ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup มาเลเซียเปิดตัวพรีเมียมวีซ่า ดึงนักลงทุนเงินหนา

ASEAN Roundup มาเลเซียเปิดตัวพรีเมียมวีซ่า ดึงนักลงทุนเงินหนา

4 กันยายน 2022


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 28 สิงหาคม-3 กันยายน 2565

  • มาเลเซียเปิดตัวพรีเมียมวีซ่า ดึงนักลงทุนเงินหนา
  • มาเลเซียดึงเงินลงทุน 123.3 พันล้านริงกิตครึ่งแรกปี’65
  • อินโดนีเซียให้สัตยาบันข้อตกลงการค้า RCEP-ข้อตกลงการค้าเกาหลีใต้
  • อินโดนีเซียเชื่อมโยงระบบชำระเงินกับสิงคโปร์
  • เมียนมาเปิดเสรีโอนเงินเดือนดึงเงินตราต่างประเทศ
  • มาเลเซียเปิดตัวพรีเมียมวีซ่า ดึงนักลงทุนเงินหนา


    รัฐบาลมาเลเซียได้เปิดตัวโครงการวีซ่าพรีเมียมแบบใหม่(Premium Visa Programme:PVIP)เพื่อดึงดูดนักลงทุนที่มีเงินเข้ามาพำนักระยะยาวในเลเซีย ซึ่งคล้ายกับโครงการดึงดูดคนต่างชาติที่มีศักยภาพสูงของสิงคโปร์ ไทย และโปรตุเกส

    นายฮัมซาห์ ไซนุดดิน รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยกล่าวว่า โครงการ Premium Visa (PVIP) จะเปิดรับบุคคลที่มีความมั่งคั่งจากทุกประเทศ ยกเว้นประเทศที่ไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับมาเลเซีย

    แต่จะจำกัดจำนวนไว้ที่ 1% ของประชากรมาเลเซีย เมื่อรวมกับจำนวนผู้เข้าร่วมภายใต้โปรแกรม Malaysia My Second Home (MM2H) และ PVIP ไม่ได้มาแทนโปรแกรม MM2H ที่มุ่งเป้าไปที่ชาวต่างชาติที่เกษียณอายุแล้วที่ต้องการตั้งถิ่นฐานในมาเลเซีย อีกทั้งผู้เข้าร่วมไม่มีสิทธิ์ได้รับสัญชาติ

    โครงการวีซ่า PVIP จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม บุคคลทุกเพศทุกวัยที่มีรายได้นอกมาเลเซียอย่างน้อย 40,000 ริงกิตต่อเดือนหรือ 480,000 ริงกิตต่อปี มีสิทธิ์ยื่นขอ

    ผู้ยื่นขอจะต้องมีเงินในบัญชีธนาคารอย่างน้อย 1 ล้านริงกิตและได้รับอนุญาตให้ถอนได้เพียง 50% หลังจากหนึ่งปีที่ได้วีซ่าสำหรับการซื้อทรัพย์สินหรือเพื่อชำระค่ารักษาพยาบาลและการศึกษา

    ผู้ที่ยื่นขอและผ่านการพิจารณาจะได้รับอนุญาตให้นำคู่สมรส บุตร ผู้ปกครอง สามีและคนรับใช้เข้ามาด้วยได้ ภายใต้กฎหมายคนเข้าเมืองที่มีอยู่

    นายฮัมซาห์กล่าวว่า ผู้ยื่นขอจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมแรกเข้า 200,000 ริงกิต และแต่ละคนจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมแบบจ่ายครั้งเดียว 100,000 ริงกิต ส่วนบุตรของผู้เข้าร่วมโครงการ PVIP ที่มีอายุมากกว่า 21 ปีไม่ถือว่าเป็นผู้ติดตาม และต้องยื่นขอเข้าร่วม PVIP เพื่อพำนักในมาเลเซีย

    นอกจากนี้ผู้ยื่นขอเข้าโครงการและผู้ที่อยู่ในความอุปการะจะต้องส่งหนังสือรับรองความประพฤติจากหน่วยงานของประเทศต้นทางที่พำนักอยู่ในปัจจุบัน

