ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup ฟิลิปปินส์ชู 5 อุตสาหกรรมเด่นดึงต่างชาติลงทุน เมียนมาเปิดโครงการทางหลวงย่างกุ้ง – กรุงเทพ

ASEAN Roundup ฟิลิปปินส์ชู 5 อุตสาหกรรมเด่นดึงต่างชาติลงทุน เมียนมาเปิดโครงการทางหลวงย่างกุ้ง – กรุงเทพ

20 ธันวาคม 2020


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 13-19 ธันวาคม 2563

  • ฟิลิปปินส์ชู 5 อุตสาหกรรมเด่นดึงต่างชาติลงทุน
  • เวียดนามจะเริ่มใช้ 5G กลางปี ​​2564
  • เวียดนามคาดใช้งบ 15.8 พันล้านดอลลาร์พัฒนาสนามบิน
  • เวียดนามลงนามข้อตกลงการค้าเสรีอังกฤษ
  • อินโดนีเซียเริ่มพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์
  • เมียนมาเตรียมส่งออกข้าวโพดมาไทย
  • เมียนมาเปิดโครงการทางหลวงย่างกุ้ง – กรุงเทพฯ
  • ฟิลิปปินส์ชู 5 อุตสาหกรรมเด่นดึงต่างชาติลงทุน

    ที่มาภาพ:
    https://www.philembassy.org.au/latest/news/ph-trade-and-investment-secretary-lopez-invites-au-business-to-make-it-happen-in-the-philippines

    กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม ฟิลิปปินส์ เปิดตัวแคมเปญการตลาดระหว่างประเทศ แคมเปญใหม่ “Make It Happen in the Philippines”อย่างเป็นทางการในปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยให้ความสำคัญกับการลงทุนใน 5 กลุ่มธุรกิจ

    แคมเปญ ‘Make It Happen in the Philippines มีเป้าหมายที่จะเชิญชวนนักลงทุนต่างชาติให้เลือกฟิลิปปินส์เป็นแหล่งลงทุน โดยกระทรวงการค้าและอุคสาหกรรมได้ทำการเปิดตัวแคมเปญไปแล้วกับออสเตรเลียและนิวซีแลนด์

    Make It Happen in the Philippines แคมเปญนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้มองหาโอกาสในอุตสาหกรรมการบิน ยานยนต์ทองแดง เทคโนโลยีสารสนเทศและการจัดการกระบวนการทางธุรกิจ และอิเล็กทรอนิกส์

    “แคมเปญใหม่ส่งเสริมการลงทุนของประเทศ เป็นมากกว่าแบรนด์ เพราะเป็นการบอกว่าเราเป็นใครในฐานะชาวฟิลิปปินส์และในฐานะรัฐบาล และยังแสดงให้เห็นถึงการปรับตัวที่แท้จริงของเรา รวมทั้งแนวคิดที่ทำได้ ซึ่งแสดงถึงความแข็งแกร่งและความสามารถในการปรับตัว แม้ในยามทุกข์ยาก” นายรามอน โลเปซ รัฐมนตรีกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมกล่าวสุนทรพจน์และแคมเปญนี้ยังเป็น “คำสัญญา” ที่ให้กับชาวฟิลิปปินส์ว่า ประเทศจะพัฒนากลับมาดีขึ้นท่ามกลางวิกฤติสุขภาพและวิกฤติเศรษฐกิจโลก

  • อุตสาหกรรมการบิน
  • ฟิลิปปินส์ วางตำแหน่งตัวเองให้เป็นศูนย์กลางการผลิตอากาศยาน และบริการหลังการขายในเอเชียแปซิฟิก

    กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมระบุว่า ซัพพลายเชนด้านการบินที่มีอยู่สามารถตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของอุตสาหกรรมได้ เนื่องจากฟิลิปปินส์เป็นที่ตั้งซัพพลายเออร์ชั้น 1 ของผู้ผลิตอากาศยานรายใหญ่ที่สุดของโลกเช่น โบอิ้ง และแอร์บัส

