ThaiPublica > คอลัมน์ > 20 ปีเลสลี่จาง และคดีจ้วงแทงคู่รักเลสเบี้ยน

20 ปีเลสลี่จาง และคดีจ้วงแทงคู่รักเลสเบี้ยน

14 มิถุนายน 2023


1721955

เนื่องด้วยเป็นเดือนแห่ง Pride month อันหมายถึงความภาคภูมิใจของชาว LGBT ที่ยืนหยัดในตัวตน ซึ่งในไทยเองแม้ LGBT จะไม่ได้ถูกกีดกันโหดหนักอย่างประเทศอื่นที่ถึงกับถูกแขวนคออย่างในอิหร่าน, ถูกโบยตีในบางชุมชนของมาเลเซีย, ถูกจำคุกในอินโดนีเซีย หรือถูกต่อต้านอย่างหนักในเกาหลีใต้ และการไม่ยอมรับการมีอยู่ของเกย์ชาวจีน ฯลฯ

แต่อย่างน้อยปัจจุบัน Pride ก็เป็นการแสดงสัญลักษณ์ในการสนับสนุนสิทธิเสรีภาพของผู้คนอันหลากหลายที่พึงมีของทุกเพศ ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร ชายหรือหญิง LGBTQ หรือไม่ก็ตาม เราไม่จำเป็นต้องเขินอายอีกต่อไปแล้วในการชูธงสีรุ้งเพื่อสนับสนุนเสรีภาพนี้ เพราะเราต่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน (แม้เรายังไม่ผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียม แต่ก็พอมีหวังหากรัฐบาลเผด็จการทหารจะไม่กลับมาครองเมืองเหมือนตลอด 9 ปีที่ผ่านมา)

เกย์ ไพรด์ ถูกใช้ครั้งแรกโดย ทอม ฮิกกินส์ นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิชาวเกย์เมื่อปี 1969 ร่วมด้วยกลุ่มนักกิจกรรม อาทิ เบรนด้า ฮาวเวิร์ด, โรเบิร์ต เอ. มาร์ติน (รู้จักกันในนามแดรกควีน ดอนนี่ เดอะพังค์) และแอล เครก ทั้งหมดนี้คือตัวต้นเครดิตคำว่า “ไพรด์” การกำหนดเดือนแห่งไพรด์ เป็นการอุทิศให้กับความภาคภูมิใจของชาว LGBT หลังจากเหตุจลาจลที่สโตนวอลล์ อันเป็นการประท้วงเพื่อปลดปล่อยชาวเกย์ในปี 1969 ปัจจุบันเป็นการเชิดชูการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิชาว LGBT และเฉลิมฉลองวัฒนธรรม LGBT

การจลาจลสโตนวอลล์ เป็นการประท้วงที่เกิดขึ้นเองอย่างฉับพลันโดยสมาชิกภายในชุมชนชาวเกย์ เพื่อตอบโต้การโจมตีของตำรวจที่เริ่มขึ้นในช่วงเช้าตรู่ของวันที่ 28 มิถุนายน 1969 ที่สโตนวอลล์ ย่านกรีนวิชวิลเลจ ของแมนฮัตตันตอนล่างในนิวยอร์ก เมื่อตำรวจบุกทะลายแหล่งบันเทิงของชาวเกย์ ทำให้กลุ่มผู้ประกอบการเกย์บาร์ เลสเบี้ยนบาร์ และชาว LGBT ในขณะนั้นลุกฮือขึ้นต่อสู้ อันสืบเนื่้องจากกฎหมายต่อต้านคนรักเพศเดียวกันในช่วงยุค50s เรื่อยมาจนถึงยุค60s

การบุกทะลายชุมชนชาวเกย์อย่างต่อเนื่องบ่อยครั้งตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมานั้น จึงนับเป็นการดำเนินการทางกฎหมาย ณ เวลานั้น แต่ในที่สุดเมื่อปลายทศวรรษ เมื่อชาวเกย์ไม่อาจทนถูกกดขี่ได้อีกต่อไป การจลาจลจึงเกิดขึ้น ท่ามกลางการโต้เถียงกันว่ากฎหมายที่รัฐกระทำต่อชาวเกย์นั้น มันถูกต้องตามหลักสิทธิมนุษยชนแล้วหรือยัง ในเมื่อชาว LGBT ก็เป็นเพื่อนมนุษย์ไม่ต่างกัน

กฎหมายต่อนต้านคนรักเพศเดียวกัน ในช่วงที่อเมริกาหลังสงครามโลกหวาดวิตกต่อภัยคุกคามคอมมิวนิสต์ในยุค 50s ถูกปลุกขึ้นโดยมีแรงสนับสนุนส่วนหนึ่งมาจากวุฒิสมาชิกขวาจัด โจเซฟ แมคคาร์ธี ทำให้ในปี 1950 มีการประชุมสืบสวนภายในวุฒิสภาจนได้ข้อสรุปตามรายงานว่า “เป็นที่เชื่อกันโดยทั่วไปว่าผู้ที่มีส่วนร่วมในการกระทำอันวิปริตอย่างโจ๋งครึ่มจะขาดไร้ซึ่งความมั่นคงทางอารมณ์เฉกเช่นคนทั่วไป” อันเกิดขึ้นหลังจากที่หน่วยงาน CIA ของสหรัฐและหน่วยงานราชการต่าง ๆ เคยมีข้อตกลงร่วมกันมาก่อนหน้านั้นตั้งแต่ปี 1947 ว่า “การมีเพศสัมพันธ์ในทางที่ผิด ภายในรัฐ ถือเป็นความเสี่ยงด้านความปลอดภัย” เพราะพวกเขาอ่อนไหวและถูกชักจูงหลอกใช้ได้ง่ายอันมีเหตุมาจากความเบี่ยงเบนทางเพศ ทำให้ในช่วงปี 1947-1950 มีมากกว่า 1,700 คนจาก 4,380 คนถูกปลดออกจากกองทัพ และ 420 คนถูกไล่ออกจากหน่วยงานราชการเนื่องจากต้องสงสัยว่าเป็นชาวรักเพศเดียวกัน เหล่านี้ต่อมากลายเป็นกฎหมายต่อต้านชาวเกย์อีกหลายฉบับ