    PVIP มีผล 20 ปี โดยจะต่ออายุได้ทุกๆ 5 ปี ซึ่งรวมถึงการมีหนังสือเดินทางที่ยังไม่หมดอายุ การอัปเดตข้อมูลส่วนบุคคล การตรวจคัดกรองโดยตำรวจ และการตรวจสุขภาพในมาเลเซีย

    ผู้ยื่นเข้าร่วมโครงการและผู้ที่อยู่ในความอุปการะต้องมีประกันสุขภาพด้วย

    สำหรับสิทธิประโยชน์ส่วนหนึ่งของ PVIP ผู้เข้าร่วมจะได้รับอนุญาตให้ซื้ออสังหาริมทรัพย์ (ภายใต้กฎหมายของรัฐ) ศึกษา ลงทุน และดำเนินธุรกิจ

    “กระทรวงมั่นใจว่า PVIP จะดึงดูดมหาเศรษฐีระดับโลก” นายฮัมซาห์กล่าวและว่า รัฐบาลตั้งเป้าผู้เข้าร่วม 1,000 คนในปีแรก ซึ่งจะดึงเงิน 200 ล้านริงกิตเข้าระบบเศรษฐกิจและเงินฝากประจำ 1 พันล้านริงกิต

    “เรายังมั่นใจว่าโครงการนี้สามารถดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่สามารถเสริมสร้างเศรษฐกิจและสร้างงานให้กับชาวมาเลเซีย ความต้องการริงกิตจะเพิ่มขึ้นและค่าของริงกิตก็จะแข็งแกร่งขึ้นด้วย”

    มาเลเซียดึงเงินลงทุน 123.3 พันล้านริงกิตครึ่งแรกปี’65

    ดาโต๊ะ สรี โมฮัมเหม็ด อัสมิน อาลี รัฐมนตรีกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมระหว่างประเทศ มาเลเซีย ที่มาภาพ:https://www.thesundaily.my/home/azmin-m-sia-must-build-stronger-meaningful-bilateral-r-ship-with-saudi-arabia-YF9755221

    มาเลเซียดึงการลงทุนมูลค่า 123.3 พันล้านริงกิตในภาคการผลิต บริการ และภาคหลักจาก 1,714 โครงการที่ได้รับอนุมัติในช่วงครึ่งแรกของปีนี้

    สำนักงานพัฒนาการลงทุนแห่งมาเลเซีย (MIDA) ระบุในแถลงการณ์ว่า การลงทุนดังกล่าวคาดว่าจะสร้างงาน 57,771 ตำแหน่งทั่วประเทศ

    การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) คิดเป็น 70.9% หรือ 87.4 พันล้านริงกิตของการลงทุนทั้งหมด ขณะที่การลงทุนจากแหล่งทุนในประเทศมีสัดส่วน 29.1% หรือ 35.9 พันล้านริงกิต

    ดาโต๊ะ สรี โมฮัมเหม็ด อัสมิน อาลี รัฐมนตรีกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมระหว่างประเทศ (MITI) กล่าวว่า มาเลเซียมาถูกทางแล้วในการดึงโครงการลงทุนคุณภาพสูง มีผลกระทบสูง และต้องใช้เงินทุนสูง โดยภาคบริการเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตที่สำคัญสำหรับเศรษฐกิจและมีสัดส่วนมากสุดในการอนุมัติการลงทุนในครึ่งปีแรก

    “เพื่อรักษาแนวโน้มนี้ MITI จะยังคงเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้วยการพัฒนาความหลากหลายทางเศรษฐกิจ รักษาระบบนิเวศทางอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่งด้วยความเข้มข้นของนวัตกรรม เสริมสร้างการรวมกลุ่มโดยการสร้างงานที่มีรายได้สูง และส่งเสริมโอกาสในการมีส่วนร่วมในห่วงโซ่อุปทานระดับภูมิภาคและระดับโลก

    “ด้วยแรงผลักดันจาก National Investment Aspirations (NIA) เราจะเน้นหนักไปที่ภาคส่วนต่างๆ เช่น เศรษฐกิจดิจิทัล ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เภสัชกรรม เคมี และอวกาศด้วยศักยภาพทางเศรษฐกิจที่สำคัญและการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว”

    ภาคบริการมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจของประเทศ โดยคิดเป็น 63.3% ของการลงทุนที่ได้รับอนุมัติทั้งหมดในจำนวนรวม 78.0 พันล้านริงกิตมาเลเซีย ซึ่งดีกว่าคาดหมายในเดือนมกราคมถึงมิถุนายน 2565 เพราะเพิ่มขึ้น 48.8% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว

    ภาคธุรกิจข้อมูลและการสื่อสารมีสัดส่วนสูงสุดภายใต้ภาคบริการ ด้วยการลงทุนที่ได้รับอนุมัติมูลค่า 53.7 พันล้านริงกิตหรือ 68.8% นอกจากนี้มีโครงการดาต้าเซ็นเตอร์ 3 โครงการได้รับการอนุมัติด้วยเงินลงทุนรวม 51.1 พันล้านริงกิต

    ภาคการผลิตได้รับเงินลงทุนสูงเป็นอันดับสองในจำนวน 43.1 พันล้านริงกิตหรือ 34.9% โดยโครงการเด่นที่ได้รับอนุมัติในภาคการผลิตในครึ่งปีแรก ได้แก่ OSRAM Group และ Petroventure Energy Sdn Bhd

    การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศคิดเป็น 70.9% ของการลงทุนที่ได้รับอนุมัติทั้งหมดมูลค่า 87.4 พันล้านริงกิต

    จากการลงทุนทั้งหมดที่ได้รับการอนุมัติ โดยที่สาธารณรัฐประชาชนจีนครองการลงทุนจากต่างประเทศสูงสุดด้วยเงินลงทุนรวม 48.6 พันล้านริงกิต ตามมาด้วยเยอรมนี (9.0 พันล้านริงกิต) สิงคโปร์ (6.0 พันล้านริงกิต) บรูไน (5.1 พันล้านริงกิต) และเนเธอร์แลนด์ (4.1 พันล้านริงกิต)

    สำหรับโครงการที่ได้รับอนุมัติจากรัฐ MIDA ระบุว่า 5 รัฐหลัก ได้แก่ ยะโฮร์ สลังงอร์ ซาบาห์ เคดาห์ และปูเลาปีนัง มีเงินลงทุนรวม 103.5 พันล้านริงกิตหรือะ 83.9% ของการลงทุนทั้งหมดที่อนุมัติ

    อินโดนีเซียให้สัตยาบันข้อตกลงการค้า RCEP-ข้อตกลงการค้าเกาหลีใต้

    ที่มาภาพ: https://rcepsec.org/
    รัฐสภาอินโดนีเซียได้อนุมัติข้อตกลงการค้าที่สำคัญ 2 ฉบับเมื่อวันอังคาร(27 ส.ค.)ที่ผ่านมา โดยได้ให้สัตยาบันการเป็นสมาชิกของความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership:RCEP) และให้ความเห็นชอบข้อตกลงการค้าทวิภาคีกับเกาหลีใต้

    การให้สัตยาบันข้อตกลง RCEP นั้นเป็นดำเนินการตามอาเซียนส่วนใหญ่ที่เข้าร่วม RCEP ซึ่งเป็นกลุ่มการค้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก

    นายซุลกีฟลิ ฮะซัน รัฐมนตรีกระทรวงการค้าอินโดนีเซีย กล่าวว่า RCEP จะกระตุ้นการค้า การลงทุนโดยตรง และเพิ่มการเติบโตของ GDP ของประเทศ 0.07%

    “เรามองว่าข้อตกลงนี้เป็นทางด่วนเข้าสู่ตลาดโลก และถึงเวลาแล้วที่อินโดนีเซียจะต้องบุกตลาดต่างประเทศ” นายฮะซันชี้แจงกับฝ่ายนิติบัญญัติ

    RCEP ครอบคลุมเกือบ 1 ใน 3 ของประชากรโลกและประมาณ 30% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศรวมกัน ที่ได้รับการเห็นชอบจากผู้นำของ 15 ประเทศในเอเชียแปซิฟิกในเดือนพฤศจิกายน 2563 แต่ไม่รวมสหรัฐอเมริกา

