ThaiPublica > สู่อาเซียน > บทบาทที่น่าสนใจของ “หัวเว่ย” … ในลาว

บทบาทที่น่าสนใจของ “หัวเว่ย” … ในลาว

21 กันยายน 2021


ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน

บทบาทของหัวเว่ยในลาว มีมากกว่าแค่การขายโทรศัพท์มือถือ ที่มาภาพ: เพจ Huawei Laos

หลายประเทศทางตะวันตกอาจหวาดระแวงกับเทคโนโลยีจากจีน โดยเฉพาะบทบาทด้านการสื่อสารโทรคมนาคมของหัวเว่ย บริษัทเอกชนที่สามารถเจาะลึกเข้าไปได้ในหลายตลาด ทั้งในยุโรปและอเมริกา

แต่สำหรับลาว ไม่เพียงไม่มีความหวาดระแวง หลายหน่วยงานของรัฐบาลลาวกลับยินดีให้ความร่วมมือและได้รับการสนับสนุนจากหัวเว่ย ทั้งด้านองค์ความรู้ เทคโนโลยี เครื่องไม้เครื่องมือ และอุปกรณ์

เรื่องราวของหัวเว่ยในลาว จึงมีหลายบทบาทที่น่าสนใจไม่น้อย
……

วันที่ 16 กันยายน 2564 ได้มีพิธีลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างกระทรวงการเงิน สปป.ลาว กับบริษัทหัวเว่ย เทคโนโลยี (ลาว) จำกัด โดยกระทรวงการเงินได้มอบหมายให้หัวเว่ยเข้ามาศึกษา สำรวจ ออกแบบระบบควบคุมการเงินภาครัฐในรูปแบบดิจิทัล และเขียนแผนยุทธศาสตร์การพัฒนา การควบคุมงบประมาณแห่งรัฐ (บัญชีรายรับ-รายจ่าย) ในระบบดิจิทัล

กระทรวงการเงินลาว ลงนาม MOU ให้หัวเว่ยสำรวจ ออกแบบระบบควบคุมการเงินภาครัฐในรูปแบบดิจิทัล และเขียนแผนยุทธศาสตร์การพัฒนา การควบคุมงบประมาณแห่งรัฐในระบบดิจิทัล เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2564 ที่มาภาพ: สำนักข่าวสารประเทศลาว

ผู้ลงนามใน MOU ประกอบด้วย บุนเหลือ สินไซวอระวง รองรัฐมนตรีกระทรวงการเงิน หู เหวยหัว ประธานบริษัทหัวเว่ย เทคโนโลยี (ลาว) จำกัด โดยมีบุนโจม อุบนปะเสิด รัฐมนตรีกระทรวงการเงิน และตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมเป็นสักขีพยาน

บุนเหลือ สินไซวอระวง รองรัฐมนตรีกระทรวงการเงิน กล่าวว่า เนื้อหาของ MOU ที่กระทรวงการเงินได้ลงนามกับหัวเว่ยครั้งนี้ มีความหมายและมีความสำคัญมาก โดยหัวเว่ยต้องศึกษาลงลึกใน 2 ด้าน ด้านแรกคือการศึกษา สำรวจ ออกแบบระบบควบคุมการเงินภาครัฐให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัล อีกด้านหนึ่ง คือการสร้างแผนยุทธศาสตร์ พัฒนาระบบควบคุมงบประมาณแห่งรัฐให้เป็นรูปแบบดิจิทัล ซึ่งมีหลายเนื้องานที่ต้องพัฒนาขึ้นมา ได้แก่

  • ระบบภาษีอัจฉริยะ (Smart Customs)
  • ระบบควบคุมอากรแบบรวมศูนย์ (Integrated Tax Information Systems)
  • ศูนย์วิเคราะห์-วิจัยการเงินภาครัฐ (Public Financial Data Analytic Center for Big Data Platform)
  • ระบบควบคุมสำนักงานแบบดิจิทัล (Digital Office Automation Platform)
  • ระบบจัดการบุคลากร (Personal Management Systems)
  • ระบบควบคุมรัฐวิสาหกิจ (State Owned Enterprise Management Systems)
  • ระบบเชื่อมโยงข้อมูลบัญชีของแต่ละหน่วยธุรกิจ (Interfacing with Enterprises Accounting Systems)
  • ระบบการชำระสะสางแบบดิจิทัล (Digital Payment Gateway)
  • โครงสร้างพื้นฐานเครือข่ายและความปลอดภัยแบบคราวด์ (MOF Cloud)