    ปัจุบันฟิลิปปินส์ผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน เช่น ระบบควบคุมการบิน การตกแต่งภายในห้องสุขา ห้องเก็บของ ระบบออกซิเจน และการประกอบแผงหน้าปัด ไปจนถึงวิศวกรรมการออกแบบผลิตภัณฑ์ ขณะที่การบำรุงรักษาและการซ่อมบำรุงอากาศยานในประเทศ กำลังขยายตัวเช่นกัน เนื่องจากสายการบินระหว่างประเทศรายใหญ่ส่วนหนึ่งเลือกให้ฟิลิปปินส์บำรุงรักษาฝูงบิน

    บริการด้านบำรุงรักษาและการซ่อมบำรุงอากาศยานในประเทศ ประกอบด้วย การบำรุงรักษาที่ลานจอดและในโรงซ่อม การจัดการฝูงบิน และการจัดที่นั่งในห้องโดยสาร

    ผู้เล่นด้านอุตสาหกรรมการบินที่อยู่ในฟิลิปปินส์ ได้แก่ คอลลินส์ แอโรสเปซ, มูก คอนโทรลส์, ลุฟท์ฮันซ่า เทคนิคและ เอสไอเอ เอ็นจิเนียริ่ง

  • รถยนต์
  • ฟิลิปปินส์ยังมีความพร้อมที่จะรองรับความต้องการส่งออกที่เพิ่มขึ้นสำหรับการประกอบยานยนต์ และการผลิตชิ้นส่วน ด้วยห่วงโซ่อุปทานรถยนต์ที่ครอบคลุมซึ่งมีผู้ผลิตชิ้นส่วนกว่า 380 ราย

    ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์รายใหญ่ในประเทศ ได้แก่ ยากาซากิ, เตอร์เรส, อินเตอร์เนชั่นแนล ไวริ่ง ซิสเต็มส์, และเอเชียน ทรานมิชชั่น คอร์ป ส่วนผู้ประกอบรถยนต์รายใหญ่ในประเทศ ได้แก่ โตโยต้า, มิตซูบิชิ, ฮอนด้า, เดนโซ, เคทีเอ็ม, สแกนเนีย และวอลโว่

  • ทองแดง
  • ฟิลิปปินส์มีแหล่งสำรองทองแดงที่ใหญ่เป็นอันดับสี่ของโลก จึงพร้อมที่จะตอบสนองความต้องการของตลาดในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งยังมีวิธีการสกัดและการผลิตที่หลากหลายเพื่อผลิตผลิตภัณฑ์จากทองแดงที่มีความต้องการสูงเช่น แคโทด อัลลอย และฟอยล์

    กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมตั้งเป้าหมายที่จะเชิญชวนให้ บริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุนในการพัฒนาเหมืองทองแดงระดับโลก ในโรงงานหล่อเหล็กลวด และการผลิตผลิตภัณฑ์ทองแดงที่มีมูลค่าสูง

    ฟิลิปปินส์มีปริมาณทองแดงสำรอง 4 พันล้านตัน แต่ละปีมีการผลิตทองแดงที่ไม่มีความชื้น 300,000 ตัน

  • ธุรกิจบริการ
  • ฟิลิปปินส์เป็นแหล่งที่มีชื่อเสียงสำหรับการลงทุนด้านบริการการจัดการธุรกิจและเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยมีแรงงานที่พูดภาษาอังกฤษและมีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี

    กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมระบุว่า ประเทศสามารถนำเสนอความเป็นไปได้และศักยภาพที่ไม่มีที่สิ้นสุดในด้านบริการการจัดการธุรกิจและเทคโนโลยีสารสนเทศ เพราะการผลิตและบริการมีการประสานงานกัน

    นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งที่แข่งขันได้ด้านต้นทุนสำหรับ บริษัทข้ามชาติที่จะตั้งสำนักงานในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา โดยฟิลิปปินส์มีส่วนแบ่งตลาดด้านบริการการจัดการธุรกิจและเทคโนโลยีสารสนเทศ 15% ของตลาดทั่วโลก และใหญ่เป็นอันดับสองของโลก

  • ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิคส์
  • ฟิลิปปินส์เป็นที่ตั้งของบริษัทเซมิคอนดักเตอร์และ บริษัทอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลกประมาณ 500 ราย อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของฟิลิปปินส์จึงเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของห่วงโซ่คุณค่าระดับโลก อุตสาหกรรมนี้มีสัดส่วน 61% ของรายได้จากการส่งออกของประเทศ

    กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมมุ่งยกระดับให้ประเทศเป็นที่ตั้งของบริษัทออกแบบแผงวงจร(IC) ที่แข่งขันได้ นอกจากนี้ยังมีโอกาสในภาคอุตสาหกรรมนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการผลิต การออกแบบชิป และการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ดั้งเดิมรวมทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีด้านการดูแลสุขภาพ ยานยนต์ การบิน แบตเตอรี่รถยนต์และอุปกรณ์สวมใส่อัจฉริยะ

    “ เรามั่นใจว่าการเปิดตัวแคมเปญ Make It Happen in the Philippine จะส่งสารที่ชัดเจนไปทั่วโลกว่า ฟิลิปปินส์มีพลวัต มีความคล่องตัวและมีความยืดหยุ่น ตอนนี้เราพร้อมที่จะเริ่มดำเนินการและทำให้สิ่งต่างๆเกิดขึ้น” นายโลเปซกล่าว

    เวียดนามจะเริ่มใช้ 5G กลางปี ​​2564

    ที่มาภาพ:
    https://e.vnexpress.net/news/news/5g-to-come-online-in-vietnam-mid-2021-telecom-authority-4208330.html

    กระทรวงข้อมูลและการสื่อสารจะอนุมัติให้มี การบริการ 5G อย่างเป็นทางการในปีหน้าหลังจากที่ทำการทดลองใช้มา 2 ปี

    “หลังจากการทดลองเชิงพาณิชย์ ผู้ให้บริการจะต้องประเมินผลที่เกี่ยวข้องด้านเทคนิค โอกาสทางการค้า รูปแบบธุรกิจและความต้องการของตลาด” นายเหงียน ฟอง ญา ผู้บริหารหน่วยงานการโทรคมนาคมแห่งประเทศเวียดนาม (VNTA)สังกัดกระทรวงข้อมูลและการสื่อสารเปิดเผย

    กระทรวงข้อมูลและการสื่อสารคาดว่าจะอนุมัติให้มีการบริการ 5G ในกลางปี ​​2564 อย่างไรก็ตามคงไม่มีการติดตั้งทั่วประเทศในทันที ขึ้นอยู่กับความต้องการของตลาด เช่น เมืองใหญ่ ๆ อย่าง ฮานอย โฮขิมินห์ซิตี้ หรือดานัง จะได้รับความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ เนื่องจากมีความต้องการบริการความเร็วสูงและมีประชากรหนาแน่น เช่นเดียวกันกับพื้นที่อุตสาหกรรมที่มีการลงทุนจากต่างประเทศซึ่งจำเป็นสำหรับโรงงานอัจฉริยะ

    ผู้ให้บริการโทรคมนาคมรายใหญ่ 3 รายหลัก คือ วีเอ็นพีที, โมบิโฟน และ เวียดเท็ลได้ทดลองให้บริการ 5G ในเชิงพาณิชย์ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ผู้ใช้บริการของทั้งสามรายนี้สามารถทดลองใช้การเชื่อมต่อ 5G ได้ด้วยตนเองในพื้นที่ทดสอบด้วยสมาร์ทโฟนที่รองรับ 5G

    การทดลองใช้ 5G โดย วีเอ็นพีทีและ เวียดเท็ล พบว่ามีความเร็วสูงถึง 1 กิกะบิตต่อวินาที ซึ่งสูงกว่า 4G ถึง 10 เท่า ผู้ให้บริการโทรคมนาคมในเวียดนามคาดว่าจะกำหนดค่าบริการ 5G ในอัตราเดียวหรือใกล้เคียงกับ 4G และผู้ใช้บริการไม่ต้องเปลี่ยนซิมการ์ด

    ตัวแทน วีเอ็นพีทีให้ข้อมูลว่า “ 5G จะใช้งานได้ฟรีในช่วงทดลองใช้งานอย่างน้อยจนถึงสิ้นเดือนมกราคม 2564 หลังจากนั้นจะเก็บเงินโดยราคาจะใกล้เคียงกับ 4G” ซึ่งตัวแทนโมบิโฟนมีความเห็นในทิศทางเดียวกัน

