1721955
กลายเป็นที่ฮือฮาในหมู่ชาวเนิร์ด เมื่อผู้สร้าง Halloween Ends (หรือภาคที่ 13 อันเป็นภาครีบูตของหนังเชือดระดับขึ้นหิ้ง Halloween ที่ลือกันว่าน่าจะเป็นภาคปิดตำนานที่สมบูรณ์แบบที่สุด และไม่น่าจะมีภาคต่ออีกแล้ว) ประกาศว่าที่งาน New York Comic Con เมื่อวันที่ 6-9 ตุลาที่ผ่านมา จะมีการแจกรางวัลสำหรับผู้ร่วมเล่นเกมในงาน เป็นโปสเตอร์ที่วาดขึ้นพิเศษและตีพิมพ์แบบจำกัดจำนวน โดยผลงานวาดของ โรเบิร์ต (บ็อบ) กลีสัน มือวาดในตำนาน ผู้ออกแบบโปสเตอร์ออริจินัลต้นฉบับภาคแรก
ทำไมจึงฮือฮา
ไม่ใช่แค่เพราะในปี2018 เว็บ sideshow.com เคยจัดให้โปสเตอร์ต้นฉบับ Halloween (1978) ที่ กลีสัน วาด อยู่ในอันดับ 3 ของโปสเตอร์หนังสยองที่ดีที่สุดตลอดกาล หรือในปี2021 เว็บ screenrant.com จะลำดับเลื่อนขั้นใหม่ให้ไปอยู่อันดับ 2 เท่านั้น ทว่าในปี2016 เมื่อเดือนมีนา ภาพวาดประกอบของโปสเตอร์นี้ ยังเคยถูกเปิดประมูลไว้ที่ราคาคิดเป็นเงินไทยคือ 680,000 บาท ก่อนจะมีผู้คว้าไปได้ในราคาสูงถึง 3,020,000 บาท ที่ผ่านไปเพียง 6 ปี ปัจจุบันราคาพุ่งไปถึง 5,700,000 บาทเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
สิ่งที่ทรงคุณค่าในงานของกลีสัน ไม่ใช่อันดับ หรือราคา แต่คือความดื้อดึงแหกคอกที่จะนำเสนอไอเดียที่แปลกต่างออกไป กลีสันเล่าว่า “มันมาจากไอเดียผมตั้งแต่แรก ตอนนั้นผมทำงานให้บริษัทออกแบบที่เชี่ยวชาญด้านโปสเตอร์หนัง BD Fox and Friends ผมร่างภาพคร่าว ๆ ว่า มันจะมีรูปมือจ้วงมีด ที่เงาสะท้อนวูบไหวของมันจะมองเห็นเป็นรูปทรงของฟักทองฮัลโลวีน ซึ่งพวกเขาไม่พอใจไอเดียนี้เลย เพราะเขามองว่าจุดเด่นของหนังเรื่องนี้คือ หน้ากาก แต่ไม่รู้เพราะอะไร สามวันผ่านไปพวกเขาก็โทรกลับมาหาผมว่า เขาซื้อไอเดียของผม เราจึงกลับมาทำงานร่วมกัน ผมใช้เวลา 3-4 วันวาดมันออกมา เพราะตัวหนังเรื่องนี้โดดเด่นมาก แต่วิธีถ่ายทำกลับใช้ภาพเรียบง่ายทรงพลัง ผมจึงคิดว่าภาพนี้แหละที่เหมาะกับหนังเรื่องนี้ที่สุด”
