ThaiPublica > คอลัมน์ > ใบปิด Pinocchio สุดเนิร์ด สไตล์ กีเยร์โม เดล โตโร

ใบปิด Pinocchio สุดเนิร์ด สไตล์ กีเยร์โม เดล โตโร

10 ธันวาคม 2022


1721955

“วันนี้มันดีอะไรอย่างนี้! โปสเตอร์เวอร์ชั่นสุดพิเศษสำหรับ Pinocchio (2022) อยู่ตรงนี้แล้ว รังสรรค์โดย เจมส์ จีน” กีเยร์โม เดล โตโร เจ้าโปรเจ็คต์จอมเนิร์ดโพสต์ทวิตทันทีที่โปสเตอร์แบบพิเศษถูกปรินท์ออกมาในวาระที่ Pinocchio เวอร์ชั่นของเขากำลังจะสตรีมในเน็ตฟลิกซ์วันที่ 9 ธันวาคม (เมื่อวานนี้) “เหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา การทำงานร่วมกับเจมส์ จีน เป็นอะไรที่เฉียบจริง ๆ เขาคือตัวตึงมาสเตอร์แห่งความทันสมัย ไม่มีใครเทียบติด เขารังสรรค์เวทย์มนต์ ความงาม และความรู้สึกออกมาจากรายละเอียดเล็ก ๆ น้อยของไอเดียที่ผมแชร์กับเขา ผลงานเป็นที่จดจำชิ้นนี้ทำให้จักวาลแห่งภาพยนตร์เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา”

พิน็อคคิโอต้นฉบับดั้งเดิม

พิน็อคคิโอ เป็นตัวละครในนิยายแฟนตาซีสำหรับเด็ก เรื่อง The Adventures of Pinocchio (1883) โดยนักเขียนชาวอิตาลี คาร์โล คอลโลดี (ชื่อจริง คาร์โล ลอเรนซินี) ฉบับดั้งเดิมเขียนเป็นตอน ๆ ในชื่อ The Story of Puppet (La storia di un burattino-ภาษาอิตาลี) ตีพิมพ์ในนิตยสารรายสัปดาห์สำหรับเด็ก Giornale per i bambini เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 1881 (เป็นฉบับแรกของนิตยสารฉบับนี้ด้วย) เรื่องราวหยุดลงหลังจากตีพิมพ์ไป 4 เดือน ด้วยความยาว 15 บท และจบลงเมื่อพิน็อคคิโอถูกจับแขวนคอตาย แต่ตอนนั้นได้รับความนิยมอย่างมากจนถูกเรียกร้องให้เขียนต่อ พิน็อคคิโอ จึงกลับมาในฉบับวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 1882 ก่อนจะถูกรวมเล่มตีพิมพ์เป็นนิยายความยาว 36 ตอนในปี 1883 ที่มีตอนจบคือหุ่นไม้ได้กลายเป็นมนุษย์ และอยู่ร่วมกับพ่ออย่างมีความสุข

ตั้งแต่นั้นนิยายเล่มนี้ก็ได้รับการแปลมากกว่า 260 ภาษา (เป็นอันดับ 3 ในบรรดาหนังสือที่ถูกแปลมากที่สุด รองจาก เจ้าชายน้อย และคัมภีร์ไบเบิล) พิมพ์ซ้ำอยู่เรื่อย ๆ จนปัจจุบันนี้ ดัดแปลงเป็นละครเวที ซีรีส์ทีวี และภาพยนตร์ทั้งฉบับคนแสดง และแอนิเมชั่น เป็นสินค้าอีกหลากหลาย ที่โด่งดังที่สุดคือ Pinocchio (1940) ฉบับวอลต์ ดิสนีย์ นักปรัชญาเบเนเดตโต โครเช กล่าวว่า “เป็นวรรณกรรมสำหรับเด็กที่เป็นที่ยอมรับและมีผลกระทบอย่างมากต่อวัฒนธรรมโลก…เป็นหนึ่งในผลงานวรรณกรรมอิตาลีที่ยิ่งใหญ่ที่สุด”