แดฟฟี่ถง กับ เลสลี่จาง (รูปซ้ายถูกปาปาราสชี่แอบถ่าย / รูปขวาจงใจถ่ายเพื่อโต้ปาปาราสชี่)

20 ปีการจากไปของเกย์ไอคอนแห่งเกาะฮ่องกง

นอกจากเดือนนี้จะเป็นเดือนแห่งไพรด์แล้ว ปี 2023 ยังเป็นวาระครบรอบ 20 ปีการจากไปของเกย์ไอคอนฮ่องกง เลสลี่จาง (จางกั๋วหรง) ที่ตัดสินใจโดดตึกโรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล อันเป็นผลพวงจากความทรมานด้วยโรคซึมเศร้าอยู่หลายปี เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2003

จดหมายอำลา / แดฟฟี่ถงประคองตัวเองไว้ไม่ไหวกลางงานศพคนรัก

“ภาวะซึมเศร้า! ขอบคุณมากมายแด่ผองเพื่อนของผม ขอบคุณมากมายแด่ อ.เฟลิซ ลีห์ (จิตแพทย์ผู้รักษาอาการซึมเศร้าให้กับเลสลี่) ปีนี้ช่างหนักหนาเสียจริง ผมทนมันต่อไปอีกไม่ได้แล้ว ขอบคุณมากถงถง (แดฟฟี่ ถงเฮ่อเต๋อ-แฟนหนุ่ม) ขอบคุณครอบครัวของผมมาก ๆ ขอบคุณเจ๊เฟย(ลิเดีย เสิ่นเตี้ยนเสีย พิธีกรตลกชื่อดังและอดีตภรรยาของเจิ้งเส้าชิว)” ส่วนแรกของจดหมายอำลาของเลสลี่จาง และสองบรรทัดสุดท้ายแปลว่า…..

“ในชีวิตผม ผมไม่เคยทำอะไรเลวร้าย ทำไมมันถึงกลายเป็นแบบนี้” นี่คือเนื้อหาในจดหมายอำลา ในวันที่แฟน ๆ ของเลสลี่อยากให้เรื่องนี้เป็นเพียงเรื่องไม่จริงในวันโกหก April Fool’s Day (1 เมษายนของทุกปี)

เลสลี่จาง โด่งดังสุด ๆ ในช่วงยุคทองของวงการบันเทิงฮ่องกงช่วง 80s-ต้น90s สมัยที่ละครและหนังฮ่องกงโด่งดังถึงขีดสุด ลากยาวไปสู่การโกอินเตอร์ในวงกว้างด้วยหนังคานส์อย่าง Farewell My Concubine (1993) หนังจีนแผ่นดินใหญ่ของ เฉินค่ายเก๋อ กับ Happy Together (1997) หนังฮ่องกงของ หว่องกาไว (หวังเจียเหว่ย) อันเป็นบทชายรักชายทั้งสองเรื่อง และเป็นเพียงสองเรื่องที่เขายอมจะรับบทแบบนี้ ที่แม้ว่าหนังจะคว้ารางวัลมากมาย แต่เลสลี่ก็ไม่เคยได้รางวัลเลยจากหนังสองเรื่องนี้ ขณะที่ โทนี่ เหลียงเฉาเหว่ย ที่แสดงเป็นคู่เกย์ของเขาใน Happy Together กลับคว้านักแสดงนำชายมาได้จากสองเวทีใหญ่ในฮ่องกง คือ Golden Bauhinia Awards และ Hong Kong Film Awards

ถึงแม้การคัมแบ็คของเขาด้วยคอนเสิร์ตในปี 1997 จะประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก แต่คอนเสิร์ตครั้งสุดท้ายของเขาในปี 2000 กลับถูกนักข่าววิจารณ์อย่างหนักในแง่ออกสาวมากเกินงาม ไปจนถึงความหวั่นไหวด้านการเมืองเมื่อฮ่องกงคืนกลับสู่เงื้อมมือมังกรแผ่นดินแม่ ไปจนถึงในปี 2001 ที่นักข่าวปาปาราสซี่ตามจี้เขาหนักมากถึงรสนิยมทางเพศ และพยายามขุดคุ้ยเรื่องอื้อฉาวระหว่างเขากับ แดฟฟี่ถง ชายคนรักที่คบหากันมานานตั้งแต่ปี 1983 สิ่งเหล่านี้อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้บั้นปลายของเขาดิ่งไปสู่ภาวะซึมเศร้าจนตัดสินใจลาจากโลกนี้ไปในที่สุด

หนังสั้นของเลสลี่จาง

From Ashes to Ashes (2000) เป็นหนังสั้นที่กำกับ เขียนบท และแสดงเองเพียงเรื่องเดียวของเลสลี่จาง ซึ่งได้ทุนจากรัฐบาลฮ่องกงทำขึ้นเพื่อรณรงค์เลิกบุหรี่ และได้นักแสดงดัง ๆ ตบเท้ากันมาเพียบ อาทิ แอนนิต้ามุย (เหม่ยเยี่ยนฟาง), คาเร็นม่อก (ม่อเหวินเหว่ย), เอดิสันเฉิน (เฉินก้วนซี), ลีออมวัง (หวังลี่หง), จีจี้เหลียง(เหลียงหย่งฉี), โจอี้ยัง (หยงจู่เอ๋อ) และ แซมมวล ชาน (เฉินเจี้ยนฟง) เล่าเรื่องของคู่สามีภรรยาบ้างานและติดบุหรี่ ส่งผลให้ลูกกลายเป็นมะเร็งในที่สุด / สามารถดูเต็มเรื่องได้ในคลิปด้านล่างนี้

