ThaiPublica > คอลัมน์ > เรียนมหาวิทยาลัยไม่ตรงใจ เป็นอะไรมั้ยกับวัยรุ่นยุคนี้

เรียนมหาวิทยาลัยไม่ตรงใจ เป็นอะไรมั้ยกับวัยรุ่นยุคนี้

10 กรกฎาคม 2023


เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์

มีเรื่องราวไม่ชัดเจนมากมายเกิดขึ้นในช่วงชีวิตวัยรุ่น อนาคตจะเป็นอย่างไร ควรวางตัวแบบไหนกับพ่อแม่ ความสัมพันธ์กับเพื่อนที่ต้องแยกทางกัน ปัญหาด้านตัวตน การเงิน ความรัก และมีอีกหลายเรื่องที่เราเลือกตัดสินใจไม่ได้ในตอนนี้

แต่ในช่วงชีวิตนี้เองกลับต้องเผชิญกับคำถามใหญ่ของชีวิตคือ อะไรกันแน่เป็นสิ่งที่ควรเลือก เมื่อต้องเข้ามหาวิทยาลัย

มีนักศึกษาจำนวนไม่น้อยที่สับสนในช่วงต้นของชีวิตการเรียนบนปัญหากว้าง ๆ ที่ว่า ระหว่างเรียนคณะหรือสาขาที่ชอบ กับสาขาที่ไม่ชอบ แต่อาจจะเลือกเรียนด้วยเหตุผลที่ต่างกันออกไป เช่น พ่อแม่อยากให้เรียน มีคนที่เชื่อใจแนะนำ จนถึงไม่ได้คิดอะไรมากกับเรื่องนี้ แต่เมื่อถึงเวลาต้องเรียนจริงๆ ก็พบว่า คำถามดังกล่าวไม่เคยหายไปไหน

หลายคนจำใจต้องเลือกคณะที่ไม่ชอบ และไม่อยากเรียนต่อ ไม่อยากทำอาชีพนี้ไปทั้งชีวิต จึงตัดสินใจลาออกและซิ่วเข้ามาใหม่ ปัจจุบันเรามีทางเลือกสำหรับการเปลี่ยนใจมากขึ้น เช่น การเทียบโอน หรือบางหลักสูตรที่ใช้ระยะเวลาเรียนสั้นลง สำหรับผู้เขียน หากตัดสินจากประสบการณ์ตนเองแล้ว ก็เป็นหนึ่งในคนที่ไม่ได้ชอบคณะที่เรียน ถึงจะไม่ได้เกลียดก็ตาม คณะที่ผู้เขียนเรียนอยู่ในระดับพอไปได้ และใกล้เคียงกับความสนใจ แต่ก็ไม่ใช่ซะทีเดียว และยิ่งเรียนๆ ไปก็ยิ่งพบว่า หลายอย่างที่เป็นส่วนผสมหลักของคณะกลายเป็นสิ่งที่ผู้เขียนไม่มีกะจิตกะใจจะใช้เวลาด้วยเลย ยังไม่รวมถึงบรรยากาศเพื่อนๆ อาจารย์ และสังคมโดยรอบ

หลายอย่างนั้นไม่ได้ตรงกับความตั้งใจแรก ผู้เขียนไม่ได้ตัดสินใจซิ่ว และเลือกที่จะเรียนต่อจนจบหลักสูตร

สำหรับผู้เขียนแล้วการเรียนไม่ใช่ทุกสิ่งของชีวิต ยิ่งชีวิตวัยรุ่นแล้วด้วย การเรียนอาจถูกทำให้เข้าใจว่าคือทุกสิ่งทุกอย่าง และเป็นอะไรที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เรียนอย่างไร จบมาต้องทำอย่างนั้นไปตลอด ก็ไม่ใช่เรื่องจริงเสมอไป