    ในอีก 2 ปีข้างหน้าการใช้งาน 5G จะมุ่งเน้นไปที่พื้นที่อุตสาหกรรมและเมืองใหญ่ ๆ และในช่วงปี 2566 ถึงปี 2568 จะมีการกระจายออกไปอย่างกว้างขวางเช่นเดียวกับ 4G โดยไปถึงพื้นที่ชนบท

    เวียดนามวางแผนที่จะให้บริการ 5G ทั่วประเทศภายในปี 2573 โดยให้บริการการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์สำหรับประชาชนทุกคนในราคาประหยัด

    เวียดนามคาดใช้งบ 15.8 พันล้านดอลลาร์พัฒนาสนามบิน

    ที่มาภาพ:
    https://www.vir.com.vn/acv-proposed-for-terminal-t3-at-tan-son-nhat-international-airport-66983.html
    รายงานของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งเวียดนาม (CAAV) ประเมินว่า เวียดนามมีความต้องการใช้เงินจำนวน 365.1 ล้านล้านดอง (15.8 พันล้านดอลลาร์) เพื่อสร้างและขยายสนามบินในทศวรรษหน้า

    โครงการพัฒนาครอบคลุม การก่อสร้างเฟสแรกของสนามบินนานาชาติล็องถั่ญ ทางตอนใต้ของจังหวัดด่งนาย สนามบินซาปาในทางตอนเหนือของจังหวัดหล่าวกาย และสนามบินกว๋างจิในตอนกลางของจังหวัดกว๋างจิ

    ร่างแผนการพัฒนาที่จัดทำโดย CAAV ยังรวมถึงการขยายสนามบินหลักบางแห่ง ได้แก่สนามบินนานาชาติเตินเซินเญิ้ตในโฮจิมินห์ สนามบินนานาชาติโหน่ยบ่ายในฮานอย สนามบินนานาชาติดานัง และสนามบินนานาชาติกามซัญ

    โครงการที่มีลำดับความสำคัญสูงสุด คือ การพัฒนาระยะแรกสนามบินล็องถั่ญ และการขยายสนามบินโหน่ยบ่าย ซึ่งมีมูลค่าเกือบ 5 พันล้านดอลลาร์ต่อโครงการ

    การขยายสนามบินเตินเซินเญิ้ต สนามบินดานัง และสนามบินนานาชาติกามซัญมีมูลค่ารวมกว่า 5 พันล้านดอลลาร์

    ในแผน เงินทุนจะมาจากแหล่งเงินกู้เพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการ เงินกองทุนของรัฐ ธนาคารและ บริษัทเอกชนภายใต้รูปแบบความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน(public-private partnership:PPP)

    CAAV ได้เสนอให้รัฐบาลอนุมัติเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ค้ำประกันเงินกู้จากธนาคาร และออกมาตรการภาษีและที่ดินที่เอื้ออำนวยเพื่อดึงดูดการลงทุนของภาคเอกชนในอุตสาหกรรมการบิน

    ตรัน กว๋าง เชา รองประธานสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการบินแห่งเวียดนาม (VAAST) กล่าวว่า การลงทุนภาคเอกชนจะเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาสนามบินใหม่ เนื่องจากงบประมาณของรัฐมีข้อจำกัด อย่างไรก็ตามจำเป็นต้องมีกรอบทางกฎหมายเพื่อเป็นการรับประกันให้กับนักลงทุนว่า สามารถได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนได้ โดยเฉพาะการขยายสนามบินหลักบางแห่ง เช่น เตินเซินเญิ้ต และโหน่ยบ่าย ซึ่งมีแนวโน้มที่จะดึงดูดความสนใจของนักลงทุน

    ผู้เชี่ยวชาญคนอื่น ๆ ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับความจำเป็นของโครงการ เพราะสนามบินบางแห่งอาจไม่ทำเงิน อันมาจากความต้องการที่ต่ำ

