ThaiPublica > สู่อาเซียน > “ภาพยนตร์”… Soft Power ที่กำลังถูกพัฒนาอย่างจริงจังในลาว

“ภาพยนตร์”… Soft Power ที่กำลังถูกพัฒนาอย่างจริงจังในลาว

30 มิถุนายน 2023


ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน

ทีมงานสร้าง The Signal ได้รับการแนะนำตัวบนเวทีก่อนภาพยนตร์ถูกฉายในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเซี่ยงไฮ้ 2023 เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2566 ที่มาภาพ : เพจ “ผู้กำกับ รับจ้าง / Director Lee”

The Signal เป็นภาพยนตร์สัญชาติลาว ที่ถูกเลือกเป็นตัวแทนภาพยนตร์จากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้เข้าฉายในรอบ World Premier ในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเซี่ยงไฮ้ (Shanghai International Film Festival 2023)ซึ่งจัดขึ้นที่นครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 9-18 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา

ภาพยนตร์เรื่องนี้ สร้าง เขียนบท และกำกับ โดย “ลี พงสะหวัน” ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวลาว ที่ต้องใช้เวลาถ่ายทำนานเกือบ 3 ปี เริ่มเปิดกล้องเมื่อปี 2563 และเพิ่งปิดกล้องไปเมื่อปลายปี 2565 จากสาเหตุที่ระหว่างถ่ายทำ ได้เกิดการระบาดของโควิด-19 ทำให้กระบวนการต้องหยุดชะงักเป็นช่วง ๆ ไม่สามารถถ่ายทำได้อย่างต่อเนื่อง บางช่วงต้องหยุดยาวไปถึง 5 เดือน

The Signal เป็นเรื่องของเด็กผู้หญิงจากต่างแขวงคนหนึ่งที่ขาดการติดต่อกับพ่อ เธอจึงได้เดินทางเข้ามาตามหาพ่อในเมืองใหญ่ โดยได้มาอาศัยอยู่กับน้าชายซึ่งเป็นลูกจ้างทำงานบ้านอยู่ในบ้านใหญ่หลังหนึ่ง ระหว่างที่ใช้เวลาตามหาพ่อ เธอได้ประสบกับเรื่องราวต่างๆ มากมาย หลากหลายรสชาติ…

ลี พงสะหวัน ที่มาภาพ : https://laox.la/en/the-signal

ลี พงสะหวัน ผู้กำกับ The Signal เคยเป็นแดนเซอร์ แต่เขามีความสนใจงานด้านภาพยนตร์ เริ่มทดลองทำหนังสั้นเรื่องแรกของตนเองเมื่อปี 2556 และเมื่อส่งเข้าประกวดภาพยนตร์สั้นของลาว ก็ได้รับรางวัลทันที จากนั้นจึงค่อยๆ เริ่มพัฒนาผลงาน จนก้าวขึ้นมาทำภาพยนตร์เรื่องยาว ในการสร้าง The Signal ลี พงสะหวัน ทั้งหาทุน เขียนบท คัดเลือกตัวแสดง และกำกับการแสดงด้วยตนเอง รวมถึงตัดต่อเองด้วยในช่วงแรก

แฮนน่า โรสเซ็นบรูม หรือ “แฮนน่า 4EVE” สาวลูกครึ่งลาว-อเมริกัน ดีกรีรองอันดับ 2 Miss Teen Laos 2019 เป็นนักแสดงนำใน The Signal ปัจจุบันแฮนน่าเป็น 1 ใน 7 สมาชิกวง 4EVE เกิร์ลกรุ๊ปไทย สังกัดค่าย XOXO ในเครือเวิร์คพอยท์

แฮนน่า โรสเซ็นบรูม หรือ “แฮนน่า 4EVE” นักแสดงนำหญิงใน The Signal ที่มาภาพ : เพจ “ผู้กำกับ
รับจ้าง / Director Lee”
บทความจาก The Hollywood Reporter นิตยสารจากสหรัฐอเมริกา ที่เขียนให้ The Signal เป็น 1 ใน 5 ภาพยนตร์ที่ต้องชมในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเซี่ยงไฮ้ 2023

ในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเซี่ยงไฮ้ 2023 The Signal ได้รับแรงเชียร์จาก The Hollywood Reporter นิตยสารจากสหรัฐอเมริกา ให้เป็น 1 ใน 5 ภาพยนตร์ที่ต้องชม นอกจากนี้ ตัวภาพยนตร์เองยังถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล Best Film ในสาขา The Asian New Talent ลี พงสะหวัน ได้รับเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล Best Director และ แฮนน่า โรเซ็นบรูม ได้รับเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล Best Actress ในสาขาเดียวกันอีกด้วย

บทบาทของแฮนน่า โรสเซ็นบรูมในภาพยนตร์ The Signal ที่มาภาพ : เพจ “ผู้กำกับ รับจ้าง / Director Lee”

ปัจจุบัน The Signal ยังไม่ได้ฉายในโรงภาพยนตร์ของลาว ลี พงสะหวัน ให้สัมภาษณ์ไว้กับเพจ Pineapple Chit Chat เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2566 ว่า เขาตั้งใจจะนำ The Signal มาฉายให้คนลาวได้ชมในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้…

The Signal ไม่ใช่ภาพยนตร์ลาวเรื่องแรกที่ออกไปสร้างชื่อเสียงในต่างประเทศ ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2565 ชุมชนออนไลน์ในลาว ได้พร้อมใจกันโพสต์แสดงความยินดี ที่ Netflix เครือข่ายบริการสตรีมมิงภาพยนตร์และซีรีส์แบบสมัครสมาชิก ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดเครือข่ายหนึ่ง ได้บรรจุภาพยนตร์เรื่อง “The Long Walk (2019) บ่มีวันจาก” ไว้ในโปรแกรมภาพยนตร์ใหม่สำหรับเดือนนั้น โดยเริ่มฉายครั้งแรกในวันที่ 15 สิงหาคม 2565 “The Long Walk (2019) บ่มีวันจาก” ถือเป็นภาพยนตร์สัญชาติลาวเรื่องแรกที่ได้มีโอกาสได้ฉายใน Netflix

โพสต์ในสื่อออนไลน์ของลาวเมื่อต้นเดือนสิงหาคม 2565 แสดงความยินดีที่ภาพยนตร์ “The Long Walk(2019) บ่มีวันจาก” ถูกบรรจุเข้าฉายใน Netflix

“The Long Walk (2019) บ่มีวันจาก” เป็นผลงานการกำกับของแมตตี โด (Mattie Do) ผู้กำกับหญิงชาวลาว เป็นหนังแนวไซไฟ ลึกลับ สยองขวัญ เนื้อเรื่องกล่าวถึงชายชราผู้หนึ่งที่มีญาณพิเศษ สามารถสื่อสารกับวิญญาณได้ เขาได้รับการติดต่อจากเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ห่างไกลแห่งหนึ่งของลาว ให้ไปช่วยในคดีการหายตัวไปของหญิงสาวรายหนึ่ง แต่ในการสืบคดี ทำให้เขาต้องพบกับปริศนาดำมืดที่ถูกเก็บงำไว้เป็นเวลานานกว่า 50 ปี

ภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกฉายครั้งแรกในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ ครั้งที่ 76 จากนั้น ยังถูกนำไปฉายในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโทรอนโต เมื่อปี 2562 ต่อมาได้ฉายในประเทศไทย และได้รับเสียงชื่นชมจากนักวิจารณ์ของไทยมากพอสมควร

……

โปสเตอร์ภาพยนตร์ “สะบายดีหลวงพระบาง” ที่มาภาพ : วิกิพีเดีย

หากนับจุดเริ่มต้นจากความสำเร็จของภาพยนตร์เรื่อง “สะบายดีหลวงพระบาง” เมื่อปี 2551 อุตสาหกรรมภาพยนตร์ของลาวเพิ่งเริ่มการพัฒนาอย่างจริงจังได้ไม่ถึง 20 ปีมานี้เอง ข้อมูลจากวิกิพีเดีย ระบุว่า “สะบายดีหลวงพระบาง” เป็นความร่วมมือและการร่วมทุนกันระหว่างผู้สร้างภาพยนตร์ไทยกับลาว ได้แก่ บริษัท สปาต้า ครีเอทีฟ และบริษัท ลาวอาร์ต มีเดีย ถือเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกของภาคเอกชนลาวในรอบ 33 ปี ตั้งแต่ลาวได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 2518

