ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup เวียดนามขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เกษตรยั่งยืนขึ้นชั้นผู้นำโลกปี 2050

ASEAN Roundup เวียดนามขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เกษตรยั่งยืนขึ้นชั้นผู้นำโลกปี 2050

13 กุมภาพันธ์ 2022


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 5-12 กุมภาพันธ์ 2565

  • เวียดนามขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เกษตรยั่งยืนขึ้นชั้นผู้นำโลกปี 2050
  • กัมพูชาเล็งเปิดด่านสากลกับไทยเพิ่มปีนี้
  • แรงข้ามข้ามชาติกัมพูชาส่งเงินกลับบ้าน 2.8 พันล้านดอลล์
  • กัมพูชาชู”พระสีหนุ”ดาวรุ่งท่องเที่ยว
  • ลาวอนุมัติบริษัทเวียดนามศึกษาก่อสร้างสายส่งไฟฟ้า
  • รัฐบาลทหารพม่าเล็งพัฒนาสกุลเงินดิจิทัล
  • เวียดนามขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เกษตรขึ้นชั้นผู้นำโลกปี 2050

    ที่มาภาพ: https://vietnamnet.vn/en/business/strategy-issued-to-boost-sustainable-agricultural-development-814039.html
    รองนายกรัฐมนตรี นายเล วัน ถั่นห์ ได้ลงนามใน ยุทธศาสตร์การพัฒนาการเกษตรและพื้นที่ชนบทอย่างยั่งยืนช่วงปี 2021-2030

    เป้าประสงค์ของยุทธศาสตร์ คือ การพัฒนาการเกษตรและพื้นที่ชนบทอย่างยั่งยืนตั้งแต่ปี 2021-2030 โดยวางวิสัยทัศน์ไว้ว่าภายในปี 2050 จะเปลี่ยนเวียดนามให้เป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศภาคเกษตรกรรมชั้นนำของโลก

    โดยรวมมีเป้าหมาย เพื่อการพัฒนาการเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจบนข้อได้เปรียบของประเทศในด้านผลิตภาพ คุณภาพ ประสิทธิภาพ ความยั่งยืน และความสามารถในการแข่งขันสูง รับรองความมั่นคงด้านอาหารของชาติ และมีส่วนสร้างเสริมเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและสังคม รับมือกับภัยธรรมชาติ และการป้องกันและควบคุมโรคระบาด การตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการดำเนินการตามพันธกรณีระหว่างประเทศว่าด้วยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างมีประสิทธิผล

    ยุทธศาสตร์นี้ยังมุ่งไปที่การยกระดับรายได้ คุณภาพชีวิต บทบาท และการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทางการเกษตร ตลอดจนสร้างงานนอกภาคเกษตรเพื่อช่วยบรรเทาความยากจนให้กับชาวบ้านในชนบท และเปิดโอกาสในการพัฒนาที่เท่าเทียมกันในภูมิภาคต่างๆ

    นอกจากนี้ ยุทธศาสตร์นี้คาดว่าจะช่วยพัฒนาพื้นที่ชนบทอย่างครอบคลุม และเชื่อมโยงกับกระบวนการพัฒนาสู่ความเป็นเมือง ด้วยโครงสร้างพื้นฐานที่สอดคล้องกัน และบริการทางสังคม ยึดถือและแสดงให้เห็นถึงเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชาติ และส่งเสริมการสร้างพื้นที่ชนบทสีเขียว สะอาดและสวยงาม

    ภายใต้ยุทธศาสตร์ การพัฒนาเศรษฐกิจการเกษตรและชนบท จะผสมผสานกับการสร้างชนบทรูปแบบใหม่ ไปสู่พื้นที่ชนบทที่มีการเกษตรเชิงนิเวศที่มีประสิทธิภาพ และเกษตรกรที่มีความเข้มแข็ง

    ในรายละเอียด เป้าหมายของปี 2030 คือ ภาคเกษตรกรรม-ป่าไม้-ประมง ต้องสนับสนุนการเติบโตของ GDP ราว 2.5-3% และส่งผลให้ผลิตภาพแรงงานสูงขึ้นโดยเฉลี่ย 5.5-6% ในแต่ละปี รวมทั้งคาดว่าจะช่วยขยายและพัฒนาตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดส่งออก ที่ควรจะเพิ่มขึ้นถึง 5-6% ในแต่ละปี