    ผู้เชี่ยวชาญด้านการบิน เหงียน เทียน ถง กล่าวว่า สนามบินกว๋างจิที่วางแผนไว้อยู่ห่างจากสนามบินนานาชาติฟู้บ่ายที่มีอยู่แล้วในจังหวัดเถื่อเทียน เว้และสนามบินดองฮอยในจังหวัดกว๋างบินห์เพียง 60-80 กิโลเมตร ผู้โดยสารสามารถเดินทางไปยังสนามบินใกล้เคียงเหล่านี้ ซึ่งอาจลดความต้องการในกว๋างจิและทำให้สนามบินที่นั่นต้องประสบกับการขาดทุนไม่ว่าจะลงทุนโดยภาคเอกชนหรือภาครัฐ

    ฮวง วัน กวง สมาชิกของคณะกรรมการการเงินและงบประมาณของสมัชชาแห่งชาติกล่าวว่า เงินกองทุนของรัฐควรใช้สำหรับโครงการขนาดย่อมที่สำคัญและมีผลกระทบด้านความมั่นคงของชาติเช่น การสร้างรันเวย์ และการปรับที่ดิน รัฐบาลควรพยายามดึงดูดนักลงทุนเอกชนสำหรับโครงการโครงสร้างพื้นฐานการบินอื่น ๆ เช่น อาคารผู้โดยสาร พื้นที่จัดเก็บกระเป๋าหรืออื่นๆ และลานจอดอากาศยานระยะไกล

    CAAV ยังคาดการณ์ว่าประเทศจะต้องใช้เงินอีก 866.36 ล้านล้านดองในช่วงปี 2573-2593 เพื่อพัฒนาโครงการด้านการบินเพิ่มเติมรวมถึงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 2 ในฮานอยและเพิ่มขีดความสามารถของสนามบินอื่น ๆ เป็น 2 เท่าหรือ 3 เท่า

    เวียดนามลงนามข้อตกลงการค้าเสรีอังกฤษ

    ที่มาภาพ: https://en.nhandan.com.vn/business/item/9391602-vietnam-uk-issue-joint-statement-concluding-free-trade-negotiations.html

    นายตรัน ต่วน อานห์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนาม และ นางลิซ ทรัสส์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าระหว่างประเทศของสหราชอาณาจักร ได้ลงนามในรายงานการประชุมข้อสรุปของการเจรจา ข้อตกลงการค้าเสรีสหราชอาณาจักร – เวียดนาม (UKVFTA)ที่ตกลงร่วมกัน

    นายตรัน ต่วน อานห์ กล่าวว่า ทั้งสองฝ่ายเริ่มการเจรจาในเดือนสิงหาคม 2018 เพื่อไม่ให้มีการค้าทวิภาคีหยุดชะงัก โดยการเจรจาอยู่บนพื้นฐานข้อตกลงการค้าเสรีสหภาพยุโรป – เวียดนาม (EVFTA) โดยมีการเจรจาอย่างเป็นทางการ 6 ครั้งและการประชุมทางวิชาการ 5 ครั้งในช่วงปี 2561 และ 2563

    เวียดนามและสหราชอาณาจักรจะดำเนินการร่วมกันในการลงนามข้อตกลงการค้าอย่างเป็นทางการซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในต้นปี 2564 เพื่อผลประโยชน์ร่วมกันของธุรกิจและประชาชนของทั้งสองประเทศ

    นายตรัน ต่วน อานห์เชื่อมั่นว่า UKVFTA จะขับเคลื่อนการค้าและการลงทุนระดับทวิภาคีและเป็นช่องทางหนึ่งของสองประเทศในการก้าวข้ามความท้าทายที่เกิดจากการระบาดของโรคโควิด -19 และขับเคลื่อนความสัมพันธ์ทางการค้าที่แข็งแกร่ง

    ส่วนนางลิซ ทรัสส์ กล่าวว่า ข้อสรุปของการเจรจาเป็นปัจจัยสำคัญในการประกันความต่อเนื่องของความสัมพันธ์ทางการค้าที่มีพลวัตและเติบโตระหว่างสองประเทศ และข้อตกลงนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในบริบทของสหราชอาณาจักรที่จะยื่นเข้าร่วมในข้อตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนข้ามมหาสมุทรแปซิฟิก (CPTPP) อย่างเป็นทางการในต้นปี 2564

