ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน
ภาพกลุ่มเด็กในชุดนักเรียน ใบหน้าแต้มทะนาคาเป็นดวงๆ ยืนถือกระดาษซึ่งมีรูปอองซาน ซูจี ไว้ในมือ ถูกโพสต์ลงในกลุ่มเฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อว่า We Stand with Dr.Sa Sa เมื่อตอนเช้าตรู่ ของวันศุกร์ที่ 28 พฤษภาคม 2564
ผ่านไปไม่ถึง 24 ชั่วโมง มีผู้กดแสดงความรู้สึกชื่นชมกับภาพนี้มากกว่า 1.3 พัน Like เป็นการกดรูปหัวใจสีแดงถึง 300 ครั้ง และมีผู้แชร์ภาพนี้ต่อออกไปนอกกลุ่มอีกเกือบ 300 รอบ
เนื้อความที่อยู่ข้างรูปอองซาน ซูจี เขียนไว้ว่า…
“เราจะกลับเข้าห้องเรียน ก็ต่อเมื่อคุณย่าซุได้กลับมา”…!!!
ดร.ส่าส่า เป็นชาวรัฐชิน เป็นสมาชิกพรรค NLD เขาออกมานำการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐประหาร ตั้งแต่สัปดาห์แรกๆหลังกองทัพพม่าเข้ายึดอำนาจเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564
ดร.ส่าส่าได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ทูตพิเศษประจำสหประชาชาติ ในนาม CRPH(Committee Reptrsenting Pyidaungsu Hluttaw) ซึ่ง ส.ส.พรรค NLD ที่ชนะเลือกตั้งเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2563 ได้ร่วมตัวกันตั้งขึ้น
ดร.ส่าส่าแสดงบทบาทเหมือนเป็นโฆษก CRPH คอยให้สัมภาษณ์กับสื่อตะวันตก และติดต่อประสานงานกับองค์กรระหว่างประเทศหลายแห่ง และเผยแพร่กิจกรรมเหล่านั้นผ่านในสังคมออนไลน์
เมื่อ CRPH ตั้งรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ( National Unity Government : NUG) ขึ้นเมื่อวันที่ 16 เมษายน ให้เป็นรัฏฐาธิปัตย์คู่ขนานกับสภาบริหารแห่งรัฐ(State Administration Council : SAC) ที่เกิดขึ้นจากกองทัพพม่า
ดร.ส่าส่า ได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงความร่วมมือระหว่างประเทศ ใน NUG
ท่าที ความเคลื่อนไหว ที่สัมพันธ์กับ ดร.ส่าส่า จึงน่าอนุโลมได้ว่า เป็นไปตามแนวทางเดียวกับ NUG ด้วย
…
เมียนมาได้เผชิญกับการระบาดของโควิด-19 ระลอกแรก เมื่อเดือนมีนาคม 2563 จากนั้นไม่นาน รัฐบาลของอองซาน ซูจี ได้สั่งให้สถาบันการศึกษาของรัฐทั่วประเทศ ที่มีอยู่กว่า 6,500 แห่ง หยุดการเรียนการสอนทุกระดับชั้น เพื่อป้องกันไม่ให้การระบาดแพร่กระจายเป็นวงกว้าง
โรงเรียน มหาวิทยาลัยทุกแห่งในเมียนมา เพิ่งกลับมาเปิดการเรียนการสอนอีกครั้ง ในวันที่ 22 กรกฎาคม 2563 หลังการระบาดของโควิด-19 ระลอกแรกผ่อนคลายลง
อย่างไรก็ตาม นักเรียน นักศึกษา เมียนมา กลับมาเข้าห้องเรียนได้เพียงเดือนเศษเท่านั้น กลางเดือนสิงหาคมก็เกิดการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ รัฐบาลจำเป็นต้องสั่งหยุดการเรียนการสอนทุกระดับชั้นอีกครั้ง ตั้งแต่วันที่ 27 สิงหาคม 2563
การระบาดระลอกใหม่กินเวลายาวนานกว่าระลอกแรก เพราะจนถึงเดือนมกราคม 2564 ทุกโรงเรียน ทุกมหาวิทยาลัย ในเมียนมา ยังไม่สามารถกลับมาเปิดการเรียนการสอนได้ เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ยังไม่มีแนวโน้มคลี่คลาย ยอดผู้ป่วยสะสมพุ่งถึง 1.4 แสนคน เสียชีวิตไปแล้วกว่า 3 พันคน ผู้ป่วยใหม่ที่พบในแต่ละวันยังอยู่ในหลักพันคน
ดังนั้น หากกล่าวเฉพาะประเด็นเรื่องการศึกษา ผลจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้เด็กและเยาวชนในเมียนมา ได้สูญเสียโอกาส หรือเสียเวลาไปแล้วถึง 1 ปีเต็มๆ!!!
