ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup เวียดนามเปิดรับวัคซีนพาสปอร์ต 72 ประเทศและเขตปกครอง

ASEAN Roundup เวียดนามเปิดรับวัคซีนพาสปอร์ต 72 ประเทศและเขตปกครอง

24 ตุลาคม 2021


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 17-23 ตุลาคม 2564

  • เวียดนามเปิดรับวัคซีนพาสปอร์ต 72 ประเทศและเขตปกครอง
  • นายกรัฐมนตรีเวียดนามยืนยันเศรษฐกิจฟื้นตัวจากโควิด-19
  • สิงคโปร์เปิดรับต่างชาติจากเอเชียใต้ ผ่อนปรนมาตรการให้ มาเลเซีย-อินโดนีเซีย
  • มาเลเซียจะเปิดเกาะลังกาวีรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ 15 พ.ย.
  • กัมพูชาจะไม่สั่งธุรกิจหยุดดำเนินการอีกแล้วแม้มีโควิด
  • ลาวยกเลิกการออกใบอนุญาตนำเข้ารถแทรกเตอร์ รถไถเดินตาม
  • เมียนมาดึงเงินลงทุนสิงคโปร์ 429 ล้านดอลลาร์ปีงบประมาณ 2563-2564
  • เวียดนามเปิดรับวัคซีนพาสปอร์ต 72 ประเทศและเขตปกครอง

    ที่มาภาพ: https://e.vnexpress.net/news/news/vietnam-accepts-vaccine-passports-from-72-countries-territories-4375068.html

    เวียดนามยอมรับหนังสือเดินทางวัคซีนโควิด-19 จาก 72 ประเทศและเขตปกครอง และกำลังหารือเรื่องนี้กับอีก 80 ประเทศ กระทรวงการต่างประเทศเปิดเผยเมื่อวันพฤหัสบดี(21 ต.ค.)

    “ปัจจุบันเวียดนามยอมรับใบรับรองการฉีดวัคซีนชั่วคราว หรือที่เรียกว่าหนังสือเดินทางวัคซีน จาก 72 ประเทศและเขตปกครองตามที่กระทรวงการต่างประเทศได้รับการเสนอแนะจากสำนักงานผู้แทน” เล ถิ ทู หั่ง โฆษกหญิงของกระทรวงการต่างประเทศกล่าวในการแถลงข่าวเพื่อตอบคำถามเกี่ยวกับนโยบายของเวียดนามในการให้ชาวต่างชาติที่ได้รับวัคซีนครบถ้วนเข้าประเทศ

    “กระทรวงกำลังหารือกับพันธมิตรเกือบ 80 รายเกี่ยวกับการยอมรับหนังสือเดินทางวัคซีนของกันและกัน ใบรับรองการฉีดวัคซีนของเวียดนามยังได้รับการยอมรับจากบางประเทศและสามารถใช้เพื่อเข้าสู่ประเทศเหล่านั้นได้” หั่งกล่าว

    ในเดือนกันยายน สนามบิน วาน ดอน ของ จังหวัด กว๋างนิญ ได้ต้อนรับเที่ยวบินหลายเที่ยวบินที่มีผู้ถือหนังสือเดินทางวัคซีนในช่วงทดลอง ซึ่งช่วยให้ชาวเวียดนามหลายร้อยคนจากสหรัฐฯ ฝรั่งเศส และญี่ปุ่นเดินทางกลับเวียดนามได้ ผู้โดยสารทุกคนได้รับวัคซีนครบ มีสุขภาพที่ดีและมีผลตรวจโควิดเป็นลบ จากการตรวจหาเชื้อภายใน 72 ชั่วโมงก่อนบิน

    ภายใต้กฎปัจจุบัน แม้แต่ผู้ที่มีหนังสือเดินทางวัคซีนยังต้องกักตัวในศูนย์เป็นเวลา 7 วัน

    นายกรัฐมนตรีเวียดนามยืนยันเศรษฐกิจฟื้นตัวจากโควิด-19

    นายกรัฐมนตรีฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ ที่มาภาพ: https://tuoitrenews.vn/news/business/20211020/vietnam-pm-promises-economy-will-rebound-from-covid19-hit/63678.html

    นายกรัฐมนตรีฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ รายงานฝ่ายนิติบัญญัติว่า เศรษฐกิจของเวียดนามจะฟื้นตัว โดยการส่งออกมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น 10.7% ในปี 2564 และคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะต่ำกว่า 4%

