ThaiPublica > สู่อาเซียน > ฟื้นวิถีเก่า “เมืองคันทะบูลี” ด้วย Street Art

ฟื้นวิถีเก่า “เมืองคันทะบูลี” ด้วย Street Art

9 มกราคม 2023


ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน

วิถีดั้งเดิมในอดีต ที่ปัจจุบันบางพื้นที่อาจไม่มีให้เห็นแล้ว กำลังถูกปลุกให้กลับฟื้นชีวิตชีวาขึ้นมาอีกครั้ง จากงาน Street Art ในนครไกสอน พมวิหาน แขวงสะหวันนะเขต ที่มาภาพ : เพจ APA INC

“คันทะบูลี” เป็นชื่อเดิมของนคร “ไกสอน พมวิหาน” เมืองเอกของแขวงสะหวันนะเขต ภาคกลางของ สปป.ลาว ในปัจจุบัน เป็นเมืองริมแม่น้ำโขงที่อยู่ตรงข้ามกับอำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร ของประเทศไทย

วันที่ 13 ธันวาคม 2548 รัฐบาลลาวได้เปลี่ยนชื่อเมืองคันทะบูลีเป็นเมืองไกสอน พมวิหาน เพื่อเป็นเกียรติแก่ลุง “ไกสอน พมวิหาน” อดีตเลขาธิการใหญ่คนแรกของพรรคประชาชนปฏิวัติลาว นายกรัฐมนตรีคนแรกของ สปป.ลาว และอดีตประธานประเทศลาว ซึ่งเป็นชาวสะหวันนะเขต และต่อมาได้ประกาศยกฐานะจากเมืองขึ้นเป็น “นครไกสอน พมวิหาน” เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2561

สะหวันนะเขตมีบทบาทสำคัญในยุคที่ลาวตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส โดยฝรั่งเศสได้มาตั้งศูนย์กลางการปกครองภาคกลางของลาวไว้ที่นี่

ในสะหวันนะเขต ประกอบด้วยผู้คนที่หลากหลาย ทั้งชาวลาว ซึ่งมีทั้งลาวลุ่ม ลาวเทิง ชาวเวียดนาม ชาวจีน ในในเขตเมืองเก่าของนครไกสอน พมวิหาน มีโบสถ์คาทอลิกเซนต์เทเรซา ที่คนในพื้นที่เรียกสั้นๆว่าโบสถ์คริสต์ ศูนย์รวมจิตใจของชาวลาวเชื้อสายเวียดนามที่นับถือศาสนาคริสต์ ตั้งอยู่ติดกับโรงเรียนจุงเต้ก โรงเรียนจีนเก่าแก่ขนาดใหญ่ ที่เปิดหลักสูตรการเรียนการสอนภาษาจีน โดยมีเพียงตรอกเล็กๆคั่นเอาไว้

ตลอด 2 ข้างทางริมถนนคันทะบูลี ถนนสายแรกของเมืองที่ถูกตัดขึ้นในยุคที่ฝรั่งเศสปกครองลาว รวมถึงตามตรอก ซอกซอยต่างๆในเขตเมืองเก่า เป็นที่ตั้งของบ้านเรือน อาคารพาณิชย์ และห้องแถวเก่าแก่รูปทรงโคโลเนียล ที่ปัจจุบัน บ้านและอาคารหลายหลังยังคงถูกเก็บรักษาไว้ในสภาพเดิม แต่ก็ทรุดโทรมลงไปตามกาลเวลา

มีนักท่องเที่ยวหลายคนที่ข้ามแม่น้ำโขงไปเที่ยวยังนครไกสอน พมวิหาน ด้วยความตั้งใจจะเดินชมอาคาร บ้านเรือนเหล่านี้โดยเฉพาะ เพื่อให้ได้จินตนาการย้อนหลังไปถึงเรื่องราว เหตุการณ์บ้านเมืองในยุคก่อน