5 ครีเอทีฟผู้อยู่เบื้องหลังซูเปอร์สตาร์

แต่ประเด็นเกี่ยวกับศิลปะที่เราอยากนำเสนอในบทความนี้ คือ 5 ครีเอทีฟผู้อยู่เบื้องหลังและประกอบสร้างตัวตนของเลสลี่จาง นักแสดงหนุ่มเกย์ไอคอน แคนโทป๊อป(เพลงป๊อปกวางตุ้ง) ที่ยังคงอยู่ในความทรงจำตลอด 20 ปีที่ผ่านมา


คลิปแรกเข้าสู่วงการของเลสลี่ด้วยการประกวดเอเชียนมิวสิคคอนเทสต์ในปี 1977

1.เอ็ดดี้ เลา แฟชั่นดีไซเนอร์

หากใครเคยดูหนังชีวประวัติเหมยเยี่ยนฟางเรื่อง Anita (2021) ตัวละครนักออกแบบเสื้อผ้าที่แสดงโดย กู่เทียนเล่อ คนนั้นก็คือ เอ็ดดี้เลา (หลิวเผยจี้) คนนี้นั่นเอง เขาสำเร็จการศึกษาจากสถาบันการออกแบบแฟชั่นที่มีชื่อเสียงอย่าง Central Saint Martins ในลอนดอน และเป็นดีไซเนอร์ฮ่องกงคนแรกที่เข้าร่วมใน London Fashion Week ปี 1978 ก่อนจะผันตัวไปเป็นผู้ออกแบบคอสตูมและสไตลิสต์ให้กับป๊อปสตาร์หลายคนในช่วง 1980 ซึ่งในบรรดานั้นก็คือ เลสลี่จาง และเหมยเยี่ยนฟาง โดยเอ็ดดี้นอกจากจะทำชุดในการแสดงคอนเสิร์ตแล้ว ยังรวมไปถึงชุดใน MV และบนปกอัลบัมกับโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์ด้วย โดยเขาออกแบบให้กับเลสลี่ในช่วงปี 1982-1987 อันถือเป็นช่วงโด่งดังเป็นอย่างยิ่งในฐานะนักร้องของเลสลี่ โดยเฉพาะในปี 1985 ที่ทำให้เลสลี่คว้างรางวัลเพลงฮิตที่สุดแห่งปีเป็นครั้งแรกจากเพลง Thanks, Monica ไปจนถึงคอนเสิร์ตเดี่ยวเปิดตัวครั้งแรกที่ฮ่องกงโคลีเซียม เวทีใหญ่สุดของฮ่องกง

ไม่ว่าจะเป็นชุดไหมพรมถักจัมเปอร์ที่หุ้มไหล่ด้วยสีโลหะเมตทาลิกคล้ายเสื้อเกราะที่เลสลี่สวมขึ้นเวที ไปจนถึงแจ็คเก็ตเครื่องแบบทหาร และสูทสีแดงโดดเด่นบนเวทีคอนเสิร์ตที่ส่งเสริมให้เลสลี่ผู้มีรูปร่างบอบบางหน้าละอ่อนดูเป็นผู้ใหญ่ แข็งกร้าวแต่ก็ยังดูสดใสสมวัย สิ่งเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของผลงานโดยเอ็ดดี้เลา ผู้ซึ่งในปี 2013 (สิบปีหลังการเสียชีวิตของเลสลีจาง) พิพิธภัณฑ์สมบัติชาติฮ่องกงถึงกับนำชุดหลายคอลเล็คชั่นของเอ็ดดี้จัดแสดงและจัดเก็บเป็นคอลเล็คชั่นถาวรของมิวเซียม ในฐานะหนึ่งในผู้รังสรรค์ให้ชาติฮ่องกงเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก

2.อลัน ชาน กราฟฟิกดีไซเนอร์

อลัน ชาน ดีไซเนอร์ผู้คร่ำหวอดในวงการและเป็นหนึ่งในนักออกแบบกราฟิกชาวฮ่องกงเพียงไม่กี่คนที่มีผลงานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยเฉพาะผลงานการออกแบบปกแผ่นเสียงให้กับเลสลี่จาง สำหรับอัลบั้มตั้งแต่ปี 1983 ถึง 1989 ได้แก่อัลบัม Craziness (1983), Leslie (1984), For Your Heart Only (1985), Stand Up (1986), Summer Romance (1987), Virgin Snow and Hot Summer (1988) รวมถึง Leslie ’89, Salute and Final Encounter (1989) “มีงบประมาณไม่มากสำหรับอัลบั้มในช่วงต้นทศวรรษ 1980” ชาน ย้อนเล่าถึงอัลบั้มแรก Craziness ที่พวกเขาร่วมมือกันในปี 1983 “ผมให้เขายืมแจ็กเก็ตสูท เสื้อคาดเอว และหูกระต่ายสำหรับ การถ่ายภาพของอัลบั้มนั้น” ในช่วงปีแรกนั้น เลสลี่จาง ค่อนข้างจะยากจน เขายังไม่มีชุดดีดีใส่ และยังไม่มีเงินจ้างแฟชั่นดีไซเนอร์ ชาน ยังบอกด้วยว่าเลสลี่เสนอไอเดียว่าอยากให้หน้าปกมีด้านในที่ใส่เนื้อของแต่ละเพลงและเก็บสะสมได้ ผมจึงออกแบบให้มันสามารถฉีกออกจากกันได้ และเปลี่ยนเป็นที่คั่นหนังสือ 12 อัน (รูปบนซ้ายสุด)