เรื่องราวเกิดขึ้นในแคว้นทัสคานี ประเทศอิตาลี เมื่อช่างไม้ชื่อมาสเตอร์อันโตนิโอตั้งใจจะขาโต๊ะจากท่อนซุง แต่แล้วด้วยความกลัวเมื่อท่อนซุงนั้นร้องได้ เขาจึงมอบท่อนซุงนั้นให้กับเพื่อนบ้านของเขา เก็ปเปตโต (เป็นชื่อย่อของ จุยเซ็ปเป้ ที่ผู้แต่งตั้งเป็นเกียรติแก่ จุยเซ็ปเป้ ไออาซซี ผู้เชี่ยวชาญด้านต้นฉบับผู้โด่งดังและคอยดูแลผู้เขียนตลอดมา) ชายยากจนที่วางแผนจะหาเลี้ยงชีพด้วยการเชิดหุ่น เขาแกะสลักบล็อกเป็นเด็กผู้ชายและตั้งชื่อเขาว่า พิน็อคคิโอ (แปลว่า ไม้สน หรือ ลูกสน, ถั่วไพน์) ทันทีที่เท้าของพิน็อคคิโอถูกแกะ มันเตะเกปเปตโต แล้วเมื่อ เก็ปเป็ตโน สอนให้มันเดิน พิน็อคคิโอก็วิ่งออกนอกประตูไปเข้าเมือง สร้างเรื่องป่วน ๆ จนนำความซวยกลับมาสู่พ่อผู้สร้างอย่าง เก็ปเปตโต เสมอ ๆ

ในนิทานดั้งเดิม คอลโลดิ ผู้แต่งอธิบายว่า พิน็อคคิโอ เป็น “อันธพาล” “อิมป์(ปีศาจเด็กซุกซน)” ” scapegrace (คนซุกซนหรือเอาแต่ใจ)” “น่าขายหน้า” “คนขี้โกง” และบ่อยครั้งเก็ปเปตโตก็เรียก พิน็อคคิโอว่า “เด็กอนาถา” พฤติกรรมแย่ๆ ของพิน็อคคิโอ แทนที่จะดูมีเสน่ห์หรือน่าเอ็นดู ผู้เขียนกลับจงใจให้เป็นอุทาหรณ์ ตอนจบทีแรกผู้เขียนตั้งใจจะให้จบแบบการลงโทษเด็กไม่ดี พิน็อคคิโอ ถูกแมวกับจิ้งจอกเจ้าเล่ห์หลอกจับแขวนคอจนตาย แต่ครึ่งหลังเมื่อได้รับคำแนะนำจากสำนักพิมพ์ เขาจึงเปลี่ยนให้มีนางฟ้าผมสีเทอร์ควอยซ์ มาช่วยไว้ และไอเดียเรื่องเมื่อโกหกจมูกจะยาวขึ้น ก็โผล่มาในครึ่งหลังนี้เอง ส่วนเจ้าพิน็อคคิโอก็ยังคงดื้อดึง และสร้างเรื่องป่วน ๆ จนแม้เมื่อเขาตั้งใจจะเรียนดี ก็ยังโดนเพื่อนอิจฉา สุดท้ายกว่าจะปรับตัวได้ เก็ปเปตโต ผู้เป็นพ่อก็มีอันมาป่วยหนัก แต่เพราะพรของนางฟ้า(อีกแล้ว) ในที่สุดเขาก็ได้กลายเป็นคน และพ่อกลับมาแข็งแรงอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุขไปอีกนาน คือรางวัลและความหวังสำหรับเด็กดี

ส่วนหนึ่งของตัวละครที่ดัดแปลงจากพิน็อคคิโอ

(จากซ้าย) Astro Boy (1952-1968) เจ้าหนูปรมาณู หรือ อะตอม โดยปรมาจารย์ด้านมังงะ เทะสึกะ โอะซะมุ เป็นเรื่องราวของหุ่นยนต์ที่มีความรู้สึก เขาถูกสร้างโดยศาสตราจารย์เท็นมะ ผู้เพิ่งสูญเสียลูกชายไป แต่สุดท้ายเท็นมะตัดสินใจขายให้คณะละครสัตว์หุ่นยนต์ แต่ถูกช่วยเหลือไว้โดย ดร.โอฉะโนมิสึ ที่คอยดูแลเขาให้เป็นเหมือนคนปกติ

