รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ
เมื่อ 100 ปีมาแล้ว ในช่วงระหว่าง 2 กรกฎาคม ถึง 5 สิงหาคม 1921 นักปฏิวัติหนุ่มชาวจีนคน 13 คน รวมทั้งเหมา เจ๋อตุง จัดการประชุมสมัชชาครั้งที่ 1 พรรคอมมิวนิสต์จีน (พคจ.) ขึ้นในบ้านพักแห่งหนึ่ง ที่อยู่ในเขตสัมปทานของฝรั่งเศส ในเมืองเซี่ยงไฮ้ ปัจจุบัน ที่ประชุมครั้งแรกของ พคจ. นี้ ตั้งอยู่ที่บ้านเลขที่ 76 ถนนซิงเย่ (Xingye Road) เนื่องจากช่วงกำลังประชุม มีคนลึกลับเข้ามาในบ้าน ทำให้การประชุมต้องยุติลง และย้ายไปประชุมที่อื่นในมณฑลเจ้อเจียงแทน
เมื่อนักปฏิวัติจีน 13 คนมาประชุมกันเป็นครั้งแรกเพื่อก่อตั้ง พคจ. นั้น พวกเขาคงไม่คาดคิดว่าองค์กรที่ตัวเองตั้งขึ้นมา จะกลายเป็นตัวขับเคลื่อนที่ทำให้เกิดการปฏิวัติครั้งใหญ่ทางประวัติศาสตร์ของโลก เกือบ 30 ปีต่อมา องค์กรนี้ก็สามารถยึดอำนาจรัฐที่นครปักกิ่ง และเมื่อ 100 ปีต่อมา จีนกลายเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก จนกลุ่มคนชั้นนำในสหรัฐฯ มองว่า จีนเป็นคู่แข่งสำคัญในเวทีโลก
พรรคการเมืองที่มีจุดเด่นของตัวเอง
Tony Saich ผู้เชี่ยวชาญจีนของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เขียนไว้ในหนังสือที่เพิ่งออกวางจำหน่ายชื่อ From Rebel to Ruler (2021) ว่า ไม่มีพรรคการเมืองไหนที่จะเหมือนกับ พคจ. การมีขนาดใหญ่โตด้านองค์กร การดำรงอยู่มายาวนาน และความสามารถที่จะเอาชนะปัญหาที่แทบเป็นไปไม่ได้เลย ทำให้ พคจ. กลายเป็นองค์กรการเมืองที่มีลักษณะโด่ดเด่นของตัวเอง
เป็นเรื่องยากลำบากที่จะอธิบายชัดเจนว่า พคจ. คืออะไร เราอาจเขียนโครงสร้างพรรคและหน้าที่ของสมาชิกพรรค แต่สิ่งนี้ไม่สามารถอธิบายถึงแก่นสารสำคัญของ พคจ. พรรคการเมืองที่มีสาขาพรรคอยู่ในทุกองค์กรระดับรากหญ้าของจีน ที่มีถึง 4 ล้านองค์กร เช่น หมู่บ้าน อำเภอ และคณะกรรมการเมือง และมีสมาชิกพรรคทั้งหมด 90 ล้านคน มากกว่าพลเมืองของเยอรมัน
เนื่องจากเป็นพรรคการเมืองหลักพรรคเดียวของจีน สมาชิกพรรคจึงมาจากความหลากหลายของคนในสังคม ที่มีทั้งคนที่มีฐานะมั่งคั่ง พวกที่เชื่อมั่นในอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ และพวกที่ต้องการความก้าวหน้าทางสังคม ความหลากหลายเหล่านี้ ทำให้ พคจ. ให้ความสำคัญในเรื่อง “เอกภาพทางความคิด” ภายในพรรค
หนังสือ From Rebel to Ruler บอกว่า หน่วยงานสำคัญของ พคจ. มีอยู่ 2 หน่วยงาน ที่มีบทบาทสำคัญ ช่วยทำให้พรรคเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน คือหน่วยงานด้านจัดตั้ง (organization department) และหน่วยงานด้านโฆษณาความคิด (propaganda department) หน่วยงานด้านจัดตั้งจะเป็นฝ่ายทำหน้าที่ ส่งสมาชิกพรรคไปดำรงตำแหน่งต่าง อย่างเช่น ผู้ว่ามณฑลต่างๆ อธิการบดีมหาวิทยาลัย หรือ CEO ของรัฐวิสาหกิจจีน
