ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup ลาวชวนจีนลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมเอเชีย-โพแทชที่แขวงคำม่วน

ASEAN Roundup ลาวชวนจีนลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมเอเชีย-โพแทชที่แขวงคำม่วน

16 กรกฎาคม 2023


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 9-15 กรกฎาคม 2566

  • ลาวชวนจีนลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมเอเชีย-โพแทชที่แขวงคำม่วน
  • นายกฯลาวให้คำมั่นยกระดับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ
  • จีนยังเป็นนักลงทุนรายใหญ่ในกัมพูชา
  • สิงคโปร์-มาเลเซียหารือตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษยะโฮร์-สิงคโปร์
  • เทสลาเตรียมตั้งสำนักงานใหญ่ในสลังงอร์ มาเลเซีย ปีนี้
  • เวียดนามดันบ่าเหรี่ยะ – หวุงเต่าขึ้นฮับเศรษฐกิจทางทะเลแห่งชาติ
  • สมัชชาแห่งชาติเวียดนามพิจารณา global minimum tax ต.ค.นี้
  • ฟิลิปปินส์เปิดตัว e-Visa สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติภายในสิ้นปี 2566
  • ลาวชวนจีนลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมเอเชีย-โพแทชที่แขวงคำม่วน

    ที่มาภาพ;https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Laossupports135.php
    ลาวสนับสนุนการลงทุนของจีนในนิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะนานาชาติเอเชีย-โพแทช( Asia-Potash International Intelligent Industrial Park) ที่แขวงคำม่วน

    งานส่งเสริมการลงทุนภาคอุตสาหกรรมในต่างประเทศครั้งแรกของ Asia-Potash International Intelligent Industrial Park ในแขวงคำม่วน ซึ่งจัดขึ้นในช่วงวันที่ 3-6 กรกฎาคมที่เมืองกว่างโจว ประเทศจีน ด้วยการสนับสนุนจากกระทรวงอุตสาหกรรมและการพาณิชย์ และทางการแขวงคำม่วนของสปป.ลาวประสบผลสำเร็จอย่างดี โดยมีการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการลงทุน(Investment Cooperation Memorandum )มูลค่า 835 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

    งานส่งเสริมการลงทุนครั้งนี้แตกต่างจากการส่งเสริมการลงทุนการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลลาวก่อนหน้านี้ โดยเป็นงานส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมขนาดใหญ่งานแรกของลาวที่จัดขึ้นในต่างประเทศ และประกอบด้วยสามส่วน ได้แก่ การเจรจาระดับสูงระหว่างรัฐบาลและองค์กร สัมมนาส่งเสริมการลงทุนของธุรกิจ การสัมมนาส่งเสริมการลงทุนและการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการลงทุน

    จุดเด่นของ Asia-Potash International Intelligent Industrial Park ที่จัดตั้งขึ้นโดยรัฐบาล คือ การศูนย์กลางการพัฒนาใหม่ ได้มีการนำเสนอต่อธุรกิจจีนที่มีชื่อเสียง นักลงทุน และสถาบันการเงินกว่า 100 แห่ง เพื่อตอกย้ำว่าลาวเปิดตัวเข้าสู่โลกและมุ่งมั่นในการพัฒนา

    งานส่งเสริมการลงทุนประสบผลสำเร็จ โดยมีการลงนามโดยตรงภายในงานจำนวน 10 โครงการที่มีมูลค่าการลงทุนรวม 835 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 15.1 ล้านล้านกีบ) ซึ่งมีทั้งโครงการห่วงโซ่อุตสาหกรรม เช่น คลอรีน-อัลคาไล การสังเคราะห์โบรมีน(bromine) แบตเตอรี่ zinc-bromine battery ซึ่งเป็นแบตเตอรี่ กักเก็บพลังงานชนิดไหล ตลอดจนโครงการอุตสาหกรรมเกิดใหม่ เช่น วิทยาศาสตร์ชีวภาพและการผลิตอัจฉริยะ หลังจากโครงการทั้งหมดเริ่มดำเนินการ มูลค่าผลผลิตรวมจะเกิน 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 36.2 ล้านล้านกีบ)

    การดึงการลงทุนจากต่างประเทศถือเป็นมาตรการที่เป็นรูปธรรมในการดำเนินการตามคำแนะนำที่สำคัญของพรรค รัฐบาล และสมัชชาแห่งชาติเกี่ยวกับการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ การดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ การเพิ่มเงินตราต่างประเทศ และการทดแทนการนำเข้า

    นอกจากนี้ยังเป็นการดำเนินการเชิงปฏิบัติบนพื้นฐานของฉันทามติในการพัฒนาเศรษฐกิจของลาวและอีกก้าวหนึ่งในกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจของลาว

    นายกั๊ว ไป่ชุน ประธาน Asia-Potash International กล่าวว่า สถานการณ์เศรษฐกิจที่ลาวเผชิญในปัจจุบันอยู่นั้นเป็นภาวะชั่วคราว และการพัฒนาเป็นทางออกที่ได้ผลที่สุด การคงนโยบายการเปิดประเทศที่มั่นคงและสม่ำเสมอ เป็นข้อได้เปรียบที่เป็นเอกลักษณ์ของลาวจะดึงดูดการลงทุนเพิ่มขึ้น และปัญหาทั้งหมดจะได้รับการแก้ไขอย่างง่าย ซึ่ง Asia-Potash International ยินดีให้การสนับสนุนและช่วยเหลือ

    ลาวมีข้อได้เปรียบที่โดดเด่นในด้านทรัพยากร พลังงาน แรงงาน และตลาด และจากการใช้ Asia-Potash International Intelligent Industrial Park เป็นแพลตฟอร์มในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ รัฐบาลลาวจึงได้รับความสนใจอย่างมากจากผู้ประกอบการ นักลงทุน และสถาบันการเงินของจีนจำนวนมาก

