ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > เขื่อนแก่งเสือเต้น (ตอนที่3) : กระบวนการจัดการน้ำของ”ชุมชนสะเอียบ”

เขื่อนแก่งเสือเต้น (ตอนที่3) : กระบวนการจัดการน้ำของ”ชุมชนสะเอียบ”

19 ธันวาคม 2012


แหล่งน้ำมีอยู่อย่างจำกัด แต่ความต้องการใช้น้ำมีไม่จำกัด

ประเทศไทยเป็นรัฐรวมศูนย์ หลายครั้งที่การจัดการด้วยโครงการใหญ่ๆ ของรัฐไม่สามารถแก้ไขปัญหาและตอบสนองความต้องการของชุมชนได้ ชุมชนต่างหากที่รู้จักและเข้าใจในข้อจำกัดด้านทรัพยากรและความต้องการของชุมชนเอง จึงไม่น่าแปลกใจที่บางครั้งการจัดการของชุมชนจะมีประสิทธิภาพมากกว่ารัฐ

ชุมชนสะเอียบ คือพื้นที่ที่อาจจะกลายเป็น “เขื่อน” หนึ่งในโครงการใหญ่ของรัฐเพื่อการจัดการน้ำของประเทศ แต่ชาวสะเอียบก็มีวิธีการจัดการน้ำเล็กๆ ของชุมชน และได้แสดงให้รัฐบาลเห็นว่า การจัดการน้ำไม่จำเป็นต้องเกิดจากโครงการที่มีการลงทุนขนาดใหญ่ และไม่จำเป็นต้องใช้องค์ความรู้มากมายอย่างที่รัฐเข้าใจ

ในลำเหมืองบางช่วง ชาวบ้านจะทำฝายเล็กๆ กั้น เพื่อทดน้ำเข้าพื้นที่ของตนเอง
ในลำเหมืองบางช่วง ชาวบ้านจะทำฝายเล็กๆ กั้น เพื่อทดน้ำเข้าพื้นที่ของตนเอง

น้ำเพื่อการบริโภค

กว่า 10 ปีที่แล้ว ชาวสะเอียบดื่มน้ำจากบ่อที่ขุดเองหรือน้ำจากลำห้วยธรรมชาติ ต่อมาชาวบ้านหลายคนเป็นโรคนิ่วและโรคไต เนื่องจากตะกอนในน้ำที่เข้าไปสะสม ดังนั้น ชาวบ้านจึงหันมาซื้อน้ำดื่มแทน

น้ำดื่มในช่วงแรกชาวบ้านซื้อจากโรงงานผลิตน้ำดื่มในเชียงม่วน โดยโรงงานจะขนส่งน้ำมาให้ถึงสะเอียบเป็นประจำ แต่เมื่อ 5 ปีที่แล้ว มีโรงงานผลิตน้ำดื่มตั้งขึ้นในตำบลสะเอียบ ทำให้ชาวบ้านส่วนใหญ่หันมาซื้อน้ำในตำบลแทน

สำหรับน้ำวัตถุดิบของโรงงานที่สะเอียบนั้น ใช้น้ำบาดาลจากบ่อที่ขุดลึกลงไป 70 เมตร แล้วสูบขึ้นมาผลิตเป็นน้ำดื่มขาย ซึ่งผ่านการรับรองความปลอดภัยจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. แล้ว

ด้านน้ำดื่มบรรจุขวดลิตร ราคาขวดละ 1 บาทกว่า ส่วนน้ำดื่มบรรจุถัง 10 ลิตร ราคา 10 บาท

น้ำเพื่อการอุปโภค

ชาวสะเอียบใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติเป็นหลักในชีวิตประจำวัน เช่น ซักผ้า อาบน้ำ ล้างจาน ฯลฯ แต่ภายหลังก็พัฒนาตนเองมาใช้น้ำประปาภูเขาที่ชาวบ้านทำขึ้นเอง เพราะสะอาดกว่า ปลอดภัยกว่า และมีน้ำไหลตลอดทั้งปี เพราะสะเอียบล้อมรอบด้วยภูเขาซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำ

บ้านดอนแก้ว เป็นหมู่บ้านแรกที่มี “น้ำประปาภูเขา” ใช้ โดยสร้างแทงค์น้ำไว้ที่ตาน้ำของลำห้วยแม่สะกึ๋น ซึ่งเป็นลำห้วยสำคัญที่หล่อเลี้ยงชีวิตของชาวสะเอียบ 3 หมู่บ้าน คือ บ้านดอนแก้ว บ้านดอนชัย และบ้านดอนชัยสักทอง

