ThaiPublica > คอลัมน์ > วัยรุ่นที่มีปัญหาสุขภาพจิต อยากให้ครอบครัวอยู่ร่วมกับเขาอย่างไร

วัยรุ่นที่มีปัญหาสุขภาพจิต อยากให้ครอบครัวอยู่ร่วมกับเขาอย่างไร

25 มิถุนายน 2023


เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์

“จริง ๆ เราใช้เวลาประมาณ 5 ปีกว่าจะได้ไปหาจิตแพทย์ รู้สึกตัวตั้งแต่ ม.1 เหมือนเวลาอยู่ที่โรงเรียนมันสดใสไปหมด แต่พอกลับบ้านไปก็มีปัญหากับครอบครัว ร้องไห้เกือบทุกวัน เรารู้สึกผิดปกติ เลยลองเสิร์ชอินเทอร์เน็ต ทำแบบทดสอบก็เข้าข่ายจะเป็นโรคซึมเศร้ารุนแรง”

ผู้ให้สัมภาษณ์ปัจจุบันเพิ่งตัดสินใจศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย บอกกล่าวถึงความรู้สึกและประสบการณ์ที่เพิ่งผ่านมาไม่นานนี้

การเผชิญหน้ากับปัญหาสุขภาพจิตในช่วงวัยที่ยังไม่สามารถไปหาจิตแพทย์ด้วยตนเองคนเดียวได้ ทำให้หลายคนรู้สึกเหมือนกำลังจะแบกรับมันอยู่คนเดียว “ตอนนั้นเราอายุไม่ถึง คือไปหาจิตแพทย์ได้ แต่ถ้าจะต้องจ่ายยา ต้องมีผู้ปกครองไปด้วย ตอนนั้นเราไม่พร้อมบอกพ่อแม่ กลัวว่าปัญหาทางบ้านจะหนักขึ้น ระหว่างนั้นก็มี Trigger หลายครั้ง” นอกเหนือจากภาระงานที่โรงเรียนและที่บ้านแล้ว ความรู้สึกที่ประสบอยู่ก็ดูเหมือนจะต้องเก็บมันไว้ให้มิดชิด

แม้สุขภาพจิตจะเป็นปัญหาใหญ่ของคนในยุคสมัยปัจจุบัน แต่ดูราวกับว่าสังคมไม่มีตาข่ายคอยรองรับเมื่อพวกเขาจมดิ่งลงจากปากเหว

“ตอนนั้นยังไม่ 18 แต่รู้สึกไม่ไหวแล้วจริง ๆ เลยเปิดใจคุยกับพ่อกับแม่ เค้าก็ไม่ยอมรับ จนเราต้องพาเค้าไป แล้วให้จิตแพทย์ช่วยคุยก็ดีขึ้น ช่วงนั้นเครียดกับทางโรงเรียนมากๆ ที่บ้านก็ปรึกษาไม่ได้ ที่รอดมาได้ก็เพราะมีเพื่อนสนิทที่คอยคุยตลอด จนตอนนั้นไม่ไหวกับทุกอย่าง เลยลาออกจากโรงเรียน”

ผู้เขียนซึ่งมีประสบการณ์ทำงานด้านสุขภาพจิตผ่านทางพื้นที่ออนไลน์ หนึ่งในโปรเจ็คต์ที่ช่วยผลักดันคือ การสร้างระบบให้คำปรึกษาแบบฉุกเฉิน แม้จะพอเป็นสิ่งรองรับอารมณ์ของวัยรุ่น เมื่อรู้สึก Overwhelmed แต่ระบบที่ว่านี้ก็ต่างจากการคุยกับเพื่อนอย่างชัดเจน เพราะความสัมพันธ์อย่างหลังย่อมรู้จักเราใกล้ชิดกว่า และรู้สึกเป็นมนุษย์มากกว่า

หลายคนเมื่อได้เข้ารับการรักษาสุขภาพจิตในสถานพยาบาล นอกเหนือจากจิตแพทย์ ยังมีบุคลากรอีกหนึ่งสายงานที่เราจะได้พบเจอ “คนที่เราคุยนานจะเป็นนักจิตวิทยาคลินิค อยู่ในโรงพยาบาลเดียวกัน แต่คนละห้อง เค้าก็จะถามจนกว่าเราจะเปิดใจ”