พิโนโกะ จากมังงะอีกเรื่องของ เทะสึกะ โอะซะมุ Black Jack (1973-1983) เป็นเด็กน้อยวัยไม่เกิน 7 ขวบที่ถูกแบล็คแจ็ค หมอเทวดาสร้างเธอขึ้นมาจาก ก้อนซีสต์เนื้องอกเทอราโทมาอันประกอบด้วยเนื้อเยื่อหลายรูปแบบ เช่น เส้นผม กล้ามเนื้อ กระดูก มักก่อตัวในรังไข่ เติบโตในท้องของเด็กสาวอายุ 18 เมื่อแบล็คแจ็คผ่าตัดช่วยชีวิตเด็กสาวผู้นั้นไว้ เขาแอบเอาก้อนซีสต์มาแยกส่วนแล้วประกอบสร้าง ปลูกถ่ายลงไปในร่างสังเคราะห์

ในจักรวาล JoJo’s Bizarre Adventure โจโจ้ล่าข้ามศตวรรษ (1987-ปัจจุบัน) โครงเรื่องลำดับที่หกมีชื่อว่า Stone Ocean (2000-2003) ในเรื่องมีตัวละคร อัลกาโล ที่มีสแตนพลังพิเศษเรียกว่า Bohemian Rhapsody สามารถดึงเอาตัวละครในโลกสมมติมาสู่ความเป็นจริงเพื่อใช้ในการต่อสู้ได้ และหนึ่งในตัวละครมากมาย คือ พิน็อคคิโอ

พิน็อคคิโอ เป็นตัวละครหนึ่งในจักรวาล Fables (2002-2015 และเพิ่งเริ่มซีซั่นใหม่ในปี2022นี้) ของ บิล วิลลิงแฮม ที่ว่าด้วยตัวละครในโลกเทพนิยาย มีตัวตนอยู่จริงในเฟเบิลทาวน์ และพวกเขากำลังเผชิญเภทภัยต่าง ๆ ในโลกปัจจุบัน โดยพิน็อคคิโอ ในเรื่องนี้เป็นผู้ลี้ภัยหนีจากบ้านเกิด

ใน Marvel Fairy Tales (2006-2008) ซีบี เซบูสกี้ ได้หยิบเรื่องราวซูเปอร์ฮีโร่มาข้ามจักรวาลกับเทพนิยาย ในคอมมิคซีรีส์ปีสุดท้าย มีชื่อว่า Avengers Fairy Tales เขาได้หยิบเอา วิชั่น ตัวละครในจักรวาล อะเวนเจอร์ส มาสวมบทพิน็อคคิโอ

Pinocchio (2014-2015) ในซีรีส์เกาหลีความยาว 20 ตอนจบนี้ ทำให้พระเอกสุด อีจองซุก โด่งดังแบบสุด ๆ ด้วยบทบาทของเด็กผู้ชายที่มีปมครอบครัวถูกใส่ความจากผู้สื่อข่าวที่จากชื่นชมพ่อของเขาว่าเป็นฮีโร่สละชีพแต่ถูกเล่นข่าวไปมาจนกลายเป็นต้นเหตุของเพลิงไหม้ ลุกลามไปใหญ่โตจนเกิดวิบัติแก่ครอบครัว ทำให้เขาเติบโตมาโดยหวังจะเป็นผู้สื่อข่าวที่ดี และกอบกู้ชื่อเสียงคืนมาให้ครอบครัว ในเรื่องตัวนางเอกที่เป็นผู้สื่อข่าวเหมือนกันรับบทโดย พัคชินเฮ มีอาการที่เรียกว่า พิน็อคคิโอซินโดรม ที่เมื่อไหร่เธอโกหกเธอจะสะอึก

