นายกฯไม่อยากให้ประเทศไทยเป็นสังคมแห่งการ “บูลลี่” มติ ครม.เข็นสลาก N3 สู้หวยใต้ดิน – การันตีถูกรางวัลได้เงินแน่นอน เพิ่มอำนาจ จนท.ดูแลเด็ก เสพ “กัญชา – กระท่อม” เปิดสถานบริการในเมืองการบินภาคตะวันออก 24 ชม. สปสช.แจงปี’65 ใช้งบฯ 1.3 แสนล้าน ดูแลผู้ป่วย 47 ล้านคน
เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2566 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล
ไม่อยากให้ประเทศไทยเป็นสังคมแห่งการ “บูลลี่”
ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. วันนี้ นายกฯ ได้แสดงความห่วงใยและพูดปรารภในที่ประชุมเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองในปัจจุบัน ซึ่งมีการใช้ถ้อยอันรุนแรงต่อผู้ที่มีความคิดเห็นแตกต่างกันในโซเชียลมีเดีย และเห็นได้ว่ามีการใช้ถ้อยคำลักษณะบูลลี่ (bully) ทั้งในสังคมไทยและโรงเรียน ทำให้เกิดผู้เสียหายและผู้เดือดร้อนในวงการ ยกตัวอย่าง กรณีของเด็ก ซึ่งจะมีผลกระทบกระเทือนต่อจิตใจ
“อยากให้สังคมใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกด้วยความระมัดระวัง ทุกคนคือคนไทย ไม่จำเป็นต้องแสดงออกด้วยถ้อยคำที่รุนแรง หรือ เกลียดชัง เน้นย้ำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรเข้ามามีส่วนร่วมในการย้ำเตือนประชาชน อย่าให้ประเทศไทยเป็นสังคมแห่งการบูลลี่ โดยเฉพาะการเมืองที่เป็นพื้นที่ของความเห็นต่าง ควรอยู่ด้วยกันบนเหตุผล” ดร.รัชดา กล่าว
ดร.รัชดา กล่าวต่อว่า นายกฯ ไม่ต้องการให้มีข้อมูลที่ไม่เป็นความจริงบนโซเชียลมีเดียเช่นกัน เพราะผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการโพสต์เขาก็อาจดำเนินการทางกฎหมาย ซึ่งไม่เป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย ดังนั้น ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็ควรเข้ามามีส่วนร่วมในการย้ำเตือนประชาชน
ดร.รัชดา กล่าวต่อว่า นายกฯ กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าไปดูแลทุกฝ่ายกรณีที่มีการกระทบสิทธิตามกฎหมาย และต้องไม่ดูแลเฉพาะฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ที่สำคัญที่สุด เราควรช่วยกันไม่ให้เกิดปัญหาการบูลลี่ในสังคมไทย
มติ ครม. มีดังนี้
เข็นสลาก N3 สู้หวยใต้ดิน – การันตีถูกรางวัลได้เงินแน่นอน
ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตามที่ ครม.ได้มีมติ เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 เห็นชอบหลักการการออกผลิตภัณฑ์สลากกินแบ่งรัฐบาล ได้แก่ 1. สลาก L6 (Lottery 6 – เลข 6 หลัก มีทั้งแบบใบและแบบดิจิทัล) และ 2. สลาก N3 (Numbers 3 – เลข 3 หลัก จำหน่ายเฉพาะแบบดิจิทัล ผู้ซื้อกำหนดตัวเลขเองได้) เพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางจำหน่ายสลากรูปแบบดิจิทัลและทางเลือกในการซื้อสลากแบบถูกกฎหมายมากขึ้น ทั้งนี้ สำนักงานสลากฯ ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและศึกษาผลกระทบทางสังคมเรียบร้อยแล้ว โดยมีกลุ่มผู้ซื้อ กลุ่มผู้ขายสลาก และกลุ่มผู้ขายสลากที่เป็นผู้ด้อยโอกาสและคนพิการ เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นจำนวน 14,398 คน ซึ่งส่วนใหญ่เห็นด้วย
ในวันนี้ที่ประชุม ครม. จึงมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงและร่างประกาศเกี่ยวกับการออกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาลแบบ L6 และ N3 รวม 3 ฉบับ คือ 1. ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการสมทบเงินรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาลตัวเลขสามหลัก (Numbers 3 : N3) พ.ศ. …. 2. ร่างประกาศสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เรื่อง กำหนดประเภทและรูปแบบสลากกินแบ่งรัฐบาลหกหลัก (Lottery 6 : L6) 3. ร่างประกาศสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เรื่อง กำหนดประเภทและรูปแบบสลากกินแบ่งรัฐบาลตัวเลขสามหลัก (Numbers 3 : N3) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ซึ่งมีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้
ฉบับแรก ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการสมทบเงินรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาลตัวเลขสามหลัก (Numbers 3 : N3) พ.ศ. …. มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้นำเงินที่จัดสรรไว้เป็นเงินรางวัลไปสมทบในงวดถัดไป แต่ไม่เกิน 1 งวด โดยการสมทบเงินรางวัลให้ยกไปสมทบกับเงินรางวัลประเภทเดียวกันเท่านั้น หากการออกรางวัลงวดถัดไปไม่มีผู้ถูกรางวัลอีก ให้นำเงินสมทบเงินรางวัลในงวดก่อนหน้านำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน
ฉบับที่ 2 ร่างประกาศสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เรื่อง กำหนดประเภทและรูปแบบสลากกินแบ่งรัฐบาลหกหลัก (Lottery 6 : L6) มีสาระสำคัญ คือ
1. รูปแบบสลาก L6 กำหนดเป็นสลากประเภทไม่สมทบเงินรางวัล (หากงวดใดไม่มีผู้ถูกรางวัล ให้นำเงินรางวัลส่งเป็นรายได้แผ่นดิน) มีการจำหน่ายทั้งแบบใบและแบบดิจิทัล ซึ่งรูปแบบดิจิทัลจำหน่ายผ่านช่องทางแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” โดยออกรางวัลทุกวันที่ 1 และวันที่ 16 ของเดือน สำหรับสลาก L6 ประกอบด้วยหมายเลข 6 หลัก แต่ละหลัก มี 10 หมายเลข ตั้งแต่ 0 ถึง 9 (000000 – 999999) โดยกำหนดหมายเลขไว้ล่วงหน้า ซึ่งเป็นรูปแบบเดียวกับที่สำนักงานสลากดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน แต่สลากแบบดิจิทัลจะไม่มีการพิมพ์สลากและไม่มีการสแกนภาพสลาก
2. การจ่ายเงินรางวัลและประเภทของรางวัล รวม 9 ประเภทรางวัล รวม 14,168 รางวัลต่อชุด มีดังนี้
- รางวัลที่ 1 รางวัลละ 6 ล้านบาท จำนวน 1 รางวัล
- รางวัลข้างเคียงรางวัลที่ 1 รางวัลละ 1 แสนบาท จำนวน 2 รางวัล
- รางวัลที่ 2 รางวัลละ 2 แสนบาท จำนวน 5 รางวัล
- รางวัลที่ 3 รางวัลละ 8 หมื่นบาท จำนวน 10 รางวัล
- รางวัลที่ 4 รางวัลละ 4 หมื่นบาท จำนวน 50 รางวัล
- รางวัลที่ 5 รางวัลละ 2 หมื่นบาท จำนวน 100 รางวัล
- รางวัลเลขหน้าสามตัว เสี่ยง 2 ครั้ง รางวัลละ 4,000 บาท จำนวน 2,000 รางวัล
- รางวัลเลขท้ายสามตัว เสี่ยง 2 ครั้ง รางวัลละ 4,000 บาท จำนวน 2,000 รางวัล
- รางวัลเลขท้ายสองตัว เสี่ยง 1 ครั้ง รางวัลละ 2,000 บาท จำนวน 10,000 รางวัล
3.การจัดสรรเงินรางวัล กำหนด (1) ร้อยละ 60 เป็นเงินรางวัล (2) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 23 เป็นรายได้แผ่นดิน (3) ไม่เกินกว่าร้อยละ 17 เป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารงาน
ฉบับที่ 3 ร่างประกาศสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เรื่อง กำหนดประเภทและรูปแบบสลากกินแบ่งรัฐบาลตัวเลขสามหลัก (Numbers 3 : N3) มีสาระสำคัญ คือ
1. รูปแบบสลาก N3 เป็นสลากประเภทสมทบเงินรางวัล (สมทบได้ไม่เกิน 1 งวด หากไม่มีผู้ถูกรางวัลอีกให้นำเงินสมทบเงินรางวัล ในงวดก่อนหน้าส่งเป็นรายได้แผ่นดิน) มีการจำหน่ายเฉพาะรูปแบบแบบดิจิทัลเท่านั้น ผ่านช่องทางแอปพลิเคชันเป๋าตัง โดยออกรางวัลทุกวันที่ 1 และวันที่ 16 ของเดือน สำหรับสลาก N 3 เป็นสลากรูปแบบใหม่ ประกอบด้วยหมายเลขให้เลือก 3 หลัก แต่ละหลักมี 10 หมายเลข ตั้งแต่ 0 ถึง 9 (000 – 999) โดยไม่กำหนดหมายเลขไว้ล่วงหน้า ผู้ซื้อสามารถเลือกหมายเลขแต่ละหลักให้ครบ 3 หลัก และสามารถเลือกหมายเลขแต่ละหลักซ้ำกันได้
2. การจ่ายเงินรางวัลและประเภทของรางวัล รวม 4 ประเภทรางวัล มีดังนี้
- รางวัลสามตรง (ถูกทุกหมายเลขและตรงทุกตำแหน่ง)
- รางวัลสามสลับ (ถูกทุกหมายเลข แต่สลับตำแหน่ง)
- รางวัลสองตรง (ถูกทุกหมายเลขและตรงทุกตำแหน่ง)
- รางวัลพิเศษ (ถูกรางวัลที่มีข้อมูลหมายเลขตรงกับผลการออกรางวัลพิเศษ)
ทั้งนี้ ไม่สามารถระบุจำนวนรางวัลได้ เนื่องจากจำนวนรางวัลจะแปรผันตามจำนวนผู้ที่ซื้อสลาก โดยในแต่ละงวดสำนักงานสลากจะประกาศสัดส่วนการจ่ายเงินรางวัลในแต่ละประเภทรางวัลล่วงหน้าก่อนการออกรางวัล
3. การจัดสรรเงินรางวัล กำหนด (1) ร้อยละ 60 เป็นเงินรางวัล (2) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 23 เป็นรายได้แผ่นดิน (3) ไม่เกินกว่าร้อยละ 17 เป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารงาน
สำหรับแนวทางการกำหนดตัวแทนจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาล L6 ประกอบด้วย 1. แบบใบ ต่อสัญญาการเป็นตัวแทนจำหน่ายสลากรายเดิมให้จำหน่ายสลาก L6 แบบใบ 2. แบบดิจิทัล ต่อสัญญาการเป็นตัวแทนจำหน่ายสลากรายเดิม ให้จำหน่ายสลาก L6 แบบดิจิทัล รวมทั้งคัดเลือกกลุ่มผู้ด้อยโอกาสและคนพิการในตัวแทนจำหน่ายสลากรายเดิม ให้มาจำหน่ายสลาก L6 แบบดิจิทัล ส่วนตัวแทนจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาล N3 กำหนดให้กลุ่มผู้ด้อยโอกาสและคนพิการได้มีโอกาสในการจำหน่ายสลาก N3
ดร.รัชดา กล่าวด้วยว่า การออกผลิตภัณฑ์สลากกินแบ่งรัฐบาล N3 จะช่วยแก้ไขปัญหาการขายสลากเกินราคา เนื่องจากมีการจำหน่ายเฉพาะรูปแบบดิจิทัลผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” และเพิ่มทางเลือกให้ประชาชนซื้อสลากแบบถูกกฎหมายมากขึ้น เพราะผู้ซื้อสลากสามารถเลือกตัวเลขได้ตามความต้องการ มีรางวัลพิเศษ และได้รับรางวัลแน่นอน ส่วนการออกสลาก L6 ควบคู่กับการออกสลาก N3 นั้น จะช่วยลดค่าใช้จ่ายบางรายการได้ เช่น ค่าใช้จ่ายในการจัดส่งสลากและต้นทุนการพิมพ์ เนื่องจากสลาก L6 แบบดิจิทัลจะไม่มีการพิมพ์สลากและไม่มีการสแกนภาพสลาก ซึ่งจะแตกต่างจากที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน
แก้กฎ ก.พ. “โรคจิต-อารมณ์ผิดปกติ” เป็น ขรก.ได้
ดร.รัชดา กล่าวว่า ตามที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีข้อเสนอแนะต่อสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน ( สำนักงาน ก.พ.) เกี่ยวกับร่างกฎ ก.พ. ว่าด้วยโรค พ.ศ. …. ถึงการกำหนดโรคอันเป็นลักษณะต้องห้ามในการเข้ารับราชการ โดยเพิ่มโรคจิต (Psychosis) หรือ โรคอารมณ์ผิดปกติ (Mood Disorders) ที่ปรากฏอาการเด่นชัดรุนแรงหรือเรื้อรัง และเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงานในหน้าที่ไว้เป็นการเฉพาะ อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าบุคคลที่ป่วยโรคดังกล่าวไม่มีความสามารถในการทำงานใด ๆ และอาจเสี่ยงต่อการเลือกปฏิบัติในการจ้างงาน
ดังนั้น เพื่อเป็นการกำหนดโรคอันมีลักษณะต้องห้ามในการเข้ารับราชการให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนและหลักการไม่เลือกปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ วันนี้ ครม.จึงมีมติอนุมัติร่างกฎ ก.พ. ว่าด้วยโรค พ.ศ. …. ตามที่ สำนักงาน ก.พ. เสนอ ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการปรับปรุงแก้ไขร่างกฎ ก.พ. ว่าด้วยโรค พ.ศ. …. ฉบับเดิม โดยยกเลิกข้อความการกำหนดให้โรคจิต (Psychosis) หรือ โรคอารมณ์ผิดปกติ (Mood Disorder) ที่ปรากฎอาการเด่นชัดรุนแรงหรือเรื้อรังและเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติหน้าที่ออก ส่วนโรคอันเป็นลักษณะต้องห้ามในการเข้ารับราชการของบุคคล ตามที่กำหนดในร่างกฎ ก.พ. ว่าด้วยโรค พ.ศ. …. ฉบับนี้ ยังคงเดิม ได้แก่
-
(1)โรคเท้าช้างในระยะที่ปรากฎอาการเป็นที่รังเกียจแก่สังคม
(2)โรคติดยาเสพติดให้โทษ
(3)โรคพิษสุราเรื้อรัง
(4)โรคติดต่อร้ายแรงหรือโรคเรื้อรังที่ปรากฏอาการเด่นชัดหรือรุนแรงอันเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงานในหน้าที่ พร้อมกำหนดวิธีการตรวจโรคติดต่อร้ายแรงหรือโรคเรื้อรังที่ปรากฏอาการเด่นชัดหรือรุนแรง และเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงานในหน้าที่ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการแพทย์ของ ก.พ. กำหนด
ทั้งนี้ ร่างกฎ ก.พ. จะมีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหกสิบวันนับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
เพิ่มอำนาจ จนท.ดูแลเด็ก เสพ “กัญชา – กระท่อม”
ดร.รัชดา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดเด็กที่เสี่ยงต่อการกระทำผิด (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอ เพื่อป้องกันและคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กไม่ให้ได้รับผลกระทบต่อการพัฒนาทางด้านสติปัญญา และการเจริญเติบโตของร่างกายจากการใช้พืชกระท่อม กัญชา กัญชง หรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสม ทั้งนี้ เด็กที่เสี่ยงต่อการกระทำผิด หมายถึง เด็กที่ประพฤติตนไม่สมควร เด็กที่ประกอบอาชีพ หรือ คบหาสมาคมกับบุคคลที่น่าจะชักนำไปในทางกระทำผิดกฎหมาย หรือ ขัดต่อศีลธรรมอันดี หรือ อยู่ในสภาพแวดล้อมหรือสถานที่อันอาจชักนำไปในทางเสียหาย และ เด็ก หมายถึง บุคคล ซึ่งมีอายุต่ำกว่าสิบแปดปีบริบูรณ์ แต่ไม่รวมถึงผู้ที่บรรลุนิติภาวะด้วยการสมรส
