1721955
บทความนี้สืบเนื่องจากการเสียชีวิตด้วยวัย 76 ปีของนักร้องนักแสดงหญิงชาวอังกฤษ-ฝรั่งเศสระดับตำนาน ไอคอน It Girl แห่งสไตล์ยุค60s-ต้น80s เจน มัลลอรี เบอร์กิ้น ในปารีส เมื่อวันอาทิตย์ที่ 16 กรกฎาคม 2023 ที่ผ่านมานี้เอง
[It girl หมายถึงหญิงสาวสุดเฉี่ยวเฟี้ยวเท่นำสมัย มีเสน่ห์โดยไม่ต้องแต่งหรูฟู่ฟ่าอะไรมาก วลีนี้เชื่อกันว่าเป็นคำสแลงในสังคมผู้ดีอังกฤษชั้นสูงในราวยุค 1900 ในตอนแรก การใช้คำว่า “it” ในบริบทนี้อาจสืบย้อนไปถึงเรื่องสั้น Mrs Bathurst ที่เขียนโดยรัดยาร์ด คิปลิง (ผู้แต่ง เมาคลีลูกหมาป่า/เขาคือชาวอังกฤษคนแรกที่คว้ารางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมในปี 1907) ในหนังสือรวมเรื่องสั้นและบทกวี Traffics and Discoveries (1904) ที่เขียนว่า ‘มันไม่ใช่ความงาม ถ้าจะให้พูดมันก็ไม่สำคัญอะไรที่จะต้องเอ่ยออกมา ก็แค่ It นี่แหละ’ในเมืองไทยอาจไม่มีใครรู้จักเธอนัก แต่ถ้าเราจะบอกว่าเธอคือเจ้าของชื่อรุ่นกระเป๋าแอร์เมสที่ขายดีที่สุดในโลก ที่ใคร ๆ ต่างก็ใฝ่ฝันอยากมีไว้ครอบครอง…แอร์เมส รุ่นเบอร์กิ้น
แต่คนที่ทำให้คำว่า “It Girl” กลายเป็นที่รู้จักคือ เอลินอร์ กลิน จากหนังดัง It (1927) ที่ดัดแปลงจากหนังสือและบทละครของ กลิน ด้วยประโยคที่ปรากฏในทุกเวอร์ชั่นว่า “ด้วยสิ่งนี้ (It) ที่จะทำให้คุณเอาชนะผู้ชายทุกคนได้ หากคุณเป็นผู้หญิง และสิ่งนี้ (It) อาจเป็นได้ทั้งเสน่ห์ทางจิตใจ และเสน่ห์ทางกาย”]
สาวตะกร้าสาน
แต่ก่อนที่เราจะเล่าความเป็นมาของกระเป๋าเบอร์กิ้น คุณต้องทำความรู้จัก เจน เบอร์กิ้น ในช่วงยุค 70s ก่อนที่จะมีกระเป๋าแอร์เมสรุ่นเบอร์กิ้นปรากฏขึ้นมาในโลกนี้ เจน เบอร์กิ้น เธอถูกจดจำในลุคสาวตะกร้าสาน เนื่องด้วยไม่ว่าไปไหนมาไหน เธอจะหิ้วตะกร้าหวายสานมือมีฝาปิดจากหมู่บ้านชาวประมงในเมืองแคสโตร มาริม ทางตอนใต้ของประเทศโปรตุเกส ตั้งแต่เดินตลาด ไปไนท์คลับ งานพรมแดงสุดหรู ดินเนอร์ในเทศกาลหนังเมืองคานส์ หรือแม้แต่ยามเธอกระเตงลูก
