ThaiPublica > สู่อาเซียน > ‘เด็กหัว G’… เด็กไร้รัฐ ไร้สัญชาติ ไร้อนาคต

‘เด็กหัว G’… เด็กไร้รัฐ ไร้สัญชาติ ไร้อนาคต

8 กรกฎาคม 2023


ศรีนาคา เชียงแสน

เช้ามืดของวันที่ที่ 5 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา ขณะที่ผู้คนส่วนใหญ่ยังหลับใหลอย่างสุขสบายบนที่นอนที่แสนอบอุ่นในบ้านพักของตน อยู่ ๆ ก็มีรถบัส 4 คัน วิ่งเข้ามาจอดที่ลานจอดรถหน้าสถานีตำรวจภูธรบ้านดู่ อ.เมือง จ. เชียงราย ภายในรถคันนี้เป็นเด็ก ๆ อายุเฉลี่ยตั้งแต่ 7 ขวบ ถึง 15 ปี ทั้งชายและหญิง จำนวน 126 คน

ทั้งหมดถูกควบคุมตัวจากเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) และเจ้าหน้าที่จากกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)มาจากโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดอ่างทอง เพื่อนำตัวมากักกันที่สถานสงเคราะห์ต่าง ๆ (ประมาณ 5 แห่ง) ในจังหวัดเชียงราย เพื่อรอผลักดันส่งไปยังประเทศต้นทาง (เมียนมา) ตามระเบียบกฎหมายของทางราชการ

เด็ก ๆ เหล่านี้ไม่ได้กระทำความผิดอะไร เพียงแต่เพราะพวกเขาเลือกที่เกิดไม่ได้ และโชคร้ายที่ตอนเกิดมาพวกเขาเกิดเลยข้ามเส้นพรมแดนสมมุติไปหน่อยหนึ่ง ชีวิตพวกเขาจึงต้องพลิกผันกลายสภาพเป็น ‘เด็กหัว G’ ในวันนี้

‘เด็กหัว G’ คือใคร

สำหรับพวกเราทั่วๆไป พอได้ยินคำว่า ‘เด็กหัว G’ พลันจะนึกไปถึง เด็กเก่ง เด็กฉลาด เด็กจีเนียส(genius)…แต่ไม่ใช่เลย

ความหมายจริงช่างน่าเศร้า เพราะจริง ๆแล้ว พวกเขาเป็นเพียงเด็กธรรมดา ๆ ที่ถูกจับอยู่ในกลุ่มเด็กไร้รัฐ ไร้สัญชาติ และเมื่อมีโอกาสเข้าโรงเรียนไทยพวกเขาถูกกำหนดเลขประจำตัวโดยการขึ้นต้นด้วยอักษร G โดยตามนิยามของกระทรวงศึกษาธิการ

นักเรียนรหัส G หมายถึง นักเรียนที่ยังไม่มีบัตรประชาชนคนไทย ซึ่งพวกเขาต้องมีตัวเลขประจำตัวเพื่อใช้ในระบบการศึกษา แต่ไม่เกี่ยวกับเลข 13 หลักของกระทรวงมหาดไทย

โดยมีหลักการการกำหนดเลขใช้แทนเลข 13 หลัก ดังนี้
เลขหลักที่ 1 G คือ Generate หมายถึงการออกเลขประจำตัว 13 หลักที่ถูกกำหนดขึ้นโดยระบบ DMC (Data Management Center)
เลขหลักที่ 2 และ 3 หมายถึงรหัสจังหวัด
เลขหลักที่ 4 และ 5 หมายถึงรหัสอำเภอ
เลขหลักที่ 6 และ 7 หมายถึงรหัสปีการศึกษา
เลขหลักที่ 8 ถึง 13 หมายถึงเลขลำดับที่ของนักเรียนที่ไม่มีเลขประจำตัวคนที่เท่าใดของระบบฐานข้อมูล DMC

หน่วยงานที่ทำทะเบียนเด็กหัว G คือ กระทรวงศึกษาธิการ ปัจจุบันไม่มีข้อมูลว่า เด็กหัว G มีจำนวนเท่าไรกันแน่ แต่เมื่อย้อนไปดูข้อมูลของมหาดไทย เมื่อปี 2558 พบว่ามีเด็กนักเรียนรหัส G ราว 67,433 คน