    RCEP มีผลบังคับใช้ในเดือนมกราคมปีนี้ หลังจากที่ 7 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น และนิวซีแลนด์ ให้สัตยาบันเมื่อปีที่แล้ว

    ส่วนข้อตกลงทางการค้ากับเกาหลีใต้มีเป้าหมายเพื่อดึงดูดการลงทุนเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ในประเทศซึ่งประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ตั้งเป้าหมายไว้กับบริษัทต่างๆ เช่น เทสลา รวมถึงกลุ่มต่างๆจากจีนจำนวนมากที่มองหาแหล่งนิกเกิลเพื่อการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าหรือ EV จากอินโดนีเซีย

    ภายใต้ข้อตกลงกับเกาหลีใต้ จาการ์ตาและเกาหลีใต้จะยกเลิกรายการภาษีมากกว่า 92% และ 95% ตามลำดับ

    อินโดนีเซียจะให้สิทธิพิเศษทางภาษีเพื่อสนับสนุนการลงทุนของเกาหลีในด้านต่างๆ ตั้งแต่รถยนต์ไปจนถึงเครื่องนุ่งห่ม กระทรวงการค้าของอินโดนีเซียระบุในแถลงการณ์หลังการลงนามในข้อตกลงในปี 2020

    ปัจจุบันบริษัทของเกาหลีใต้ เช่น Hyundai Motor และ LG Energy Solution เป็นหนึ่งในผู้ลงทุนรายใหญ่ในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ในอินโดนีเซีย เพื่อใช้ประโยชน์จากปริมาณนิกเกิลสำรองที่มีมหาศาลของอินโดนีเซีย

    อินโดนีเซียเชื่อมโยงระบบชำระเงินกับสิงคโปร์

    ที่มาภาพ: https://www.bi.go.id/en/publikasi/ruang-media/news-release/Pages/sp_2423322.aspx

    เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2565 ธนาคารกลางอินโดนีเซีย และธนาคารกลางสิงคโปร์ ได้ประกาศ การเชื่อมโยงการชำระเงินด้วย QR Codeข้ามแดนระหว่างอินโดนีเซียและสิงคโปร์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการในการเชื่อมโยงการชำระเงินทั่วทั้งอาเซียน โดยมีเป้าหมายที่จะเปิดตัวในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 ซึ่งจะช่วยให้ผู้ใช้ชำระเงินสำหรับธุรกรรมที่ร้านค้าได้ทันที ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพโดยการสแกน QRIS (Quick Response Code Indonesian Standard) หรือรหัส NETS QR ที่แสดงโดยผู้ค้า

    การเชื่อมโยงการชำระเงินระหว่างอินโดนีเซียและสิงคโปร์จะช่วยให้บุคคลทั่วไปและธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (MSMEs) ทำการค้าข้ามแดน อีคอมเมิร์ซ และกิจกรรมทางการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ยังจะสนับสนุนการเติบโตการท่องเที่ยวเมื่อการเดินทางระหว่างประเทศกลับมาอีกครั้ง ทั้งนี้มีนักท่องเที่ยวจำนวนมากเดินทางระหว่างสองประเทศ โดย 1.9 ล้านคนเดินทางจากสิงคโปร์เข้าอินโดนีเซียและ 3.1 ล้านคนที่เดินทางจากอินโดนีเซียมาสิงคโปร์

    การเชื่อมโยงด้วย QR CODE นี้เกิดขึ้นได้ด้วยความร่วมมือของตัวแทนอุตสาหกรรมจากทั้งสองประเทศภายใต้การดูแลร่วมกันของ BI และ MAS ซึ่งรวมถึงสมาคมระบบการชำระเงินของอินโดนีเซีย (ASPI), RAJA (Rintis, Artajasa, Jalin และ Alto) และ NETS

    BI และ MAS ยังได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) นี้เพื่อส่งเสริมการใช้สกุลเงินท้องถิ่นในการทำธุรกรรมทวิภาคี เช่น การค้าและการลงทุนโดยตรง ซึ่งสอดคล้องกับการขับเคลื่อนการเชื่อมโยงทางการเงินของอาเซียน เพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้สกุลเงินท้องถิ่นในวงกว้างในการชำระเงินการค้าและการลงทุนภายในอาเซียน ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจลดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนและต้นทุนในการทำธุรกรรมทวิภาคีลดลง

