิถุนายน สถานการณ์จะเพิ่มความรุนแรงมากขึ้น นั่นหมายถึงปริมาณฝนที่จะมาตกเดือนสิงหาคมก็จะน้อยกว่าปกติอีก และภาวะเอลนีโญจะยาวไปถึงเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้าเพราะฉะนั้นจากเดิมที่พื้นที่ภาคใต้ไม่ได้รับผลกระทบในช่วงฤดูฝนในเดือนสิงหาคม แต่เมื่อเข้าสู่ภาวะเอลนีโญทำให้ทุกภาคของไทยได้รับผลกระทบทั้งหมดในช่วงนี้

“กระทบทั้งประเทศเลยครับ ปริมาณฝนทั้งประเทศจะน้อยกว่าปกติ คาดว่าประมาณ 10 – 20 เปอร์เซ็นต์ ภาคที่จะมีผลกระทบสูงคือภาคอีสาน และจะยืดยาวไปจนกระทั่งถึงเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า มีรายงานยืนยันจาก NOAA ของ WMO ( World Meteorological Organization )ว่า ประเทศที่น่าเป็นห่วงกับสถานการณ์เอลนีโญ คือ อินเดียกับปากีสถานได้รับผลกระทบมาก เนื่องจากปริมาณประชากรมีจำนวนมากและยากจนเมื่อต้องเผชิญกับปัญหาขาดแคลนน้ำเหมือนยิ่งโดนซ้ำเติม โดยเฉพาะประเทศปากีสถานจะรุนแรงแบบร้อน แล้ง รุนแรงมาก”

ปรากฏเอลนีโญครั้งนี้เกิดขึ้นเป็นวง หรือ World Meteorological Organization  โดยเริ่มตั้งแต่ฟิลิปปินส์ มายังฮ่องกง เข้ามาที่เวียดนาม กัมพูชา ลาว ไทย มาเลเซียตอนใต้ลงไปที่อินโดนีเซีย ซึ่งอินโดนีเซียจะเริ่มแห้งแล้งช่วงมิถุนายนปีนี้ถึงมกราคมปีหน้า

สำหรับประเทศไทยเมื่อนำแผนที่ประเทศไทยมากาง ภาคใต้กับภาคตะวันออกจะมีฝนน้อยกว่าปีปกติ 20 เปอร์เซ็นต์ ส่วนภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคอีสาน คาดว่าปริมาณฝนน่าจะต่ำกว่าปีปกติประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์

ค่าเฉลี่ยปริมาณฝนรายปี

เมื่อเทียบปริมาณฝนในปีที่ผ่านมาคาดว่าปริมาณฝนทั้งภูมิภาคจะเท่ากับปี 2558  คือ 1,500  มิลลิเมตร และปี 2559 ปริมาณฝน 1,247 ส่วนของไทยคาดว่าปริมาณฝนทั้งประเทศจะอยู่ในเกณฑ์เดียวกันเท่ากับปี 2558 ปริมาณฝน 1,500 – 1,200 มิลลิเมตร  และคาดว่า คาดว่าปี 2566-2567 ปริมาณฝนจะเหลือประมาณ 1,200-1,400 มิลลิเมตร

“มีข้อมูลวิเคราะห์ใช้แบบจำลอง บอกว่าสถานการณ์เอลนีโญจะยาวไป 2 ปีด้วย เพราะฉะนั้นสิ่งที่น่าเป็นห่วง แค่ปีเดียวเราก็ยากลำบากแล้ว เพราะว่าน้ำปีที่แล้วคือปริมาณน้ำ 3 ปีที่เก็บต่อเนื่องกันมา โดยขณะนี้มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ ยังเหลือถึงเดือนพฤษภาคม แต่หลังจากนั้น อาจจะลำบากเนื่องจากปริมาณฝนน้อย ไม่มีฝนตกหนัก ที่ผ่านมาพบว่าปริมาณฝน ภาคเหนือแถว เช่น แพร่ เชียงราย ก็ประมาณ 100 กว่ามิลลิเมตร ซึ่งเมื่อปริมาณฝนน้อย โอกาสที่น้ำเหลือไหลเข้าไปเก็บในสระประจำหมู่บ้าน ในอ่างขนาดเล็ก ขนาดกลาง ขนาดใหญ่ของกรมชลประทาน ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตก็น้อยลงเช่นกัน