ส่วนใหญ่มักอยู่ตามแนวตะเข็บชายแดนไทยซึ่งทั้งหมดนี้มีสถานะเป็นนักเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ และต่อมากระทรวงมหาดไทย ได้มอบหมายให้กรมการปกครอง ร่วมกับหน่วยงานองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านสถานะบุคคล ได้เข้าดำเนินการสำรวจเด็กกลุ่มนี้อีกครั้ง

ครั้งล่าสุดมาตั้งแต่ปี 2562 ถึงปัจจุบัน แม้จะยังไม่มีตัวเลขที่เป็นทางการปรากฏออกมา แต่จากการประมาณการทำให้เชื่อกันว่ามีเด็กหัว G ทั่วประเทศมีประมาณ 150,000 คน กระจายอยู่ใน 8 จังหวัด ที่สำคัญ ๆ ได้แก่ เช่น กรุงเทพ ฯ เชียงราย เชียงใหม่ ตาก ชลบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาครและ สระแก้ว เป็นต้น

เด็ก ๆ เหล่านี้มีโอกาสเล่าเรียนและได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานด้านการศึกษาเทียบเท่ากับเด็กไทย ทั้งนี้เป็นผลมาจากทางสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ได้ออก ‘ยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล’ เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2548 และมีผลบังคับใช้เรื่อยมา เพื่อใช้เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาการกำหนดสถานะและสิทธิของบุคคลที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยทุกกลุ่ม

อย่างไรก็ตามเด็กกลุ่มนี้ยังไม่มีสิทธิ์ในการเข้าถึงบริการอื่น ๆ ของรัฐ โดยเฉพาะสิทธิในการรักษาพยาบาล เนื่องจากยังไม่มีสถานะทางทะเบียน แม้ว่าหน่วยงานรัฐหลายหน่วยจะได้พยายามแก้ไขปัญหาคนกลุ่มนี้อยู่ หนึ่งในแนวทางช่วยเหลือที่เป็นรูปธรรมมากที่สุด คือการจัดโครงการสำรวจจัดทำทะเบียนเด็กหัว G ของกรมการปกครอง เพื่อสำรวจเด็กที่เข้าข่ายตามหลักเกณฑ์ที่จะได้บัตรหัวศูนย์ (บัตรบุคคลผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน) โดยมีหลักเกณฑ์เบื้องต้นว่า จะต้องเกิดในไทย และมีถิ่นที่อยู่ถาวร คนเหล่านี้จะเข้าคุณสมบัติจะได้บัตรหัวศูนย์ และสามารถยื่นคำร้องขอสัญชาติไทย ตามมาตรา 7 ทวิ ได้ในอนาคต

แต่การดำเนินการตามโครงการนี้ก็ยังเต็มไปด้วยความล่าช้า และเจอปัญหาอุปสรรคมากมาย โดยเฉพาะเปิดโอกาสให้เกิดการทุจริตจากเจ้าหน้าที่ในสำนักทะเบียนท้องถิ่นต่าง ๆ จนกระทบต่อความมั่นคงของประเทศในระยะยาว

ความล้มเหลวของนโยบายจัดการศึกษาของภาครัฐ

จากการตรวจสอบข่าวสารเพิ่มเติมพบว่า เด็ก ๆ 126 คน กลุ่มนี้ ถูกควบคุมตัวและส่งตัวมาจากโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 6 ต.บางเสด็จ อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง โดยที่ผ่านมาโรงเรียนแห่งนี้ก็เคยรับเด็กๆ ชาวอาข่าจากพื้นที่ชายแดนภาคเหนือเข้ามาเรียนปีละประมาณ 10
คน แต่เนื่องจากปีนี้ โรงเรียนไทยรัฐวิทยา มีเด็กชาวไทยเข้าเรียนประมาณ 7-8 คน ทำให้นางกัลยา ทาสม ผอ.โรงเรียนไทยรัฐ วิทยา 6 ต้องหานักเรียนมาเข้าเรียนในโรงเรียน เพื่อป้องกันโรงเรียนถูกยุบ ผู้บริหารจะถูกลดตำแหน่ง เนื่องจากจำนวนเด็กไม่ถึงเกณฑ์

