ThaiPublica > สู่อาเซียน > กระทรวงการเงินลาว “ยืนยัน” มีรายได้ “เพียงพอ” ชำระหนี้ต่างประเทศ

กระทรวงการเงินลาว “ยืนยัน” มีรายได้ “เพียงพอ” ชำระหนี้ต่างประเทศ

4 สิงหาคม 2023


ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน

ช่วงบ่ายของวันจันทร์ที่ 24 กรกฎาคม 2566 เว็บไซต์กระทรวงการเงิน สปป.ลาว ได้เผยแพร่บทความเรื่อง “เศรษฐกิจลาวจะฟื้นตัว ส่งสัญญานให้นักลงทุน” เนื้อหาในบทความเป็นการฉายภาพโดยรวมของสถานะ หนี้สิน และรายได้ของลาว เพื่อคลายข้อกังขาของหลายภาคส่วน ที่มองว่าลาวกำลังเผชิญกับภาระหนี้ต่างประเทศ จนอาจส่งผลถึงเสถียรภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจ

จากนั้น สื่อในประเทศของลาว ทั้งที่เป็นสื่อทางการของรัฐ และสำนักข่าวออนไลน์ ต่างนำบทความชิ้นนี้กระจายต่อออกไปอย่างกว้างขวาง

แม้ว่าบางคนอาจมองว่า บทความนี้ถูกเผยแพร่ออกมาเพื่อการประชาสัมพันธ์หรือสร้างภาพลักษณ์ให้กับ สปป.ลาว เพราะเนื้อหาที่นำเสนอไม่ได้ลึกมาก แต่จากข้อมูลเท่าที่ปรากฏ มีหลายส่วนที่เป็นประโยชน์ จนสมควรนำมาถ่ายทอดต่อ

เนื้อหาถัดจากนี้ จึงเป็นการถอดความโดยละเอียดของบทความเรื่อง “เศรษฐกิจลาวจะฟื้นตัว ส่งสัญญานให้นักลงทุน” เพื่อให้ทุกคนได้พิจารณาและตีความระหว่างบรรทัด

สัมปทานเหมืองแร่ เป็นแหล่งรายได้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศที่สำคัญแหล่งหนึ่งของลาว ในภาพเป็นอุโมงค์ที่เจาะลึกลงไปใต้ดินเพื่อขุดค้นแร่โพแตช ของบริษัทลาวคายยวน จากจีน ที่แขวงคำม่วน ที่มาภาพ : เพจศูนย์ข่าวพลังงานและบ่อแร่

……

หลายคนน่าจะรู้ว่า ตอนนี้ สปป.ลาว กำลังทำอะไรอยู่ และมีการพัฒนาไปในทิศทางใด?

มีสื่อที่ไม่ใช่สื่อทางการหลายแห่ง ได้รายงานข่าวไปในหลายทิศทางว่าลาวมีการขาดดุลการค้ามาโดยตลอด แต่แท้จริงแล้ว นับจากไตรมาส 3 ของปี 2563 ลาวได้เปลี่ยนสถานะจากประเทศที่ขาดดุลบัญชีการค้า (Trade Deficit) มาเป็นประเทศที่เกินดุลบัญชีการค้า (Trade Surplus) แล้ว พูดง่ายๆ ว่า ลาวมีมูลค่าการส่งออกสินค้ามากกว่ามูลค่าการนำเข้านั่นเอง ถ้าหากสังเกตมูลค่าการส่งออกสินค้าของลาวที่ผ่านมา

  • ปี 2564 มีมูลค่าการส่งออกสินค้า 7,695 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • ปี 2565 มีมูลค่าการส่งออกสินค้า 8,198 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • จะเห็นได้ว่า มูลค่าการส่งออกของลาวมีการเติบโตขึ้นจากปีที่ผ่านมา ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้การส่งออกเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่ก็มาจากการส่งออกไฟฟ้า แร่ธาตุ ผลิตภัณฑ์จากไม้ เยื่อไม้และเยื่อกระดาษ สินค้าการเกษตร ไปยังประเทศปลายทาง เช่น ประเทศไทย, จีน, เวียดนาม, ออสเตรเลีย และสิงคโปร์

