ThaiPublica > สู่อาเซียน > ความตื่นตัวในการ “เรียนรู้จีน” ของเยาวชนลาว

ความตื่นตัวในการ “เรียนรู้จีน” ของเยาวชนลาว

8 พฤศจิกายน 2022


ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน

สถาบันขงจื่อ มหาวิทยาลัยแห่งชาติจีน วิทยาเขตดงโดก ที่มาภาพ : Lao Youth Radio FM 90.0 Mhz

เช้าวันที่ 19 ตุลาคม 2565 สถาบันขงจื่อ มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว มีกิจกรรมซึ่งได้รวมเอา 3 งานมาจัดร่วมกัน ได้แก่ พิธีเฉลิมฉลองวันขงจื่อโลก , พิธีเปิดการเรียนการสอนระดับปริญญาตรี สาขาครูสอนภาษาจีน ประจำปีการศึกษา 2565-2566 และพิธีฉลองวันครูแห่งชาติลาว ประจำปี 2565

ผู้มาร่วมงาน ประกอบด้วย เจี่ยงจ้ายต่ง เอกอัครัฐทูตจีน ประจำ สปป.ลาว, สุลิอุดง สุนดาลา รองรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการและกีฬา, รุ่งเพ็ด จันทะวง รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว, คำรุ่ง จันทะวง ผู้อำนวยการ สถาบันขงจื่อฝ่ายลาว, หลิวหมิง ผู้อำนวยการสถาบันขงจื่อฝ่ายจีน, แขกรับเชิญ ครู อาจารย์ เจ้าหน้าที่ นักศึกษาทั้งเก่าและปัจจุบัน ของสถาบันขงจื่อ

ในงาน มีการแสดงศิลปวัฒนธรรมลาว-จีน เทศกาลอาหารลาว-จีน การชงชาแบบจีน การเขียนภาพและตัวอักษรจีน การถักทอผ้าฝ้ายจีน และการแสดงผลงานทางวิชาการ

ศิลปวัฒนธรรมจีนเหล่านี้ แสดงหรือสาธิตโดยนักศึกษาที่กำลังเรียนอยู่ในสถาบันขงจื่อ ซึ่งทั้งหมดเป็นเยาวชนลาว

การแสดงศิลปวัฒนธรรมจีนโดยนักศึกษาลาวของสถาบันขงจื่อ ที่มาภาพ : สถาบันขงจื่อ
การชงชาแบบจีน ที่มาภาพ : สถาบันขงจื่อ

……

สถาบันขงจื่อ เป็นองค์กรนอกภาครัฐที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยกระทรวงศึกษาธิการของจีน มีบทบาทในการร่วมมือกับสถาบันการศึกษาของประเทศต่างๆ ทั่วโลก เพื่อส่งเสริมการศึกษาภาษาและวัฒนธรรมจีน ในแต่ละประเทศ

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กำลังมีประเด็นถกเถียงกันเกี่ยวกับบทบาทของสถาบันขงจื่อทั่วโลก หลังริชี ซูนัก ที่เพิ่งได้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอังกฤษ กำลังพิจารณาอย่างจริงจังที่จะปิดสถาบันขงจื่อที่มีอยู่ 30 แห่งในประเทศอังกฤษ เพราะระแวงว่าสถาบันแห่งนี้คือแหล่งเผยแพร่อิทธิพลจีนให้กับเยาวชนอังกฤษ

สถาบันขงจื่อเริ่มเข้ามาตั้งในลาวเมื่อปี 2553 โดยความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว มีฐานะเทียบเท่าคณะหนึ่งของมหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว วิทยาเขตดงโดก เมืองไซทานี นครหลวงเวียงจันทน์ เปิดสอนภาษาและวัฒนธรรมจีนให้แก่เยาวชนลาวที่จบการศึกษาระดับมัธยมปลาย มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์และสร้าง “ประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันระหว่างลาว-จีน” ตามข้อริเริ่ม “1 แถบ 1 เส้นทาง” (Belt and Road Initiative — BRI)

ต่อมาได้ขยายความร่วมมือขึ้นไปยังมหาวิทยาลัยสุพานุวง แขวงหลวงพระบาง อีก 1 แห่ง นอกเหนือจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว ในนครหลวงเวียงจันทน์

