ThaiPublica > สู่อาเซียน > ความสำเร็จของสิงคโปร์ สร้างประเทศด้วยแนวคิด “แก้ปัญหาภาคปฏิบัติเชิงยุทธศาสตร์”

ความสำเร็จของสิงคโปร์ สร้างประเทศด้วยแนวคิด “แก้ปัญหาภาคปฏิบัติเชิงยุทธศาสตร์”

30 เมษายน 2022


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ลอว์เลนซ์ หว่อง (Lawrence Wong) ที่มาภาพ : https://twitter.com/LawrenceWongST/status/1318067862393614336/photo/1

ลอว์เลนซ์ หว่อง (Lawrence Wong) รัฐมนตรีกระกรวงการคลัง สิงคโปร์ ได้รับเลือกจากรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลของสิงค์โปร์ ให้เป็นผู้นำพรรคกิจประชาชน หรือ People’s Action Party (PAP) คนต่อไป เขาจึงเป็นผู้นำพรรครัฐบาลรุ่นที่ 4 การดำรงตำแหน่งผู้นำพรรค PAP หมายถึงการที่จะก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปของสิงคโปร์ สมาชิกรัฐสภาของพรรค PAP ทั้งหมด ยังให้การเห็นชอบกับการตัดสินใจของสมาชิกคณะรัฐมนตรี

นายกรัฐมนตรีลี เซียนลุง ผู้นำพรรค PAP คนปัจจุบัน กล่าวแถลงว่า ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้คณะกรรมการสรรหาผู้นำรุ่นใหม่ของสิงคโปร์ ได้เห็นถึงจุดแข็งของผู้นำหลายคนในพรรค เมื่อสถานการณ์โควิด-19 มีภาวะเสถียรมากขึ้น ทำให้สามารถกลับมาพิจารณาประเด็นผู้สืบทอดอำนาจ จากกระบวนการหารือภายในพรรค ส่วนใหญ่ให้การสนับสนุนลอว์เรนซ์ หว่อง ขึ้นเป็นผู้นำพรรคคนต่อไป
ลี เซียนลุง กล่าวอีกว่า…

การสืบทอดอำนาจถือเป็นเรื่องสำคัญของสิงคโปร์ เพราะเป็นหลักประกันในเรื่องความต่อเนื่อง และการมีเสถียรภาพของการนำ สิ่งนี้ถือเป็นคุณลักษณะสำคัญของระบบของเรา

  • “ลอว์เรนซ์ หว่อง” ว่าที่นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์คนต่อไป
  • ผู้นำรุ่นแรกสร้างสิงคโปร์อย่างไร

    หนังสือชื่อ The Lion City (2022) อธิบายประเด็นที่ว่า ผู้นำสิงคโปร์สร้างประเทศนี้ขึ้นมาได้อย่างไร สิงคโปร์เป็นประเทศในเขตร้อนในเส้นศูนย์สูตร ไม่กี่ประทศที่ทันสมัยและมั่งคั่ง Jeffrey Sachs อธิบายว่า ที่ดินในประเทศแถบเขตร้อน มีจุดอ่อนเรื่องการพังทะลายของหน้าดิน และปัญหาแมลงศัตรูพืช ประเทศเมืองหนาว เช่น แคนาดาหรืออาร์เจนตินา การเพาะปลูกจึงให้ผลตอบแทนมากกว่า

    ส่วน Daron Acemoglu นักเศรษฐศาสตร์ MIT อธิบายว่า ประเทศที่จะมั่งคั่งในระยะยาว สถาบันสังคมปล่อยให้นักลงทุนและนักนวัตกรรมรุ่งเรืองขึ้นมาได้ โดยไม่หวาดเกรงว่าดอกผลที่ได้มา จะถูกคนชั้นนำกลุ่มน้อยแย่งชิงเอาไป หลายประเทศในเขตร้อนจบลงในระบบ ที่คนกลุ่มน้อยเอาเปรียบคนส่วนใหญ่ อาณาจักรโมกุล (Mughal Empire) ของอินเดียคือ ตัวอย่างระบบที่ขูดรีดทรัพยากรเพื่อคนกลุ่มน้อยผู้มีอำนาจ