คำถามใหญ่ๆ ที่ว่า เราควรเลือกในสิ่งที่ชอบไหม หากเราเลือกได้ คงไม่มีคำตอบอย่างอื่นมาแทนที่ แต่หากเราได้ตัดสินใจเรียนในสิ่งที่เราไม่ได้ชอบจริงๆ แล้ว ก็อาจจะใจร้ายไปสักหน่อย หากจะพิจารณารูปการณ์ทั้งหมดจากความชอบเพียงอย่างเดียว

ผู้เขียนมีเพื่อนที่ตัดสินใจลาออกจากคณะตอนปี 3 คำถามที่ตามมาทั้งจากครอบครัวและเพื่อน รวมถึงตัวผู้เขียนเองคือ ทำไมไม่ทนเรียนให้มันจบๆ ไป เหลืออีกแค่ปีเดียวเอง แถมค่าเทอมก็จ่ายไปแล้วด้วย คำตอบที่ได้รับคือ จะไม่ยอมเสียเวลาแม้แต่อีกวันเดียวกับสิ่งที่ไม่ชอบและไม่อยากทำต่อไปในอนาคต

อันที่จริง เพื่อนผู้เขียนคนนี้ชัดเจนกับตนเองตั้งแต่ปี 1 แล้ว และตลอด 3 ปีที่ผ่านมาก็ได้ตอบคำถามลักษณะนี้กับตัวเองจนเป็นที่มั่นใจ ซึ่งผู้เขียนนับถือในความชัดเจนที่ยากจะมีในคนทั่วไปนี้เหลือเกิน

ช่วงที่ผ่านมา ผู้เขียนมีโอกาสให้สัมภาษณ์อดีตนักศึกษาที่ตัดสินใจเรียนในสิ่งไม่ตรงใจนัก

ชีวิตการเรียนเป็นเหมือนรอยต่อระหว่างความฝันในวัยเด็กซึ่งมีความเป็นไปได้กว้างใหญ่ไพศาล กับความจริงในอนาคตซึ่งเต็มไปด้วยข้อจำกัด และอะไรต่อมิอะไรที่เราไม่ได้เป็นผู้กำหนด ความชอบเลยเป็นเหมือนปัจจัยหนึ่งของการตัดสินใจเลือกอะไรสักอย่าง ที่ยังประกอบด้วยความจริงที่ว่า สาขาที่เราเรียนนั้นสามารถส่งเราให้หาเลี้ยงชีพได้หรือไม่ในอนาคต ช่วยให้เรามีสังคมที่ดี มีชีวิตที่มีคุณภาพ และพอจะเวลามีว่างให้ต่อยอดความสนใจ ซึ่งเอาเข้าจริงๆ ก็มีความหลากหลายเกินกว่าจะรวบยอดเข้าไปไว้ในสาขาใดสาขาหนึ่ง

ตัวผู้ให้สัมภาษณ์ชอบสัตว์มาก เคยคิดว่า หากได้ใช้ชีวิตอยู่กับสัตว์ทุกๆ วันคงจะดี ให้ไปอยู่สวนสัตว์ในประเทศห่างไกลก็คงจะมีความสุข แต่เมื่อเทียบกับคณะที่จบมา ซึ่งเกี่ยวข้องกับสิ่งไม่มีชีวิตอย่างคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีแล้วนั้น ก็ทำให้อาชีพปัจจุบันต้องอยู่กับสัตว์ในออนไลน์ ผ่านคลิปหมาแมวเท่านั้น แต่ก็แลกมาด้วยค่าตอบแทนที่มั่นคง การมีเวลาอยู่กับครอบครัว ไม่ได้อยู่ห่างไกลกันมาก และการไม่ต้องเข้าทำงานประจำในออฟฟิศ ซึ่งในภายหลังเขาคิดว่า อิสรภาพดังกล่าวคุ้มค่ามาก

และเมื่อมองย้อนกลับไป จึงอดภาคภูมิใจโดยอ้อมกับตัวเองไม่ได้ว่า ขนาดไม่ใช่สิ่งที่ชอบจริงๆ จังๆ ยังเรียนได้จนจบสี่ปี แม้จะเป็นความเห็นที่เข้าข้างตัวเอง แต่เขาก็ยอมรับมันในฐานะข้อเท็จจริง