    ซึ่งบ่งชี้ว่ารัฐบาลลาวควรคว้าโอกาสที่ดีจากการลงทุนในต่างประเทศของธุรกิจกิจจีน ใช้ข้อได้เปรียบที่เป็นเอกลักษณ์ของลาวอย่างเต็มที่เพื่อเชื่อมโยงกับตลาดโลก และกระตุ้นการพัฒนาเศรษฐกิจของลาวสอดรับกับแนวโน้มจากภายนอก

    ธุรกิจในประเทศจำนวนมากแสดงความสนใจอย่างมากในการลงทุนและร่วมมือกับอุตสาหกรรมที่ไม่ใช่โพแทชภายในนิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะนานาชาติเอเชีย-โพแทช หากการลงทุนเหล่านี้เกิดขึ้นจริง ไม่เพียงแต่จะลดการนำเข้าเท่านั้น แต่ยังได้รับเงินตราต่างประเทศผ่านการส่งออก ซึ่งนำไปสู่ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศที่สูงขึ้นและรายได้ของประชาชน ซึ่งจะไม่เพียงแก้ปัญหาที่ลาวเผชิญอยู่เท่านั้น แต่ยังเป็นการวางรากฐานสำหรับการพัฒนาในอนาคตอีกด้วย

    นายมะไลทอง กมมะสิด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและพาณิชย์ลาวกล่าวว่า รัฐบาลลาวจะยังคงสร้างสภาพแวดล้อมการลงทุนและธุรกิจที่เปิดกว้างและครอบคลุมมากขึ้น ดึงดูดธุรกิจที่มีเงินทุนจากต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในลาวมากขึ้น สนับสนุนให้เติบโตและประสบความสำเร็จในประเทศ และสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจของลาว

    นายมะไลทองกล่าวว่า แม้เศรษฐกิจโลกจะถดถอยอย่างต่อเนื่อง แต่ลาวยังสามารถรักษาอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจไว้ที่ 4.8%

    ภายใต้กรอบความคิดริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางและความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขง ผู้นำจากทั้งสองประเทศมุ่งมั่นที่จะยกระดับกลไกความร่วมมือและสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันในทุกด้าน

    “เราส่งเสริมให้นักลงทุนจีนลงทุนในลาว ในหลายภาคส่วนต่าง ๆ เช่น เหมืองแร่ อุตสาหกรรม เกษตรกรรม การท่องเที่ยว และการขนส่ง เราหวังว่าAsia-Potash International Intelligent Industrial Park จะดึงดูดนักลงทุนจำนวนมากขึ้นให้เข้ามาลงทุนในลาว”

    เจ้าแขวงคำม่วน นายวันไซ พงสะหวัน ได้ชี้แจงรายละเอียดถึงข้อได้เปรียบหลัก 3 ประการของแขวงคำม่วน ได้แก่ พลังงานและแร่ธาตุ เกษตรกรรมและป่าไม้ บริการและการท่องเที่ยว

    Asia-Potash International Intelligent Industrial Park ในลาว ที่มาภาพ:https://kpl.gov.la/En/detail.aspx?id=72199

    โดยกล่าวว่า Asia-Potash International เป็นกิจการที่เติบโตอย่างรวดเร็วด้วยความเร็วและคุณภาพการพัฒนาที่โดดเด่นในแขวงคำม่วนและแม้แต่ประเทศลาว การลงทุนของAsia-Potash International คิดเป็นสัดส่วนการลงทุนจากต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดในแขวง

    Asia-Potash International Intelligent Industrial Park มีศักยภาพในการพัฒนาในวงกว้าง และยินดีต้อนรับผู้ประกอบการและนักลงทุนจากจีนให้เข้ามาลงทุนในแขวง แขวงคำม่วนมุ่งมั่นที่จะอำนวยความสะดวกและสนับสนุนอย่างเต็มที่

    แขวงคำม่วนได้ลงนามในบันทึกความร่วมมือด้านการลงทุนกับธุรกิจที่เข้ามาลงทุนในนิคมฯ โดยมีนายมะไลทอง กมมะสิด เจ้าแขวงวันไซ พงสะหวัน และแขกคนสำคัญอื่นๆ ร่วมเป็นสักขีพยาน

    นายมะไลทอง เชิญชวนผู้ประกอบการและนักลงทุนจากประเทศจีน โดยชี้ว่าลาวและจีนเป็นเพื่อนบ้านที่เป็นมิตรที่มีผืนน้ำเล็กๆกั้นกลางเท่านั้น พร้อมยอมรับว่าจีนเป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ที่สุดในลาว และทั้งสองฝ่ายมีศักยภาพในการพัฒนาอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมสมัยใหม่บนพื้นฐานหลักการของการสร้างสรรค์ การแบ่งปัน และผลประโยชน์ร่วมกัน

    ในแผนพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปของลาวปี 2564-2568 อุตสาหกรรมแต่งแร่และกระบวนการทางเคมี เป็น 1 ใน 8 อุตสาหกรรมที่มีความสำคัญ นอกจากนี้ แขวงคำม่วนยังเป็น 1 ใน 5 ศูนย์กลางการพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศลาว แนวทางเชิงยุทธศาสตร์นี้มีส่วนสนับสนุนอย่างมากต่อการก่อสร้าง Asia-Potash International Intelligent Industrial Park

    รัฐบาลลาวจะให้การสนับสนุนอย่างครบวงจรในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม ด้วยการมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด จึงคาดว่านิคมอุตสาหกรรมจะเป็นต้นแบบที่โดดเด่นสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมเหมืองแร่อย่างครบวงจร ซึ่งมีส่วนช่วยในการสร้างรายได้ทางการคลังของประเทศ การพัฒนาท้องถิ่นและการตอกย้ำชื่อเสียง

