ThaiPublica > เกาะกระแส > การแข่งขันอุตสาหกรรมรถยนต์ EV ในอาเซียนเมื่อ Tesla ตั้งสำนักงานภูมิภาคในมาเลเซีย

การแข่งขันอุตสาหกรรมรถยนต์ EV ในอาเซียนเมื่อ Tesla ตั้งสำนักงานภูมิภาคในมาเลเซีย

8 สิงหาคม 2023


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

Tesla ตัดสินใจเมื่อเดือนที่แล้วที่จะตั้งสำนักงานภูมิภาคขึ้นที่ Cyberjaya เมืองที่ถูกเรียกซิลิคอนแวลเลย์ของมาเลเซีย ที่มาภาพ : https://asia.nikkei.com/Business/Automobiles/Tesla-becomes-latest-EV-company-to-see-promise-in-Malaysia

เว็บไซต์ asia.nikkei.com รายงานข่าวเรื่องที่ Tesla ตัดสินใจเมื่อเดือนที่แล้วที่จะตั้งสำนักงานภูมิภาคขึ้นที่ Cyberjaya เมืองที่ถูกเรียกซิลิคอนแวลเลย์ของมาเลเซีย จากการทำข้อตกลงกับรัฐบาลมาเลเซีย Tesla สามารถนำเข้ารถ EV ผลิตจากโรงงานในเซี่ยงไฮ้ และสามารถขายโดยตรงให้กับลูกค้าในมาเลเซีย โดยไม่มีภาษีนำเข้า ตามปกติ ธุรกิจนำเข้ารถยนต์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พ่อค้าคนกลางจะได้กำไรมาก จากส่วนต่างระหว่างราคารถยนต์นำเข้า กับราคาขายทำให้ผู้ซื้อเสียเปรียบมาก

สู่ศูนย์กลางรถยนต์ EV ของภูมิภาค

ข้อตกลงระหว่าง Tesla กับรัฐบาลมาเลเซีย เป็นตัวอย่างความสำเร็จที่เป็นรายแรกภายใต้โครงการริเริ่มของรัฐบาลมาเลเซีย ที่เรียกว่า Malasia’s Battery Electric Vehicle Global Leadership Initiative ที่ประกาศออกมาในเดือนมีนาคม 2023 โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งในความพยายามจะผลักดันให้มาเลเซียเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคด้านอุตสาหกรรมรถยนต์ EV

Isabel Fan ผู้อำนวยการภูมิภาคของ Tesla กล่าวกับสื่อมวลชนว่า แผนงานของ Tesla คือการตอบสนองต่อ “นโยบายที่มองไปข้ามหน้า” ของรัฐบาลนายอันวาร์ อิบราฮิม ซึ่งเมื่อต้นเดือนกรกฎาคม นายกรัฐมนตรีมาเลเซียได้โทรศัพท์หารือกับอิลอน มัสค์ ผู้ก่อตั้ง Tesla รัฐบาลมาเลเซียให้หลักประกันกับ Tesla ว่า Tesla ไม่ถูกกำหนดให้ต้องทำธุรกิจ หรือแบ่งปันผลประโยชน์กับหุ้นส่วนที่เป็นคนท้องถิ่นเนื่องจากไม่มีการเก็บภาษีนำเข้า ทำให้ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา Tesla สามารถเริ่มทำธุรกิจขายรถ Tesla ในมาเลเซีย ได้ในราคาที่ต่ำกว่า 50,000 ดอลลาร์ หรือ 1 ใน 4 ของราคา Tesla ที่ขายในสิงคโปร์และอินโดนีเซีย

ผลกระทบต่ออินโดนีเซีย

การตั้งสำนักงานภูมิภาคของ Tesla ในมาเลเซีย อาจสร้างความผิดหวังต่ออินโดนีเซีย ประธานาธิบดีโจโค วิโดโดของอินโดนีเซีย ได้พยายามอย่างมาก ที่จะดึง Tesla เข้ามาลงทุนในอินโดนีเซีย รัฐบาลวิโดโดกล่าวอย่างเชื่อมั่นที่จะทำให้อินโดนีเซีย เป็นศูนย์กลางห่วงโซ่อุปทานรถยนต์ EV ในเอเชีย โดยการดึงจีนเข้ามาลงทุนในเหมืองแร่นิคเกิล และโรงงานไฟฟ้าถ่านหิน อินโดนีเซียห้ามการส่งออกแร่ดิบนิคเกิล เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมแบตเตอรี่รถ EVทำจากแร่นิคเกิล แต่ความพยายามสำคัญของอินโดนีเซีย ที่ยังไม่ประสบความสำเร็จ
ที่จะดึงผู้ผลิตรถยนต์รายต่างๆ เข้ามาตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ EV แต่ Tesla คือเป้าหมายสำคัญของอินโดนีเซีย เดือนพฤษภาคม 2022 วิโดโดเดินทางไปสหรัฐฯ และพบปะเจรจากับอีลอน มัสค์ เจ้าหน้าที่อินโดนีเซียกล่าวว่า Tesla กำลังพิจารณาการลงทุนหลายพันล้านดอลลาร์ ในเรื่องการผลิตแบตเตอรี่ แต่ Tesla ไม่เคยยืนยันเป็นทางการเรื่องการลงทุนในอินโดนีเซีย ปัจจุบัน อินโดนีเซียเก็บภาษี 50% กับรถยนต์ EV สำเร็จรูป ที่นำเข้ามา