นับแต่เริ่มเข้ามาในลาวเมื่อปี 2553 ถึงปัจจุบัน มีเยาวชนลาวได้มาเรียนภาษาและวัฒนธรรมจีนกับสถาบันขงจื่อแล้ว มากกว่า 5,000 คน

เหตุผลหลักที่เยาวชนลาวเหล่านี้สนใจ ต้องการเรียนรู้เรื่องจีน เพราะอยากได้โอกาสเติบโตในหน้าที่การงานในอนาคต โดยเฉพาะโอกาสได้เข้าทำงานกับองค์กรธุรกิจของคนจีนที่ได้เข้ามาลงทุนอยู่ในลาวมากมายหลายบริษัท และยังมีแนวโน้มจะเข้ามาเพิ่มขึ้นอีก หลังมีการก่อสร้างทางรถไฟลาว-จีนในปี 2560 และเริ่มวิ่งให้บริการแล้วเมื่อปลายปี 2564

เฉพาะบริษัทรถไฟลาว-จีน แห่งเดียว ได้รับสมัครพนักงานชาวลาวหลายร้อยคน โดยเงื่อนไขหนึ่งในการรับสมัคร คือ ผู้ที่มีความรู้ สามารถพูด อ่าน เขียน ภาษาจีน จะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ ส่วนผู้ที่ไม่รู้ภาษาจีนแต่เป็นตำแหน่งที่มีความจำเป็น บริษัทรถไฟลาว-จีน ได้ร่วมมือกับสถาบันขงจื่อเปิดห้องเรียนเฉพาะให้กับพนักงานกลุ่มนี้

นอกจากบริษัทรถไฟลาว-จีนแล้ว ปัจจุบัน ในลาวยังมีเขตเศรษฐกิจพิเศษขนาดใหญ่ที่เป็นของนักลงทุนจีนที่ได้เปิดดำเนินการแล้วอย่างน้อย 4 แห่ง ได้แก่ เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ ในแขวงบ่อแก้ว เขตเศรษฐกิจพิเศษบ่อเต็นแดนงาม ในแขวงหลวงน้ำทา เขตเศรษฐกิจเฉพาะบึงทาดหลวง กับเขตพัฒนากวมลวมไซเสดถา ในนครหลวงเวียงจันทน์ และยังมีเขตพัฒนาเศรษฐกิจใหม่สีพันดอน ในแขวงจำปาสัก ที่เริ่มก่อสร้างแล้ว และคาดว่าจะเปิดอย่างเป็นทางการในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

บริษัทที่เข้าไปลงทุนอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษเหล่านี้ ส่วนใหญเป็นบริษัทจากจีน และต่างมีความต้องการพนักงานคนลาวที่สามารถสื่อสารภาษาจีนได้เป็นจำนวนนับหมื่นคน

……

สถาบันขงจื่อในลาวเปิดสอนภาษาจีน 2 หลักสูตร หลักสูตรแรก เป็นหลักสูตรบำรุงภาษาจีน รับสมัครเยาวชนทั่วไปที่ไม่มีพื้นฐานความรู้ภาษาจีนมาก่อน เปิดการเรียนการสอนปีละ 2 เทอม ในช่วงเดือนตุลาคม กับเดือนกุมภาพันธ์ เรียนเทอมละ 128 ชั่วโมง ปัจจุบัน มีนักศึกษาเข้าเรียนในหลักสูตรบำรุงภาษาจีนแล้ว 25 รุ่น

อีกหลักสูตรหนึ่งเพิ่งได้รับอนุมัติจากกระทรวงศึกษาธิการและกีฬาของลาวเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2564 เป็นหลักสูตรปริญญาตรี สาขาครูสอนภาษาจีน โดยเป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยแห่งชาติลาวกับมหาวิทยาลัยชนเผ่ากว่างซี เป็นหลักสูตร 2+2 นักศึกษาของหลักสูตรนี้จะได้เรียนในสถาบันขงจื่อ มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว 2 ปี และไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยชนเผ่ากว่างซี อีก 2 ปี

หลักสูตรปริญญาตรี สาขาครูสอนภาษาจีน เปิดรับเยาวชนที่จบชั้นมัธยมปีที่ 7 และมีพื้นฐานความรู้ภาษาจีนแล้วระดับหนึ่ง เพราะต้องใช้ภาษาจีนในการสอบคัดเลือก เริ่มเปิดการเรียนการสอนรุ่นแรกในปีการศึกษา 2564-2565

วันที่ 5 ตุลาคม 2565 สถาบันขงจื่อเปิดรับสมัครนักศึกษาใหม่หลักสูตรบำรุงภาษาจีน รุ่นที่ 25 ผ่านทางระบบออนไลน์ โดยให้เยาวชนผู้สนใจเริ่มกรอกใบสมัครส่งเข้าไปยังเว็บไซต์ของสถาบันขงจื่อ ได้ตั้งแต่เวลา 09.00 น.

