ThaiPublica > คอลัมน์ > เมื่อตัดสินใจเปลี่ยนจิตแพทย์

เมื่อตัดสินใจเปลี่ยนจิตแพทย์

16 สิงหาคม 2023


เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์

ว่ากันว่า ขั้นตอนที่ยากที่สุดของการรักษา โดยเฉพาะความเจ็บป่วยทางใจที่ไม่ได้ทิ้งร่องรอยบาดแผลไว้ดูต่างหน้าและรอวันที่แผลจางไปเฉกเช่นความป่วยไข้ทางกายนั้น สิ่งที่ยากที่สุดคือการตัดสินใจเข้ารับการรักษา เมื่อได้เจอหมอว่า คนรับการรักษาจำนวนมากก็หวังจะรักษาต่อเนื่องกับหมอคนเดิม แต่ตลอด 6 ปีที่ผ่านมา ผมมีคนรู้จักที่เปลี่ยนจิตแพทย์มาแล้ว 5 ครั้ง

“เราเคยคิดว่า ตัวเราคงมีปัญหาบางอย่างที่ทำให้ต้องเปลี่ยนจิตแพทย์อยู่หลายครั้ง แต่นั่นไม่จริงเลย มันไม่ใช่เรื่องแปลกหรือผิดอะไรที่จะเปลี่ยนจิตแพทย์ เราอยากให้ทุกคนเข้าใจ”

และนี่คือเรื่องราวของคนรู้จักคนนี้

การพบจิตแพทย์คนแรก ถูกเลือกให้โดยแม่ ทุกครั้งที่เข้าไปพบ ก็จะถูกถามด้วยคำถามด้วยว่า อะไรทำให้ เพราะอะไร ทำไม จำได้ว่าทุกครั้งที่เข้าไปหา ถูกถามไปซักพักก็ร้องไห้ตลอด จำได้ดีว่ารู้สึกกดดันในทุกครั้งที่พบ เหมือนถูกสอบปากคำ เพื่อให้จิตแพทย์นำไปเล่าให้แม่ฟังอีกที

หลังจากเข้าพบอยู่หลายครั้ง ครั้งหนึ่งที่ออกจากห้องทั้งน้ำตา เราก็บอกกับแม่ว่าอยากเปลี่ยนจิตแพทย์ แม่ตอบว่าไม่สามารถทำได้ เราจึงเข้าไปคุยกับทางโรงพยาบาลด้วยตนเอง และได้รู้ว่า แม่แค่ไม่อยากให้เปลี่ยน ถึงแม้จะทำได้ก็ตาม และนั่นคือการเปลี่ยนจิตแพทย์ครั้งแรก

จิตแพทย์คนต่อมาเป็นคนใจดี แต่เรากลับรู้สึกว่าสิ่งที่พูดไม่ถูกรับฟัง เพราะบางครั้งเขามองดูโทรศัพท์มือถือที่ชาร์จไว้บนโต๊ะทำงาน เวลามีข้อความเข้า ทำให้เราไม่สบายใจที่จะเล่าเรื่องส่วนตัวให้ฟัง

เราพูดกับจิตแพทย์คนดังกล่าวว่าต้องการเปลี่ยนจิตแพทย์ และเขาไม่ทำให้ฉันรู้สึกอึดอัดหรือรู้สึกในการพูดออกไปเลย ไม่มีการกดดัน หรือบรรยากาศที่อึมครึมอะไรทั้งนั้น มันเป็นไปอย่างสบายๆ

เขาแนะนำจิตแพทย์คนใหม่ให้ แต่ก่อนที่จะได้มีโอกาสพบ เราต้องย้ายจังหวัด จึงเปลี่ยนไปหาจิตแพทย์ในจังหวัดนั้น

เราไปพบอยู่หลายครั้ง แต่อาการกลับแย่ลง เราบอกจิตแพทย์ไปตามอาการ เขาบอกว่าที่อาการแย่ลงนั้นเป็นเพราะผลข้างเคียงของยา และเป็นเพราะเราคิดไปเองด้วย เราไม่สบายใจกับคำพูดของจิตแพทย์ และคิดว่าคงจะเป็นเรื่องยากต่อจากนี้ที่จะไว้ใจ จึงตัดสินใจเปลี่ยนจิตแพทย์อีกครั้ง

จิตแพทย์คนที่ 4 เรารู้สึกสบายใจมากที่จะรักษาด้วย เราได้รับคำแนะนำที่เป็นประโยชน์จากเขา จนกระทั่งช่วงไวรัสระบาด โรงพยาบาลที่จิตแพทย์ทำงานให้ไม่มีมาตราการการตรวจรักษาออนไลน์ ทำให้ผู้ป่วยยังต้องเข้ามาใช้บริการในโรงพยาบาล เราจึงไม่สามารถหาต่อได้

ในช่วงแรกของการระบาดนั้น มีอยู่ไม่กี่ที่ที่สามารถรักษาผ่านทางออนไลน์และมีบริการส่งยาทางไปรษณีย์ เราจึงกลับไปใช้บริการของจิตแพทย์ที่ถูกแนะนำโดยจิตแพทย์คนที่ 2 ที่ฉันยังไม่เคยไปพบมาก่อน เขาจึงเป็นจิตแพทย์คนที่ 5 ที่เรารักษาด้วย

