ThaiPublica > เกาะกระแส > วิธีการสอบเข้ามหาวิทยาลัย Gaokao ของจีนและ SAT ของสหรัฐฯ ระบบไหนดีกว่ากัน

วิธีการสอบเข้ามหาวิทยาลัย Gaokao ของจีนและ SAT ของสหรัฐฯ ระบบไหนดีกว่ากัน

5 กรกฎาคม 2023


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ : globaltimes.cn

เว็บไซต์ cnn.com รายงานว่า เมื่อวันที่ 7-8 มิถุนายนที่ผ่านมา นักเรียนมัธยมปลายของจีนที่เข้าสู่สนามการสอบเข้ามหาวิทยาลัย มีจำนวนมากเป็นประวัติการณ์ 12.9 ล้านคน การได้คะแนนสูงจากการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ที่เรียกกันทั่วไปว่า “เกาเคา” (gaokao) ถือเป็นเส้นทางเดียวที่จะทำให้ได้เข้าเรียนมหาวิทยาลัยชั้นนำของจีน นักเรียนจีนมีโอกาสสอบเพียงปีละครั้งเท่านั้นในระบบการสอบที่ยากที่สุดของโลก ในขณะที่ระบบการสอบเพื่อรับนักเรียนเข้ามหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ เรียกว่า SAT นักเรียนในสหรัฐฯ สามารถสอบได้ 7 ครั้งในแต่ละปี

โลกหยุดหมุนใกล้สนามสอบ

ส่วนบทความของ theguardian.com ชื่อ Is China’s Gaokao the World’s Toughest School Exam?รายงานว่า ในทุกปี เป็นเวลาสองวันของต้นเดือนมิถุนายน ประเทศจีนแทบจะหยุดนิ่ง เมื่อนักเรียนมัธยมปลายเข้าสอบเกาเคา เวลาสองวันของการสอบเปรียบเหมือนวันหยุดประจำปีของจีน การก่อสร้างใกล้สนามสอบต้องหยุดลงชั่วคราว เพื่อไม่ไปส่งเสียงรบกวนคนเข้าสอบ เส้นทางจราจรจะถูกเบี่ยงเบนออกไป รถพยาบาลเตรียมพร้อมกรณีนักเรียนเกิดเป็นลมเพราะความเครียด

การสอบเกาเคาเหมือนเป็นสัญลักษณ์ระบบการศึกษาของจีน ในตะวันตกจะมองระบบเกาเคาว่าสะท้อนระบบการศึกษาแบบตายตัว ขาดความยืดหยุ่น และใช้การท่องจำเป็นหลัก เป็นระบบการศึกษาที่ไม่ได้ผลิตคนให้มีความคิดแบบวิเคราะห์ แต่ในจีนเองกลับมองว่า แม้จะเป็นระบบที่ทำให้นักเรียนยากลำบาก แต่ก็ให้ความยุติธรรมแก่นักเรียนทุกคน ส่วนสิ่งที่สะท้อนระบบการศึกษาของตะวันตกคือ ภาพที่นักเรียนขึ้นไปยืนบนโต๊ะเรียน และฉีกตำราเรียน ที่ปรากฏอยู่ในภาพยนตร์ Dead Poet Society

ความสำเร็จของโรงเรียนจีน

แม้จะเป็นระบบการศึกษาที่ให้รางวัลตอบแทนแก่นักเรียนจากการท่องจำ แต่ในตะวันตกก็เริ่มชื่นชมระบบการศึกษาของจีนมากขึ้น Thomas Friedman คอลัมนิสต์ชื่อดังของ New York Times เคยเขียนบทความจากการไปเยือนโรงเรียนแห่งหนึ่งในเซี่ยงไฮ้ เพื่อค้นหาความลับว่าทำไมโรงเรียนในเซี่ยงไฮ้จึงติดอันดับโลก ในการสอบ PISA ปี 2009 ที่วัดความสามารถนักเรียนอายุ 15 ปี ในด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่าน

หลังจากไปเยือนโรงเรียนชื่อ Qiangwei ในเซี่ยงไฮ้ ที่มีนักเรียน 754 คน Thomas Friedman บอกว่าได้พบความลับที่เป็นควาสำเร็จของโรงเรียนนี้ คือ การให้ความสำคัญต่อการฝึกอบรมครู การเรียนรู้ระหว่างครูด้วยกันเอง การพัฒนาวิชาชีพของครู ผู้ปกครองมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเรียนของนักเรียน ส่วนผู้นำโรงเรียนให้ความสำคัญแก่มาตรฐานการศึกษาสูงสุด และต่อวัฒนธรรมที่ให้คุณค่าต่อการศึกษาและต่อครู