ผ่านไป 44 ปีโปสเตอร์ภาคล่าสุดของกลีสัน ไม่มีฟักทองอีกต่อไป “เพราะตอนนั้นไม่มีใครคาดคิดว่าหนังเรื่องนี้จะโด่งดังขนาดนี้ แต่ตอนนี้ ไมเคิล ไมเยอร์ส กลายเป็นไอคอนแห่งยุค และกลายเป็นตำนานไปแล้ว ไม่มีใครไม่รู้จักเขา แล้วโปสเตอร์ส่วนใหญ่ก็เอาแต่วางให้เขาทำท่าโหด ๆ บ้างก็มีเลือดกระเซ็น แต่ในมุมมองผม ไมเยอร์ส เป็นตัวละครที่ไม่แสดงออกอะไรเลย ความนิ่งของเขาชวนขนลุก เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวละครนี้คิดอะไรอยู่ในหัวกันแน่” กลีสันกล่าว
ตอนที่ จอห์น คาร์เพนเตอร์ ผู้กำกับต้นตำรับภาคแรกรีเสิร์ชข้อมูลสำหรับหนังเรื่องนี้ เขาได้แรงบันดาลใจสำหรับ “ความชั่วร้าย” นี้ ด้วยการไปเยือนวิทยาลัยในสถาบันจิตเวชแห่งหนึ่งในรัฐเคนตักกี้ เพื่อไปสังเกตการณ์ “ผู้ป่วยทางจิตขั้นร้ายแรง” ในบรรดานั้นมีเด็กชายวัยรุ่นคนหนึ่ง เต็มไปด้วยความว่างเปล่า และเหม่อมอง
และตอนที่ นิค แคสเซิล เพื่อนร่วมชั้นเรียนของ คาร์เพนเตอร์ ที่ University of Southern California ถูกเรียกให้มารับบทฆาตกร ไมเยอร์ส ด้วยค่าจ้างรายวันเพียง 25 เหรียญต่อวัน เมื่อเขาถาม คาร์เพนเตอร์ ว่าอะไรคือแรงจูงใจเบื้องหลังของตัวละครนี้ คาร์เพนเตอร์กลับตอบว่า “แรงจูงใจของฆาตกรคือเดินจากจุด a ไปยังจุด b โดยไม่แสดงออกใดใดเลย” แล้วระหว่างกำกับ เขาก็สั่งให้ แคสเซิล หลังจากฆ่าเหยื่อตายแล้วว่า “ให้เอียงคอสำรวจศพราวกับว่าศพนั่นเป็นซากผีเสื้อสวยในกล่องสะสม”
วกกลับมาที่ต้นฉบับภาคแรก ภายหลังโปสเตอร์ถูกตีพิมพ์ มีหลายคนสังเกตว่าตรงมือกำมีดนั้นมีส่วนคล้ายใบหน้าที่กำลังทุกข์ทรมาน มีเส้นเลือดปูดโปนเหมือนหนอนไช ขณะที่ กลีสัน ตอบว่า “มันเป็นความบังเอิญมากกว่า ตอนวาดผมไม่ได้คิดอะไรแบบนั้นเลย”
จุดกำเนิดของ Halloween เกิดขึ้นเมื่อ Assault on Precinct 13 (1976) หนังเรื่องที่ 2 ที่จอห์น คาร์เพนเตอร์กำกับ ไปฉายในเทศกาลหนังมิลาน ทำให้เขาได้พบกับผู้อำนวยการสร้างหนังอิสระ เออร์วิน ยาบลานส์ และนักลงทุน มุสตาฟา อักกาด เสนอให้เขากำกับหนังสยองที่จะมีเนื้อหาแบบไหนก็ได้ ขอแค่ให้มันมีฆาตกรโรคจิตสะกดรอยตามพี่เลี้ยงเด็ก ด้วยเงินทุนก้อนแรกแค่หมื่นเหรียญ คาร์เพนเตอร์ และแฟนสาวในตอนนั้น เดบร้า ฮิลล์ จึงช่วยกันร่างเรื่องที่เดิมทีจะใช้ชื่อว่า The Babysitter Murders แต่ยาบลานส์แย้งว่า หนังต้องชื่อ Halloween เท่านั้น ขณะที่คาร์เพนเตอร์ไม่เคยคิดถึงธีมเรื่องที่เกิดในวันปล่อยผีมาก่อน ความคิดดั้งเดิมของเขาคือหนังแนวบ้านผีสิงยุคเก่า