จำนวนนักศึกษาที่สถาบันขงจื่อรับเข้าเรียนในหลักสูตรบำรุงภาษาจีนแต่ละรุ่น ถูกกำหนดตามปริมาณครูที่มีอยู่ในขณะนั้น เพื่อให้การเรียนการสอนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉลี่ยแต่ละรุ่น มีนักศึกษาเข้าเรียนประมาณ 300-400 คน

ห้องเรียนหลักสูตรบำรุงภาษาจีน รุ่นที่ 25 ที่เริ่มเปิดสอนเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2565 ที่มาภาพ : สถาบันขงจื่อ

สำหรับรุ่นที่ 25 สถาบันขงจื่อเปิดรับนักศึกษามากถึง 630 คน เพิ่มขึ้นจากทุกๆ ปี โดยจำนวนครูของสถาบันขงจื่อปัจจุบัน มีทั้งสิ้น 50 คน เป็นครูชาวจีน 36 คน ชาวลาว 14 คน กระจายห้องเรียนเป็น 5 ช่วงเวลา ได้แก่ วันจันทร์-พฤหัสบดี ภาคเช้า 08.30-10.30 น. ภาคบ่าย 14.00-16.00 น. และภาคค่ำ 18.00-20.00 น. วันเสาร์-อาทิตย์ ภาคเช้า 08.00-12.00 น. และภาคบ่าย 13.30-17.30 น.

โพสต์ของเพจ Target นิตยสารธุรกิจของลาว ให้ข้อมูลการสมัครเรียนหลักสูตรบำรุงภาษาจีนผ่านระบบออนไลน์ของเยาวชนลาว ที่เปิดได้เพียงนาทีเดียวมีผู้ส่งใบสมัครถึง 2,000 คน

หลังเปิดให้เยาวชนเขียนใบสมัครเรียนส่งเข้าไปทางระบบออนไลน์ในเวลา 09.00 น. ของวันที่ 5 ตุลาคม 2565 ในเวลาเพียงแค่นาทีเดียว มีผู้ส่งใบสมัครเข้าไปถึง 2,000 คน ทุกห้องเรียนมีผู้สมัครเรียนล้นเกินความต้องการ เว็บไซต์ของสถาบันขงจื่อต้องปิดระบบรับสมัครโดยทันที เพจทางการของสถาบันขงจื่อ ต้องรีบโพสต์แจ้งให้ผู้ที่สนใจแต่เขียนใบสมัครส่งเข้าไปไม่ทัน ให้รอไปสมัครเรียนใหม่ในรุ่นที่ 26 ที่จะเปิดรับในเดือนกุมภาพันธ์ 2566…

ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2565 สถาบันขงจื่อจัดสอบคัดเลือกนักศึกษาเข้าเรียนหลักสูตรปริญญาตรี สาขาครูสอนภาษาจีน ประจำปีการศึกษา 2565-2566

สถาบันขงจื่อมีแผนรับนักศึกษาหลักสูตรครูภาษาจีนประจำปีการศึกษานี้ 90 คน ในนี้ 10% เป็นนักศึกษาที่ถูกส่งมาเรียนโดยทุนจากหน่วยงานของรัฐ ที่เหลือคัดเลือกผ่านระบบการสอบ

การสอบแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก ภาคเช้า เป็นการทำข้อสอบภาษาลาว ในหมวดวิชาความรู้ทั่วไป คณิตศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ วรรณคดี และภาษาลาว ภาคบ่าย เป็นการทำข้อสอบในวิชาภาษาอังกฤษ และภาษาจีน

ส่วนที่ 2 เป็นการสอบสัมภาษณ์ภาษาจีน โดยครูชาวจีนเป็นผู้สอบโดยตรง

มีเยาวชนลาวที่สนใจเรียนหลักสูตร์ครูภาษาจีนกับสถาบันขงจื่อ สมัครเข้าสอบทั้งสิ้น 292 คน 190 คน เป็นผู้หญิง