ปัญหาท้าทายในอนาคต
ประสบการณ์ 100 ปีที่ผ่านมาของ พคจ. แสดงให้เห็นถึงความสามารถของพรรคในการต่อสู่เพื่อได้อำนาจรัฐ การฟื้นตัวจากความเสียหายในการปฏิวัติวัฒนธรรม และการขับเคลื่อนจีนในสมัยการปฏิรูป จนจีนสามารถก้าวขึ้นมามีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก และจีนเองก็เป็นส่วนสำคัญของห่วงโซอุปทานการผลิตโลก
หนังสือ From Rebel to Ruler บอกว่า ที่ผ่านมาการปฏิรูปของจีน ในส่วนที่เป็นเรื่องไม่ยากลำบาก ที่ทำได้อย่างสะดวกก็ได้ดำเนินการเสร็จไปแล้ว ที่ยังเหลืออยู่คือส่วนที่ยากลำบากที่สุด และเป็นส่วนที่จะทดสอบในสิ่งที่ถือกันว่าเป็นหัวใจสำคัญของอำนาจพรรค ส่วนสิ่งที่เป็นอุปสรรคท้าทายต่อการก้าวหน้าในอนาคตของจีน จะมีปัจจัยทั้งเรื่องภายในประเทศ ต่างประเทศ การเมือง และเศรษฐกิจ แต่อุปสรรคเหล่านี้ไม่ได้หมายความว่า จีนจะไม่สามารถบรรลุสิ่งที่เรียกว่า “ความฝันของจีน”
แต่เป็นประเด็นอยู่ที่ว่า สถาบันต่างๆ ของจีนที่เป็นอยู่จะพัฒนาอย่างไร เพื่อส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันและการสร้างนวัตกรรม อันเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้จีนหลุดจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง จีนจะเอาชนะกลุ่มผลประโยชน์อย่างไร เช่น องค์กรรัฐวิสาหกิจ เพื่อย้ายการลงทุนจากกิจการที่ไม่มีประสิทธิภาพ มาสู่ภาคเศรษฐกิจที่มีผลิตภาพมากกว่า
หรือจีนจะสามารถพัฒนาองค์กรการเมือง ที่ทำให้การดำเนินงานของรัฐเกิดความโปร่งใสได้หรือไม่ และในระดับโลก จีนจะสามารถแสดงบทบาทของการเป็น “หุ้นส่วนที่มีความรับผิดชอบ” ได้หรือไม่ ในอันที่จะช่วยปกป้องสิ่งที่เป็น “สาธารณประโยชน์ของโลกเรา”
การท้าทายจากทั้งภายนอกภายใน
Tony Saich ผู้เขียนกล่าวว่า มีปัจจัยภายนอก 2 อย่างที่จะส่งเสริมความสำเร็จของจีนในอนาคต คือ (1) ภาวะเศรษฐกิจโลก ที่มีการเติบโตแบบเอื้ออำนวยต่อจีน และ (2) ประเทศต่างๆ มีปฏิกิริยาและตีความหมายอย่างไร ต่อการพุ่งขึ้นมาเป็นมหาอำนาจของจีน ประชาคมนานาชาติมีข้อสรุปบางส่วนว่า ที่ผ่านมาความสำเร็จของจีนมาจากการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม การทุ่มตลาดสินค้า และการบังคับให้มีการถ่ายโอนเทคโนโลยี
จีนเองก็รู้ตัวดีว่า สักวันหนึ่ง การแตกหักทางเศรษฐกิจกับสหรัฐฯ คงจะเกิดขึ้น และจีนคงถูกสกัดกั้น เมื่อจีนมีบทบาทในเศรษฐกิจโลกมากขึ้น เพราะเหตุนี้ จีนจึงเตรียมการที่จะลดการผูกพันกับเศรษฐกิจสหรัฐฯ ให้มากที่สุดที่เป็นไปได้ แนวคิดนี้คือพื้นฐานของนโยบายที่เรียกว่า Made-in-China 2025 ที่จะทำให้บริษัทของจีนเองพัฒนาความสามารถด้านไฮเทค และอุตสาหกกรรมยุทธศาสตร์