จนเมื่อคาร์เพนเตอร์หยิบความทรงจำในวัยเด็กของเขาเกี่ยวกับบ้านในย่านชานเมือง มาบวกกับประสบการณ์เคยเป็นพี่เลี้ยงเด็กของ ฮิลล์ และทำรีเสิร์ชอีกหลายอย่าง พวกเขาก็ได้เรื่องราวของเด็กชายวัยหกขวบที่ฆาตกรรมพี่สาวตัวเอง ก่อนจะถูกส่งไปโรงพยาบาลบ้า แล้วตัดไปอีก 15 ปีต่อมา เด็กคนนั้นกลายเป็นฆาตกรโรคจิต ไล่ฆ่าหญิงสาวตามบ้านอันเงียบสงบย่านชานเมือง ด้วยทุนสร้างแค่ 325,000 เหรียญ แต่กลับทำรายได้กระฉูดไปถึง 70ล้านเหรียญ ส่งผลให้ Halloweenกลายเป็นอันดับต้น ๆ ของหนังอินดี้ทุนต่ำที่ทำรายได้สูงตลอดกาลมาจนบัดนี้ [1.Paranormal Activity (2007) -ทุน15,000 เหรียญ-รายได้ 194 ล้านเหรียญ , 2.The Blair Witch Project (1999) ทุน 60,000 เหรียญ-รายได้ 248.6 ล้านเหรียญ / 3.Mad Max (1979) ทุน 200,000 เหรียญ-รายได้ 100 ล้านเหรียญ]
อีกหนึ่งความขนหัวลุกที่ทำให้ตัว ไมเคิล ไมเยอร์ส ดูชั่วร้ายสุดสะพรึง ไร้จิตวิญญาณ คือหน้ากากขาวซีด ที่เนื่องด้วยภาคแรกเป็นหนังทุนต่ำเตี้ย ทอมมี่ ลี วอลเลซ ผู้ออกแบบงานสร้างที่ควบหลายตำแหน่งทั้งกำกับศิลป์ หาโลเคชั่น และร่วมตัดต่อ ได้สร้างหน้ากาก ไมเยอร์ส นี้ขึ้นมาจากหน้ากากกัปตันเคิร์ก (ตัวนำจากซีรีส์ Star Trek) ที่ซื้อมาในราคา ไม่ถึง 50 บาท แล้วนำมาผ่าด้านหลัง ขยายรูดวงตา แบะผมออก ก่อนจะพ่นสีขาวอมฟ้าลงไป
ส่วนในด้าน โรเบิร์ต กลีสัน เขามีผลงานออกแบบปกอัลบัมเพลงและโปสเตอร์หนังอีกหลายเรื่อง อาทิ อัลบัม Fulfillingness’ First Finale ของ สตีวี่ วันเดอร์, A Little Knight Music ของ วง Gladys Knight And The Pips, Cosmic Truth ของ วงThe Undisputed Truth, Brand New Day ของวงBlood Sweat And Tears โปสเตอร์หนัง อาทิ Game of Death (1978) The Fog (1980) Arthur (1981) Forced Vengeance (1982)