“มันไม่เคยทิ้งฉันไป” เจน เคยให้สัมภาษณ์เช่นนั้นกับนิตยสาร VOGUE ปารีส เกี่ยวกับตะกร้าหวายโปรตุกีสที่เธอช็อปมาจากตลาดนัดในลอนดอนเมื่อยุค60s มันคือเครื่องประดับ เพื่อนคู่ใจ และอุปกรณ์ในการประกอบอาชกรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ เธอสารภาพว่า “ตอนไปดินเนอร์ที่ปารีส บิสโตร แม็กซิมส์ ฉันแอบฉกช้อนเงินมีอักษรย่อของร้านลงไปในตะกร้านี่ด้วย” แต่ตะกร้าหวายใบนี้ก็มีอันจบลงด้วยโศกนาฏกรรมสุดเศร้า เมื่อ ฌาคส์ ดอยลง (ผู้กำกับหนังและมือเขียนบทชื่อดังชาวฝรั่งเศส) อดีตคนรักของเธอบังเอิญขับรถทับมันจนแบนแต๋
[ซีมง พอร์เต ฌาคมุส เจ้าของแบรนด์หรู Jacquemus ในคอลเล็คชั่นที่ชื่อ ‘Raphia’ เดินรันเวย์ปลายปีที่แล้ว SPRING 2023 READY-TO-WEAR หนึ่งในไอเท็มหรูของเขาเป็นตะกร้าหวายสายคาดหนังที่เขาได้แรงบันดาลใจและอุทิศให้แด่ตะกร้าสานของ เจน เบอร์กิ้น ล่าสุดเขาได้กล่าวอำลาเบอร์กิ้นบนอินสตาแกรมของแบรนด์ว่า ‘ไม่อาจจะเอ่ยคำใด ไอคอนหนึ่งเดียว…ของผม และของเรา เจน ตลอดกาล’]ตำนานกระเป๋าเบอร์กิ้น
เหตุเกิดในปี 1983 ขณะที่ เจน ได้รับการอัพเกรดจากสายการบินแอร์ฟรานซ์ ในเที่ยวบินจากปารีสสู่ลอนดอน ขณะที่เธอพยายามยัดกระเป๋าใส่ช่องเก็บของเหนือศรีษะ ข้าวของในกระเป๋าก็หล่นลงมากระจุยกระจาย ทำให้เพื่อนร่วมทางแปลกหน้าที่นั่งถัดจากเธอต้องออกมาช่วยเก็บของเหล่านั้นกลับใส่กระเป๋าของเจน พลางเจนก็บ่นไปหาของไปว่า “การหากระเป๋าหนังที่ใหญ่พอดีสำหรับคนเดินทางบ่อย ๆ แบบที่ฉันชอบเป็นเรื่องยากจริง ๆ”
ทันใดนั้นเพื่อนร่วมทางที่นั่งข้างเจน คนที่มาช่วยเก็บของกลับไปให้เธอ ก็แสดงตัวว่าเขาคือ ฌอง หลุยส์ ดูมาส์ ผู้สืบทอดกิจการเครื่องหนังสุดหรูหรา แอร์เมส ต่อจากคุณพ่อของเขาโรแบร์ ดูมาส์ บทสนทนาต่อจากนั้นจึงกลายเป็นเจนถามเขาว่า “ทำไมแอร์เมสไม่ทำกระเป๋าที่มันใหญ่กว่ารุ่นเคลลี (รุ่นหนึ่งของแอร์เมสที่ได้แรงบันดาลใจมาจากดาราสาวเกรซ เคลลี ที่ต่อมาได้อภิเษกสมรสกับเจ้าชายแรนีเยร์ที่ 3 แห่งโมนาโก) แต่เล็กกว่ากระเป๋าเดินทางออกมาล่ะ” แล้วดูมาส์ก็ตอบกลับมาว่า “ผมจะทำมันให้คุณ”
ในวัย 65 เจน ย้อนเล่าให้หนังสือพิมพ์ เดอะ เทเลกราฟ ฟังว่า “ฉันจำไม่ได้ว่าตอนนั้นใช้กระเป๋าใบไหน แต่ที่แน่ ๆ ไม่ใช่ตะกร้าหวายที่ฉันหิ้วประจำ เพราะสองวันก่อนหน้านั้นมันถูกอดีตคนรักของฉันขับรถทับจนพังยับเยิน ฉันจำได้ว่าเขาร่างแบบคร่าว ๆ บนถุงกระดาษสำหรับใส่อ้วก และไม่แน่ใจว่าตัวดีไซน์เองก็คล้าย ๆ ถุงพวกนั้นอยู่เหมือนกันนะ”
ออกแบบจากถุงอ้วก!