    นายเพอร์รี่ วาร์จิโย ผู้ว่าการ BI กล่าวว่า “ในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งประธาน G20 ของอินโดนีเซียในปี 2565 และการประชุมผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียนในเดือนเมษายน 2565 การชำระเงินแบบดิจิทัลและการชำระเงินข้ามพรมแดนถือเป็นวาระสำคัญ การเชื่อมโยงการชำระเงินข้ามแดนผ่านการเชื่อมโยง QR code ของประเทศสำหรับการชำระเงินระหว่างสองประเทศ ถือเป็นอีกก้าวสำคัญของแผนงานระบบการชำระเงินของอินโดนีเซียปี 2025(Indonesian Payment System Blueprint 2025) และยังผสานกรอบการชำระเงินข้ามแดนเข้ากับกรอบการทำงานเพื่อส่งเสริมการใช้สกุลเงินท้องถิ่น ทำให้มีทางเลือกมากขึ้นสำหรับผู้ใช้ในการทำธุรกรรมการชำระเงินระหว่างประเทศ และเป็นส่วนสำคัญในการปรับปรุงประสิทธิภาพการทำธุรกรรม ส่งเสริมเศรษฐกิจและการเงินดิจิทัลอย่างทั่วถึง และเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจมหภาคด้วยการส่งเสริมการใช้สกุลเงินท้องถิ่นในการทำธุรกรรมทวิภาคีให้กว้างขวางยิ่งขึ้น ธนาคารอินโดนีเซียเชื่อว่าการริเริ่มนี้เป็นก้าวสำคัญในการเสริมสร้างความร่วมมือทางการเงินระดับทวิภาคีระหว่างสิงคโปร์และอินโดนีเซีย”

    ด้านนาย รวี เมนอน กรรมการผู้จัดการของ MAS กล่าวว่า “การเชื่อมโยงการชำระเงินด้วย QR Code ของ QRIS-NETS เป็นก้าวสำคัญในเป้าหมายของอาเซียนในการพัฒนาการชำระเงินที่เชื่อมโยงระดับภูมิภาคภายในปี 2568 และสนับสนุนระเบียงการค้าข้ามแดนที่คึกคักภายในภูมิภาค การเชื่อมโยงนี้ยังสอดคล้องกับความพยายามของ G20 ในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่มีอยู่ในการชำระเงินระหว่างประเทศทั่วโลก และสนับสนุนการฟื้นตัวและการเติบโตทางเศรษฐกิจหลังเกิดโรคระบาด การลงนามในบันทึกความเข้าใจเพื่อส่งเสริมการใช้สกุลเงินท้องถิ่นสำหรับการทำธุรกรรมทวิภาคีจะช่วยเสริมการเชื่อมโยงการชำระเงินด้วยQR Code ของ QRIS-NETS เนื่องจากจะช่วยอำนวยความสะดวกในการชำระธุรกรรมทวิภาคีระหว่างสิงคโปร์และอินโดนีเซียในสกุลเงินท้องถิ่นของแต่ละประเทศ”

    เวียดนามเปิดใช้ทางด่วนชนพรมแดนจีน

    ที่มาภาพ: https://e.vnexpress.net/news/news/expressway-between-ha-long-bay-and-china-border-opens-4506438.html

    รัฐบาลเวียดนามได้เปิดใช้ทางด่วน วัน ด่อง- หม่อง ก๋าย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางด่วนฮา ลองเบย์ ที่มีความยาว 176 กิโลมตร ไปสิ้นสุดที่เมืองหม่อง ก๋าย ตรงชายแดนติดกับจีน เมื่อวันที่ 1 กันยายน