กลีสัน ปัจจุบันอาศัยอยู่ในรัฐโอเรกอน ผลงานภาพวาดของเขาส่วนใหญ่จริง ๆ แล้ว เป็นภาพทัศนียภาพของเมือง มีบ้างที่เป็นภาพบุคคล และอีกเล็กน้อยเป็นภาพนามธรรม กลีสันเล่าว่า “ผมเลือกที่จะอยู่เมืองใหญ่ เพราะสภาพแวดล้อมในเมืองทำให้ผมมีอิสระในการกำหนดตัวเอง และทำความเข้าใจโลกรอบตัว การวาดภาพเป็นเครื่องมือที่ทำให้ผมเข้าใจโลก เข้าใจตัวผมเองที่อาศัยอยู่ในนั้น เมืองเป็นพื้นที่อันอุดมสมบูรณ์สำหรับศิลปิน เป็นบันทึกทางกายภาพของการค้นหาความหมายของชีวิตในวงกว้าง อาคารทุกหลังมีเรื่องราวของผู้สร้างอาคารและผู้ที่อาศัยในนั้น แต่ละยอดแหลมและแผ่นพื้น แต่ละช่องว่างที่เปิดทิ้งไว้โดยเจตนา ถูกกำหนดโดยแนวคิดซึ่งจะเปลี่ยนชีวิตและความคิดของผู้ที่มาภายหลัง พลังแห่งโลกที่สร้างขึ้นมีอิทธิพลต่อพาเลตสีที่ผมเลือกใช้ เนื่องจากเม็ดสีส่วนใหญ่ที่ผมใช้สำหรับรูปเหล่านี้ ไม่มีอยู่ในธรรมชาติ พวกเขาได้รับเลือกให้ถ่ายทอดคุณภาพของแสงที่สะท้อนจากกระจกและหิน เสียงเครื่องไฟฟ้าที่วิ่งอยู่ใต้ถนนในเมือง อากาศหนักด้วยอนุภาคของเมือง งานของผมจะมีความหมายมากที่สุดเมื่อคุณ ผู้สังเกตการณ์กลายเป็นส่วนหนึ่งของความคิดสร้างสรรค์”
ไม่ใช่หนังกะโหลกกะลา แต่คือตำนานแห่งหนังเชือดชั้นครู
แม้จะเป็นหนังทุนต่ำ แต่หนังเชือดเรื่องนี้ถึงกับได้รับเลือกให้อนุรักษ์ไว้ใน สำนักทะเบียนภาพยนตร์แห่งชาติสหรัฐอเมริกาโดยหอสมุดรัฐสภาด้วยคำยกย่องว่า Halloween (1978) “เป็นวัฒนธรรม เป็นประวัติศาสตร์ หรือสุนทรียะอันสำคัญยิ่ง” และแม้จะเป็นแนวหนังเชือด (Slasher) หลายคนที่ไม่เคยดูมาก่อนอาจคิดว่าหนังภาคต้นฉบับคงจะเต็มไปด้วยความรุนแรง เลือดสาด ไส้ทะลักอะไรทำนองนั้น เปล่าเลย มันถูกเล่าอย่างประณีต และแน่นอนว่ามีเลือดออกบ้าง แต่ไม่มีฉากเลือดสาด หรือภาพชวนสยองเห็นกันจะจะอย่างที่คิด ความสยองทั้งหมดถูกเล่าด้วยกลวิธีอันชาญฉลาด
โรเจอร์ อีเบิร์ต นักวิจารณ์ชื่อดังผู้ล่วงลับเคยกล่าวถึงหนังเรื่องนี้ว่า “มันเป็นการง่ายมากที่จะสร้างความรุนแรงบนหน้าจอ แต่ก็ยากมากเช่นกันที่จะทำออกมาได้ดี คาร์เพนเตอร์มีทักษะอันแปลกประหลาด นับตั้งแต่เครดิตเปิดเรื่องอันเรียบง่าย ที่เป็นเพียงภาพโคมไฟ แจ็ค-โอ ฟักทองสลักวางบนพื้นดำแต่กลับสร้างอารมณ์ให้เห็นมวลรวมบรรยากาศของทั้งเรื่องได้ ด้วยการค่อย ๆ เคลื่อนกล้องไปยังตาซ้ายของตะเกียงฟักทอง ลึกลงไปเพื่อให้คนดูครุ่นคิดถึงอะไรที่วูบไหวอยู่ภายในความว่างเปล่านั้น ที่สำคัญเขารู้จักเล่นสนุกกับคนดูด้วยวัตถุที่อยู่ใกล้กล้อง (foreground) อย่างมีนัยยะสำคัญ”