เขาเป็นคนใจเย็น รับฟัง และให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ เราเข้าพบทางออนไลน์เป็นส่วนมาก แต่ก็เข้าไปพบเป็นครั้งคราวเมื่อสถานการณ์ผู้ติดเชื้อดีขึ้น

อย่างแรกที่จิตแพทย์คนนี้บอกเราคือ ยาที่รับประทานประจำซึ่งถูกสั่งโดยจิตแพทย์คนก่อนหน้านั้นเยอะเกินไป เราได้รับการปรับยาใหม่ทั้งหมดใหม่

เราเข้าปรึกษาเป็นประจำ และทานยาต่อเนื่อง รวมถึงปรับสภาพแวดล้อมและพฤติกรรมตามที่ได้รับคำแนะนำ ไม่นานต่อจากนั้นเรารู้สึกดีขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมานาน

ผู้เขียนไม่รู้สึกเสียใจเลยที่เปลี่ยนจิตแพทย์ เพื่อที่จะมาพบจิตแพทย์ที่ใช่ในทุกวันนี้ การรักษานั้นใช้เวลา และมันจะดีมาก ถ้าเรามีจิตแพทย์ที่เราสบายใจคอยรักษาใจเรา อย่ากลัวที่จะเปลี่ยนจิตแพทย์ เพราะมันเป็นเรื่องปกติ

ในกระบวนการรักษาทางสุขภาพจิตนั้น ผู้เขียนพบว่า มีอยู่หลายขั้นตอนด้วยกันที่ยากแก่การตัดสินใจ เช่น การยอมรับว่า เราต้องได้รับการรักษาแล้ว หรือจะเป็นการตัดสินใจเพิ่มยา รวมถึงการตัดสินใจเปลี่ยนจิตแพทย์ด้วย

หากเราเกิดความรู้สึกไม่สบายใจในการหาจิตแพทย์ สิ่งที่ควรทำคือ ทบทวนเรื่องราวที่เกิดขึ้น และเมื่อพิจารณาดีแล้วอาจนำไปสู่ทางเลือกของการเปลี่ยนจิตแพทย์ ไม่ใช่การหยุดรักษาไปดื้อ ๆ มีหลายปัจจัยด้วยกันที่ทำให้เราอาจเลือกที่จะเปลี่ยนจิตแพทย์ที่หาอยู่ เช่น เมื่อจิตแพทย์ตัดสินเราจากรูปร่างหน้าตา “คุณดูไม่หดหู่เลย” จิตแพทย์คนหนึ่งเคยพูดกับผู้เขียนระหว่างการเจอกันครั้งสุดท้าย เราทุกคนควรเรียนรู้ที่จะไม่ตัดสินหนังสือจากปก เราไม่รู้เลยจริง ๆ ว่าเกิดอะไรขึ้นในสมองหรือชีวิตของบุคคลคนนั้นโดยดูจากลักษณะทางกายภาพของพวกเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องพิจารณาว่า เรากำลังดิ้นรนกับความเจ็บป่วยทางจิตอยู่ อีกนัยหนึ่งคือ แม้เราจะสามารถนำเสนอ “ความเรียบร้อยภายนอก” ทั่วไปให้กับโลก แต่มันไม่ได้แปลว่า เราปราศจากความเจ็บปวดภายในใจ หากจิตแพทย์มองข้ามสิ่งเหล่านี้ไป อาจถึงเวลาต้องเปลี่ยนผู้ให้บริการ

รวมไปถึงการวินิจฉัยอย่างรวดเร็วเกินไป การสั่งยาเดียวกันซ้ำแล้วซ้ำอีก การไม่ได้แจ้งผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น

ยิ่งเมื่อรับทราบถึงสถานการณ์ที่แตกต่างออกไปของผู้มารับบริการ เช่น ช่วงนี้ต้องใช้สมาธิอ่านหนังสือสอบ ก็ควรแนะนำให้หลีกเลี่ยงยาบางประเภทที่ก่อให้เกิดการรบกวนสมาธิ รวมทั้งจิตแพทย์ที่บอกว่าเราไม่มีโอกาสหายแล้ว หรือบอกว่า ความเจ็บป่วยใด ๆ ของเรานั้นกำลังสร้างความอับอายให้เรา เป็นการตอกย้ำตีตรา

จิตแพทย์ที่ผู้เขียนหาอยู่ในปัจจุบัน เขาถามผู้เขียนอยู่เสมอว่า ผู้เขียนคิดอย่างไรหลังจากเขาพูดจบ หากจิตแพทย์เลือกที่จะไม่ถามความคิดเห็นของเราเลย และเป็นผู้พูดอยู่ฝ่ายเดียว ก็อาจเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ควรตัดสินใจเปลี่ยน นอกจากนี้ยังรวมไปถึงจิตแพทย์ที่ไม่ยอมรับความผิดพลาดของตนเองด้วย

การมีจิตแพทย์ที่ไปด้วยกันได้ ก็เหมือนได้เพื่อนสนิทเพิ่มอีกคนหนึ่ง ไม่ใช่เรื่องต้องลังเลหากเพื่อนสนิทกำลังทำให้เราไม่สบายใจ