    ข้อตกลงการค้าเสรีจะยังคงสิทธิประโยชน์ของความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างเวียดนาม – อังกฤษในข้อตกลงการค้า EVFTA และเมื่่อดำเนินการยกเลิกภาษีเสร็จสิ้นตามแผน จะส่งผลให้ภาษีของสินค้าที่ซื้อขายระหว่างเวียดนามและอังกฤษลดลง 99% ซึ่งหมายความว่าเวียดนามจะประหยัดเงินได้ประมาณ 114 ล้านปอนด์ในการส่งออกไปยังสหราชอาณาจักร และสหราชอาณาจักรจะประหยัดเงิน 36 ล้านปอนด์ อีกทั้งการค้าสินค้า เช่น เสื้อผ้าและสิ่งทอ เครื่องหนังรองเท้า และอาหารทะเล จะไม่มีการขาดตอน โดยที่บริการด้านการค้า การเงินและอีคอมเมิร์ซจะเติบโตต่อไป

    อินโดนีเซียเริ่มพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์

    ที่มาภาพ: https://www.thejakartapost.com/news/2020/12/18/indonesia-kicks-off-largest-solar-power-plant-development.html

    อินโดนีเซียเริ่มต้น การพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ลอยน้ำซิราต้าในจังหวัดชวาตะวันตก อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 17 ธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการเชิงยุทธศาสตร์ระดับชาติ เนื่องจากรัฐบาลตั้งเป้าที่จะส่งเสริมการสนับสนุนพลังงานหมุนเวียนใในการใช้พลังงานโดยรวมของประเทศ

    พีที พีเจบี มาสดาร์ โซลาร์ เอ็นเนอจี้ บริษัทร่วมทุนระหว่าง เพ็มบังกีตาน ชวา บาหลีซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ พีแอลเอ็น(PLN) บริษัทผลิตไฟฟ้าของรัฐและ บริษัทมาสดาร์ ธุรกิจพลังงานหมุนเวียนจากอาบูดาบี ได้ทำการเปิดตัวโรงไฟฟ้า ซึ่งการรับรู้การลงทุนของมาสดาร์ในครงการนี้มีเพียง 1.97% ของการลงทุนทั้งหมด

    หน่วยงานส่งเสริมการลงทุน(Investment Coordinating Board) และรัฐบาลให้คำมั่นว่า จะสนับสนุนและดูแลความคืบหน้าของโครงการอย่างเต็มที่

    โรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์เซลล์แสงอาทิตย์ ซิราต้ามีกำลังการผลิต 50 เมกะวัตต์ (MW) ในช่วงแรกของการพัฒนาและจะทะยอยเพิ่มขึ้นเป็น 145 เมกะวัตต์ภายในปี 2565 โดยสรีเพนี อินเทน คาห์ยานี ผู้อำนวยการฝ่ายจัดซื้อเชิงกลยุทธ์ของ PLN 1 เปิดเผยว่า PLN จะซื้อไฟฟ้าในราคา 5.8 เซนต์ต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง (kwH)

    เมื่อดำเนินการเต็มรูปแบบ โครงการนี้คาดว่าจะเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ใหญ่ที่สุดของอินโดนีเซียและเป็นโรงไฟฟ้าลอยน้ำที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้แผนการใช้พลังงานยังประเมินว่าจะสามารถจ่ายไฟให้กับบ้านเรือน 50,000 หลังและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 200,000 ตันต่อปี โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงทางธุรกิจกับอาบูดาบี ระหว่างการเยือนอาบูดาบีของประธานาธิบดีโจโก วิโดโดเมื่อวันที่ 12 มกราคม

    นายอิกห์ซาน อัสสาด ผู้อำนวยการโครงการขนาดใหญ่ของ PLN กล่าวว่า โรงไฟฟ้าซิราต้าจะมีส่วนสนับสนุนเป้าหมายของอินโดนีเซียในการมีพลังงานหมุนเวียน 23% ของพลังงานทั้งหมดของประเทศ ในปีนี้ PLN สามารถเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนเป็น 13.6% แม้มีการระบาดของ ไวรัส-19 ซึ่งสูงขึ้นจาก 9.15% ในปี 2562