ที่มาภาพ : https://www.tesla.com/en_my/model3

อุตสาหกรรมรถ EV ของอาเซียน

รายงานของ ISEAS-Yusof Ishak Institute ของสิงคโปร์เรื่อง Mapping the Surge in EV Production in Southeast Asia ให้ภาพรวมของอุตสาหกรรม EV ในอาเซียนไว้ว่าการขนส่งถือเป็นแหล่งที่มาสำคัญที่สุดของการเกิดก๊าซเรือนกระจกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากภาคการขนส่งนั้น 89% มาจากการขนส่งทางบก เนื่องจากไม่มีระบบการขนส่งสาธารณะที่กว้างขวาง ทำให้ความต้องการใช้รถยนต์เติบโตรวดเร็ว ซึ่งก็เป็นสาเหตุทำให้มลพิษทางอากาศเพิ่มมากขึ้น

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังเป็นฐานการผลิตรถยนต์ที่สำคัญเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ใหญ่อันดับ 7 ของโลก ในปี 2021 ภูมิภาคนี้ผลิตรถยนต์ได้ทั้งหมด 3.5 ล้านคัน ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตรายใหญ่สุด 1.6 ล้านคัน อินโดนีเซีย 1.1 ล้านคัน มาเลเซีย 480,000 คัน และเวียดนาม 160,000 คัน ภูมิภาคนี้ยังมีศักยภาพด้านความต้องการรถยนต์มากขึ้น เพราะอัตราส่วนรถยนต์ (รวมรถมอเตอร์ไซด์สองล้อ) ต่อประชากร 1,000 คนยังต่ำ ใน 4 ประเทศที่มีการผลิตรถยนต์รายใหญ่สุด มาเลเซียมีสัดส่วน 993.7 คันต่อ 1,000 คน ไทยที่ 608.7 อินโดนีเซีย 485 ส่วนเวียดนาม 44.6

ความสนใจมากขึ้นของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เรื่องรถยนต์ EV มีหลายสาเหตุส่วนหนึ่งเป็นไปตามกระแสของโลก การพยายามควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการพยายามยึดครองตลาดรถยนต์ EV เพื่อให้เป็นแหล่งใหม่ที่มาของการเติบโตทางเศรษฐกิจ การใช้รถยนต์ EV ที่แพร่หลายจะทำให้ภาคการขนส่งลดการผลิตคาร์บอนไดออกไซด์ รวมทั้งดึงการลงทุนจากต่างประเทศใหม่ๆเข้ามา ภูมิภาคนี้จึงมีศักยภาพที่จะเป็นทั้งตลาดและศูนย์กลางการผลิต EV

นโยบายส่งเสริมรถยนต์ EV

รายงานของ ISEAS Yusof Ishak Institute กล่าวว่า ในปี 2021 การจดทะเบียนรถยนต์ใหม่ที่เป็น EV มีสัดส่วน 0.7% ในประเทศไทย 0.3% ในมาเลเซีย และ 0.1% ในอินโดนีเซีย แสดงให้เห็นถึงโอกาสการเติบโตที่มีสูง รัฐบาลในภูมิภาคนี้ใช้แรงจูงใจหลายอย่าง เพื่อส่งเสริมรถยนต์ EV เช่น การจะสร้างความต้องการซื้อรถ EV ก็ต้องทำให้ EV เป็นรถยนต์ที่ผู้บริโภคสามารถซื้อได้ การลดภาษีนำเข้าจึงเป็นมาตรการที่นิยมใช้เพื่อทำให้ต้นทุนการซื้อรถยนต์ EV ถูกลง แม้จะมีมาตรการภาษีทำให้ราคารถ EV ถูกลง แต่ EV ก็ยังเป็นตลาดสินค้ารถยนต์เฉพาะด้าน (niche market) ไม่ใช่สินค้ารถยนต์ทั่วไปผู้บริโภคยังกังวลเรื่องความแพร่หลายของสถานีชาร์จแบตเตอรี่ อินโดนีเซีย มาเลเซียและไทย มีแผนงานของประเทศ ที่จะสร้างสถานีชาร์จแบตเตอรี่ ในเวียดนามการพัฒนาสถานีชาร์จเป็นเรื่องของภาคเอกชน ที่นำโดย VinFastบริษัทที่เป็นหัวหอการพัฒนารถยนต์ EV ของเวียดนาม มาเลเซียยังมีนโยบายกำหนดให้หน่วยงานรัฐจัดซื้อรถยนต์ EV