“มีอยู่ช่วงนึงเราทำร้ายตัวเอง แล้วพยาบาลเห็นว่ามีร่องรอย เค้าเลยจับเรามัด มัดกับวีลแชร์ ไม่ว่าคุณจะมีสติดีแค่ไหนตอนนั้น แล้วพยาบาลก็จะเข็นเราไปหาหมอหรือนักจิตวิทยา” ผู้ให้สัมภาษณ์กล่าวเพิ่มเติมว่า ในกรณีของผู้ให้สัมภาษณ์นั้นเป็นเรื่องเข้าใจได้ เมื่อเราถามถึงความรู้สึกว่าถูกละเมิดสิทธิหรือไม่ เนื่องจากก่อนหน้านี้ มีวัยรุ่นรายหนึ่งได้ให้สัมภาษณ์กับบนสำนักข่าวชื่อดังไว้ถึงประสบการณ์ที่เธอถูกจับบังคับรักษาทางจิตเวช ซึ่งต้องถูกจับมัด ถูกกักกันอยู่ในพื้นที่จำกัดและไม่มีความเป็นส่วนตัว

อย่างไรก็ตาม กลับมาที่ผู้ให้สัมภาษณ์ในปัจจุบัน “รักษามาได้ 2 ปี ตอนนี้เรียกได้ว่า เลิกยาจิตเวชแล้ว มองย้อนกลับไป เราภูมิใจในตัวเองที่ผ่านมาได้ เพราะมันไม่ง่ายเลยสำหรับคนคนนึง กว่าจะผ่านแต่ละขั้นที่เราอยากจะทำร้ายตัวเอง อยากจะตาย แล้วเราดึงสติกลับมาได้มันเป็นเรื่องที่ยากมาก เราภูมิใจในตัวเองมาก ๆ ที่ยังมีชีวิตอยู่ มานั่งตรงนี้ มาให้สัมภาษณ์”

หลายคนต้องใช้เวลายาวนานในการรักษาอาการทางสุขภาพจิตจนกว่าจะหายดีหรือประคับประคองชีวิตต่อไปได้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

“เวลาครอบครัวได้ยินว่า คนในครอบครัวมีอาการทางจิตเวชส่วนใหญ่เลยคือเค้าจะไม่ยอมรับ สังคมเรายังมีความเข้าใจตรงนี้ไม่มากพอแล้วเค้าก็จะคิดว่า เราเป็นบ้าหรือเปล่า พอได้ยินแล้วมันแย่มากจริง ๆ หลีกเลี่ยงคำพูดที่ไม่ควรจะพูด ถึงจะไม่เข้าใจ ก็ควรจะรับฟังกันและพาเค้าไปรักษาในทางที่ถูกต้อง พาไปพบจิตแพทย์ ส่วนในโรงเรียนเราอยากให้มีรายวิชา หรือ อบรมเกี่ยวกับโรคจิตเวช อยากให้มีนักจิตวิทยาในโรงเรียนจริง ๆ ไม่ใช่ครูอะไรก็ได้มานั่งในห้องพยาบาลแล้วบอกว่า ฉันเก็บความลับเก่ง นักเรียนเค้าไม่เชื่อใจ แล้วเพิ่มภาระให้ครูด้วย และบางคนก็ไม่ได้เชี่ยวชาญมันน่ากลัวสำหรับเด็กที่จะไปปรึกษา

“การรับฟังน่าจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดแล้วสำหรับคน ๆ นึงที่จะให้คนอื่นได้” ผู้ให้สัมภาษณ์กล่าวย้ำถึงสิ่งที่คน ๆ หนึ่งควรจะทำเมื่อมีคนใกล้ตัวเผชิญกับปัญหาทางใจ “การรักษาอาจใช้เวลา 6 เดือน 2 ปี 3 ปี บางคนก็อาจจะทั้งชีวิต อย่าไปกดดัน อย่าไปเร่งเค้า คำถามแบบว่า เมื่อไรจะหาย แบบนั้น”

เมื่อสอบถามถึงอนาคต ผู้ให้สัมภาษณ์กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า “ตอนนี้เรายังไม่รู้ชื่ออาชีพนะ ความฝันเราก็คือการได้เป็นนักจิตวิทยานี่แหละ
แต่ก็เบนสายมาเรื่อย ๆ เพราะก็คิดว่า การที่เราทำสิ่งที่เรารักเพื่อเงิน มันก็น่าจะเครียดอยู่นะ เลยคิดว่า เราไปทำอย่างอื่นดีกว่า
แล้วเอาเวลามาอ่านหนังสือจิตวิทยา”

ผู้เขียนนึกถึงประสบการณ์ระหว่างสัมภาษณ์วัยรุ่นอีกหลายคนที่ได้พูดคุยกันคือ การเดินเข้าสู่เส้นทางการของรักษา เยียวยาจิตใจนั้น ได้สร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับตัวรักษาเอง ที่นอกจากจะทำให้สามารถอยู่กับอดีตที่ขรุขระได้แล้ว ยังทำให้มีชีวิตอยู่ในปัจจุบันและอนาคตตามที่ฝันไว้ได้