ThaiPublica > เกาะกระแส > Rivers of Iron แม่น้ำแห่งเส้นทางรถไฟ เครือข่ายเชื่อมโยง จากจีนใต้สู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

Rivers of Iron แม่น้ำแห่งเส้นทางรถไฟ เครือข่ายเชื่อมโยง จากจีนใต้สู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

24 กรกฎาคม 2022


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

รถไฟความเร็วปานกลาง Fuxing EMU รุ่น CR200J ขบวนแรก เดินทางมาถึงดินแดนลาว ในตอนเช้าของวันที่ 15 ตุลาคม 2564 ที่มาภาพ : เพจ CRI-FM93

เส้นทางรถไฟความเร็วสูง จีน-ลาว เปิดดำเนินงานครั้งแรก เมื่อต้นเดือนธันวาคม 2021 ภายในเวลาเกือบ 2 เดือน เจ้าหน้าที่ด้านการขนส่งของมณฑลยูนานเปิดเผยว่า รถไฟสายนี้ ขนส่งผู้โดยสารไปแล้วกว่า 1 ล้านคน และบรรทุกสินค้ากว่า 5 แสนตัน โดย 1 แสนตันเป็นสินค้าข้ามพรมแดน

รถไฟความเร็วสูง จีน-ลาว เชื่อมนครคุนหมิง มณฑลยูนานกับนครเวียงจันทร์ เมืองหลวงของลาว มีความยาว 1,035 กม. ถือเป็นหนึ่งในโครงการคุณภาพของ “โครงการหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ของจีน แม้จะมีความวิตกว่า โครงการนี้อาจกลายเป็น “กับดักหนี้สิน” เพราะมูลค่าโครงการสูงถึงครึ่งหนึ่งของ GDP ของลาว แต่รถไฟ จีน-ลาว ก็เปลี่ยนลาวจากประเทศที่ถูกล้อมรอบด้วยดินแดนประเทศเพื่อนบ้าน และไม่มีท่าเรือทางทะเลของตัวเอง มาเป็นประเทศที่เชื่อมโยงกับภายนอกด้วยเส้นทางรถไฟ

ความสำคัญของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

หนังสือชื่อ Rivers of Iron (2020) เขียนถึงความพยายามของจีน ที่จะสร้างความเชื่อมโยงกับ 7 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ลาว เวียดนาม กัมพูชา เมียนมาร์ ไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ ผ่านโครงการรถไฟความเร็วสูง ความพยายามของจีนดังกล่าว จำเป็นที่จะต้องมองผ่านบริบทที่ว่า การพัฒนาเศรษฐกิจการเมืองของจีน ที่สั่งสมมาในระยะ 40 ปี ทำให้ความพยายามของจีนกลายเป็นสิ่งที่เป็นไปได้

นอกจากนี้ ยังต้องมองบทบาทเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่จะช่วยรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน และการที่ภูมิภาคนี้ที่จะเปลี่ยนไปในทิศทางเป็นประโยชน์ต่อจีน

กลุ่มคนในจีนไม่ว่าจะมีแนวคิดแบบการยึดผลประโยชน์ของดินแดนทางทวีป (continentalist) หรือพวกที่ยึดผลประโยชน์จากเส้นทางทะเล (maritime interest) ล้วนมองว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ต่ออนาคตของจีน

ประการแรก การสร้างเส้นทางขนส่งทางบก จะช่วยลดความเสี่ยงของการขนส่งทางเรือ ที่ผ่านมหาสมุทรอินเดีย และหมู่เกาะของสิงคโปร์กับอินโดนีเซีย ประการที่ 2 เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นภูมิภาคที่มีความมั่นคง โดยจีนสามารถสร้างห่วงโซ่การผลิต ที่มีการเชื่อมโยงกับจีน นอกจากนี้ จีนยังสามารถเข้าถึงตลาดผู้บริโภค ที่ชนชั้นกลางกำลังเติบโตมากขึ้น

River of Iron ที่มาภาพ : amazon.com

Rivers of Iron บอกว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังมีทรัพยากรแรงงาน ที่ค่อนข้างมีฝีมือ จีนจึงสามารถเคลื่อนย้ายเครือข่ายการผลิตชิ้นส่วนมูลค่าต่ำเข้ามา เนื่องจากต้นทุนการผลิตในประเทศของจีนเพิ่งสูงขึ้น การสร้างเส้นทางการค้าจากเหนือลงใต้ ทำให้ธุรกรรมเศรษฐกิจของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มุ่งไปในเส้นทางดังกล่าว

และสุดท้าย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นภูมิภาคที่ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานมีความล่าช้า ธนาคาร ADB เคยประเมิณว่า ช่วงปี 2017-2030 โครงสร้างพื้นฐานของเอเชียจะต้องการเงินลงทุนถึง 26 ล้านล้านดอลลาร์ จีนสามารถได้ประโยชน์จากการเป็นชาติแรกที่เข้าสู่การลงทุนด้านนี้ ทำให้สามารถกำหนดมาตรฐานการก่อสร้างและทางเทคนิค ตั้งแต่ในระยะแรก จีนจึงอยู่ในฐานะได้เปรียบ ที่จะแข่งขันทางเศรษฐกิจในอนาคต

การตัดสินใจของลาวกับรถไฟ “สายกลาง”

เดือนมิถุนายน 2017 คณะผู้เขียนหนังสือ Rivers of Iron ได้ทำงานภาคสนามในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปปลาว) ในช่วงนั้น วิศวกรและแรงงานจีนก็กำลังก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงจากบ่อเตน เมืองติดชายแดนจีนกับนครหลวงเวียงจันทร์ ระยะทาง 414 กม.