พิน็อคคิโอสไตล์ กริส กริมลี

พิน็อคคิโอ ฉบับ เดล โตโร่ ดัดแปลงมาจากรูปลักษณ์ที่วาดโดย กริส กริมลี อีกที ชื่อนี้เป็นนามปากกาของ สตีเวน โซเอ็นค์เซน นักเขียนและวาดหนังสือเด็กแนวแฟนตาซีสุดหม่นมืด กริมลีเล่าว่า “PINOCCHIO มีอายุย้อนไปถึงปี 1800 ผมเป็นแฟนตัวยงของวรรณกรรมเด็กจากยุคคลาสสิก พิน็อคคิโอ เป็นตัวละครที่น่าเศร้าที่มีจิตใจดีแต่ล้มเหลวในความชอบธรรมอย่างต่อเนื่อง เขาพยายามไถ่โทษครั้งแล้วครั้งเล่าแต่ก็ไม่เคยสำเร็จเลย ตอนได้รับโจทย์ให้วาดภาพประกอบใหม่ให้กับนิยายนี้ ผมรีบตระครุบทันที และหลีกเลี่ยงที่จะเสิร์ชหาภาพประกอบเดิม หรือของคนอื่น เพราะไม่ต้องการให้ภาพเหล่านั้นมามีอิทธิพลต่อการออกแบบของผม และแน่นอนว่าเวอร์ชั่นของผมต่างไปจากฉบับดิสนีย์อันโด่งดัง”

อาร์ตนูโว

แต่โปสเตอร์ฉบับที่เดล โตโรชื่นชมนั้น มีสไตล์แบบที่เรียกว่า อาร์ตนูโว (แปลว่าศิลปะแนวใหม่) อันเป็นขบวนการทางศิลปะที่ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายที่สุดในยุค แบลเอป็อก (Belle Époque 1871-1914) หรือยุคที่สวยงาม เป็นยุคที่มองโลกในแง่ดี สันติภาพเต็มเปี่ยม มีความเจริญทางเศรษฐกิจ เทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม และนวัตกรรมใหม่ ๆ มีความรุดหน้า ก่อนจะสิ้นสุดลงในช่วงสงครามโลก

อาร์ตนูโว (1883-1914) ต่อต้านศิลปะแบบอะคาเดมิก พยายามสลายจารีตเดิม ๆ อย่างนีโอคลาสสิกที่เคยรับใช้วัดและวัง เป็นกระบวนการต่อเนื่องจาก อิมเพรสชั่นนิสต์ โดยมีวัตถุประสงค์หลักประการหนึ่ง คือทำลายความเหลื่อมล้ำแบบดั้งเดิมระหว่างวิจิตรศิลป์ (โดยเฉพาะจิตรกรรมและประติมากรรม) กับศิลปะประยุกต์ โดยการนำศิลปะมาใช้อย่างแพร่หลายในที่สาธารณะ(จากที่เคยเป็นเครื่องสูงหรูหราในวังและวัด) มีการผสมผสานหลากหลายวัฒนธรรมหรือไม่อิงกับยุคสมัย (ต่อต้านประวัติศาสตร์นิยม) เช่น เป็นฝรั่งสวมกิโมโน หรือมีลวดลายแบบญี่ปุ่น หรือใช้แนวทางศิลปะสมัยอียิปต์ หรือกรีกโบราณมาใช้ในการออกแบบสมัยใหม่ อาร์ตนูโว พบเห็นได้มากที่สุดในงานออกแบบภายใน, สถาปัตยกรรม, ศิลปะภาพพิมพ์, เฟอร์นิเจอร์, ศิลปะแก้ว, สิ่งทอ, เซรามิกส์, เครื่องประดับ และงานโลหะ

มักได้รับแรงบันดาลใจจากรูปแบบธรรมชาติ เช่น เส้นโค้งคดเคี้ยวของพืชและดอกไม้ ลักษณะอื่น ๆ ของอาร์ตนูโวคือความรู้สึกทางพลวัตและการเคลื่อนไหว (dynamism and movement) ซึ่งมักเกิดจากความไม่สมมาตร(ต่างจากยุคก่อนที่เคยเชื่อเรื่องความสมมาตร) หรือการใช้เส้นแส้ (Coup de Fouet หรือ Whiplash เส้นตวัดโค้งคล้ายรูปตัวS) และใช้วัสดุสมัยใหม่ โดยเฉพาะเหล็ก แก้ว เซรามิก และคอนกรีตในภายหลัง เพื่อสร้างรูปแบบที่ผิดปกติและพื้นที่เปิดโล่งที่ใหญ่ขึ้น