ความสำเร็จของโรงเรียนในเซี่ยงไฮ้คือ ความสามารถในการนำสิ่งที่เป็นปัจจัยพื้นฐานทางการศึกษาเหล่านี้ไปดำเนินการให้ได้ผล ทำให้โรงเรียนแห่งนี้สามารถเปลี่ยนจากโรงเรียนที่มีมาตรฐานต่ำ มามีมาตรฐานสูง แม้ 40% ของนักเรียนจะเป็นลูกหลานของแรงงานอพยพมาจากชนบท ครูใหญ่ของโรงเรียนกล่าวว่า ในแต่ละสัปดาห์ ครูจะใช้เวลา 70% เพื่อการสอน และ 30% เพื่อพัฒนาทักษะการสอน และการเตรียมการสอน สิ่งที่เป็นพื้นฐานนี้ สูงกว่าโรงเรียนในสหรัฐฯ

ที่มาภาพ : https://www.thatsmags.com/shanghai/post/19325/30-absolutely-insane-questions-from-china-s-gaokao-exam

ระบบสอบมีมาตั้งแต่สมัยโบราณ

ในจีนเองก็ไม่ได้มีความคิดว่า ระบบสอบเข้ามหาวิทยาลัยแบบเกาเคาจะเป็นสิ่งที่สมบูรณ์ไม่มีจุดอ่อน ระบบเกาเคาสร้างแรงกดดันอย่างมากต่อนักเรียน ความไม่พอใจต่อระบบเกาเคา เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ลูกหลานจำนวนมากของครอบครัวคนจีนมีฐานะ ออกไปศึกษาในต่างประเทศแทน

แต่คนจีนส่วนใหญ่ก็สนับสนุนระบบเกาเคา เพราะยังไม่มีทางเลือกอื่นดีกว่านี้ คำว่า “จีนมีคนจำนวนมาก” มักเป็นคำอธิบายตั้งแต่ความยากจนในชนบท มาจนถึงระบบเกาเคา ที่เป็นระบบแยกแยะเมล็ดข้าวจากแกลบ เป็นระบบที่ให้โอกาสแก่นักเรียนที่มาจากครอบครัวยากจน แต่ทุ่มเทการเรียน ได้มีโอกาสไปศึกษาในสถาบันชั้นนำ

ระบบการสอบส่วนกลางของจีนมีมาตั้งแต่สมัยโบราณ ระบบการสอบของราชสำนัก เพื่อคัดเลือกขุนนาง ใช้วิธีการสอบข้อเขียนมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 7 ดำเนินการมานานเกือบพันปี ก่อนที่จะถูกยกเลิกในปี 1905 ส่วนระบบสอบเกาเคาเริ่มครั้งแรกในปี 1952 สมัยรัฐบาลคอมมิวนิสต์จีน แต่ถูกระงับไปในสมัยปฏิวัติวัฒนธรรม โดยการเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยใช้หลักเกณฑ์ทางการเมือง ในปี 1977 ระบบเกาเคาถูกนำมาใช้ใหม่จนถึงปัจจุบัน

ที่มาภาพ : amazon.com

เปรียบเทียบระบบจีนกับสหรัฐฯ

หนังสือ Study Gods (2022) เขียนเปรียบเทียบระบบการคัดเลือกนักศึกษาเข้ามหาวิทยาลัยของจีนกับสหรัฐฯ ไว้ว่า โดยทั่วไป วิธีการคัดเลือกนักศึกษาเข้ามหาวิทยาลัยมี 2 แบบ ระบบเกาเคาของจีนคือตัวอย่างของ “วิธีการสอบ” ส่วนในสหรัฐฯ ใช้ “วิธีการสมัคร” ที่จะเน้นความสามารถในหลายด้าน (well-roundedness) ของนักเรียน

ระบบเกาเคาเดินตามรอยวิธีการในอดีตที่ใช้มานานหลายศตวรรษ เพื่อการสอบบรรจุขุนนางของราชสำนัก ในสมัยอดีตราชวงศ์ การแข่งขันในการสอบก็รุนแรงมากอยู่แล้ว เมื่อประชากรจีนเพิ่มขึ้น จำนวนผู้สอบแข่งขันก็เพิ่มมากขึ้น การสอบใช้เวลานานขึ้นและยากมากขึ้น