เมื่อกองทัพพม่าเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลของอองซาน ซูจีน ในตอนเช้าวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 สมาชิกพรรค NLD ได้ปลุกระดมมวลชนทั่วประเทศ ให้ลุกขึ้นต่อต้านการรัฐประหาร รูปแบบการต่อสู้อย่างหนึ่งที่ฝ่ายต่อต้านนำมาใช้ คือเรียกร้องให้กลุ่มวิชาชีพต่างๆ หยุดงานประท้วงตามแนวทางอารยะขัดขืน(Civil Disobedient Movement : CDM)
แพทย์ พยาบาล และบุคลากรการแพทย์ เป็นกลุ่มวิชาชีพแรกที่เริ่มหยุดรักษาคนไข้ ตั้งแต่เช้าวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2564 จากนั้น ครู อาจารย์ และบุคคลากรการศึกษาของหลายโรงเรียน ในหลายเมือง หลายรัฐ เป็นอีก 1 กลุ่มวิชาชีพ ที่พร้อมใจกันแต่งเครื่องแบบ ซิ่นเขียว เสื้อขาว แต่ละคนผละจากงานประจำ ออกมารวมตัวเดินขบวนประท้วงบนท้องถนน
…
ไม่ว่าเป็นรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง หรือรัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร หากต้องการปกครองประเทศให้เจริญก้าวหน้า จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการศึกษา เพราะเป็นรากฐานสำหรับพัฒนาคนทุกคนในประเทศ
รัฐบาลเมียนมาซึ่งถูกแต่งตั้งขึ้นโดยคณะรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ก็ไม่แตกต่างกัน กระทรวงศึกษาธิการเมียนมาต้องการให้การศึกษาของประเทศกลับมาเป็นปกติโดยเร็ว เพราะเห็นว่าเด็กๆทั่วประเทศได้เสียโอกาส เสียเวลาไปมากแล้ว จึงวางแผนจะเปิดการเรียนการสอนขึ้นมาอีกครั้ง
มีการกำหนดเวลาไว้ว่า สถาบันระดับอุดมศึกษาจะเปิดการเรียนการสอนในวันที่ 5 พฤษภาคม 2564 ส่วนโรงเรียนตั้งแต่ระดับอนุบาล ประถม และมัธยม เริ่มกลับมาเปิดเรียนในวันที่ 1 มิถุนายน 2564
9 เมษายน 2564 กระทรวงศึกษาธิการจัดประชุมร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขและกีฬา เพื่อวางแนวทางป้องกันโรคโควิด-19 ในสถาบันการศึกษาทุกแห่งทั่วประเทศ ที่กำลังจะกลับมาเปิดการเรียนการสอนใหม่ในอีก 2 เดือนข้างหน้า
วันที่ 11 เมษายน 2564 ดร.ญุ่นเผ่ รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ ออกมาเรียกร้องบรรดาครู อาจารย์ทั้งหลายที่กำลังหยุดงานประท้วง ให้เห็นแก่อนาคตของเด็กและเยาวชน กลับมาเตรียมการสอน เพื่อให้พร้อมรับกับการเปิดภาคการศึกษาใหม่ที่กำลังจะมาถึง
บ่ายวันพฤหัสบดีที่ 22 เมษายน 2564 พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด กองทัพพม่า เป็นประธานการประชุมใหญ่ สภาบริหารแห่งรัฐ ครั้งที่ 5 ในกรุงเนปิดอ เขาได้กล่าวกับที่ประชุมว่า สภาบริหารแห่งรัฐยินดีต้อนรับ แพทย์ พยาบาล บุคลากรสาธารณสุข ครู อาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษาทุกคน ที่เคยหยุดงานประท้วงตามมาตรการ CDM ของฝ่ายต่อต้าน และต้องการกลับมาทำงานของตนเองใหม่อีกครั้ง โดยหากบุคคลเหล่านี้ ไม่ใช่ระดับแกนนำ ทุกคนจะไม่ได้รับการลงโทษแต่อย่างใด
พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย บอกว่า หากแพทย์ พยาบาล ครู อาจารย์ คนใด กลัวถูกลงโทษโดยมาตรการทางสังคมจากกลุ่มต่อต้าน จนไม่กล้ากลับเข้าทำงาน ขอให้โทรศัพท์แจ้งข้อมูลมายังสำนักงานสภาบริหารแห่งรัฐ เจ้าพนักงานของสภาบริหารแห่งรัฐ จะดำเนินการอย่างเด็ดขาด เพื่อเอาผิดกับผู้ที่บีบบังคับผู้อื่นให้ต้องหยุดงานประท้วงโดยไม่เต็มใจ
…
นับแต่กลุ่มต่อต้านการรัฐประหารเริ่มปลุกระดมประชาชนจากทุกสาขาอาชีพ ให้ออกมาร่วมประท้วงโดยการหยุดงาน ตามแนวทางอารยะขัดขืน รัฐบาลเมียนมาได้ใช้มาตรการโต้กลับ ด้วยไม้แข็ง มีการดำเนินคดีกับบุคคลเหล่านี้ ในความผิดตามกฏหมายอาญา มาตรา 505(ก) มีการออกหมายจับบุคคลอาชีพต่างๆ ทั้งแพทย์ พยาบาล บุคลากรการแพทย์ ครู อาจารย์ ศิลปิน นักแสดง นายแบบ นางแบบฯลฯ รวมถึงบุคคลที่มีชื่อเสียงในสังคมเมียนมานับพันคน
กฏหมายอาญา มาตรา 505(ก) ระบุว่าผู้ใดเผยแพร่ข้อความ กระจายข่าวลือ ด้วยเจตจำนงที่ทำให้เจ้าหน้าที่ ตำรวจ ทหาร ต้องฝ่าฝืนคำสั่ง เพิกเฉย ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ต้องได้รับโทษปรับหรือจำคุกเป็นเวลา 3 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ
14 เมษายน 2564 รัฐบาลเมียนมาเริ่มออกหมายจับแพทย์และบุคลากรการแพทย์ ยกเว้นพยาบาล ที่หยุดงานประท้วง ซึ่งเป็นความผิดตามกฏหมายอาญา มาตรา 505(ก) โดยเมื่อถึงวันที่ 7 พฤษภาคม2564 มีการออกหมายจับไปแล้ว 25 ชุด มีแพทย์และบุคลากรการแพทย์ถูกออกหมายจับทั้งสิ้น 399 คน
จากนั้นวันที่ 8 พฤษภาคม จึงเริ่มออกหมายจับพยาบาลในฐานความผิดเดียวกัน และจนถึงวันที่ 25 พฤษภาคม 2564 หมายจับได้ถูกออกไปแล้ว 18 ชุด มีพยาบาลถูกออกหมายจับแล้วทั้งสิ้น 180 คน
28 เมษายน 2564 รัฐบาลเริ่มออกหมายจับครู อาจารย์ บุคคลากรทางการศึกษา รวมถึงนักเรียน นักศึกษา ที่ร่วมหยุดงานหรือสนับสนุนการหยุดงานประท้วง โดยถึงวันที่ 1 พฤษภาคม 2564 มีนักเรียน นักศึกษาถูกออกหมายจับทั้งสิ้น 80 คน ส่วนครู อาจารย์ บุคลากรการศึกษา จนถึงวันที่ 25 พฤษภาคม 2564 มีการออกหมายจับรวม 28 ชุด มีผู้ถูกออกหมายจับแล้วทั้งสิ้น 280 คน
วันที่ 23 พฤษภาคม 2564 สำนักข่าวหลายแห่งทั่วโลกพร้อมใจกันนำเสนอข่าว…รัฐบาลเมียนมา สั่งพักงานครู อาจารย์ ในสถาบันการศึกษาของรัฐบาลทุกแห่ง ถึง 125,900 คน ในนี้เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย 19,500 คน
ตามเนื้อข่าวระบุว่า จำนวนครู อาจารย์ ในสถาบันการศึกษาของร้ฐทุกแห่งทั่วประเทศ ขณะนี้มีอยู่ทั้งสิ้น 430,000 คน
มีการวิเคราะห์ว่า คำสั่งพักงานถือเป็นการส่งสารไปถึงครู อาจารย์ทั่วประเทศ เพื่อกดดันให้พวกเขาเหล่านั้นได้ตระหนักว่า ถึงเวลากลับมาสอนหนังสือได้แล้ว เพราะโรงเรียนกำลังจะเปิดแล้วในวันที่ 1 มิถุนายนนี้ หลังจากที่ทุกคนได้หยุดงานประท้วงการรัฐประหารไปแล้วถึงเกือบ 4 เดือนเต็ม
ทันทีที่มีข่าวว่า รัฐบาลของคณะรัฐประหารจะให้สถาบันการศึกษาทุกแห่ง กลับมาเปิดการเรียนการสอนใหม่อีกครั้ง กระแสต่อต้านก็ถูกจุดประกายขึ้นทั่วประเทศ
เป้าหมายของการประท้วง ถูกประกาศว่า เด็กและเยาวชนของเมียนมา ไม่ต้องการตกเป็นทาสทางปัญญาของเผด็จการทหาร พวกเขาต้องการประชาธิปไตย