    เจ้าแขวงวันไซ พงสะหวัน ยืนยันอย่างหนักแน่นถึงความสำคัญของนิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะนานาชาติแห่งเอเชีย-โพแทช โดยชี้ว่านิคมอุตสาหกรรมเป็นแนวทางใหม่ในการพัฒนาทรัพยากร ซึ่งจะช่วยยกระดับระบบอุตสาหกรรมในประเทศและมีบทบาทชัดเจนในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจของแขวงคำม่วนและลาว

    แขวงคำม่วนจะใช้ประโยชน์จากข้อได้เปรียบหลัก 3 ประการเพื่อจัดตั้ง Asia-Potash International Intelligent Industrial Park เพื่อเป็นจุดหลักสำหรับการพัฒนา อำนวยความสะดวกอย่างไร้รอยต่อ และประสานความร่วมมือกับธุรกิจคุณภาพสูงในจีน

    ลาวเชิญชวนผู้ประกอบการจีนและนักลงทุนเชิงกลยุทธ์ให้ศึกษาและลงทุนในลาว เพื่อขยายและเสริมสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่องสร้างรูปแบบความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างลาวและจีน และพัฒนารูปแบบที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์

    นาย หม่า อิงจวิน ผู้จัดการทั่วไปของ Asia-Potash International กล่าวว่า Asia-Potash International เป็นธุรกิจปุ๋ยโพแทชระดับนานาชาติที่มีทรัพยากรโพแทชจำนวนมากที่สุดในเอเชีย มีขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีความเร็วในการผลิตที่เร็วที่สุดในโลก

    ในฐานะที่เป็นโครงการที่สำคัญภายใต้กรอบความร่วมมือระหว่างรัฐบาลและองค์กรระหว่างจีนและลาว โครงการนิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้ได้ผสมผสานการพัฒนาอุตสาหกรรม การพัฒนาเมือง และการก่อสร้างการเกษตรสมัยใหม่ และส่งเสริมการพัฒนาอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรมบริการอย่างรอบด้าน รวมทั้งช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาอย่างยั่งยืนของธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ และส่งเสริมให้ลาวสร้างรูปแบบอุตสาหกรรมที่ลดการนำเข้าในขณะที่ได้รับเงินตราต่างประเทศผ่านการส่งออก

    นายตง หย่งเหิง รองผู้จัดการทั่วไปของ Asia-Potash International กล่าวว่า Asia-Potash International Intelligent Industrial Park ซึ่งตั้งอยู่ที่แขวงคำม่วน ใช้ประโยชน์จากข้อได้เปรียบด้านทรัพยากร พลังงาน การเข้าถึงตลาด และต้นทุน- ประสิทธิภาพเพื่อเปิดกว้างและเป็นแหล่งรวมองค์กรชั้นนำระดับโลก

    รูปแบบการพัฒนาของการรวมกลุ่มอุตสาหกรรมจะก่อให้เกิดการทำงานร่วมกันที่แข็งแกร่งระหว่างอุตสาหกรรมต่างๆ

    Asia-Potash International Intelligent Industrial Park ประกอบด้วย 3 ส่วนหลักคือ นิคมอุตสาหกรรมปุ๋ยโพแทช นิคมอุตสาหกรรมที่ไม่ใช่โพแทช และเมืองเอเชียโพแทช(Asia-Potash town) ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด 2,000 เฮกตาร์ และคาดว่าจะดึงดูดการลงทุนรวม 4.31 พันล้านเหรียญสหรัฐ ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนของการส่งเสริมการลงทุน

    คาดว่าภายในสิ้นปี 2569 การก่อสร้างโครงการระยะกลางจะแล้วเสร็จ และจะมีพัฒนาอุตสาหกรรมเคมีเกลือที่มีขนาดเท่ากับปุ๋ยโพแทช 5 ล้านตัน โดยคาดว่าการก่อสร้างทุกโครงการจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2571

    นายเฉา ลี่เซียง ประธานบริษัท Hengguang Technology กล่าวว่า โครงการคลอรีน-อัลคาไลซึ่งตั้งใน Asia-Potash International Intelligent Industrial Park เป็นโครงการลงทุนในต่างประเทศโครงการแรกของบริษัท ปัจจุบัน การก่อสร้างโครงการก่อสร้าง membrane chlorine-alkali ระยะที่ 1 ซึ่งมีกำลังการผลิตปีละ 30,000 ตัน มีความคืบหน้าอย่างรวดเร็ว และคาดว่าจะแล้วเสร็จในปลายเดือนกันยายนปีนี้

    นายกฯลาวให้คำมั่นยกระดับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ

    นายสอนไซ สีพันดอน นายกรัฐมนตรีสปป.ลาว ที่มาภาพ:https://www.vientianetimes.org.la/sub-new/Previous_27_y23/freeContent/FreeConten27_govtpledges_y23.php
    นายกรัฐมนตรีสอนไซ สีพันดอน ให้คำมั่นว่าจะแก้ไขกฎหมายเพื่อ ยกระดับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจท่ามกลางการแข่งขันระหว่างประเทศที่รุนแรงจากรัฐบาลต่างๆ เพื่อยกระดับความสะดวกในการทำธุรกิจ

    รัฐบาลจะ แก้ไขกฎหมายส่งเสริมการลงทุนและกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การดำเนินธุรกิจและการลงทุนเป็นไปอย่างราบรื่น นายกรัฐมนตรีชี้แจงต่อฝ่ายนิติบัญญัติในการประชุมสมัยสามัญครั้งที่ 5 ของสมัชชาแห่งชาติ (NA) ที่กำลังดำเนินอยู่

