ThaiPublica > เกาะกระแส > ความรุ่งเรืองของตลาดเสื้อผ้ามือสองในมาเลเซีย ความเป็นประชาธิปไตยของการใช้สินค้าแบรนด์เนม

ความรุ่งเรืองของตลาดเสื้อผ้ามือสองในมาเลเซีย ความเป็นประชาธิปไตยของการใช้สินค้าแบรนด์เนม

18 กุมภาพันธ์ 2022


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/familybundlemy/photos/

บทรายงานข่าวชื่อ How Malaysia Got in on the Secondhand Clothing Boom ของ nytimes.com กล่าวว่า ไม่ว่าจะเป็นเพราะการระบาดของโควิด-19 หรือความกังวลต่อสิ่งแวดล้อม แต่สิ่งที่แน่นอนก็คือ ทุกวันนี้ คนเราชอปปิงหาซื้อเสื้อผ้ามือสองกันมากขึ้น จนทำให้ในธุรกิจเสื้อผ้าแฟชั่นนั้น เสื้อผ้ามือสองกลายเป็นหนึ่งในตลาดที่เติบโตรวดเร็วมากที่สุด เพราะผู้บริโภคมองว่าเป็นเสื้อผ้าที่ซื้อไหว และเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการหาซื้อเสื้อผ้าแฟชั่น

ชอปปิงยอดนิยมในมาเลเซีย

การหาซื้อเสื้อผ้ามือสอง กลายเป็นการชอปปิงยอดนิยมในมาเลเซีย ร้านขายเสื้อผ้ามือสองมีอยู่ทั่วประเทศ ตั้งแต่แผงขายเสื้อผ้าตามริมถนน ร้ายขายของเพื่อการกุศล ไปจนถึงโกดังขายเสื้อผ้ามือสอง ที่เป็นกิจการของธุรกิจเครือข่ายขนาดใหญ่ เช่น บริษัท Jalan Jalan Japan ที่นำเข้าสินค้าจากญี่ปุ่น มีร้าน 8 แห่งอยู่ทั่วมาเลเซีย และร้านชื่อ Family Bundle ที่มีร้านเครือข่ายหลายแห่งในกัวลาลัมเปอร์

การชอปปิงเสื้อผ้ามือสอง หรือบางครั้งเรียกว่า การชอปปิงเสื้อผ้าเป็นกอง (bundle shopping) เพราะพ่อค้าปลีกซื้อเสื้อผ้ามาแบบเป็นกอง หรือซื้อแบบชั่งกิโลจากพ่อค้าขายส่งอีกทอดหนึ่ง มาเลเซียจึงมีคำพูดที่ว่า selam bundle หมายถึง การขับรถเข้าไปยังกองเสื้อผ้า ซึ่งหมายถึงวัฒนธรรมการประหยัด

Nor Muhammad Mat Nor เจ้าของร้านเสื้อผ้ามือสองชื่อ Maxstation บอกกับผู้สื่อข่าว New York Times ว่า ทำธุรกิจนี้มาเกือบ 10 ปีแล้ว ทำด้วยใจรักในอาชีพ เริ่มต้นธุรกิจขายเสื้อผ้ามือสองเพราะสังเกตเห็นถึงความต้องการในเสื้อผ้ามือสองที่มีคุณภาพและเสื้อยืดแบรนด์เนม ทุกวันนี้ เขาขายเสื้อผ้าแบรนด์เนมออนไลน์เดือนหนึ่ง 10-15 ชิ้น เสื้อผ้ามือสองที่ทำกำไรมากจะเป็นแบรนด์แฟชั่นของญี่ปุ่น เช่น Comme das Garcon, Yohji Yamamoto และ Kapital

ร้านFamily Bundle ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/familybundlemy/photos/

Muhammad ใช้เวลาวันหนึ่ง 3 ชั่วโมงคัดเลือกเสื้อมือสอง เขาซื้อเสื้อมือสองเป็นมัดจากพ่อค้าส่งที่นำเสื้อมือสองจากต่างประเทศ เขานิยมเสื้อผ้าจากญี่ปุ่นกับอเมริกา เพราะมีโอกาสที่จะได้เสื้อผ้าแบรนด์เนมดีๆ หากพบเสื้อผ้ามือสองคุณภาพสูง ขายได้ตัวหนึ่ง 100 ดอลลาร์ สามารถใช้เป็นทุนซื้อเสื้อมือสองได้เป็นมัดๆ ส่วนเสื้อที่ไม่ถูกคัดสรรออกมา ก็จะนำมากองขายในตลาดท้องถิ่น