เมื่อย่างเข้าสู่ปี 2566 จินตนาการของนักท่องเที่ยวเหล่านั้นจะได้ภาพที่ชัดเจน และเป็นจริงเป็นจังยิ่งขึ้น เพราะวิถีของชาวเมืองไกสอน พมวิหาน ตั้งแต่ครั้งยังใช้ชื่อว่าคันทะบูลี ได้ถูกปลุกให้กลับมามีชีวิตชีวาขึ้นอีกครั้ง จากงาน Street Art หลายชิ้นที่ถูกสร้างสรรค์ไว้ในจุดต่างๆ ตามผนัง กำแพงบ้านเรือน และอาคารเก่าแก่ ของเขตเมืองเก่า “คันทะบูลี”

……

พิธีรับมอบภาพวาดศิลปะตามผนัง กำแพง อาคารเก่าแก่ ริมถนนคันทะบูลี ในนครไกสอน พมวิหาน เมื่อวันที่ วันที่ 29 ธันวาคม 2565 ที่มาภาพ : เพจ APA INC

วันที่ 29 ธันวาคม 2565 แผนกแถลงข่าว วัฒนธรรม และท่องเที่ยว แขวงสะหวันนะเขต ได้จัดพิธีรับมอบโครงการภาพวาดศิลปะตามผนัง กำแพง อาคารเก่าแก่ ริมถนนคันทะบูลี ในนครไกสอน พมวิหาน

พิธีจัดขึ้นที่โรงเรียนประถมสมบูรณ์ไซยะพูม ซึ่งเป็นโรงเรียนเก่าของอดีตประธานประเทศ ไกสอน พมวิหาน ที่เคยเรียนอยู่ที่นี่สมัยเป็นเด็ก

โครงการวาดภาพศิลปะตามผนัง กำแพงอาคารเก่าของนครไกสอน พมวิหาน เป็นหนึ่งในแผนแม่บทฟื้นฟู พัฒนา และอนุรักษ์ตัวเมืองเก่าไกสอน พมวิหาน เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว

เด็กนักเรียน คนรุ่นใหม่ของนครไกสอน พมวิหาน มาร่วมรับรู้เรื่องราวต่างๆของคนรุ่นพ่อแม่ ปู่ยาตายาย ในพิธีรับมอบงาน Street Art ที่มาภาพ : เพจ APA INC

แนวคิดของโครงการนี้ คือการใช้ศิลปะข้างถนน(Street Art) เป็นเครื่องมือสำคัญในการฟื้นวิถีที่เคยเป็นอยู่ในเมืองเก่าแห่งนี้ให้กลับมามีชีวิตชีวาขึ้น เพื่อให้เยาวชน คนรุ่นหลังได้มีโอกาสศึกษาเรียนรู้ ว่าคนสมัยก่อนเคยมีความเป็นอยู่ หรือมีวิถีชีวิตแบบใด

แผนกแถลงข่าว วัฒนธรรม และท่องเที่ยว แขวงสะหวันนะเขต ร่วมกับสมาคมนักธุรกิจหนุ่มแขวงสะหวันนะเขต เป็นเจ้าของโครงการ มี APA Incorporate บริษัทสถาปนิกซึ่งรับออกแบบภายใน ออกแบบงานโยธา ผังเมืองและสิ่งแวดล้อม มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองสีสัดตะนาก นครหลวงเวียงจันทน์ เป็นที่ปรึกษา

“ช่างฝีมือคันทะบูลี” หรือ Khunthabury’s Artisan ที่มาภาพ : เพจ Savan lifestyle

เหล่าผู้สร้างสรรค์ภาพวาดแต่ละชิ้น เป็นกลุ่มศิลปินจากหลายพื้นที่ ที่ได้มารวมตัวกัน ทั้งจากนครหลวงเวียงจันทน์ และศิลปินในแขวงสะหวันนะเขต หลายคนมีผลงานโดดเด่นเป็นที่ประจักษ์ทั้งในระดับชาติและระดับสากลมาแล้ว นอกจากนี้ยังมีศิลปินอิสระ และเหล่านักศึกษาสาขาวิจิตรศิลป์ จากสถาบันการศึกษาต่างๆ มาช่วยวาดภาพร่วมด้วย

ตัวอย่างศิลปินระดับชาติของลาวที่เข้าร่วมโครงการนี้ เช่น บุนโปน โพทิสาน, มะลีสา ดาราสะหวัน, แก้วมะนี สุวันนะลัด, พดทะคาน พงสะหวัน, แฟนต้า แก้วมะนีลา, วงสัก หานซะนะ ฯลฯ