MOU ได้กำหนดกรอบเวลาที่หัวเว่ยต้องศึกษาและพัฒนาเนื้องานเหล่านี้ให้สำเร็จภายใน 3 เดือน เพื่อให้สามารถเริ่มต้นปฏิบัติงานได้จริงในปีงบประมาณ 2565-2566

หลังจากที่หัวเว่ยได้ศึกษา สำรวจ และออกแบบเนื้องานทั้งหมดเสร็จเรียบร้อยแล้ว กระทรวงการเงินจะเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อบรรจุไว้เป็นแผนงานของรัฐบาลลาว จากนั้นจะประสานงานกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างระบบควบคุมการเงินภาครัฐให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน และสามารถเชื่อมต่อกับทุกหน่วยงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

หู เหวยหัว ประธานบริษัทหัวเว่ย เทคโนโลยี (ลาว) จำกัด กล่าวว่า รูปแบบของงานที่หัวเว่ยได้เตรียมออกแบบไว้นั้น ขึ้นอยู่กับปัญหาและความต้องการหลักของรัฐบาลในปัจจุบัน รวมถึงระบบที่จะเชื่อมต่อ และการพัฒนาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ระบบที่จะออกแบบ ต้องสามารถบูรณาการเข้ากับระบบของธนาคาร สถาบันการเงิน รวมถึงผู้ให้บริการชำระเงินผ่านแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือ เพื่อให้เส้นทางไหลเวียนของงานทั้งระบบบรรลุไปถึงระดับ E2E (End to End)

เขาบอกว่า MOU ที่ลงนามกันครั้งนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นก้าวแรก แต่ 3 เดือนหลังจากนี้ จะเป็นช่วงที่หัวเว่ยต้องเร่งทำงานอย่างจริงจัง เพื่อให้ระบบควบคุมการเงินภาครัฐ และแผนยุทธศาสตร์ พัฒนา ระบบควบคุมงบประมาณแห่งรัฐ ที่หัวเว่ยเป็นผู้ออกแบบ สามารถปฏิบัติงานได้จริงอย่างเป็นรูปธรรม

รองรัฐมนตรีกระทรวงการเงินให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า MOU ที่กระทรวงการเงินได้ลงนามกับหัวเว่ยฉบับนี้ เป็นไปตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจ-สังคมแห่งชาติ 5 ปี ครั้งที่ 9 และแผนงบประมาณแห่งรัฐ 5 ปี (2564-2568) ซึ่งรัฐบาลลาวมีนโยบายและมาตรการปฏิรูปรอบด้าน และหนึ่งในนั้นคือการปฏิรูปเนื้องานในแขนงการเงิน

โดยตลอด 10 ปีที่ผ่านมา กระทรวงการเงิน ในฐานะผู้นำนโยบายและมาตรการนี้ไปใช้ปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม ได้ให้ความสำคัญแก่การปรับรูปแบบการทำงานในแขนงการเงินให้ทันสมัย ตั้งเป้าหมายว่าให้เป็นผลสำเร็จในปี 2573

กระทรวงการเงินได้วาง 7 ยุทธศาสตร์พัฒนาการเงินภาครัฐจนถึงปี 2568 โดยในยุทธศาสตร์ที่ 7 คือการพัฒนาแขนงการเงินภาครัฐให้ทันสมัยเทียบเท่าประเทศอื่นในภูมิภาคและในระดับสากล นอกจากนี้ ในแผนพัฒนาแขนงการเงิน 5 ปี (2564-2568) กำหนดว่าต้องพัฒนาระบบควบคุมข้อมูลข่าวสารการเงิน งบประมาณ และการบริหารงานของรัฐด้วยกฏหมาย ให้มีความศักดิ์สิทธิ์ ทันสมัย และอยู่ในระบบดิจิทัล

……

แบรนด์ “หัวเว่ย” ได้ปรากฏอยู่ในตลาดอุปกรณ์สื่อสาร-โทรคมนาคมของลาวมาตั้งแต่ปี 2541 โดยที่ผ่านมาหัวเว่ยได้มีความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้ง 3 เจ้าที่อยู่ในลาว ไม่ว่าจะเป็น Unitel บริษัทร่วมทุนระหว่างกองทัพประชาชนลาวกับกระทรวงกลาโหมเวียดนาม, บริษัทลาวโทรคมนาคม (LTC) บริษัทร่วมทุนระหว่างรัฐบาลลาวกับบริษัทชินวัตร อินเตอร์เนชั่นแนล และบริษัท ETL หรือรัฐวิสาหกิจโทรคมลาวเดิม ปัจจุบันเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างรัฐบาลลาว กับบริษัทเจียฟู โฮลดิ้ง จากจีน