ตรวจปริมาณกักเก็บน้ำทั่วประเทศ

เมื่อตรวจสอบปริมาณน้ำในอ่างเก็บทั้งประเทศพบว่า ในเดือนกุมภาพันธ์2566 มีปริมาณกักเก็บ 56 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำกระจายอยู่ในภาคต่างๆ แต่หลังจากเดือนกุมภาพันธ์ เดือนมีนาคม  เดือนเมษายน และเดือนพฤษภาคม 2566 ปริมาณน้ำที่กักเก็บทั่วประเทศ 56 เปอร์เซ็นต์ แต่ในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมาปริมาณกักเก็บลดลงเหลือ  35 เปอร์เซ็นต์  โดยปริมาณกักเก็บในภาคเหนือ 34 เปอร์เซ็นต์และภาคกลาง  24 เปอร์เซ็นต์

“ปริมาณกักเก็บน้ำภาคกลางน้อย  เพราะช่วงที่ผ่านมาเราใช้น้ำไปในปริมาณมาก ส่วนใหญ่ภาคกลาง อาศัยใช้น้ำจากภาคเหนือ อ่างเก็บน้ำ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อย ซึ่งบางครั้งก็ใช้ในปริมาณมากเกินไป”

นายชวลิตบอกว่าในช่วงเดือนเมษายน 2566 มีพื้นที่ปลูกข้าวประมาณ 4 ล้านไร่ เพราะฉะนั้นจึงใช้น้ำปริมาณน้ำมาก ทำให้ปริมาณน้ำในพื้นที่ภาคกลางเหลือ 24 เปอร์เซ็นต์ และเฉลี่ยปริมาณน้ำทั้งประเทศเหลือ 35 เปอร์เซ็นต์  โดยมีเพียงภาคใต้ที่มีปริมาณน้ำเหลือประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์

“น้ำต้นทุนถือว่าต่ำไปหน่อยสำหรับในปีที่มีภาวะเอลนีโญ แต่ต้องพยายามเก็บน้ำให้ได้มากในเดือนตุลาคมและเดือนพฤศจิกายน โดยต้องเก็บน้ำเผื่อใช้ในช่วงแล้งปี 2567”

ที่ผ่านมาระดับกักเก็บน้ำ 62 เปอร์เซ็นต์ ถือเป็นการเก็บน้ำที่เพียงพอ ซึ่งการเก็บน้ำในระดับ 60 เปอร์เซ็นต์ และปล่อยน้ำบางส่วนเพื่อใช้ในการปลูกข้าว 10 ล้านไร่ได้ แต่ในสถานการณ์เอลนีโญ ที่มีฝนน้อย การปล่อยน้ำจนเหลือ 30 เปอร์เซ็นต์เพื่อทำการเกษตร จึงน่าเป็นห่วง เพราะในช่วงฤดูฝนปีนี้ฝนน้อย เราอาจจะไม่สามารถเก็บน้ำให้เพิ่มขึ้น 50 เปอร์เซ็นต์ได้

“ที่หนักใจมากคือปริมาณน้ำในเขื่อนบางแห่งอยู่ในระดับต่ำมาก เช่น อ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์มีเพียง 8 เปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้นคนขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ต้องปลูกข้าวตามฝนจริงๆ เพราะว่าน้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์ช่วยไม่ได้แล้ว เช่นเดียวกับเขื่อนจุฬาภรณ์ เหลือน้ำ 14 เปอร์เซ็นต์ ชาวบ้านที่เกษตรสมบูรณ์ ชัยภูมิ ก็จะขาดน้ำไปด้วย”

แต่ข้อมูลที่น่าตกใจมากกว่าคือ ปริมาณน้ำฝั่งตะวันตก เขื่อนวชิราลงกรณ์ ปริมาณน้ำเหลือ 11 เปอร์เซ็นต์  เขื่อนศรีนครินทร์ 13 เปอร์เซ็นต์ ปริมาณฯต่ำกว่า 30 เปอร์เซ็นต์  ซึ่งถือเป็นสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงสำหรับชาวบ้านในพื้นที่แม่กลอง ที่ต้องใช้น้ำอย่างระมัดระวัง