เจ.พี. เทล็อตต์ นักประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ ชื่นชมว่า “องค์ประกอบสำคัญคือมุมมองแบบบุคคลที่หนึ่ง เมื่อหนังเปลี่ยนมุมมองมาแทนสายตาฆาตกร เหมือนเราถูกบังคับให้จ้องดูความโหดเหี้ยมตรงหน้า ทั้งที่จริง ๆ แล้วภาพรุนแรงเหล่านั้นเป็นเพียงการเล่นมุมกล้องให้ดูแรง ไปพร้อม ๆ กับคนดูได้รับรู้ถึงความรู้สึกขั้นลึกขึ้น ราวกับผู้ชมมีส่วนร่วมในการกระทำของตัวฆาตกร หรือเป็นตัวละครนั้นจริง ๆ
รวมถึงดนตรีประกอบที่คาร์เพนเตอร์แต่งเองเล่นเองหลายคนอาจไม่รู้ว่าคาร์เพนเตอร์เล่นดนตรีได้ด้วย และเขาสนใจซินธิไซเซอร์เป็นพิเศษ เคยถึงขนาดตระเวนออกทัวร์คอนเสิร์ตในช่วงปี 2016-2018 เพลงธีมของ Halloween ได้ยกระดับเพลงประกอบหนังสยองที่แต่เดิมมักใช้วงซิมโฟนี แต่ด้วยความทุนต่ำมาก คาร์เพนเตอร์จึงรวบหน้าที่ทำเพลงเองทั้งหมด โดยใช้เวลาประพันธ์และบันทึกเสียงทั้งหมดภายในสามวัน นักวิจารณ์ดนตรี เจมส์ เบอร์ราร์ดีเนลลี ให้ความเห็นว่า “แม้จะค่อนข้างเรียบง่ายไม่ซับซ้อน แต่ต้องยอมรับว่านี่คือหนึ่งในสินทรัพย์ที่แข็งแกร่งที่สุดแห่งยุค” คาร์เพนเตอร์เคยให้สัมภาษณ์ว่า “ผมเล่นเครื่องดนตรีอะไรก็ได้ที่มีคีย์แป้นกด แต่ผมอ่านหรือเขียนโน้ตไม่ได้เลย”
คุณูปการต่าง ๆ ที่คาร์เพนเตอร์ทำกับหนังเรื่องนี้ ส่งผลให้ Halloween กลายเป็นไบเบิลสำหรับหนังแนวเดียวกันที่ระบาดดกดื่นอย่างมากในช่วงยุค 80-90 อาทิ Friday the 13th (1980), A Nightmare on Elm Street (1984), และ Scream (1996) ฯลฯ, ในปี2001 สถาบันภาพยนตร์อเมริกัน ยกให้เป็นอันดับ 68 ใน100หนังระทึกขวัญ ต่อมานิตยสาร Bravo ยกให้เป็นอันดับ 14 ในท็อป100หนังสุดสะพรึง ขณะที่ในปี 2004 สมาพันธ์นักวิจารณ์ภาพยนตร์ชิคาโก ยกให้เป็นหนังสยองลำดับ 3 ที่น่ากลัวตลอดกาล(อันดับ2 The Exorcist อันดับ1 Psycho), ปี2017 นิตยสาร คอมเพล็กซ์ ยกให้เป็นหนังแนวเชือดที่ดีที่สุดตลอดกาล และในปีถัดมา นิตยสาร แอลเอ วีคลีย์ ได้ยกให้ ไมเคิล ไมเยอร์ส เป็นตัวร้ายที่โหดเหี้ยมที่สุดตลอดกาล
สื่ออื่น