ห่วงโซ่อุปทานรถยนต์ EV

ห่วงโซ่อุปทานการผลิตรถยนต์ EV ประกอบด้วยการทำเหมืองแร่ธรรมชาติสำหรับการผลิตแบตเตอรี่ การผลิตแบตเตอรี่ การแลกเปลี่ยนแบตเตอรี่ การประกอบรถยนต์ EV การรีไซเคิลแบตเตอรี่ และการวิจัยพัฒนารถยนต์ EV แร่ที่ใช้ในการผลิตแบตเตอรี่ได้แก่ ลิเธียม อลูมิเนียม โคลบอลท์ ทองแดง และนิเกิล อินโดนีเซียและเวียดนามีแร่นิเกิล ที่เป็นแร่สำคัญในการผลิตแบตเตอรี่ลิเธียม-ไอออน ใช้ในการประกอบรถยนต์ EV มาเลเซียและไทยมีแหล่งแร่นิเกิลจำนวนไม่มากพออินโดนีเซียมีแหล่งแร่นิเกิลจำนวนมากทำให้สามารถส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตแบตเตอรี่

ทั้ง 4 ประเทศในอาเซียน ล้วนมีแผนงานการผลิตแบตเตอรี่โดยจากหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ หรือโดยภาคเอกชน หรือจากนักลงทุนต่างประเทศ เช่น ในไทย Mercedes Benz ทำการผลิตแบตเตอรี่ สำหรับรถยนต์แบบ plug-in hybrid ใช้ในรถยนต์ที่ขับเคลื่อนโดยเครื่องยนต์ใช้น้ำมันกับไฟฟ้า ในมาเลเซีย Honda ผลิตแบตเตอรี่แบบ hybrid electric vehicle (HEV) ที่มอเตอร์ไฟฟ้าขนาดเล็กช่วยการทำงานของเครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมัน แบบเดียวกับรถยนต์ Prius ของ Toyota เนื่องจากการชาร์จแบตเตอรี่รถยนต์ EV ใช้เวลาจึงมีระบบการแลกเปลี่ยนแบตเตอรี่เปล่ากับแบตเตอรี่ที่ชาร์จเต็มแล้วขึ้นมา (battery swap) ในอินโดนีเซีย มีสถานีบริการเรื่องการแลกแบตเตอรี่ สำหรับรถมอเตอร์ไซด์ มาเลเซียและไทยมีแผนงานในเรื่องนี้เช่นเดียวกัน ส่วนในเวียดนาม VinFast เปิดให้บริการเรื่องเช่าแบตเตอรี่

ที่มาภาพ: https://vinfastauto.us/newsroom/press-release/vinfast-exports-the-first-batch-of-electric-vehicles

สำหรับการผลิตรถยนต์ EV ในอินโดนีเซีย บริษัท Hyundai ได้ลงทุนในเรื่องนี้ ส่วนในเวียดนาม เป็นการประกอบการผลิตโดย VinFast ในมาเลเซีย บริษัท Fieldman Group จะร่วมทุนกับบริษัท Changan Automobile ของจีน ในไทย การผลิต EV เป็นการร่วมทุนระหว่าง Foxconn กับปตท. การรีไซเคิลแบตเตอรี่เป็นห่วงโซ่อุปทาน ที่สำคัญของอุตสาหกรรม EV เพราะช่วยลดมลพิษการทำเหมืองแร่มากขึ้น และลดความต้องการในแร่ธรรมชาติในภูมิภาคนี้ การรีไซเคิลแบตเตอรี่ยังอยู่ในระยะเริ่มแรก รถยนต์ EV เพิ่งจะเกิดขึ้นมา ทำให้ยังไม่มีปัญหาเรื่องการกำจัดแบตเตอรี่ แต่มีรายงานว่า Toyota มีแผนงานที่จะย้ายการดำเนินงานด้านรีไซเคิลแบตเตอรี่ จากยุโรปมาประเทศไทย ที่น่าสนใจ สิงคโปร์ได้เปิดโรงงานรีไซเคิลแบตเตอรี่ที่มีสมรรถนะในการจัดการแบตเตอรี่ลิเธียมได้ถึง 14 ตัน

รายงาน ISEAS Yusof Ishak Institute สรุปว่าประเทศไทยในฐานะห่วงโซ่อุปทานรถยนต์ชั้นนำของโลกแห่งหนึ่งกำลังเผชิญกับการท้าทายเรื่องอุตสาหกรรม EV เนื่องจากประเทศผู้ผลิตรถยนต์ในอาเซียน ต่างก็มุ่งสู่การส่งเสริมอุตสาหกรรมรถยนต์ EV การที่ไทยมุ่งหน้าไปสู่การผลิตรถยนต์ EV จะประสบความสำเร็จหรือไม่ เหมือนกับความสำเร็จของการส่งออกรถยนต์ pick-up

อย่างไรก็ตามจากการพิจารณาเรื่องห่วงโซ่อุปทานที่สำคัญของรถยนต์ EV ไทยยังเป็นประเทศนำหน้าในอุตสาหกรรมการผลิต EV ตามมาด้วยอินโดนีเซียมาเลเซีย และเวียดนาม

เอกสารประกอบ

Tesla’s move into Malasia should be a wake-up call for Indonesia, 01 August 2023,
asia.nikkei.com
Mapping the Surge in EV Production in Southeast Asia, Tham Siew Yean, 14
November 2022, ISEAS Yusof Ishak Institute.