“สะบายดีหลวงพระบาง” กำกับการแสดงโดย ศักดิ์ชาย ดีนาน และอนุสอน สิริสักดา นำแสดงโดย อนันดา เอเวอร์ริ่งแฮม และนางเอกสาวชาวลาว คำลี่ พิลาวง ใช้เวลาถ่ายทำ 13 วัน ในแขวงหลวงพระบาง นครหลวงเวียงจันทน์ และแขวงจำปาสัก

ส่วนหนึ่งของผู้สร้างภาพยนตร์ลาวที่ได้รับการสนับสนุนจาก Blue Chair ปีนี้ ในภาพ(ซ้าย) กองจัน เพียนนาจิด และ(ขวา) มิดปะซา สิดทิฮักปันยา จากภาพยนตร์เรื่อง “ผู้รู้เห็น”
ที่มาภาพ : เพจ Blue Chair

“สะบายดีหลวงพระบาง” ฉายในประเทศไทยครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2551 ทำรายได้สัปดาห์แรก 5.4 ล้านบาท และสามารถทำรายได้รวมตลอดทั้งโปรแกรม 11 ล้านบาท แต่ความสำเร็จที่ไม่ได้เป็นตัวเงินจาก “สะบายดีหลวงพระบาง” คือ การกระตุ้นให้คนไทยจำนวนมากอยากเดินทางเข้าไปเที่ยวในลาว โดยเฉพาะที่เมืองมรดกโลกหลวงพระบาง และทำให้มีการสร้างภาค 2 “สะบายดี 2 ไม่มีคำตอบจาก…ปากเซ” ซึ่งฉายในประเทศครั้งแรกไทยเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2553

แก้ว ย่าง(ซ้าย) สาวชาวม้ง ผู้ได้รับทุนสนับสนุนเพื่อสร้างสารคดีสั้นเรื่อง“หิน – จิตวิญญาณแห่งบรรพบุรุษ” ที่มาภาพ : เพจ Blue Chair

1 ปีเศษ หลังกระแสตอบรับอย่างเป็นรูปธรรมที่คนลาวมอบให้แก่ภาพยนตร์ “สะบายดีหลวงพระบาง” มีความเคลื่อนไหวที่เป็นก้าวย่างสำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของลาวเกิดขึ้นตามมา นั่นคือ การจัดเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ “หลวงพระบาง ฟิล์ม เฟสติวัล”(Luang Prabang Film Festival หรือ LPFF) ซึ่งจัดขึ้นครั้งแรกระหว่างวันที่ 4-11 ธันวาคม 2553 มีภาพยนตร์ประมาณ 30 เรื่องจาก 10 ประเทศอาเซียนมาฉายในเทศกาลนี้

“หลวงพระบาง ฟิล์ม เฟสติวัล” เป็นกิจกรรมที่จุดประกายขึ้นโดยกาเบรียล คูเปอร์แมน (Gabriel Kuperman) ชาวอเมริกันที่เคยคลุกคลีอยู่กับวงการภาพยนตร์ในสหรัฐอเมริกา โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐของลาว องค์กรระหว่างประเทศ ตลอดจนผู้สร้างภาพยนตร์หลายแห่งในกลุ่มประเทศอาเซียน

เนื่องจากเป็นการจัดฉายภาพยนตร์กลางแจ้ง ท่ามกลางอากาศหนาวเย็น ในเมืองมรดกโลกที่เต็มไปด้วยทิวทัศน์สวยงาม สถานที่ ตึกรามบ้านช่องที่แฝงไว้ด้วยประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ทำให้ “หลวงพระบาง ฟิล์ม เฟสติวัล” เป็นกิจกรรมที่ได้รับความนิยมสูงมาก และได้รับการบรรจุเข้าเป็นโปรแกรมท่องเที่ยวหลักของเมืองหลวงพระบาง ที่นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกประสงค์จะเดินทางมาชมเป็นประจำทุกปี แต่อาจมีเว้นบ้างในปี 2564 ช่วงที่เกิดการระบาดหนักของโควิด-19 จนลาวต้องปิดประเทศ