    ทางด่วนสาย วัน ด่อง- หม่อง ก๋าย มีความยาว 80 กิโลเมตร ข้ามจังหวัดกว๋างนิญทางตอนเหนือ เชื่อมเขตเศรษฐกิจวัน ด่งและเมืองหม่อง ก๋าย ที่มีพรมแดนติดกับจีน ทางด่วนสายนี้เชื่อมต่อกับทางด่วนอีก 2 เส้นในกว๋างนิญ คือช่วงบัก ดัง – ได่ เยีน (25 กิโลเมตร) และ ฮาลอง-วัน ด่ง (71.2 กิโลเมตร) ส่งผลให้กว๋างนิญเป็นจังหวัดที่มีทางด่านพาดผ่านยาวที่สุด 176 กิโลเมตรและ เชื่อมฮาลอง เบย์ กับหม่อง ก๋ายตรงชายแดนจีน

    เส้นทางที่มีระยะทางทั้งหมด 176 กิโลเมตรนี้เมื่อเชื่อมต่อกับทางด่วนฮานอย – ฮาลอง ที่มีระยะทาง 300 กิโลเมตร และทางด่วนนอยไบ- หล่าวกาย ระยะทาง 264 กิโลเมตรแล้ว ก็จะกลายเป็นเส้นทางที่ยาวที่สุดในประเทศ

    นายกรัฐมนตรี ฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ กล่าวในพิธีเปิดใช้ทางด่วนในเช้าวันพฤหัสบดี (1 ก.ย.) ว่า ทางด่วนวัน ด่อง- หม่อง ก๋ายมีส่วนในการยกระดับการเชื่อมต่อของสามท้องที่ของกรุงฮานอย ทางตอนเหนือของเมืองท่าไฮ ฟอง และกว๋างนิญ ซึ่งเป็นที่ตั้งของอ่าวฮาลองซึ่งเป็นมรดกโลก

    ทางด่วนวัน ด่ง- หม่อง ก๋าย จะทำให้การเดินทางจากเขตเศรษฐกิจวัน ด่อง ไปยังหม่อง ก๋ายตรงชายแดนสั้นลงเหลือ 50 นาที จาก 2 ชั่วโมง และจะช่วยลดเวลาการเดินทางจากฮานอยไปยังเมืองหม่อง ก๋าย เหลือ 3 ชั่วโมงจากเดิม 5.5 ชั่วโมง

    ทางด่วนเริ่มก่อสร้างในเดือนเมษายน 2562 ในรูปแบบการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) ในวงเงิน 11.2 ล้านล้านด่อง (484.76 ล้านดอลลาร์)

    ทางด่วนในช่วงวัน ด่อง-เตี่ยน เยีน จะไม่เก็บค่าผ่านทาง เนื่องจากสร้างจากงบประมาณของรัฐ แต่ช่วงเตี่ยน เยิน-หม่องก๋ายมีค่าผ่านทาง ตั้งแต่ 132,000 ถึง 512,000 ด่อง

    เมียนมาเปิดเสรีโอนเงินเดือนดึงเงินตราต่างประเทศ

    ธนาคารกลางเมียนมา ที่มาภาพ: The Global New Light of Myanmar
    ธนาคารกลางแห่งเมียนมา (CBM) ได้ออกประกาศว่า พลเมืองเมียนมาในต่างประเทศที่อาจได้รับค่าจ้างหรือเงินเดือนเป็นเงินสกุลต่างประเทศนั้น สามารถโอนเงินเดือนของตนเองกลับเข้าประเทศผ่านธนาคารที่ได้รับอนุญาต เพื่อการใช้จ่ายของตัวเอง หรือให้กับผู้อื่น หรือขายให้กับธนาคารโดยอย่างเสรี

    CBM กล่าวว่าได้ออกประกาศ (ฉบับที่ 39/2022) โดยใช้อำนาจภายใต้มาตราย่อย (b) ของมาตรา 49 ของกฎหมายการบริหารจัดการการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ

    อย่างไรก็ตาม ประกาศดังกล่าวระบุว่า บุคคล บริษัท หรือองค์กรที่ซื้อค่าจ้างหรือเงินเดือนดังกล่าวจะไม่ได้รับอนุญาตให้ขายต่อ แต่สามารถนำไปใช้จ่ายและขายให้กับธนาคารที่ได้รับอนุญาตได้อย่างเสรี ดังนั้นระยะเวลาตั้งแต่เงินตราต่างประเทศไหลเข้าสู่ธนาคารที่ได้รับใบอนุญาต จนขายได้จะไม่เกิน 21 วัน

    ประกาศนี้นี้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2565