ปี 2025 ธุรกิจมูลค่าถึง 77 พันล้านดอลลาร์

ในรายงานชื่อ 2021 Resale Report ของ Thredup.com เว็บไซต์ขายเสื้อผ้ามือสองออนไลน์ที่ใหญ่สุดของโลก James Reinhart CEO กล่าวว่า เรายังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงด้านการค้าปลีก ผู้บริโภคกำลังให้ความสำคัญในเรื่องความยั่งยืน ร้านค้าปลีกเริ่มยอมรับการขายสินค้าที่เคยผ่านการซื้อขายมาแล้ว และผู้บริหารหันมายอมรับเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน (circular economy) จึงเกิดรถยนต์ไฟฟ้า พลังงานแสงแดด และสินค้าแฟชั่นหมุนเวียน

รายงาน 2021 Resale Report วิเคราะห์ว่า ภายใน 5 ปี ยอดขายเสื้อผ้ามือสองจะเพิ่มเท่าตัว จาก 36 พันล้านดอลลาร์ในปี 2021 เป็น 77 พันล้านดอลลาร์ในปี 2025 สาเหตุสำคัญมาจากการที่มีคนนำเสื้อผ้ามือสอง ออกมาขายในตลาดมากขึ้น เนื่องจากสะดวกที่จะนำมาขายออนไลน์ ทำให้ผู้บริโภคนิยมคัดเลือกเสื้อผ้าที่ไม่ใช้แล้ว ออกจากตู้เสื้อผ้า

ที่มาภาพ : https://www.thredup.com/resale/2020/

การนำสินค้าใช้แล้วมาขายใหม่ ส่งผลผลกระทบของสินค้าแฟชั่น ต่อการใช่จ่ายเงินของผู้บริโภค และต่อสิ่งแวดล้อมของโลกเรา เพราะสินค้าแฟชั่นเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมมากที่สุด ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เสื้อผ้ามือสองจำนวน 6.6 พันล้านชิ้นถูกนำมาใช้หมุนเวียนผ่านตลาดเสื้อผ้ามือสอง ผู้บริโภคประหยัดเงินถึง 390 พันล้านดอลลาร์ จากการซื้อเสื้อผ้ามือสอง และช่วยลดคาร์บอนได้ถึง 116 พันล้านปอนด์ (lbs)

มาเลเซีย ตลาดใหญ่ในเอเชียอาคเนย์

หนังสือชื่อ Secondhand เขียนไว้ว่า ในช่วง 50 ปี ระหว่างปี 1967-2017 คนอเมริกันใช้จ่ายเงินซื้อของใช้ต่างๆ เข้าบ้านตั้งแต่เฟอร์นิเจอร์ไปถึงสมาร์ทโฟนเพิ่มขึ้น 20 เท่าตัว ของบางอย่างส่งต่อให้กับลูกหลาน บางอย่างนำไปรีไซเคิล และจำนวนมากถูกเก็บทิ้งอยู่ในห้องเก็บของ

คนอเมริกันไม่ใช่ชาติเดียวที่นิยมซื้อสินค้าต่างๆ แต่คนอเมริกันได้เปรียบที่บ้านเรือนมีห้องเก็บของ คนญี่ปุ่นก็ชอบซื้อของต่างๆ แต่บ้านคนญี่ปุ่นมีขนาดเล็ก จึงต้องคัดเลือกของเก่าออกมาทิ้ง เพื่อนำของใหม่เข้าบ้าน

ชื่อเสียงของญี่ปุ่นในเรื่องการมีคุณภาพ ทำให้สิ่งนี้คือจุดขายของสินค้าที่ผลิตในญี่ปุ่น รวมทั้งสินค้าที่ผลิตจากจีนแต่นำมาขายในญี่ปุ่น คนทั่วโลกก็ยอมรับเรื่องคุณภาพของญี่ปุ่น โดยเฉพาะคนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ต้องการสินค้าจากญี่ปุ่นมานานหลายปี ผู้บริหารบริษัทส่งออกสินค้ามือสองของญี่ปุ่นชื่อ Muraoka บอกว่า ฟิลิปปินส์เคยเป็นตลาดใหญ่สินค้ามือสองจากญี่ปุ่น แต่จะไม่ยั่งยืนไปตลอด เมื่อคนท้องถิ่นมีกำลังซื้อมากขึ้น คนก็อยากได้ของใหม่ ดังนั้น ตลาดต่อไปอาจเป็นเขมร