    นับจากปี 1959 ที่ลี กวนยู ขึ้นมามีอำนาจ สิงคโปร์ถูกนำพาโดยกลุ่มผู้นำจำนวนไม่มาก แต่มีความสามารถสูง คนที่สำคัญที่สุดอีกคนคือโกะห์ เคงสวี (Goh Keng Swee) รัฐมนตรีคลังคนแรกของสิงคโปร์ รัฐบาลสิงคโปร์สร้างเครือข่าย ระหว่างนักการเมืองกับข้าราชการ โดยการตั้ง “ศูนย์เรียนรู้การเมือง” (Political Study Centre) ขึ้นมา ข้าราชการระดับสูงจะเข้ามารับการอมรม เพื่อสนับสนุนเป้าหมายการสร้างประเทศของนักการเมือง

    ลี กวนยูมีท่าทีแข็งกร้าวและเอาจริงเอาจังกับการจัดการปัญหาคอร์รัปชัน ที่แพร่ระบาดมาก ในยุคที่สิงคโปร์เป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ นับจากเริ่มต้น รัฐบาลออกฎหมายให้อำนาจแก่พนักงานสืบสวน ในการจับกุม และตรวจสอบบัญชีธนาคารของคนที่ต้องสงสัย ขณะเดียวกัน นักการเมืองและข้าราชการสิงคโปร์ ก็มีเงินเดือนสูงว่าประเทศต่างๆ

    ปัจจุบัน นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์มีเงินเดือนๆหนึ่ง 4.5 ล้าน ปีหนึ่ง 55 ล้านบาท (2.2 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์)

    ผู้นำสิงคโปร์รุ่นบุกเบิกยังเป็นคนริเริ่มโครงการสำคัญในด้านต่างๆ ที่จะปรับปรุงชีวิตประชาชนสิงคโปร์ ทำให้ประชาชนพร้อมที่จะทำงานในสังคมอุตสาหกรรมสมัยใหม่ เปลี่ยนแปลงเรื่องสาธารณสุข บ้านพักอาศัย และการศึกษา

    The Lion City บอกว่า ในช่วงแรกของการสร้างประเทศ ปัจจัยสำคัญประการที่สองคือนโยบายการมุ่งสู่อุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก ปี 1960 เมื่อนักเศรษฐศาสตร์ชาวดัตช์ชื่อ Albert Winesemius เป็นหัวหน้าคณะ UN มาสำรวจศักยภาพของสิงคโปร์ ที่จะพัฒนาอุตสาหกรรม

    สิ่งที่เขาเห็นในเบื้องต้น คือการเผชิญหน้ากันระหว่างแรงงานกับนายทุน สิงคโปร์อยู่ในสภาพที่เต็มไปด้วยการประท้วงหยุดงาน การจลาจล และความเชื่อมั่นในธุรกิจตกต่ำ แต่เขาก็ประทับใจคนสิงคโปร์ที่มีฝีมือด้านช่าง เพราะไปเห็นช่างริมถนนทำจักรยานใหม่ จากอะไหล่เก่าๆ
    เดือนมิถุนายน 1961 เขาเสนอรายงานการศึกษาแก่ลี กวนยู เมื่อ ลี กวนยู ขอให้สรูปย่อรายงาน Winsemius สรุปเป็นเงื่อนไข 2 ข้อ หากสิงคโปร์ต้องการประสบความสำเร็จ ข้อที่ (1) ต้องกำจัดพวกคอมมิวนิสต์ เพราะคนพวกนี้ทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจเป็นไปไม่ได้ และข้อ (2) ให้เก็บรูปปั้นของ Sir Stamford Raffles ไว้ ในฐานะชาวตะวันตกที่ตั้งถิ่นฐานในพื้นที่สมัยนั้นเรียกว่า สิงคาปูระ (Singapura)