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวง กำหนดเด็กที่เสี่ยงต่อการกระทำความผิด พ.ศ.2549 โดยเพิ่มพฤติกรรมเด็กที่ใช้พืชกระท่อม กัญชา กัญชง หรือ ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของพืชกระท่อม กัญชา หรือกัญชงในลักษณะเพื่อสันทนาการ ให้ถือเป็นเด็กที่มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการกระทำผิด เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 มีหน้าที่และอำนาจการคุ้มครองสวัสดิภาพของเด็กที่มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการกระทำผิดดังกล่าว ได้แก่
-
1) ส่งตัวเด็กเข้าสถานคุ้มครองสวัสดิภาพ หรือ สถานพัฒนาและฟื้นฟู หรือ
2) มอบตัวเด็กให้แก่ผู้ปกครอง หรือ บุคคลที่ยินยอมรับเด็กไปปกครองดูแล
โดยอาจแต่งตั้งผู้คุ้มครองสวัสดิภาพแก่เด็กหรือไม่ก็ได้ โดยวางข้อกำหนดเพื่อป้องกันไม่ให้เด็กมีความประพฤติเสียหาย หรือเสี่ยงต่อการกระทำผิด เช่น ระมัดระวังไม่ให้เด็กเข้าไปในสถานที่อันจะจูงใจให้เด็กประพฤติตนไม่สมควร และระมัดระวังไม่ให้เด็กคบหาสมาคมกับบุคคลที่อาจจะชักนำไปในทางเสื่อมเสีย เป็นต้น
ดร.รัชดา กล่าวด้วยว่า เมื่อร่างกฎกระทรวงฉบับนี้มีผลใช้บังคับแล้ว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยกรมกิจการเด็กและเยาวชนจะดำเนินการออกระเบียบคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ เพื่อกำหนดวิธีการคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กที่ใช้พืชกระท่อม กัญชา กัญชง หรือ ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของพืชกระท่อม กัญชา หรือกัญชง ในลักษณะสารเสพติดต่อไป
โชว์ผลงานแก้หนี้ครัวเรือน
นางสาวทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบรายงานสรุปผลการดำเนินการคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย ระหว่างเดือนกรกฎาคม 2564 – มีนาคม 2566 ที่ได้เน้นการดำเนินการใน 2 ลักษณะ ได้แก่ (1) การปรับโครงสร้างหนี้/ไกล่เกลี่ยปัญหาหนี้สิน เพื่อไม่ให้เกิดการฟ้องร้องคดีจำนวนมากและการผิดนัดชำระหนี้ในวงกว้าง และ (2) การกำหนดมาตรการระยะเร่งด่วน (Quick Win) ที่ไม่สร้างภาระด้านงบประมาณแต่ช่วยลดภาระการจ่ายหนี้ของประชาชนได้ และ ครม. ยังมีมติให้รับความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปทบทวนแนวทางการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาหนี้สินในระยะต่อไปให้เกิดความเหมาะสมก่อนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป
ความคืบหน้าผลการดำเนินการที่สำคัญ 3 ด้าน คือ 1.ช่วยเหลือลูกหนี้ให้เข้าถึงกลไกการแก้ไขหนี้สิน 2.ปรับปรุงกฎหมาย และ 3.เพิ่มเติมแหล่งสินเชื่อที่เป็นธรรม โดยแต่ละด้าน มีความคืบหน้าโดยสรุปดังนี้
1. การช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มต่าง ๆ ให้สามารถเข้าถึงกลไกการแก้ไขหนี้สินได้ง่ายและเป็นธรรมยิ่งขึ้น อาทิเช่น (1) ช่วยเหลือลูกหนี้ กยศ. 4.6 ล้านราย และผู้ค้ำประกัน 2.8 ล้านรายได้รับประโยชน์จากเงื่อนไขที่ผ่อนปรนขึ้นจากการปรับปรุง พ.ร.บ. กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2560 (2) การแก้ไขหนี้สินข้าราชการในกลุ่มข้าราชการครูและตำรวจให้สามารถเข้าถึงกลไกการปรับโครงสร้างหนี้ เช่น การลดอัตราดอกเบี้ย การผ่อนปรนเงื่อนไขการชำระหนี้ การรับโอนสินทรัพย์เพื่อชำระหนี้ การปรับลักษณะของหนี้จากหนี้ระยะสั้นเป็นหนี้ระยะยาว การให้สินเชื่อเพิ่มเติมแก่ลูกหนี้ การขยายระยะเวลาชำระหนี้ และการให้ระยะเวลาปลอดเงินต้นและ/หรือดอกเบี้ยโดยใช้สหกรณ์ออมทรัพย์เป็นกลไกหลัก มีข้าราชการได้รับการแก้ไข/ปรับโครงสร้างหนี้ รวม 18,362 ราย และ (3) การจัดมหกรรมการแก้ไขหนี้สิน เพื่อให้ประชาชนทั่วประเทศสามารถเข้าถึงกลไกการไกล่เกลี่ยและการปรับโครงสร้างหนี้ได้อย่างทั่วถึง ทั้งหนี้ครัวเรือน (กยศ. บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อรถยนต์) และหนี้สินครู
2. การปรับปรุงกฎหมายและระเบียบที่สำคัญเพื่อสร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) ที่เอื้อให้ลูกหนี้สามารถเข้าถึงกลไกการไกล่เกลี่ยหนี้สิน และกำกับให้ธุรกิจสินเชื่อดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบยิ่งขึ้น โดยได้ขับเคลื่อนกฎหมาย กฎ และระเบียบที่สำคัญ รวม 13 ฉบับ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
-
กลุ่มที่ 1 กฎหมายเพื่อกำกับธุรกิจดูแลที่เกี่ยวข้องกับสินเชื่อ 5 ฉบับ เน้นการกำกับดูแลสินเชื่อที่ยังไม่มีการกำกับดูแล โดยให้ความสำคัญกับสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ การให้สินเชื่อของสหกรณ์ออมทรัพย์ และการทวงถามหนี้ให้เป็นธรรมยิ่งขึ้น
-
กลุ่มที่ 2 กฎหมายเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการแก้ไขปัญหาหนี้สิน และลดภาระที่จะเกิดขึ้นต่อกระบวนการยุติธรรม 5 ฉบับ เน้นการปรับปรุงกติกา เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงกลไกการไกล่เกลี่ยและการปรับโครงสร้างหนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพรวมทั้งลดภาระที่จะเกิดขึ้น เช่น หนี้ กยศ. ลดเบี้ยปรับจากเดิมร้อยละ 7.5 เหลือเพียงร้อยละ 0.5 ต่อปี และกำหนดลำดับการหักชำระหนี้โดยหักเงินต้นก่อนทำให้เงินต้นลดลงได้มากกว่ากรณีที่หักชำระเบี้ยปรับและดอกเบี้ยก่อน และให้มีการปรับโครงสร้างหนี้ได้ และยังมีการประกาศใช้กฎหมายเพื่อกำหนดแนวทางการปรับปรุงโครงสร้างหนี้สำหรับลูกหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ
-
กลุ่มที่ 3 กฎหมายเพื่อบรรเทาปัญหาสำหรับประชาชนในภาวะวิกฤต 3 ฉบับ เน้นการบรรเทาปัญหาของประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19
3. การเพิ่มเติมแหล่งสินเชื่อที่เป็นธรรมให้กับประชาชน ได้เร่งจัดหาแหล่งสินเชื่อดอกเบี้ยที่เหมาะสมเพื่อเสริมสภาพคล่องและลดการพึ่งพาหนี้นอกระบบ อาทิเช่น จัดตั้งบริษัท มีที่ มีเงิน จำกัด โดยธนาคารออมสินร่วมทุนกับองค์กรที่มีภาครัฐเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อีก 2 แห่งเพื่อช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการรายย่อยให้สามารถนำที่ดินที่เป็นหลักประกันการกู้เงิน ในแบบจำนองหรือขายฝาก คิดอัตราดอกเบี้ยปีแรกร้อยละ 6.99-8.99 ต่อปี แบบลดต้นลดดอก พร้อมปลอดชำระเงินต้นนาน 1 ปี เพื่อบรรเทาปัญหาหนี้สิน ลดความเหลื่อมล้ำทางการเงิน เป็นช่องทางการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่มีต้นทุนดอกเบี้ยที่ถูกลง และลดดอกเบี้ยของสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (PICO Finance) สำหรับหนี้สินที่มีหลักประกัน จากร้อยละ 36 เป็นไม่เกินร้อยละ 33 คิดดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก (Effective Rate)
“รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญในการแก้ไขหนี้สินรายย่อยเพื่อประชาชนทั้งที่ผ่านมาและให้มีการดำเนินการต่อเนื่อง จึงได้วางแนวทางการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาหนี้สินในระยะต่อไป อาทิเช่น 1. การช่วยเหลือลูกหนี้ กยศ. ภายหลัง พ.ร.บ. กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 มีผลบังคับใช้ 2. การไกล่เกลี่ยและการปรับโครงสร้างหนี้ให้ประชาชนเข้าถึงกลไกการไกล่เกลี่ย และปรับโครงสร้างหนี้ในวงกว้าง 3. การปรับปรุงอัตราดอกเบี้ยและการกำกับดูแลสถาบันการเงิน เน้นการสนับสนุนให้สหกรณ์เป็นกลไกช่วยเหลือการเข้าถึงบริการทางการเงินที่มีประสิทธิภาพและมีความรับผิดชอบ 4. การช่วยเหลือลูกหนี้เช่าซื้อรถยนต์ เน้นการขยายขอบเขตความคุ้มครองผู้เช่าซื้อรถยนต์เพื่อการพาณิชย์และการเพิ่มทางเลือกอื่น ๆ เพื่อให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสม โดยมีหลักประกันที่ชัดเจน 5. แก้ไขหนี้สินข้าราชการ เน้นการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการแก้ไขปัญหาหนี้สิน สร้างระบบสินเชื่อสวัสดิการที่เป็นประโยชน์ และขยายกลุ่มเป้าหมายเพื่อให้ครอบคลุมข้าราชการในวงกว้าง 6. ช่วยเหลือประชาชนให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่เป็นธรรม เน้นการขยายขอบเขตและมาตรการเพื่อช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการรายย่อย และ 7. แก้ไขข้อกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เน้นการสร้างสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการแก้ไขปัญหาและลดภาระและต้นทุนในการดำเนินคดี” นางสาวทิพานัน กล่าว
กำหนดโควตาให้ต่างด้าวพำนักไทยปี’66 ไม่เกิน 100 คน/ปี
นางสาวทิพานัน กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีและกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดจำนวนคนต่างด้าวซึ่งจะมีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร ประจำปี พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ เพื่อการปรับปรุงกฎระเบียบเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน
นางสาวทิพานัน กล่าวว่า ร่างประกาศฯ ฉบับนี้มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดจำนวนคนต่างด้าวซึ่งจะมีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร ประจำปี พ.ศ. 2566 ซึ่งเป็นการดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตาม พ.ร.บ. คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 โดยกำหนดจำนวนคนต่างด้าวที่มีสัญชาติของแต่ละประเทศ ซึ่งจะมีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรเป็นรายปีประเทศละไม่เกิน 100 คนต่อปี และไม่เกิน 50 คนต่อปี สำหรับคนไร้สัญชาติ เพื่อให้คนต่างด้าวที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยสามารถยื่นคำขอมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยต่อไป อันเป็นการส่งเสริมให้คนต่างด้าวเข้ามาลงทุนและทำงานในประเทศไทย และร่างประกาศฯ นี้คณะกรรมการพิจารณาคนเข้าเมืองได้มีมติเห็นชอบด้วยแล้ว
“ร่างประกาศฯ ฉบับนี้เป็นการดำเนินการในลักษณะงานปกติที่กฎหมายกำหนดไว้ และ ครม.เคยมีมติเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2561, 15 เมษายน 2563, 28 กันยายน 2564 และ 12 กรกฎาคม 2565 เห็นชอบและได้ดำเนินการแล้ว จึงเป็นการต่อเนื่อง ซึ่งในครั้งนี้มีการให้ความเห็นเพิ่มเติมในการให้ความสำคัญกับการตรวจสอบข้อเท็จจริงและพฤติกรรมเชิงลึกของบุคคลให้เกิดความชัดเจน เพื่อป้องกันผลกระทบทั้งด้านความมั่นคงและการแสวงโอกาสเพื่อการกระทำความผิดในรูปแบบต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น” นางสาวทิพานัน กล่าว
ยกเลิกกองทุนรวมเพื่อคนต่างด้าว หลังมี NVDR เป็นทางเลือกใหม่
นางสาวทิพานัน กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงยกเลิกกฎกระทรวง ฉบับที่ 8 (พ.ศ. 2539) ออกตามความในพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เนื่องจากกฎกระทรวง ฉบับที่ 8 ดังกล่าวไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป
นางสาวทิพานัน กล่าวว่า การยกเลิกกฎกระทรวง ฉบับที่ 8 ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งการประกาศยกเลิกเกิดจากปัจจัย 3 ประการ คือ
-
1. กฎกระทรวง ฉบับที่ 8 เป็นมาตรการที่สนับสนุนการลงทุนของผู้ลงทุน ซึ่งเป็นคนต่างด้าวที่มีข้อจำกัดเกี่ยวกับอัตราส่วนการถือหุ้นของคนต่างด้าว ทำให้ผู้ลงทุนซึ่งเป็นคนต่างด้าวมีทางเลือกในการลงทุนในใบแสดงสิทธิในผลประโยชน์ที่เกิดจากหลักทรัพย์อ้างอิงไทย (Non-Voting Depository Receipt: NVDR) ทำให้ความต้องการลงทุนในกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุน ซึ่งเป็นคนต่างด้าวลดน้อยลง
-
2. ผู้ประกอบการเพียงรายเดียวที่ได้รับใบอนุญาตตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 8 คือ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนซึ่งเป็นคนต่างด้าว จำกัด ได้รับอนุญาตให้เลิกประกอบธุรกิจจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแล้วเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2565 ทำให้ปัจจุบันไม่มีผู้ประกอบธุรกิจดังกล่าวแล้ว
-
3. ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ไม่มีความประสงค์จะยื่นขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจดังกล่าวอีกต่อไป
ครม.มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวง 2 ฉบับ ภายใต้ ปพพ. เพิ่มทางเลือก บจก.เรียกประชุมใหญ่ผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ และให้มีคนกลางที่เป็นผู้ประเมินราคาซื้อขายหุ้นกรณีควบรวมบริษัทฯ
นางสาวทิพานัน กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงภายใต้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ รวม 2 ฉบับ ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ เพื่อเป็นการเพิ่มทางเลือกให้บริษัทจำกัดสามารถโฆษณาคำบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่ผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์อื่นใดเพิ่มเติมจากการโฆษณาทางหนังสือพิมพ์ และให้มีคนกลางที่เป็นผู้ประเมินราคาซื้อขายหุ้นของผู้ถือหุ้นที่คัดค้าน/ไม่เห็นด้วยกับการควบรวมบริษัท ในกรณีที่บริษัทมีมติพิเศษให้ควบรวม โดยให้ร่างกฎกระทรวง 2 ฉบับดังกล่าวมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการในการโฆษณาคำบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่ในสื่ออิเล็กทรอนิกส์ กรณีบริษัทจำกัดมีหุ้นชนิดที่มีใบหุ้นออกให้แก่ผู้ถือ พ.ศ. …. เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการโฆษณาคำบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่ในสื่ออิเล็กทรอนิกส์กรณีที่บริษัทมีหุ้นชนิดที่มีใบหุ้นออกให้แก่ผู้ถือ (หุ้นไม่ระบุชื่อ) สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