    “เราหวังว่าสัดส่วนนี้จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและเราสามารถบรรลุเป้าหมายการมีพลังงานหมุนเวียนในพลังงงานโดยรวม” นายอัสสาดกล่าว ด้านนายโมฮัมหมัด จามีล อัล รามาฮี ซีอีโอของมาสดาร์กล่าวว่า บริษัทเลือกอินโดนีเซียเนื่องจากมีแผนที่จะขยายธุรกิจในเอเชียผ่านการลงทุนในอินโดนีเซีย “นี่เป็นความสำเร็จครั้งสำคัญสำหรับ บริษัทของเราเนื่องจากเป็นการขยายตัวของมาสดาร์ในภูมิภาคนี้”

    เมียนมาเตรียมส่งออกข้าวโพดมาไทย

    ที่มาภาพ: https://www.gnlm.com.mm/myanmar-to-export-corn-to-thailand-under-zero-tariff-from-1-february/

    อู มิน เค็ง ประธานสมาคมอุตสาหกรรมข้าวโพดของเมียนมา เปิดเผยว่า เมียนมาเตรียมส่งออกข้าวโพดไปยังไทย เนื่องจากอัตราภาษีลดลงเป็นศูนย์ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564

    ประเทศไทยกำหนดอัตราภาษีนำเข้าไว้สูงในช่วงฤดูข้าวโพดเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของเกษตรกร แต่ยกเว้นภาษีสำหรับการนำเข้าข้าวโพดระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงสิงหาคม

    “ประเทศไทยเรียกเก็บภาษี 73% การนำเข้าข้าวโพดในช่วงฤดูเก็บเกี่ยว ภาษีศุลกากรที่สูงทำให้ผู้ส่งออกของเมียนมาหยุดการค้าในช่วงนั้น ดังนั้นเราจึงรอจนถึงช่วงการยกเว้นภาษีตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ถึง 31 สิงหาคม”

    ประเทศไทยนำเข้าข้าวโพดจากตลาดต่างประเทศมากถึง 5 ล้านตันต่อปี ด้วยการบริโภคข้าวโพดในประเทศที่เพิ่มขึ้น การส่งออกข้าวโพดของเมียนมาคาดว่าจะสูงถึง 1.6 ล้านตันในปีงบประมาณปัจจุบัน

    ปัจจุบันการส่งออกข้าวโพดของเมียนมาพึ่งพาการค้าชายแดนเป็นหลัก เมียนมาส่งข้าวโพดไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ จีน ลาว และไทยเป็นหลัก นอกจากนี้ยังส่งไปยังสิงคโปร์ มาเลเซีย และเวียดนามผ่านทางการค้าทางทะเล โดยข้าวโพดมีราคา 230-240 เหรียญสหรัฐต่อตัน

    เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2563 ดร. ตาน มินต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของเมียนมาได้พบกับคณะผู้แทนของสมาคมนำโดย อู มิน เค็งเพื่อหารือเกี่ยวกับการเปิดกว้างทางการค้าข้าวโพดกับไทย ช่องทางการค้าอย่างถูกกฎหมายไปยังประเทศจีน การสำรวจตลาดข้าวโพดเพิ่มเติมและการเปิดคลังเก็บข้าวโพดที่ชายแดนเมียวดี เพื่ออำนวยความสะดวกในการค้าข้าวโพดและหลีกเลี่ยงการถูกหลอก

    นอกจากนี้ยังหารือเกี่ยวกับการเข้าถึงเงินกู้จากรัฐบาลของเกษตรกรปลูกข้าวโพดเพื่อเพิ่มผลผลิตและกระตุ้นการส่งออกในยุคหลังโควิด -19 มาตรการควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัยและมีคุณภาพ การเลือกเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดพันธุ์แท้เพื่อการเพาะปลูก การดึงดูดการลงทุนในเครื่องปอกเปลือกข้าวโพด การประสานงานกับสมาคมที่เกี่ยวข้องกับการจัดหาวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ในประเทศ ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อภาคปศุสัตว์ และการชำระเงินในระบบสำหรับการค้าชายแดน

    เมียนมาส่งออกข้าวโพดไปยังตลาดต่างประเทศ 2.2 ล้านตันในช่วงปีงบประมาณ 2562-2563 ที่ผ่านมา รวมมูลค่าประมาณ 360 ล้านดอลลาร์