แต่บทบาทที่สำคัญกว่า คือการเป็นคู่ร่วมมือในการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ให้กับหน่วยงานรัฐบาล และภาคเอกชนของลาวหลายแห่ง

โครงการ “เมล็ดพันธุ์แห่งอนาคต-Seed for the Future” ของหัวเว่ย

ปี 2559 หัวเว่ยได้ลงนามในสัญญาความร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการและกีฬา ในโครงการ “เมล็ดพันธุ์แห่งอนาคต-Seed for the Future” ภายใต้ความร่วมมือนี้ ทุกๆ ปีหัวเว่ยจะคัดเลือกเยาวชนและนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ในลาว ประมาณ 10 กว่าคน ให้เดินทางไปฝึกอบรมและดูงานระยะสั้นประมาณ 2 สัปดาห์ ที่สำนักงานใหญ่ของหัวเว่ย ในกรุงปักกิ่ง และในเมืองเซินเจิ้น มณฑลกว้างตุ้งของจีน

หัวเว่ยเริ่มโครงการ Seed for the Future ตั้งแต่เมื่อปี 2551 และไม่ได้ทำกับลาวเพียงประเทศเดียว แต่ได้ทำกับอีกหลายประเทศ โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทย แต่สำหรับผู้บริหารสถาบันการศึกษาในลาวแล้ว ดูให้ความพึงพอใจกับโครงการนี้เป็นพิเศษ

สมพอน กันทะวง รองคณบดี ผู้ดูแลงานด้าน ICT ของมหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว

เมื่อเดือนสิงหาคม 2564 สมพอน กันทะวง รองคณบดี ผู้ดูแลงานด้าน ICT ของมหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว ได้แสดงความเห็นถึงโครงการ Seed for the Future ของหัวเว่ยว่าเป็นโครงการที่ดี ทำให้นักศึกษาที่ไปจากลาวได้มีโอกาสเรียนรู้ เปิดโลกทัศน์ใหม่ๆ ได้เห็นและสัมผัสการพัฒนานวัตกรรมของจีนผ่านการพัฒนาเทคโนโลยีของหัวเว่ย ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี 5G, อุปกรณ์ระบบเครือข่าย, การพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (AI) และระบบ ICT ที่ทันสมัย

นอกจากได้รู้จักกับเทคโนโลยีและระบบการทำงานของหัวเว่ยแล้ว นักศึกษาเหล่านั้นยังได้มีโอกาสได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมโดยเฉพาะศาสตร์การเขียนตัวอักษรจีน รวมถึงได้ไปเยี่ยมชมสถานที่สำคัญหลายแห่งในจีน และเมื่อนักศึกษาเหล่านี้เรียนจบจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติแล้ว สามารถนำความรู้ที่ได้รับไปใช้กับการทำงานในชีวิตจริงทั้งในภาครัฐและบริษัทเอกชน

……

เมื่อครั้งที่ทองลุน สีสุลิด ยังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สปป.ลาว และได้เดินทางไปเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 28 พฤศจิกายน-1 ธันวาคม 2559 ในวันสุดท้ายของโปรแกรมการเยือน (1 ธันวาคม) นอกจากนายกรัฐมนตรีลาวได้มีโอกาสพบปะกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีนแล้ว นายกรัฐมนตรีทองลุนพร้อมคณะยังได้ไปเยือนศูนย์วิจัยและพัฒนา (R&D) ของหัวเว่ย ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงปักกิ่งอีกด้วย

ทองลุน สีสุลิด (คนกลางถือโทรศัพท์) เมื่อครั้งยังเป็นนายกรัฐมนตรี ได้ไปเยือนศูนย์วิจัยและพัฒนา (R&D) ของหัวเว่ย ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงปักกิ่ง เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2559 และเอ่ยเชิญชวนให้หัวเว่ยเข้าไปเพิ่มบทบาทด้านเทคโนโลยีของลาวให้มากขึ้น ที่มาภาพ: The Laotian Times

The Laotian Times ได้รายงานว่า นายกรัฐมนตรีทองลุนได้พูดคุยกับตัวแทนของหัวเว่ย และได้ชักชวนให้หัวเว่ยได้เข้ามาเพิ่มบทบาทในการพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสาร และการสื่อสารให้กับลาว นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีของลาวยังได้ทดลองระบบประชุมทางไกลผ่านเครือข่ายโทรศัพท์ ระหว่างศูนย์ R&D ที่ปักกิ่ง กับสำนักงานหัวเว่ยในนครหลวงเวียงจันทน์อีกด้วย