จีนถือว่า เส้นทางรถไฟในลาวเป็นช่วงแรกของเส้นทางรถไฟ “สายกลาง” (Central Line) จากนครคุนหมิงถึงกรุงเทพฯ และในที่สุดก็ต่อขยายไปกัวลาลัมเปอร์ และสิงคโปร์ เส้นทางสายกลางจะถูกขนาบด้วยเส้นทาง “สายตะวันออก” ที่ผ่านเวียดนามและกัมพูชา และ “สายตะวันตก” ผ่านเมียนมา ทั้ง 3 เส้นทางมาบรรจบกันที่กรุงเทพฯ

ผู้เขียนหนังสือ Rivers of Iron ถามเจ้าหน้าที่อาวุโสลาวว่า ทำไมลาวจึงตัดสินใจเดินหน้าโครงการรถไฟสายนี้ ที่จะทำให้ลาวมีภาระหนี้สินอย่างมาก สำหรับประเทศที่มีประชากร 7 ล้านคน และการลงทุนของโครงการ จะมีมูลค่ากว่า 50% ของ GDP ลาวในปี 2015 เจ้าหน้าที่ลาวให้คำอธิบายเป็น 2 ส่วน

คำอธิบายแรก คือตัวอย่างในประวัติศาสตร์ ประเทศที่เจริญรุ่งเรือง จะต้องพัฒนาตามแม่น้ำหรือใกล้ท่าเรือ แต่ลาวมีสภาพที่ตรงกันข้าม เป็นประเทศถูกปิดล้อมจากดินแดนประเทศอื่น ฐานะยากจน อยู่โดดเดี่ยว และเต็มไปด้วยภูเขา

แม้จะมีแม่น้ำโขงที่ยิ่งใหญ่ แต่เป็นส่วนของต้นน้ำ ลาวไม่อยู่ติดทะเลโดยตรง ลาวจึงต้องสร้าง “แม่น้ำเหล็ก” (River of Iron) ซึ่งก็คือเส้นทางรถไฟ

ต้นทางรถไฟที่สถานีนครหลวงเวียงจันทน์ ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้าง `ที่มาภาพ : สถานีวิทยุสากลจีนภาคภาษาลาว CRI-FM 93
ภายในอุโมงค์มิตรภาพ ยาว 9.68 กิโลเมตร ปากอุโมงค์อยู่ที่เมืองบ่อหาน ฝั่งจีน ปลายอุโมงค์อยู่ที่เมืองบ่อเต็น ฝั่งลาว ที่มาภาพ : บริษัททางรถไฟลาว-จีน
การวางรางลอดอุโมงค์แห่งแรกของทางรถไฟลาว-จีน ที่เมืองแสนขุม แขวงเวียงจันทน์ เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2563 ที่มาภาพ :สำนักข่าว Xinhua

คำอธิบายที่ 2 เป็นการประเมินสภาพที่เป็นจริงของลาว ทำให้ลาวตัดสินใจดำเนินโครงการถไฟ จีน-ลาว ลาวมีทางเลือกคือปฏิเสธดำเนินโครงการ อันจะทำให้ลาวยังเป็นประเทศยากจน ในขณะที่ประแทศเพื่อนบ้านมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว หรือตัดสินใจร่วมลงทุน แม้จะมีภาระหนี้สิน แต่ก็คาดหวังว่า โครงการนี้จะสร้างโอกาสใหม่ทางเศรษฐกิจขึ้นมาให้กับลาว

เจ้าหน้าที่ลาวบอกกับคนเขียน Rivers of Iron ว่า จีนบอกอย่างชัดเจนกับลาว หากลาวไม่ดำเนินการกับโครงการรถไฟเส้นทาง “สายกลาง” รถไฟที่เป็นสายทางเลือก คือ สายตะวันออกกับสายตะวันตก ก็จะเกิดขึ้น ทำให้ผู้นำของลาวต้องชั่งน้ำหนักการตัดสินใจ หากจะก้าวข้ามโครงการนี้ไป ทำให้ฝ่ายลาวต้องตัดสินใจแบบไปเสี่ยงเอาดาบหน้า (leap of a faith)

เจ้าหน้าที่ลาวพูดว่า “หากเราไม่ดำเนินการ เราก็จะพลาดโอกาสที่จะเชื่อมต่อกับจีน เวียดนาม ประเทศไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ งานวิจัยชี้ให้เห็นว่า เส้นทางสั้นที่สุดจากจีนมาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นเส้นทางที่ผ่านลาว ลาวต้องตัดสินใจ หากไม่ต้องการมีหนี้สิน ก็หมายความว่าลาวก็จะยังยากจนต่อไป ดังนั้น เราจึงต้องใช้ประโยชน์จากที่ตั้งของเรา แบบเดียวกับสิงคโปร์ใช้ประโยชน์จากจุดที่ตั้งของตัวเอง”