    รวมไปถึงการเพิ่มรายได้ของประชาชนและการลดความยากจนอย่างยั่งยืน โดยรายได้ของชาวชนบทจะเพิ่มขึ้น 2.5-3 เท่าจากปี 2020 และอัตราความยากจนในครัวเรือนหลายมิติจะลดลง 1-1.5% ต่อปี สัดส่วนของแรงงานภาคเกษตรจะลดลงเหลือน้อยกว่า 20% ของจำนวนแรงงานทั้งหมดในสังคม ขณะเดียวกันอัตราแรงงานเกษตรที่ผ่านการฝึกอบรมจะเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 70%

    นอกจากนี้เวียดนามจะมีชุมชน(commune)อย่างน้อย 90% ทั่วประเทศที่ได้รับการรับรองว่าเป็นพื้นที่ชนบทรูปแบบใหม่ พัฒนาการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่ปรับให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 10% จากระดับปี 2020

    อัตราความครอบคลุมของป่าคาดว่าจะคงอยู่ที่ 42% และพื้นที่ป่าที่ได้รับการรับรองว่ามีการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืนจะมากกว่า 1 ล้านเฮกตาร์ พื้นที่เขตอนุรักษ์ทางทะเลและชายฝั่งจะเพิ่มขึ้นเป็น 3-5% ของพื้นที่ทะเลธรรมชาติของชาติ

    ด้วยวิสัยทัศน์สู่ปี 2050 เวียดนามมุ่งมั่นที่จะเป็นประเทศที่มีภาคการเกษตรติดชั้นนำของโลก ด้วยอุตสาหกรรมแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่ทันสมัย ​​มีประสิทธิภาพ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ชนบทจะไม่มีครัวเรือนยากจนอีกต่อไป กลายเป็นพื้นที่ที่เจริญ สีเขียว สะอาดและสวยงาม ที่สภาพความเป็นอยู่และรายได้ของชาวชนบทสอดคล้องกับพื้นที่เมือง

    ยุทธศาสตร์นี้ยังกำหนดทิศทางและภารกิจเพื่อการพัฒนาการเกษตรและชนบทที่ยั่งยืน โดยเฉพาะการสร้างโครงสร้างการผลิตทางการเกษตรให้สมบูรณ์พร้อมกับความได้เปรียบทางการแข่งขันและความต้องการของตลาด

    ภาคการเพาะปลูกต้องปรับโครงสร้างพืชผล และปรับการจัดการการใช้ที่ดินเพื่อเกษตรกรรมให้ยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อใช้ประโยชน์จากอุตสาหกรรมการผลิตเชิงยุทธศาสตร์ที่รับรองอุปสงค์ภายในประเทศและรองรับการส่งออก รวมทั้งต้องจัดลำดับความสำคัญของการพัฒนาพืชผลจากความได้เปรียบและความต้องการ (พืชผลทางอุตสาหกรรม ไม้ผลเมืองร้อน และข้าวคุณภาพสูง) นอกจากนี้ ควรดำเนินการตามขั้นตอนที่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการพัฒนาพืชผลใหม่ที่มีศักยภาพดี รวมทั้งพืชสมุนไพร ไม้ประดับ และเห็ดที่รับประทานได้

    การผลิตข้าวต้องส่งเสริมความได้เปรียบของอุตสาหกรรมข้าวของเวียดนาม ควบคู่ไปกับนวัตกรรมในการคิด นโยบายการจัดการ และการใช้ที่ดินเพื่อการเพาะปลูกข้าวและการผลิตข้าว

    ขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมปศุสัตว์ต้องรองรับความต้องการอาหารที่จำเป็นสำหรับตลาดภายในประเทศได้ พัฒนาผลิตภัณฑ์และตลาดที่มีศักยภาพ และคงการเลี้ยงสุกรและโคขนาดใหญ่ รวมทั้งจะมีการพัฒนาปศุสัตว์และสัตว์ปีกพื้นเมือง และสายพันธุ์พิเศษที่มีมูลค่าสูงเป็นพิเศษ เพื่อให้ความปลอดภัยของอาหารมีความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม มีความมั่นคงทางชีวภาพ และการป้องกันโรค