คำว่า Art Nouveau ถูกใช้ครั้งแรกในปี 1880 ในวารสาร L’Art Moderne ของเบลเยียม เพื่ออธิบายผลงานของLes Vingt (Les XX / The Twenty) จิตรกรและประติมากร 20 คนที่ต้องการปฏิรูปผ่านงานศิลปะ ชื่อนี้ได้รับความนิยมจากMaison de l’Art Nouveau (House of the New Art) ซึ่งเป็นหอศิลป์ในปารีส โดย ซิกฟรีด บิง พ่อค้าศิลปะ ชาวฝรั่งเศส-เยอรมัน คำว่า Art Nouveau ของฝรั่งเศสเป็นคำที่ใช้กันทั่วไป ศิลปะแนวนี้ในฝรั่งเศสจึงมักถูกเรียกด้วยคำว่าStyle moderne (โมเดิร์นสไตล์) หรือไม่ก็ สไตล์ยุค 1900 บางครั้งในประเทศอื่น ๆ ก็เรียกว่า สไตล์จูลส์ เวิร์น (ตามชื่อนักประพันธ์ Jules Verne ผู้แต่งใต้ทะเลสองหมื่นโยชน์ และ 80วันรอบโลก), สไตล์เมโทร (เมื่อสถาปนิก เฮกเตอร์ กุยมาร์ด ได้ออกแบบสถานีรถไฟใต้ดิน Abbesses ในปารีสด้วยเหล็กและกระจกในปี1900), หรือไม่ก็ อาร์ตแบลเอป็อก

ในญี่ปุ่นเรียก ชิโระ-อุมะ, อิตาลีเรียกสไตล์ลิเบอร์ตี้ (ตามชื่อเจ้าของห้างลิเบอร์ตี้ในลอนดอน) บ้างก็เรียก Stile florale (สไตล์ดอกไม้) หรือ Arte nuova (ศิลปะใหม่),ในสหรัฐเรียก ทิฟฟานีสไตล์ (ตามชื่อนักออกแบบ หลุยส์ คอมฟอร์ท ทิฟฟานี่) ในเยอรมนีและแถบสแกนดิเนเวีย เรียกว่า Reformstil (สไตล์ปฎิรูป) หรือ Jugendstil (สไตล์วัยรุ่นตามชื่อนิตยสารศิลปะชื่อดังของเยอรมัน) ฯลฯ

อัลฟองซ์ มุชา

จิตรกรนักวาดภาพประกอบชาวเช็กที่อาศัยอยู่ในปารีส อัลฟองซ์ มุชา (1860-1939) คือที่สุดแห่งนักวาดโปสเตอร์แนวอาร์ตนูโว ด้วยการออกแบบโปสเตอร์สำหรับละครเวที ภาพโฆษณา ปกนิตยสาร เดิมทีเขามีความสามารถในการร้องเพลงด้วยเสียงอัลโต และมีฝีมือทางไวโอลิน จึงร่ำเรียนต่อทางดนตรี แต่หลังจากพบฉากอลังการในละครเวที ในปี1978 เขาจึงมีเป้าหมายจะไปเรียนศิลปะ แต่ถูกสถาบันตอกกลับมาว่า “ไปเอาดีอาชีพอื่นจะดีกว่า”

ในปี 1880 ขณะมุชาอายุ 19 ปี เขาเดินทางไปยังเวียนนา และหางานทำในฐานะจิตรกรทิวทัศน์ฝึกหัดให้กับบริษัทที่สร้างฉากโรงละครเวียนนา ที่นั่นเขาได้เที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ โบสถ์ พระราชวัง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงละคร ซึ่งเขาได้รับตั๋วฟรีจากนายจ้าง และได้รู้จัก ฮานส์ มาคาร์ท จิตรกรนักวิชาการที่โดดเด่นมาก ผู้สร้างภาพจิตรกรรมฝาผนังสำหรับพระราชวังและอาคารราชการหลายแห่งในเวียนนา และเป็นปรมาจารย์ด้านการวาดภาพบุคคลและภาพวาดประวัติศาสตร์ในรูปแบบมหากาพย์ สไตล์ของเขาทำให้มุชาหันเหไปในแนวเดียวกัน และมีอิทธิพลต่องานของมุชาในยุคหลัง นอกจากนี้เขายังได้เริ่มทดลองถ่ายภาพ ซึ่งกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในงานชิ้นต่อ ๆ มาของเขา
ต่อมามุชาได้เรียนวิจิตรศิลป์ในมิวนิก ในปี 1885 ได้เป็นเพื่อนกับศิลปินชาวสลาฟหลายคน รวมตัวกับเพื่อนก่อตั้งสโมสรนักศึกษาเช็ก และสนับสนุนด้านภาพประกอบทางการเมืองให้กับสิ่งพิมพ์ชาตินิยมในปราก ต่อมาในปี 1888 เขาย้ายไปปารีส เรียนศิลปะในสองสถาบันที่สอนแตกต่างกันมาก ในปี1891 เขาเริ่มวาดภาพประกอบให้นิตยสาร และได้เป็นเพื่อนกับศิลปินดัง พอล โกแกง กับนักเขียนบทละครชื่อดัง ออกัสต์ สตรินด์เบิร์ก