    ในการตอบคำถามจากสมาชิกสมัชชา นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า คณะรัฐมนตรีจะหาแนวทางและให้สิทธิประโยชน์จูงใจมากขึ้นเพื่อดึงดูดการลงทุนของภาคเอกชนและได้มอบหมายให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเร่งจัดประเภทที่ดินเพื่อให้สามารถออกสัมปทานที่ดินได้อย่างรวดเร็วตามโครงการลงทุนเฉพาะเมื่อได้รับอนุมัติ

    “แต่ละแขวงต้องมีข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับประเภทที่ดินเพื่อวัตถุประสงค์ด้านการเกษตร อุตสาหกรรม การพัฒนาบริการ และการสร้างที่อยู่อาศัย” นายกรัฐมนตรี กล่าว

    การให้ความสำคัญกับการจัดประเภทที่ดินมีขึ้น หลังจากรับทราบว่ามีโครงการที่ศึกษาความเป็นไปได้แล้ว แต่ไม่สามารถดำเนินการพัฒนาได้เนื่องจากที่ดินไม่เพียงพอสำหรับโครงการที่เสนอ

    นอกจากการให้สัมปทานที่ดินของรัฐแบบเดิมแล้ว รัฐบาลจะสำรวจรูปแบบความร่วมมือในการให้สัมปทานที่ดินเอกชนสำหรับโครงการลงทุน

    นายกรัฐมนตรียังให้คำมั่นว่าจะปรับปรุงขั้นตอนต่างๆ เพื่อเร่งการลงนามในบันทึกความเข้าใจที่เกี่ยวข้องกับโครงการลงทุน และเพื่อส่งเสริมการลงทุนและดึงดูดนักลงทุนต่างชาติมากขึ้น รัฐบาลจะขยายกิจกรรมโรดโชว์ส่งเสริมการลงทุน

    นอกเหนือจากกิจกรรมส่งเสริมการลงทุนตามปกติที่ดำเนินการโดยสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งชาติลาว และกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องระหว่างการเยือนอย่างเป็นทางการหรือระดับรัฐของผู้นำรัฐไปยังต่างประเทศ รัฐบาลกำลังสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่ระดับแขวงร่วมมือกับนักลงทุนต่างชาติที่ดำเนินกิจการเขตเศรษฐกิจพิเศษหรือนิคมอุตสาหกรรมในลาว ให้จัดเวทีในลักษณะเดียวกันในต่างประเทศ

    นายสอนไซ อ้างถึงงานสัมมนาส่งเสริมการลงทุนล่าสุดที่จัดร่วมกันระหว่างบริษัทจีนที่ลงทุนในลาว ทางการแขวงคำม่วน และกระทรวงอุตสาหกรรมและการพาณิชย์ในมณฑลกวางตุ้งของจีน ว่าเป็นตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จ โดยคาดว่าจะมีการลงนามในสัญญาการลงทุน 10 ฉบับ มูลค่ามากกว่า 800 ล้านเหรียญสหรัฐจากงานนี้

    “ทุกแขวงมีสถานะที่เอื้ออำนวยต่อความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างประเทศ” นายกรัฐมนตรีกล่าว พร้อมเสริมว่าขณะนี้หลายแขวงของลาวกำลังจับคู่กับเมืองในประเทศอื่นๆ

    นอกจากนี้ นายคำเจน วงโพสี รัฐมนตรีกระทรวงการวางแผนและการลงทุนยังรายงานต่อรัฐสภาว่า รัฐบาลจะดำเนินการมากขึ้น เพื่อสนับสนุนการผลิตเชิงพาณิชย์ ยกระดับการขนส่ง อำนวยความสะดวกทางการค้า และเจรจาเพื่อการเข้าถึงตลาดต่างประเทศมากขึ้น และเจ้าหน้าที่ของรัฐจะทำงานร่วมกับภาคเอกชนเพื่อเร่งยกระดับบริการด้านการท่องเที่ยวรวมถึงโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง

    จีนยังเป็นนักลงทุนรายใหญ่ในกัมพูชา

    เจ้าหน้าที่และนักลงทุนเยือนเขตเศรษฐกิจพิเศษสีหนุวิลล์ (SSEZ) จังหวัดพระสีหนุ ที่มาภาพ:https://www.phnompenhpost.com/business/cdc-okays-113-projects-worth-11b-first-half

    สภาเพื่อการพัฒนาแห่งกัมพูชา (CDC) ได้ประกาศอนุมัติโครงการลงทุนและขยายโครงการใหม่ 113 โครงการ ด้วยทุนจดทะเบียนรวมกันประมาณ 1.1 พันล้านดอลลาร์ในช่วงครึ่งแรกของปี โดย 65.38% มาจากนักลงทุนชาวจีน

    โดยมีโครงการเพิ่มขึ้น 15 โครงการ แต่เงินลงทุนลดลงประมาณ 1.9 พันล้านดอลลาร์ หรือเกือบ 2 ใน 3 ของเดือนมกราคมถึงมิถุนายน 2565 จากรายงานฉบับใหม่ของ CDC

    นักลงทุนในประเทศคิดเป็น 19.86% ของทุนจดทะเบียนสำหรับงวดหกเดือน รอลงมาได้แก่ เวียดนาม (6.64%) เซเชลส์ (3.31%) ไทย (1.77%) เกาหลีใต้ (1.70%) ซามัว (0.60%) สหรัฐอเมริกา (0.49%) สิงคโปร์ (0.18%) และสวีเดน (0.07%)

    โครงการเหล่านี้คาดว่าจะสร้างงานใหม่ประมาณ 122,000 ตำแหน่ง รายงานระบุเพิ่มเติมว่า ภาคอุตสาหกรรมมีจำนวนโครงการมากที่สุด 102 โครงการคิดเป็น 90.27% รองลงมาคือภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร 7โครงการ การท่องเที่ยว 3 โครงการ และโครงสร้างพื้นฐาน และอื่นๆ 1 โครงการ

