เรื่องราวของ คุณครู ศิริเลิศ ชูชาติ ข้าราชการบำนาญ จังหวัดมหาสารคาม อายุ 70 กว่าปี ที่กู้เงินตั้งแต่เริ่มรับราชการ เพื่อสร้างบ้านสำหรับอยู่อาศัย และคิดว่าตนเองมีการชำระหนี้ตรงตามเวลาทุกงวด แต่จนเกษียณอายุมาได้ 10 กว่าปีแล้วเงินต้นแทบไม่ลดลง ซึ่ง จิตเกษม พรประพันธ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายส่งเสริมความรู้ทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ชี้ว่า กรณีนี้ถือเป็นหนี้เรื้อรัง ที่เกิดจากการไม่มีความรู้ทางการเงิน เพราะที่ครูคิดว่า จ่ายตรงเวลานั้น เป็นการจ่ายเฉพาะหนี้ขั้นต่ำ ซึ่งไปตัดเฉพาะดอกเบี้ย แต่ไม่ตัดเงินต้น ทำให้ยอดหนี้คงค้างปัจจุบันสูงถึง 3.8 ล้านบาท
ครูศิริเลิศ บอกว่า เงินกู้ทั้งหมดไม่ได้นำมาใช้จ่ายฟุ่มเฟือย แต่เป็นการกู้มาซื้อบ้านและที่ดิน กู้มาเพื่อส่งบุตรเรียนหนังสือ เพราะความที่ข้าราชการครูมีเงินเดือนน้อย ก่อนเกษียณได้รับเงินเดือน 38,000 บาท และไม่มีอาชีพเสริมอย่างอื่น ค่าเล่าเรียนบุตรต้องกู้สวัสดิการทุกอย่างที่มี รวมถึงกู้ให้ตัวเองได้เรียนหนังสือเพื่อพัฒนาตัวเองด้วย และไม่เคยซื้อรถยนต์ มีแต่มอเตอร์ไซค์เท่านั้น
จิตเกษม กล่าวว่า เมื่อดูจากภาระหนี้คงค้างแล้ว เหมือนครูศิริเลิศ แต่ละงวดจะชำระเฉพาะขั้นต่ำ ทำให้เงินที่ผ่อนชำระไม่ตัดเงินต้น หรือเงินต้นลดน้อยลงมาก ทำให้เงินกู้ธนาคารออมสิน เหลือเงินต้นพอสมควร 9.7 แสนบาท การชำระขั้นต่ำตลอดเวลาจะทำให้เงินต้นลดลงไม่มาก ภาระหนี้จึงยังเหลืออยู่ กรณีนี้ถือว่าเป็นหนี้เรื้อรัง
ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องราวของชีวิตครูในชนบทคนหนึ่ง ที่เป็นหนี้เรื้อรังจนเกษียณมา 10 กว่าปีแล้วยังไม่สามารถปิดหนี้ได้ เป็นปัญหาของครูเกือบทั้งประเทศต้องแก้ไขอย่างเป็นระบบ ทั้งเรื่องเงินเดือน ภาระทางสังคม รวมถึงความรู้ทางการเงิน เกี่ยวกับการออม การหารายได้เพิ่ม ไปจนถึงการชำระหนี้ด้วย
อ่านบทสัมภาษณ์ฉบับเต็ม เป็นหนี้ต้องมีวันจบ (9):เป็นหนี้เรื้อรังจนเกษียณ เพราะไม่มีความรู้ทางการเงิน ได้ที่เว็บไซต์ไทยพับลิก้า
อย่าลืม Subscribe กดติดตาม ที่ช่องทาง