    นายกรัฐมนตรีรายงานต่อสมัชชาแห่งชาติ (National Assembly)เมื่อวันพุธ(20 ต.ค)ว่า เวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศเศรษฐกิจที่เติบโตเร็วที่สุดแห่งหนึ่งของเอเชีย ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการระบาดของไวรัสโคโรนา ที่ทำให้ห่วงโซ่อุปทานหยุดชะงักและกระทบคนงานในอุตสาหกรรมหลัก

    นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(GDP) ไตรมาส 3 ปี 2564 หดตัว 6.17% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีการระบาดของไวรัส ซึ่งเป็นไตรมาสที่หดตัวมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ จากผลกระทบของมาตรการ

    นายกรัฐมนตรีคาดว่า GDP จะขยายตัว 6.0%- 6.5% ในปีหน้า โดยรัฐบาลตั้งเป้าที่จะคุมอัตราเงินเฟ้อไว้ที่ 4%

    “การบรรลุเป้าหมายปี 2565 ให้เป็นจริงเป็นงานที่หนัก แต่เราจะฟื้นฟูเศรษฐกิจของเราอย่างแน่นอน” นายกรัฐมนตรีกล่าว แม้การระบาดใหญ่จะทำให้เสถียรภาพเศรษฐกิจมหภาคมีความเสี่ยง

    “อัตราเงินเฟ้อกำลังเผชิญกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น และห่วงโซ่อุปทานชะงักงัน ชีวิตคนงานได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง”

    แม้เวียดนามจะควบคุมโรคโควิด-19 ได้เป็นส่วนใหญ่จนถึงเดือนพฤษภาคม การระบาดอย่างรวดเร็วของไวรัสกลายพันธุ์เดลต้าในศูนย์กลางเศรษฐกิจของนครโฮจิมินห์ นำไปสู่การล็อกดาวน์และจำกัดการดำเนินธุรกิจในวงกว้าง และส่งผลกระทบต่อจังหวัดฐานการผลิตสำคัญ ในบริเวณรอบๆ

    ในเดือนนี้ รัฐบาลคาดว่า การส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปในปีนี้ของเวียดนามจะพลาดเป้า โดยกรณีที่เลวร้ายที่สุดคือลดลง 5 พันล้านดอลลาร์ จากผลกระทบของมาตรการควบคุมและการขาดแคลนแรงงาน ทั้งนี้คาดว่าการส่งออกสิ่งทอจะมีมูลค่า 34 พันล้านดอลลาร์ เทียบกับเป้าหมาย 39 พันล้านดอลลาร์ และการขาดแคลนคนงานในโรงงาน 35%-37% ภายในสิ้นปีนี้

    นครโฮจิมินห์ประสบปัญหาการย้ายถิ่นของคนงานจำนวนมากนับตั้งแต่การล็อกดาวน์เมื่อเดือนที่แล้ว เพราะกังวลว่าจะติดอยู่ในการล็อกดาวน์นานหากมีการติดเชื้อระลอกใหม่อีกระลอกหนึ่ง

    สิงคโปร์เปิดรับต่างชาติจากเอเชียใต้ ผ่อนปรนมาตรการให้ มาเลเซีย-อินโดนีเซีย

    นักท่องเที่ยวจาก 6 ประเทศที่สิงคโปร์เคยระงับไปก่อนหน้านี้จะได้รับอนุญาตให้เดินทางมาเข้าได้อีกครั้งตั้งแต่วันพุธ(27 ต.ค.) จากการปรับมาตรการชายแดนเพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลก

    ผู้ที่เดินทางเข้าทุกคน ยกเว้นนักท่องเที่ยวระยะสั้น ที่มีประวัติการเดินทาง ไปยังบังกลาเทศ อินเดีย เมียนมา เนปาล ปากีสถาน และศรีลังกาในช่วงก่อนหน้า 14 วัน จะได้รับอนุญาตให้เข้าหรือเปลี่ยนเครื่องผ่านสิงคโปร์ กระทรวงสาธารณสุขแถลงในวันเสาร์ (23 ต.ค.)