ส่วนการท้าทายจากปัจจัยภายใน เกิดจากจีนกลายเป็นสังคมสมัยใหม่ที่ซับซ้อนมากขึ้น ทั้งในแง่โครงสร้างสังคมและทัศนะของผู้คน คนชั้นกลางที่เพิ่มมากขึ้น ให้ความสำคัญเรื่องคุณภาพชีวิต การเปลี่ยนแปลงนี้ จะทำให้ พคจ. สามารถพัฒนาระบบตัวแทนประชาชนขึ้นมาอย่างไร เพื่อสนองความต้องการดังกล่าว โดยเฉพาะในยุคโซเชียลมีเดีย ที่ผ่านมา พคจ. ถนัดในรื่องการป้อนข้อมูลทางเดียว จากบนสู่ล่าง ให้กับประชาชน จำกัดการแลกเปลี่ยนข้อมูลในแนวราบระหว่างประชาชน แต่ทุกวันนี้ คนจีนเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมข่าวสารของโลก
ความชอบธรรมที่เกิดจากผลงาน
หนังสือ From Rebel to Rule กล่าวว่า เนื่องจากความชอบธรรม ที่มีแหล่งที่มาจากอุดมการณ์คอมมิวนิสต์เสื่อมถอยลง ประชาชนที่ได้รับข่าวสารมากขึ้น จะพิจารณาความชอบธรรมของ พคจ. ที่เกิดจากผลงาน (performance legitimacy) มากขึ้น โดยเฉพาะผลงานด้านเศรษฐกิจ และด้านสิ่งแวดล้อม
แม้ในระยะ 40 ปีที่ผ่านมา จีนจะประสบความสำเร็จด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ผู้นำจีนก็รู้ดีว่า การเปลี่ยนแปลงระดับมูลฐานเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อรักษาการเติบโตของเศรษฐกิจให้ดำเนินต่อไป ผู้นำจีนเห็นพ้องร่วมกันกันว่า ปัจจัยที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีน 2 อย่าง คือการลงทุนของรัฐและการค้าต่างประเทศ ได้มาถึงจุดสูงสุดแล้ว แม้สื่งนี้จะยังสำคัญ แต่ก็ไม่มีคุณูปการมากอีกต่อไป การค้าต่างประเทศคงไม่เพิ่มมาก เพราะ “โรงงานโลก” เริ่มย้ายไปประเทศอื่น ผู้นำจีนจึงหันมายอมรับการเติบโตของเศรษฐกิจ ที่ลดลงมาที่ 6% ต่อปี
ในด้านสิ่งแวดล้อม การเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูง ได้สร้างแรงกดดันอย่างมากต่อสิ่งแวดล้อม และแหล่งทรัพยากรธรรมชาติของจีน โดยเฉพาะแหล่งน้ำ นอกจากอัตราการเติบโตที่สูง และการขยายตัวของเมืองแล้ว แนวคิดคอมมิวนิสต์ในอดีต ก็ละเลยปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยถือเอาการผลิตมาเหลือปัจจัยอื่น
แนวคิดที่ว่าทรัพยากรเป็นของประชาชน ผ่านการเป็นเจ้าของโดยรัฐ หมายความว่า ในทางเป็นจริงก็คือไม่มีใครเป็นเจ้าของ และไม่มีใครดูแล ตัวอย่างเช่น เป็นเรื่องยากที่หากระดาษชำระตามห้องน้ำสาธารณะในจีน สิ่งของดังกล่าวนี้ มีไว้เพื่อการใช้ประโยชน์ของสาธารณชน แต่ถูกหยิบฉวยไปใช้เป็นการส่วนตัวจนหมด ในยุคปฏิรูป ความนิยมโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ที่แสดงอำนาจรัฐและพรรค ยังปรากฏให้เห็น เช่น โครงการเขื่อนยักษ์แม่น้ำแยงซี
ความชอบธรรมในมิติที่ลึกขึ้น
บทเรียนจากญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน แสดงว่า หลายสิบปีของการเติบโตทางเศรษฐกิจในอัตราที่สูง เศรษฐกิจก็เริ่มชะลอตัวลง เมื่อรายได้ของประชากรเพิ่มสูงกว่า 13,000 ดอลลาร์ต่อคนโดยวัดจากกำลังซื้อ (purchasing power parity หรือ PPP) หลังจากนั้น ประเทศเหล่านี้ก็ไม่เคยขยายตัวในอัตราที่สูงอีกเลย ในปี 2018 ธนาคารโลกระบุว่า รายได้ต่อคนของจีนอยู่ที่ 15,000 ดอลลาร์
หนังสือ From Rebel to Ruler กล่าวว่า เนื่องจากการเติบโตที่สูง ในช่วงการพัฒนาแบบไล่ตามประเทศอื่นของจีน ได้ผ่านพ้นไปแล้ว ดอกผลจากกำลังแรงงานที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจเมื่อครั้งเปิดประเทศ ก็สิ้นสุดลง เพราะแรงงานสูงอายุมีมากขึ้น นอกจากนี้ ผลตอบแทนจากธุรกรรมทางเศรษฐกิจก็ลดต่ำลง เพราะปัญหากำลังการผลิตที่ล้นเกิน
ดังนั้น อนาคตการเติบโตของเศรษฐกิจจีน จึงขึ้นอยู่กับสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า “ผลิตภาพของปัจจัยการผลิตทั้งหมด” (total factor productivity) การจัดสรรทรัพยากรเศรษฐกิจ จะต้องย้ายจากบทบาทรัฐที่เป็นผู้กำหนด มาเป็นกลไกตลาดเป็นฝ่ายจัดสรรทรัพยากรมากขึ้น ไม่เช่นนั้น การเติบโตของเศรษฐกิจจะลดต่ำลงมาก
ปัญหาเศรษฐกิจดังกล่าวนี้ คือสิ่งที่ท้าทาย พคจ. หากยังคงต้องอาศัยความชอบธรรมที่มาจากผลงานเศรษฐกิจต่อไป การอาศัยแนวคิดชาตินิยมมาสร้างความชอบธรรมก็มีจุดอ่อนเพราะเรื่องที่โต้แย้งถกเถียงกันได้ แต่ความชอบธรรมจากผลงาน ยังมีความหมายที่ลึกในอีกแบบหนึ่ง ที่ไม่ใช่เรื่องผลงานทางเศรษฐกิจ แต่เป็นความชอบธรรมที่มาจากความพึงพอใจ ความสุข และการสนับสนุนของคนจีนที่มีต่อ พคจ.
From Rebel to Ruler กล่าวว่า การจะบรรลุความชอบธรรมที่ลุ่มลึกมากขึ้นในลักษณะนี้ พคจ. ต้องสามารถสร้างธรรมาภิบาล จากเดิมที่อาศัยโครงสร้างการปกครอง ที่ใช้วิธีการควบคุมการเมืองและเศรษฐกิจ มาเป็นการบริหารจัดการเศรษฐกิจสมัยใหม่ที่กลไกตลาดมีอิทธิพลมากขึ้น และพัฒนาสถาบัน ที่จะรองรับสังคมที่มีความหลากหลายและมีองค์ความรู้
จีนกับเวียดนามมีสถาบันที่เหมาะและเอื้ออำนวยต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในระดับที่เป็นอยู่ปัจจุบัน คือสามารถดึงการลงทุนจากต่างประเทศในอัตราที่สูง แต่เมื่อรายได้ประชาชาติสูงขึ้น ประเทศที่มีการเมืองแบบอำนาจนิยม จะเผชิญปัญหาความยากลำบาก ที่จะรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับที่สูง เพราะสังคมจะต้องการองค์กรการเมืองและเศรษฐกิจ ที่ส่งเสริมการแข่งขัน การสร้างนวัตกรรม และการสร้างผลิตภาพ มากกว่าการสั่งสมการลงทุน (capital accumulation) แบบเดิมๆ
สิ่งนี้คือหัวใจของปัญหาการท้าทายในด้านองค์กรสถาบัน ที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนจะต้องเผชิญในทศวรรษข้างหน้า
เอกสารประกอบ
From Rebel to Ruler: One Hundred Years of the Chinese Communist Party, Tony Saich, The Belknap Press of Harvard University Press, 2021.