-
1. บริษัทจำกัดที่มีหุ้นชนิดใบหุ้นออกให้แก่ผู้ถือ (หุ้นไม่ระบุชื่อ) อาจโฆษณาคำบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่ในสื่ออิเล็กทรอนิกส์เพิ่มเติมจากการโฆษณาในหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่ก็ได้
-
2. การโฆษณาในสื่ออิเล็กทรอนิกส์ให้กระทำโดยการประกาศผ่านเว็บไซต์ที่เข้าถึงได้เป็นการทั่วไป เช่น เว็บไซต์ของบริษัทหรือเว็บไซต์หนังสือพิมพ์ออนไลน์
-
3. ข้อความหรือเอกสารที่โฆษณาต้องเป็นเอกสารชุดเดียวกัน หรือมีเนื้อหาเช่นเดียวกันกับที่ส่งให้แก่ผู้ถือหุ้น
-
4. การโฆษณาคำบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่ในสื่ออิเล็กทรอนิกส์จะต้องปรากฏข้อความหรือเอกสารที่โฆษณานั้นในสื่ออิเล็กทรอนิกส์จนถึงวันประชุมใหญ่
-
5. บริษัทจำกัดต้องเก็บรวบรวมหลักฐาน การโฆษณา พร้อมทั้งรายละเอียดเกี่ยวกับวันที่มีการโฆษณาไว้ด้วย
ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการแต่งตั้งผู้ประเมินราคา พ.ศ. …. เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการแต่งตั้งผู้ประเมินราคาซื้อขายหุ้นของผู้ถือหุ้นที่เข้าร่วมประชุมและคัดค้านการควบรวมบริษัทในกรณีที่บริษัทมีมติพิเศษให้ควบรวมบริษัท สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
-
1. บริษัทจำกัดเป็นผู้แต่งตั้งผู้ประเมินราคาที่เป็นคนกลางทำหน้าที่ประเมินและกำหนดราคาซื้อขายหุ้นของผู้ถือหุ้นส่วนน้อยที่คัดค้าน/ ไม่เห็นด้วยกับการควบรวมบริษัท และ กำหนดความเป็นอิสระของผู้ประเมินราคา เช่น ไม่เป็นผู้ที่มีส่วนได้เสีย ปราศจากอคติ
-
2. คุณสมบัติของผู้ประเมินราคา ได้แก่ 1. เป็นผู้สอบบัญชีที่ได้รับอนุญาต 2. ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการประเมินทรัพย์สินที่ได้รับอนุญาต/ได้รับความเห็นชอบ/ ขึ้นทะเบียนจากหน่วยงานของรัฐ สมาคม จดทะเบียนหรือตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น อนุญาโตตุลาการในสาขาการประเมินราคาทรัพย์สิน ผู้เชี่ยวชาญศาลด้านการประเมินมูลค่าทรัพย์สิน บริษัทประเมินมูลค่าทรัพย์สินหรือผู้ประเมินหลักที่ได้รับความเห็นชอบจาก สนง. ก.ล.ต.
เปิดสถานบริการในเมืองการบินภาคตะวันออกได้ 24 ชม.
นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดวันเวลาเปิดปิดของสถานบริการ (ฉบับที่…) พ.ศ….. ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ ซึ่งสาระสำคัญของร่างกฎกระทรวงฯ เป็นการกำหนดวันเวลาเปิดปิดของสถานบริการทุกประเภทที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจะกำหนดโดยออกเป็นพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) และตั้งอยู่ในพื้นที่เมืองการบิน ภายในเขตส่งเสริมเมืองการบินภาคตะวันออก ให้เปิดบริการได้ 24 ชั่วโมง
โดยขณะนี้ กระทรวงมหาดไทยอยู่ระหว่างดำเนินการยกร่าง พ.ร.ฎ. ออกตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ.2509 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กำหนดเขตพื้นที่เพื่อการอนุญาตให้ตั้งสถาบริการในอำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง โดยมีพื้นที่เมืองการบินในเขตส่งเสริมเมืองการบินภาคตะวันออกรวมอยู่ในอำเภอดังกล่าวด้วย
นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ร่างกฎกระทรวงฯ ดังกล่าวจะเป็นกฎหมายที่สนับสนุนให้ในพื้นที่เมืองการบินภาคตะวันออกสามารถดำเนินกิจกรรมสันทนาการที่จำเป็นและเหมาะสม ให้พื้นที่มีศักยภาพรองรับนักธุรกิจ ผู้เดินทาง นักท่องเที่ยวและผู้ใช้บริการสนามบินอู่ตะเภา
ทั้งนี้ ครม.ได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยรับข้อคิดเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการด้วย ได้แก่ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เห็นว่าควรมีการประเมินความคุ้มค่าในมิติสังคมและสิ่งแวดล้อมประกอบเพิ่มเติม เช่น ความปลอดภัยด้านการขนส่ง ทางทรัพย์สิน มลพิษทางเสียงและขยะ เป็นต้น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เห็นว่าควรคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและความต้องการใช้พลังงานที่เพิ่มขึ้นจากการเปิดบริการ 24 ชั่วโมงของสถานบริการบางประเภท ตลอดจนมาตรการด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ความเสี่ยงต่อโรคระบาดของผู้ใช้บริการและชุมชนโดยรอบ
ขณะที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เห็นว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องร่วมกันกำกับการดำเนินกิจกรรมของสถานบริการในพื้นที่เมืองการบินภาคตะวันออกอย่างเคร่งครัดเหมาะสม ตามหลักสากล และมีการควบคุม ด้านกายภาพที่เป็นรูปธรรม ทั้งการใช้เทคโนโลยีตามมาตรฐานสากลของสนามบินระดับโลก
นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ได้ระบุถึงแผนการบริหารจัดการพื้นที่เพื่อให้บริการในเมืองการบินว่า สกพอ.จะร่วมกับหน่วยงานเกี่ยวข้องและภาคเอกชน ในการแบ่งการใช้พื้นที่และประเภทกิจกรรมที่จะดำเนินการที่มีลักษณะพิเศษเพื่อรองรับความต้องการเฉพาะบุคคล เฉพาะกลุ่ม เช่น โรงแรม อาคารที่พักอาศัย อาคารจัดนิทรรศการและงานแสดงสินค้า พิพิธภัณฑ์ศิลปะ ร้านอาหาร ที่มีการจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มซึ่งรวมถึงแอลกอฮอล์ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง
ทั้งนี้ ตามแผนการของ สกพอ. จะเป็นการดำเนินการภายในพื้นที่ปิดอย่างเคร่งครัด มีการกั้นรั้วสูงโดยรอบ บริเวณพื้นที่จะกำหนดประตูเข้าออกที่แน่นอน รวมทั้งมีระบบรักษาความปลอดภัยตามมาตรฐานสากลในการควบคุมและกำกับการเข้าออกของบุคคลทั่วไปและภายในพื้นที่เมืองการบิน โดยจะไม่กระทบต่อความสงบเรียบร้อยหรือก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนในพื้นที่โดยรอบ
สปสช.แจงปี’65 ใช้งบฯ 1.3 แสนล้าน ดูแลผู้ป่วย 47 ล้านคน
นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบรายงานการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2565 ตามที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ นำเสนอ โดยมีข้อมูลการดำเนินการในด้านต่างๆ ดังนี้
ในด้านการเบิกจ่ายงบประมาณ มีการเบิกจ่ายงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้กับหน่วยบริการให้ผู้มีสิทธิรวม 130,480.54 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 92.84 ของงบประมาณทั้งหมด 140,550.19ล้านบาท ด้านความครอบคลุมสิทธิหลักประกันสุขภาพ พบว่าสิทธิกองทุน สปสช. ครอบคลุมคนไทย 47.46 ล้านคน มีการลงทุนเลือกหน่วยบริการประจำ 47.18 ล้านคน คิดเป็นความครอบคลุมที่ร้อยละ 99.40
ทั้งนี้ ณ สิ้นปีงบประมาณ 65 มีหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินั้นมีทั้งสิ้น 15,847 แห่ง ประกอบด้วยหน่วยปฐมภูมิ 12,185 แห่ง หน่วยบริการประจำ 1,213 แห่ง หน่วยบริการรับส่งต่อทั่วไป 1,085 แห่ง หน่วยบริการรับส่งต่อเฉพาะด้าน 4,633 แห่ง
นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ทางด้านผลงานบริการตามงบประมาณที่ได้รับจัดสรร พบว่า มีการให้บริการพื้นฐานในงบเหมาจ่ายรายหัว สำหรับผู้ป่วยนอก 167 ล้านครั้ง ผู้ป่วยใน 6.2 ล้านครั้ง บริการกรณีเฉพาะผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน 6,871 คน บริการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล 3.9 ล้านคน ส่วนบริการเฉพาะกลุ่ม(นอกงบเหมารายจ่ายรายหัว) เช่นกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อเอชไอวี 198,199 คน ผู้ป่วยไตวายเข้ารับการล้างไต ฟอกไต ปลูก่ถายไต 82,463 คน ผู้ป่วยภาวะพึ่งพิงติดเตียง 201,291 คน
นอกจากนี้ สปสช. ได้ผลักดันในเรื่องของคุณภาพ และมาตรฐานการบริการสาธารณสุข โดยพบว่าหน่วยบริการรับส่งต่อในเครือข่ายได้รับการรับรองตามกระบวนการรับรองคุณภาพโรงพยาบาลระดับ HA (Hospital Accreditation) ร้อยละ 84.79 หรือ 920 แห่ง จากที่มีการประเมิน 1,085 แห่ง รวมถึงให้การคุ้มครองสิทธิผ่านกลไกต่างๆ เช่น มีช่องทางให้สอบถามข้อมูล ร้องเรียน ร้องทุกข์ ประสานส่งต่อผู้ป่วย และบริการเชิงรุกผ่านสายด่วน สปสช. 1330 ช่องทางออนไลน์ต่างๆ การให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นผู้ได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาล ตลอดจนมีกลไกการมีส่วนร่วมในการคุ้มครองสิทธิทั่วประเทศทั้งส่วนกลางและเครือข่ายของท้องถิ่น
นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า สำหรับความท้าทายในบริการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ต้องดำเนินการระยะต่อไปมีหลายประการ อาทิ การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการกองทุน สปสช. โดยการพัฒนาการยืนยันตัวตนเข้ารับบริการ การตรวจสอบการเบิกจ่ายแบบเรียลไทม์ การใช้ AI เข้ามาตรวจสอบการจ่ายชดเชย ต้องมีการพัฒนารูปแบบการเบิกจ่ายที่มีประสิทธิภาพลดความเสี่ยงและปัญหาทางการเงินของหน่วยบริการ ต้องพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพสอดคล้องกับชีวิตวิถีใหม่ เพิ่มประสิทธิภาพการจัดบริการดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงโดยุมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของท้องถิ่น การเพิ่มความเข้มแข็งให้ระบบบริการปฐมภูมิ การเชื่อมโยงข้อมูลสารสนเทศและการบริหารจัดการบิ๊กดาต้า การสนับสนุนให้ประชาชนมีความรู้ด้านสุขภาพ ตลอดจนการสร้างความเป็นเอกภาพของระบบประกันสุขภาพภาครัฐทั้ง 3 ระบบ
จัดทำเหรียญที่ระลึก 100 ปี วันประสูติ สมเด็จพระเจ้าพี่นางฯ
นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดลักษณะเหรียญกษาปณ์ที่ระลึก 100 ปี วันประสูติ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ พ.ศ…. ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดลักษณะของเหรียญกษาปณ์โลหะสีขาว (ทองแดงผสมนิกเกิล) ชนิดราคายี่สิบบาท
สำหรับการดำเนินการในเรื่องนี้ กระทรงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) ได้ขอความร่วมมือกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง เพื่อจัทำเหรียญกษาปณ์ที่ระลึก 100 ปี วันประสูติ เพื่อเฉลิมพระเกียรติเป็นที่ระลึกเนื้องในโอกาสครบ 100 ปี วันประสูติ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เพื่อเฉลิมพระเกียรติและน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านที่ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนชาวไทยทุกหมู่เหล่า และเผยแพร่พระเกียรติคุณทั้งภายในประเทศและนานาประเทศ รวมทั้งเพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสที่องค์การยูเนสโกประกาศยกย่องให้ทรงเป็นบุคคลสำคัญผู้มีผลงานโดดเด่นด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมของโลก ในปี 2566
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจัดทำเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกในโอกาสดังกล่าว และได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดทำเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกตามรูปแบบที่นำความกราบบังคมทูลประกอบพระราชวินิจฉัยแล้ว สำหรับค่าใช้จ่ายในการจัดทำเหรียญกษาปณ์ดังกล่าวมาจากเงินหมุนเวียนการบริหารจัดการเหรียญกษาปณ์ ทรัพย์สินมีค่าของรัฐและการทำของ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ซึ่งกระทรวงการคลังได้จัดเตรียมงบประมาณสำหรับดำเนินงานไว้แล้ว จึงสามารถดำเนินการได้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 169 (1)
“ยูเนสโก” รับรอง “อุทยานธรณีโคราช” เป็นอุทยานธรณีโลก
นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบกรณีที่อุทยานธรณีโคราชได้รับการรับรองเป็นอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก (UNESCO Global Geoparks) ซึ่งการได้เป็นสมาชิกอุทยานธรณียูเนสโกครั้งนี้จะทำให้ประเทศไทยเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติเพิ่มมากขึ้น ทั้งด้านคุณค่าของแหล่งทรัพยากรธรรมชาติและด้านการท่องเที่ยว ดึงดูดนักท่องเที่ยวนำรายได้สู่ชุมชน ท้องถิ่นและประเทศ ประชาชนในพื้นที่มีงานทำ เกิดรายได้และความเป็นอยู่ที่ดี ตลอดจนให้ประชากรในพื้นที่เกิดจิตสำนึก ในการอนุรักษ์ หวงแหน ส่งผลให้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีคุณค่าได้รับการปกป้องคุ้มครองอย่างยั่งยืน และยังเป็นแหล่งศึกษา วิจัย ของนักวิชาการทั้งในและต่างประเทศ