    กระทรวงสาธารณสุขระบุว่า จะมีการผ่อนปรนมาตรการสำหรับผู้เดินทางจากประเทศอื่นๆ รวมทั้งมาเลเซียและอินโดนีเซีย

    กระทรวงฯ ระบุในแถลงการณ์ว่า ได้ทบทวนสถานการณ์โควิด-19 ในเมียนมาและ 5 ประเทศในเอเชียใต้ที่เคยระงับไปก่อนหน้านี้
    โดยผู้ที่เดินทางจากประเทศเหล่านี้จะต้องปฏิบัติตามมาตรการชายแดนที่เข้มงวดที่สุด ซึ่งกำหนดให้กักตัว10 วันตามมาตรการ stay-home notice (SHN) ในสถานที่ที่กำหนดไว้

    ในการแถลงข่าวผ่านระบบออนไลนของคณะทำงานเฉพาะกิจเมื่อวันเสาร์ รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขนายอ๋อง เย กุน กล่าวว่า สถานการณ์ในประเทศเหล่านี้ทรงตัวมาระยะหนึ่งแล้ว ไม่จำเป็นต้องใช้กฎเกณฑ์ที่เข้มงวดเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้เดินทางจากประเทศเหล่านี้เข้าสิงคโปร์อีกต่อไป

    กระทรวงสาธารณสุขระบุว่า การปรับเปลี่ยนมาตรการที่มีผลบังคับใช้ในวันพุธนี้ครอบคลุมถึงการผ่อนคลายมาตรการสำหรับผู้เดินทางจากประเทศเพื่อนบ้านที่ใกล้ที่สุดของสิงคโปร์ คือ มาเลเซียและอินโดนีเซีย ซึ่งจะต้องกักตัวตามมาตรการ SHN 10 วันโดยอัตโนมัติ ณ สถานที่อยู่อาศัยหรือที่พักที่แจ้งไว้ แทนที่จะเป็นสถานที่ที่รัฐกำหนด

    ที่มาภาพ: https://www.straitstimes.com/singapore/health/spore-to-open-to-travellers-from-south-asia-relaxes-measures-for-travellers-from

    สิงคโปร์แบ่งประเทศและภูมิภาคออกเป็น 4 กลุ่มตามสถานการณ์และความเสี่ยงของโควิด-19 พร้อมมาตรการชายแดนที่แตกต่างกันสำหรับแต่ละกลุ่ม

    ภายใต้มาตรการล่าสุด ผู้ที่เดินทางจากประเทศกลุ่มที่ 1 ได้แก่ ฮ่องกง มาเก๊า จีนแผ่นดินใหญ่ และไต้หวัน รวมถึงผู้ที่เดินทางมาจากประเทศกลุ่ม 2 ด้วยเที่ยวบินที่อยู่ภายใต้ข้อบังคับการเดินทางแบบ Vaccinated Travel Lane (VTL) ต้องตรวจหาเชื้อด้วย PCR เท่านั้นเมื่อเดินทางมาถึง

    ผู้ที่เดินทางเข้าทั้งหมดจากประเทศกลุ่ม 2 ด้วยเที่ยวบินที่ไม่ใช่ VTL จะไม่ต้องตรวจหาเชื้อแบบ PCR เมื่อเดินทางมาถึงอีกต่อไป แต่จะต้องตรวจหาเชื้อแบบ PCR ในวันสุดท้ายของการกักตัว 7 วัน

    นักเดินทางจากประเทศกลุุ่ม 3 และ 4 ไม่จำเป็นต้องตรวจหาเชื้อแบบ PCR เมื่อมาถึงอีกต่อไป แต่ต้องตรวจหาเชื้อแบบ PCR ในวันสุดท้ายของการกักตัว 10 วัน

    กระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า ผู้ที่เดินทางจากมาเลเซียและอินโดนีเซีย รวมทั้งผู้ที่มาจากกัมพูชา อียิปต์ ฮังการี อิสราเอล มองโกเลีย กาตาร์ รวันดา ซามัว เซเชลส์ แอฟริกาใต้ ตองกา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) และเวียดนาม จะจัดอยู่ในกลุ่มที่ 3

    ผู้ที่เดินทางจากภูมิภาคที่จัดไว้ในกลุ่มที่ 3 จะต้องกักตัว 10 วันตั้งแต่วันพุธตามที่สถานที่พำนักหรือที่พักที่ได้แจ้งไว้ ไม่ว่าผู้เดินทางและสมาชิกในครอบครัวจะฉีดวัคซีนหรือไม่และมีประวัติการเดินทางอย่างไร ปัจจุบันกลุ่มนี้ต้องปฏิบัติตามมาตรการนี้อยู่ อย่างไรก็ตาม พวกเขาจะต้องอยู่ในที่พักที่แจ้งไว้ตลอดเวลาและสวมอุปกรณ์ตรวจสอบอิเล็กทรอนิกส์ตลอดระยะเวลาที่กักตัว

    มาเลเซียจะเปิดเกาะลังกาวีรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ 15 พ.ย.