หลังจากทำงานมาได้ระยะหนึ่ง ผู้ให้สัมภาษณ์ก็มีไอเดียจะโยกย้ายสายงานอยู่บ้าง แม้คงไม่เกิดขึ้นเร็วๆ นี้ สายงานที่ว่าก็บังเอิญไม่ใช่ทั้งสิ่งที่เรียนมา และไม่ใช่สิ่งที่เคยชอบสมัยเรียนด้วย ไม่ได้เกี่ยวกับสัตว์หรือเทคโนโลยีแต่อย่างใด เพียงแต่ระยะหลังมา หลังจากต้องแบกคอมพ์ไปทำงานตามร้านคาเฟ่ต่างๆ เนื่องจากเสียงละครโทรทัศน์และกิจการครัวของทางบ้านไม่เอื้อให้ทำงานได้อย่างสงบ รู้ตัวอีกที ผู้ให้สัมภาษณ์ก็พบว่า ตนเองหลงใหลในต้นกระบองเพชรที่ประดับตามร้านกาแฟ จากที่สนใจมันในฐานะอะไรสักอย่างที่มีสีเขียวคอยคั่นเวลาและคั่นสายตาระหว่างประชุม ก็พัฒนาไปเป็นกลายควานหาสายพันธุ์ต่างๆ มาเพาะเลี้ยงเองที่ห้อง ไปจนถึงเริ่มขายต่อให้คนรู้จักกลุ่มเล็กๆ

เขาบอกเราว่า หากวันหนึ่งเขาตัดสินใจเปลี่ยนมาเลี้ยงต้นกระบองเพชรขาย ก็ค่อนข้างมั่นใจว่า ทักษะทางเทคโนโลยีที่ร่ำเรียนมาของตนเอง ก็คงจะก่อให้เกิดประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อย

สำหรับผู้เขียนเองตระหนักได้ว่า เมื่อวันหนึ่งมาถึง วันที่สิ่งซึ่งเคยเรียน แม้อาจไม่ใช่สิ่งที่ชอบนัก แต่กลายเป็นสิ่งที่ช่วยหล่อเลี้ยงชีวิตตนเองและครอบครัวได้ รวมทั้งทักษะที่ได้มายังช่วยให้เรา หากวันหนึ่งเกิดตกงานขึ้นมา การหางานใหม่ก็คงไม่ใช่เรื่องยากมากนัก การพิจารณาว่า ควรจะไปต่อในคณะที่ไม่ได้ชอบจริงๆ หรือไม่นั้น เมื่อมองย้อนกลับไปแล้ว จึงเหมือนมีองค์ประกอบอื่นๆ นอกเหนือจากความชอบดังเช่นที่กล่าวไป เพราะมันยังรวมถึงความจริงที่ว่า สาขาที่เราเรียนนั้นเป็นที่ต้องการหรือไม่ หางานยากหรือเปล่า และความจริงอีกข้อคือ หากวันหนึ่งความชอบของเราเปลี่ยนไปจะเกิดอะไรขึ้น

สำหรับหลายคนเลือกที่จะซิ่วแล้วไปสมัครเรียนใหม่ เมื่อพบว่า สิ่งที่เขากำลังเรียนอยู่นั้นไม่ใช่ทาง แต่ก็กลับมีนักศึกษาจำนวนมาก ที่กำลังเรียนสิ่งที่ตัวเองไม่ชอบและไม่ถนัด อะไรกันแน่คือสิ่งที่ควรจะเลือกเมื่ออยู่ในมหาวิทยาลัย เรียนให้จบเป็นพอ หรือเรียนในสิ่งที่ชอบ สำหรับผู้เขียนแล้ว การเรียนมหาวิทยาลัยในสิ่งที่ไม่ชอบ ก็อาจไม่ใช่เรื่องใหญ่ในชีวิตอย่างที่นักศึกษาจำนวนมากคิด