ทั้งนี้ คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ(ยูเนสโก) กระทรวงศึกษาธิการ ได้ดำเนินการเสอนอุทยานธรณีโคราชเป็นสมาชิกอุทยานธรณีโลกของยูเนสโกต่อสำนักเลขาธิการยูเนสโก เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2562 (ตามความเห็นชอบของ ครม. เมื่อ 19 พ.ย. 2562) ต่อมายูเนสโกได้ประเมินคุณค่าทางวิชาการด้านธรณีวิทยาของอุทยานธรณีโคราช พบว่ามีความสำคัญโดดเด่นระดับโลก และได้ส่งผู้ประเมินภาคสนามมาตรวจประเมินระหว่างวันที่ 22-26 มิ.ย. 2565 เพื่อนำเสนอรายงานแก่สภาอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก และได้รับการรับรองจากที่ประชุมคณะกรรมการบริหารของยูเนสโก ในการประชุมเมื่อวันที่ 10-24 พฤษภาคม 2566 ณ องค์การยูเนสโกสำนักงานใหญ่ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส
สำหรับหลักเกณฑ์การเป็นอุทยานธรณีโลกของยูเนสโกนั้น มีหลายข้อด้วยกัน อาทิ ต้องเป็นพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่มีความเป็นเอกลักษณ์ เป็นหนึ่งเดียว หรือเป็นสถานที่ซึ่งอาจมีเพียงที่เดียว และมีลักษณะทางภูมิทัศน์ที่มีความสำคัญทางธรณีวิทยาโลก มีการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่นและประชาชนในพื้นที่ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบริหารจัดการมากขึ้น และเข้าร่วมเป็นสมาชิกเครือข่ายอุทยานธรณีโลก(Global Geopark Network :GGN) เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล แบ่งปันประสบการณ์ ดำเนินโครงการหรือกิจการรมร่วมกันในเครือข่าย
นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า หลังจากมีสถานะเป็นอุทยานธรณีโลกแล้ว ภายใน 4 ปี จะต้องได้รับการประเมินอีกครั้งเพื่อรักษาคุณสมบัติและคุณภาพของอุทยาน โดยหากผ่านเกณฑ์ก็จะได้รับการต่ออายุคราวละ 4 ปี แต่หาไม่ผ่านหน่วยงานผู้รับผิดชอบในการบริหารอุทยานธรณีโลก ต้องดำเนินการปรับปรุงแก้ไขตามขั้นตอนและข้อเสนอแนะของยูเนสโกให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี หากไม่ดำเนินการก็จะถูกถอนออกจากการเป็นอุทยานธรณีโลกต่อไป
ทั้งนี้ หลังจากได้รับการรับรองครั้งนี้แล้ว จะทำให้ประเทศไทยมีอุทยานธรณีโลก จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ อุทยานธรณีโลกสตูล ซึ่งได้รับการรับรองเมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2561 และอุทยานธรณีโลกโคราช และมีอุทยานธรณีประเทศไทย 3 แห่ง ได้แก่ อุทยานธรณีผาชัน สามพันโบก(จ.อุบลราชธานี) อุทยาธรณีเพชรบูรณ์ และอุทยานธรณีขอนแก่น ซึ่งปัจจุบันอุทยานธรณีขอนแก่นอยู่ระหว่างขอรับรองเป็นอุทยานธรณีโลก
สำหรับข้อมูลทั่วไปของอุทยานธรณีโคราช มีพื้นที่ครอบคลุม 5 อำเภอ คือ อ.สีคิ้ว อ.สูงเนิน อ.ขามทะเลสอ อ.เมืองนครราชสีมา และ อ.เฉลิมพระเกียรติ มีแหล่งธรณีวิทยา แหล่งธรรมชาติ และแหล่งวัฒนธรรมในพื้นที่จำนวน 35 แหล่ง ในจำนวนนี้เป็นแหล่งธรณีวิทยาที่มีคุณค่าระดับนานาชาติ 4 แหล่ง ได้แก่ แหล่งอนุรักษ์ไม้กลายเป็นหินฯ แหล่งไดโนเสาร์อิกัวโนดอนพันธุ์ใหม่ของโลก แหล่งฟอสซิลช้างดึกดำพรรพ์ และ แหล่งฟอสซิลสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม นอกจากนี้ ยังมีภูมิประเทศเชาเควสตาแบบคู่ (เควสตาโคราช) ซึ่งเป็นภูเขามีลักษณะคล้ายมีดอีโต้ ที่นับว่ายาวที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ตลอดจนมีโบราณสถาน วัฒนธรรม วิถีชีวิตชุมชนและความหลากหลายทางชีวภาพที่สอดคล้องกับแนวทางการเป็นอุทยานโลกของยูเนสโก
เสนอเชียงใหม่เป็นเจ้าภาพจัดประชุมเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ปี’68
นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติให้ประเทศไทยยื่นประมูลสิทธิ์เสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมประจำปี ของเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก ครั้งที่ 17 ในปี 2568 (UCCN Annual Conference 2025) ณ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งการประชุมนี้จะเป็นเวทีนานาชาติสำหรับการหารือและแลกเปลี่ยนระหว่างสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ มีวัตถุประสงค์ในการนำวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์มาเป็นนโยบายเพื่อดำเนินการพัฒนาเมือง ตามเป้าหมายวาระการพัฒนาอย่างยั่งยืนปี 2030 ขององค์การสหประชาติ (ยูเอ็น) และปฏิญญา Mondiacult 2022
ภายหลังได้รับการอนุมัติจาก ครม. แล้ว กระทรวงวัฒนธรรมจะดำเนินการตามขั้นตอนต่อไปคือ จัดทำข้อมูลตามเกณฑ์ที่องค์การยูเนสโกกำหนด และเสนอไปยังองค์การยูเนสโกภายในวันที่ 31 ก.ค. 2566 จากนั้นจะมีกระบวนการคัดเลือกโดยพิจารณาเอกสาร การนำเสนอ การลงคะแนนเสียงผ่านช่องทางออนไลน์ และประกาศผลเมืองที่ได้รับพิจารณาเป็นเจ้าภาพในช่วงเดือน ต.ค. 66 ต่อไป
ทั้งนี้ จังหวัดเชียงใหม่ได้รับการพิจารณาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก่ กระทรวงวัฒนธรรม สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ(องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์(องค์การมหาชน) (สศส.) ว่าเป็นเมืองที่มีศักยภาพที่จะเป็นสถานที่การจัดประชุม รวมถึงปัจจุบันเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก(UNESCO Creative Cities Network-UCCN) สาขาหัตถกรรมและศิลปพื้นบ้าน ด้วย
นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ผ่านมาจังหวัดเชียงใหม่ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ อบจ.เชียงใหม่ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทีเส็บ สศส. รวมถึงคณะทำงาน ในการจัดทำข้อมูลเพื่อยื่นประมูลสิทธิ์การเป็นเจ้าภาพอย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้มีข้อสรุปช่วงเวลาที่จะจัดการประชุมประจำปี UCCN ครั้งที่ 17 จะมีขึ้นในช่วงเดือน ก.ค. 2568 ระยะเวลา 7 วัน ภายใต้แนวคิด “Enhancing Multicultural Transformation” เชื่อมอดีตสู่ปัจจุบัน สร้างนวัตกรรมเพื่อการต่อยอด
สำหรับความคาดหวังต่อการที่ประเทศไทยจะได้เป็นเจ้าภาพครั้งนี้ คือเป็นโอกาสในการส่งเสริมวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์ให้มีบทบาทในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เพื่อการอนุรักษ์และดำรง คงอยู่ ต่อยอดวัฒนธรรมไทยสู่เวทีโลกผ่านการนำเสนอเมืองเชียงใหม่ในมิติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นศิลปะ ศาสนา วัฒนธรรม
นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า กิจกรรมภายในการประชุมจะมีกลุ่มย่อยทั้งหมด 7 กลุ่ม ได้แก่ หัตถกรรมและศิลปพื้นบ้าน การออกแบบ ภาพยนตร์ วิทยาการอาหาร วรรกรรม มีเดีย อาร์ต และดนตรี รวมทั้งมีการทัศนศึกษาเพื่อเยี่ยมชมเมืองและสัมผัสวัฒนธรรมประเพณีของเชียงใหม่ ซึ่งจะเป็นการต่อยอดสินทรัพย์ทางวัฒนธรรมสู่การสร้างมูลค่าเพิ่ม ขับเคลื่อนการสร้างเมืองสร้างสรรค์ยูเนสโกของไทยในภาพรวม
นอกจากนี้ การจัดประชุมจะบูรณาการกับเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโกในประเทศไทยทั้ง 5 เมือง ได้แก่ เชียงใหม่ ภูเก็ต (สาขาอาหาร) กรุงเทพมหานคร (สาขาการออกแบบ) สุโขทัย (สาขาหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน) และเพชรบุรี(สาขาอาหาร) รวมถึงเมืองอื่นๆ ที่มีความประสงค์จะเข้าสู่เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก อาทิ น่าน สุพรรณบุรี นครปฐม เชียงราย และพัทยา
ตั้งเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงริยาด ควบตำแหน่ง “OIC – GCC”
นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบการแต่งตั้งเอกอัครราชทูต ณ กรุงริยาด ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ดำรงตำแหน่งผู้แทนถาวรไทย(Permanent Representative :PR) ประจำองค์การความร่วมมืออิสลาม (The Organisation of Islamic Cooperation :OIC) และดำรงตำแหน่งผู้ประสานงานความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสำนักเลขาธิการมนตรีความร่วมมืออ่าวอาหรับ (Gulf Cooperation Council :GCC)
สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับ 2 องค์กรที่ผ่านมานั้น ตั้งแต่ 1 ต.ค. 2541 ไทยได้เข้าร่วมเป็นผู้สังเกตการณ์ของ OIC ซึ่งมีสมาชิกเป็นกลุ่มประเทศมุสลิม 57 ประเทศ เพื่อขยายความสัมพันธ์กับ OIC และกลุ่มประเทศมุสลิมและติดตามข้อมติเพื่อเกื้อหนุนนโยบายของรัฐบาลในการแก้ไขและพัฒนาจังหวัดชายแดนใต้ ส่วนกับ GCC ซึ่งมีสมาชิก 6 ประเทศได้แก่ บาห์เรน คูเวต โอมาน กาตาร์ ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ไทยมีความสัมพันธ์แบบทวิภาคีที่ใกล้ชิดกับสมาชิก GCC ซึ่งเป็นแหล่งนำเข้าพลังงานน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่สำคัญที่สุดของไทย
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาไทยยังไม่เคยแต่งตั้งผู้แทนถาวรประจำ OIC และผู้ประสานงานความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับ GCC มาก่อน แต่ภายหลังการปรับความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบียให้เป็นปกติอย่างสมบูรณ์ เมื่อปี 2565 ฝ่ายไทยได้มีการแต่งตั้งเอกอัครราทูตไทยประจำซาอุดิอาระเบีย ครั้งนี้จึงเป็นโอกาสที่เหมาะสมที่จะตั้งเอกอัครราชทูต ณ กรุงริยาด ซาอุดีอาระเบียให้ดำรงตำแหน่งผู้แทนถาวรไทยประจำ OIC และผู้ประสานงานความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับ GCC
เพื่อเป็นการยืนยันท่าทีและความมุ่งมั่นของไทยในการให้ความสำคัญกับการดำเนินความสัมพันธ์กับทั้ง OIC และ GCC ให้มีความใกล้ชิดและเพิ่มพูนการปฏิสัมพันธ์และผลักดันความร่วมมือให้มีพลวัตมายิ่งขึ้น นอกจากนี้ จะเป็นการส่งเสริมความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบียทางอ้อม ในฐานะที่ซาอุดีอาระเบียเป็นประเทศสมาชิกที่มีบทบาทใน OIC และ GCC ด้วย
ทั้งนี้ ข้อมูลของกระทรวงการต่างประเทศ แจ้งว่า เอกอัครราชทูต ณ กรุงริยาด ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย คนปัจจุบัน คือ นายดามพ์ บุญธรรม
ปูนบำเหน็จ จนท.ปราบยาเสพติด 17 หน่วยงาน 13,116 อัตรา
นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติให้มีการบำเหน็จความชอบกรณีพิเศษให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านยาเสพติด ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ในจำนวนไม่เกิน 13,116 อัตรา จากเจ้าหน้าทั้งหมด 628,827 อัตราของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งหมด 17 หน่วยงาน เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยคาดว่าจะใช้งบประมาณ 86.17 ล้านบาท หรือประมาณ 6,570 บาทต่อคนต่อปี โดยใช้งบประมาณของต้นสังกัดที่มีการจัดสรรงบประมาณไว้แล้ว ไม่ต้องของบประมาณสนับสนุนเพิ่มเติม จึงไม่เป็นกรณีที่ ครม. ได้อนุมัติงานหรือโครงการที่มีผลสร้างความผูกพันต่อ ครม.ชุดต่อไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 169(1)
ทั้งนี้ จากจำนวนบำเหน็จ 13,116 อัตรา เมื่อแบ่งตามภารกิจจะเป็นการให้บำเหน็จกรณีพิเศษแก่เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานด้านยาเสพติดโดยตรงไม่เกิน 9,205 อัตรา (ร้อยละ 2.5 ของเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานฯ ทั้งหมด 365,208 อัตรา) และ เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานเกื้อกูลต่อการแก้ไขปัญหายาเสพติด ไม่เกิน 3,911 อัตรา (ร้อยละ 1.5 ของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานเกื้อกูลฯ ทั้งหมด 260,719 อัตรา)
หากแบ่งตามพื้นที่จะแยกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่1 เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านยาเสพติดในระดับภูมิภาครวม 9,837 อัตรา ซึ่งแยกย่อยเป็นอีก 2 ส่วน ได้แก่ เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ชายแดน 31 จังหวัด 3,443 อัตรา และเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ตอนใน 6,394 อัตรา กลุ่มที่ 2 เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านยาเสพติดจากหน่วยงานส่วนกลาง 1,967 อัตรา และ กลุ่มที่3 เจ้าหน้าที่ซึ่งสำนักงาน ป.ป.ส.เป็นผู้พิจารณาจากทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค สำนักงาน ป.ป.ส.และกรณีทุพพลภาพ 1,312 อัตรา
นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า บำเหน็จกรณีพิเศษจะเป็นขวัญกำลังใจให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ทุ่มเทและเสียสละในการปฏิบัติงานทั่วประเทศ ซึ่งได้ร่วมกันดำเนินการป้องกันและแก้ไขยาเสพติดตามภารกิจและภายใต้นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด พ.ศ.2566-2570 (ประจำปีงบประมาณ 2566) ผ่าน 6 มาตรการ ได้แก่ มาตรการป้องกันยาเสพติด ปราบปรามยาเสพติด ยึดทรัพย์สินคดียาเสพติด บำบัดรักษายาเสพติด ความร่วมมือระหว่างประเทศ และมาตรการบริหารจัดการ
อ่าน มติ ครม. ประจำวันที่ 18 กรกฎาคม 2566 เพิ่มเติม