ก่อนภาพวาดแต่ละภาพจะถูกสร้างสรรค์ขึ้น ศิลปินและทีมงานทุกคนต้องศึกษาข้อมูล ค้นหารายละเอียด ลงพื้นที่พูดคุยกับผู้อาวุโสที่เคยใช้ชีวิตอยู่ในเมือง ดูภาพถ่ายเก่าๆในอดีต เพื่อให้ได้ซึมซับถึงสภาพวิถีชีวิต ความเป็นอยู่จริงของผู้คนในเมืองคันทะบูลีสมัยเมื่อหลายสิบปีก่อนว่าเขามีความเป็นอยู่อย่างไร ประวัติของอาคารแต่ละหลังมีที่มาที่ไปอย่างไร เพื่อกำหนดคอนเซ็ปต์ เลือกตำแหน่งแสดงชิ้นงานให้สามารถสะท้อนภาพความเป็นจริงของยุคสมัยได้มากที่สุด

มีภาพหลายภาพถูกแสดงไว้ในหลายตำแหน่ง แต่ศิลปินและทีมงานได้คัดเลือกผนัง กำแพงของอาคารเก่าแก่บนถนนคันทะบูลี และภายในตรอกซอกซอยที่เชื่อมถนนคันทะบูลีกับถนนเพดสะลาด 12 จุด เป็นพื้นที่แสดงชิ้นงานที่เห็นว่าโดดเด่น มีการตั้งชื่อภาพที่สะท้อนความหมายชัดเจน ปักเป็นหมุดหมายในแผนที่ให้นักท่องเที่ยวได้เดินชม ประกอบด้วย…

จุดที่ 1 “ช่างฝีมือคันทะบูลี” หรือ Khanthabury’s Artisans เป็นภาพที่สะท้อนความสามารถในงานช่างหลากหลายประเภทของชาวคันทะบูลีในอดีต ทั้งช่างเหล็ก ช่างไม้ ช่างเฟอร์นิเจอร์ ช่างก่อสร้างฯลฯ เมื่อทั้งหมดถูกนำมาแสดงรวมกันอยู่บนผนัง ทำให้ได้บรรยากาศเหมือนพื้นที่ทำงานของเหล่าช่างในยุคก่อน

แผนที่กำหนดจุดแสดงชิ้นงาน Street Art สะท้อนวิถีชาวเมืองคันทะบูลี 12 แห่ง ที่มาภาพ : เพจ APA INC
“ลุงสอนหลาน” หรือ Lessons from our beloved uncle บนผนังโรงเรียนประถมสมบูรณ์ไซยะพูม โรงเรียนเก่าของลุงไกสอน พมวิหาน ที่มาภาพ : เพจ APA INC

จุดที่ 2 “ลุงสอนหลาน” หรือ Lessons from our beloved uncle ภาพลุงไกสอน พมวิหาน ในแต่งกายในยุคเปลี่ยนแปลงประเทศ มีเด็กๆในเครื่องแบบนักเรียนของลาวยืนล้อมวงอยู่ เด็กคนหนึ่งจับมือลุงไกสอน ขณะที่ลุงไกสอนกำลังโอบไหล่เด็กหญิงอีกคนหนึ่งที่ถือหนังสือไว้ในมือ ภาพนี้ถูกแสดงไว้บนผนังอาคารเรียน ของโรงเรียนประถมสมบูรณ์ไซยะพูม โรงเรียนเก่าของลุงไกสอน พมวิหาน

“แม่ค้ากระติ๊บข้าว” หรือ Sticky Rice Basket vender ที่มาภาพ : เพจ Savan lifestyle

จุดที่ 3 “แม่ค้ากระติ๊บข้าว” หรือ Sticky Rice Basket vender สะท้อนพฤติกรรมของคนลาวที่บริโภคข้าวเหนียวเป็นหลัก กระติ๊บใส่ข้าวเหนียวจึงเป็นภาชนะจำเป็นที่ทุกบ้านต้องมี และการสานกระติ๊บข้าวเหนียวแล้วใส่คานเดินหาบขายไปตามท้องถนน จึงเป็นอีกหนึ่งอาชีพของคนลาวมาแต่ดึกดำบรรพ์