    ยอดรวมของทุนจดทะเบียนในเดือนมกราคมถึงมิถุนายน 2565 มาจากโครงการสำคัญไม่กี่โครงการ เช่น ศูนย์โลจิสติกส์และท่าเรืออเนกประสงค์ระหว่างประเทศมูลค่า 1.300 พันล้านดอลลาร์ของ Kampot Logistics and Port Co Ltd ในเมืองโบกอร์ จังหวัดกัมปอต ซึ่งบางโครงการคาดว่าจะมีมูลค่า 1.5 พันล้านดอลลาร์

    โครงการอื่นๆ ได้แก่ เขื่อนขนาด 150 เมกะวัตต์มูลค่า 389 ล้านดอลลาร์ ของ Cambodia Upper Tatay Hydropower Co Ltd ในเขตถมองบังและเกาะกง ในจังหวัดเกาะกง และโรงงานผลิตยางรถยนต์มูลค่า 297 ล้านดอลลาร์ของ General Intelligence (Cambodia) Co Ltd ในเขตเศรษฐกิจพิเศษสีหนุวิลล์ (SSEZ) ของจังหวัดพระสีหนุ

    รายงานปกติของ CDC ที่ออกในเดือนมกราคมถึงมิถุนายน 2566 ระบุว่า CDC อนุมัติใบรับรองการจดทะเบียนขั้นสุดท้ายสำหรับโครงการลงทุนเอกชนใหม่ 91 โครงการ ทั้งในและนอกเขตเศรษฐกิจพิเศษ (SEZ) มูลค่ารวม 924.24 ล้านดอลลาร์ และจะสร้างงานประมาณ 108,810 ตำแหน่งงาน

    ในการให้สัมภาษณ์กับ The Post เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม Ky Sereyvath นักเศรษฐศาสตร์ของ Royal Academy of Cambodia (RAC) ชี้ว่าปัจจัยสำคัญที่สร้างแรงดึงดูดการลงทุนของกัมพูชา ได้แก่ ข้อตกลงการค้าทวิภาคีและระดับภูมิภาค ตลอดจนการปรับเปลี่ยนล่าสุดในกรอบการลงทุนทางกฎหมาย ซึ่งได้รับการตอบรับในหลายภาคส่วน

    “นอกจากนี้ เรายังพบว่า ประเทศเราได้รับการลงทุนขนาดกลางมากขึ้น จึงจำเป็นต้องมีความคิดริเริ่มจากรัฐบาลเพื่อส่งเสริม SME ส่งเสริมการลงทุนเหล่านี้และเปลี่ยนภาคส่วนนี้ไปสู่การส่งออก”

    จีนยังคงเป็นนักลงทุนอันดับต้น ๆ ของกัมพูชา โดยส่วนใหญ่อยู่ในภาคการแปรรูป ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการมีแรงงานราคาถูก พร้อมระบุว่า นักลงทุนจากจีนแสดงความสนใจอย่างชัดเจนในโรงงานอุตสาหกรรมในเขตเศรษฐกิจพิเศษ

    สิงคโปร์-มาเลเซียหารือตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษยะโฮร์-สิงคโปร์

    ที่มาภาพ: https://www.phnompenhpost.com/business/rice-exports-sprout-31-808m-h1

    สิงคโปร์และมาเลเซียกำลังเจรจากันเพื่อจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษในยะโฮร์และสิงคโปร์ เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตและเสริมสร้างความเชื่อมโยงและความร่วมมือ นายเดสมอนด์ ลี รัฐมนตรีกระทรวงการพัฒนาแห่งชาติ แถลงเมื่อวันศุกร์(14 ก.ค.)

    โดยจะมีการจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจขึ้น ภายใต้รัฐมนตรีร่วม Joint Ministerial Committee for Iskandar Malaysia (JMCIM) เขตเศรษฐกิจพิเศษ Iskandar Malaysia มาเลเซีย – สิงคโปร์ (JMCIM) เพื่อศึกษาเขตเศรษฐกิจพิเศษยะโฮร์-สิงคโปร์

    คณะทำงานฯซึ่งนำโดยกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมของสิงคโปร์และกระทรวงเศรษฐกิจของมาเลเซียจะจัดทำร่างขอบเขตงาน (Term of reference : TOR )และความร่วมมือในวงกว้างสำหรับเขตเศรษฐกิจพิเศษ

    นายเดสมอนด์ ลี และ นายราฟิซี รามลี รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจมาเลเซียกล่าวในการแถลงข่าวร่วมกันที่โรงแรมแชงกรี-ลา ซึ่งเป็นการประกาศนอกรอบการประชุม JMCIM ประจำปีครั้งที่ 16 ของทั้งสองประเทศเพื่อทบทวนความร่วมมือในเขตเศรษฐกิจ Iskandar Malaysia มาเลเซีย – สิงคโปร์ ในยะโฮร์ โดยจะรายงานความคืบหน้าต่อนายกรัฐมนตรีลี เซียนลุง และอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ในการพบปะของผู้นำสิงคโปร์-มาเลเซียที่จะมีขึ้นในเดือนตุลาคม

    เขตเศรษฐกิจพิเศษจะต่อยอดจากการเติบโตอย่างแข็งแกร่งของยะโฮร์และการลงทุนที่สำคัญในภูมิภาคโดยสิงคโปร์ JMCIM ระบุในแถลงการณ์

    รัฐยะโฮร์มีการลงทุนจากต่างประเทศมูลค่า 70.6 พันล้านริงกิต (20.6 พันล้านเหรียญสิงคโปร์) ในปี 2565 ในภาคส่วนต่างๆ รวมถึงไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์(electrical and electronics) อุปกรณ์ทางการแพทย์ การผลิตอาหารและศูนย์ข้อมูล(data centres) โดยสิงคโปร์เป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่อันดับสอง