หลังโควิด-19 ได้แพร่ระบาดเข้ามาในลาวเมื่อเดือนมีนาคม 2563 ทำให้การประชุม-สัมมนาหลายรายการต้องพบกับอุปสรรค หัวเว่ยใช้จังหวะนี้แทรกตัวเข้าไปมีบทบาทกับหลายหน่วยงาน ด้วยการสนับสนุนอุปกรณ์สำหรับใช้ในการประชุมทางไกล หรือการประชุมออนไลน์ที่จำเป็นต้องจัดในช่วงที่มีการจำกัดการเดินทาง

วันที่ 19 พฤษภาคม 2563 หัวเว่ยได้นำอุปกรณ์สำหรับระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ไปมอบให้แก่สะเหลิมไซ กมมะสิด รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของลาว สำหรับใช้ในการประชุมหัวข้อสำคัญๆ ของกระทรวงกับหน่วยงานต่างๆ

นอกจากกระทรวงการต่างประเทศแล้ว ยังมีอีกหลายหน่วยงานของลาว ที่หัวเว่ยได้ให้การสนับสนุนอุปกรณ์เพื่อใช้ในการประชุมทางไกลและประชุมออนไลน์ ในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19

……

สถาบันไปรษณีย์ โทรคมนาคม และการสื่อสาร ลงนาม MOU ให้หัวเว่ยจัดหลักสูตรอบรมด้าน ICT แก่บุคลากรและนักศึกษาของสถาบัน เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2563 โดยหู เหวยหัว (ขวา) ประธานบริษัทหัวเว่ย เทคโนโลยี (ลาว) เป็นผู้ลงนามใน MOU

วันที่ 16 ตุลาคม 2563 สถาบันไปรษณีย์ โทรคมนาคม และการสื่อสาร ได้ลงนาม MOU ให้หัวเว่ยจัดฝึกอบรมด้าน ICT ให้แก่บุคลากร นักวิชาการ และนักศึกษาของสถาบัน โดยหัวเว่ยมีหลักสูตรฝึกทักษะด้านดิจิทัล ที่สามารถใช้กับการอบรมพนักงานจำนวนมาก ในหัวข้อที่แตกต่างกันเกี่ยวกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยเน้นไปที่เทคโนโลยี 5G, Cloud, Big Data, AI และอื่นๆ

วันที่ 21 พฤษภาคม 2564 หัวเว่ยได้นำอุปกรณ์เทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) ไปมอบให้แก่ห้องว่าการสำนักประธานประเทศ และห้องว่าการศูนย์กลางพรรคประชาชนปฏิวัติลาว เพื่อเริ่มต้นโครงการ “อยู่ลาว เพื่อลาว” โดยมีเขมมะนี พนเสนา หัวหน้าห้องว่าการ สำนักประธานประเทศเป็นผู้รับมอบ

หัวเว่ยนำอุปกรณ์ IT ไปมอบแก่ห้องว่าการสำนักประธานประเทศ เพื่อเริ่มต้นโครงการ “อยู่ลาว เพื่อลาว” ในการยกระดับความรู้ความสามารถของบุคลากรและหน่วยงานรัฐ ในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2564

รายละเอียดของโครงการ “อยู่ลาว เพื่อลาว” หัวเว่ยจะร่วมมือกับกระทรวงเทคโนโลยีและการสื่อสาร ในการพัฒนาเพิ่มพูนความรู้ความสามารถด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ให้แก่รัฐกรและพนักงานของรัฐ การให้คำปรึกษาแผนเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อยกระดับความสามารถของหน่วยงานรัฐ ในยุคดิจิทัล 4.0 รวมถึงปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการทำงานในหน่วยงานรัฐบาล ผ่านระบบทางไกล

……

หลายคนกำลังจับตาความสัมพันธ์ระหว่างลาวกับจีน โดยเฉพาะอิทธิพลทางเศรษฐกิจที่จีนมีต่อลาว ไม่ว่าเป็นด้านโครงสร้างพื้นฐาน เส้นทางคมนาคม การค้า การลงทุน และการเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังเส้นทางรถไฟลาว-จีน เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 2 ธันวาคม 2564

หัวเว่ยเป็นบริษัทเทคโนโลยีจากจีน ที่ได้เข้าไปมีความร่วมมือกับหลายหน่วยงานในลาว โดยเฉพาะหน่วยงานของรัฐ

บทบาทด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของหัวเว่ยในลาว จึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจและน่าติดตามไม่น้อย…