เมื่อ Halloween กลายเป็นเฟรนไชส์ที่มีหนังภาคต่ออีกมากมายตลอดเกือบครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา มันเป็นทั้งใบเบิกทาง เป็นกระแสวัฒนธรรมป๊อป และคับท์แห่งยุค Halloween ย่อมกลายเป็นสื่อต่าง ๆ อีกหลายแขนง อาทิ เคยถูกเขียนเป็นนิยายที่ถูกตีพิมพ์สองหนคือในปี1979 กับปี1982 ด้วยชื่อเดียวกับหนัง โดยนักเขียน เคอร์ติส ริชาร์ดส แต่ภายหลังก็เลิกพิมพ์ไปเนื่องจากในนิยายแม้จะเพิ่มแง่มุมที่ไม่มีในหนัง เช่น ต้นกำเนิดคำสาป และชีวิตของไมเยอร์สขณะอยู่ในโรงพยาบาลบ้า แต่หลายอย่างค่อนข้างขัดแย้งกับเนื้อหาในหนัง เช่น ในนิยาย ไมเยอร์สมีบทพูดพอสมควรตอนอยู่ในโรงพยาบาล ขณะที่จริง ๆ แล้วในหนังได้กล่าวว่า “เขาไม่เคยพูดอะไรแม้แต่สักแอะเดียวมาตลอดสิบห้าปี”
ปี 1983 Halloween ถูกทำเป็นวิดีโอเกม อาตาริ 2600 โดยตัวละครทั้งหมดไม่มีชื่อในเกม ผู้เล่นจะสวมบทเป็นพี่เลี้ยงเด็กวัยรุ่นที่พยายามช่วยชีวิตเด็กให้ได้มากที่สุดจากฆาตกรจอมเชือด แต่ในเกมมีเลือดมากกว่าในหนังเยอะเลย เมื่อพี่เลี้ยงหรือเด็กถูกฆ่า หัวของพวกเขาจะหลุดกระเด็นออกมา มีเลือดพุ่งเป็นน้ำพุจากคอ ซึ่งไม่มีฉากแบบในอยู่ในหนังเลย สิ่งเดียวที่เหมือนกันคือเพลงธีมประกอบเมื่อฆาตกรปรากฏตัว
และของที่นักสะสมอยากได้มากที่สุดคือ ดีวีดี บ็อกซ์-เซ็ต ชุดที่ระลึกในวาระครบ 30 ปีที่ทำออกมาจำหน่ายในปี 2008 บรรจุแผ่นดีวีดี 6 แผ่น เป็นหนัง 5 ภาคแรก+กับสารคดีเบื้องหลัง และมาพร้อมส่วนหัวของไมเยอร์ส
5 โปสเตอร์ทางเลือกสุดเจ๋ง
เมื่อเป้าหมายหลักของใบปิดหนังอย่างเป็นทางการคือเพื่อการค้า เพื่อยั่วเรียกให้ผู้ชมอยากซื้อตั๋วเข้าไปดูในโรง แต่โปสเตอร์หนังทางเลือก (Alternative movie poster-AMT) คือผลงานศิลปะโดยฝีมือแฟนอาร์ต อาจวาดด้วยมือหรือดิจิตอล ด้วยสไตล์ศิลปะทุกรูปแบบที่พวกเขาถนัด แต่ผลงานของพวกเขาไม่ได้เกี่ยวข้องกับแคมเปญโฆษณาหนังเรื่องนั้น หรือไม่ได้ถูกว่าจ้างจากฮอลลีวูด พวกเขาเป็นใครก็ได้ที่มีฝีมือ อาจทำออกมาเพื่อโพสต์อวดในเน็ต หรือตีพิมพ์ออกมาขายก็เป็นได้ (จริง ๆ แล้วมีข้อจำกัดในการจัดจำหน่ายโปสเตอร์หนังทางเลือกอยู่เช่นกัน เนื่องจากหนังทุกเรื่องมีมูลค่าและลิขสิทธิ์ ในส่วนนี้จะขออธิบายในโอกาสอื่น)