    นอกจากนี้ สปป.ลาว ยังมีโครงสร้างพื้นฐาน และโครงการขนาดใหญ่ที่กำลังจะสร้างสำเร็จ เช่น โครงการไฟฟ้าพลังน้ำ โครงการรถไฟฟ้าลาว-จีน โครงการก่อสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษใหม่ ศูนย์โลจิสติกส์เวียงจันทน์ (Vientiane Logistics Park) โดยเฉพาะ 2 โครงการหลัง นอกจากจะเอื้อประโยชน์อย่างมากมายต่อการส่งออกของ สปป.ลาว แล้ว ยังช่วยลดต้นทุนและประหยัดเวลาในการขนส่งสินค้า และเพิ่มความสะดวกสบายมากขึ้น

    เขื่อนน้ำอู 1 ในแขวงหลวงพระบาง โครงการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำที่เป็นการลงทุนของบริษัท Power China Resources ที่มาภาพ : เพจข่าวสารหลวงพระบาง

    สิ่งที่เป็นจุดเด่นของ สปป.ลาว ก็คือ การได้เปรียบในตำแหน่งที่ตั้งและภูมิประเทศ ซึ่งส่งผลดีต่อเศรษฐกิจลาวในหลายๆ ด้าน ประการแรกคือ การเป็นผู้พัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำรายใหญ่ของอาเซียน จนได้รับฉายานามว่า “แบตเตอรี่ของอาเซียน” สังเกตได้จากสินค้าส่งออกสำคัญในอันดับ 1 ของ สปป.ลาว ก็คือไฟฟ้า ซึ่งข้อได้เปรียบด้านภูมิประเทศของลาว ที่มีพื้นที่รองรับน้ำได้มากถึง 202,000 ตารางกิโลเมตร คิดเป็น 85% ของพื้นที่ทั้งหมด ทำให้ สปป.ลาว สามารถนำพลังงานน้ำมาผลิตเป็นไฟฟ้าคิดเป็น 80% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด โดยตามเป้าหมายของ สปป.ลาว ภายในปี 2573 ลาวจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้า 20,000 เมกะวัตต์ หรือเพิ่มขึ้นถึง 80% จากปัจจุบัน ที่มีกำลังการผลิต 11,000 เมกะวัตต์

    ยิ่งไปกว่านั้น ทาง สปป.ลาว ยังมีแผนจะปรับปรุงประสิทธิภาพ และขยายสายส่งไฟฟ้า ทั้งในประเทศและไปประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้มีความเสถียรในการจ่ายไฟฟ้าให้ดีขึ้น และครอบคลุมไปทั่วพื้นที่ ซึ่งนอกจากจะช่วยให้รองรับการใช้ไฟฟ้าภายในประเทศได้อย่างสมบูรณ์แล้ว ยังสามารถเพิ่มโอกาสในการส่งออกไปสู่ประเทศต่างๆ ในอาเซียน กลายเป็นเม็ดเงินรายได้เข้าประเทศลาวอีกด้วย

    รถไฟลาว-จีน เป็นข้อได้เปรียบทางตำแหน่งที่ตั้งของลาว ที่ถูกใช้เป็นประตูเชื่อมต่อระหว่างจีนกับอาเซียน ที่มาภาพ : บริษัทรถไฟลาว-จีน

    ข้อต่อมาคือ การเป็นประตูเชื่อมต่อระหว่างจีนและอาเซียน ลาวมุ่งหน้าสู่การเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ และจุดเชื่อมโยงที่สำคัญของอาเซียน ผ่านการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมอย่างเต็มรูปแบบ เช่น โครงการรถไฟฟ้าลาว-จีน, ทางด่วนเวียงจันทน์-บ่อเต็น และโครงการท่าบกท่านาแล้ง ศูนย์โลจิสติกส์เวียงจันทน์ที่เปิดดำเนินการไปแล้ว ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ประกอบการสามารถลดต้นทุนและระยะเวลาในการขนส่ง ช่วยเพิ่มโอกาสให้สินค้าส่งออกของอาเซียน มีการขนส่งผ่านทางประเทศลาวได้มากขึ้น รวมไปถึงการช่วยดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ให้มาตั้งฐานการผลิตใน สปป.ลาว