อีกสองอัลบั้มที่ควรค่าแก่การกล่าวถึงเป็นพิเศษคือ Stand Up และ Hot Summer ที่ออกในปี 1986 และ 1988 ตามลำดับ เพื่อเพิ่มยอดขายให้น่าสะสมผมออกแบบแผ่นเสียงด้วยสีต่างๆ 4 สี ได้แก่ เขียว เหลือง ม่วง และดำ ด้วยเหตุนี้ แฟน ๆ ของ เลสลี่ จึงซื้อแผ่นเสียงทั้งสี่สีเป็นคอลเล็คชั่น (ซ้ายสุดแถวล่าง)

“ในปี 1988 วิชวลอัลบั้มสำหรับ Hot Summer เราเล่นกับกราฟิกและเอฟเฟ็กต์ 3 มิติ แฟน ๆ ยุคนั้นอาจยังจำแว่นตา 3 มิติกระดาษสีแดงและน้ำเงินได้ อันเป็นแว่น 3 มิติในสมัยนั้น” (รูปที่ 2 จากซ้ายแถวล่าง)

3.วิลเลียม ชาง คอสตูมดีไซเนอร์

หลาย ๆ คนอาจรู้จัก วิลเลียมชาง (จางสู้ผิง) ในฐานะผู้กำกับศิลป์, ผู้ออกแบบงานสร้าง, คอสตูมดีไซเนอร์ และคนตัดต่อหนังของ หว่องกาไว (หวังเจียเหว่ย) และเขาเป็นที่จดจำในฐานะผู้ชนะรางวัล Technical Grand Prize จากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ปี 2000 จากเรื่อง In The Mood for Love รวมถึงเขายังเป็นผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาการออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยมในหนังหว่องกาไวเรื่อง The Grandmaster

ปฏิเสธไม่ได้ว่า เลสลี่จาง ถูกจดจำจากรูปลักษณ์อันเป็นเอกลักษณ์ในหนังของหว่องกาไว ด้วยงานดีไซน์ฉาก และคอสตูมอันเรียบง่ายแต่มีรายละเอียดอย่างมาก เช่น ยกไจ๋ นกไร้ขาผู้ไม่เคยมีใครขวางเขาได้ ใน Days of Being Wild (1990), พิษประจิม อาวเอี๊ยงฮงผู้น่ารังเกียจและเฝ้าดูสถานการณ์อย่างเงียบเชียบโดดเดี่ยวใน Ashes of Time (1994) ไปจนถึงบทเกย์หนุ่มใจโลเล เหอเป่าหวาง ใน Happy Together (1997)

(จากซ้าย) ยกไจ๋ / อาวเอี๊ยงฮง / เหอเป่าหวาง

ไม่ใช่แค่ในหนัง เลสลี่จาง ยังเคยใช้บริการของ วิลเลียมชาง ในชีวิตจริงด้วย เมื่อในปี1996 เขาเปิดคาเฟ่บนถนนคอสเวย์เบย์ในชื่อ Love For You at Queen Café เลสลี่ก็ให้ วิลเลียมมาช่วยออกแบบ ก่อนที่ร้านจะปิดตัวไปในปี 2001 (ปัจจุบันร้านถูกเซ้งไปโดยเจ้าของอื่น แต่ยังคงใช้ชื่อ Queen Cafe)

แต่ผลงานของวิลเลียมอันเป็นที่จดจำที่สุด คือชุดเปิดคอนเสิร์ตในปี 1997 บนเวทีใหญ่ที่สุด Hong Kong Coliseum เมื่อเลสลี่จางปรากฎกายบนเวทีชุดสูทดำปักดิ้นเงินสลับลูกปัดและลูกไม้สีดำสุดเซ็กซี่ โดดเด่นด้วยรองเท้าส้นสูงสีแดงจากแบรนด์ Manolo Blahnik ที่ให้ภาพลักษณ์ยูนิเซ็กซ์อย่างเท่ไม่มีใครเทียบติด

4.ฌ็อง พอล โกติเย่ แฟชั่นดีไซเนอร์

ในคอนเสิร์ตเดี่ยวครั้งสุดท้ายของเลสลี่จาง Passion Tour ปี 2000 เขาได้เชิญปรมาจารย์ด้านแฟชั่นชาวฝรั่งเศส ฌ็อง พอล โกติเย่ ที่กำลังดังสุด ๆ เนื่องจากเขาเป็นผู้ออกแบบชุดบราทรงกรวยสุดเซ็กซี่ที่กลายเป็นไอคอนของมาดอนน่า และเป็นครั้งแรกที่โกติเย่ตกลงจะออกแบบให้กับศิลปินชาวเอเชียอย่างเลสลี่

ด้วยคอสตูมที่ผสมผสานอัตลักษณ์ทางเพศ เปลี่ยนเลสลี่จากนางฟ้าให้เป็นปีศาจ ท้าทายบรรทัดฐานทางสังคมฮ่องกงที่ปิดกั้นประเด็น LGBT อย่างเข้มข้นในยุคนั้น นิตยสารไทม์ระบุว่าเครื่องแต่งกายที่มีความเป็นหญิง “เรียงลำดับความชั่วร้ายจากเล็กน้อยไปหนักมาก” ตั้งแต่เสื้อซีทรูกับกางเกงทรงสกินนี่สีดำเงา ชุดทักซิโด้ปีกนางฟ้า ไปจนถึงกระโปงอียิปต์ และโคทคลุมยาวกำมะหยี่แดง ด้วยลุคผมยาวที่ฉีกทุกลุคที่เลสลี่เคยเป็นมา

แม้จะเป็นที่กรี๊ดกร๊าดของแฟนเพลง แต่ดูเหมือนนักข่าวจะไม่ปลื้มและรุมจวกเลสลี่หนักมากโดยเฉพาะการพุ่งไปที่ประเด็นสาวแตกของเลสลี่ ทั้งที่ในมุมมองของแฟน ๆ เลสลี่ ต่างมองว่าเป็นความกล้าหาญอย่างมาก และแสดงความ Pride อย่างแท้จริง