“แถวปราณบุรี ประจวบคีรีขันธ์ก็ลำบากเหมือนกันมีน้ำอยู่เหลือแค่ 13 เปอร์เซ็นต์ เช่นเดียวกับภาคเหนือ ลำปางภาคเหนือปริมาณน้ำเหลือ18 เปอร์เซ็นต์  แก่งกระจาน ปราณบุรี แก่งกระจานมีประมาณ 22 เปอร์เซ็นต์  เขื่อนขุนด่าน 22 เปอร์เซ็นต์ เขื่อนป่าสัก 13 เปอร์เซ็นต์ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์  เขื่อนแควน้อยปริมาณน้ำน้อย ทำให้สันนิษฐานได้ว่า ภาคกลางจะเจอสถานการณ์ขาดน้ำค่อนข้างหนัก”

“ซูเปอร์เอลนีโญ” ส่งอุณหภูมิสูงขึ้น 1.5 องศา

สถานการณ์น้ำที่อาจจะขาดแคลนในอนาคตเป็นสัญญาณบอกถึงความรุนแรงของซูเปอร์เอลนีโญ โดยนายชวลิต บอกว่าความรุนแรงมาจากปัจจัยของเอลนีโญ และภาวะโลกร้อนส่งเสริมกันละกัน ทำให้มีความรุนแรงมากขึ้น โดยฤดูแล้งที่ผ่านมาประเทศไทยเคยมีอุณหภูมิ 42 องศา โดยจังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดตากมีอุณหภูมิสูงสุดถึง 46 องศา

แม้ว่า ‘เอลนีโญ” เป็นเรื่องของอุณหภูมิน้ำทะเลที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจากการตรวจวัดอุณหภูมิผิวน้ำทะเลประมาณ 200 จุดในทะเลแปซิฟิก ในปีที่ผ่านมามีอุณหภูมิสูงกว่าปกติครึ่งองศา หรือ 0.5 องศา แต่ปีนี้คาดว่าจะมีความรุนแรงโดยอุณหภูมิจะสูงถึง 1-1.5 องศา โดยอุณหภูมิจะร้อนสะสมขึ้น และอุณหภูมิจะสูงสุดประมาณช่วงเดือนธันวาคมปี 2566 ถึงกุมภาพันธ์ ปี2567

เมื่อเอลนีโญมีความรุนแรง จึงคาดว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นจะมากด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะภาคเกษตรกร ทั้งในเรื่องการทำนาข้าว  สับปะรด ข้าวโพด ซึ่งผลผลิตจะลดปริมาณลงอย่างน้อย 20 เปอร์เซ็นต์  จากการประเมินความเสียหายของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) พบว่าความเสียหายกับภาคเกษตร  30,000 กว่าล้านบาท ขณะที่ความเสียหายที่เกิดขึ้นในภาพรวมทั้งประเทศอาจจะมากถึง 60,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ข้อมูลความเสียหายของอุตสาหกรรมการเกษตร ในปี 2558/2559 จากการเกิดเอลนีโญ กระทบผลผลิตอุตสาหกรรมการเกษตรจาก 39,000 ล้านบาท เหลือ 14,000 ล้านบาท เพราะฉะนั้นในปีนี้อุตสาหกรรมการเกษตรเพื่อกินใช้ในประเทศและเพื่อส่งออกมันจะลดลงต่ำกว่าครึ่ง

“น่าเป็นห่วงผลผลิตทางการเกษตร ภาคปกติก็จะลงครึ่ง และในฤดูแล้งก็จะลดเหลือ 1 ใน 3 ที่เขาเป็นห่วงกัน แม้แต่พืชไร่ เขาพูดถึงพืชไร่กับสับปะรด ข้าวโพดหวานคงจะมีผลผลิตลดลง อันนี้ก็เป็นภาคเกษตร มันเป็นเรื่องที่ต้องมีมาตรการกันอย่างแน่ชัดในการรับมือ”