    ที่มาภาพ:https://www.straitstimes.com/asia/se-asia/malaysia-to-open-langkawi-to-foreign-tourists-from-nov-15

    มาเลเซียจะอนุญาตให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาเที่ยวเกาะลังกาวีตั้งแต่กลางเดือนพฤศจิกายนในโครงการนำร่อง ขณะที่ประเทศพร้อมที่จะเปิดภาคการท่องเที่ยวระหว่างประเทศอีกครั้ง

    นายกรัฐมนตรีอิสมาอิล ซาบรี ยาคอบ กล่าวเมื่อวันศุกร์ (22 ต.ค.) ว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับวัคซีนครบจะได้รับอนุญาตให้เดินทางมาท่องเที่ยวเกาะที่ตั้งอยู่นอกรัฐเคดาห์เป็นเวลาอย่างน้อย 3 วัน โดยไม่มีข้อจำกัดการกักตัว

    นักท่องเที่ยวจะต้องผ่านการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ภายใน 72 ชั่วโมงก่อนออกเดินทางและในวันที่สองที่เดินทางมาถึงลังกาวี และต้องมีประกันขั้นต่ำ 80,000 ดอลลาร์สหรัฐ

    โครงการนำร่องนี้จะเริ่มดำเนินการเป็นเวลา 3 เดือนตั้งแต่วันที่ 15 พ.ย. และเปิดให้นักท่องเที่ยวจากประเทศต่างๆ ที่ได้รับอนุมัติจากกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง แต่นายกรัฐมนตรีไม่ระบุชื่อประเทศ

    มาเลเซียเปิดการท่องเที่ยวภายในประเทศอีกครั้งด้วยโครงการนำร่องในรูปแบบเดียวกันในลังกาวีเมื่อวันที่ 16 กันยายน และประกาศประสบความสำเร็จและยกเลิกข้อจำกัดการเดินทางระหว่างรัฐในวันที่ 11 ต.ค. ส่งผลให้ภาคการท่องเที่ยวภายในประเทศฟื้น

    นายกอิสมาอิลยังประกาศผ่อนคลายข้อจำกัดของโควิด-19 เพิ่มเติม โดยแรงงานต่างชาติได้รับอนุญาตให้เข้ามาเลเซียเพื่อทำงานในภาคเกษตรกรรมแล้ว

    ขณะเดียวกัน รัฐ ยะโฮร์และตรังกานูจะปรับไปอยู่ในระยะที่สี่ตามแผนฟื้นฟูแห่งชาติ ปัจจุบันรัฐของมาเลเซียทั้งหมดอยู่ในระยะที่ 3 หรือระยะที่ 4 ซึ่งทั้งสองระยะนี้เปิดให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่กลับมาดำเนินการต่อได้

    กัมพูชาจะไม่สั่งธุรกิจหยุดดำเนินการอีกแล้วแม้มีโควิด

    นายกรัฐมนตรีกัมพูชา สมเด็จ ฮุนเซน ที่มาภาพ: https://www.phnompenhpost.com/national/hun-sen-no-more-business-suspension-due-covid

    นายกรัฐมนตรีกัมพูชา สมเด็จ ฮุนเซน ประกาศว่า กิจกรรมที่เป็นทางการทั้งหมดจะเปิดดำเนินการในเดือนพฤศจิกายน และจะไม่ปิดโรงเรียน โรงงาน ตลาด และสถานประกอบการอื่นๆ อีกแล้ว แม้ว่าจะมีการระบาดของโควิด-19

    ในกรณีที่เกิดการระบาดรอบใหม่ สมเด็จ ฮุนเซน กล่าวว่า ผู้ติดเชื้อจะถูกส่งไปยังสถานบำบัดรักษา และสถานประกอบการจะได้รับการฆ่าเชื้อและได้รับอนุญาตให้ดำเนินการต่อไป