    เวียงจันทน์ โลจิสติกส์ พาร์ค ท่าบกและศูนย์ขนถ่ายสินค้าขนาดใหญ่ในนครหลวงเวียงจันทน์ จุดเชื่อมโยงเส้นทางรถไฟลาว-ไทย เส้นทางรถไฟลาว-จีน และเส้นทางรถไฟลาว-เวียดนาม ที่มาภาพ เพจ Vientiane Logistics Park

    ถึงตรงนี้ เราคงเห็นศักยภาพการเติบโตของ สปป.ลาว กันไปแล้ว คำถามต่อมาคือ แล้วลาวมีความเสี่ยงอย่างไรกันแน่

    ในปีที่ผ่านมา อย่างที่เรารู้กันว่า ลาวพบกับวิกฤติเงินกีบอ่อนค่า ทำให้ สปป.ลาว ต้องนำเข้าน้ำมันมาเพื่อใช้ภายในประเทศในราคาที่แพงขึ้น ส่งผลให้ สปป.ลาว ยังต้องเผชิญหน้ากับอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ซึ่ง สปป.ลาว เองนั้น ก็มีมาตรการต่างๆ ออกมาแก้ปัญหา ไม่ว่าจะเป็น

      – ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
      – ปรับขึ้นอัตราส่วนสำรองเงินกีบกับเงินตราต่างประเทศ
      – ออกพันธบัตรระยะสั้นของธนาคารแห่ง สปป.ลาว ในสกุลเงินกีบ เพื่อดึงเงินกีบเข้าระบบ
      – ปิดร้านแลกเปลี่ยนเงินทั่วประเทศ กำหนดให้แลกเปลี่ยนเงินได้กับธนาคารเท่านั้น ซึ่งทำให้ค่าเงินไม่ผันผวน และทำให้จัดการบริหารได้ง่ายขึ้น
    สรุปประเด็นหัวข้อต่างๆในบทความเรื่อง “เศรษฐกิจลาวจะฟื้นตัว ส่งสัญญานให้นักลงทุน” ในเว็บไซต์กระทรวงการเงิน

    โดยมาตรการต่างๆที่ออกมา เริ่มส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อ ค่อยๆ ลดลงในปีนี้ และในไตรมาส 4 ของปี 2567 ถึงต้นปี 2568 คาดว่าค่าเงินกีบ จะมีสัญญานปรับตัวในทางที่ดีขึ้น

    พร้อมกันนั้น ทางด้านจำนวนหนี้สินต่างประเทศของ สปป.ลาว เป็นดังนี้

  • ปี 2562 หนี้สินต่างประเทศเท่ากับ 10,684 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • ปี 2564 หนี้สินต่างประเทศเท่ากับ 10,426 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • ปี 2565 หนี้สินต่างประเทศเท่ากับ 10,495 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • เห็นได้ว่า ตัวเลขหนี้ต่างประเทศนั้น ไม่มีการเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด หมายความว่า สปป.ลาว ไม่ได้ก่อหนี้ต่างประเทศเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ยังอาจมีแนวโน้มลดลงต่อจากนี้อีกด้วย โดย สปป.ลาว จะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากโครงการขนาดใหญ่ เช่น โครงการโรงไฟฟ้า และโครงการสร้างฐานการคมนาคม ซึ่งหลายๆ โครงการได้เริ่มเข้าสู่ช่วงเก็บเกี่ยวรายได้แล้ว และหลังจากนี้ สปป.ลาว ยังไม่มีความจำเป็นต้องใช้เงินลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ เนื่องจากลงทุนสำเร็จไปแล้วก่อนหน้านี้