จากเรื่องเล่าที่ว่า ดูมาส์ ร่างแบบบนกระดาษที่เขาหาเจอใกล้มือ นั่นก็คือถุงอ้วกบนเครื่องบิน ไปสู่การที่หน้าตาเจ้าเป๋าเบอร์กิ้น ที่มีแถบคาดและพับลงมา ก็หน้าตาคล้ายถุงเก็บอ้วกอยู่ไม่น้อย มันคือถุงกระดาษที่ถูกเย็บเอาไว้ ต้องฉีกออกเมื่อจะใช้ หลังจากอ้วกเสร็จก็มีลวดบนปากถุงเอาไว้พับไม่ให้หกเลอะเทอะ แต่จริง ๆ แล้ว จากคำบอกเล่าที่เจนว่า เธออยากได้กระเป๋าที่คล้ายแบบของเจ้าหญิงเกรซแห่งโมนาโก ที่มีสายคาดด้านหน้า แต่ใบใหญ่กว่า ดูมาส์จึงนึกไปถึงดีไซน์รุ่น Haut a Courroies ที่ถูกผลิตเมื่อต้นยุค 1900 ดังนั้นหน้าตาของมันจึงออกมาเหมือนกันเปี๊ยบ แต่มีขนาดที่กะทัดรัดกว่า และถูกผลิตออกขายในปี 1984 โดยเงินตอบแทนมูลค่าสามหมื่นปอนด์ (1.3ล้านบาท) ที่เจนได้จากแอร์เมสทุกปี เธอนำไปบริจาคต่อเพื่อการกุศล
4 ใบนี้แพงสุดกู่
กระเป๋าเบอร์กิ้นมีการผลิตออกมาอีกหลายแบบด้วยวัสดุประดับที่แตกต่างกัน ตั้งแต่ทองคำขาว ทอง ไปจนถึงเพชร และใช้หนังที่แตกต่างกัน มีทั้งหนังลูกวัว หนังกิ้งก่า หนังนกกระจอกเทศ ไปจนถึงหนังจระเข้ อันเป็นเหตุให้ในปี 2015 เจน ขอร้องให้แอร์เมส หยุดใช้ชื่อของเธอสำหรับรุ่นที่ผลิตจากหนังจระเข้ เนื่องด้วยข้อกังวลด้านจริยธรรม หลังจากองค์กรด้านสิทธิสัตว์ PETA (People for the Ethical Treatment of Animals) ออกมาประณามว่าบริษัทที่ส่งหนังจระเข้ให้แอร์เมสผลิต มีการฆ่าจระเข้อย่างทรมาน อย่างไรก็ตามต่อไปนี้เราจะนำเสนอ 4 อันดับกระเป๋าเบอร์กิ้นแพงที่สุด
Sac Bijou Birkin เปิดตัวในปี 2012 ออกแบบโดย ปิแอร์ ฮาร์ดี ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์เครื่องประดับของ แอร์เมส ตัวกระเป๋าทำจากโรสโกลด์ ฝังเพชร 2,712 เม็ด สนนราคาราว 69 ล้านบาท
Ginza Tanaka Birkin เป็นเบอร์กิ้นที่หน้าตาไม่เหมือนเบอร์กิ้นรุ่นไหน ๆ ออกแบบโดยช่างชาวญี่ปุ่น กินซ่า ทานากะ ตัวกระเป๋าทำจากแพลตตินัมทั้งใบ ด้านบนประดับเพชรมากกว่า 2,000 เม็ด และประดับด้วยเพชรทรงลูกแพร์ขนาด 8 กะรัตที่ถอดออกมาเป็นเข็มกลัดได้ สายสะพายเพชรสามารถแยกออกมาสวมเป็นสร้อยข้อมือหรือสร้อยคอได้ ราคาราว 65 ล้่านบาท
Rough H Porosus Crocodile เบอร์กิ้นหนังจระเข้น้ำเค็มพันธุ์หายากย้อมสีแดง ประดับแพลตตินัม 18 กะรัต ราคาราว 65 ล้านบาท
Diamond Himalaya Birkin ทำจากหนังจระเข้สายพันธุ์แม่น้ำไนล์ พิถีพิถันด้วยการฟอกไล่สีขาวไปถึงเทา ให้ความรู้สึกเหมือนยอดเขาหิมาลัยที่ปกคลุมด้วยหิมะ ประดับทองคำขาว 18 กะรัต และเพชรขาวอีก 200 เม็ด รวม 8.2 กะรัต ฝังด้วยเพชรขาวทรงกลมอีก 40 เม็ดรวม 1.64 กะรัต ราว 13 ล้านบาท