โพสต์ของ The Irrawaddyที่เผยแพร่ออกมาเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2564 เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของการต่อต้านที่เริ่มต้นขึ้น ณ โรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่งในย่านซานชอง กรุงย่างกุ้ง
เนื้อข่าวที่บรรยายในโพสต์ระบุว่า ภาพที่เห็นเป็นผลงานที่เหล่านักเรียนในโรงเรียนแห่งนี้ ที่สร้างสรรค์ขึ้นมาเอง เพราะพวกเขาต่อต้านระบอบเผด็จการทหาร ซึ่งกำลังจะเปิดให้มีการเรียนการสอนขึ้นใหม่อีกครั้ง ด้วยการระบายสีแดงลงไปในเครื่องแบบนักเรียน และนำไปแขวนไว้ที่รั้วของโรงเรียน
ช่วงท้ายของโพสต์เขียนเป้าหมายความเคลื่อนไหวครั้งนี้ว่า…พวกเขาจะไม่กลับเข้าเรียน จนกว่าประเทศจะมีการปกครองโดยพลเรือน
จากนั้น หลายพื้นที่เริ่มมีการเกณฑ์เด็กนักเรียนออกมาร่วมเคลื่อนไหวด้วย ภาพเด็กๆเดินเรียงแถวถือป้ายข้อความต่อต้าน บ่งบอกเจตจำนงว่าจะไม่ยอมกลับเข้าห้องเรียน และเรียกร้องประชาธิปไตย ถูกเผยแพร่ออกมาจากหลายแห่ง หลายพื้นที่…
อย่างไรก็ตาม ความเคลื่อนไหวด้วยการเขียนข้อความหรือแสดงสัญลักษณ์ต่อต้านไว้ตามรั้ว ผนัง หรือตามพื้นที่ต่างๆในโรงเรียน มหาวิทยาลัย การเกณฑ์เด็กนักเรียนออกมาร่วมเคลื่อนไหวด้วยตามที่ต่างๆ ถือเป็นรูปแบบการประท้วงที่เบาที่สุด หากเทียบกับความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นตามมาหลังจากนั้น
เมื่อวันศุกร์ที่ 28 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา ฝ่ายสารสนเทศ สภาบริหารแห่งรัฐ ได้เผยแพร่เอกสารแถลงข่าวผ่านทาง The Global New Light of Myanmar ซึ่งเป็นสื่อของรัฐ
เอกสารแถลงข่าว ระบุว่า นับจากที่รัฐบาลของสภาบริหารแห่งรัฐ เตรียมจะเปิดการเรียนการสอนขึ้นมาใหม่ ในช่วงตั้งแต่วันที่ 1-26 พฤษภาคม 2564 ได้เกิดการวางเพลิงในโรงเรียนระดับประถมและมัธยมหลายแห่งทั่วประเทศไปแล้วถึง 18 ครั้ง มีการวางระเบิด และการจงใจวางระเบิด ในโรงเรียนอีกหลายแห่งถึง 115 ครั้ง ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับโรงเรียนเหล่านี้ มากน้อยแตกต่างกัน แล้วแต่ความรุนแรงของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
การวางเพลิง วางระเบิดที่ระบุในเอกสารแถลงข่าว แยกต่างหากจากเหตุวินาศกรรมที่เกิดขึ้นตามสถานที่ต่างๆในเมืองใหญ่น้อยทั่วเมียนมา ซึ่งภายหลังเกิดขึ้นแทบจะเป็นรายวัน
ภาพความเสียหายที่เกิดขึ้นกับโรงเรียนหลายแห่งที่นำมาประกอบ คงพอทำให้เห็นถึงความรุนแรงของสถานการณ์ ที่กำลังเกิดขึ้นกับการศึกษาของเมียนมาในขณะนี้ได้พอสมควร
เมื่อวันจันทร์ที่ 24 พฤษภาคม 2564 กระทรวงศึกษาธิการ เมียนมา เปิดให้ผู้ปกครองนำบุตรหลานมารายงานตัวกับโรงเรียนต้นสังกัด ก่อนเริ่มเปิดการเรียนการสอนสำหรับปีการศึกษาใหม่ ในวันอังคารที่ 1 มิถุนายน 2564
แน่นอน…มีผู้ปกครองหลายคน ไม่ยอมนำบุตรหลานไปรายงานตัว จะด้วยเหตุผลเพราะต้องการต่อต้านการปกครองของทหารด้วยจิตใจบริสุทธิ์ หรือด้วยเหตุผลอื่นนั้น ไม่อาจทราบได้
แต่ข้อเท็จจริงคือว่า…เด็กและเยาวชนของเมียนมา ได้สูญเสียโอกาสและเวลาสำหรับการเรียนรู้ไปแล้วถึง 1 ปี
อนาคตต่อไปของเด็กและเยาวชนเหล่านี้จะเป็นอย่างไร หากยังคงต้องไปเดินอยู่บนท้องถนน แทนที่จะเข้าห้องเรียน หลังวันที่ 1 มิถุนายนนี้…