    รวมไปถึง สปป.ลาว ได้มีการบริหารจัดการ ควบคุมการขาดดุลงบประมาณเป็นอย่างดี ส่งผลให้ตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นมา มีการขาดดุลงบประมาณที่ลดลง

    ในปัจจุบัน โครงสร้างหนี้สินต่างประเทศของ สปป.ลาว มีสัดส่วนของเงินกู้แบบมีเงื่อนไขทั่วไปอย่างธุรกิจ (Market Term Depts) 40% และอีก 60% เป็นเงินกู้ที่มีเงื่อนไขผ่อนปรน (Concessional Loans) จะเห็นว่า Concessional Loans มีสัดส่วนที่สูงมากกว่าครึ่ง ซึ่งข้อดีของหนี้ประเภทนี้ก็คือ มีต้นทุนทางการเงินที่ต่ำ และมีความยั่งยืนมากกว่า โดยตั้งแต่ปี 2566-2573 หนี้สินต่างประเทศของ สปป.ลาว ที่ครบกำหนดชำระคืนในแต่ละปี อยู่ที่ 1,200-1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในนี้ เป็นเงินต้น 900-1,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่ง สปป.ลาว เอง ก็มีการเตรียมหาแหล่งรายได้ และเงินทุนที่เป็นเงินตราต่างประเทศ เพื่อมารองรับหนี้สินต่างประเทศไว้แล้ว ผ่าน 5 แหล่งหลักๆ คือ

    1. ภาษี ค่าสิทธิ์ และค่าสัมปทาน ที่ได้รับเป็นเงินตราสกุลต่างประเทศ จากโครงการไฟฟ้า โครงการเหมืองแร่ ค่าบินผ่านน่านฟ้า และค่าลงจอดของเครื่องบิน

    2. เงินที่ได้รับจากการชำระหนี้คืน จากเงินที่ให้รัฐวิสาหกิจกู้ยืม

    3. การออกพันธบัตรในประเทศ

    4. Refinance เงินกู้ยืม

    5. แหล่งเงินอื่นๆ เช่น ค่าธรรมเนียมสัมปทานจากโครงการต่างๆ, เงินที่ได้รับจากการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ

    สรุปง่ายๆ ว่า สปป.ลาว ออกมาตรการมาแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อ และก็มีการบริหารจัดการหนี้ รวมไปถึงการตระเตรียมแหล่งรายได้และเงินทุน มารองรับหนี้สินต่างประเทศอย่างเพียงพอต่อการชำระหนี้รายปี ด้วยศักยภาพการเติบโตของ สปป.ลาว และแนวโน้มทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งทำให้บรรดานักลงทุนจากหลายประเทศจับตามองมากขึ้น เพื่อมุ่งหน้าพัฒนาและเปลี่ยนแปลงประเทศ ยกระดับเศรษฐกิจให้ไปได้ไกลกว่าเก่า

    อัตราเงินเฟ้อในแต่ละเดือนของลาวในปี 2565 ที่มาภาพ : ธนาคารแห่ง สปป.ลาว
    อัตราเงินเฟ้อ 6 เดือนแรกของลาวในปี 2566 ที่มาภาพ : ธนาคารแห่ง สปป.ลาว
    ……

    ในองค์ประกอบของบทความ ยังมีข้อมูลที่กระทรวงการเงินได้สรุปและทำออกมาเป็นกราฟิก เพื่อให้คนที่ได้อ่านสามารถทำความเข้าใจได้อย่างรวดเร็ว เนื้อหาที่ถูกนำเสนอในรูปของกราฟิก (โปรดดูภาพประกอบ) มีดังนี้…

    แหล่งรายรับและเงินทุนของ สปป.ลาว ที่พร้อมชำระหนี้ต่างประเทศ

    จำนวนหนี้สินต่างประเทศของ สปป.ลาว ในระยะปี 2563-2565 ที่ผ่านมา จำนวนหนี้สินไม่มีการเพิ่มขึ้น เพราะมีการขาดดุลงบประมาณลดลง และโครงการต่างๆ เริ่มทำสำเร็จ จึงมีรายรับและผลประโยชน์ต่างๆ เพิ่มขึ้น