    สมเด็จ ฮุนเซน ประกาศต่อคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 ต.ค. ว่า สถานการณ์โควิด-19 ในกัมพูชาดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยมีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตน้อยลงมาก จึงอนุญาตให้เริ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างค่อยเป็นค่อยไปเพื่อนำไปสู่การเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ

    สำหรับกิจกรรมอย่างเป็นทางการ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า จะเข้าร่วมประชุมที่รัฐสภาด้วยตัวเองในสัปดาห์หน้า เพื่อเข้าร่วมการประชุมเต็มคณะในการผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญหลายมาตรา ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดการถือสัญชาติเดียวสำหรับผู้ดำรงตำแหน่งสูงสุดของประเทศ

    นอกจากนี้ สมเด็จ ฮุนเซน ยังจะเป็นประธานในพิธีเปิดสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ของกระทรวงการจัดการที่ดิน การวางผังเมืองและการก่อสร้างในวันที่ 8 พ.ย.ตามด้วยพิธีเปิดสะพานมิตรภาพกัมพูชา-จีนที่เชื่อมอำเภอสตึงตรังของจังหวัดกำปงจามไปยัง อ.โกรจฉมาร์ จ.ตะโบงขมุม

    นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า จะเข้าร่วมพิธีเฉลิมฉลองความสำเร็จที่สำคัญ เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในจังหวัดพระสีหนุ

    “เราไม่สามารถหลบอยู่ในหลุมนี้ได้อีกต่อไป … เราจะเปิดโรงเรียนทั่วประเทศอีกครั้งเพื่อให้นักเรียนของเราเรียนต่อตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายนเป็นต้นไป” สมเด็จ ฮุนเซน กล่าว

    นอกจากนี้ สมเด็จ ฮุนเซน ยังสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ปิดโรงเรียน ตลาด หรือโรงงาน ทุกแห่งที่ตรวจพบการติดเชื้อไวรัส

    “ตัวอย่างเช่น ถ้าโรงงานมีคนไม่กี่คนที่มีผลตรวจเป็นบวก ก็แค่ส่งพวกเขาไปรักษา ห้ามปิดทั้งโรงงาน ที่ผ่านมา แม้แต่การแพร่เชื้อเพียงคนเดียวในโรงงานก็อาจทำให้ต้องปิดตัวลงทั้งหมด” สมเด็จ ฮุนเซน กล่าว และว่า สถานประกอบการควรได้รับการฆ่าเชื้อหลังจากที่ผู้ติดเชื้อถูกส่งไปรับการรักษาแล้ว

    “ที่โรงเรียน หากนักเรียนติดเชื้อโควิด-19 ก็แค่ส่งพวกเขาไปรับการรักษา และให้คนอื่นๆ เรียนต่อไปเพราะพวกเขาได้รับวัคซีนครบแล้ว” สมเด็จ ฮุนเซน กล่าวและว่า เฉพาะผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงเท่านั้นที่ควรเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ขณะที่ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการรับรักษาตัวที่บ้าน

    ลาวยกเลิกการออกใบอนุญาตนำเข้ารถแทรกเตอร์ รถไถเดินตาม

    ที่มาภาพ: https://www.facebook.com/Kubota-lao-1012629135436195/

    กระทรวงอุตสาหกรรมและพาณิชย์ออกคำสั่งเมื่อวันที่ 19 ต.ค. ยกเลิกการออกใบอนุญาตนำเข้ารถแทรกเตอร์และรถไถเดินตาม เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิตและส่งเสริมการผลิตเชิงพาณิชย์ในอุตสาหกรรมการเกษตร

    คำสั่งฉบับที่ 2982 ระบุว่า ต้องมีการขออนุญาตคุณสมบัติด้านเทคนิคจากกรมการขนส่ง กระทรวงโยธาธิการและการขนส่งก่อนนำเข้ารถแทรกเตอร์ และต้องนำเข้าผ่านจุดผ่านแดนระหว่างประเทศเท่านั้น

    ขณะเดียวกัน อนุญาตการนำเข้ารถไถเดินตามจุดผ่านแดนแบบดั้งเดิมในประเทศ และระหว่างประเทศ โดยไม่ต้องขอใบอนุญาตคุณสมบัติด้านเทคนิคจากกรมการขนส่ง