ต่อมาในปี 1894 ชีวิตของเขาก็รุ่งโรจน์อย่างยิ่ง เมื่อนักแสดงละครเวที ซาร่าห์ แบรนฮาร์ด จ้างให้เขาวาดโปสเตอร์ ด้วยความดังของนักแสดงละครเวทีนางนี้ ทำให้โปสเตอร์ของมุชาถูกติดไปทั่วปารีส เกิดกระแสฮือฮาอย่างยิ่งทำให้แบรนฮาร์ดเซ็นสัญญาจ้างมุชานานถึงหกปี ออกแบบโปสเตอร์อีกหลายเรื่อง รวมถึงภายหลังยังข้ามไปออกแบบฉาก เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ ระหว่างนั้นแบรนฮาร์ด ตีพิมพ์ภาพของมุชาออกเป็นเล่มขายให้กับนักสะสม ก่อนที่ต่อมา มุชา จะข้ามไปรับงานภาพประกอบโฆษณาสินค้า และออกแบบเครื่องประดับสุดหรู
ในบั้นปลายชีวิตของมุชา เขาย้ายกลับไปประเทศเช็ก ตลอดมานับตั้งแต่ที่เขาเคยพำนักในปารีสเป็นเวลานาน มุชาไม่เคยละทิ้งความฝันในการเป็นจิตรกรประวัติศาสตร์ และวาดภาพความสำเร็จของชนชาติสลาฟในยุโรป เขาเสร็จสิ้นแผนวาด 20 ภาพสำหรับมหากาพย์สลาฟ (Slav Epic) ในปี 1908 ต่อมาในปี 1909 เขาได้รับการว่าจ้างให้วาดภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในศาลากลางแห่งใหม่ของกรุงปราก ซึ่งขณะนั้นยังเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิออสเตรีย เขาเขียนถึงภรรยาของเขาว่า “ฉันจะทำสิ่งที่ดีจริง ๆ ไม่ใช่แค่เพื่อนักวิจารณ์ศิลปะ แต่เพื่อจิตวิญญาณชาวสลาฟของเราด้วย”

โครงการแรกของเขาในปี 1910 คือการตกแต่งห้องรับรองของนายกเทศมนตรีกรุงปราก เรื่องนี้กลายเป็นข้อถกเถียงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากศิลปินท้องถิ่นในปรากไม่พอใจงานที่มอบให้กับศิลปินที่พวกเขามองว่าเป็นคนนอก(เพราะมุชาอาศัยในฝรั่งเศสหลายปี) สุดท้ายมุชายอมประนีประนอมด้วยการตกแต่งเฉพาะห้องโถงของนายกเทศมนตรีในขณะที่ศิลปินคนอื่น ๆ ตกแต่งห้องอื่น ๆ เขาออกแบบและสร้างภาพจิตรกรรมฝาผนังขนาดใหญ่หลายชุดสำหรับเพดานโดมและผนัง โดยมีหุ่นนักกีฬาในอิริยาบถที่กล้าหาญ บรรยายถึงการมีส่วนร่วมของชาวสลาฟที่มีต่อประวัติศาสตร์ยุโรปตลอดหลายศตวรรษที่ผ่านมา และหัวข้อเรื่องเอกภาพของชาวสลาฟ ภาพวาดบนเพดานและผนังเหล่านี้แตกต่างอย่างมากกับผลงานในกรุงปารีสของเขา และได้รับการออกแบบเพื่อส่งข้อความถึงความรักชาติ