[ขณะที่คนดัง ๆ นิยมกระเป๋าเบอร์กิ้นกันอย่างบ้าคลั่ง บางคนสะสมจนมีไม่ต่ำกว่าร้อยใบอย่าง วิคตอเรีย เบคแฮม คงไม่มีใครจะลืมเธอตอนก้าวเท้าเข้าสนามฟุตบอลเชียร์เดวิด สามีเธอ ด้วยชุดกับกระเป๋าสีชมพูตัดกับสีสนามหญ้าอย่างโดดเด่น หรืออดีตผู้หญิงอันดับหนึ่ง เมลาเนีย ทรัมป์ กับกระเป๋าเบอร์กิ้นเรียบสุภาพขณะลงจากแอร์ฟอร์ซวัน แต่จริง ๆ แล้ว เจน เบอร์กิ้น เจ้าของชื่อกระเป๋านี้ เธอมีเบอร์กิ้นสีดำที่เหมือนกันอยู่ 4 ใบที่ได้มาฟรีจากแอร์เมส ประดับด้วยลูกปัดเอย สติกเกอร์คนที่เธอปลื้มอย่างออง ซาน ซูจี ในสภาพที่เยินมาก “เสน่ห์ของกระเป๋าฉันคือการที่มันดูมีอายุ ฉันชอบแขวนของประดับที่ได้มาระหว่างการเดินทาง จาก กรีซบ้าง อิสราเอล ปาเลสไตน์ ของแปลก ๆ ที่ทำให้กระเป๋าดูไม่ซ้ำใคร อันที่จริงฉันไม่เคยมีกระเป๋ามากกว่าหนึ่งแบบในแต่ละครั้ง ฉันคิดว่ากระเป๋าใบเดียวก็พอแล้วล่ะ ฉันเกลียดการเปลี่ยนกระเป๋าไปมา ดังนั้นเลยไม่จำเป็นต้องมีเป็นสิบ ๆ ใบหรอก บางทีฉันก็เตะมันบ้าง เอามาเป็นเบาะรองนั่งในสนามบินบ้างก็เคย” และทั้งหมดสี่ใบที่เธอมีในที่สุดเธอก็ทะยอยออกประมูลเพื่อนำเงินไปบริจาค]ลุคสุดแซ่บและวีรกรรมสุดแสบของเจน เบอร์กิ้น
ในโลกภาพยนตร์ เจน เบอร์กิ้น มีชื่อเสียงในการเล่นหนังแหวก ๆ อยู่เหมือนกัน จากบรรดาหนัง 95 เรื่องที่เธอเคยแสดงมา มีหนังแหกขนบอย่าง Blow-Up (1966) ของ มิเกลลันเจโล อันโตนิโอนิ, Wonderwall (1968) ของ โจ แมสสอต, หนังสืบสวนดัดแปลงจากนิยายอะกาธา คริสตี้ อาทิ Death on the Nile (1978) และ Evil Under the Sun (1982) รวมถึงหนังกึ่งสารคดีของผู้กำกับตัวแม่ผู้ล่วงลับ อานเญส วาร์ดา ใน Jane B. par Agnès V. (1988)
ส่วนในโลกปัจจุบันผู้คนจดจำ เจน ในฐานะที่เธอเป็นคุณแม่ของ ชาร์ลอตต์ เกนส์เบิร์ก นักแสดงสาวเจ้าบทบาทเจ้าของรางวัลซีซาร์อะวอร์ด 2 รางวัล และดาราเจ้าประจำของผู้กำกับชาวเดนมาร์กจอมแหกขนบ ลาส ฟอน เทรียร์ อาทิ Antichrist (2009), Melancholia (2011), Nymphomaniac (2013) ขณะที่คนยุค 60s-70s จะไม่มีวันลืม เจน ด้วยลุคสุดแซ่บ อาทิ
ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรที่ดาราดัง ๆ จะทำกันในงานพรมแดงใหญ่ ๆ อย่าง ชุดซีทรู ของนักร้องนัแสดงดาวค้างฟ้าอย่าง แฌร์ ในงานเมตกาล่า ปี 1974 หรือชุดสุดแซ่บทะลุถึงทรวงของนักร้องสาวรีฮันนา ในงาน CFDA อะวอร์ดเมื่อปี 2016 ด้วยชุดสุดหรูแพงระยับใดใด แต่คนรุ่นเก่าจะไม่มีวันลืม เจน เบอร์กิน ในลุคเปิดตัวหนัง Slogan ที่เธอแสดงนำในปี 1969 ด้วยเสื้อแขนยาวสีดำเรียบ ๆ โนบรา และเครื่องประดับง่าย ๆ สองเส้น เธอเล่าว่า “ตอนนั้นฉันไม่คิดว่ามันจะออกมาดูโป๊ขนาดนั้น เพราะด้วยแสงแฟลชด้วยแหละ ทำให้ชุดนี้ยิ่งเห็นไปถึงไหนต่อไหน คือถ้ารู้ว่าจะเห็นขนาดนี้….คืนนั้นฉันคงไม่นุ่งกางเกงในไปด้วยแล้วล่ะ”