ในปี 2554 บ้านดอนชัยและบ้านดอนชัยสักทองจึงคิดทำประปาภูเขาขึ้นใช้บ้าง โดยให้องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เขียนโครงการสร้างประปาภูเขาของบประมาณจากรัฐจำนวน 2 ล้านบาท เพื่อมาเป็นค่าใช้จ่ายก่อสร้างแทงค์น้ำ ค่าท่อพีวีซีทำท่อส่งน้ำ รวมถึงค่าแรงงานด้วย ซึ่งค่าใช้จ่ายที่เกินจากงบประมาณ ชาวบ้านก็จะช่วยกันออกเงิน

การก่อสร้างประปาภูเขาครั้งหลังนี้ ตั้งแทงค์น้ำตั้งอยู่ห่างจากแทงค์น้ำของบ้านดอนแก้วลงมา โดยมีแรงงานหลักที่ต้องการไม่ถึง 10 คน ซึ่งเป็นแรงงานฝีมือที่เชี่ยวชาญ แล้วจะมีชาวบ้านผลัดเปลี่ยนไปช่วยสร้างช่วยลงแรงตลอด

สำหรับตาน้ำประปาภูเขาของบ้านดอนชัยและดอนชัยสักทองนั้น จะอยู่ลึกเข้าไปจากบ้านดอนแก้ว (อยู่ใกล้ป่าที่สุด) 8 กิโลเมตร ในช่วง 1 กิโลเมตรแรกจะเป็นการทำการเกษตรแบบเจือจาง ส่วน 7 กิโลเมตรที่เหลือจะเป็นป่าทั้งหมด ไม่มีทำการเกษตรใด ดังนั้นจึงเป็นน้ำสะอาด ไม่มีสารพิษหรือยาฆ่าแมลงเจือปน และอีกสาเหตุหนึ่งที่สร้างอยู่ลึก เพราะจะได้เป็นต้นน้ำสมบูรณ์ไม่ถูกคนรบกวน

ค่าน้ำประปาภูเขาอยู่ที่ลูกบาศก์เมตรละ 2 บาท โดยเงินที่ได้ คณะกรรมการน้ำของหมู่บ้านจะเก็บไว้เป็นเงินกองกลางเพื่อซ่อมบำรุงระบบประปา ไม่ว่าจะท่อแตก ท่อตัน หรือตะกอนเต็มแทงค์น้ำ ซึ่งเวลาเกิดปัญหาคณะกรรมการน้ำก็จะประชุมกันและออกคำสั่งให้ตัวแทนชาวบ้านไปช่วยกันซ่อมแซม

ส่วนหมู่บ้านอื่นๆ ที่ไม่มีประปาภูเขา ก็จะขุดบ่อไว้ริมน้ำ แล้วสูบขึ้นมาใช้

น้ำเพื่อการเกษตร

การเกษตรที่สะเอียบส่วนใหญ่จะปลูกข้าวและข้าวโพดอาหารสัตว์ ชาวบ้านที่นี่ทำนาปีละครั้งเพราะปลูกข้าวเพื่อเอาไว้กินในครัวเรือน การเกี่ยวข้าวก็ยังคงเป็นวัฒนธรรมช่วยเหลือกัน หรือที่เรียกว่า “ลงแขก” อยู่ ส่วนข้าวโพดจะปลูกเป็นอาชีพเป็นรายได้หลักของครอบครัว

การปลูกข้าวโพดส่วนใหญ่ปลูกบนภูเขา เป็นพืชไร่ ใช้น้ำน้อย แต่ที่นาหรือที่สวนคือที่ดินเพาะปลูกที่ต้องการน้ำมาก ซึ่งชาวบ้านก็สามารถจัดการน้ำให้เพียงพอต่อการเกษตรของชุมชนได้เป็นอย่างดี

แหล่งน้ำเพื่อการเกษตรหลักคือ ห้วยแม่สะกึ๋น ลำห้วยนี้ไหลผ่าน 3 หมู่บ้าน คือ บ้านดอนแก้ว บ้านดอนชัย และบ้านดอนชัยสักทอง แล้วไหลลงน้ำยม ส่วนบ้านแม่เต้นจะใช้น้ำจากบ่อแม่เต้น ซึ่งมีต้นน้ำคนละสายกัน

จากตาน้ำที่ชาวบ้านทำประปาภูเขาลงมา ห่างจากบ้านดอนแก้ว 1 กิโลเมตร เป็น “อ่างน้ำล้นแม่สะกึ๋น” ดังนั้น น้ำที่ล้นจากแทงค์น้ำประปาก็ไหลลงสู่อ่างนี้ก่อน แล้วก็ล้นลงสู่ลำห้วย ตลอดทั้งลำห้วยแม่สะกึ๋นปะกอบด้วยฝายขนาดใหญ่กว่า 8 ฝาย และฝายเล็กๆ อีกว่า 8 ฝาย