ท่ามกลางความวุ่นวายทางการเมืองในช่วงปี1930 ทำให้ผู้คนไม่ค่อยให้ความสนใจกับงานของ มุชา เท่าใดนักในเชคโกสโลวาเกีย (ภายหลังในปี 1993 ถูกแบ่งเป็น สาธารณรัฐเช็ค และสโลวาเกีย) อย่างไรก็ตามในปี 1936 มีการจัดแสดงย้อนหลังครั้งใหญ่ในปารีสที่พิพิธภัณฑ์ Jeu de Paume โดยมีผลงาน 139 ชิ้น แต่มีเพียง 3 ภาพจากชุด Slav Epic

ฮิตเลอร์และนาซีเยอรมนีเริ่มคุกคามเชโกสโลวาเกียในทศวรรษที่ 1930 มุชาเริ่มงานในซีรีส์ใหม่ ภาพเขียนอันมีค่าที่บรรยายถึงยุคแห่งเหตุผล ยุคแห่งปัญญา และยุคแห่งความรัก ซึ่งเขาทำงานต่อตั้งแต่ปี 1936 ถึง 1938 แต่ยังไม่เสร็จดี ในวันที่ 15 มีนาคม 1939 กองทัพเยอรมันเคลื่อนขบวนผ่านกรุงปราก และฮิตเลอร์ได้ประกาศให้ดินแดนของอดีตเชโกสโลวาเกียเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิเยอรมันอันยิ่งใหญ่ในฐานะอารักขาแห่งโบฮีเมียและโมราเวีย บทบาทของมุชาในฐานะผู้รักชาติชาวสลาฟและสมาชิกอิสระทำให้เขาตกเป็นเป้าหมายสำคัญ มุชาถูกจับกุมสอบปากคำเป็นเวลาหลายวันและได้รับการปล่อยตัว ด้วยวัย 78 ปีทำให้สุขภาพของเขาทรุดโทรม ติดเชื้อปอดบวมและเสียชีวิตในวันที่ 14 กรกฎาคม 1939 ซึ่งห่างจากวันเกิดปีที่ 79 ของเขาเพียง 10 วัน และไม่กี่สัปดาห์ก่อนที่สงครามโลกครั้งที่สองจะปะทุขึ้น แม้ว่าการชุมนุมในที่สาธารณะจะถูกสั่งห้าม แต่ฝูงชนจำนวนมากก็เข้าร่วมการฝังศพของเขาใน อนุสาวรีย์สลาวินแห่งสุสาน Vyšehrad ซึ่งสงวนไว้สำหรับบุคคลสำคัญในวัฒนธรรมเช็ก

แม้ มุชา จะเป็นที่รู้จักกันดีสำหรับผลงานอาร์ตนูโว แต่เขาก็ไม่ได้ภูมิใจเท่าไร ตามที่ลูกชายและนักเขียนชีวประวัติของเขา จิริ มุชา กล่าวว่า “ว่าไงอาร์ตนูโว…ศิลปะไม่สามารถเป็นสิ่งใหม่ได้” เขาภูมิใจที่สุดในฐานะจิตรกรประวัติศาสตร์ กว่าที่คอลเล็คชั่นของ มุชา จะถูกจัดแสดงสู่สาธารณะเป็นครั้งแรกในบ้านเกิดของเขา ณ กรุงปราก ก็ล่วงไปปี 2013 หรือ หลังจากเขาเสียชีวิตไปแล้ว 74 ปี…เกือบเท่าช่วงอายุของมุชา

พิน็อคคิโอฉบับเจมส์ จีน

กว่าจะมาถึงย่อหน้านี้ เข้าใจว่าผู้อ่านน่าจะพอเห็นภาพว่าไอเดียใบปิด Pinocchio ฉบับเดล โตโร ที่ออกแบบโดย เจมส์ จีน นั้น มีที่มาจาก อาร์ตนูโว โดยเฉพาะรูปแบบโปสเตอร์ของ มุชา รวมถึงสีส้มและม่วง ที่คล้ายกับที่มุชาใช้ใน Slav Epic ซึ่งเหตุผลก็เดาได้ไม่ยาก เนื่องจากต้นฉบับดั้งเดิมของนิยายพิน็อคคิโอถูกตีพิมพ์ในปี 1883 อันเป็นไทม์ไลน์เดียวกันกับสมัยอาร์ตนูโว นั่นเอง