……

ภาพชุดที่ถูกเผยแพร่อย่างกว้างขวางในชุมชนออนไลน์ของลาวในวันที่ 2 กันยายน 2562 เมื่อเยาวชนลาวจำนวนมากไปยืนรอซื้อใบสมัครเข้าเรียนในสถาบันขงจื่อตั้งแต่ตี 4

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เยาวชนลาวแสดงความสนใจอยากเรียนภาษาจีนอย่างล้นหลาม

ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2562 มีปรากฏการณ์ซึ่งถูกเผยแพร่อย่างกว้างขวางในสื่อและชุมชนออนไลน์ของลาว เมื่อปรากฏภาพชุดเยาวชนลาวจำนวนมาก ได้ไปยืนออกันเต็มอยู่ด้านหน้าสถาบันขงจื่อ มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว วิทยาเขตดงโดก เพื่อรอซื้อใบสมัครเข้าเรียนหลักสูตรบำรุงภาษาจีน

ตามรายงานข่าวที่เผยแพร่ในตอนนั้น เยาวชนกลุ่มแรกๆ มาจับจองพื้นที่ด้านหน้าสถาบันขงจื่อตั้งแต่เวลาตี 4 ของวันที่ 2 กันยายน กระทั่งถึงรุ่งสาง แถวของเยาวชนเหล่านี้ขยายจากบริเวณหน้าอาคารสถาบัน ยาวเหยียดออกไปถึงนอกถนน

เมื่อเจ้าหน้าที่ของสถาบันขงจื่อเปิดประตูเพื่อเริ่มขายใบสมัคร เยาวชนที่ยืนรอคิวอยู่ก็กรูกันเข้าไปแย่งซื้อใบสมัครเป็นที่โกลาหล…

วันที่ 29 สิงหาคม 2563 กระทรวงศึกษาธิการและกีฬาของลาว จัดการสอบเอ็นทรานซ์เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว วิทยาเขตดงโดก มีผู้เข้าสอบทั้งสิ้น 14,308 คน ขณะที่วิทยาเขตดงโดกมีแผนรับนักศึกษาใหม่ในปีการศึกษานั้น (2563-2564) 8,000 คน

โพสต์ของ Lao Youth Radio FM 90.0 Mhz เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2563 ระบุ 5 สาขาวิชาที่มีผู้สมัครสอบเอ็นทรานซ์เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยแห่งชาติลาวมากที่สุดในปีการศึกษา 2563-2564

Lao Youth Radio FM 90.0 Mhz รายงานว่า สาขาวิชาที่มีผู้ลงทะเบียนสอบเข้าเรียนมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่
1. ภาษาจีน (คณะอักษรศาสตร์)
2. ภาษาอังกฤษ (คณะอักษรศาสตร์)
3. บริหารธุรกิจ (คณะเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจ)
4. การเงินการธนาคาร (คณะเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจ)
5. บัญชี (คณะเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจ)

วันที่ 3 กันยายน 2563 สถาบันขงจื่อต้องประกาศหยุดรับสมัครเยาวชนเพื่อเข้าเรียนหลักสูตรบำรุงภาษาจีน รุ่นที่ 21 ประจำปีการศึกษา 2563-2564 ก่อนกำหนด เนื่องจากมีผู้สมัครเข้าไปเป็นจำนวนมาก จนเกินศักยภาพของจำนวนครูที่มีอยู่จะสามารถดูแลได้อย่างทั่วถึง

สถาบันขงจื่อชี้แจงเหตุผลว่า ในปี 2563 ครูสอนภาษาจีนที่ประจำอยู่ในลาว 13 คน ได้หมดวาระ และเดินทางกลับจีนไปแล้ว แต่จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งกำลังรุนแรงอยู่ในขณะนั้น ทำให้จีนไม่สามารถส่งครูออกไปสอนภาษาจีนในต่างประเทศเพิ่มได้อีก

จำนวนครูที่ประจำอยู่ที่สถาบันขงจื่อ มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาวขณะนั้น สามารถรองรับนักศึกษาได้ 1,500-1,700 คน ในนี้ได้รวมส่วนที่สถาบันขงจื่อต้องเปิดห้องเรียนพิเศษให้กับพนักงานของบริษัทรถไฟลาว-จีน และบริษัทพัฒนาทางด่วนเวียงจันทน์-วังเวียง ที่ส่งพนักงานเข้าไปเรียนภาษาจีนด้วย มากกว่า 600 คน