5.วิง ชยา ศิลปินภาพถ่าย

วิง ชยา มีชื่อเสียงจากการร่วมงานกับหว่องกาไวใน Happy Together (1997), In the Mood for Love (2000) และ 2046 (2004) วิงเป็นหนึ่งในช่างภาพที่มีชื่อเสียงที่สุดของฮ่องกง แม้ว่าเขาจะเคยร่วมงานกับเลสลี่มาก่อนในการถ่ายภาพปกอัลบัม แต่ก็ไม่เป็นที่รู้จักเท่ากับหลังจากไปทำงานให้หว่อง ซึ่งภายหลัง เลสลี่ ยังจ้างให้ วิง ไปถ่ายภาพเบื้องหลังคอนเสิร์ตในช่วงปี 2001-2002 ทั้งในฮ่องกง และหัวเมืองใหญ่ ๆ ของจีน เช่น เซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง หางโจว และฉงซิ่ง ไปจนถึงโฟโต้บุคเล่มสุดท้ายของเลสลี่ในปี 2001 ที่ตีพิมพ์ในญี่ปุ่นอีกด้วย

“อันที่จริง ผมว่าเลสลี่เป็นเหมือนผู้กำกับศิลป์มากกว่า และผมเป็นแค่ตากล้องที่ช่วยให้เขาบรรลุไอเดียของเขาเอง” วิงกล่าวชื่นชมเลสลี่ “เป็นอะไรที่ชิลมาก เหมือนผมแค่บันทึกภาพชีวิตประจำวันของเลสลี่ ไม่มีการจัดแสงด้วยซ้ำ เหมือนเป็นภาพถ่ายแนวสตรีท และเขาก็แสดงให้เห็นด้านที่เป็นธรรมชาติออกมาให้เห็นอย่างแท้จริง”

34 ปี เทียนอันเหมิน

มิถุนายนนอกจากจะเป็นเดือนแห่งความภาคภูมิใจของชาวเกย์แล้ว สำหรับชาวจีนโพ้นทะเลและชาวฮ่องกงตั้งแต่รุ่นเจ็น-เอ็กซ์ขึ้นไปย่อมรู้ดีว่าในวันที่ 4 มิถุนายน 1989 (หรือรหัส 8964) เกิดการสังหารหมู่ขึ้นที่เทียนอันเหมิน (ไม่สามารถระบุจำนวนผู้เสียชีวิตที่แท้จริงได้ ปัจจุบันคาดว่าน่าจะมีไม่น้อยกว่าหนึ่งหมื่นศพ และอีกราวพันหกร้อยคนถูกจับขังคุก ไปจนถึงมีอีกมากมายที่ลี้ภัยทางการเมือง) แต่ตลอด 34 ปีที่ผ่านมาสิ่งที่รัฐบาลคอมมิวนิสต์จีนยังคงกระทำเรื่อยมา คือการหุบปากประชาชนห้ามพูดถึงเหตุการณ์อันเป็นบาดแผลเรื้อรังนี้ ห้ามแม้แต่การไว้อาลัยรำลึกถึง ถึงขนาดที่จีนไม่ใช้สื่อโซเชียลเดียวกับชาวโลก อย่าง เฟสบุค ยูทูบ ทวิตเตอร์ หรือกูเกิล เพราะไม่อยากให้ประชาชนเข้าถึงความจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ในวันนั้น ราวกับการนองเลือดที่เทียนอันเหมินไม่เคยเกิดขึ้นจริง

และจนบัดนี้นับเป็นเวลา 3 ปีแล้วหลังจากกฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่ในฮ่องกง นับตั้งแต่ปี 2020 ที่มีผลทำให้ชาวฮ่องกงไม่สามารถรวมตัวกันเพื่อรำลึกเหตุการณ์เทียนอันเหมินในประเทศตัวเองได้อีกต่อไป หากย้อนกลับไปในปี 2019 มีผู้ชุมนุม 10,279 คนถูกจับกุม ในบรรดานั้นมี 2,899 คนถูกตั้งข้อหาก่อความไม่สงบ เช่น การจลาจล การกระทบกระทั่งกัน การชุมนุมอย่างผิดกฎหมาย และการลอบวางเพลิง แต่กลับทำให้การชุมนุมในปี 2020 มีผู้คนมารวมตัวกันนับหมื่น พังทะลายรั้วกั้นของทางการ และตำรวจไม่อาจจะหยุดยั้งได้ แต่ก็มีผู้ถูกจับกุมประมาณ 250 คนและ 29 คนถูกตัดสินว่ามีความผิดถูกขังคุก

(แถวบน) เสาแห่งความอัปยศ (ขวาสุด) เสาจำลองในไต้หวัน
(แถวล่าง) เทพีแห่งประชาธิปไตย และ กำแพงเทียนอันเหมิน

ทำให้ปลายปี 2020 นั้นทางการจีนสั่งรื้อถอน Pilar of Shame (เสาแห่งความอัปยศ) ผลงานของศิลปินชาวเดนมาร์ก เจนส์ กัลสคีต ออกไปจากพื้นที่มหาวิทยาลัยฮ่องกง อันเป็นประติมากรรมที่แสดงใบหน้าแห่งความเจ็บปวดจำนวนนับไม่ถ้วน และอีกเพียงหนึ่งวันถัดมาในช่วงคริสต์มาสอีฟ ระหว่างที่นักศึกษาต่างพากันกลับบ้าน ณ มหาวิทยาลัยจีนแห่งฮ่องกง ก็มีการถอนประติมากรรมจำลองรูป Goddess of Democracy (เทพีแห่งประชาธิปไตย) ที่ออกแบบโดยเฉินเว่ยหมิง หนึ่งในผู้ประท้วงที่เทียนอันเหมิน (เดิมเป็นโฟมกระดาษ ต่อมาถูกสร้างจำลองในหลายประเทศเพื่อรำลึกถึงเทียนอันเหมิน) และภาพนูนต่ำ The Tiananmen wall (กำแพงเทียนอันเหมิน) ภายในมหาวิทยาลัยหลิงหนาน ด้วยข้ออ้างว่า “เสี่ยงต่ออันตราย” เนื่องจากมีรอยแตกร้าว