“เล็ง” หรือ Aiming ที่มาภาพ : เพจ Savan lifestyle

จุดที่ 4 “เล็ง” หรือ Aiming หนังสติ๊กถือเป็นของคู่มือเด็กสมัยก่อน โดยเฉพาะเด็กชาย เพื่อให้ได้เรียนรู้ผิด รู้ถูก ก่อนโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ ภาพเด็กกำลังเล็งหนังสติ๊กเพื่อยิงไปยังเป้าหมาย จึงเป็นสิ่งที่พบเห็นได้เสมอในสมัยก่อน แต่ปัจจุบันตามเมืองใหญ่ ของเล่นชนิดนี้เริ่มหายไปแล้ว

“มิตรภาพ” หรือ Friendship ที่มาภาพ : เพจ Savan lifestyle

จุดที่ 5 “มิตรภาพ” หรือ Friendship ความสุข สนุกสนานในวัยเด็ก คือการได้วิ่งเล่นหัวแบบพบปะตัวตนจริงกับเพื่อนๆ อุปกรณ์การเล่นก็หาง่ายๆจากสิ่งรอบตัว อย่างยางล้อจักรยานเก่าๆ หรือเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่มีราคาไม่แพง เช่น ว่าว

“คันทะบูลีขนมหวาน” หรือ Khunthabury – land of Sweets ที่มาภาพ : เพจ Savan lifestyle

จุดที่ 6 “คันทะบูลีขนมหวาน” หรือ Khanthabury – land of Sweets ภาพแม่ค้าหาบขายขนมครก กับพ่อค้ารถเข็นขายกะแล่ม(ไอศกรีม)กะทิ เป็นเพียง 2 ตัวอย่างที่สะท้อนถึงสภาพสังคมในเมืองคันทะบูลียุคก่อน ซึ่งสมบูรณ์ไปด้วยของกินหลากหลาย ทั้งของคาวและขนมหวาน

“Mona Lisa สะหวันนะเขต” หรือ Khunthabury’s Artisans ที่มาภาพ : เพจ APA INC

จุดที่ 7 “Mona Lisa สะหวันนะเขต” หรือ Khanthabury’s Artisans แสดงวัฒนธรรมการแต่งกายของผู้หญิงลาว ที่สวยงาม ประณีต ตั้งแต่เสื้อ ซิ่น สไบ ล้วนถักทอจากมือด้วยลวดลายอันเป็นเอกลักษณ์ของลาวที่สวยงาม โดยเฉพาะเวลาจะไปทำบุญ หรือไปงานประเพณีที่สำคัญ

“3 ล้อชมเมือง” หรือ A Khunthabury’s tricycle ที่มาภาพ : เพจ APA INC

จุดที่ 8 “3 ล้อชมเมือง” หรือ A Khanthabury’s tricycle พาหนะรับจ้างที่ได้รับความนิยมในชีวิตประจำวัน ในยุคที่รถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ยังไม่มีบทบาท ทั้งเพื่อไปตลาด เยี่ยมญาติ หรือท่องเที่ยว

“กะปอมหลวงคันทะบูลี” หรือ Khunthabury Tangvayosaurus ที่มาภาพ : เพจ APA INC

จุดที่ 9 “กะปอมหลวงคันทะบูลี” หรือ Khuathabury Tangvayosaurus ในนครไกสอน พมวิหาน มีพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์สำคัญของตัวเมือง เนื่องจากมีการค้นพบรอยเท้า และกระดูกส่วนหางของไดโนเสาร์พันธุ์ Saltasaurus ที่สมบูรณ์ จึงได้ถูกนำมาแสดงให้ผู้คนได้เข้าเที่ยวชม พร้อมกับชิ้นส่วนกระดูกอีกหลายชิ้นของไดโนเสาร์ทั้งสายพันธุ์ที่กินเนื้อและกินพืช ที่ถูกค้นพบอยู่ในพื้นที่แขวงสะหวันนะเขต