    สิ่งสำคัญคือ ต้องส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ในอุตสาหกรรมด้วยการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในฟาร์มขนาดใหญ่และสถานประกอบการ และส่งเสริมการทำฟาร์มในครัวเรือนแบบดั้งเดิม ด้วยการปรับไปสู่ความเป็นมืออาชีพและการทำเกษตรอินทรีย์

    อุตสาหกรรมการประมงต้องพัฒนาให้เป็นอุตสาหกรรมการผลิตเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อให้รองรับอุปสงค์ภายในประเทศและการส่งออก โดยมุ่งเน้นที่การทำเกษตรแบบรวมศูนย์และใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยสำหรับโรงงานผลิตขนาดใหญ่ ในขณะเดียวกัน ครัวเรือนขนาดเล็กจะใช้เทคโนโลยีที่ดีขึ้นและการทำเกษตรอินทรีย์ร่วมกับการเลี้ยงปลาในกระชัง

    นอกจากนี้ต้องดำเนินการเปลี่ยนป่าไม้ให้เป็นภาคเศรษฐกิจสมัยใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูง ยกระดับรายได้ของประชาชนและมีส่วนต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ การปกป้องระบบนิเวศน์ ความมั่นคงทางน้ำ การบรรเทาภัยพิบัติทางธรรมชาติ การตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ การป้องกันประเทศและความมั่นคง

    ยุทธศาสตร์ดังกล่าวยังกำหนดให้มีการจัดระเบียบขั้นตอนที่สำคัญในการผลิตเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพและรับรองการพัฒนาที่ยั่งยืน ตลอดจนส่งเสริมความร่วมมือและการพัฒนาห่วงโซ่คุณค่าและรูปแบบการเกษตรขั้นสูง

    การพัฒนาเศรษฐกิจในชนบทจะสร้างงานและเพิ่มรายได้ให้กับชาวชนบท ดังนั้นจึงจำเป็นต้องสร้างชนบทที่มีเจริญและทันสมัยร่วมกับการพัฒนาไปสู่เมืองและอนุรักษ์วัฒนธรรมดั้งเดิม

    รัฐบาลมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบทเป็นประธานคณะทำงานและประสานงานกับกระทรวง หน่วยงาน และท้องถิ่นในการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ กระทรวงจะทบทวนสถานการณ์และรายงานต่อนายกรัฐมนตรีเป็นประจำทุกปี การประเมินเบื้องต้นจะมีขึ้นในปี 2025 และผลที่กิดขึ้นตามยุทธศาสตร์จะประเมินในปี 2050

    กัมพูชาเตรียมเปิดด่านข้ามแดนสากลกับไทยเพิ่มปีนี้

    นายสุ่น จันทอล รัฐมนตรีกระทรวงกิจการสาธารณ กัมพูชา ที่มาภาพ:https://www.khmertimeskh.com/501023774/government-plans-new-international-border-crossing-with-thailand/

    รัฐมนตรีกระทรวงโยธาธิการนายสุ่น จันทอล กล่าวเมื่อวันพฤหัสบดี(10 ก.พ.) ว่า รัฐบาลกำลังวางแผนที่จะเปิด ด่านชายแดนระหว่างประเทศแห่งใหม่กับประเทศไทยในย่าน ทมอร์ดา ในอำเภอเวียลเวง ของจังหวัดโพธิสัต ซึ่งตั้งอยู่ที่ชายแดนติดกับจังหวัดตราดของประเทศไทย

    นายจันทอล ได้ประชุมกับคณะทำงานด้านเทคนิค และกล่าวว่า ด่านชายแดนระหว่างประเทศที่ทมอร์ดาจะเปิดขึ้นในปีนี้ โดยเป้าหมายของการเปิดด่านพรมแดนระหว่างประเทศคือ การเสริมสร้างความร่วมมือทางการค้าและการท่องเที่ยวระหว่างทั้งสองประเทศ