ฝายที่ต้นลำห้วยแม่สะกึ๋น
ฝายที่ต้นลำห้วยแม่สะกึ๋น

รอบๆ คันนาของชาวบ้านจะมีคลองส่งน้ำเล็กๆ ที่เรียกว่า “เหมืองหรือคลองไส้ไก่” เพื่อทดน้ำจากลำห้วยเข้าสู่ที่นาของตน ความสำคัญของฝายก็คือ ยกระดับน้ำให้สูงขึ้นเพื่อให้สามารถทดน้ำเข้านาได้

เมื่อที่นาไหนได้น้ำมากพอแล้วก็จะปิดเหมือง เพื่อให้น้ำไหลไปยังที่ปลายน้ำได้ สาเหตุที่น้ำสามารถไหลต่อๆ กันมาเรื่อยๆ ได้โดยไม่ต้องใช้เครื่องสูบน้ำก็เพราะต้นน้ำอยู่สูงบนภูเขา แล้วไหลมายังที่นาของชาวบ้าน ผ่านหมู่บ้านแล้วก็ไหลไปยังที่นาอีก ลดหลั่นต่ำลงไปตามตีนเขา ดังนั้น น้ำจึงไหลไปตามแรงโน้มถ่วงของโลกลงสู่น้ำยมได้

ตลอดลำเหมืองของชาวบ้านทั้งในที่นาและในหมู่บ้าน มีบางช่วงที่ทำเป็นลำเหมืองคอนกรีต เพราะถ้าไม่ทำแบบนี้ก็จะไม่ได้รับเงินจากรัฐ ในขณะที่ลำเหมืองส่วนใหญ่จะเป็นคันดิน ซึ่งเป็นลำเหมืองที่กินได้ มีทั้งผัก เผือก ขึ้นอยู่เต็มข้างคัน รวมถึงสัตว์ทั้ง ปลา ปู งู กบ ที่เป็นอาหารชาวบ้านด้วย

ฝายที่นี่ส่วนใหญ่เป็นฝายคอนกรีต เพราะทนทานและดูแลง่ายกว่า แต่จะมีช่องประตูน้ำไว้ตรงกลาง โดยใช้แผ่นไม้ปิดไว้ แล้วเปิดประตูในหน้าฝนเพื่อให้ตะกอนที่สะสมอยู่หน้าฝายได้พัดออกไปทุกๆ ปี

สำหรับในฤดูแล้ง หลังเกี่ยวข้าวเสร็จ ชาวบ้านจะทำเกษตรหน้าแล้งในที่นา เช่น ปลูกข้าวโพด พริก หอม กระเทียม ซึ่งจะได้ผลผลิตที่ดีกว่าการปลูกบนเขา เพราะมีน้ำสมบูรณ์กว่า

เมื่อน้ำในลำห้วยแห้ง แต่ชาวบ้านยังคงต้องใช้น้ำ คณะกรรมการน้ำ นายเหมือง นายฝาย ซึ่งเป็นตัวแทนหมู่บ้านละ 3 คน มาประชุมกันว่า จะเปิดน้ำออกจากอ่างแม่สะกึ๋นกี่วัน เพื่อให้ชาวบ้านทั้ง 3 หมู่บ้านพอใช้ หลังจากได้ข้อสรุปก็ประกาศให้ชาวบ้านทุกคนรู้ว่าจะเปิดน้ำในอ่างแล้วกี่วัน ตั้งแต่วันที่เท่าไหร่ ชาวบ้านก็จะทดน้ำเข้านาจนเต็ม แล้วก็ปิดเหมืองให้ที่นาอื่นได้ทดน้ำบ้าง

ในกรณีที่เปิดน้ำครบจำนวนวันที่กำหนดแล้วแต่น้ำยังไม่ถึงหรือยังไม่เพียงพอถึงปลายน้ำ คณะกรรมการน้ำก็จะประชุมกันใหม่แล้วเปิดน้ำเพิ่มให้ ทั้งนี้ชาวบ้านที่อยู่ต้นน้ำซึ่งได้น้ำไปใช้แล้วไม่สามารถเปิดเหมืองได้อีก ต้องปล่อยให้น้ำไหลไปยังชาวบ้านปลายน้ำ

สำหรับบ้านแม่เต้น ไม่ได้ใช้น้ำจากลำห้วยแม่สะกึ๋น แต่จะใช้น้ำจากบ่อแม่เต้นเพื่อการเกษตรแทน