    JMCIM ระบุว่า สิงคโปร์มีส่วนร่วมประมาณ 70% ของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศทั้งหมดในภาคการผลิตของรัฐยะโฮร์

    นายลีกล่าวว่าเขตเศรษฐกิจพิเศษซึ่งทั้งสองฝ่ายให้การสนับสนุนอย่างจริงจัง จะสร้างจุดแข็งและความน่าดึงดูดใจของทั้งรัฐยะโฮร์และสิงคโปร์ และนำมาซึ่งผลประโยชน์ที่จับต้องได้ในแง่ของงานและการดำรงชีวิตของประชาชนทั้งสองประเทศ

    และเสริมว่าความร่วมมือด้านต่างๆ จะต่อยอดจากการดำเนินการภายใต้ JMCIM เช่น การเชื่อมโยงการขนส่ง นวัตกรรม ระบบนิเวศทางธุรกิจ สิ่งแวดล้อม การท่องเที่ยว และการฝึกอบรมด้านเทคนิคและทักษะ

    นายราฟิซี ผู้ผลักดันการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจระหว่างสิงคโปร์และยะโฮร์มาอย่างยาวนาน กล่าวว่า นักลงทุนและภาคธุรกิจจะ “เข้าใจคุณค่าที่นำเสนอ” ของเขตเศรษฐกิจ และเสริมว่า จะมีการดำเนินการเพื่อให้กระบวนการตรวจคนเข้าเมืองและศุลกากรสอดคล้องกัน เพื่อให้ “การเคลื่อนย้ายผู้คนและสินค้าดีขึ้นอย่างมาก”

    ในเดือนพฤษภาคม นายราฟิซี ระบุว่าพลังงานหมุนเวียนก็เป็นหนึ่งในความร่วมมือในเขตเศรษฐกิจพิเศษ

    ยะโฮร์มีศักยภาพที่จะได้รับประโยชน์รายใหญ่ที่สุดจากการที่มาเลเซียให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนจากเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นพลังงานหมุนเวียน เนื่องจากอยู่ใกล้กับสิงคโปร์ โดยได้รับการสนับสนุนจากการประกาศของมาเลเซียในเดือนนั้นว่า จะยกเลิกการห้ามส่งออกพลังงานหมุนเวียน

    เทสลาเตรียมตั้งสำนักงานใหญ่ในสลังงอร์ มาเลเซีย ปีนี้

    อันวาร์ อิบราฮิมนายกรัฐมนตรีมาเลเซียพบปะกับอีลอน มัสค์ ซีอีโอของ Tesla และ SpaceX เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2023 โดยมีเต็งกู ซาฟรูล อับดุล อาซิส รัฐมนตรีกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมระหว่างประเทศของมาเลเซีย และลอเรน ไดร์เยอร์ ผู้อำนวยการอาวุโสของ SpaceX เข้าร่วม ที่มาภาพ:https://www.channelnewsasia.com/asia/malaysia-tesla-elon-musk-anwar-ibrahim-spacex-starlink-3628781

    นายอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซียเปิดเผยในวันศุกร์ (14 ก.ค.) บริษัทรถยนต์ไฟฟ้าเทสลาจะตั้งสำนักงานใหญ่ในรัฐสลังงอร์ ของมาเลเซียในปีนี้

    นายอันวาร์ประกาศหลังมีการประชุมผ่านระบบออนไลน์กับอีลอน มัสค์ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของเทสลา(Tesla) และ SpaceX เป็นเวลา 25 นาที โดยมีรัฐมนตรีการค้าระหว่างประเทศและอุตสาหกรรมของมาเลเซีย เต็งกู ซาฟรุล เต็งกูอับดุล อาซิส รัฐมนตรีกระทรวงการสื่อสารและดิจิทัลนายฟามี ฟัดซิล และผู้อำนวยการอาวุโสของ SpaceX ลอเรน ไดร์เยอร์เข้าร่วม

    นายอันวาร์กล่าวว่า ยินดีกับการตัดสินใจของผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่จะลงทุนในมาเลเซีย และระบุว่ารัฐบาลสนับสนุนการเปิดสำนักงานใหญ่ของเทสลาในสลังงอร์

    นายกรัฐมนตรีกล่าวเพิ่มเติมว่า มาเลเซียจะยังคงเสริมสร้างความมุ่งมั่นในการบรรลุเป้าหมายการปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ภายในปี 2593

    “มาเลเซียจะยังคงเสริมสร้างความมุ่งมั่นในเรื่องของการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ หรือ ‘การปล่อยก๊าซสุทธิเป็นศูนย์’ ให้เร็วที่สุดในปี 2593

    “มาเลเซียมีแผนและระบบนิเวศที่ครอบคลุม ตลอดจนทรัพยากรที่มีการแข่งขันในการสนับสนุนอุตสาหกรรมพลังงานสะอาด รวมถึงการขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า” นายอันวาร์กล่าวและว่าทั้งสองฝ่ายยังได้หารือถึงการมีส่วนร่วมของ SpaceX ในการให้บริการดาวเทียม Starlink แก่มาเลเซีย ซึ่งสามารถช่วยให้มีการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้เร็วขึ้นและกว้างขึ้นโดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท เนื่องจากใช้โครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพและที่ดินไม่มากเพื่อขยายเครือข่ายอินเทอร์เน็ตทั่วโลก

    Starlink คือบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านดาวเทียม จากบริษัท SpaceX ที่มีเป้าหมายเพื่อให้บริการอินเทอร์เน็ตครอบคลุมทั่วโลก

    “ความคิดริเริ่มนี้จะเพิ่มความสามารถและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน โดยเฉพาะในด้านการศึกษาและศักยภาพของเทคโนโลยีการเกษตรและการสร้างรายได้” นายอันวาร์กล่าว