    เวลาต่อมา ลี กวนยู เขียนไว้ว่า ข้อเสนอของ Winsemius เป็นแบบง่ายๆและดูตลก จนเขาหัวเราะออกมา แต่ลี กวนยูก็ทำตามข้อเสนอดังกล่าว ที่ต้องการให้สิงคโปร์เป็นแหล่งดึงดูดบริษัทตะวันตกเข้ามาลงทุน แต่ตัวรายงานเองเสนอรายละเอียดหลายอย่างให้กับการพัฒนาเศรษฐกิจ Winsemius เห็นว่า สิงคโปร์ไม่ได้ขาดผู้ประกอบการ แต่ส่วนใหญ่ทำในเรื่องค้าขาย ไม่ใช่อุตสาหกรรมการผลิต

    รายงาน UN เสนอให้สิงคโปร์ตั้งหน่วยงาน เพื่อดำเนินการในเรื่องการพัฒนาอุตสาหกรรม ผู้นำสิงคโปร์ดำเนินการตามข้อเสนอทันที โดยการตั้งหน่วยงาน “คณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจ” (Economic Development Board – EDB) ขึ้นมาในเดือนสิงหาคม 1961 เป้าหมายคือส่งเสริมการลงทุนและการพัฒนาอุตสาหกรรม การแยกตัวออกจากมาเลเซียในปี 1965 ทำให้สิงคโปร์สามารถทุ่มเทให้กับการดึงเงินทุนจากต่างประเทศ และการพัฒนาอุตสาหกรรม

    ในอดีต ธนาคารในสิงคโปร์เป็นแหล่งสนับสนุนทางการเงินแก่บริษัทในเอเชียอาคเนย์ ที่ทำธุรกิจเหมืองแร่ดีบุกและยางพารา แต่เมื่อได้รับเอกราช สิงคโปร์เริ่มพัฒนาตัวเองเป็นศูนย์กลางการเงินของโลกอีกแห่งหนึ่ง Winsemius เป็นคนแรกที่เห็นโอกาสดังกล่าว คือ สิงคโปร์ดำเนินธุรกิจการเงิน ในช่วงเวลาที่ตลาดสหรัฐฯปิดไปแล้ว และตลาดยุโรปกำลังจะเปิดขึ้นมา รัฐบาลสิงคโปร์ก็ส่งเสริมการสร้าง “ตลาดดอลลาร์เอเชีย” (Asian Dollar Market) โดยให้ธนาคารในสิงคโปร์สามารถถือและปล่อยกู้เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ

    ที่มาภาพ : https://unsplash.com/photos/v0BgDZTJyPY

    คิดเชิงยุทธศาสตร์ ดำเนินการเชิงปฏิบัติ

    ในหนังสือชื่อ Dynamics of the Singapore Success Story Ngiam Tong Dow อดีตข้าราชการระดับสูงของสิงคโปร์เขียนไว้ว่า Stamford Raffles ผู้ก่อตั้งสิงคโปร์ในปี 1819 สมัยที่เขาเป็นเสมียนของบริษัท British East India ต้องการให้สิงคโปร์เป็นเมืองท่าเรือเสรี พ่อค้าจากทั่วโลกสามารถเข้ามาทำธุรกิจได้ สิงคโปร์เป็นเกาะเล็กๆ จึงต้องพึงการส่งออกสินค้าและบริการ

    อาจจะกล่าวได้ว่า สิงคโปร์ปฏิบัติในแนวคิดที่เรียกว่า “แก้ปัญหาเป็นจริงในเชิงยุทธศาสตร์” (Strategic Pragmatism)

    คำ ๆ นี้ศาสตราจารย์ของ MIT ชื่อ Edgar Schein เป็นคนแรกที่ใช้คำนี้ ในหนังสือชื่อ Strategic Pragmatism: The Culture of Singapore’s Economic Development Board (1996) คณะกรรมการ EDB ใช้แนวคิดแบบแก้ปัญหาหรือลงมือปฏิบัติในเชิงกลยุทธ์ คือคิดในเชิงยุทธศาสตร์ และดำเนินการในเชิงปฏิบัติ ไม่ใช่ในเชิงทฤษฎี