ที่มาภาพ : https://www.amazon.com/Secondhand-Travels-Global-Garage-Sale/dp/1635570107

จากการรวบรวมข้อมูลของวารสารญี่ปุ่นชื่อ Reuse Business Journal มีบริษัทสินค้ามือสองของญี่ปุ่นกว่า 20 บริษัท ได้เปิดร้านขายปลีกและขายส่งอย่างน้อย 63 บริษัท ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเน้นหนักที่ไทยและฟิลิปปินส์ การส่งออกสินค้ามือสองของบริษัทเหล่านี้ ปีหนึ่งไม่ตำกว่า 1 พันล้านดอลลาร์

The Secondhand กล่าวว่า ประเทศกำลังพัฒนาที่เติบโตรวดเร็ว เช่น มาเลเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ กลายเป็นตลาดสินค้ามือสองที่ใหญ่สุดของโลก ความใกล้ชิดทางภูมิศาสตร์ และการเชื่อมโยงทางวัฒนธรรมและการค้า มีส่วนช่วยให้เกิดความนิยมสินค้ามือสองจากญี่ปุ่น นักศึกษาจากมาเลเซียที่ไปศึกษาในญี่ปุ่นเคยเข้าไปซื้อสินค้ามือสองจากร้าน Bookoff มาแล้ว ประสบการณ์นี้ทำให้ในมาเลเซียมีห้างสรรพสินค้าที่ขายสินค้ามือสองจากญี่ปุ่นโดยเฉพาะ

Bookoff เปิดร้านสินค้ามือสองในมาเลเซียครั้งแรกในปี 2017 โดยใช้พื้นที่ห้างสรรพสินค้าเดิมที่ว่าง ตั้งอยู่ห่างจากกัมลาลัมเปอร์ไป 30 กว่า กม. Jalan Jalan Japan คือชื่อห้างสรรพสินค้าที่แปลว่า “เดินสบายๆ ในญี่ปุ่น” ทางห้างใช้การโปรโมตผ่านโซเชียลมีเดีย วันที่จัดรายการลดราคามียอดขายถึง 10,000 ชิ้น เป็นเงิน 250,000 ดอลลาร์ ถึงปี 2020 ร้านขายสินค้าสองมือสองของญี่ปุ่นแบบ Jalan Jalan Japan ในกัวลาลัมเปอร์จะมีถึง 5 ร้านด้วยกัน

ที่มาภาพ : https://www.groovyjapan.com/en/jalanjalanjapan_en-2/

ชั้นแรกของ Jalan Jalan Japan เป็นเสื้อผ้าสตรี ไม่ได้แบ่งตามยี่ห้อเหมือนร้าน Bookoff ในญี่ปุ่น แต่แบ่งตามราคา เริ่มจากตัวละ 10 ริงกิต (2.50 ดอลลาร์) Koji Onozawa ผู้จัดการร้านบอกกับ Adam Minter ผู้เขียน The Secondhand ว่า หากขายไม่ออก ร้านจะลดราคาเหลือตัวละ 3-5 ริงกิต โดยเฉลี่ย ร้านขายเสื้อผ้าได้วันละ 500 ตัว เดือนหนึ่ง 15,000 ตัว

มาเลเซียแตกต่างจากญี่ปุ่น จำนวนครัวเรือนของญี่ปุ่นหดตัวลง บ้านก็มีขนาดเล็ก แต่ในมาเลเซีย ครอบครัวมีขนาดใหญ่ และบ้านก็ใหญ่ ผู้เขียนบอกว่า สินค้าที่ขายในญี่ปุ่น คุณภาพดีกว่าที่ขายในมาเลเซีย ซึ่ง Onozawa ยอมรับว่าจริง ที่ญี่ปุ่นสินค้าคุณภาพดี ขายได้ราคามากกว่าที่ขายในมาเลเซีย