    นายจันทอลกล่าวว่า ก่อนการเปิดด่าน รัฐบาลต้องสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ อาคารตรวจคนเข้าเมือง อาคารศุลกากรและสรรพสามิต จุดตรวจร่วม สถานีขนส่ง คลังสินค้า พื้นที่สำหรับตู้คอนเทนเนอร์ และอาคารสำนักงาน และอาคารหอพัก เพื่อเปิดโอกาสการดำเนินงานระหว่างประเทศ การลงทุน การค้าข้ามพรมแดน การสร้างงาน และสถานที่ท่องเที่ยว ให้มากขึ้น เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจ ครัวเรือน และผลประโยชน์ของทั้งสองประเทศ

    จากรายงานของกรมตรวจคนเข้าเมืองทั่วไป ณ ปี 2020 กัมพูชามีจุดตรวจชายแดนระหว่างประเทศกับไทย 7 จุด ได้แก่ จังหวัดเกาะกง จังหวัดไพลินและจังหวัดบันทายมีชัยที่ละ 1 จุด จังหวัดพระตะบอง 2 จุด และอีก 2 จุดในจังหวัดอุดรมีชัย

    แรงข้ามข้ามชาติกัมพูชาส่งเงินกลับบ้าน 2.8 พันล้านดอลล์

    แรงงานกัมพูชาในไทย ที่มาภาพ: https://www.khmertimeskh.com/501023816/overseas-cambodian-laborers-send-home-2-8-billion-last-year/

    นายอิทธ์ สัมเฮง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานกัมพูชาเปิดเผยในการเสวนากองทุนความมั่นคงแห่งชาติประจำปีเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ว่า ในปี 2021 แรงงานกัมพูชาที่ทำงานในต่างประเทศจำนวน 1.3 ล้านคน ซึ่ง 528,799 เป็นแรงงานหญิง ส่งเงินกลับประเทศราว 2.8 พันล้านดอลลาร์

    “เงินที่ส่งกลับประเทศไม่เพียงยกระดับความเป็นอยู่ของคนในครอบครัวเท่านั้น แต่มีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจกัมพูชาขยายตัว”

    แรงงานข้ามชาติกัมพูชาส่วนใหญ่ทำงานในประเทศไทยราว 1.22 ล้านคนส่วนที่เหลือกระจายไปในเกาหลีใต้ 45,000 คน ในมาเลเซีย 23,027 คน ในญี่ปุ่น 11,453 คน สิงคโปร์ 821 คน ฮ่องกง 202 คน และ ซาอุดิอาระเบีย 43 คน

    กัมพูชาชู”พระสีหนุ”ดาวรุ่งท่องเที่ยว

    ที่มาภาพ: https://www.phnompenhpost.com/business/plan-lifts-preah-sihanouk-tourism-hopes
    รัฐบาลกัมพูชาได้วางตัว จังหวัดพระสีหนุเป็น ‘ดาวรุ่ง’ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ พร้อมกับจังหวัดชายฝั่งอีก 3 จังหวัด ได้แก่ เกาะกง แกบ และกำปอต

    การท่องเที่ยวในจังหวัดพระสีหนุจะได้รับการปรับภาพลักษณ์ใหม่ จากการทำงานร่วมกันของภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อจัดทำแผนพัฒนาเป็นระยะๆ ที่สนับสนุนและส่งเสริมการดำเนินการตามแผนพัฒนาการท่องเที่ยวจังหวัดพระสีหนุปี 2021-2025 ที่กำลังจะนำมาใช้

    เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ได้มีการประชุมหารือร่างแผน 5 ปีฉบับล่าสุด โดยตัวแทนจากการท่องเที่ยว จากจังหวัด และผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม และร้านอาหารของจังหวัด เพื่อพิจารณาและสนับสนุนแผน เพื่อให้การดำเนินตามแผนราบรื่น

    รวมทั้งมีการวิเคราะห์ จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และภัยคุกคาม วิสัยทัศน์ เป้าหมาย และวัตถุประสงค์ การคาดการณ์การท่องเที่ยวปี 2021-2025 และทิศทางแผนพัฒนาที่เกี่ยวข้อง

    นายสก โสกุลรองเลขาธิการการท่องเที่ยวเน้นย้ำถึงความสำคัญของแผน ในการส่งเสริมการท่องเที่ยวและการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมในวงกว้าง และยกระดับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรม

    นอกจากนี้ คาดว่าแผนดังกล่าวจะทำให้พระสีหนุกลายเป็นจุดหมายปลายทางชายหาดที่ปลอดภัย น่าดึงดูด และมีความสามารถในการแข่งขันระดับนานาชาติ

    “แผนพัฒนาการท่องเที่ยวที่ประสบความสำเร็จต้องได้รับการสนับสนุนและความร่วมมือที่ดีจากทุกฝ่าย และการแข่งขันทางการตลาดมุ่งเน้นไปที่แพ็คเกจการเดินทาง ในทางกลับกัน พระสีหนุมีสนามบินนานาชาติที่เครื่องบินขนาดใหญ่สามารถลงจอดได้ เช่นเดียวกับชายหาดและหมู่เกาะที่มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวสูง”

    อย่างไรก็ตาม แม้มีสินทรัพย์ที่มีคุณค่าเหล่านี้แล้ว แต่จังหวัดยังเผชิญกับความท้าทายมากมาย เช่น ถุงพลาสติกจำนวนมากและขยะอื่น ๆ ที่กระจัดกระจายไปทั่วบริเวณ Tomnup Roloak ทางตะวันออกเฉียงเหนือของน้ำตกกบาลชายอันเลื่องชื่อ ที่กระทบการท่องเที่ยว

    “เราต้องการเปลี่ยนย่าน Tomnup Roloak ให้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ และแผนพัฒนาการท่องเที่ยวจะเป็นเข็มทิศสำหรับการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวหลังวิกฤติโควิด-19”

    นายลอง ดีมันเช รองผู้ว่าราชการจังหวัด สนับสนุนแผนอย่างแข็งขัน โดยกล่าวว่า หน่วยงานและส่วนงานที่เกี่ยวข้องต้องมีส่วนร่วม รวมไปถึงผู้ประกอบการท่องเที่ยว นักลงทุนและภาคเอกชนอื่นๆ

    “ฝ่ายบริหารของจังหวัดมีความมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนแผนพัฒนาการท่องเที่ยวพระสีหนุ”

    นอกจากนี้ยังกล่าวอีกว่า รัฐบาลกำลังเตรียมแผนแม่บทสำหรับการพัฒนาเมืองพระสีหนุในอนาคต โดยกำหนดให้จังหวัดเป็น “เขตเศรษฐกิจพิเศษเอนกประสงค์ต้นแบบ” และ “ดาวรุ่ง” ทางตะวันตกเฉียงใต้ของกัมพูชาพร้อมกับอีก 3 จังหวัด จังหวัดชายฝั่ง คือ เกาะกง แกบ และกำปอต

    นางฉาย ศิวลิน ประธานสมาคมการท่องเที่ยวแห่งกัมพูชา กล่าวว่า แผนแม่บทและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางถนนในวงกว้าง จะช่วยเปลี่ยนพระสีหนุให้เป็นจุดหมายปลายทางที่น่าดึงดูดยิ่งขึ้นสำหรับผู้มาท่องเที่ยว โดยเฉพาะเมื่อโลกสามารถจำกัดภัยคุกคามที่เกี่ยวข้องกับโควิดอยู่ในระดับที่เหมาะสม

    นอกจากนี้ การสร้างและรักษาชื่อเสียงให้คงมั่น สำหรับชายหาด ท่าเรือ และสนามบินนานาชาติที่สะอาด ยังเป็นปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญสำหรับภาคการท่องเที่ยวอีกด้วย

    “การเปิดตัวแผนพัฒนาการท่องเที่ยว ควบคู่ไปกับความสำเร็จของการพัฒนาในทุกด้าน จะช่วยให้พระสีหนุเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจที่ชื่นชอบของผู้มาเยือนทั้งในและต่างประเทศในอนาคตอันใกล้นี้”

    ลาวอนุมัติบริษัทเวียดนามศึกษาก่อสร้างสายส่งไฟฟ้า

    ที่มาภาพ: https://www.phnompenhpost.com/business/private-lao-firms-set-carry-out-study-power-line-vietnam
    รัฐบาลลาวได้อนุมัติให้บริษัทเอกชนเวียดนาม 2 รายทำการ ศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างสายส่งไฟฟ้าขนาด 220 กิโลโวลต์ เพื่อการส่งกระแสไฟฟ้าจากเขื่อน 5 แห่งทางตอนเหนือของลาวไปยังเวียดนาม