เจมส์ จีน เป็นลูกครึ่งไต้หวัน-อเมริกัน ปัจจุบันอาศัยอยู่ในแอลเอ เขาเกิดที่ไต้หวันเมื่อปี 1979 แต่มาโตในนิว เจอร์ซีย์ ก่อนจะมาจบด้านจิตรกรรมในนิวยอร์กเมื่อปี 2001แล้วเริ่มอาชีพด้วยการเป็นคนวาดปกให้กับทั้งค่ายดีซี และมาร์เวล คว้าเจ็ดรางวัลจาก ไอส์เนอร์ อะวอร์ด, สามรางวัลจาก ฮาร์วีย์ อะวอร์ด สองเหรียญทองและหนึ่งเหรียญเงินจากสมาคมนักวาดภาพประกอบแห่งแอลเอ เหรียญทองจากสมาคมวาดภาพประกอบนิวยอร์ก และรางวัลศิลปินยอดเยี่ยม เวิร์ล แฟนตาซี อะวอร์ด ลูกค้าของเขาเป็นรุ่นใหญ่กันทั้งนั้น อาทิ นิตยสาร์ไทม์, นิวยอร์กไทม์, โรลลิงสโตน, สปิน, อีเอสพีเอ็น, นิตยสารเพลย์บอย, ปกอัลบัมวงลินคินพาร์ค, ออกแบบลายผ้าและกระเป๋าให้แบรนด์เนมสุดหรูปราดา ฯลฯ

ผลงานอื่น ๆ ของ เจมส์ จีน

จากศิลปินโปสเตอร์ทางเลือกสู่นักออกแบบโปสเตอร์ฉบับจริง เจมส์ จีนเล่าให้ฟังว่า “ปัจจัยหนึ่งน่าจะเป็นความนิยมที่เพิ่มขึ้นอย่างมากของโปสเตอร์แบบทางเลือกในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และผมเคยทำเอาไว้ส่วนหนึ่ง จนเมื่อ ดาร์เรน อะโรนอฟสกี้ (Mother-2017) โทรหาผมโดยตรง ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับที่เดล โตดร (The Shape of Water-2017) ดีเอ็มเข้ามาและทั้งคู่กำลังทำหนัง พร้อม ๆ กับที่ฝ่ายการตลาดของวอร์เนอร์ ติดต่อให้ผมวาดภาพประกอบโปสเตอร์ของ Blade Runner 2049 (2017) ผมยังทึ่งอยู่เลยว่าเป็นไปได้ไง”
“ผมเป็นคนต่างด้าวในทุกที่ที่ไป แม้ว่าผมจะเติบโตในอเมริกา แต่ผมไม่เคยรู้สึกเหมือนอยู่บ้านเลย และเนื่องจากความสามารถในการอ่านและพูดภาษาจีนของฉันนั้นไม่มีเลย ผมจึงไม่เคยรู้สึกเหมือนอยู่บ้านในเอเชียอีกเช่นกัน บางทีความรู้สึกโดดเดี่ยวนี้เองที่ผลักดันให้ผมเริ่มทำงานศิลปะตั้งแต่แรก บางครั้งผมคิดว่ากำลังตอกย้ำความบอบช้ำในวัยเยาว์ของตัวเอง ด้วยการอาศัยอยู่ในสถานที่ที่ผมมักจะเป็นคนนอกอยู่เสมอและเป็นได้แค่ผู้สังเกตการณ์”

ผลงานอื่น ๆ ของ เจมส์ จีน

“การมีอิสระมากเกินไปนั้นยากเสมอ ดังนั้นการมีข้อจำกัดบางอย่างในการทำงานจึงเป็นเรื่องดี ส่วนที่ท้าทายและน่าสนใจที่สุดของกระบวนการนี้ คือการค้นหาเนื้อเยื่อเกี่ยวพันระหว่างรูปภาพกับวลีสั้น ๆ โดยพื้นฐานแล้วผมเริ่มวาดจากทางด้านซ้ายก่อนแล้วค่อย ๆ ปล่อยให้มันเติบโตและพัฒนาไปทางขวาโดยไม่ต้องมองการณ์ไกลหรือวางแผนมากนัก…และเป็นอิสระจากความพยายามอย่างมีสติ”