ในยุค 60s-70s แฟชั่นฝรั่งเศส Paco Rabanne ถูกตราหน้าว่าสุดโต่ง ขวางโลก ชวนช็อคอยู่เสมอ และน้อยคนนักจะกล้าใส่ชุดของแบรนด์นี้ แต่หนึ่งในนั้นคือ เจน เบอร์กิ้น กับเดรสลูกโซ่โลหะเมทัลลิค เหมือนสองสิ่งประหลาดสุดโต่งนอกรีตที่มาบรรจบกัน เธอปรากฎตัวในไนท์คลับในปี 1972 ควงแขนมากับ เซอร์เก้ เกนส์เบิร์ก นักร้องนักแสดง และผู้กำกับ ผู้เป็นอดีตสามีของเธอในเวลาต่อมา เธอเฉลยความจริงในภายหลังว่า “ฉันแอบตัดชุดนั้นให้สั้นลงไปอีกสิบนิ้วได้มั้ง เพื่อจงใจให้ช่างภาพถ่ายให้เห็นขอบกางเกงขาสั้นทรงมอสตัวจิ๋วหลิว”
ในทางดนตรีผู้คนรู้จัก เจน ผ่านเพลงฝรั่งเศสสุดแปลกที่เธอร้องคู่กับสามีของเธอ เซอร์เก้ เกรนส์เบิร์ก ในปี 1969 Je t’aime… moi non plus เป็นเพลงฝรั่งเศสที่ติดชาร์ตอันดับหนึ่งในทันทีที่อังกฤษ แต่ก็ถูกแบนอย่างหนักในแถบยุโรป ตั้งแต่สวีเดนไปจนถึงอิตาลี ถึงขนาดวาติกันออกจดหมายแบนอย่างเป็นทางการว่าเป็นเพลงผีเพลงปีศาจ เพราะเสียงกระเส่าที่เธอร้องในเพลงนี้ราวกับกำลังร่วมรักกัน จนมีข่าวลือว่ามันคือเสียงที่บันทึกระหว่างที่เธอร่วมรักกับสามีนักแต่งเพลงของเธอเอง ทั้งที่จริง ๆ แล้วเธอเล่าว่า “ตอนอัดเพลงนี้ พวกเราไม่ได้อยู่ด้วยกันในห้องบันทึกเสียงด้วยซ้ำไป เนื่องจากต้องบันทึกเสียงกันทีละไลน์เสียง และต้องเข้าห้องอัดกันคนละรอบ เนื่องจากข้อจำกัดของเทคโนโลยีในสมัยนั้น” ภาพนี้ถูกถ่ายสำหรับโปรโมทอัลบัมแรกของเธอ
นอกจากลุคเซ็กซี่เรียบง่ายทั้งหลายแล้ว เราจะพบว่าบ่อยครั้งเธอมักแต่งตัวแบบผู้ชาย ด้วยเสื้อเชิร์ตตัวโคร่ง ผมสั้น คาดเข็มขัดเส้นเล็ก และภาพนี้ถูกถ่ายไว้ขณะเธอแสดงคอนเสิร์ตในปี 1987 “ฉันพบว่าตัวเองดูน่าสนใจที่สุดตอนอายุ 40 รูปนี้ตอนนั้นฉันใส่รองเท้าผ้าใบแต่ไม่ผูกเชือกด้วยนะ เป็นลุคที่ฉันชอบจริง ๆ”
ด้านการเมืองและการประท้วง
เห็นส.ว.หลายคนออกมาประณามด้อมส้มเรื่องการออกมาประท้วงไม่สนับสนุนธุรกิจส.ว.ว่าเป็นการคุกคาม บลา ๆ ๆ พูดซ้ำ ๆ หลอน ๆ หลอก ๆ กลับกลอกกล่อมเกลาให้คนเชื่อ จนมองเห็นเพียงดีเลวว่าส.ว.เป็นฝ่ายดี พวกติ่งส้มคือเด็กเลวระราน ทั้งที่ส.ว.ผลาญเงินภาษีจากประชาชนเดือนละแสนกว่าบาทต่อคน ขณะที่ประชาชนไม่มีจะกิน แล้วกลายเป็นว่าผู้ชนะการเลือกตั้งที่ประชาชนเลือกมากลับไม่ได้บริหารประเทศ