กระทั่งสองปีที่ผ่านมาด้วยข้ออ้างรักษาระยะห่าง โควิด-19 ฮ่องกงห้ามไม่ให้เข้าพื้นที่วิคตอเรียพาร์ค ไปจนถึงพยายามปิดกั้นโปรแกรมซูมที่มีการรวมตัวกันเพื่อไว้อาลัย จนล่าสุดปีนี้ ผู้ชุมนุมลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด แต่ก็ยังมีนักกิจกรรมกว่า 23 คนถูกลากคอเข้าคุกด้วยข้อหา “ละเมิดความสงบ” ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นหญิงชราวัย 63 ปี ทั้งที่สิ่งที่พวกเขาต้องการทำเป็นเพียงการยืนสงบนิ่ง วางดอกไม้ และฉายไฟจากมือถือเท่านั้น

(ซ้ายสุด) งานรำลึกปี 2020 เทียบกับปีนี้ที่มีคนถูกจับกุม

อย่างไรก็ตามปีนี้รัฐบาลจีนได้เข้ายึดพื้นที่วิคตอเรียพาร์ค แล้วจัดเป็นงานคาร์นิวัลแทน เปิดบูธอาหาร มีแสดงดนตรี เต้นรำ ประดับประดาพื้นที่ด้วยสีสันสดใส เพื่อแทนที่งานรำลึกด้วยการเฉลิมฉลองวันคนรักชาติครบรอบ 26 ปีคืนกลับสู่จีน ยิ่งสร้างความโศกเศร้าให้กับผู้สูญเสียเป็นอย่างยิ่ง เพราะการกระทำของรัฐบาลจีนไม่ต่างอะไรจากการจัดงานเฉลิมฉลองบนกองศพ

แม้ว่างานรำลึกปีนี้ไม่เกิดขึ้นในฮ่องกง แต่ยังคงมีการไว้อาลัยในหลายประเทศ อาทิ ลอนดอน เบอร์ลิน นิวยอร์ก และไทเป โดยเฉพาะที่นิวยอร์กคนจีนโพ้นทะเลได้รับอนุญาตให้สร้างอาคารอนุสรณ์สถานขึ้น ส่วนไทเปก็มีการสร้างประติมากรรมจำลองรูป เสาแห่งความอัปยศ ที่ถูกถอนในฮ่องกงเมื่อ 2 ปีก่อนด้วย

กฎหมายความมั่นคงฮ่องกง ที่จีนประกาศใช้เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2020 เป็นกฎหมายที่สามารถใช้เอาผิดฝ่ายประชาธิปไตยได้อย่างกว้างขวาง ด้วยข้อกล่าวหาหนัก 4 ข้อ คือ การล้มล้างการปกครอง การแบ่งแยกดินแดน การก่อการร้าย การคบคิดชาวต่างชาติบ่อนทำลายความมั่นคง มีโทษสูงสุดคือจำคุกตลอดชีวิต และการกระทำผิดต่อจีน แม้ว่าจะอยู่นอกเขตจีน หากว่าเมื่อใดผู้นั้นเข้ามาในเขตจีนและฮ่องกง ไม่ว่าจะเป็นคนจีนหรือต่างชาติ ล้วนต้องถูกดำเนินคดีได้ทั้งสิ้น เป็นกฎหมายที่เขียนไว้กว้าง ๆ สามารถตีความเอาผิดได้ทุกการกรณีขึ้นอยู่กับผู้ใช้อำนาจ ดังนั้นไม่ว่าคุณจะทำอะไร เช่น นัดรวมตัวกันยืนเฉย ๆ / ยืนอ่านหนังสือ 1984 / รวมตัวกันส่องไฟฉาย / รวมตัวกันกินแซนวิช เผื่อหวังผลในการประท้วงทางการเมือง ล้วนสามารถตีความได้ว่า “เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ” ทั้งสิ้น (อย่างที่รัฐบาลลุงตู่เคยกระทำมาแล้ว)

พาเหรดไพรด์ฮ่องกงปี 2017

เมื่อเสรีถดถอยชุมชนLGBTก็พังทะลาย

แน่นอนว่าเมื่อสิทธิเสรีภาพของผู้คนในฮ่องกงถูกลิดรอน กลุ่มคนชายขอบอย่าง LGBT ก็ยิ่งถูกผลักไสให้มีสิทธิ์มีเสียงลดน้อยลงจนแทบจะไร้ตัวตนภายในบ้านเกิดเมืองนอนตนเอง และบ้านเมืองกลายเป็นสถานที่ไม่ปลอดภัยอีกต่อไป

หลังจากการประท้วงต่อต้านรัฐบาลจีนในปี 2019 และการกำหนดกฎหมายความมั่นคงฮ่องกงในปี 2020 LGBT ผู้สนับสนุนฝ่ายประชาธิปไตยก็ล่มสลายด้วยเช่นกัน กลุ่มนักสิทธิมนุษยชนต่าง ๆ ถูกจับกุมปราบปราม เสรีภาพสื่อบอบช้ำ ฮ่องกงที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นสัญลักษณ์แห่งความหลากหลายทางเพศแห่งหนึ่งในเอเชีย ได้สูญเสียอิสรภาพไปตลอดกาล เสียงที่เคยเป็นตัวแทนของกลุ่ม LGBT ก็หายไปด้วยเนื่องจากผู้สนับสนุนฝ่ายประชาธิปไตยถูกตัดสิทธิ์ในสภา ภายในเวลาเพียงปีเดียวหลังประกาศใช้กฎหมายความมั่นคงฮ่องกง มีมากกว่าเก้าหมื่นคนลี้ภัย กว่าสองหมื่นคนยื่นขอวีซ่าแคนาดา มีอีกกว่าแสนคนขอวีซ่าอพยพไปอังกฤษในปี 2021 ซึ่งนับว่าสูงเป็นประวัติการณ์