“Blue Chair” องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมภาพยนตร์ลาว ในกิจกรรมที่ใช้ชื่อว่า “กองทุนนักสร้างรูปเงาลาว” (Lao Filmmakers Fund หรือ LFF) โดย Blue Chair ทำหน้าที่เป็นแหล่งกลางจัดสรรเงินช่วยเหลือที่ได้รับมาจากองค์กรหลายแห่ง ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อนำมามอบเป็นทุนสบทบให้แก่ผู้สร้างภาพยนตร์ชาวลาว ที่มีโครงการสร้างภาพยนตร์น่าสนใจและเป็นประโยชน์ โดยไม่จำกัดว่าผู้สร้างรายนั้นเป็นหน้าเก่าหรือหน้าใหม่

Blue Chair เริ่มมอบทุนให้แก่ผู้สร้างภาพยนตร์ลาวครั้งแรกในปี 2556 มีโครงการสร้างภาพยนตร์ที่ได้รับทุนสบทบรวม 2 โครงการ จากนั้นก็มีการมอบทุนให้อย่างต่อเนื่องมาเกือบทุกปี

มิสุดา เฮืองสุกคุน(ซ้าย) กับ พอนสะหวัน แสงพะจัน(ขวา) ผู้ได้รับทุนสนับสนุนสร้างภาพยนตร์สั้นเรื่อง “เสียงของความเงียบ” ที่บอกเล่าเรื่องราวของ LGBTQ ที่มาภาพ : เพจ Blue Chair

ปี 2557-2558 มีโครงการได้รับทุนจาก Blue Chair ปีละ 2 โครงการ ปี 2559 โครงการที่ได้รับทุนสมทบจาก Blue Chair เพิ่มเป็น 4 โครงการ ปี 2561 มีโครงการได้รับทุนสมทบ 3 โครงการ ปี 2562 มีโครงการได้รับทุน 4 โครงการ ปี 2563 จำนวนโครงการที่ได้รับทุนเริ่มเพิ่มขึ้นเป็น 7 โครงการ และปี 2564 โครงการที่ได้รับทุนมีถึง 11 โครงการ

The Signal ภาพยนตร์ตัวแทนจากลาว ที่เพิ่งนำไปฉายในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเซี่ยงไฮ้ เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2566 ซึ่งสร้างและกำกับการแสดงโดย ลี พงสะหวัน ก็เป็น 1 ใน 4 โครงการที่ได้รับการสนับสนุนทุนสมทบในการสร้างจาก Blue Chair เมื่อปี 2562 โดยก่อนหน้านั้น เมื่อปี 2557 ลี พงสะหวัน เคยได้รับการสนับสนุนจาก Blue Chair ในการสร้างสารคดีสั้น เรื่อง Motion of Life มาแล้วครั้งหนึ่ง

ล่าสุด เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2566 Blue Chair เพิ่งประกาศรายชื่อโครงการสร้างภาพยนตร์ที่ได้รับทุนสบทบในปีนี้ว่ามีทั้งสิ้น 9 โครงการ ประกอบด้วย

  • สารคดีสั้นเรื่อง “ผู้สืบทอดหัตถศิลป์แห่งล้านช้าง” หรือ Heir to the Artisanship of Lane Xang สร้างโดยนบพะวีน จิดตะสี
  • สารคดียาวเรื่อง “ต้นไม้โลงเลง” หรือ 100 Years of Taiwania สร้างโดย ติ่ง วือ
  • สารคดีสั้นเรื่อง “ข้าวเปียกกกสมสา” หรือ Khaopiek Koksomsa สร้างโดย คำพัด เฮอ
  • ภาพยนตร์สั้นเรื่อง “รักจากกลางเมือง” หรือ Love From the City สร้างโดย สุกจินดา ดวงพะจัน
  • สารคดีสั้นเรื่อง “บันทึกศิลป์” หรือ My Art Diary สร้างโดย ปะกอนคำ บัวเหล็ก
  • ภาพยนตร์สั้นเรื่อง “ฝุ่น PM 2.5” หรือ PM 2.5 สร้างโดย หัดถุนา มะนีวงสี
  • สารคดีสั้นเรื่อง “หิน – จิตวิญญาณแห่งบรรพบุรุษ” หรือ The Rock – The Spirit of Our Ancestors สร้างโดยแก้ว ย่าง กับ คำหล้า เหลา
  • ภาพยนตร์สั้นเรื่อง “เสียงของความเงียบ” หรือ The Sound from the Silent World สร้างโดย มิสุดา เฮืองสุกคุน กับ พอนสะหวัน แสงพะจัน
  • ภาพยนตร์สั้นเรื่อง “ผู้รู้เห็น” หรือ The Witness สร้างโดย กองจัน เพียนนาจิด กับ มิดปะซา สิดทิฮักปันยา
  • นอกจากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติหลวงพระบาง และการให้ทุนสมทบสนับสนุนนักสร้างภาพยนตร์ในลาวของ Blue Chair แล้ว องค์กรระหว่างประเทศอีกหลายแห่ง ก็ได้เข้ามามีส่วนร่วมกับกระบวนการพัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของลาว เช่น