เสื้อผ้าบริจาคไปจบลงที่ไหน

บทรายงานข่าวของ nytimes.com ตั้งคำถามว่า คนอเมริกันที่บริจาคเสื้อผ้าเก่า คิดว่าเสื้อผ้าเหล่านี้จะไปถึงมือองค์การกุศล เช่น Goodwill หรือ Salvation Army ทำให้เสื้อผ้าเก่ามีชีวิตใหม่เป็นครั้งที่สอง แต่ Adam Minter ผู้เขียน The Secondhand ให้สัมภาษณ์ว่า “ร้านขายของบริจาคเพื่อการกุศล มักเป็นจุดแวะพักแห่งแรกในการเดินทางข้ามประเทศของเสื้อมือสอง”

เขากล่าวต่อไปว่า ในอเมริกา เสื้อผ้ามือสองในร้านขายของบริจาคขายได้เพียง 1 ใน 3 เท่านั้น ส่วนเสื้อผ้าขายที่ขายไม่ออก ร้านขายของบริจาคจะนำไปขายเป็นมัดๆ ให้กับผู้ส่งออก ที่จะส่งออกไปขายทั่วโลก เช่น เสื้อผ้าของในรัฐแคลิฟอร์เนียถูกส่งไปที่ฮิวสตัน รัฐเท็กซัส จากนั้นก็จะคัดเลือกเพื่อส่งออกไป ปากีสถาน อินเดีย และมาเลเซีย

ทุกวันนี้ เสื้อกันหนาวของ Nike อาจผลิตจากบังกลาเทศ ส่งมาขายในสหรัฐฯ บริจาคให้ Goodwill ถูกขายอยู่ในมัดเสื้อผ้าให้กับมาเลเซีย แล้วก็ขายกลับมายังสหรัฐฯ ผ่าน Etsy ทำให้คนซื้อในประเทศพัฒนาแล้วซื้อสินค้าแบรนด์เนมที่จ่ายแพงกว่าต้นทุนของประเทศกำลังพัฒนา เนื่องจากพ่อค้าขายส่งมักจะขายเสื้อผ้ามือสองในราคาชั่งกิโล

จากตัวเลขหน่วยงานติดตามข้อมูลค้าการค้าชื่อ Observatory for Economic Complexity ในปี 2019 สหรัฐฯ เป็นประเทศส่งออกเสื้อผ้าใช้แล้วมากที่สุด มูลค่า 720 ล้านดอลลาร์ ส่วนประเทศที่นำเข้ามากที่สุดคือ ยูเครน 203 ล้านดอลลาร์ ปากีสถาน 189 ล้านดอลลาร์ กานา 168 ล้านดอลลาร์ เคนยา 165 ล้านดอลลาร์ และมาเลเซีย 105 ล้านดอลลาร์

Adam Minter กล่าวว่า เรื่องที่ว่าเสื้อผ้ามือสองจะสามารถขายออนไลน์ในตลาดโลกได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับระบบโลจิสติกส์ด้านการขนส่งในประเทศนั้น ประเทศยากจนหลายประเทศที่นำเข้าเสื้อมือสองเป็นมัดๆ ไม่มีโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าว แต่ในกรณีของเคนยาหรือมาเลเซีย สองประเทศนี้มีระบบโลจิสติกส์และคุ้นเคยกับอีคอมเมิร์ซ

นอกจากนี้ มาเลเซียมีประชากรที่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องแนวโน้มแฟชั่นโลก ประชากรมีรายได้เหลือใช้ที่จะทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ธนาคารโลกคาดการณ์ว่า มาเลเซียจะเปลี่ยนผ่านจากประเทศรายได้ปานกลางมาเป็นประเทศมีรายได้สูงภายใน 2-5 ปีข้างหน้า

  • รายงานธนาคารโลก Aiming High มาเลเซีย จะก้าวสู่ประเทศรายได้สูงในอีก 5 ปีข้างหน้า (2024-2028)
  • เอกสารประกอบ
    How Malaysia Got in on the Secondhand Clothing Boom, nytimes.com, February 3, 2022.
    2021 Resale Report, thredup.com
    Secondhand: Travels in the New Global Garage Sale, Adam Minter, Bloomberg Publishing, 2021.