รถไฟ CR200J Fuxing EMU หรือที่ในจีนเรียกว่าเจ้า“ยักษ์เขียว” ในวันเปิดให้บริการเส้นทางคุนหมิง(ยูนนาน)-พานจือฮวา(เสฉวน) เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2563 เดือนสิงหาคมนี้ เจ้ายักษ์เขียว 2 ขบวนจะถูกส่งมาถึงลาว เพื่อทดลองวิ่งตามเส้นทางรถไฟลาว-จีน ที่มาภาพ : China Daily

การพัฒนาด้วยโครงสร้างพื้นฐาน

หนังสือ Rivers of Iron ให้ความเห็นว่า จีนเป็นตัวอย่างประเทศที่ขับเคลื่อนโมเดลการพัฒนาจาก “โครงสร้างพื้นฐาน” การพัฒนาเส้นทางรถไฟที่เชื่อมโยงจีนกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และการกระจายห่วงโซ่การผลิตแบบมูลค่าเพิ่มมาสู่ภูมิภาคนี้ จะทำให้อาเซียนเป็นภูมิภาค ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจต่อจีนมากยิ่งขึ้น

ส่วนประเทศตะวันตกลืมไปแล้วว่า โครงสร้างพื้นฐานมีบทบาทสำคัญอย่างไร ที่ทำให้ตะวันตกเองเจริญรุ่งเรือง และทันสมัยขึ้นมา และรวมทั้งบทบาทของรัฐบาลกลางในการลงทุนพัฒนาสิ่งนี้ ในกลางศตวรรษที่ 19 สหรัฐฯ เองร่วมกับภาคเอกชนได้เคยลงทุนครั้งใหญ่ด้าน “แม่น้ำแห่งเส้นทางรถไฟ” ทั่วอเมริกามาแล้ว

แต่นับจากทศวรรษ 1990 หลังจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียต สหรัฐฯและตะวันตกกลับไปส่งเสริมโมเดลการพัฒนาที่ยึดหลักการมีธรรมาภิบาล ความสามารถสมรรถนะของรัฐ หลักนิติธรรม และความโปร่งใส ทำให้นับจากเวลานั้นเป็นต้นมา ประเทศกำลังพัฒนาประสบปัญหายากลำบาก ที่จะหาเงินมาลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เพราะสหรัฐฯและองค์กรระหว่างประเทศ เช่น ธนาคารโลก เปลี่ยนนโยบายการปล่อยกู้จากโครงสร้างพื้นฐาน มาเป็นด้านการพัฒนาทางสังคมแทน

หนังสือ Rivers of Iron สรุปว่า การเติบโตของจีน ทำให้จีนมีความสามารถทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง และการทูต กลายเป็นชนวนทำให้เกิดการแข่งขันทางเศรษฐกิจและความมั่นคงในเอเชีย ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจภายในของจีน ก็เติบโตแลลชะลอตัวลง

จีนจึงต้องยกระดับการผลิตในห่วงโซ่คุณค่า หาทางส่งออกความสามารถการผลิตที่ล้นเกิน และรักษาความมั่นคงที่ทรัพยากรธรรมชาติ จะไหลเวียนสู่จีนอย่างต่อเนื่อง จุดนี้เป็นแรงผลักดันที่จนจะหาทางไปเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น

ศูนย์ขนถ่ายสินค้า หลักไมล์ที่ 105 เมืองหมู่เจ้ ประตูการค้าระหว่างเมียนมา-จีน ที่มีมูลค่าการซื้อขายแต่ละปีสูงที่สุด ที่มาภาพ: เพจข่าวเมืองหมู่เจ้

แนวคิดของจีนที่ใช้โครงสร้างพื้นฐาน เป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจ ทำให้ประเทศตะวันตกต้องหันมาทบทวนท่าที ที่เคยเป็นโรคภูมิแพ้โครงสร้างพื้นฐาน บทบาทใหม่ของตะวันตกนี้ ผู้เขียน Rivers of Iron เรียกว่า “ความเชื่อมโยงที่สมดุล” (balanced connectivity) คือการเชื่อมโยงของ “เหนือกับใต้” คือมุ่งไปทางจีน เสริมด้วยการเชื่อมโยงจากตะวันออกกับตะวันตก คือมุ่งมาถึงอินเดียกับเวียดนาม

ในที่สุดแล้ว การเชื่อมโยงที่สมดุล จะทำให้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เกิดการเติบโตที่กระจายความหลากหลาย (diversified growth) ประเทศเพื่อนบ้านทางใต้ของจีนต่างก็ยินดี ที่จะเห็นการเชื่อมโยงที่สมดุลนี้เกิดขึ้น

เอกสารประกอบ
Rivers of Iron, David M. Lampton, Selina Ho and Cheng-Chwee Kuik, University of California Press, 2020.