  • Swiss Cooperation Mekong และ สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษ ประจำ สปป.ลาว ซึ่งเป็น 2 องค์กรที่สนับสนุนเงินทุนให้กับ Blue Chair อยู่แล้ว และยังได้ร่วมกับ Blue Chair จัดเวิร์กชอปให้กับผู้สนใจ โดยล่าสุดเพิ่งจัดแนะนำการหาไอเดีย การเขียนบท การพัฒนาบทภาพยนตร์ ไปเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2566
  • Japan Foundation เตรียมจัดประกวด Animation และวิดีโอสั้น ระดับอาเซียน ครั้งที่ 4 ในลาว โดยกำลังเปิดให้ผู้สนใจส่งผลงานเข้าประกวดภายในวันที่ 1 สิงหาคม 2566
  • กองทุนความร่วมมืออาเซียน-เกาหลี เตรียมจัดอบรมนักสร้างภาพยนตร์อาเซียน-เกาหลี ประจำปี 2023 (FLY 2023) ระหว่างวันที่ 1-14 พฤศจิกายน 2566 ที่ประเทศเวียดนาม และกำลังเปิดรับสมัครผู้สร้างภาพยนตร์ชาวลาวอยู่ในขณะนี้
  • ……

    ทุกวันนี้ ลาวกำลังเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจอย่างรุนแรง โดยเฉพาะวิกฤติการณ์ทางการเงินที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง มาตั้งแต่ช่วงปิดประเทศเพื่อป้องกันการระบาดของโควิด-19 เมื่อปี 2564 ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ ขาดแคลนเงินตราต่างประเทศ โดยเฉพาะดอลลาร์สหรัฐอเมริกา ค่าเงินกีบตกต่ำอย่างรุนแรงฯลฯ

    ด้วยข้อจำกัดในตำแหน่งที่ตั้งของประเทศ ที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล เป็นประเทศผู้นำเข้าสินค้า โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภคเป็นหลัก หนทางหนึ่งที่จะทำให้ลาวได้มาซึ่งเงินตราต่างประเทศ ก็คือการท่องเที่ยว ซึ่งลาวเป็นประเทศที่มีศักยภาพทางด้านนี้สูงมาก

    ภาพยนตร์ลาวถือเป็นซอฟต์พาวเวอร์อย่างหนึ่ง ที่มีส่วนสำคัญในการสร้างความสนใจของชาวต่างชาติที่มีต่อประเทศลาว กระตุ้นให้เกิดความต้องการเดินทางเข้ามาเที่ยวในลาว กระบวนการพัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของลาว ที่กำลังเดินหน้าอย่างขมักเขม้นอยู่ในขณะนี้ จึงน่าจะเป็นแนวทางระยะยาวสำหรับการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ที่เริ่มต้นขึ้นอย่างถูกจังหวะ…


    ฟื้นประเพณี…กระตุ้นเศรษฐกิจ “หลวงพระบาง”

    “มรดกลาว-มรดกโลก” อีกหนึ่งแนวทางฟื้นเศรษฐกิจ “ลาว”

    ฟื้นวิถีเก่า “เมืองคันทะบูลี” ด้วย Street Art