ขณะที่เราจะบอกว่าไม่ผิดเลยในการประท้วงประณามไปจนถึงการสไตร์คยกเลิกการสนับสนุนสินค้าธุรกิจใดของบรรดานักเล่นเกมชิงอำนาจทางการเมือง เพราะประชาชนเป็นฝ่ายด้อยอำนาจเสมอ และพวกเขามีอำนาจในการริดรอนสิทธิเสรีภาพของฝ่ายประชาชนเสมอมา ที่เกริ่นมาขนาดนี้เพราะเราจะบอกว่าในด้านการเมือง เจน เบอร์กิ้น คือแบบอย่างตัวตึงที่แท้ทรูในการต่อสู้อำนาจรัฐ
ตั้งแต่เด็กสมัยอยู่ในลอนดอน เจน ร่วมขบวนประท้วงในปี 1970 เพื่อต่อต้านกฎหมายโทษประหาร เพื่อเห็นคุณค่าของชีวิต แม้อาชญากรจะมีความผิดแค่ไหนก็ตาม แต่การตัดสินฆ่าคน ก็ไม่ต่างจากอาชญากรคนนั้นที่ฆ่าคนตายได้ง่าย ๆ ต่อมาในปี 1972 เธอปรากฏตัวในคดีสำคัญของฝรั่งเศส ณ เมืองโบบีญี คดีของ มารี-แคลร์ เชอวาริเยร์ เด็กสาวที่แท้งลูกหลังจากถูกข่มขืน และผู้ใหญ่อีก 4 คน (หนึ่งในนั้นคือแม่ของเธอเอง) ออกมาช่วยกันทำให้เธอแท้งลูก โดยทั้ง 5 คนถูกกล่าวหาว่าทำผิดกฎหมายในเวลานั้น แต่คดีนี้ในที่สุดก็มีส่วนในการผลักขอบเขตของสิทธิการทำแท้งในปัจจุบัน เนื่องจากเธอตั้งครรภ์โดยไม่เต็มใจ และไม่พร้อมจะมีบุตรเนื่องจากถูกข่มขืน นำไปสู่การลดทอนฐานะความเป็นอาชญากรของผู้ที่ประสงค์จะยุติการตั้งครรภ์โดยสมัครใจ คือผู้หญิงสามารถมีสิทธิ์ตัดสินใจได้โดยไม่ผิดกฎหมาย หากว่าเธอเลือกจะยุติการตั้งครรภ์
เจน ลงถนนร่วมขบวนประท้วงและจัดคอนเสิร์ตฟรีเพื่อประณาม ฌอง-มารี เลอแปง ฝ่ายขวาจัดหนึ่งในผู้เข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีทั้งในปี 2002 และปี 2017 นอกจากนี้เธอยังแสดงการสนับสนุนผู้อพยพ และต่อต้านนโยบายรัฐที่มีต่อผู้อพยพที่ไม่มีเอกสารในปี 2010 ในปีเดียวกันนั้นเธอบุกไปถึงบ้านพักของรัฐมนตรีกระทรวงศุลกากร นายอีริค เบสซง พร้อมกับประกาศต่อหน้าเขาว่าเธอกำลังรับอุปการะเด็กชาวคองโกลี้ภัยทางการเมือง และรัฐควรให้การดูแลไม่ใช่ผลักดันคนเหล่านี้ออกไป ต่อมาในปี 2015 เธอร่วมเดินขบวนในปารีสเพื่อสนับสนุนสิทธิของผู้ลี้ภัย
ในเดือนกันยายน 2018 หลังจากนายนิโคลัส ฮูโลต์ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อม เจน เป็นหนึ่งในศิลปินและนักวิทยาศาสตร์ 200 คนที่ร่วมลงนามในจดหมายเปิดผนึก เพื่อเรียกร้องให้นักการเมืองดำเนินการอย่างแน่วแน่และทันทีในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการล่มสลายของความหลากหลายทางชีวภาพ ครั้งหนึ่งเธอเคยให้สัมภาษณ์ว่า…
“การเป็นศิลปิน เป็นนักแสดง เป็นนักร้องจะไม่มีประโยชน์อะไรเลยหากคุณไม่ขับเคลื่อนทางการเมือง ไม่ต่อสู้กับพวกผู้มีอำนาจ”