    เต็งกู ซาฟรูลกล่าวเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคมว่า ความร่วมมือระหว่างมาเลเซียและเทสลาไม่ได้จำกัดเฉพาะภาคส่วนรถยนต์ไฟฟ้า (EV) เท่านั้น แต่ยังรวมถึงภาคส่วนอื่นๆ ด้วย

    Tesla จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในมาเลเซียในวันที่ 20 กรกฎาคม ก่อนหน้านี้เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา เทสลาได้ทวีตข้อความว่า รถยนต์รุ่น Y พร้อมให้สั่งซื้อในมาเลเซียแล้ว ซึ่งเป็นรุ่นแรกในประเทศ โดยการส่งมอบรถยนต์คันแรกน่าจะเป็นช่วงต้นปีหน้าและมีราคาอยู่ที่ 199,000 ริงกิตมาเลเซีย (44,000 เหรียญสหรัฐ)

    ในเดือนมิถุนายน Tesla จัดงานวอล์กอินรับสมัครงานหลายตำแหน่งในเมืองไซเบอร์จายา รัฐสลังงอร์

    เวียดนามดันบ่าเหรี่ยะ – หวุงเต่าขึ้นฮับเศรษฐกิจทางทะเลแห่งชาติ

    ที่มาภาพ: https://en.vietnamplus.vn/ba-ria-vung-tau-to-become-national-marine-economic-hub/255911.vnp
    จังหวัดบ่าเหรี่ยะ – หวุงเต่า ซึ่งอยู๋ชายฝั่งทะเลทางตอนใต้ของเวียดนามมีเป้าหมายที่จะเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจทางทะเลแห่งชาติและศูนย์บริการทางทะเลของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภายในปี 2593

    ตามแผนแม่บทของจังหวัดในช่วงปี 2564-2573 โดยมีวิสัยทัศน์ถึงปี 2593 ซึ่งกำลังรอการอนุมัตินั้น พื้นที่นี้จะกลายเป็นเมืองที่บริหารงานแบบรวมศูนย์ด้วยโครงสร้างเมืองแบบหลายศูนย์กลางและโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ

    นอกจากนี้ยังพร้อมที่จะพัฒนาเป็นประตูสู่ทะเลและศูนย์กลางอุตสาหกรรมของภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงศูนย์กลางการท่องเที่ยวคุณภาพสูงระดับนานาชาติ โดยพื้นที่จะพัฒนาอย่างรอบด้าน มีพลวัต และยั่งยืน บนพื้นฐานของ โครงสร้างพื้นฐานที่ดี สภาพแวดล้อมที่ดีและทรัพยากรมนุษย์ที่ดี

    ในระหว่างการเสวนาในเดือนพฤษภาคม เลขาธิการคณะกรรมการพรรคประจำจังหวัด ฟาม เวียต ทันห์ กล่าวว่า แผนแม่บทได้รับการปรับเปลี่ยนตามความคิดเห็นและคำแนะนำของสภาประเมินแห่งชาติ กระทรวง หน่วยงานกลาง ภาคส่วน ผู้เชี่ยวชาญ นักวิทยาศาสตร์ และสาธารณชน แผนแม่บทยังสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาของประเทศโดยทั่วไปและโดยเฉพาะภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้

    รองประธานคณะกรรมการประชาชนประจำจังหวัดเหวียน กง วินห์กล่าวว่า บ่าเหรี่ยะ – หวุงเต่า จะมุ่งเน้นไปที่การดำเนินการพัฒนาที่ก้าวล้ำ รวมถึงการสร้างเส้นทางเชื่อมต่อระดับภูมิภาคและระหว่างภูมิภาค การพัฒนาระบบท่าเรือ การจัดตั้งศูนย์โลจิสติกส์ระดับประเทศ และการจัดตั้ง เขตการค้าเสรีในท่าเรือก๊าย แมบ ดึงนักลงทุนเชิงกลยุทธ์ การออกแบบระบบนิเวศที่สมบูรณ์และสอดคล้องกันโดยใช้มาตรฐานสากล

    จังหวัดจะทำงานเพื่อสร้างพื้นที่เมืองท่องเที่ยว โดยมีเป้าหมายเพื่อเปลี่ยนให้เป็นศูนย์รวมความบันเทิงและรีสอร์ทตามมาตรฐานสากล และสร้างนิคมอุตสาหกรรมไฮเทค เพื่อดึงดูดนักลงทุนและทรัพยากรมนุษย์ในอุตสาหกรรมการผลิตขั้นสูง

    จากนี้ไปจนถึงปี 2050 บ่าเหรี่ยะ – หวุงเต่า จะดำเนินการปรับปรุงระบบโครงสร้างพื้นฐานให้ทันสมัย ​​โดยมุ่งเน้นไปที่ทางรถไฟ เบียนหัว-หวุงเต่า รถไฟใต้ดินที่เชื่อมต่อเขตเมือง และระบบรางเดี่ยวที่เชื่อมโยงพื้นที่เมืองท่องเที่ยวชายฝั่งจากเมืองหวุงเต่า ไปยัง บ่อน้ำพุร้อนบิ่นเจา

    สมัชชาแห่งชาติเวียดนามพิจารณา global minimum tax ต.ค.นี้

    ที่มาภาพ: https://en.nhandan.vn/vietnams-five-month-fdi-rises-sharply-nationwide-post125805.html
    รัฐบาลมีแผนที่จะขอความเห็นชอบจากสมัชชาแห่งชาติในเดือนตุลาคม เกี่ยวกับการใช้อัตราภาษีนิติบุคคลขั้นต่ำทั่วโลก หรือ global minimum tax ซึ่งเป็นอัตราภาษีที่อาจส่งผลกระทบต่อนักลงทุนต่างชาติในประเทศ

    ภาษีนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อจัดสรรสิทธิการเก็บภาษีจากผลกำไรมูลค่าประมาณ 200 พันล้านดอลลาร์สหรัฐจากบริษัทต่างๆ ไปยังประเทศที่พวกเขาทำธุรกิจ และเพื่อยุติ “การแข่งขันสู่จุดต่ำสุด” ของอัตราภาษี ซึ่งอ้างถึงแรงจูงใจที่ประเทศต่างๆ แข่งขันกันให้แก่บริษัทข้ามชาติ เพื่อดึงดูดการลงทุน

    หากได้รับการอนุมัติ ภาษีglobal minimum tax ในอัตรา 15% จะมีผลบังคับใช้ในปีหน้า ดัง ง็อก มินห์ รองอธิบดีกรมสรรพากร กล่าวในการประชุมที่จัดโดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ) ในวันอังคาร(11 ก.ค.)

    หน่วยงานรัฐบาลและภาคธุรกิจหลายแห่งจะหารือเกี่ยวกับอัตราภาษีนิติบุคคลขั้นต่ำทั่วโลก ก่อนที่จะนำเสนอต่อสมัชชาแห่งชาติ

    อัตราภาษีนิติบุคคลขั้นต่ำทั่วโลกที่ 15% ได้มีการตกลงกันโดยกลุ่มประเทศร่ำรวย G7 ในเดือนมิถุนายน 2564 เพื่อป้องกันการหลีกเลี่ยงภาษีโดยบรรษัทข้ามชาติ

    นักวิเคราะห์เวียดนามเกรงว่า การกำหนดอัตราภาษีนิติบุคคลขั้นต่ำทั่วโลก จะเป็นอุปสรรคต่อนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งจำนวนมากสนใจนโยบายภาษีพิเศษของแต่ละประเทศที่มีความสนใจ

    อัตราภาษี 15% จะใช้กับบริษัทข้ามชาติที่มีรายได้อย่างน้อย 750 ล้านยูโร (800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในช่วงอย่างน้อย 2 ใน 4 ปีล่าสุด

    บางประเทศ เช่น สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสหภาพยุโรปคาดว่าจะใช้ภาษีในปีหน้า

    กระทรวงการคลังระบุว่า บริษัทต่างชาติ 1,015 แห่งที่ลงทุนในเวียดนามจะต้องเสียภาษีในอัตรานี้ และธุรกิจกว่า 70 แห่งในเวียดนามมีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบหากมีการบังคับใช้ในปี 2567

    บริษัทต่างชาติ เช่น Samsung, Intel, LG, Bosch, Sharp, Panasonic, Foxconn และ Pegatron ซึ่งมีสัดส่วนรวมเกือบ 30% ของการลงทุนโดตรงจากต่างประเทศ(FDI) ทั้งหมดในเวียดนาม ล้วนมีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบจากภาษี

    ฟิลิปปินส์เปิดตัว e-Visa สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติภายในสิ้นปี 2566

    ที่มาภาพ: https://www.manilatimes.net/2021/05/08/news/national/inbound-travelers-must-quarantine-for-14-days/871299/

    ฟิลิปปินส์จะเปิดตัวระบบ e-Visa สำหรับนักเดินทางต่างชาติภายในไตรมาสที่สามของปี 2566 กระทรวงการต่างประเทศ (DFA) ประกาศเมื่อวันพุธ(12 ก.ค.)

    ในการแถลงข่าว ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ Jesus Domingo กล่าวว่า e-Visa จะทำให้ชาวต่างชาติยื่นขอวีซ่าฟิลิปปินส์ได้ทางออนไลน์

    “ระบบนี้จะทำให้กระบวนการยื่นขอวีซ่าง่ายขึ้น เร็วขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น และสะดวกขึ้นสำหรับชาวต่างชาติที่ต้องการเดินทางมาท่องเที่ยวที่ฟิลิปปินส์เพื่อวัตถุประสงค์ทางธุรกิจ”

    กระทรวงการต่างประเทศกำลังพัฒนาระบบ e-Visa ของฟิลิปปินส์ โดยความร่วมมือกับกรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

    ในการแถลงข่าวเดียวกันเอกอัครราชทูตฟิลิปปินส์ประจำประเทศจีน Jaime FlorCruz แสดงความหวังว่า ความคิดริเริ่มนี้จะดึงดูดนักท่องเที่ยวและนักเรียนชาวจีนมาที่ฟิลิปปินส์มากขึ้น โดยชี้ถึงข้อสังเกตของสถานทูต การเดินทางหลังจากที่อั้นไว้ในจีนนั้น จำกัดอยู่ที่การเดินทางภายในประเทศเป็นหลัก

    “การเดินทางขาออกยังน้อยอยู่และเราน่าจะได้นักท่องเที่ยวส่วนหนึ่ง แต่ความจริงก็คือ ชาวจีนยังไม่ได้เดินทางออกจากประเทศจีนอย่างเต็มกำลังอย่างที่เคยทำ”

    ในขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนยังไม่ถึงระดับก่อนเกิดโรคระบาด กระทรวงการต่างประเทศ ระบุว่า ยังมีความต้องการวีซ่าเข้าฟิลิปปินส์

    ในความเป็นจริงแล้ว สถานบริการต่างประเทศในจีนปฏิบัติงานเกินกว่ากำลังแล้วในการดำเนินการและออกวีซ่าให้กับนักท่องเที่ยวชาวจีน ก่อนเกิดโรคระบาด จีนเป็นประเทศที่สองที่มีจำนวนผู้มาเยือนฟิลิปปินส์มากที่สุด ้วยจำนวนกว่า 1.7 ล้านคนในปี 2562 รองจากเกาหลีใต้