    หากผลการศึกษาผ่านการอนุมัติ สายส่งจะส่งกระแสไฟฟ้าจากเขื่อนน้ำอู 3, 4, 5, 6 และ 7 ผ่านจังหวัดหลวงพระบางและจังหวัดพงสาลีไปยังเวียดนาม

    สุดสัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีลงนามในบันทึกความเข้าใจ(MoU) ระหว่างตัวแทนรัฐบาลลาวและจาก CTC Development Group Sole Co., Ltd. และ Vu Thu Construction JSC ของเวียดนาม หนังสือพิมพ์เวียงจันทน์ไทมส์รายงาน

    การศึกษาความเป็นไปได้จะใช้เวลา 18 เดือน และหากได้ผลในทางบวก การก่อสร้างสายส่งไฟฟ้าจะเริ่มทันทีหลังจากนั้น

    การลงนามนี้มีขึ้น เพราะลาวต้องการเพิ่มการส่งออกไฟฟ้า เพื่อตอบสนองความต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้นของเวียดนาม ปัจจุบันลาวส่งออกไฟฟ้ามากกว่า 6,423 เมกะวัตต์ ส่วนใหญ่ไปยังประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงเวียดนาม

    รัฐบาลทหารพม่าเล็งพัฒนาสกุลเงินดิจิทัล

    โฆษกสภาบริหารแห่งรัฐเปิดเผยว่า รัฐบาลทหารเมียนมามีแผนที่จะพัฒนาสกุลเงินดิจิทัล เพื่อรองรับการชำระเงินภายในประเทศและกระตุ้นเศรษฐกิจภายในปีนี้ และอยู่ระหว่างการพิจารณาแนวทางการผลักดัน จากการรายงานของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก

    พล.ต. ซอว์ มิน ตุน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสารสนเทศในรัฐบาลเผด็จการที่โค่นล้มรัฐบาลพลเรือนเมื่อปีก่อน ระบุว่า “เรายังไม่ตัดสินใจว่าจะทำโดยการร่วมทุนกับบริษัทในประเทศ หรือรัฐบาลพัฒนาเองโดยตรง” “สกุลเงินดิจิทัลจะช่วยหนุนธุรกรรมทางการเงินในเมียนมา”

    ข้อเสนอนี้มีขึ้นเมื่อสองเดือนหลังจากที่รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) หรือรัฐบาลเงา ยอมรับ Tether (USDT) เป็น “สกุลเงินที่เป็นทางการ” เพื่อใช้ในการรณรงค์หาทุน สำหรับการขับไล่รัฐบาลเผด็จการทหาร

    ธนาคารกลางทั่วโลกได้ดำเนินการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลมาหลายปีแล้ว โดยบางแห่งมีการวางแผนเพื่อนำไปใช้ในการทำธุรกรรมของรายย่อย และบางแห่งเลือกที่จะจำกัดการใช้ระหว่างธนาคารตามรายงานของบลูมเบิร์ก

    ประเทศจีนซึ่งมีโครงการหยวนดิจิทัล ได้พัฒนามาอย่างน้อยตั้งแต่ปี 2014 และเป็นหนึ่งในประเทศที่ก้าวหน้าที่สุด

    “เราคิดว่าประเทศนี้ไม่อยู่ในสถานะที่ดี ที่จะสามารถพัฒนาลักษณะนี้ได้” คิม เอ็ดเวิร์ดส์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของธนาคารโลกรับผิดชอบเมียนมา กล่าวในงานแถลงข่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เพราะจะต้องมีโครงสร้างการกำกับดูแลที่ดี และมีความสามารถสูงในการบริหารเพื่อทำให้เกิดขึ้น

    วิน มินท์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารเงิน ธนาคารกลางแห่งเมียนมา กล่าวว่า ปัจจุบันกำลังเรียนรู้เกี่ยวกับสกุลเงินดิจิทัลและอยู่ระหว่างการหารือ รวมถึงวิเคราะห์ข้อดีและข้อเสีย