แม้ระบบการสอบจะเป็นสิ่งที่ท้าทายแก่ผู้สอบ แต่ลูกหลานของครอบครัวชนชั้นนำ ก็มักเอาชนะคนที่มาจากครอบครัวคนธรรมดา การยกเลิกระบบสอบเป็นขุนนางในปี 1905 เป็นการเลิกระบบการสอบชั่วคราว แต่ฐานะทางครอบครัวชนชั้นนำ ยังเป็นตัวกำหนดโอกาสสำคัญของลูกหลานของคนชั้นนำ ที่จะเข้ามหาวิทยาลัยปักกิ่ง

ในสมัยระบอบคอมมิวนิสต์ จีนเน้นความเท่าเทียมทางสังคม โดยเฉพาะในสมัยปฏิวัติวัฒนธรรม ที่ลูกหลานชาวนากรรมกร มีโอกาสเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำ แต่เมื่อจีนหันมาเน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจที่อาศัยกลไกตลาด ทำให้จีนกลับมาใช้ระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยอีกครั้ง

จากพัฒนาการที่ผ่านมาจึงทำให้เข้าใจได้ว่า ทำไมนักการศึกษาของจีนจึงสนับสนุนการคัดเลือกนักศึกษาจากวิธีการสอบ เพราะเห็นว่า ระบบเกาเคาเป็นวิธีการที่ยุติธรรมและมีประสิทธิภาพในการคัดเลือกนักศึกษา ช่วยลดอิทธิพลของครอบครัวที่มีต่อผลการสอบ ประชาชนทั่วไปก็สนับสนุน

ข้อมูลนักศึกษาที่เข้าสอบเกาเคา จะมีแต่หมายเลขคนเข้าสอบเท่านั้น ทางมหาวิทยาลัยจึงไม่สามารถระบุประวัติพื้นฐานของนักเรียนเข้าสอบว่าเป็นใครมาจากไหน

หนังสือ Study Gods บอกว่า ส่วนมหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ รับนักศึกษาโดยอาศัยหลักเกณฑ์การพิจารณาความสามารถรอบด้าน นักการศึกษาของสหรัฐฯ จึงสนับสนุนระบบการสมัครเข้าเรียนสถาบันการศึกษาชั้นสูง เพราะเป็นวิธีการที่รับรู้ถึงรูปแบบทางสติปัญญาหลายด้านของนักเรียน เป็นวิธีการที่เอาประโยชน์จากลักษณะของสังคมอเมริกัน ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมมาใช้

ที่มาภาพ : https://www.thatsmags.com/shanghai/post/19325/30-absolutely-insane-questions-from-china-s-gaokao-exam

นักการศึกษาในสหรัฐฯ ยังวิจารณ์อย่างมาก ต่อระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัย เพราะเห็นว่าการสอบแบบมาตรฐานเดียวเป็นระบบที่ไม่ยุติธรรม ให้ข้อมูลจำกัดไม่สมบูรณ์ในตัวนักศึกษา ไม่สะท้อนความหลากหลายของนักศึกษา และไม่ได้ส่งเสริมให้เกิดการคิดวิเคราะห์

ส่วนจีนก็เริ่มมีตัวอย่างการกระจายอำนาจของระบบการรับนักศึกษา ในปี 2011 มีการตั้งมหาวิทยาลัย Southern University of Science and Technology of China (SUSTC) ที่เสิ่นเจิ้น การรับนักศึกษาของ SUSTC จะใช้หลักเกณฑ์หลายอย่างเหมือนมหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ เช่น การสัมภาษณ์ ผลการเรียนชั้นมัธยมปลาย ความสามารถด้านต่างๆ ที่มาจากการทดสอบ และคะแนนการสอบเข้า เป็นต้น

แต่บทสรุปก็คือ จีนยังใช้วิธีการที่ตกทอดมาจากอดีต โดยใช้วิธีการสอบแบบมาตรฐานเดียวระดับชาติ เทียบกับวิธีการในสหรัฐฯ ที่เน้นความสามารถที่หลากหลาย แต่ไม่มีวิธีการคัดเลือกแบบไหนที่สมบูรณ์ แต่ละวิธีการต่างก็มีจุดอ่อนจุดแข็ง แต่ผลลัพธ์ที่ได้มาเหมือนกัน คือการเลือกผู้นำในอนาคต และเตรียมตัวคนเหล่านี้ สำหรับฐานะการเป็นผู้นำของสังคม

เอกสารประกอบ
Is China’s Gaokao the World’s Toughest School Exam? theguardian.com, 1 October 2016.
Study Gods: How the New Chinese Elite Prepare for Global Competition, Yin-Lin Chiang, Princeton University Press, 2022.