เฉพาะในกรณีนี้ เรื่องแดงขึ้นเนื่องมาจากทางผู้อำนวยการโรงเรียน ได้พยายามขอทะเบียนนักเรียนที่ไม่มีสัญชาติ (G code)จากทางสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอ่างทอง แต่เมื่อเจ้าหน้าที่เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอ่างทองตรวจสอบพบว่ามีจำนวนเด็กที่มากผิดปกติ และตรวจพบว่ามีกระบวนการร่วมกันหลายฝ่ายนำพาเด็กจากประเทศเมียนมาเข้ามาเรียนในพื้นที่เป็นจำนวนมาก จึงได้มีการแจ้งความดำเนินคดีกับผู้อำนวยการโรงเรียนดังกล่าว และเตรียมผลักดันเด็กกลุ่มนี้กลับประเทศต้นทางทำให้ต้องออกจากการศึกษากลางคัน

ข่าวในระยะแรกทางผู้บริหารโรงเรียนมีการอ้างว่าโรงเรียนมีการนำเด็กชาวอาข่าจากประเทศเมียนมามาเรียนทุกปี ปีนี้มีจำนวน 130 คน เด็กทุกคนมาเรียนฟรี แบบกินนอนที่หอพัก โดยอาศัยทุนการศึกษาจากมูลนิธิวัดสระแก้ว และรับบริจาคเสื้อผ้าจากผู้มีจิตศรัทธา แต่ทางมูลนิธิ ฯรับภาระไม่ไหว เพราะเด็กเพิ่มขึ้นมาก ในปีนี้จึงขอให้โรงเรียนปิดหอพัก ทางโรงเรียนก็เลยจำเป็น ต้องส่งเด็กกลับ เผ่าอาข่า ประเทศเมียนมา(เป็นการส่งกลับเพราะความจำเป็นเรื่องงบประมาณ)

ข้อเท็จจริงไม่น่าจะเป็นเช่นนั้นทั้งหมด

แน่นอนทางกระทรวงศึกษาธิการเคยมีการออกระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการจัดตั้ง รวมหรือเลิกสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2550 และกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการยุบรวมเอาไว้

โดยปัจจุบันได้มีการร่างกฎกระทรวงฉบับใหม่ออกมาแล้ว และผ่านความเห็นชอบของ ครม. เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมานี้เอง โดยสาระสำคัญที่เป็นหัวใจของระเบียบเดิมคือ หากโรงเรียนใดมีจำนวนนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 หรือชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ไม่ถึง 10 คนติดต่อกันอย่าน้อย 3 ปีการศึกษา ก็จะต้องถูกยุบไปรวมกับโรงเรียนอื่นที่เหมาะสม

แต่ในระเบียบใหม่เปิดโอกาสให้ชุมชนที่มีความพร้อม เห็นความจำเป็น สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการเพื่อให้โรงเรียนสามารถดำเนินการต่อไปได้ไม่ถูกยุบรวมกับที่อื่น ซึ่งจะเป็นภาระในการเดินทางของเด็กและผู้ปกครองมากขึ้น

ระเบียบที่จะมีการยุบโรงเรียน เป็นเหมือนปัจจัยกระตุ้นให้ผู้บริหารโรงเรียนต่างพยายามหาเด็กเข้ามาเติมในระบบเข้าไว้
เพราะไม่ใช่แค่ประเด็นโรงเรียนถูกยุบ แต่ยังหมายถึงตำแหน่งฝ่ายบริหารที่ถูกลดลง ไม่รวมถึงเงินงบประมาณต่าง ๆ ที่ละลดลงด้วย เช่น เงินค่าวัสดุรายหัว หัวละ 2,000 บาท ต่อเด็กหนึ่งคน เงินค่าอาหารกลางวัน เงินค่านม งบก่อสร้าง หรืองบสนับสนุนอื่น ๆ เป็นต้น สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ ทำให้เกิดกระบวนการเหมือนขายตรง ต้องวิ่งหานักเรียนเข้ามาเติมในระบบโรงเรียน