และแน่นอนว่าหนังที่กินเวลายาวนานเกือบครึ่งศตวรรษอย่าง Halloween ย่อมมีผลงาน AMT มากมาย และนี่คือ 5 ชิ้นที่ถูกจริตเรามากที่สุด
นักวาดการ์ตูนชาวสก็อตติชจาก 2000 AD แมกกาซีน ที่ภายหลังฝีมืออันเลื่องชื่อในด้านความเนี๊ยบ แต่ไอเดียเฉียบ ทำให้เขาได้กลายเป็นมือวาดคีย์อาร์ตให้กับหนังดัง ๆ เช่น Hancock, Battleship, Children of Men, Dredd, Batman Begins and X-Men: Days of Future Past และ Ex Machina ใบปิดเลือกกลวิธีที่หนังนำเสนอ ที่สื่อถึงบ้านชานเมืองอันสงบเงียบ แต่ชวนระทึกได้ในคราวเดียวกัน
มือวาดชาวอเมริกันที่ถูกจับตามองตั้งแต่อายุ 19 ด้วยฝีมืดตวัดสีหมึกบางใสเป็นสไตล์อันโดดเด่นของเขา ผลงานเด่นของเขาเป็นการ์ตูนทั้งค่ายดีซี และค่ายมาร์เวล อาทิ New Mutants, Moon Knight ฯลฯ ใบปิดนี้เลือกภาพมุมต่ำ ทำให้ไมเยอร์สดูชั่วร้ายไปอีก โดดเด่นด้วยรายละเอียดที่เพียงจัดวางฟ้อนท์ชื่อเรื่องอย่างเรียบง่ายก็ลงตัวงดงาม
นักวาดภาพประกอบและดีไซเนอร์ชาวแคนาดา เป็นอาร์ตไดเร็คเตอร์ และคอลัมนิสต์เกี่ยวกับศิลปะให้กับนิตยสาร Rue Morgue บนโปสเตอร์นี้เขานำเสนอฉากสำคัญที่ไม่น่าจะมีใครนึกหยิบมาใช้เป็นใบปิดหลัก แต่เป็นอีกหนึ่งฉากที่แสดงฝีมือกำกับของคาร์เพนเตอร์ที่ยั่วล้อกับผู้ชมได้เป็นอย่างดี
แฟนทอม ซิตี้ ครีเอทีฟ เป็นคู่ชายหญิงนักออกแบบจากโตรอนโต จัสติน อีริคสัน และเพจ เรย์โนลด์ส ให้บริการด้านภาพเคลื่อนไหว ออกแบบแพ็คเกจ และคีย์อาร์ต ใบปิดเสนอฉากเชือดหญิงอันโหดเหี้ยม กลับถูกปรับมุมมองให้ดูอุ่นละมุน สะท้อนไอเดียบ้านอันอบอุ่นปลอดภัย แต่เร้นร้ายด้วยอันตรายเกินคาด
เฮฟเนอร์เป็น ดีไซเนอร์ นักวาดภาพประกอบ นักออกแบบของหุ่นจำลอง ชาวอเมริกัน เป็นอาจารย์สอนด้านดีไซน์และภาพประกอบในมหาลัย ซาน มาร์คอส เท็กซัส เป็นใบเดียวในนี้ที่นำเสนอในแบบเชิงพาณิชย์ จำลองเป็นเหมือนช็อปปิ้งลิสต์บอกราคาสินค้าต่าง ๆ ที่ประกอบสร้างขึ้นมาปีศาจตนนี้ แอบจิกกัดโลกทุนนิยมเบา ๆ
ของสะสมสุดจี๊ด
สุดท้ายเป็นของฝากนักสะสม ที่ต้องขอแสดงความเสียใจด้วยเนื่องจากทุกชิ้นจำหน่ายเกลี้ยงแผงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่อาจหาประมูลเอาได้ตามเว็บอีเบย์