แต่ปรากฏว่าหลังเริ่มเปิดให้ผู้สนใจ ยื่นใบสมัครเพื่อเข้าเรียนในหลักสูตรบำรงภาษาจีน รุ่นที่ 21 ตั้งแต่เดือนสิงหาคม จนถึงต้นเดือนกันยายน มีผู้สมัครเข้าไปแล้ว 1,129 คน เกินโควต้าสำหรับนักศึกษารุ่นนี้แล้ว จึงต้องแจ้งให้ผู้ที่สนใจเรียนหลักสูตรบำรุงภาษาจีน ยื่นสมัครเข้าไปใหม่ในรุ่นที่ 22 ที่จะเปิดรับในเดือนกุมภาพันธ์ 2564

……

ระหว่างวันที่ 1-2 กรกฎาคม 2565 สภาการค้ากว่างซีประจำ สปป.ลาว ได้ร่วมกับสถาบันขงจื่อ มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว จัดตลาดนัดแรงงานขึ้นที่สถาบันขงจื่อ มีบริษัท 29 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นบริษัทของนักลงทุนจีน รวมถึงบริษัทของคนลาวที่ร่วมทุนกับจีน มาเปิดบูธรับสมัครพนักงานชาวลาว

ทั้ง 29 บริษัท มีตำแหน่งที่มาเปิดรับสมัครพนักงานในงานนี้ รวม 1,000 ตำแหน่ง โดยไม่ได้กำหนดเงื่อนไขว่า ผู้สมัครสามารถพูด อ่าน เขียน ภาษาจีนได้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม มีหลายบริษัท เช่น บริษัทลาดซะวง พัฒนา เสนอเงื่อนไขจะให้ทุนแก่นักเรียน นักศึกษาลาว ได้เข้าเรียนภาษาจีนกับสถาบันขงจื่อ และจะรับเข้าทำงานทันทีหลังเรียนจบหลักสูตร

ช่วงเวลา 2 วันของการจัดตลาดนัดแรงงาน มีนักเรียน นักศึกษาลาว และคนลาวที่กำลังหางานทำหรือต้องการเปลี่ยนงานใหม่ มายื่นใบสมัครไว้กับบริษัทต่างๆ มากกว่า 1,800 คน

บรรยากาศวันนัดพบแรงงาน ที่สถาบันของจื่อ มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว จัดร่วมกับสภาการค้ากว่างซี ประจำ สปป.ลาว ระหว่างวันที่ 1-2 กรกฎาคม 2565 ที่มาภาพ : สถาบันขงจื่อ

สถาบันขงจื่อระบุว่า ก่อนหน้าการตลาดนัดแรงงานเมื่อวันที่ 1-2 กรกฎาคม 2565 สถาบันขงจื่อได้เคยร่วมจัดตลาดนัดแรงงานเพื่อสรรหาบุคลากรให้กับบริษัทของคนจีนที่เข้าไปลงทุนอยู่ในลาวมาก่อนแล้ว โดยสามารถหางานให้กับคนลาวได้แล้ว มากกว่า 400 ตำแหน่ง

……

แม้หลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศตะวันตก กำลังหวาดระแวงอิทธิพลของจีน และพุ่งเป้าลงไปยังสถาบันขงจื่อที่ได้เข้าไปร่วมมือกับสถาบันการศึกษาของประเทศนั้นๆ

บางประเทศ เช่น สวีเดน มีการปิดสถาบันขงจื่อไปแล้ว ประเทศอังกฤษก็กำลังพิจารณาอย่างจริงจังว่าจะปิด ส่วนสหรัฐอเมริกาใช้วิธีจำกัดเงินทุนสนับสนุนที่จะให้กับสถาบันการศึกษาซึ่งให้ความร่วมมือกับสถาบันขงจื่อ

แต่สำหรับลาว ซึ่งกำลังเปิดประเทศรับอิทธิพลจีนอย่างเต็มที่ ทัศนคติของเยาวชนลาวจำนวนมากทุกวันนี้ มองว่าการมีความรู้เรื่อง “จีน” คือการแสวงหาโอกาสของพวกเขา