เมื่อเด็กในพื้นที่ไม่พอเนื่องจากมีเด็กเกิดใหม่น้อยลงก็ต้องวิ่งหาเด็กจากชายแดน หรือร้ายกว่าคือต้องหาเด็กจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาเรียน เหตุการณ์เช่นนี้เกิดมานานแล้วในพื้นที่จังหวัดชายแดน เช่น เชียงราย เชียงใหม่ ตาก สระแก้ว แต่คาดไม่ถึงว่าจะลามเข้าไปเกิดในพื้นที่ชั้นในอย่างจังหวัดอ่างทองด้วย

จากข้อมูลพบว่าเฉพาะที่จังหวัดอ่างทองไม่ใช่แค่กรณีที่เกิดที่โรงเรียนนี้เพียงแห่งเดียว แต่ยังมีเรื่องเช่นนี้ในโรงเรียนอื่น ๆ ที่ใช้วิธีการรับเด็กต่างด้าวเข้ามาเพิ่มยอดนักเรียนด้วย จึงเป็นข้อสังเกตที่ทำให้เกิดข้อสงสัยได้ว่าเรื่องเช่นนี้ อาจจะเกิดขึ้นในพื้นที่อื่น ๆ อีกหลายจังหวัดทั่วประเทศอย่างแน่นอน

ที่มาภาพ : เว็บไซต์เดลินิวส์

อนาคตของเด็ก 126 คนนี้ และเด็กหัว G คนอื่น ๆ

เฉพาะเด็ก ๆ 126 คน ที่ถูกควบคุมตัวและส่งตัวมาจากโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 6 ต.บางเสด็จ อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง โดยมีคณะทำงานกรมกิจการเด็กและเยาวชน ร่วมกับตำรวจตรวจคนเข้าเมือง นำเยาวชนซึ่งเป็นเด็กนักเรียน โรงเรียนแห่งหนึ่ง ใน จ.อ่างทอง จำนวน 126 คน กลับสู่ภูมิลำเนา (ฝั่งตรงข้ามประเทศไทย ด้าน จ.เชียงราย – ตามกฎหมายว่าเข้ามาทางช่องทางไหนก็จะถูกส่งกลับทางช่องทางนั้น แต่ข้อเท็จจริงเป็นการดำเนินการตามที่เจ้าหน้าที่บริหารจัดการ เพื่อความสะดวกคล่องตัว ไม่มีการสำรวจจริง ๆ ว่าเด็กทั้งหมดเข้ามาทางช่องทางจังหวัดเชียรายทั้งหมด ) โดยมี น.ส.เอกรัตน์ นาคาคง รองผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง พร้อมด้วย นายอำเภอป่าโมก และ ผกก.สภ.ป่าโมก มาร่วมส่งตัวด้วย โดยมีตัวแทนของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และ พล.ต.ต.ฐิตวัฒน์ สุริยฉาย ผู้บังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี คอยให้การดูแล

อย่างไรก็ตามเมื่อเกิดกระแสข่าวขึ้น ได้เกิดกระแสประณามการกระทำของเจ้าหน้าที่ว่าจะเป็นการผลักดันเด็กผู้บริสุทธิ์กลุ่มนี้ออกนอกประเทศ ถือว่าเป็นการขัดกับหลักการที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ ที่รัฐไทยเป็นภาคี รวมถึงหลักการกฎหมายจารีตประเพณีว่าด้วยการไม่ผลักดันกลับในกรณีที่เด็กเหล่านี้จะกลับไปสู่อันตราย ไม่ว่าเด็กเหล่านั้นจะเป็นใคร จะมีสถานะบุคคลอย่างไร ก็ต้องได้รับความคุ้มครอง และได้รับการส่งเสริมให้เข้าถึงการศึกษา

ขณะเดียวกันนางเตือนใจ ดีเทศน์ อดีตสมาชิกวุฒิสภาเชียงราย นางปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ดร.ศรีประภา เพชรมีศรี อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้ประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนอีกหลายองค์กรต่างเดินทางมาสังเกตการณ์