    ประเทศอย่างสิงคโปร์ ที่ไม่มีทรัพยากรธรรมชาติอะไรเลย แม้แต่น้ำ เป้าหมายอย่างเดียวของการพัฒนาเศรษฐกิจ คือการมีงานทำหรือการจ้างงาน ปี 1959 เมื่อสิงคโปร์มีสิทธิปกครองตัวเองจากอังกฤษ สภาพที่เป็นอยู่คือเศรษฐกิจชะงักงัน ประชากรส่วนใหญ่ไร้ฝีมือ พึ่งพาธุรกิจที่นำเข้ามาแล้วส่งออกต่อ ซื้อขายยางพารา ดีบุกและสินค้าโภคภัณฑ์เขตร้อน ช่วงรุ่งเรืองที่สุดของธุรกิจกานำเข้าส่งออกของสิงคโปร์ คือสงครามเกาหลี 1952-1953

    Ngiam Tong Dow กล่าวอีกว่า สิงคโปร์รู้ดีว่า หนทางที่จะทำให้การเมืองมีความมั่นคง คือการพัฒนาเศรษฐกิจให้รวดเร็ว หาทางส่งเสริมธุรกิจและอุตสาหกรรม ที่จะทำให้เกิดการจ้างงาน ไม่ว่าจะเป็นไฮเทค โลว์เทค หรือไม่มีเทคโนโลยีเลย ในต้นทศวรรษ 1960 อุตสาหกรรมใช้แรงงานมาก เช่น สิ่งทอ ของเด็กเล่น และโทรทัศน์ ช่วยบรรเทาปัญหาการว่างงานที่สูง

    อุตสาหกรรมใช้แรงงานเหล่านี้ แม้ในทุกวันนี้ จะไม่มีแล้วในสิงคโปร์ เพราะแข่งขันไม่ได้ แต่มีบทบาททางยุทธศาสตร์ที่สำคัญ การจ้างงานที่เพิ่มขึ้นรวดเร็ว ทำให้บรรยากาศการเมืองสงบ ปัจจัยนี้ช่วยดึงอุตสาหกรรมที่ใช้เงินทุนเข้มข้นเข้ามาสิงคโปร์ บริษัทน้ำมันเชลล์ทำธุรกิจในสิงคโปร์มานับร้อยปี มีเพียงคลังเก็บน้ำมันเท่านั้น ปี 1963 สิงคโปร์ออกใบอนุญาตส่งเสริมการลงทุนใบแรกแก่เชลล์ ที่จะตั้งโรงกลั่นน้ำมันแห่งแรกขึ้นในสิงคโปร์

    หนังสือ The Lion City สรุปความสำเร็จของสิงคโปร์ไว้ว่า มาจากการแต่งตั้งคนที่มีความสามารถดำรงตำแหน่งสำคัญต่างๆ สร้างระบบที่ขจัดคอร์รัปชัน ในหมู่นักการเมืองเน้นความสามารถด้านบริหารจัดการ มากกว่าการหาเสียง โกะห์ จงตง ที่ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีต่อจากลี กวนยู ถูกดึงเข้าสู่การเมือง หลังจากประสบความสำเร็จในการฟื้นฟูกิจการบริษัทเดินเรือของรัฐ

    นอกจากจะมีทัศนะยาวไกลทางยุทธศาสตร์ ผู้นำสิงคโปร์ยังเป็นคนที่มีแนวคิดสมบูรณ์แบบในเรื่องรายละเอียด รายงานแต่ละสัปดาห์เรื่องห้องน้ำของสนามบิน จะผ่านมาบนโต๊ะของลี กวนยู ผู้นำสิงคโปร์ไม่เคยเป็นพวกหากินกับความอ่อนแอ หรือความทุกข์ยากของประชาชน ต่างจากบางประเทศ ที่ผู้นำเอาประโยชน์จากทรัพยากรประเทศ และดำรงชีวิตที่แยกตัวออกจากความยากลำบากของประชาชน

    สิ่งที่เป็นผลงานความสำเร็จที่ใหญ่หลวงของผู้นำรุ่นบุกเบิกสิงคโปร์ก็คือ พวกเขาสร้างระบบให้กับประทศ ที่ตัวระบบนี้มีชีวิตยืนยาวกว่าชีวิตของตัวผู้นำเอง

    เอกสารประกอบ
    The Lion City: Singapore and the Invention of Modern Asia, Jeeva Vasagar, Pegasus Book, 2022.
    Dynamics of the Singapore Success Story, Edited by Zhang Zhibin, Cengate Learning, 2011.