ย้อนกลับไปในปี 2018 ศาลสูงสุดมีคำพิพากษาให้เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองต้องออกวีซ่าคู่สมรสของคู่รักเพศเดียวกันด้วย ซึ่งก่อนหน้าปีนั้นออกให้แต่เฉพาะกับคู่รักต่างเพศเท่านั้น แต่คำสั่งนี้มีอันพับไปหลังจากการมาถึงของกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติในปี 2020

คริสติน่า(ชื่อสมมติ) นักศึกษาจากจีนตัดสินใจมาเรียนที่ฮ่องกงตั้งแต่ปี 2017 เพราะเวลานั้นฮ่องกงมีบรรยากาศเป็นมิตรต่อชาว LGBT เธอเล่าว่า “ฉันเคยร่วมพาเหรดไพรด์ในปี 2016, 2017 และ 2019 ที่ในขบวนมีคนที่ไม่ใช่ LGBT ด้วย แต่พวกเขาสนับสนุนเรา เป็นมิตรกับเรา แต่สิ่งเหล่านี้จะไม่มีวันเกิดขึ้นอีกแล้วในยุคหลังกฎหมายความมั่นคง ทนายความและสมาชิกสภาหลายคนที่เป็นมิตรกับชาว LGBT หลายคนถูกจำคุก หลายคนต้องหนีออกนอกประเทศ สื่อน้ำดีอย่าง Apple Daily หรือ Stand News ที่มักทำข่าวเกี่ยวกับสิทธิคนชายขอบ ตอนนี้พวกเขาถูกบังคับให้สูญหายไปหมดแล้วเพราะความหวาดกลัว สิ่งเหล่านี้สร้างความเสียหายต่อชุมชน LGBT อย่างหนัก”

ความเกลียดชังก่อตัวขึ้นอย่างรุนแรงภายในชุมชนเอง พาย(นามสมมติ) เล่าว่า “เมื่อฉันใช้แอปหาคู่คุยกับสาวฮ่องกง ทันทีที่ฉันแนะนำว่าฉันเป็นเลสเบี้ยนจากจีน เธอก็ด่าทอฉันว่าพวกคนจีนกำลังทำลายเสรีภาพของชาวฮ่องกง”

เลอา กับเจิ้น (นามสมมติ) คู่รักเลสเบี้ยนและทั้งสองเป็นครูในโรงเรียนคริสเตียน พวกเธอคบหากันมาแล้ว 5 ปี เลอาเล่าว่า “โรงเรียนสั่งให้พวกเราหากพบว่าเด็กนักเรียนคนไหนมีพฤติกรรมเป็นเกย์หรือเลสเบี้ยน เราไม่ควรสนับสนุน และควรสอนเด็กเหล่านั้นว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งผิด ไม่ดี ไม่ถูกต้อง” เจิ้งเสริมว่า “ในโรงเรียนเราต้องระมัดระวังความสัมพันธ์ของพวกเราเป็นอย่างมาก แม้แต่เวลาไปเที่ยวทะเลด้วยกัน เราก็ยังไม่สามารถจับมือถือแขนกันอย่างคู่รักทั่วไปได้ เพราะไม่รู้จะมีใครมาเห็นแล้วเอาไปฟ้องทำให้เราถูกลงโทษ หรือไล่ออกได้”

เลอาบอกว่า “คนรุ่นใหม่เปิดกว้างยอมรับพวกเราได้ง่ายกว่า แต่บรรดาครูใหญ่ ครูแก่ ๆ ทั้งหลายไม่มีวันที่จะเข้าใจในสิ่งที่เราเป็นเลย แม้ว่าพระเจ้าจะสอนในเรื่องความรักเพื่อนมนุษย์ แต่ความรักแบบพวกเราเป็นสิ่งที่ผิดต่อศาสนา ราวกับพวกเราไม่ใช่มนุษย์”

แดเนียล (ผมสั้น) แอมเบอร์ (ผมยาว) คนร้ายยืนรอตำรวจมาจับ (รูปขวาสูด)

คดีจ้วงแทงคู่รักเลสเบี้ยน

คดีโหดเหี้ยมนี้เกิดขึ้นในเดือนไพรด์ เมื่อวันที่ 2 มิถุนายนที่ผ่านมานี้เอง เกิดขึ้นอย่างอุกอาจกลางห้างกลางวันแสก ๆ เหตุเกิด ณ ห้างไดมอนด์ ฮิลล์ ในฝั่งเกาลูน เมื่อเวลาห้าโมงเย็น ซี่ตูเจิ้งก่วงชายวัย 39 ปีผู้ป่วยจิตเภทที่ขาดการรักษาและกำลังตกงาน เขาใช้มีดปลายแหลมยาวประมาณ 1 ฟุต จ้วงแทงไม่ยั้งไปยัง แดเนียล ฟางเสี่ยวถง หญิงอายุ 26 ปี พนักงานร้านอาหาร ส่วนแฟนสาวของเธอ แอมเบอร์ หลิวจี้สี วัย 22 ปี เป็นช่างทำผมย่านจิมซาจุ่ย พยายามจะเข้าไปช่วยหญิงคนรัก สุดท้ายเธอเองก็ถูกนายซี่ตูปาดคอด้วยเช่นกัน ทั้งสองเสียชีวิตระหว่างถูกหามส่งโรงพยาบาล