อาจกล่าวได้ว่าแนวทางการดำเนินการกับเด็ก 126 คนนี้ ยังไม่มีข้อสรุป

ในชั้นต้นเด็กทั้งหมดถูกคัดแยกไปพักตามสถานสงเคราะห์ในพื้นที่ จ. เชียงราย รวม 5 แห่งเป็นการชั่วคราว เพื่อส่งกลับประเทศต้นทาง กล่าวคือ ในจุดยืนของภาคประชาสัมคมและคนที่ทำงานด้านสิทธิบุคคล สิทธิเด็ก ยืนกรานว่าเด็กเหล่านี้ คือประชากรโลกง คือผู้บริสุทธิ์ที่จะต้องให้ความช่วยเหลือ

ขณะที่หน่วยงานบังคับกฎหมายอย่างตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ก็ยืนยันว่าจะต้องผลักดันออกนอกประเทศตามกฎหมาย ส่วนหน่วยงานอื่น ๆ อาทิ กระทรวงศึกษาธิการที่ดูและทะเบียนเด็กกลุ่มนี้ก็ไม่มีความชัดเจน ทั้งเรื่องจำนวน หลักเกณฑ์การดำเนินการ แม้แต่หน่วยงานของกระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรและความมั่นคงของมนุษย์ก็ยังตอบไม่ได้ว่าจะดำเนินการอะไรต่อไป

พล.ต.ต.ฐิตวัฒน์ ริยฉาย ผู้บังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ที่ได้รับมอบหมายให้มาดูแลเรื่องนี้กล่าวว่า มีการแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ที่นำพาเด็กๆมาจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งขณะนี้อยู่ในกระบวนการนำเด็ก ๆ คืนให้ผู้ปกครอง ซึ่งยึดตามหลักฐานโดยต้องเป็นผู้ปกครองที่แท้จริง จริงๆแล้วเด็กเหล่านี้สามารถเรียนหนังสือในไทยได้ แต่ควรเรียนในพื้นที่ตามแนวตะเข็บชายแดน
แต่ครั้งนี้กลับเอาไปเรียนที่จังหวัดอ่างทอง ดังนั้นจึงต้องดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย

แหล่งข่าวระดับสูงในพื้นที่ เปิดเผยว่า ตามขั้นตอนของกฎหมายไม่ว่าจะมีเสียงประณามหรือคัดค้านจากภาคประชาสังคมอย่างไรก็ตาม ทางเจ้าหน้าที่ก็ไม่มีทางเลี่ยง แม้ว่าจะไม่มีการดำเนินคดีความใด ๆ กับเด็ก ๆ แต่ก็ต้องผลักดันเด็กเหล่านี้กลับไปยังประเทศต้นทางอยู่ดี ขณะนี้อยู่ระหว่างการประสานงานกับฝ่ายเมียนมาไว้แล้วรอเพียงความพร้อมในการรับตัวนำส่งผู้ปกครองของเด็กต่อไป

ผู้สื่อข่าวถามว่าหากไม่สามารถนำส่งพ่อแม้ตัวจริงได้จะทำยังไง เช่น หากพ่อแม่ตัวจริงลักลอบหลบหนีเข้ามาทำงานไทยแล้วไม่อาจแสดงตัวมารับบุตรของตนได้ แหล่งข่าวอธิบายว่าที่ผ่าน ๆ มาทางฝ่ายเมียนมาจะมีกระบวนการนำส่งไปยังญาติใกล้ชิดอยู่แล้วเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่มีหมุดหมายหรือแหล่งที่มา หรือหากหาญาติไมเจอจริง ๆก็เป็นเรื่องที่ฝ่ายทางการเมียนมาต้องพิจารณาดำเนินการเอง อาจจะไปอยู่ในสถานสงเคราะห์ของเขา หรืออะไรก็แล้วแต่ความเหมาะสม

นี่คือสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในขณะนี้ แต่วิถีและหน้าที่ความรับผิดชอบ บีบบังคับให้การดำเนินการต้องออกมาเป็นแบบนี้

แล้วใครละจะช่วยหาทางออกให้ประชากรโลกกลุ่มนี้…