    ปัจจุบันมีการเพาะปลูกข้าวโพดในรัฐฉาน คะฉิ่น คะยาห์ และคะยิน และเขตมัณฑะเลย์ สะกาย และมะเกว เมียนมามีฤดูปลูกข้าวโพด 3 ฤดูคือฤดูหนาว ฤดูร้อน และฤดูมรสุม และผลิตข้าวโพดได้ 2.5-3 ล้านตันต่อปี

    เมียนมาและไทยเริ่มทำบันทึกความเข้าใจการค้าข้าวโพดเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2560 ซึ่งการส่งออกข้าวโพดของเมียนมาได้รับการยกเว้นภาษีระหว่างวันที่ 1 กุมภาพันธ์ถึง 31 สิงหาคม

    เมียนมาเปิดโครงการทางหลวงย่างกุ้ง – กรุงเทพฯ

    ที่มาภาพ:
    https://mmbiztoday.com/yangon-to-bangkok-highway-project-kicks-off/

    กระทรวงการก่อสร้างเมียนมา เปิดเผยว่า ได้เปิดตัวโครงการทางหลวงย่างกุ้ง – กรุงเทพฯ ที่จะช่วยให้เดินทางระหว่างกรุงเทพฯ-ย่างกุ้งโดยรถประจำทางใช้เวลาเพียง 9 ชั่วโมงแล้ว ด้วยความช่วยเหลือทางการเงินจากธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย

    ปัจจุบันการเดินทาง 570 ไมล์ ด้วยรถจากติลาวา ใน ย่างกุ้ง ไปยังกรุงเทพฯใช้เวลา 16 ชั่วโมง แต่หนึ่งในเส้นทางใหม่จะใช้เวลาขับรถ 4.5 จากเมืองติลาวาไปยังเมืองเมียวดีชายแดนพม่า – ไทยและอีก 4.5 ชั่วโมงจากแม่สอดเข้าไทย

    ทั้งสองฝ่ายอยู่ระหว่างการเจรจาเกี่ยวกับโครงการ โดยดร.จอว์ ลิน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการก่อสร้างกล่าว

    เพื่อเชื่อมต่อท่าเรือติลาวากับกรุงเทพฯภายใน 9 ชั่วโมง เมียนมาได้สร้างถนนวงแหวนรอบนอกในย่างกุ้งเพื่อหลีกเลี่ยงการจราจรที่ติดขัด ซึ่งเริ่มต้นจากสุสานสงครามเทาเกียนไปยังตัวเมืองย่างกุ้ง ซึ่งหนาแน่นไปด้วยรถประจำทางรถยนต์และยานพาหนะอื่นๆ นอกจากนี้ยังสร้างทางด่วนสายใหม่ที่เชื่อมระหว่างพะโคและไจ้ทิโยรวมถึงถนนวงแหวนรอบนอกในเมืองอื่น ๆ เช่น ไจ้ทิโย สะเทิม และ บี้ลิน

    ถนนเส้นทางย่างกุ้ง – กรุงเทพฯจะทำให้เกิดระเบียงเศรษฐกิจใหม่สำหรับเมืองทางตะวันออกของย่างกุ้งเช่น ตันลยิน, โตนกวะ Thonegwa, คะยัน , ตะนะปีน, พะโค และไจ้ทิโย ที่ช่วยให้พวกเขาเติบโต

    ระเบียงเศรษฐกิจจะกระตุ้นการค้ากับไทยซึ่งเป็นคู่ค้าอันดับสองของเมียนมาในแง่ของปริมาณการค้า การค้าของสองประเทศมีมูลค่าประมาณ 5.4 พันล้านดอลลาร์ นอกจากนี้ยังจะเปิดให้ประเทศในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงอื่น ๆ ได้แก่ ลาว กัมพูชาและเวียดนาม ใช้ท่าเรือติลาวาเพื่อเข้าถึงตลาดต่างประเทศ ผ่านการใช้ท่าเรือที่เมียนมา

    นอกจากนี้ ท่าเรือบก เขตเศรษฐกิจและสถานที่เก็บสินค้าใหม่ จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศและสร้างงาน หากเมียนมาสามารถพัฒนาพื้นที่สองข้างทางถนนได้