*** คำเตือน: คลิปมีความรุนแรงอย่างมาก / สามารถดูภาพวงจรปิดได้ที่นี่

คู่รักแดเนียลกับแอมเบอร์คบหากันมาหลายเดือนและอยู่กินด้วยกันที่ไต้หวัน ก่อนจะย้ายมาทำงานในฮ่องกงเมื่อไม่นานนี้ โดยในวันเกิดเหตุ พวกเธอออกเดทกันในห้างเพื่อเตรียมหาซื้อของขวัญไปฝากญาติผู้ใหญ่ที่อยู่นอกเมือง ระหว่างที่พวกเธอออกจากร้านกิฟท์ช็อป จู่ ๆ นายซี่ตูก็พุ่งเข้ามาจ้วงแทงแดเนียลซ้ำแล้วซ้ำเล่าไม่ต่ำกว่า 30 แผล ส่วนแอมเบอร์พยายามจะห้ามคนร้าย แต่กลับถูกคนร้ายตามมาปาดคอ
เหตุการณ์นี้เป็นที่ถกเถียงไปทั่วสังคมออนไลน์ เมื่อทางตำรวจแจ้งว่า แดเนียลกับแอมเบอร์เป็นเพื่อนกัน และฆาตกรสุ่มฆ่าโดยไม่ได้เลือกเจาะจงเหยื่อ อันหมายความว่าคู่นี้ดวงซวยเอง

แต่หลังจากปรากฎภาพจากกล้องวงจรปิดพบว่า คนร้ายจงใจเดินตรงเข้ามาที่แดเนียลซึ่งมีรูปลักษณ์แบบทอมบอย ผมสั้น สังคม LGBT หลายฝ่ายลงความเห็นว่า แม้จะเป็นการสุ่มฆ่า แต่จงใจจะฆ่าหญิงเลสเบี้ยนด้วยเหตุแห่งความเกลียดชังในอัตตลักษณ์ทางเพศหรือไม่ (Hate crime อาชญากรรมที่เกิดจากอคติ เช่นในกรณีนี้ หากคนร้ายมีอคติเกลียดชังต่อทอมบอย ทันทีที่เห็นทอมบอยก็จะพุ่งเข้าจ้วงแทงในทันที)

เมื่อพิจารณาจากคนร้ายที่ไม่เคยรู้จักคู่รักคู่นี้มาก่อน อีกทั้งการที่ตำรวจให้ข่าวทางทีวีด้วยการใช้คำว่า “เพื่อน” เป็นการบิดเบือนความจริงที่ว่าทั้งสองเป็นคู่รักกัน อันเนื่องมาจากสังคมจีนไม่อาจยอมรับกรณีรักเพศเดียวกันได้เลย

ขณะที่เห็นได้ชัดในคลิปวงจรปิดเมื่อแอมเบอร์สู้กับคนร้ายอย่างหนักเพื่อจะคว้าร่างคนรักของเธอกลับมาอย่างกล้าหาญ สู้จนกระทั่งแอมเบอร์เองต้องเสียชีวิตตามไปด้วย

ที่น่าสังเกตอีกประการคือ ขณะที่ซี่ตูจ้วงแทงหญิงทั้งสองชนิดไม่ยั้ง ระหว่างนั้นเชฟร้านอาหารในละแวกนั้นได้เอาเก้าอี้เหล็กฟาดไปยังคนร้าย แต่กลับพบว่าคนร้ายไม่ตอบโต้ ด้วยเหตุว่าเชฟคนนั้นเป็นผู้ชาย รวมถึงเมื่อตำรวจชายเข้ามาจับกุมคนร้ายก็ยอมให้จับแต่โดยดี อาจเป็นไปได้ว่าเขามีอาการเกลียดชังเพศหญิงอย่างรุนแรง ขณะที่ตำรวจพยายามจะลบคลิปออกจากสังคมออนไลน์ด้วยข้ออ้างว่าอาจทำให้ผู้ชมหดหู่ซึมเศร้า เป็นการปิดกั้นการเข้าถึงข้อมูลที่ผู้คนที่ไม่เคยเห็นภาพ อาจไม่เข้าใจว่าสิ่งที่คนร้ายกระทำนั้น เป็นความโหดเหี้ยมต่อผู้หญิงขนาดไหน

สำหรับชาวไทยหลายคนคงได้เห็นภาพขบวนพาเหรดไพรด์เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ต่างเฉลิมฉลองที่เรากำลังจะได้สมรสเท่าเทียมและนายกคนใหม่ราวกับการประกาศชัยชนะในเดือนไพรด์ ทั้งที่แท้จริงแล้วจนบัดนี้เรายังไม่ได้รัฐบาลใหม่ที่ประชาชนส่วนใหญ่เป็นผู้เลือกเสียที ขณะที่ผู้หลักผู้ใหญ่ฝ่ายอำนาจเผด็จการพยายามทำทุกอย่างทั้งดราม่าบิดเบือนความจริง ปลุกปั่นใส่ร้ายต่าง ๆ นานา โดยเฉพาะข้อกล่าวหาเรื่องฐานทัพสหรัฐ สัญลักษณ์ค้อนเคียว ไปจนถึงทำตัวไม่มีมารยาท และกรณีถือหุ้นสื่อ แต่กลับยอมรับได้ต่อการอยู่ใต้ท็อปบูทค้อนเคียวของจีน ย้อนแย้งเซอร์เรียลเหนือจริงราวกับอยู่ในโลกนิยาย 1984

ความจริงแล้วเรากำลังอยู่บนหนทางระหว่างสิ่งที่เราเลือกเอง กับสิ่งที่เขาเลือกให้ “ตกลงคุณอยากอยู่ใต้อำนาจจีนอย่างที่เป็นอยู่มาตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา” อย่างที่ชอบเอ่ยอ้างกันว่าแสนสงบสุขจริงหรือ?