    การนำเข้ารถแทรกเตอร์ทุกประเภทสามารถทำได้โดยมีเงื่อนไขว่าครอบครัวเกษตรกรรายหนึ่งนำเข้ารถแทรกเตอร์หนึ่งคัน และต้องขอเอกสารจากหน่วยงานในหมู่บ้านของตนเพื่อพิสูจน์ว่ารถแทรกเตอร์นั้นจำเป็นสำหรับวัตถุประสงค์ทางการเกษตร

    กลุ่มเกษตรกรหรือสหกรณ์ที่ประสงค์จะนำเข้ารถแทรกเตอร์ทุกชนิดต้องได้รับเอกสารจากสำนักงานเกษตรและป่าไม้ของอำเภอหรือเมืองที่ตนตั้งอยู่ และเอกสารต้องระบุวัตถุประสงค์ในการนำเข้าและปริมาณของรถแทรกเตอร์เทียบขนาดที่ดินจริงด้วย

    เมียนมาดึงเงินลงทุนสิงคโปร์ 429 ล้านดอลลาร์ปีงบประมาณ2563-2564

    เขตเศรษฐกิจพิเศษติละวา ที่มาภาพ:https://www.gnlm.com.mm/singapore-tops-fdi-list-in-myanmar-as-of-jan-end/

    บริษัทที่จดทะเบียนในสิงคโปร์ 14 แห่ง นำเงิน 429.336 ล้านดอลลาร์เข้าลงทุนในเมียนมาในปีงบประมาณ 2563-2564 รวมถึงการเพิ่มทุนโดยบริษัทที่ลงทุนอยู่แล้วเดิม จากรายงานข้อมูลของคณะกรรมการการลงทุน และการจัดการบริษัท (Directorate of Investment and Company Administration :DICA)

    บริษัทในสิงคโปร์ส่วนใหญ่ลงทุนในการพัฒนาเมือง อสังหาริมทรัพย์ พลังงาน และภาคการผลิต

    สถิติของ DICA ระบุว่า เมียนมาดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศมากกว่า 3.79 พันล้านดอลลาร์ในปีงบการเงินที่ผ่านมา 2563-2564 จาก 48 บริษัท รวมถึงการขยายทุนจากบริษัทที่เข้ามาทำธุรกิจอยู่แล้วและการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษติละวา
    บริษัทที่จดทะเบียนในอังกฤษหนึ่งแห่งใช้เงินลงทุนจำนวน 2.5 ล้านดอลลาร์ และกลายเป็นแหล่งเงินทุนโดยตรงจากต่างประเทศรายใหญ่ในเมียนมา

    ญี่ปุ่นเป็นนักลงทุนรายใหญ่อันดับสองของปีงบประมาณนี้ ด้วยทุนประมาณ 518.76 ล้านดอลลาร์จาก 3 โครงการ
    สิงคโปร์อยู่ในอันดับที่ 3 ในกลุ่มที่เข้ามาลงทุน

    บริษัทเหล่านั้นที่จดทะเบียนจากบรูไน จีน ไทย อินเดีย มาเลเซีย สาธารณรัฐเกาหลี เวียดนาม หมู่เกาะมาร์แชลล์ ซามัว ฮ่องกง (SAR) และจีน (ไทเป) ก็ลงทุนด้วยในปีนี้เช่นกัน

    สิงคโปร์เป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ที่สุดในเมียนมาในปีก่อนหน้า โดยมีเงินลงทุนรวม 1.85 พันล้านดอลลาร์ในปีงบประมาณ 2562-2563ในปีงบประมาณ 2561-2562มีมูลค่า 2.4 พันล้านดอลลาร์ ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ (เมษายน-กันยายน 2561) มูลค่า 724.4 ล้านดอลลาร์ ในปี 2560-2561 มูลค่า2.16 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2559-2560 มูลค่า 3.8 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2558-2559 จำนวน 4.25 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2557-2558 จำนวน 4.29 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2556-2557 จำนวน 2.3 พันล้านดอลลาร์และในปี 2555-2556 จำนวน 418 ล้านดอลลาร์

    นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังเป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่อันดับ 2 ในเขตเศรษฐกิจพิเศษติละวา รองจากญี่ปุ่นนักลงทุนรายใหญ่