“ปะลัดตื้อ/หนังบักตื้อ” หรือ Vivid Khanthabury ที่มาภาพ : เพจ APA INC

จุดที่ 10 “ปะลัดตื้อ/หนังบักตื้อ” หรือ Vivid Khanthabury เป็นศิลปะการแสดงพื้นเมืองดั้งเดิมของลาวซึ่งปัจจุบันหาดูได้ยากแล้ว มีลักษณะคล้ายกับหนังตะลุงของไทย เมื่อประมาณเดือนมีนาคม 2565 แผนกแถลงข่าว วัฒนธรรม และท่องเที่ยว แขวงสะหวันนะเขต ได้มีการมอบหนังปะลัดตื้อเก่าแก่จำนวนหนึ่งให้ศิลปินอาวุโสที่บ้านไผ่ เมืองจำพอน นำไปจัดแสดงให้ประชาชนได้รับชม เพื่อเป็นการอนุรักษ์และเผยแพร่วัฒนธรรมที่เป็นเหมือนมรดกของคนลาวให้คงอยู่ต่อเนื่อง โดยหนังปะลัดตื้อที่ถูกมอบให้จัดแสดงในครั้งนั้น ประกอบด้วย ตัวละครประเภทหุ่นคน 32 ตัว หุ่นสัตว์ 6 ตัว พาหนะ 4 ชิ้น ต้นไม้ 3 ต้น อาวุธและเครื่องดนตรี อย่างละ 1 ชิ้น

“หนุ่มน้อย/สาวน้อย ในตลาด” หรือ The boy / The girl ที่มาภาพ : เพจ APA INC

จุดที่ 11 “หนุ่มน้อย/สาวน้อย ในตลาด” หรือ The boy/The girl เป็นการสะท้อนวิถีพ่อค้า แม่ค้าในตลาด โดยตัวอย่างที่ถูกนำมาแสดง เป็นภาพพ่อค้าหนุ่มกับรถเข็นขนถังบรรจุนมสด ภาพนี้ถูกวาดขึ้นจากภาพถ่ายจริงของพ่อค้ารายหนึ่งที่ถูกบันทึกไว้เมื่อหลายสิบปีก่อน ทีมงานได้นำมาถ่ายทอดใหม่เป็นภาพวาดบนผนัง

“สภากาแฟ” หรือ Kopi society ที่มาภาพ : เพจ Savan lifestyle

จุดที่ 12 “สภากาแฟ” หรือ Kopi society ร้านกาแฟริมถนนเป็นแหล่งหรือศูนย์กลางที่ผู้คนในเมืองคันทะบูลีได้มีโอกาสมาพบเจอ สนทนาถึงเรื่องราว หรือเหตุการณ์ต่างๆด้วยกัน เป็นการพบปะพูดคุยกันแบบเผชิญหน้า ไม่ใช่ในโลกเสมือนจริงบนออนไลน์แบบทุกวันนี้

นอกจากภาพซึ่งถูกคัดมาแสดงไว้ 12 จุดข้างต้นแล้ว ยังมีอีกหลายภาพที่ถูกวาดไว้ตามผนัง กำแพง หรือมุมต่างๆของอาคารเก่าแก่ ที่เมื่อได้เห็นแล้ว ต้องทำให้นึกถึงเรื่องราวต่างๆที่เคยเกิดขึ้นในเมืองแห่งนี้ เพราะศิลปินและทีมงาน ได้เก็บรายละเอียดเพื่อให้สามารถสะท้อนภาพความเป็นเมือง “คันทะบูลี” ออกมาได้สมจริงที่สุด

ภาพที่แสดงอยู่ในตำแหน่งอื่นนอกจาก 12 จุดในแผนที่ ทีมงานศิลปินต้องเก็บรายละเอียดเพื่อสะท้อนภาพเมืองคันทะบูลี ให้ออกมาสมจริงที่สุด ที่มาภาพ : เพจ APA INC

……

เมืองใหญ่หลายเมืองในบางประเทศ Street Art คือความต้องการแสดงตัวตนของศิลปิน ภาพที่ถูกสร้างสรรค์ออกมา จึงมักเป็นภาพเชิงนามธรรม

แต่งาน Street Art ที่เพิ่งถูกสร้างสรรค์ออกมาในนครไกสอน พมวิหาน มีความแตกต่าง ทุกภาพเป็นรูปธรรมที่ต้องการสะท้อนตัวตนของชุมชนแห่งนี้ออกมาให้ทุกคนได้เห็นตามความเป็นจริง…