    หนี้ต่างประเทศของ สปป.ลาว แบบมีเงื่อนไขผ่อนปรน มีสัดส่วนมากกว่า 60% เป็นเงินกู้ที่มีเงื่อนไขผ่อนปรน (Concessional Loans) 40% เป็นเงินกู้ที่มีเงื่อนไขธุรกิจ (Market Term Depts) โดย Concessional Loans มีต้นทุนทางการเงินต่ำ และมีเงื่อนไขผ่อนผันกว่าเงินกู้ธุรกิจ เช่น เงินกู้จากสถาบันการเงินสากลต่างๆ ลาวให้ความสำคัญกับ Market Term Depts รวมทั้ง Bond โดยมีการวางแผนจัดหารายรับ และแหล่งเงินทุนเพื่อให้ชำระหนี้ได้อย่างเพียงพอ และตามกำหนดเวลา

    แหล่งรายรับและเงินทุนเพื่อชำระหนี้

    1. รัฐบาลได้มีการตระเตรียมแหล่งทุนเพื่อรองรับสำหรับการชำระคืนหนี้สินต่างประเทศอย่างเพียงพอ ให้มากขึ้น โดยเฉพาะแหล่งทุนที่ไม่ใช่เงินกู้ยืมใหม่ เพื่อลดยอดหนี้สินต่างประเทศลงทีละก้าว เช่น รายรับจากงบประมาณ, เงินที่ได้รับการชำระคืนจากรัฐวิสาหกิจ, การระดมจากทรัพย์สินต่างๆ

    ภาษีอากร และสัมปทาน ที่ได้รับเป็นเงินสกุลต่างประเทศ เช่น

      – โครงการพลังงานไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น
      – โครงการเหมืองแร่ที่เพิ่มขึ้น
      – ค่าบินผ่านน่านฟ้าของเครื่องบินที่เพิ่มขึ้น

    2. การเก็บคืนเงินปล่อยกู้ต่อจากบรรดารัฐวิสาหกิจ

    3. Refinance เงินกู้ยืมและพันธบัตร ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติสำหรับประเทศกำลังพัฒนา ที่มีการลงทุนสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐาน และเพื่อระดมเงินจากแหล่งทุนต่างประเทศมาบริหารหนี้สิน ทำให้ลดผ่อนการกู้ยืมจากภายใน มาเป็นเงินตราต่างประเทศ และจะเป็นการดึงสภาพคล่องของเงินตราภายในประเทศให้เพิ่มขึ้น

    4. แหล่งเงินอื่นๆ เช่น

      – ค่าธรรมเนียมจากโครงการต่างๆ
      – เงินจากการระดมทุนจากทรัพย์สินต่างๆ

    ปัจจุบัน ลาวเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายรับที่เป็นเงินสกุลต่างประเทศ และเน้นแหล่งเงินทุนที่ไม่ใช่การกู้ยืมมากขึ้น

    “แหล่งรายได้ที่เพิ่มขึ้น และเงินสกุลต่างๆ รวมกับมาตรการจัดหาแหล่งรายรับ จะทำให้ สปป.ลาว ชำระหนี้รายปีได้เพียงพอ”

    แต่ละปี กระทรวงการเงินได้ใช้รายรับที่เป็นเงินตราต่างประเทศ และการระดมจากแหล่งต่างๆ จึงมีเงินตราเพียงพอมาชำระหนี้สินต่างประเทศ หลีกเลี่ยงความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน และไม่ให้มีผลกระทบจากการตึงตัวของค่าเงินกีบ

    รู้หรือไม่ กระทรวงการเงินเคยเสนอขายหุ้นกู้ในตลาดหุ้นไทย ตั้งแต่ปี 2556 โดยได้ชำระเงินต้นและดอกเบี้ยตามเงื่อนไขครบถ้วนมาตลอด…