แผนที่ ปริมาณฝนทั่วประเทศ

นายชวลิตบอกว่ามาตรการต้องเข้มข้นมากขึ้นในการบริหารจัดการน้ำ ในปี 2558 ในช่วงเดือนมิถุนายน กรกฎาคม เกิดปัญหาแย่งน้ำกัน เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะต้องทำตอนนี้คือถ้าใครยังไม่ได้ปลูกก็อย่าเพิ่งปลูกโดยเฉพาะข้าว เนื่องจากเกรงว่าในเดือนกรกฎาคมอาจจะมีปัญหาการแย่งชิงน้ำกันอีก ต้องเข้มงวด และชาวนาทำตามนโยบายของกรมส่งเสริมการเกษตร กรมชลประทาน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการแย่งน้ำกันขึ้น

เร่งจัดระเบียบบริหารจัดการน้ำใหม่

การบริหารจัดการน้ำอาจต้องปรับแผนใหม่เพื่อรับมือสถานการณ์ “เอลนีโญ” โดยในส่วนท้องถิ่น ต้องพิจารณาการขุดลอก คลอง สระน้ำ เพื่อเก็บน้ำทุกหยดในช่วงฤดูเอาไว้ในใช้หน้าแล้ง และต้องมีมาตรการในการประหยัดน้ำ

“ต้องเก็บน้ำทุกหยด อย่างที่ผมบอกคือ ตรงไหนขุดลอกได้ แม้แต่สระขององค์การบริหารส่วนตำบล จนกระทั่งถึงคลองของกรมชลประทานต้องขุดลอกเอาไว้ เพราะกรมชลประทานมีงบประมาณ  แต่ในส่วน อบต.ก็น่าเป็นห่วง แต่ต้องหาวิธีในการขุดคลอง สระเพื่อเก็บน้ำเอาไว้ในช่วงฤดูฝนนี้”

นายชวลิตบอกว่า การบริหารจัดการน้ำประเด็นสำคัญคือต้องเก็บก่อน หมายความว่าฝนตกมา 100 เปอร์เซ็นต์ต้องเก็บให้ได้ 70 เปอร์เซ็นต์ แต่ปัจจุบันเราเก็บอยู่ที่ 25 เปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ต้องทำคือหาพื้นที่เก็บ การขุดลอกไม่ว่าจะเป็นพื้นที่หนองบึงเก่าต้องไปขุดบูรณะเพื่อเอามาใช้งานเพื่อเก็บน้ำ ซึ่งหากเป็นไปได้เก็บน้ำให้ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ และบางพื้นที่ควรจะเก็บให้ได้ถึง 70 เปอร์เซ็นต์

นอกจากนี้การจัดสรรน้ำต้องเคร่งครัด โดยเฉพาะในเรื่องของการจัดสรรน้ำเพื่อทำการปลูกข้าว โดยแปลงนาที่เรียกว่าทำนาเปียกสลับแห้งในบางสัปดาห์ใช้น้ำ 70 เปอร์เซ็นต์ บางสัปดาห์ต้องลดเหลือ 25 เปอร์เซ็นต์ พอช่วงที่มันแตกรวงค่อยเพิ่มน้ำขึ้นไป 70 เปอร์เซ็นต์ ต้องปรับวิธีการทำนาและจัดสรรน้ำอย่างประหยัดและจำเป็น

มาตรการที่ภาครัฐต้องเตรียมสำหรับในพื้นที่ชลประทาน คือการเยียวยา โดยกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต.ต่างๆ ต้องช่วยกันที่จะดูแลใครปลูกข้าวแล้วเสียหายจะได้ช่วยกันเยียวยากันบางส่วนได้อย่างไร

ส่วนการบริหารจัดการน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค กรมชลประทานได้วางมาตรการน้ำเป็นอันดับต้นๆ ก่อนที่จะนำน้ำไปใช้ในภาคการเกษตรและภาคอื่นๆ น้ำอุปโภค บริโภคต้องเพียงพอ

อย่างไรก็ตาม นายชวลิต ย้ำว่าภาคเกษตร ภาคเอกชน และอุตสาหกรรม ทุกคนต้องหาทางเก็บน้ำไว้ด้วยตัวเองในฤดูฝนนี้ เช่นบ้านทั่วไปก็มีโอ่งที่ไหนก็ต้องเก็บอันนั้นก็คือน้ำกิน น้ำใช้  นอกจากนี้นก็เก็บในส่วนสระประจำหมู่บ้าน ประจำตำบลเพื่อเอาน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง

นายชวลิต จันทรรัตน์ ที่ปรึกษาบริษัททีม กรุ๊ป และผู้เชี่ยวชาญในการจัดการน้ำ

รณรงค์ถนอมน้ำให้อยู่ยาวไปจนถึงพฤษภาคมปีหน้าให้ได้

การปรับเปลี่ยนวิธีการทำนา คืออีกมาตรการที่ต้องเร่งบริหารจัดการ โดยการทำข้าวนาปลังจะต้องลดลง ปีนี้แล้วชาวนาทำข้าวนาปลัง 10 ล้านไร่  แต่ปี 2566 /2567 จะต้องลดลง 1 ใน 3 ซึ่งแน่นอนว่าการลดทำข้านาปลังจะกระทบการส่งออก และรายได้ของชาวนาจนอาจจะส่งผลต่อปัญหาเศรษฐกิจครัวเรือน

อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร  รวมไปถึงกรมชลประทาน ก็สนับสนุนให้มีการปลูกที่เรียกว่าเปียกสลับแห้ง เพราะใช้น้ำน้อยได้ผลผลิตมากกว่า โดยสามารถช่วยประหยัดน้ำได้ 20 เปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้นจึงเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่ต้องมารณรงค์กันเต็มที่เลยในฤดูฝนนี้ เพื่อต้องถนอมน้ำให้อยู่ยาวไปจนถึงพฤษภาคมปีหน้าให้ได้

ภาคอุตสาหกรรมต้องเน้นใช้น้ำ3 R

ส่วนการจัดการน้ำในภาคอุตสาหกรรม นอกจากต้องขุดสระเพื่อเก็บน้ำฝนเอาไว้ใช้อย่างน้อย 4-5 เดือนแล้ว อาจต้องหันมายึดแนวทางการใช้น้ำที่เรียกว่า 3 R คือ Reduce Reuse Recycle ในกระบวนการผลิตต้องใช้น้ำน้อยลง

“ภาคอุตสาหกรรมก็ต้องทำอย่างนั้น อะไรที่มา Reuse ได้ ก็อย่างเช่น รดน้ำต้นไม้ ก็ต้องเอาไปใช้งาน และ Recycle ในกระบวนการของภาคอุตสาหกรรมจะสามารถเอาน้ำจากกระบวนการหนึ่งมาทำความสะอาดครึ่งทางแล้วเอาไปใช้ซ้ำ แต่ Recycle ต้องลงทุนเยอะหน่อย อันนี้อยากจะให้ทางรัฐบาลสนับสนุน สภาอุตสาหกรรมก็พยายามมีเป้าหมายที่จะให้ Reduce Reuse กับ Recycle ได้ประมาณร้อยละ 25 ของความต้องการใช้น้ำ

ขณะที่มาตรการ 3 R  ต้องนำมาใช้ กับผู้บริโภค โดยทุกคนต้องประหยัด เหมือนภาคอุตสาหกรรม Reduce Reuse Recycle ก็อาจจะไม่ถึงกับ Recycle แต่ Reuse  แต่ต้องมีมาตรการใช้น้ำอย่างประหยัด

“ผมว่าน้ำเพื่อการรดต้นไม้ ต้องรณรงค์ไม่ใช้น้ำจากก๊อกน้ำเลย ต้องไม่ใช้น้ำประปาไปรดน้ำต้นไม้ รดน้ำต้นไม้ในบ้านเพื่อความสวยงามก็ต้องใช้น้ำอาบ น้ำซักผ้า น้ำล้างจาน มันต้องทำจริงๆ ที่บ้านผมก็ทำ อาบน้ำผมจะอาบอยู่ในอ่างเหล็ก แล้วเอาน้ำตรงนั้นใช้รดน้ำต้นไม้ ซึ่งทุกคนต้องฝึก เพราะถ้าขาดน้ำจะมีปัญหามาก”

นายชวลิตทิ้งท้ายว่า หากทุกคนไม่นำเอามาตรการ Reduce Reuse Recycle  มาใช้เพื่อรับมือซูเปอร์เอลนีโญ ซึ่งเมื่อถึงภาวะขาดแคลนน้ำอาจจะส่งผลกระทบรุนแรงมากขึ้นได้

อ่านต่อตอนที่2 : ถึงเวลาปัดฝุ่น…แผนยุทธศาสตร์การผันน้ำของไทย?